ThaiPublica > เกาะกระแส > ยุคสมัยเปลี่ยน วิถีพระเปลี่ยน พระยุคนี้จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ หรือไม่?

ยุคสมัยเปลี่ยน วิถีพระเปลี่ยน พระยุคนี้จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ หรือไม่?

23 พฤษภาคม 2015


แก้วกานดา ตันเจริญ รายงาน

หากมองตามความเป็นจริง ในยุคสมัยที่อะไรๆ ก็ต้องใช้เงินในการซื้อหามาทั้งสิ้น โดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต แม้แต่ทางธรรม เราจึงพบเห็นพระสงฆ์-สามเณร ใช้จ่ายเงินกันจนเป็นเรื่องปกติธรรมดา เสมือนว่าพระสงฆ์เป็นอีกอาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่ให้บริการพิธีกรรมทางศาสนา

จากการลงสำรวจพื้นที่วัดทั้งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พระสงฆ์รูปหนึ่งในวัดแห่งหนึ่ง จังหวัดนนทบุรีเล่าว่า ปกติแล้วพระจะออกบิณฑบาตในตอนเช้าตรู่ทุกวัน เพื่อรับภัตตาหารจากประชาชนที่ออกมารอทำบุญตักบาตร ยกเว้นวันพระ ทั้งนี้ นอกจากอาหารแล้วญาติโยมยังนิยม “ถวายปัจจัย” (เงิน) ซึ่งพระจะได้รับเฉลี่ย 100–300 บาทต่อวัน เดือนหนึ่งพระบิณฑบาตทุกวันยกเว้นวันพระซึ่งเดือนหนึ่งมี 4 ครั้ง หากคิดเป็นรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำอย่างน้อยเดือนละประมาณ 2,600-7,800 บาท ต่อรูป เมื่อกลับถึงวัด ภัตตาหารที่บิณฑบาตมาพระจะเก็บไว้ฉันแค่พออิ่ม 2 มื้อ คือ ฉันเช้ากับฉันเพล ส่วนที่เหลือจะแจกจ่ายให้กับญาติโยมที่อยู่ในละแวกใกล้เคียง เนื่องจากพระไม่สามารถเก็บอาหารไว้ในกุฏิข้ามวันได้

พระบิณฑบาตในตอนเช้า
พระบิณฑบาตในตอนเช้า

นอกจากการบิณฑบาตแล้ว ในแต่ละวันพระยังต้องรับ “กิจนิมนต์” จากญาติโยม เพื่อทำพิธีกรรมทางศาสนาไม่ว่าจะเป็นทำบุญบ้าน งานวันเกิด งานมงคลสมรส งานเปิดกิจการใหม่ และงานสวดพระอภิธรรมศพ ซึ่งตามประเพณีไทยจะต้องเชิญพระไปทำพิธีกรรม โดยเจ้าภาพจะถวายปัจจัยใส่ซองตั้งแต่ 100-1,000 บาท หรือมากกว่านั้นก็มี ยิ่งพระรูปใดมีสมณศักดิ์ ก็จะมากขึ้นตามตำแหน่ง แต่การออกกิจนิมนต์เช่นนี้ใช่ว่าพระรูปใดก็ไปได้ เพราะทางวัดกำหนดเงื่อนไข เช่น ต้องเป็นพระที่มีความประพฤติดีในระดับหนึ่ง ออกบิณฑบาตเป็นประจำทุกเช้าไม่ขาด ท่องบทสวดมนต์ได้คล่องเสียงดังฟังชัด เป็นต้น

ทั้งนี้ พระที่ได้รับการคัดเลือกจากทางวัดให้รับกิจนิมนต์นั้น จะรับงานอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-4 งานเป็นอย่างต่ำ “ปัจจัย”ที่ได้รับแต่ละงานไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับฐานะของเจ้าภาพแต่ละงานด้วย นอกจากนี้มีกิจในการรับสังฆทาน โดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งเดือนพระจะได้รับ”ปัจจัย”จากการรับกิจนิมนต์ตกอยู่ที่ขั้นต่ำเดือนละประมาณ 2,800–14,000 บาท

