ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > #DJSI2017Scan ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกกับ 3 หลักการง่ายๆ ที่ทำให้ธุรกิจได้ไปต่อ

#DJSI2017Scan ดัชนีชี้วัดความยั่งยืนระดับโลกกับ 3 หลักการง่ายๆ ที่ทำให้ธุรกิจได้ไปต่อ

10 กันยายน 2017


รายงานโดย ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์

“ไม่เพียงมีการเพิ่มขึ้นของรายชื่อบริษัทที่สมควรได้รับการยกย่องในระดับโลก ในระดับภูมิภาค รวมถึงระดับประเทศ แต่ยังมีการลบชื่อออกจากการประเมินและการจัดอันดับในแต่ละปีด้วย เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของนักวางแผนและปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้”

การทำธุรกิจให้เติบโตมีกำไรในวันนี้ ไม่เพียงพอที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจหรือองค์กรของเราท่านจะยังอยู่ต่อไปในอีก 10 หรืออาจเพียงแค่ใน 3 ปีข้างหน้า อายุเฉลี่ยของบริษัทใหญ่ๆ ในโลกนี้เคยอยู่ที่ประมาณ 18-20 ปี แต่วันนี้กลับเหลือเพียง 3-4 ปีเท่านั้น ตัวอย่างยักษ์ล้มก็มีให้เห็นกันทุกปีแบบไม่ต้องเสียเวลาขุดคุ้ย ดังนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่บรรดาธุรกิจอาจต้องเข้าใจถึงเหตุผลที่จะทำให้ธุรกิจไปไม่รอด มากพอๆ กับที่ต้องศึกษาและปรับกุญแจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน

“ความยั่งยืน” คือคำนิยามของทั้ง 3 หลักการที่จะทำให้ธุรกิจได้ไปต่อ โดยที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในแบบที่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวาง แนวคิดนี้เป็นหนึ่งในหลากหลายแง่มองของนักคิดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนจำนวนมาก วันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่บอกว่าธุรกิจไปไม่รอดหรือธุรกิจที่ขยายตัวแบบหาตัวจับยาก เกิดจากศักยภาพในการดำเนินธุรกิจที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้เหนือกว่าการเชิงลบให้มากที่สุด ครอบคลุมที่สุด มีระดับความรุนแรงสูงสุด  

3 หลักการของ Sustainability in Actions ที่รวบรวมจากการทำงานในยุคต่างๆ ของการเปิดหน้าใหม่สำหรับธุรกิจในอุตสาหกรรมที่หลากหลาย คือ หนึ่ง การสร้างการมีส่วนร่วมแบบ 360 องศา (Circular Inclusiveness) สอง การสร้างนวัตกรรมบนเมกะเทรนด์ (Megatrend-based Innovation) และสาม การปรับทิศแบบเรียลไทม์ (Real-time Re-orientation)

DJSI2017 กับประเด็นมุ่งเน้นด้านสิทธิมนุษยชนและผลกระทบเชิงนโยบาย

การเปิดตัวรีวิวผลการประเมินศักยภาพการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่มีชื่อย่ออันทรงพลังว่า “DJSI” ชื่อเต็มคือ Dow Jones Sustainability Indices ประจำปี 2017 ซึ่งเผยโฉมกันไปเบาๆ จากรีวิวฉบับย่อโดยเจ้าของดัชนีดังกล่าว คือ S&P Dow Jones Indices (S&P DJI) หนึ่งในผู้จัดทำตัวชี้วัดชั้นนำระดับโลก พร้อมด้วย RobecoSAM ผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนที่โฟกัสในเรื่อง “การลงทุนยั่งยืน” (Sustainability Investing) เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ที่ผ่านมานั้นเป็นภาพสะท้อนพัฒนาการของธุรกิจที่ยั่งยืน

แม้จะเป็นเพียงการเปิดตัวด้วยการรีวิวฉบับย่อจากผู้จัด แต่ก็ไม่ทำให้การประเมินและวิเคราะห์ผลการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัทชั้นนำในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศทั่วโลกจืดชืดลงแม้แต่น้อย โดยเฉพาะหลายประเด็นสำคัญที่ได้รับการรีวิว ที่ทำให้พอมองเห็นความก้าวหน้าเรื่องความยั่งยืนขององค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในโลก

เบื้องหลังของการจัดคะแนนด้านความยั่งยืน DJSI นี้ เป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรที่เป็นผู้นำในด้านการลงทุนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนดังกล่าวข้างต้น ซึ่งได้เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 1999 โดย DJSI ถือเป็นดัชนีที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน โดยมีการรวบรวมข้อมูลผลกระทบ ตลอดจนแนวทางดำเนินธุรกิจในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งถูกผลักดันให้ประเมินผลกระทบออกมาให้ได้ในรูปแบบของ “การเงิน” ซึ่งแน่นอนว่าหอมหวนอย่างยิ่งสำหรับนักลงทุนทั้งเล็ก กลาง ใหญ่

ข้อดีของการใช้ข้อมูลจากดัชนีดังกล่าวสำหรับการลงทุน คือ DJSI มีการประเมินศักยภาพและการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในแบบรอบด้าน โดยมุ่งเน้น “คุณค่าที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับในระยะยาว” ควบคู่ไปกับการเติบโตในระยะสั้นและระยะกลาง

นอกจากนี้ ระเบียบวิธีในการได้มาซึ่งผลการศึกษา รวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ผลนี้ ก็เป็นเกณฑ์ที่มีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจนโดยมุ่งเน้นสินค้าและบริการของบริษัทขนาดใหญ่ที่โดดเด่นมากที่สุด ในแต่ละกลุ่มธุรกิจ ในแต่ละภูมิภาคทั่วโลก ทั้งนี้ มีการคัดเลือกบริษัทเข้าร่วมการประเมินด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Assessment (CSA) ในแต่ละปีจากทั่วโลกในจำนวนไม่น้อย หากวิเคราะห์แล้วก็เป็นฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากทีเดียว

“แนวปฏิบัติรวมถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ และการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจนั้นๆ ตลอดไปจนถึงการวัดคุณค่าและประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ได้มีการปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัย”

ในปี 2017 มีบริษัทที่เข้าร่วมการประเมินมากกว่า 3,000 ราย ก็น่าสนใจว่าเวลาที่วิเคราะห์ความยั่งยืนในแต่ละด้านนั้น ผู้จัดทำเครื่องมือชี้วัด CSA สามารถใช้ข้อมูลที่ได้ ทั้งจากการตอบแบบสอบถามโดยบริษัทเอง และจากการศึกษาข้อมูลของบริษัทต่างๆ เหล่านั้นที่ได้มีการเปิดเผยสู่สาธารณะที่อยากเน้นว่าการประมวลและประเมินข้อมูลศักยภาพและผลการดำเนินการสู่ความยั่งยืน ในปีนี้มีความสำคัญมากและจะยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เรื่องของการปรับปรุงกฎเกณฑ์ในการให้คะแนนของ DJSI ใน 2 เรื่องหลัก ที่น่าสนใจมากทีเดียวคือเรื่องของสิทธิมนุษยชน (Human Rights) และเรื่องที่สองคือ การส่งผลกระทบในเชิงนโยบาย (Policy Influence)

ในส่วนของเกณฑ์อื่นๆ เช่น เรื่องของธรรมาภิบาล เรื่องของแนวปฏิบัติรวมถึงการบริหารจัดการห่วงโซ่ธุรกิจ การบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำ และการใช้งานผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจนั้นๆ ตลอดไปจนถึงการวัดคุณค่าและประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เหล่านี้ล้วนเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่ได้มีการปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัยและวัตถุประสงค์ของการศึกษารวบรวมข้อมูลเพื่อการจัดกลุ่มบริษัทที่สมควรได้รับการยกย่อง อีกทั้งยังอาจสามารถนำมาเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติของบริษัทหรือองค์กรอื่นๆ ได้ด้วย

อ่านสัญญาณจากการจัดกลุ่ม “ผู้นำในอุตสาหกรรม”

