ThaiPublica > Sustainability > Global Issues >  “การพัฒนาที่ยั่งยืน” วาทกรรมเดิมบนโจทย์ใหม่ SDGs เปลี่ยน Landscape เร่งเครื่อง ตลาดทุน-ธุรกิจไทย

 “การพัฒนาที่ยั่งยืน” วาทกรรมเดิมบนโจทย์ใหม่ SDGs เปลี่ยน Landscape เร่งเครื่อง ตลาดทุน-ธุรกิจไทย

27 กุมภาพันธ์ 2016


ในเวลาที่ผ่านมา “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ถูกใช้ในเชิงวาทกรรมทั้งกับนโยบายในระดับประเทศไปจนระดับองค์กร ทว่า จะมีกี่รัฐบาลและกี่องค์กรธุรกิจที่เข้าใจคำนี้อย่างแท้จริง

สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าจับปรากฏการณ์ความเคลื่อนไหวเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนของไทย หลังเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อ 1 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวอันน่าจับตาที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็วในตลาดทุนและภาคธุรกิจ

“จากเป้าหมายแห่งสหัสวรรษหรือ MDGs ที่มีบัญญัติ 10 ประการที่ประกาศมาตั้งแต่ปี 2543 บอกว่าให้เราต้องคำนึงถึงสังคม แรงงาน สิ่งแวดล้อม และทำธุรกิจโดยปราศจากคอร์รัปชัน ถือเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่าธุรกิจไม่สามารถทำกำไรได้อย่างเดียว นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของชุดความคิดเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม จากในยุคก่อนหน้าที่เรื่องเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในหัวนักธุรกิจเลย สิ่งนี้จึงเป็นรากฐานก่อนที่จะมาถึงการประกาศเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGs ในวันนี้ ” ปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บมจ. แพรนด้า จิวเวลรี่ ในฐานะองค์กรธุรกิจไทยเจ้าแรกที่เข้าร่วมเป็นภาคีใน UN Global Compact เมื่อ 15 ปีก่อน กล่าวบนเวทีเสวนา “ทิศทางการขับเคลื่อนธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา ถึงโจทย์ใหม่ที่องค์การสหประชาชาติมีเป้าหมายที่จะให้ธุรกิจเข้ามามีบทบาทเพราะวันนี้อำนาจและทรัพยากรอยู่ที่ธุรกิจ

ดังนั้น ในมุมของเขาแล้ว การมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืนสำหรับองค์กรธุรกิจนั้นเป็นกำไรในระยะยาวที่จะเกิดกับองค์กร แม้ในระยะเริ่มต้นอาจจะมีความยากบ้าง

สิ่งที่ปรีดากล่าวคล้ายกับแนวโน้มความคิดเห็นของภาคธุรกิจส่วนใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขานรับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติอย่างพร้อมเพรียง

การเปิดเผยผลสำรวจ SDGs Paving the Way Towards Market Leadership ของ PwC ที่สำรวจขึ้นก่อนเวทีประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก รองรับเป้าหมาย SDGs อย่างเป็นทางการเมื่อ 25 กันยายน 2558 ซึ่งจากการสำรวจพลเมืองและภาคธุรกิจ 300 คน พบว่า

  • พลเมืองและภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มตื่นตัวกับการมีส่วนร่วมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยภาคธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนถึง 97% มีแผนจะรับแนวคิดนี้มาปรับใช้ในองค์กรของตนในช่วงระยะ 5 ปีข้างหน้า
  • 87% ของประชากรในภูมิภาคอาเซียนเชื่อว่า ภาคธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึง SDGs เป็นหลัก นอกจากนี้ 80% ของประชากรยังมีแนวโน้มที่จะบริโภคหรือจับจ่ายสินค้าและบริการจากบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนดังกล่าวอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังมีธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนน้อยกว่าครึ่ง หรือเพียง 45% ที่มีแผนจะประเมินผลกระทบของการดำเนินธุรกิจต่อเป้าหมายดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม

นั่นหมายถึงว่า ท่ามกลางแนวโน้มที่ดี ยังมีช่องว่างที่สะท้อนให้เห็นว่าโอกาสในการปรับปรุงและยกระดับการพัฒนาไปสู่การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคตของภูมิภาค

“วสันต์ ชวลิตวรกุล” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)
“วสันต์ ชวลิตวรกุล” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย)