หากนำ”ปัจจัย”ที่พระหนึ่งรูปได้จากการบิณฑบาตและรับกิจนิมนต์ เมื่อนำมารวมกันจะมี”ปัจจัย”เฉลี่ยขั้นต่ำเดือนละประมาณ 5,400–21,800 บาท

นอกจากนี้ สำหรับพระสังฆาธิการ พระราชาคณะผู้ทรงสมณศักดิ์ และมหาเปรียญ ยังมี “เงินนิตยภัต” หรือ เงินอุดหนุน ค่าตอบแทน ที่ทางรัฐบาลจัดสรรให้ในทุกเดือน โดยรายได้จะเรียงตามลำดับชั้นยศ ดูที่นี่

พระสวดมนต์

ของถวายพระ

พระยุคนี้จำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ หรือไม่?

จากการได้ลงพื้นที่สำรวจในหลายวัดของ จ.นนทบุรี เริ่มตั้งแต่ วัดแจ้งศิริสัมพันธ์ พบว่าวัดแห่งนี้มีพื้นที่ค่อนข้างน้อย การก่อสร้างกุฏิจึงเป็นไปในลักษณะกุฏิแถว คือ สร้างสองชั้น มีหลายห้องติดๆ กัน คล้ายกับแฟลตหรืออพาร์ตเมนต์ โดยขนาดห้องจะใช้ประมาณ 3 เมตรคูณ 1.75 เมตร ติดมิเตอร์ไฟฟ้าแยกตามห้อง ชำระค่าไฟด้วยการเติมเงินผ่านสมาร์ทการ์ดแล้วนำไปเสียบที่มิเตอร์ไฟ โดยคิดหน่วยละ 5 บาท รวมทั้งค่าน้ำและค่าไฟ ส่วนห้องน้ำจะเป็นห้องน้ำรวม

ภายในห้องนั้นจะเป็นห้องเปล่าๆ พระแต่ละรูปต้องจัดหาเรื่องเครื่องใช้ต่างๆ มาเอง ซึ่งหลักๆ ที่มีกันทุกห้องคือตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม บางห้องอาจติดเครื่องปรับอากาศ มีเครื่องเล่นดีวีดี มีคอมพิวเตอร์ ติดเคเบิ้ลทีวี และบางห้องมีการติดสัญญาณอินเทอร์เน็ตเองเพราะทางวัดไม่มีบริการในส่วนนี้ แล้วใช้วิธีแชร์ไวไฟแบ่งปันไปยังห้องอื่นๆ

เช่นเดียวกับวัดบางไผ่อารามหลวง วัดแห่งนี้มีพื้นที่มาก จึงมีการสร้างกุฏิเป็นหลัง มี 2 ชั้น แบ่งภายในเป็น 5 ห้อง มีห้องน้ำภายในกุฏิหนึ่งห้อง การติดมิเตอร์จะใช้วิธีติดมิเตอร์แยกตามห้อง คิดหน่วยละ 3 บาท ทางวัดมีเพียงห้องว่างโล่งๆ มาให้ พระที่มาอยู่ใหม่ต้องจัดการหาเครื่องใช้มาเอง เครื่องใช้ที่เป็นที่นิยมสำหรับพระคือ ตู้เย็น โทรทัศน์ พัดลม และแทบทุกกุฏิจะต้องมีเครื่องปรับอากาศและสัญญาณอินเทอร์เน็ต

กุฏิเดี่ยวหรือกุฏิหลังภายในแบ่งเป็น 5 ห้อง
กุฏิเดี่ยวหรือกุฏิหลังภายในแบ่งเป็น 5 ห้อง
กุฏิวัดบางไผ่แบบรวม
กุฏิวัดบางไผ่แบบรวม

