ThaiPublica > เกาะกระแส > โลกสดุดีเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 “กษัตริย์นักพัฒนา (อย่างยั่งยืน)”

โลกสดุดีเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 “กษัตริย์นักพัฒนา (อย่างยั่งยืน)”

31 ตุลาคม 2016


สืบสานโครงการพระราชดำริ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระลงไปดำเนินการที่จ.น่าน
สืบสานโครงการพระราชดำริ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระลงไปดำเนินการที่จ.น่าน

เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2559 มีการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ นัดพิเศษเพื่อถวายสดุดีและเทิดพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ สำนักงานใหญ่ องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา โดยมีตัวแทนจากภูมิภาคต่างๆของโลกขึ้นกล่าวสดุดี โดยเริ่มประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ กล่าวเป็นคนแรก ตามด้วยนายบัน คี มูน เลขาธิการยูเอ็นเป็นคนที่สองจากนั้นก็มีผู้แทนจากชิลี ทวีปอเมริกาใต้ ผู้แทนจากคูเวต เอเชียแปซิฟิก ผู้แทนจากสหราชอาณาจักร ยุโรปตะวันตก ผู้แทนจากทวีปแอฟริกา ผู้แทนจากสหรัฐอเมริกา และนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น

ผู้แทนแต่ละภูมิภาคของโลกต่างสดุดีในหลวงรัชกาลที่ 9 ว่าทรงเป็นกษัตริย์นักพัฒนา ทรงสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมต่างๆ ให้ไทยและโลก ทุกคนจะจดจำพระองค์ว่าเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ แนวพระราชดำริของพระองค์ ทำให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลง พัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะเรื่องพลังงานทดแทนและสภาพอากาศ รวมทั้งแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีการนำไปปรับใช้ในหลายประเทศ และตรงกับเป้าหมายของสหประชาชาติตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน พระองค์ทรงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย ทรงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อประชาชนอันเป็นที่รักของพระองค์ มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำรินับพันๆ โครงการที่เกิดขึ้น นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ดี ทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ และพระองค์ทางให้การช่วยเหลือโดยไม่หวังผลตอบแทน(ดูเพิ่มเติมhttp://webtv.un.org/)

ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระองค์ทรงครองราชย์ยาวนานข้ามศตวรรษที่ 20 มาถึงศตวรรษที่ 21 และทรงเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยและของโลก

เสียงแซ่ซ้องสรรเสริญและเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ 9 กระหึ่มดังก้องโลกในวันนี้ มาจากผลงานที่ได้ทรงทำมายาวนาน 70 ปี ตลอดรัชสมัยของพระองค์ เป็น 70 ปีแห่งการวางฐานรากการพัฒนา เพื่อให้ประเทศไทยก้าวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

สิ่งที่พระองค์ทรงทำมา 70 ปี ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติเพิ่งประกาศเมื่อกันยายน ปี 2558 ว่าเป็นแนวทางการพัฒนาใหม่ของโลกในระยะ 15 ปีต่อจากนี้ไป ด้วยเป้าหมาย 17 ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ การขจัดความหิวโหยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน ส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ จัดการน้ำอย่างยั่งยืนและพร้อมใช้สำหรับทุกคน การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก ส่งเสริมสันติภาพและการเข้าถึงระบบยุติธรรมอย่างเท่าเทียม สร้างความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น

ผลงานของพระองค์เป็นที่ประจักษ์ชัดต่อโลกว่าแนวทางที่พระองค์ได้ทรงทำให้ประเทศไทยคือแนวทางการการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หลายโครงการไม่ได้สำเร็จในทันที ต้องทดลองซ้ำ ทำซ้ำ แต่ในที่สุด ด้วยความมุ่งมั่น ก็ปรากฏเป็นผลงานที่ประชาชนคนไทยและโลกได้ประจักษ์

พระองค์มีพระราชดำรัสให้กำลังใจผู้ทำงานว่า “มีเหมือนกันที่ทำการทดลองแล้วล้มเหลว ทางฝ่ายศูนย์ศึกษาไม่ควรที่จะอายในความล้มเหลว” และ “ในศูนย์การศึกษาพัฒนานั้น ทำอะไรไม่ถูกแล้วก็อาจเป็นอนุสาวรีย์ของความไม่ถูก จะได้สังวรว่าทำอย่างนี้ไม่ได้”

โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริยุคต้นๆ ของพระองค์มีแกนหลัก 3 ประการ คือ 1) การจัดการทรัพยากรน้ำ 2) เทคโนโลยีอันเรียบง่าย 3) การจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างใส่ใจ

พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “มีคนบอกว่าโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ ข้อนี้เป็นความคิดที่ผิด เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะหากโครงการพระราชดำริแตะต้องไม่ได้ เมืองไทยไม่เจริญ พระราชดำรินั้นก็เป็นความคิดของพระราชา ถ้าความคิดของพระราชาแก้ไขไม่ได้ ก็หมายความว่าเมืองไทยมีความก้าวหน้าไม่ได้”