เช่นเดียวกันกับสถานการณ์ในไทยที่ “วสันต์ ชวลิตวรกุล” หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC Consulting (ประเทศไทย) กล่าวว่า แม้เรามองว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับประชาคมและรูปแบบการดำเนินธุรกิจ แต่ต้องยอมรับว่าสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถเกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน โดยเฉพาะความเข้าใจในการที่จะบูรณาการเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจไทยในปัจจุบันนั้นยังไม่เต็มที่ ที่ผ่านมาองค์กรจะโฟกัสที่ผลลัพธ์เป็นหลัก อย่างรายงานความยั่งยืนต่างๆ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องเปลี่ยนความคิดในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

“ที่ผ่านมาเวลาเราพูดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) เรามักจะพูดถึงกิจกรรมความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) แต่วันนี้ความยั่งยืนในองค์กรที่ไปสู่เป้าหมายความยั่งยืนต้องพูดกันเรื่องการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) ในองค์กร”

อย่างไรก็ตาม เขามองว่า การมาถึงของ SDGs จะเป็นตัวเร่งและช่วยองค์กรธุรกิจไทยในการเปลี่ยนผ่าน (Transform) ไปสู่องค์กรที่ยั่งยืนได้ โดยเฉพาะบริษัทชั้นนำที่สามารถมองหาโอกาสการดำเนินธุรกิจที่จะยกระดับจากการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนในฐานะเป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงขององค์กร มาสู่การมองหาโอกาสในการแข่งขัน โดยสามารถจัดลำดับและดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้สอดคล้องกับธีมและความสามารถหลักขององค์กร โดยอาจไม่จำเป็นต้องเลือกทำในทุกประเด็น หากแต่สามารถจัดลำดับความสำคัญและเลือกทำในประเด็นที่สอดคล้องและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ

บูมตลาดเตรียมแจ้งเกิดดัชนีหุ้นที่ยั่งยืน

หลังจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ร่วมลงนามและทำให้ไทยเป็น 1 ใน 193 ประเทศที่ได้ลงมติรับรองวาระการพัฒนาใหม่ของโลกที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2559-2573 เมื่อเดือนกันยายน 2558 ที่ผ่านมา บนความเคลื่อนไหวดังกล่าว ตลาดทุนทั่วโลกได้ถูกใช้เป็นแกนหลักเพื่อขับเคลื่อนตลาดทุนสู่เป้าหมายที่ยั่งยืนโดยมีตลาดหลักทรัพย์เป็นแกนกลางที่เกี่ยวข้องกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมากตั้งแต่นักลงทุน ผู้กำหนดนโยบาย ตลอดจนผู้กำกับดูแลฯ

สำหรับทิศทางที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยต้องดำเนินการเพื่อมีส่วนร่วมภายใต้เป้าหมายดังกล่าวนั้น “บดินทร์ อูนากูล” รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบ SDGs 5 ข้อ ได้แก่ 1. Dialogue การให้ความรู้เรื่องการคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (ESG) ต่อตลาดทุน 2. ESG Reporting Guidance การจัดทำแนวทางการรายงาน 3. Joint a Global Partnership การเข้าร่วมเป็นพันธมิตรระดับโลก 4. Sustainability Product การสร้างผลิตภัณฑ์ด้านความยั่งยืน 5. Listing Requirement กฎเกณท์และมาตรการต่างๆ

“ใน 2-3 เรื่องแรกเราทำมามาก ที่ผ่านมาเราให้ความรู้บริษัทจดทะเบียนไปมากกว่า 4,560 คน เราสนับสนุนเรื่องการรายงานด้านความยั่งยืนรวมถึงร่วมลงนามเข้าร่วม UN Stock Exchange Initiative แต่ในอีก 2 เรื่องที่เราอยู่ระหว่างการพัฒนาคือ กฎเกณฑ์ที่ต้องมีมากขึ้นของบริษัทในการเข้าตลาดฯ ในอนาคต การที่บริษัทมีกำไรไม่ใช่ประเด็น แต่ต้องดูว่าที่ผ่านมาบริษัททำอะไรมาบ้าง และรวมถึงในเรื่องสิ่งที่เรากำลังพัฒนา ที่จะก้าวสู่การทำ Index หุ้นที่ยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมามีการจัดทำรายชื่อหุ้นที่ยั่งยืนของตลาดทุนไทย Thailand Sustainability Investment ไปแล้ว 51 บริษัท ซี่งจะเป็นฐานสำคัญในการไปสู่การทำดัชนีหุ้นที่ยั่งยืน”

