ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (1): ผู้ขออนุมัติเงิน – ผู้สอบข้อเท็จจริงคนเดียวกัน

เจาะงบเยียวยาน้ำท่วม 12 ล้านบาท กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (1): ผู้ขออนุมัติเงิน – ผู้สอบข้อเท็จจริงคนเดียวกัน

18 มีนาคม 2013


สภาพโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
สภาพโรงงานที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมปี2554

หลังจากที่นายไชย ปาลวัฒน์ เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภา จังหวัดลพบุรี หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วม “โครงการยกระดับฝีมือแรงงานลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยกลับสู่สถานประกอบการ” ได้รับเงินค่าฝึกอบรมจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรี (ส.อ.ท.ลพบุรี) ไม่ครบถ้วน ทำหนังสือร้องเรียนต่อ ป.ป.ช., ธรรมาภิบาลจังหวัด, สื่อมวลชน และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้เข้ามาตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของโครงการนี้

ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สื่อมวลชนให้ความสนใจ เพราะนอกจากเป็นประเด็นทุจริตงบฯ น้ำท่วมปี 2554 แล้ว ยังเป็น“ปมความขัดแย้งภายในสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)” ซึ่งกลุ่มผู้สนับสนุนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท. หยิบขึ้นมาเป็นประเด็นโต้ตอบกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดที่สนับสนุนนายธนิต โสรัตน์ เลขาธิการ ส.อ.ท.

ล่าสุด ฝ่ายกฎหมาย ส.อ.ท. หอบข้อมูลหลักฐานกระบวนการทุจริตงบฯ น้ำท่วมจังหวัดลพบุรีวงเงิน 12 ล้านบาท ไปให้กองบังคับการกองปราบปรามขยายผลการสอบสวน ทั้งนี้เนื่องจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของ ส.อ.ท. ไม่มีอำนาจเรียกข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ขณะที่ทางฝั่งกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เจ้าของโครงการยกระดับฝีมือแรงงานฯ ได้มอบหมายให้นายวีรศักดิ์ ลดาคม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจนได้ข้อสรุปในเบื้องต้นว่า “สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลพบุรีได้จ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าวิทยากรไปให้กับห้างหุ้นส่วนโรงสีไฟเจริญประภาครบถ้วนตามจำนวนแล้ว” นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงทำสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้น รายงานให้นายสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ลงนามรับทราบผลสอบเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2555

แหล่งข่าวจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า หลังจากที่ หจก.โรงสีไฟเจริญประภาทำหนังสือร้องเรียนว่าได้รับเงินไม่ครบ เนื่องจาก ส.อ.ท.ลพบุรีหักเงินค่าเบี้ยเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 5 คน รวมเป็นเงิน 6,000 บาท และจ่ายเงินค่าวิทยากรแค่ 17,000 บาท ทำให้โรงสีไฟเจริญประภาได้รับเงินจากการเข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 35,000 บาท ทั้งที่ความจริงต้องได้รับเงินค่าเบี้ยเลี้ยงและค่าวิทยากร 81,600 บาท ดังนั้น นายประพันธ์ มนทการติวงศ์ อดีตอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จึงมอบหมายให้นายวีรศักดิ์ ลดาคม หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ตรวจสอบข้อเท็จจริง

วันที่ 24 สิงหาคม 2555 ส.อ.ท.ลพบุรี ทำหนังสือเลขที่ ส.อ.ท.ลบ 139/2555 มาชี้แจงกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้แจงสาเหตุที่ ส.อ.ท.ลพบุรีหักเงินค่าเบี้ยเลี้ยงของผู้เข้ารับการอบรม 5 คนเอาไว้ 6,000 บาท เนื่องจากบัตรประชาชนของผู้รับการอบรมหมดอายุ กรมพัฒนาฝีมือแรงงานไม่ได้หักเงินจำนวนดังกล่าว และในหนังสือชี้แจ้งฉบับนี้ยังระบุว่า ส.อ.ท.ลพบุรีได้จ่ายเงิน 6,000 บาทให้กับ หจก.โรงสีไฟเจริญประภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2555 กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อนุมัติให้นายรำพึง ธรรมเจริญ ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ และนายประพันธ์ หนูสันทัด นักวิชาการพัฒนาฝีมือแรงงานชำนาญ เดินทางไปจังหวัดลพบุรี เพื่อสอบถามนายสนอง ป่าธนู ประธาน ส.อ.ท.ลพบุรี และรองประธาน ส.อ.ท.ลพบุรีอีก 2 คน ได้รับคำยืนยันว่า ส.อ.ท.ลพบุรีได้จ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงผู้เข้ารับการอบรมและค่าวิทยากรให้กับ หจก.โรงสีไฟเจริญประภาครบตามจำนวนแล้วตามที่ระบุในหนังสือสภาอุตสาหกรรมที่ ส.อ.ท.ลบ 151/2555 ลงวันที่ 20 กันยายน 2555

จากการลงพื้นที่ไปสอบปากคำนายสนอง ป่าธนู ประธาน ส.อ.ท.ลพบุรี และรองประธานส.อ.ท.ลพบุรีอีก 2 คน ดังกล่าว มีการตั้งข้อสังเกตว่า นายรำพึงคือผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพแรงงานและผู้ประกอบกิจการ ซึ่งเป็นผู้ที่ทำเรื่องขออนุมัติอธิบดีเพื่อเบิกงบกลาง 12.24 ล้านบาท ให้กับ ส.อ.ท.ลพบุรี จึงมีการตั้งประเด็นว่า การลงพื้นที่เพื่อไปสอบปากคำมีประเด็นในเรื่องของความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ (Conflict of interest)หรือไม่

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ในรายงานผลสอบข้อเท็จจริงในเบื้องต้นระบุว่า การที่มีข้อมูลว่า หจก.โรงสีไฟเจริญประภาได้รับเงินครบถ้วนแล้ว อาจจะเป็นการสรุปจากคำยืนยันของ ส.อ.ท.ลพบุรีเพียงฝ่ายเดียว ตามหลักการแล้วควรจะต้องไปสอบถาม หจก.โรงสีไฟเจริญประภาว่าได้รับเงินครบถ้วนแล้วหรือยัง หากได้รับเงินไปแล้ว ควรจะต้องแสดงหลักฐานการรับเงินที่มีลายเซ็นของนายไชย เจ้าของโรงสีไฟเจริญประภา ว่าได้รับเงินครบแล้ว

(อ่านตอนต่อไป เจาะลึกเส้นทางการเบิกจ่ายเงิน 12.24 ล้านบาท)