ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เส้นทางสู่เลือกตั้ง 2560 : “ใบดำนักการเมือง” ยาแรง รธน.ใหม่ ปราบโกงเลือกตั้ง – เช็คชื่อ “คนการเมือง” ใครเสี่ยงหลุดวงการ

เส้นทางสู่เลือกตั้ง 2560 : “ใบดำนักการเมือง” ยาแรง รธน.ใหม่ ปราบโกงเลือกตั้ง – เช็คชื่อ “คนการเมือง” ใครเสี่ยงหลุดวงการ

26 กันยายน 2016


การลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ....และคำถามพ่วง  เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
การลงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….และคำถามพ่วง เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559

หลังจากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. ….และคำถามพ่วง นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ได้กล่าวถึงโรดแมปไปสู่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา (อ่านรายละเอียดที่นี่) และจากนี้ไปการเคลื่อนไหวและความคืบหน้าเส้นทางสู่การเลือกตั้ง 2560 จะนำมาเล่าสู่ในซีรี่ย์นี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หนึ่งในมาตรการที่เป็น “ยาแรง” ปราบโกงการเลือกตั้งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ที่ผ่านการลงประชามติเห็นชอบของคนไทยกว่า 15 ล้านเสียง คือ “การแจกใบดำ” หรือการเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา รวมไปถึงไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต ที่เปรียบได้กับ “การถูกประหารชีวิตทางการเมือง”

โทษหนักสถานนี้เป็นไปตามบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 98 ที่ระบุว่า บุคคลผู้มีลักษณะดังต่อไปนี้ เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (11) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ประกอบมาตรา 235 (2) วรรค 4 ระบุว่า “ผู้ใดถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่ว่ากรณีใด ผู้นั้นไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งหรือสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นตลอดไป และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ”

“ยาแรง” ขนานนี้ส่งผลสะเทือนต่อพรรคการเมืองทั้ง 74 พรรคที่อยู่ในสารบบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นอย่างยิ่ง

แม้ว่าในวันนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ยังไม่มีความชัดเจน ว่า ในกฎหมายลูกฉบับนี้จะมีการกำหนดพฤติการณ์ความผิดใดบ้าง ที่จะนำไปสู่การ “แจกใบดำ” ของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง เพราะแม้แต่ “ผู้ปฏิบัติ” หรือ กกต. ยังสงวนความเห็นในประเด็นดังกล่าว เพื่อให้ กรธ. เป็นผู้พิจารณาในประเด็นนี้

ที่สำคัญ ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันว่าบทบัญญัตินี้จะถูกนำไปใช้บังคับย้อนหลังกับผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือคนที่ได้ “ใบแดง” มาก่อนหน้านี้หรือไม่

เพราะนั่นหมายความว่า ชื่อของ “คนการเมือง” ที่เคยถูกใบแดงในอดีต มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกไปจากสารบบการเมืองไทยทันที

“สำนักข่าวไทยพับลิก้า” ได้สืบค้นคำสั่งศาล ในคดีทุจริตการเลือกตั้งของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ระหว่างปี 2550-2558 พบว่ามีบุคคลที่เคยถูก “โทษแบน” จากศาล ดังนี้

1. ศาลฎีกา มีคําสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายศักดา ศรีวิริยะไพบูลย์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จังหวัดระนอง มีกำหนด 5 ปี ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2558 คำร้องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณี แจก หรือเป็นผู้ก่อ สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้บุคคลแจกปฏิทินประจำปี 2557 ซึ่งปฏิทินนั้นมีรูปหรือตราสัญลักษณ์ของพรรคการเมือง และภาพบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ระนอง อยู่บริเวณตรงกลางปฏิทิน การแจกปฏิทินดังกล่าวให้กับผู้มีสิทธิลงคะแนน เป็นการเอาเปรียบผู้สมัครเลือกตั้ง ส.ว. รายอื่น ซึ่งเป็นการจูงใจให้ลงคะแนน และมีเจตนาในการจัดทำปฏิทินเพื่อใช้หาเสียง ซึ่งเป็นการกระทำไม่สุจริตเพื่อให้ได้รับการเลือกตั้ง มีผลให้การเลือกตั้ง ส.ว. ระนอง ในส่วนของนายศักดาไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

2. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายสมเกียรติ ไตรสรณปัญญา อดีตผู้สมัคร ส.ส. ศรีสะเกษ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีจัดการปราศรัยให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งฟัง และจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง ด้วยการนำคนหลายร้อยคนมาฟังผู้คัดค้านปราศรัย พร้อมให้เงินแก่ผู้มาฟังการปราศรัย ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

3. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายการุณ โหสกุล อดีต ส.ส. เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. โดยพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นได้ว่า นายการุณมีเจตนาหาเสียงใส่ร้ายนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากพรรคประชาธิปัตย์ ในระหว่างการปราศรัยหาเสียงเมื่อปี 2554 (อ่านคำสั่งศาล)

4. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายกลยุทธ เรืองกาญจนเศรษฐ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขต 1 จ.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย มีกำหนด 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีปราศรัยหาเสียงเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิมาลงคะแนนเสียงให้ตนเองด้วยการให้เงินแก่ผู้มาฟังการปราศรัย มีผลทำให้การเลือกตั้ง ส.ส. เขต 1 จ.สุรินทร์ มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

5. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายอภิราชฐ์ บรรณารักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขตเลือกตั้งที่ 1 พรรคภูมิใจไทย จ.มหาสารคาม เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีร่วมกับหัวคะแนนจ่ายเงินซื้อเสียง (อ่านคำสั่งศาล)

6. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายพิทยา บุญเฉลียว ผู้สมัคร ส.ส. เขต 2 จ.ศรีสะเกษ พรรคมาตุภูมิ เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีซื้อเสียง (อ่านคำสั่งศาล)

7. ศาลฎีกา มีคำสั่งให้นายประจิตต์ โรจนพฤกษ์ พ้นจากตำแหน่ง ส.ว.สรรหา และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และไม่แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง จึงถือเป็นผู้เสียสิทธิได้รับการเสนอชื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. แต่กลับยินยอมให้กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ เสนอชื่อตนเองเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น ส.ว. โดยไม่สุจริต มีผลให้การสรรหา ส.ว. ในส่วนของผู้คัดค้านมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

8. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายพิทักษ์ จันทศรี เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีรู้เห็นเป็นใจให้หัวคะแนนเสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตน (อ่านคำสั่งศาล)

9. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสินชัย ตันติรัตนานนท์ เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีแจกเสื้อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ตนเอง (อ่านคำสั่งศาล)

10. ศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง นายนพดล พลซื่อ อดีต ส.ส. ร้อยเอ็ด เขต 3 พรรคเพื่อแผ่นดิน กับนายกิตติพงษ์ พรหมชัยนันท์ อดีตผู้สมัคร ส.ส. พรรคเพื่อแผ่นดิน เขต 3 ร้อยเอ็ด เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีที่นายเอกภาพ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย ซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้ช่วยผู้สมัครหาเสียง โดยจัดปราศรัยแล้วจ่ายเงินให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาฟังการปราศรัย (อ่านคำสั่งศาล)

11. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายพงษ์ศักดิ์ บุญศล อดีต ส.ส. สกลนคร เขต 3 พรรคเพื่อไทย เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีปราศรัยหลอกลวง ใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จจริง ทำให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยม ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งเขตดังกล่าวไม่สุจริตเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

12. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายมงคล เดชภิรัตนมงคล อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาสุโขทัย เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีการซื้อเสียงจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเสียงให้ตัวเองในการเลือกตั้ง ส.ว. สุโขทัย ปี 2551 (อ่านคำสั่งศาล)

13. ศาลฎีกา มีคำสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีต ส.ส. สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เป็นเวลา 5 ปี ตามคำร้องของ กกต. กรณีจ่ายเงินซื้อเสียงให้กำนันใช้อำนาจหน้าที่เพื่อช่วยเหลือในการเลือกตั้งให้กับผู้สมัคร ส.ส. เขตของพรรคพลังประชาชน ส่งผลต่อการเลือกตั้ง ทำให้ไม่สุจริต ยุติธรรม (อ่านคำสั่งศาล )