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมา ดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ที่จัดทำโดย S&P Dow Jones ได้ประกาศรายชื่อบริษัทที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกในกลุ่ม DJSI ประจำปี มีบริษัทไทยได้รับการคัดเลือกถึง 13 บริษัท ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่มีบริษัทเป็นสมาชิกกลุ่ม DJSI สูงสุดในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก

Landscape ใหม่ การพัฒนาที่ยั่งยืน

ความตื่นตัวและแรงเหวี่ยงในตลาดทุนสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของการขับเคลื่อนแนวคิดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนในไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมาก ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ ที่ติดตามเรื่องนี้มายาวนานฉายภาพสิ่งที่เกิดขึ้นว่า

ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์
ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการณ์ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์

“จะความยั่งยืน จะความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรในไทย มีวิวัฒนาการตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เรียกว่ามันคือ Landscape ใหม่ที่เกิดจากผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เปลี่ยนไป”

โดยในมุมมองของเขา ไม่ใช่เฉพาะการมาถึงของทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDGs ซึ่งเป็นทิศทางใหม่ของโลกที่ทำให้ธุรกิจต้องปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจรองรับแต่เพียงเท่านั้น แรงกระตุ้นและตัวเร่งในการสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจก้าวไปสู่การเป็นธุรกิจที่ยั่งยืนในช่วงหลายปีมานี้ในไทย มาจากแรงกดดันในห่วงโซ่ธุรกิจ (Supply Chain) เป็นหลัก

“หลังจากที่เราทำงานส่งเสริมเรื่องนี้มาเป็น 10 ปี ได้ติดตามพัฒนาการของมัน ผมพบว่าในยุคนี้เป็นยุคที่ไม่ใช่เรื่องสมัครใจหรือไม่สมัครใจอีกแล้ว มันเป็นยุคของห่วงโซ่ธุรกิจ เป็นเรื่องที่ถ้าไม่ทำ ธุรกิจคุณอยู่ไม่ได้ แรงกดดันจากห่วงโซ่ธุรกิจนี้ชัดเจนขึ้นมาก จึงเป็นที่มาของมาตรฐานที่เกี่ยวกับความยั่งยืนต่างๆ หลายร้อยมาตรฐานในแต่ละอุตสาหกรรมและแทบจะกลายเป็นแรงกดดันหลักแตกต่างจากหลายปีก่อนหน้านี้ที่เกิดจากแรงกดดันของภาคประชาสังคมเพียงด้านเดียว”

“หลายอุตสาหกรรมมันเห็นภาพชัด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงที่ถูกแรงกดดันจากผู้ซื้อรายใหญ่ รวมถึงการที่วันนี้ธุรกิจต้องออกชี้แจงในหลายเรื่องที่ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องในโรงงานหรือขอบเขต เป็นเรื่องของทั้งห่วงโซ่ธุรกิจ นั่นเป็นเหตุผลว่าเพราะอะไรความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรจึงกลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก”

ทว่า เขายอมรับว่าจากการเห็นชุดข้อมูลในการประเมินด้าน ESG (Environment,Social,Governance) ของบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ ความเข้าใจและความก้าวหน้าเรื่องนี้ยังคง “กระจุก” มากกว่า “กระจาย” โดยอีกกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ยังทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือความยั่งยืนเพียงเพราะทำตามกฎเกณท์หรือมาตรการมากไปกว่าการมองเห็นโอกาสใช้แนวคิดนี้ในการพัฒนาองค์กรในระยะยาว

เทรนด์โลกที่ไทยยังไปไม่ถึง

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลจะรับวาระการพัฒนาใหม่ของโลกที่เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นวาระของชาติ แต่โดยสถานการณ์ปัจจุบัน การพัฒนาอย่างยั่งยืนยังไม่ค่อยเป็นวาระของประเทศไทยนักแม้ว่าจะเป็นวาระของโลกก็ตาม เพราะการจะรับเรื่องนี้มาเป็นวาระของประเทศโดยที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญได้จริง ต้องเริ่มจากความเชื่อจากข้างในและต้องมีส่วนร่วมมากกว่าการถูกบอกให้ทำ

