ThaiPublica > เกาะกระแส > อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยนำร่องใช้ e-bidding แค่ 4 เดือน ช่วยประหยัด 1.5 พันล้าน – ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่จ่อเข้า สนช.

อธิบดีกรมบัญชีกลาง เผยนำร่องใช้ e-bidding แค่ 4 เดือน ช่วยประหยัด 1.5 พันล้าน – ร่าง กม.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่จ่อเข้า สนช.

31 กรกฎาคม 2015


นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง

นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชี กล่าวถึงความคืบหน้าในการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ทั้งการนำวิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-market และ e-bidding มาใช้แทน e-auction และการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. …. ที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว

โดยนายมนัสกล่าวว่า วิธีจัดซื้อจัดจ้างแบบ e-GP ที่ถูกนำมาทดลองใช้กับหน่วยงานราชการไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 มี 2 แบบ คือ ระบบ e-bidding และ e-market ซึ่งจะใช้กับโครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 100,000 บาท เป็นต้นไป โดยหลักการเหมือนกันคือป้องกันการเผชิญหน้าระหว่างผู้ค้ากับผู้ค้า และผู้ค้ากับเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยการจัดซื้อจัดจ้างทุกกระบวนการ ตั้งแต่ซื้อซอง ซื้อหลักประกันซอง ยื่นซอง ไปจนถึงเคาะราคาประมูล จะกระทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ “ทุกขั้นตอน” ไม่มีใครรู้ว่ามีผู้เข้าประมูลกี่ราย แต่ละรายเป็นใครบ้าง ทำให้ผู้ค้าไม่สามารถไปตกลงกันเพื่อฮั้วประมูลได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่สามารถกลั่นแกล้งผู้ค้าเพื่อเรียกรับสินบน หรือช่วยเหลือผู้ค้าที่ให้สินบนให้ชนะการประมูลได้

สำหรับระบบ e-bidding จะใช้จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่มีความซับซ้อน ต้องใช้เทคนิคเฉพาะ โดยจะเปลี่ยนจากระบบเดิม ที่เมื่อประกาศก็รู้กันแค่ไม่กี่ราย แต่ระบบเดิมจะให้ผู้ค้ามาลงทะเบียน เมื่อจะมีการจัดซื้อจัดจ้างโครงการใด เวลาจะประกาศก็ทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้หากมีผู้มาลงทะเบียน 100 ราย ก็จะได้รับข้อมูลพร้อมกันทั้ง 100 ราย ทุกอย่างจึงโปร่งใสขึ้นกว่าเดิม

ส่วนระบบ e-market จะใช้จัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ไม่ซับซ้อน ปัจจุบันมีการนำร่องกับสินค้า 7 ประเภท ได้แก่ กระดาษถ่ายเอกสาร แฟ้มเอกสาร ซองเอกสาร ตลับผงหมึก เทปกาวสำหรับเข้าเล่ม ยา Calcium carbonate และยา Doxazosin (ยารักษาต่อมลูกหมากโต) โดยในอนาคตจะเพิ่มประเภทสินค้าให้มากขึ้น

นายมนัสกล่าวว่า โดยสรุป วิธีจัดซื้อจัดจ้างระบบ e-market และ e-bidding ดีกว่าแบบเดิมอย่างน้อย 4 ประการ คือ

  1. กันฮั้ว เพราะทุกขั้นตอนทำผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ลดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ค้ากับผู้ค้า หรือผู้ค้ากับเจ้าหน้าที่รัฐ
  1. ประหยัดเวลา ผู้ค้าสามารถดำเนินขั้นตอนในการเข้าร่วมประมูลที่ภูมิลำเนาของตัวเองได้ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ส่วนกลาง
  1. ลดความยุ่งยาก ระบบเดิมต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด เช่น คณะกรรมการรับซอง คณะกรรมการเปิดซอง ฯลฯ ต้องมีการประชุมและทำรายงาน สร้างความยุ่งยากและล่าช้า ต่างกับระบบใหม่ ที่ใช้เจ้าหน้าที่พัสดุเพียงคนเดียวก็สามารถดำเนินการได้
  1. ลดช่องทางทุจริตหรือเรียกรับสินบนของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่อาจใช้วิธีกลั่นแกล้งผู้ค้าที่ไม่ให้สินบน เช่น ทำให้เอกสารไม่ครบจนร่วมประมูลไม่ได้ หรือช่วยเหลือผู้ค้าที่ให้สินบนให้ชนะการประมูล