ถัดจากนนทบุรี เข้ามาสำรวจที่วัดชื่อดังในกรุงเทพมหานครหลายแห่ง เช่น วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดโพธิ์ ที่มีการสร้างกุฏิเป็นแบบกุฏิแถว และวัดธาตุทองสร้างเป็นกุฏิหลัง ภายในแบ่งแยกเป็นห้องๆ มิเตอร์ไฟทุกวัดจะติดแยกเพื่อให้ง่ายต่อการคิดค่าใช้จ่ายในทุกสิ้นเดือน จากการเดินสำรวจพบว่ามีกุฏิที่ติดเครื่องปรับอากาศอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับรายจ่ายหลักจะเป็นค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งพระรูปหนึ่งเปิดเผยว่า ในแต่ละเดือนค่าไฟแต่ละกุฏิไม่เท่ากัน พระบางรูปเสียค่าไฟเพียงเดือนละ 80 บาท เพราะในกุฏิไม่ได้มีอะไรมาก ตอนกลางวันใช้เวลาอยู่ทำงานในวัด จะเข้ากุฏิในตอนเย็นอย่างเดียว แต่บางรูปเสียค่าไฟมากกว่า 1,000 บาท เพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่เยอะ และใช้งานบ่อย

พระฉันเพล

ส่วนร่ายจ่ายปลีกย่อย อาทิ ค่าพาหนะในการเดินทางกลับวัดหลังบิณฑบาต เนื่องจากของเยอะพระจึงนิยมเรียกรถมอเตอร์ไซด์รับจ้างให้เข้าไปส่งในวัด และการเดินทางทั่วไป ค่าภัตตาหารในวันที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต พระบางรูปยอมรับว่าถ้าวันไหนไม่ได้ออกไปบิณฑบาตหรือเป็นวันพระ ก็จะว่าจ้างให้เด็กที่อยู่ภายในวัดไปซื้ออาหารมาไว้เพื่อฉันเพล นอกจากนี้ยังมีค่าโทรศัพท์มือถือและค่าบริการอินเทอร์เน็ตรายเดือนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม มีการยอมรับว่าอาจมีพระบางรูปใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมบ้าง เช่น ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดิน เป็นต้น

นี่คือวิถีสังคมเมือง แม้แต่พระในฐานะนักบวชเองก็ไม่เว้นต้องปรับให้เข้ากับชีวิตแบบสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นการบิณฑบาตที่ไม่สามารถปฏิเสธศรัทธาของญาติโยมได้ จึงต้องรับของบิณฑบาตมาเป็นจำนวนมากแล้วต้องจ้างมอเตอร์ไซค์รับจ้างไปส่งที่วัด, ที่อยู่อาศัยต้องเปลี่ยนจากกุฏิแบบบ้านเป็นหลังๆ ไปเป็นกุฏิแบบห้องเช่าเพื่อประหยัดเนื้อที่ใช้สอย

ขณะเดียวกัน รูปแบบการเทศนาสอนธรรมะที่พระยุคนี้ต้องปรับเปลี่ยนให้เข้ากับจริตของฆราวาส ทำให้พระสงฆ์ต้องติดตามข่าวสารผ่านทั้งวิทยุ โทรทัศน์ ตลอดจนสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อตามให้ทันกระแสว่ามีเรื่องราวใดบ้างที่ญาติโยมสนใจ จะได้นำมาประยุกต์สอดแทรกแง่คิดคติธรรมเข้าไปได้ ดั่งที่ได้เห็นจนชินตาที่พระบางรูปมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนราคาสูงเพื่อใช้งานให้เข้ากับยุคสมัย ตลอดจนพระและเณรไม่น้อยเลย อาศัยการได้บวชเป็นหนทางศึกษาเล่าเรียนวิชาการต่างๆ ตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงระดับสูง เพราะฐานะทางบ้านไม่ค่อยดีนัก ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมี “ค่าใช้จ่าย” ที่ต้องใช้ “เงิน” ชำระทั้งสิ้น

จึงไม่ใช่เรื่องง่าย…หากจะไม่ให้ “พระ-เณร” ใช้จ่ายเงิน เพราะสังคมวันนี้ต่างจากในอดีตค่อนข้างมาก ดังนั้น หากต้องอยู่ในร่มกาสาวพัตรจึงต้องอยู่อย่างมีสติสัมปัญชัญญะจริงๆ