ในระดับโลก การยอมรับความคิดของการพัฒนาที่ต้องคำนึงถึงสังคม สิ่งแวดล้อม ควบคู่กับเศรษฐกิจ ใช้เวลายาวนานกว่า 30-40 ปี อย่างเรื่องการใช้ DDT ที่กว่าคนจะรู้ถึงผลกระทบที่มีต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ที่ส่งผลกลับมาที่เศรษฐกิจ ก็ต้องใช้เวลา รวมถึงผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาที่คำนึงถึงเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างเดียว

“มีนักเศรษฐศาสตร์พูดเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 1970 แต่กว่าจะมาถึงการประชุมระดับโลกที่โจฮันเนสเบิร์ก ที่ทุกคนเริ่มเห็นว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจอย่างเดียวมันไปไม่รอด เราใช้เวลา 30 ปี เพราะฉะนั้น ที่เมืองไทยยังเกิดขึ้นไม่ได้อย่าเพิ่งตกใจ เรื่องยากอยู่ตรงที่ว่า เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน กว่าจะเห็นผลคนทำก็ไม่อยู่แล้ว และยากตรงที่ที่ผ่านมาเราพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมากมาเป็นเวลานาน”

ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา
ดร.ปรียานุช ธรรมปิยา กรรมการมูลนิธิมั่นพัฒนา

อย่างไรก็ตาม ในสายตาของ ดร.ปรียานุช สังคมไทยนั้นมีรากฐานที่ดีจากวิถีชีวิตพอดีในอดีต และมองว่าสิ่งที่จะช่วยให้การพัฒนาอย่างยั่งยืนเกิดขึ้นได้จริงในไทย ได้แก่ 1. เมตตา 2. เทคโนโลยีการสื่อสาร และ 3. กรณีศึกษาที่ประสบผลสำเร็จจากการพัฒนาที่ยั่งยืน

“มนุษย์มีต่อมคุณธรรมข้างใน เวลาเราเห็นขยะพลาสติกในท้องเต่า ต่อมเมตตาจะทำให้เราคิดเวลาเราทิ้งขยะในทะเล หรือการที่เรารับรู้ถึงการกินกาแฟที่เกิดจากกาแฟที่ปลูกด้วยการตัดป่าจนหมดเขา ทำลายสิ่งแวดล้อมและทำให้คนไม่มีอาชีพ เราก็จะเริ่มคิดว่ากาแฟนี้อร่อยแต่อาจจะไม่คุ้มความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ก็ทำให้เรื่องนี้สื่อสารถึงคนได้เร็วขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนเริ่มตระหนักและมีส่วนร่วม”

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีกรณีศึกษาที่ดีและได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากงานในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มุ่งเน้นการพัฒนาใน 4 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม โดยระหว่างวันที่ 28–29 กุมภาพันธ์ 2559 นี้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม “G77-Bangkok Roundtable on Sufficiency Economy: an Approach to Implementing the Sustainable Development Goals” ที่จะมีสมาชิกกว่า 120 คนมาร่วมเรียนรู้บทเรียนการพัฒนาของประเทศไทย จะมีการนำเสนอบทเรียนในการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้ประเทศสมาชิกได้เรียนรู้ร่วมกัน

สำหรับ SDGs มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก สร้างความเท่าเทียม ขจัดปัญหาความยากจน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่า เพื่อมุ่งไปสู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอีก 15 ปีข้างหน้า ครอบคลุม 17 ด้าน ได้แก่ 1) ความยากจน 2) ความหิวโหย 3) สุขภาวะ 4) การศึกษา 5) ความเท่าเทียมทางเพศ 6) น้ำและการสุขาภิบาล 7) พลังงาน 8) เศรษฐกิจและการจ้างงาน 9) โครงสร้างพื้นฐานและการปรับปรุงให้เป็นอุตสาหกรรม 10) ความเหลื่อมล้ำ 11) เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ 12) แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน 13) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ 14) ทรัพยากรทางทะเล 15) ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ 16) สังคมและความยุติธรรม และ 17) หุ้นส่วนความร่วมมือและการปฏิบัติให้เกิดผล โดยมีเป้าหมายรองอีก 169 ข้อ โดย SDGs ถูกใช้แทนที่เป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs) ที่พึ่งจะหมดอายุลงในสิ้นปีที่ผ่านมา