ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เปิดโครงสร้างเงินเดือนนักกฎหมาย ผู้พิพากษา อัยการ ศาล

เปิดโครงสร้างเงินเดือนนักกฎหมาย ผู้พิพากษา อัยการ ศาล

7 ตุลาคม 2014


ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา หลังการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. วางยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะกลุ่มข้าราชการระดับล่าง ผ่านการขึ้นเงินเดือน-ค่าตอบแทน ที่ศึกษาและนำเสนอโดยกระทรวงการคลัง

นอกจากนี้ ยังมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ด้วยการจ้างงานทั่วประเทศด้วยโครงการก่อสร้างแบบซ่อม-สร้างสถานที่ราชการ และการจ่ายเงินอุดหนุนชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน วงเงินกว่า 3.2 แสนล้านบาท นำเสนอโดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

ข้าราชการผู้น้อยทยอยขึ้นเงินเดือน-คาด 1 เม.ย. 2558 ขึ้นทุกระดับ 2.7 ล้านคน

โครงสร้างข้าราชการ

ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง โดยนายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง นำเสนอต่อ คสช. ว่า ขณะนี้มีความคืบหน้าการปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการโดยกรมบัญชีกลาง สรุปวงเงินที่จะใช้สำหรับการปรับขึ้นเงินเดือนตามนโยบายของ คสช. เรียบร้อยแล้ว โดยหลักการขึ้นเงินเดือนนั้นจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ 1. ปรับเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้ข้าราชการและลูกจ้างประจำชั้นผู้น้อย 2. ปรับเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพให้แก่ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และ 3. ปรับเงินค่าจ้างให้แก่ลูกจ้าง

โดยมีความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้เสนอให้ปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกคนในปีงบประมาณ 2558 ในอัตรา 8% โดยเทียบเคียงจากดัชนีราคาผู้บริโภคปีปัจจุบันที่อยู่ระดับ 7.2%

จึงมีแนวโน้มสูงว่า การปรับขึ้นเงินเดือนครั้งใหม่ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 เมษายน 2558 จะมีกลุ่มข้าราชการ ลูกจ้าง และข้าราชการทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้รับประโยชน์รวม 2.7 ล้านคน ประกอบด้วย ข้าราชการ 1.7 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.61 แสนคน พนักงานราชการ 2.19 แสนคน ข้าราชการเกษียณที่รับเบี้ยหวัดบำนาญอีก 6.12 แสนคน

ตัวเลขของกรมบัญชีกลาง ประเมินว่าในปัจจุบันค่าใช้จ่ายเงินเดือนอยู่ที่เดือนละ 58,500 ล้านบาท ใช้งบทั้งปี 7.02 แสนล้านบาท หากมีการเริ่มจ่ายเงินเดือนในงวดวันที่ 30 เมษายน 2558 โดยปรับขึ้น 8% จะใช้เงินปีละ 56,400 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา คสช. ได้อนุมัติเพิ่มเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ (ชคบ.) สำหรับผู้ที่ได้รับต่ำกว่าเดือนละ 9,000 บาท โดยให้ปรับเพิ่มให้ครบ 9,000 บาท มีข้าราชการได้รับเงินจำนวนนี้ 70,000 คน โดยใช้งบประมาณเพิ่มปีละ 151 ล้านบาท มีผลตั้งแต่ 10 กรกฎาคม 2557

และมีการอนุมัติเพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวแก่ข้าราชการตุลาการและดะโต๊ะยุติธรรม โดยใช้งบประมาณกลางปี 2557 จำนวน 390 ล้านบาท จะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2557

นอกจากนี้ คสช. ยังได้อนุมัติให้กระทรวงมหาดไทยปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนและค่าตอบแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้ง อบจ., อบต. และเทศบาล จำนวนกว่า 1.6 แสนคนทั่วประเทศ มีผลในวันที่ 1 ตุลาคม 2557

ในขณะที่ข้าราชการพลเรือนทั่วประเทศ กำลังจะได้รับการปรับโครงสร้างเงินเดือนใหม่ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ขอนำเสนอโครงสร้างเงินเดือนของบุคลากร ที่อยู่ในระบบศาลยุติธรรม ซึ่งประกอบด้วย ศาลรัฐธรรมนูญ, ศาลยุติธรรม, ศาลปกครอง, อัยการ และนักกฎหมายในสำนักงานกฤษฎีกา

1. ศาลรัฐธรรมนูญ (constitutional court) เป็นศาลสูงที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาเกี่ยวกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยมีอำนาจหลักที่จะวินิจฉัยว่า กฎหมายใดมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่น ขัดกับสิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้หรือไม่ มีขอบเขตอำนาจศาลที่ชี้ชะตาอนาคตของการเมืองไทยมาแล้ว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ศาลรัฐธรรมนูญ

2. ศาลยุติธรรม (The Court of Justice) ประกอบไปด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งผู้พิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุธรณ์ และศาลฏีกา มีอัตราค่าตอบแทนอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน มีเพียงผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา รองประธานศาลฎีกา ที่ได้ค่าตอบแทนมากกว่าศาลอื่น คือ มีเงินประจำตำแหน่ง 50,000 บาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ศาลยุติธรรม

3. ศาลปกครอง (administrative court) เป็นศาลชำนัญพิเศษด้านกฎหมายปกครอง โดยเฉพาะด้านข้อพิพาทเกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐ จัดตั้งขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่า ราชการเป็นไปตามกฎหมาย ตุลาการประจำศาลนี้มีเงินรายได้รวมอยู่ที่ระหว่าง 91,860 บาท ถึง 129,220 บาท(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ศาลปกครอง

4. สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นสำนักงานส่วนราชการขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่อำนวยความยุติธรรม รักษาผลประโยชน์ของรัฐ คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และมีหน้าที่อื่นๆ ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เช่น เป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้บุคคล หรือพรรคการเมืองใดเลิกการกระทำ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, มีอำนาจฟ้องคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง, ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือแก่ต่างประเทศ หรือขอความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศ ในเรื่องทางอาญา ฯลฯ(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

สำนักงานอัยการสูงสุด

5.คณะกรรมการกฤษฎีกา ในตำแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา ระเบียบคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าด้วยการกําหนดตําแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกา พ.ศ. 2551 ซึ่งผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นนักกฎหมายกฤษฎีกาจะได้รับเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งในอัตราดังนี้

นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 1 ให้ได้รับเดือนละ 40,000 บาท (แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสํากัด ตั้งแต่ระดับ 8 ขึ้นไป)
นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 2 ให้ได้รับเดือนละ 35,000 บาท (แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสํากัด ตั้งแต่ระดับ 6 ขึ้นไป)
นักกฎหมายกฤษฎีกา ชั้นที่ 3 ให้ได้รับเดือนละ 25,000 บาท (แต่งตั้งจากข้าราชการพลเรือนในสํากัด ตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป)

โดยเงินเพิ่มสําหรับตําแหน่งนักกฎหมายกฤษฎีกาเมื่อคํานวณรวมกับเงินเดือน เงินประจําตําแหน่ง และเงินเพิ่มพิเศษอื่นในลักษณะเดียวกันกับเงินประจําตําแหน่งแล้วจะต้องเป็นค่าตอบแทนที่ไม่ต่ำกว่าค่าตอบแทนข้าราชการอัยการ ชั้น 2 ขั้น 1

ในตอนหน้า ติดตามเจาะฐานเงินเดือนทหารที่มีการปรับใหม่ มีผลบังคับใช้ 1 เมษายน 2558 และค่าตอบแทนบุคลากรในศาลทหาร