เป้าหมายการพัฒนาเหล่านี้ เในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงทำเพื่อให้ประชาชนชาวไทยหลุดพ้นจากความยากจน ยกระดับคุณภาพชีวิตให้เข้าถึงระบบสาธารณสุข การศึกษา ตลอดจนการรักษาดูแลทรัพยากรธรรมชาติ มาอย่างยาวนาน จนเรียกได้ว่านี่คือการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ผลักดันและพัฒนาจนคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยดีขึ้นโดยมีตัวชี้วัดอย่างชัดเจน

ตลอดระยะเวลาการครองราชย์ พระองค์ได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนทุกจังหวัดของประเทศ ครอบคลุมระยะทางกว่า 48,000 กิโลเมตร เป็นระยะเวลาหลายต่อหลายปี เพื่อพบประชาชน เพื่อรับฟังปัญหาของพวกเขาและแนวทางแก้ไข พระองค์ทรงให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ สำหรับคนที่ขาดแคลนที่สุด แสวงหาคำตอบของปัญหาที่ประชาชนส่วนใหญ่ประสบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาภัยแล้ง การตัดไม้ทำลายป่า โภชนาการและโรคภัยไข้เจ็บ ความใส่พระราชหฤทัยอย่างต่อเนื่องได้กลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ยุคสมัยนี้ให้คำนิยาม

พระองค์ทรงปฏิบัติภารกิจทันทีหลังเถลิงถวัลยราชสมบัติ โดยทรงเล็งเห็นว่าการพัฒนาให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้นั้น ประชาชนต้องมีสุขภาพดี ถ้าประชาชนไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ คนแต่ละรุ่นจะติดอยู่ในวงจรของสุขภาพที่เลวร้ายและความยากจน ซึ่งเป็นสิ่งฉุดรั้งความพยายามในการพัฒนาให้ประเทศก้าวหน้า ทั้งในระดับมหภาค ภาระด้านโรคและความทุพพลภาพจะทำให้ประเทศสูญเสียทรัพยากร ส่วนในระดับครัวเรือนอาจทำให้ครัวเรือนตกอยู่ในความแร้นแค้น

ข้อมูล ณ ปี 2554 มีโครงการทั้งหมด 4,368 โครงการ แบ่งเป็นโครงการพัฒนาทรัพยากรน้ำ 1,770 โครงการ สิ่งแวดล้อมรวมถึงการอนุรักษ์ป่า 931 โครงการ การเกษตร 559 โครงการ การพัฒนาโอกาสในการประกอบอาชีพ 325 โครงการ สวัสดิการสังคม 179 โครงการ การคมนาคมสื่อสาร 164 โครงการ สาธารณสุข 50 โครงการ และโครงการด้านอื่นๆ อีก 390 โครงการ

พระองค์มีพระราชดำรัสว่า “การพัฒนาจะต้องเป็นไปตามภูมิประเทศทางภูมิศาสตร์ และภูมิประเทศทางสังคมศาสตร์ในสังคมวิทยา ภูมิประเทศตามสังคมวิทยาคือนิสัยใจคอของคนเรา จะไปบังคับให้คนคิดอย่างอื่นไม่ได้ เราต้องแนะนำ เราเข้าไป ไปช่วยโดยที่จะคิดให้เขาเข้ากับเราไม่ได้ แต่ถ้าเราเข้าไปแล้ว เราเข้าไปดูว่าเขาต้องการอะไรจริง แล้วก็อธิบายให้เขาเข้าใจหลักการของการเข้าไปพัฒนานี้ก็จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่ง”

"บ่อพวง" แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง หรือ 4-5  ครัวเรือนที่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำกันเอง (โครงการปิดทองหลังพระ จ.น่าน)
“บ่อพวง” แนวทางการบริหารจัดการน้ำตามแนวคิดของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สำหรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง หรือ 4-5 ครัวเรือนที่ร่วมกันบริหารจัดการน้ำกันเอง (โครงการปิดทองหลังพระ จ.น่าน)

พระองค์ทรงเห็นว่าการกำหนดแผนช่วยเหลือคนนั้นมีหนทางเดียวคือต้องรู้จักผู้ที่ตนจะเข้าไปช่วยเหลือให้ดีเสียก่อน ไม่มีวิธีลัดอื่นใดนอกจากนี้ และการรู้จักผู้คนไม่อาจทำได้ด้วยการท่องจำงานวิจัยที่ศูนย์วิจัยทำเอาไว้ ผู้ที่จะเข้าไปพบปะผู้คนจริงๆ และเรียนรู้ที่จะชอบเหล่าคนที่จะเข้าไปช่วยเหลือด้วย

ในสมัยก่อนด้วยภัยคุกคามด้านสุขภาพต่างๆ ที่ไม่มีหมอไม่มีโรงพยาบาล อัตราการเสียชีวิตของมารดาสูงกว่า 400 คนต่อการคลอดบุตรที่มีชีวิต 100,000 คน อัตราการเสียชีวิตของทารกอยู่ที่ 62 คนต่อทารกอายุต่ำกว่า 1 ปี 1,000 คน