“สมัยก่อนเป็น manual พูดกันตรงๆ ถ้าไม่ให้ตังค์ ถ้าผมเป็นเจ้าหน้าที่ ก็ฉีกเอกสารทิ้งไป 1 ใบ ทำให้เอกสารไม่ครบ ตกสเปกเข้าประมูลไม่ได้ หรือเวลามีคนเสนอราคามา 3 เจ้า ผมไปเปิดดูก็เห็นคนใครเสนอเท่าไร ก็อาจจะไปบอกให้ผู้ค้าเจ้าที่รักมาก ให้เสนอราคาต่ำกว่าเจ้าอื่น พอให้ชนะประมูล เช่น เจ้าอื่นเสนอ 80 ล้าน ผมก็บอกให้เสนอ 79 ล้าน แค่นี้ก็ชนะแล้ว แต่ระบบใหม่จะทำแบบนี้ไม่ได้แล้ว” นายมนัสกล่าว

ทั้งนี้ จากการนำวิธีจัดซื้อจัดจ้างระบบ e-bidding และ e-market มาใช้นำร่อง พบว่าสามารถประหยัดงบประมาณไปได้มาก โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม – 30 มิถุนายน 2558 ระบบ e-bidding มีการนำไปใช้แล้วกับ 1,399 โครงการ รวมวงเงิน 11,396 ล้านบาท สามารถประหยัดไปได้ 1,570 ล้านบาท คิดเป็น 11% และระบบ e-market มีการนำไปใช้แล้วกับ 36 โครงการ รวมวงเงิน 47.8 ล้านบาท สามารถประหยัดไปได้ 5.2 ล้านบาท คิดเป็น 11% เช่นกัน

นายมนัสกล่าวว่า การจัดซื้อจัดจ้างระบบ e-bidding และ e-market ปัจจุบันยังใช้อยู่กับแค่หน่วยงานราชการเท่านั้น ยังไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอิสระ เพราะต้องรอให้ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ก่อน ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.นี้ อยู่ระหว่างการตรวจทานโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่มีนายโกวิทย์ โปษยานนท์ อดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน ก่อนส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป โดยล่าสุด มีการแก้ไขสาระสำคัญบางประการจากร่าง พ.ร.บ.ที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ครม. เช่น เรื่องข้อยกเว้น เดิมกำหนดว่าไม่ให้นำร่าง พ.ร.บ. นี้ไปใช้กับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐ อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่ล่าสุดมีการปรับแก้ไม่ให้ยกเว้นองค์กรอิสระเหล่านี้แล้ว

“ส่วนข้อยกเว้นสำหรับการจัดซื้ออาวุธแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G) ยังอยู่ เพราะการจัดซื้ออาวุธ วิธีการจะต่างจากการจัดซื้อทั่วไป ที่นานาชาติใช้กันคือระบบ FMS (Foreign Military Sales) กรมบัญชีกลางไม่ได้คิดเอง ไม่ได้ทำแตกต่าง หรือต้องการเอาใจทหารเป็นพิเศษ” อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าว

แหล่งข่าวจากกรมบัญชีกลางเปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่ มีสาระสำคัญคือเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากระเบียบสำนักนายกว่าด้วยการพัสดุฯ ที่เน้นตัววงเงินเป็นหลัก มาเน้นที่ประเภทสินค้าเป็นหลักแทน โดยจะลดวิธีจัดซื้อจัดจ้างให้เหลือเพียง 3 วิธี คือ ประกาศเชิญชวนทั่วไป คัดเลือก และเฉพาะเจาะจง แต่จะมีการออกระเบียบมากำหนดรายละเอียดอีกครั้งว่าแต่ละวิธีมีขั้นตอนอย่างไร เช่นเดียวกับที่ให้ทำข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ในการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อให้มีผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์โครงการดังกล่าว ก็ต้องออกระเบียบอีกฉบับขึ้นมารองรับ ว่าจะใช้กับโครงการที่มีมูลค่าตั้งแต่เท่าไรเป็นต้นไป เพราะคงไม่ได้ใช้กับทุกโครงการ

“ร่าง พ.ร.บ. นี้ เหลือการพิจารณาในชั้นกฤษฎีกาอีก 2 ครั้งเท่านั้น ก่อนส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป” แหล่งข่าวกล่าว