รายชื่อที่เปิดเผยออกมาในฐานะผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group Leader) โดยจะประกาศอย่างเป็นทางการ ณ วันที่ 18 กันยายนที่จะถึงนี้ มีหลายบริษัทที่น่าสนใจมาก ทั้งที่มาใหม่มาแรง และอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง ด้วยเหตุที่สามารถเข้าถึงและเป็นที่คุ้นเคยอย่างยิ่งสำหรับชีวิตประจำวันของผู้บริโภค โดยมี 2-3 กลุ่มธุรกิจที่อยากนำเสนอมา ณ จุดนี้

ไทยออยล์ บริษัทรายเดียวในประเทศไทยที่เป็นผู้นำระดับอุตสาหกรรมและยังคงรักษาตำแหน่งในฐานะผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน

กลุ่มแรก คือ Food, Beverage and Tobacco กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และยาสูบ สำหรับกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่น่าสนใจตรงที่ เหตุใดธุรกิจยาสูบจึงยังคงอยู่ในการประเมินด้านความยั่งยืน โดยขัดต่อความรู้สึกและการปลูกฝังอย่างต่อเนื่องในเรื่องของภาพลักษณ์ย้อนแย้งที่ยาสูบมีต่อผู้บริโภคและชุมชน ธุรกิจที่มีภาพลักษณ์ในการส่งผลกระทบเชิงลบโดดเด่นกว่าผลกระทบเชิงบวก สามารถอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมได้อย่างไร อันนี้คงหาโอกาสวิเคราะห์วิจารณ์กันในรายละเอียดต่อไป

กลุ่มที่สองที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ กลุ่มพลังงาน ที่น่าสนใจเพราะประเทศไทยติดอันดับผู้นำแห่งกลุ่มอุตสาหกรรมนี้เลยทีเดียว  การเป็นประเทศเล็กอย่างประเทศไทย แต่เป็นที่หนึ่งของกลุ่มพลังงานนี้มันหมายความว่าอย่างไร

และกลุ่มที่สามที่เป็นที่สนใจคือ Household and Personal Product เหตุเพราะกลุ่มธุรกิจนี้มีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้บริโภคจำนวนมากบนโลกและในอีกไม่กี่ปี ประชากรล้นโลกที่มีจำนวนมากกว่า 9 พันล้านคนในปี 2050 จะเป็นอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ทำให้กลุ่มธุรกิจนี้น่าจับตามองมากที่สุดในผลการประกาศดัชนีปี 2017 นี้ น่าจะได้เห็นท่วงท่าของผู้นำที่จะแสดงศักยภาพในการสร้างความยั่งยืนต่อบริษัทเอง ต่อผู้คน และต่อโลกใบนี้

สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นสำหรับการให้คะแนนและประเมินศักยภาพรวมถึงประสิทธิภาพในการทำงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของ DJSI ที่น่าประทับใจอีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่เพียงมีการเพิ่มขึ้นของรายชื่อบริษัทที่สมควรได้รับการยกย่องในระดับโลก ในระดับภูมิภาค รวมถึงระดับประเทศ แต่ยังมีการลบชื่อออกจากการประเมินและการจัดอันดับในแต่ละปีด้วย เรื่องนี้ถือเป็นความท้าทายของนักวางแผนและปฏิบัติงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยแท้

บริษัทต่างๆ ที่ได้รับการประเมินความยั่งยืนในปี 2017 นี้มีความหลากหลายและล้วนถูกประเมินอย่างเท่าเทียมกันด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Corporate Sustainability Assessment ซึ่งเป็นเครื่องมือที่มีความแม่นยำ มีความสม่ำเสมอ และมีระเบียบวิธีที่ชัดเจน โดยประเมินจากข้อมูลเฉลี่ย 600 ประเด็น ที่แต่ละบริษัทจะได้รับและประเมินออกมาเป็นผลคะแนนเดียวซึ่งกฎเกณฑ์ต่างๆ จะถูกระบุอยู่ใน DJSI