ดังที่พระองค์ทรงตั้งข้อสังเกตไว้ว่า “การรักษาความสมบูรณ์แข็งแรงของร่างกายเป็นปัจจัยของเศรษฐกิจที่ดีและสังคมที่มั่นคง และเมื่อสุขภาพสมบูรณ์ดีพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจแล้ว ย่อมมีกำลังทำประโยชน์ สร้างสรรค์เศรษฐกิจและสังคมของบ้านเมืองได้อย่างเต็มที่ ทั้งไม่เป็นภาระแก่สังคมด้วย”

นอกจากนี้ ตอนหนึ่งพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 พระราชทานข้อคิดแก่ผู้ทำงานในมูลนิธิราชประชาสมาสัยว่า “ในการรักษาผู้ป่วย ต้องรักษาใจเขาให้ได้ ต้องเข้าถึงใจเขา ไม่ใช่ความเจ็บปวดหรืออาการ ต้องทำให้เขาเห็นว่าโรคเรื้อนรักษาได้”

หรือโครงการผลิตน้ำเกลือที่มีคุณภาพดี ต้นทุนเพียงเสี้ยวเดียวของการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยพระองค์ทรงพระราชทานเงินส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งให้ไปค้นคว้าทำน้ำเกลือขึ้นมาเองในประเทศเป็นครั้งแรก และน้ำเกลือมีคุณสมบัติอย่างดีที่สามารถใช้ได้ในราคาถูก เป็นรากฐานมาตรฐานอุตสาหกรรมน้ำเกลือทางด้านการแพทย์มาจนทุกวันนี้

ทรงริเริ่ม “หมอหมู่บ้าน” มาตั้งแต่ปี 2525 (ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขนำนโยบายนี้มาใช้อีกครั้ง) มีคลินิกลอยน้ำไว้บริการแก่ประชาชนริมน้ำที่เข้าถึงยาก เป็นต้น

จากสิ่งที่พระองค์ทำเพื่อโดยเป้าหมายของการสร้างสุขภาพที่ดี และการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ได้ทรงดำเนินการมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2493 จนถึงปี 2552 ทำให้ประเทศไทยก้าวสู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millenium Development Goals) ของสหประชาชาติ

ปี 2543 ประเทศไทยและประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวม 189 ประเทศ จึงรวมตัวกันในการประชุมองค์การสหประชาชาติที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และเห็นพ้องต้องกันในการตั้งเป้าหมายการพัฒนาทั้งในระดับชาติและระดับสากลที่ทุกประเทศจะดำเนินการร่วมกันให้ได้ภายในปี 2558 โดยเป้าหมายดังกล่าวเรียกว่า เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Millennium Development Goals (MDGs) อันประกอบด้วย 8 เป้าหมายหลัก คือ 1. ขจัดความยากจนและความหิวโหย 2. ให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาระดับประถมศึกษา 3. ส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศและบทบาทสตรี 4. ลดอัตราการตายของเด็ก 5. พัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ 6. ต่อสู้กับโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคสำคัญอื่นๆ 7. รักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และ 8. ส่งเสริมการเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก

เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษทั้ง 8 ข้อได้สิ้นสุดลงในปี 2558 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของการพัฒนา องค์การสหประชาชาติจึงได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาขึ้นใหม่โดยอาศัยกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติ (Dimensions) ของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้มีความเชื่อมโยงกัน เรียกว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) 17 เป้าหมาย ซึ่งจะใช้เป็นทิศทางการพัฒนา 15 ปี ตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573

เช่นเดียวกับการศึกษา พระองค์ทรงช่วยเหลือคล้ายคลึงกับพระราชกรณียกิจด้านการสาธารณสุข คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สร้างโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการศึกษา

พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า “เบื้องต้นต้องเลิกคิดว่า เรียนวิชาเพื่อไปสอบไล่ เพราะในชีวิตของเรา เราไม่ได้อยู่ที่การกาผิดกาถูกในข้อสอบ หากอยู่ที่การทำงานและการแก้ปัญหาสารพัด”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงตระหนักอยู่เสมอว่า พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาของพระองค์นั้นมีทั้งที่สำเร็จและล้มเหลว มีได้และมีเสีย แต่โครงการพระราชดำริมีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนโดยไม่ทำลายความสมดุล คุณค่าทางวัฒนธรรม ตลอดจนอัตลักษณ์ของพวกเขา

พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของพระบาทสมเด็นพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ ได้รับการยกย่องจากหลายฝ่ายทั่วโลก

การสดุดีของสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งนี้ ยกย่องพระองค์เป็นกษัตริย์นักพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ยิ่งใหญ่ของโลก นับเป็นประวัติศาสตร์น่าประทับใจยิ่งของประชาชนคนไทย

หมายเหตุ : ข้อมูลจากหนังสือ”กลางใจราษฎร์ 6 ทศวรรษแห่งการทรงงาน”