ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (10) ชงคลังแก้ประมวลรัษฎากร ปิดทางตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ปัจจุบันมีกว่าหมื่นราย

โครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (10) ชงคลังแก้ประมวลรัษฎากร ปิดทางตั้งคณะบุคคลเลี่ยงภาษี ปัจจุบันมีกว่าหมื่นราย

12 กรกฎาคม 2012


จากการที่กรมสรรพากรเร่งดำเนินมาตรการขยายฐานภาษี นำคนที่อยู่นอกระบบภาษีเข้ามาอยู่ในระบบ ส่วนคนที่อยู่ในระบบภาษีอยู่แล้ว กรณีที่ยังจ่ายภาษีไม่ครบถ้วน ต้องให้มาเสียภาษีให้ถูกต้อง ทั้งนี้เพื่อหารายได้มาชดเชยภาษีส่วนที่สูญเสียไปกับปรับโครงสร้างอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ในระหว่างที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการตรวจสอบขยายฐานภาษีอยู่นั้น ก็พบว่ากลุ่มวิชาชีพอิสระจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลบเลี่ยงภาษีเป็นจำนวนมาก

เรื่องนี้เป็นปัญหาเก่าที่เปรียบเสมือนหนามยอกอกเจ้าหน้าที่กรมสรรพากร ถึงแม้จะตรวจสอบพบแต่ทำอะไรไม่ได้ เนื่องจากประมวลรัษฎากรเปิดทางให้คนกลุ่มนี้ใช้ช่องว่างของกฏหมายจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลบเลี่ยงภาษี ) ล่าสุด กรมสรรพากรตัดสินใจจะยกร่างแก้ไขประมวลรัษฏากร อุดรูรั่วไหลดังกล่าว ส่งให้กระทรวงการคลังเสนอที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาแก้ไข

นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร
นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร

นางวณี ทัศนมณเฑียร ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมสรรพากรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีสามี-ภรรยาที่จดทะเบียนสมรสสามารถแยกยื่นภาษีได้ เพื่อสร้างความเสมอภาคของผู้หญิงและผู้ชายตามหลักการของรัฐธรรมนูญ หากศาลมีคำพิพากษาออกมาภายในปี 2555 คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปีภาษี 2556 ทันที ส่วนเรื่องถัดไปที่กรมสรรพากรกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ คือ เร่งยกร่างแก้ไขประมวลรัษฎากร กำหนดคำนิยามของ “คณะบุคคล” ให้มีความชัดเจน เพื่อนำเสนอกระทรวงการคลังส่งให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณา ทั้งนี้เนื่องจากประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดคำนิยามเอาไว้ จึงทำให้เกิดการตีความระหว่างคำว่า “คณะบุคคล” กับ “ห้างหุ้นส่วนสามัญ” ซึ่งทั้งสองคำมีความหมายใกล้เคียงกัน แต่มีจุดที่แตกต่างกัน ตรงประเด็นคณะบุคคลไม่มีการแบ่งผลกำไร ไม่ต้องเสียภาษี แต่ห้างหุ้นส่วนสามัญต้องเสียภาษีเพราะมีการแบ่งกำไรกัน ดังนั้น ในการยกร่างแก้ไขประมวลรัษฎากรครั้งนี้ เพื่อทำให้ทุกอย่างเกิดความชัดเจน เจ้าหน้าที่ไม่ต้องใช้ดุลพินิจตีความกันอีกต่อไป

ปัจจุบันกรมสรรพากรตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มวิชาชีพอิสระทำการจัดตั้งคณะบุคคลขึ้นมาหลบเลี่ยงภาษีกระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 10,000 คณะ แต่ส่วนใหญ่เป็นคณะบุคคลที่ไม่ได้ประกอบกิจการจริง ยกตัวอย่าง กรณีที่มีการนำบัตรประชาชนของบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง อาทิ คนขับรถ คนงาน มายื่นเรื่องขอจัดตั้งคณะบุคคล ทั้งๆ ที่บุคคลเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนร่วมในทำกิจกรรมต่างๆ ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะบุคคลแต่อย่างใด แต่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฐานในการกระจายฐานรายได้ พร้อมกับมาใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนของคณะบุคคลมาหักภาษี

ดังนั้น แนวทางที่กรมสรรพากรจะเสนอกระทรวงการคลังให้มีการแก้ไขประมวลรัษฏากรครั้งนี้ ประการแรกต้องกำหนดคำนิยาม “คณะบุคคล” ให้ชัดเจน และต้องระบุให้ชัดเจนว่า “ไม่มีการแบ่งปันผลกำไร” หากตรวจสอบพบในภายหลังว่ามีการแบ่งผลกำไรต้องเสียภาษีย้อนหลัง โดยวัตถุประสงค์ของการแก้ไขกฏหมายครั้งนี้ กรมสรรพากรต้องการให้การประกอบธุรกิจทุกประเภทอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส ตรงไปตรงมา สอดคล้องกับความเป็นจริง

“ทั้งนี้ประมวลรัษฎากรไม่ได้กำหนดคำนิยามของคำว่าคณะบุคคลเอาไว้ กรมสรรพารจึงต้องไปหาคำที่มีความหมายใกล้เคียงมาใช้อ้างอิง ตามกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่า คณะบุคคลต้องไม่มีการแบ่งปันผลกำไร หากมีการแบ่งผลกำไร ถือเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ ไม่สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ อย่างกรณีของดารานักแสดง ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัว ฉะนั้นจะไปนำคนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดตั้งเป็นคณะบุคคลไม่ได้ กรมสรรพากรไม่ยอม หากตรวจพบต้องเก็บภาษีกับดาราคนนั้นเพียงคนเดียว คนอื่นไม่เกี่ยวข้อง จะนำค่าลดหย่อนมาหักภาษีไม่ได้ ซึ่งตอนนี้กรมสรรพากรได้เรียกกลุ่มวิชาชีพอิสระมาทำความเข้าใจไปแล้วหลายกลุ่ม ส่วนใหญ่เสียภาษีถูกต้องแล้ว”นางวณี กล่าว

ส่วนกรณีที่กฏหมายของ ป.ป.ช. กำหนดให้บุคคลที่เป็นคู่สัญญากับภาครัฐต้องยื่นบัญชีรายรับรายจ่ายของโครงการกับกรมสรรพากร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555

นางวณีกล่าวว่า เท่าที่ทราบเรื่องนี้ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะในทางปฏิบัติมีปัญหา ซึ่งทาง ป.ป.ช. ภาคเอกชนและสภาวิชาชีพบัญชี กำลังเร่งหาแนวทางแก้ไขประเด็นที่ยังเป็นปัญหาอุปสรรค อย่างเช่น กรณีของผู้รับเหมาก่อสร้าง สั่งซื้ออิฐ หิน ดิน ทราย เป็นจำนวนมาก เพื่อเตรียมไว้ใช้ในงานก่อสร้างหลายโครงการ หากจะแยกบิลเพื่อนำมาลงบันทึกบัญชีรายจ่ายเป็นรายโครงการ ในทางปฏิบัติจะมีความยุ่งยาก แต่เจตนารมณ์ของ ป.ป.ช. คือต้องการลดปัญหาทุจริตคอรัปชั่น โดยหันมาควบคุมค่าใช้จ่าย ซึ่งกรมสรรพากรก็มีภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นเครื่องมือตรวจเช็คความถูกต้องได้ในระดับหนึ่ง เพราะทุกๆ ครั้งที่ส่วนราชการจ่ายเงินให้กับผู้รับเหมาต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายนำส่งกรมสรรพากรทุกเดือน และสุดท้ายก็จะทบกลับมาเป็นเงินได้ของผู้รับเหมาก่อสร้าง