ในส่วนของผู้บริหารจาก RobecoSAM นายมันจิท จูส หัวหน้าฝ่ายปฎิบัติการและการดำเนินงานด้านความยั่งยืน ที่ให้ความเห็นไว้ว่า “การที่ RobecoSAM ได้เป็นผู้บุกเบิกและเป็นผู้นำในการลงทุนที่ยั่งยืนมากกว่า 20 ปี ทำให้บริษัทเองเข้าใจถึงคำถามสำคัญที่ควรรวมอยู่ใน CSA เพื่อที่จะวัดผลความยั่งยืนในประเด็นต่างๆ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเงินของบริษัทหรือธุรกิจระดับโลก เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ CSA ให้ความสำคัญและทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าบริษัทที่สามารถดำเนินการด้านความยั่งยืนได้ดีจะมีแต้มต่อที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าคู่แข่ง และสำหรับปีนี้เป็นที่มั่นใจได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นที่จะเข้าแข่งในพรีเมียร์ลีกของธุรกิจซึ่งเป็นการโฟกัสในเรื่องความยั่งยืนนี้ต่อไป

นอกจากนี้ ผู้บริหารของ S&P Dow Jones Indices นายเดวิด บลิทเซอร์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะกรรมการด้านตัวชี้วัดความยั่งยืน ได้แสดงถึงความมั่นใจว่า “การประเมินผลด้านความยั่งยืนของธุรกิจต่างๆ ในปี 2017 นี้เป็นส่วนสำคัญที่จะมีส่วนในการยกย่องหรือให้ความสำคัญกับความยั่งยืน เป็นการกำหนดนโยบาย รวมถึงเป็นการทำให้ธุรกิจต่างๆ มุ่งเน้นในการสนับสนุนความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นประโยชน์และก่อให้เกิดคุณค่าสำหรับสิ่งแวดล้อมทั่วโลก รวมถึงธุรกิจที่อยู่ในระดับแนวหน้า โดย DJSI ก็มีบทบาทในการเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้นักลงทุนสามารถวางแผนการลงทุนที่ยั่งยืนได้ต่อไป”

และจากการที่ปีนี้ได้มีการปรับเกณฑ์ในการประเมินสองสามเรื่องที่สำคัญยิ่ง ทำให้ DJSI ทวีความสำคัญและยกระดับดัชนีนี้ไปสู่จุดที่เป็นที่น่าติดตามและสามารถให้ความแม่นยำเที่ยงตรงได้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ยกตัวอย่างเช่น การเพิ่มเกณฑ์ในเรื่องของการส่งอิทธิพลในเชิงนโยบายเป็นเรื่องที่หนึ่ง และเรื่องที่สองคือ การวัดคุณค่าและประเมินผลกระทบที่ธุรกิจมีต่อเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม

จากการที่วิเคราะห์เบื้องต้นด้วยข้อมูลของ CSA ยังมีข้อค้นพบสำคัญเกิดขึ้นในปีนี้ 2 ประเด็นหลักที่เปิดเผยมาแล้วในเบื้องต้น คือ หนึ่ง ด้วยปริมาณเม็ดเงินเท่าไหร่กันที่บริษัทใช้ไปกับการสร้างอิทธิพลในการกำหนดนโยบาย และในส่วนที่สองซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน และ RobecoSAM ได้พูดถึง คือ บริษัทประสบกับความยากลำบากมากเพียงใดในการประเมินผลกระทบต่างๆ จากการดำเนินงานด้านความยั่งยืนในเชิงของมูลค่าเม็ดเงิน ซึ่งในโอกาสหน้าจะมานำเสนอต่อไป

อ้างอิง

http://yearbook.robecosam.com/articles/impact-whats-it-worth/

http://www.robecosam.com/images/170907-djsi-review-2017-en-vdef.pdf

http://www.robecosam.com/images/review-presentation-2017.pdf

สนใจร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือมุมมองของท่านเกี่ยวกับ DJSI และการพัฒนาที่ยั่งยืน สามารถส่งข้อมูลของท่านมาได้ที่ [email protected]