14. ศาลฎีกามีคำสั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนายสุเครื่อง บุรินทร์กุล อดีตผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา จ.เลย เป็นเวลา 5 ปี กรณีรู้เห็นเป็นใจในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารอันเป็นการกำหนดนโยบายของพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในหน้าที่ของวุฒิสภา อีกทั้งยังเป็นการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งให้ตนเอง ส่งผลให้การเลือกตั้ง ส.ว. ใน จ.เลย มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (อ่านคำสั่งศาล)

คดีทุจริตเลือกตั้งเหล่านี้คือคดีที่ศาลได้ตัดสินพิพากษาอันถึงที่สุดแล้ว และหากใน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ระบุให้ชัดเจนว่าขอบเขตของ “คุณสมบัติต้องห้าม” ในการเป็นผู้สมัคร ส.ส. หมายรวมไปถึงผู้ที่เคยมีแผลจาก “ใบแดง” ในอดีตด้วยหรือไม่ ก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นในการตีความทั้งในแง่ของคุณสมบัติและในแง่ของคำพิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง ในอดีต ที่ไม่มีคำพิพากษาฉบับใดระบุโทษผู้กระทำผิดว่า “ทุจริตในการเลือกตั้ง” มีเพียงระบุว่า “มิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม” เท่านั้น
โดย “เงื่อนปม” นี้ ทั้ง กรธ. และ กกต. รับทราบเป็นอย่างดี แต่มีแนวโน้มว่าจะผลักให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่เคยได้ใบแดงเอง ที่จะต้องไปยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีคำวินิจฉัยว่าตนเองมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะลงสนามเลือกตั้ง รวมไปถึงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้หรือไม่

การดำเนินการร่าง พ.ร.ป. ของ กรธ. ครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พ.ร.ป. ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เป็นที่จับตามองของพรรคการเมืองทุกพรรคการเมือง เพราะนั่นหมายถึง “กติกา” ที่ทุกพรรคการเมืองในฐานะ “ผู้เล่น” จะต้องยอมรับ แม้ว่าจะมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วย

ขณะเดียวกันมีพรรคการเมืองบางพรรค เฝ้ารอให้ กรธ. คลอดกฎหมายลูกเหล่านี้ให้แล้วเสร็จก่อนที่จะยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความว่า กรธ. ร่าง “กฎหมายลูก” มีบทบัญญัติที่มากกว่าเกินที่ “กฎหมายแม่” หรือร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้หรือไม่

โรดแมปการเลือกตั้งที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติวางเอาไว้ในปี 2560 จึงต้องจับตาดูต่อไป

ว่าด้วย “กติกาใหม่” ความผิดไหนใช้เฉดสีใด

ใบเหลือง – การให้ใบเหลืองแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า ก่อนหรือในวันเลือกตั้ง กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่น การซื้อสิทธิ-ขายเสียง การแจกเงิน สิ่งของ เป็นต้น แต่เป็นการทุจริตที่แม้จะไม่ปรากฏหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้สมัครได้เป็นคนกระทำด้วยตนเอง แต่ก็เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้งที่ไม่สุจริตนั้น กกต. จึงลงโทษด้วยการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ โดยผู้สมัครที่ได้ใบเหลืองยังคงเป็น ผู้สมัครรับเลือกตั้งต่อไปได้

ใบส้ม – การให้ใบส้มแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใด หมายความว่า หลังวันเลือกตั้ง แต่ก่อนการประกาศผลเลือกตั้ง กกต. เห็นว่ามีการทุจริตการเลือกตั้งเกิดขึ้น เช่นเดียวกับกรณีการให้ใบเหลือง แต่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการหรือรู้เห็นกับการกระทำของบุคคลอื่นที่มีลักษณะเป็นการทุจริต ให้ กกต. มีคำสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไว้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปี

ใบแดง – การให้ใบแดงแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมายความว่า หลังประกาศผลการเลือกตั้ง หาก กกต. เห็นว่ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้ง ให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา พิจารณาสั่งเพิกถอนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้ง หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของบุคคลนั้น และหากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งกระทำการทุจริต ให้ยื่นต่อศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และสั่งเลือกตั้งใหม่พร้อมให้รับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายสำหรับการเลือกตั้งจำนวนร้อยละ 2 ของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ใบดำ – การให้ใบดำ เป็นอำนาจของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งที่จะวินิจฉัย