ThaiPublica > เกาะกระแส > ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนพยานคดีจำนำข้าวครั้งแรก “ยิ่งลักษณ์” ลั่นสู้เต็มที่ – เหลือพยานอีก 54 ปาก นัดครั้งต่อไป 17 ก.พ.

ศาลฎีกาฯ นัดไต่สวนพยานคดีจำนำข้าวครั้งแรก “ยิ่งลักษณ์” ลั่นสู้เต็มที่ – เหลือพยานอีก 54 ปาก นัดครั้งต่อไป 17 ก.พ.

16 มกราคม 2016


นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.nationmultimedia.com/new/2015/10/29/breakingnews/images/30271853-01_big.JPG
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://goo.gl/wsMqKu

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2559 ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดรงตำแหน่งทางการเมือง มีการตัดไต่สวนพยาน ในคดีที่อัยการสูงสุด (อสส.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย คดีหมายเลขดำที่ อม.22/2558 กล่าวหาว่า กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 123/1 กรณีปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว เป็นครั้งแรก

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่เดินทางมาปรากฎตัวที่ศาลฎีกาฯ ด้วย หลังไม่ได้รับอนุญาตให้ไต่สวนพยานลับหลัง ได้ให้สัมภาษณ์ว่า จะพยายามต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ เนื่องจากพยานฝ่ายโจทก์บางปาก ไม่เคยให้การให้ชั้นไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มาก่อน เรื่องนี้ ทนายฝ่ายตนคงจะซักค้านแน่นอน แต่จะได้ผลอย่างไรคงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา

สำหรับวันนี้ เป็นการนัดไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ จำนวน 4 ปาก ได้แก่

  1. นายนพดล ทิพยวาน บรรณาธิการข่าวการเมืองและความมั่นคง สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7
  2. นายนิพนธ์ พัวพงศกร อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
  3. นายประจักษ์ บุญยัง รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
  4. นายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าว

อย่างไรก็ตาม สามารถไต่สวนพยานไปได้เพียง 2 ปากเท่านั้น คือนายนพดลกับนายนิพนธ์ ทำให้ต้องยกยอดการไต่สวนพยานอีก 2 ปากได้แก่ นายประจักษ์และนายจิรชัย ไปในกำหนดนัดครั้งถัดไป ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2559

สำหรับคดีนี้ ศาลฎีกาฯ ได้อนุญาตให้ไต่สวนพยานฝ่ายโจทก์ทั้งสิ้น 14 ปาก กำหนดไต่สวน 5 นัด และอนุญาตให้ไต่สวนพยานฝ่ายจำเลยทั้งสิ้น 42 ปาก กำหนดไต่สวน 16 นัด โดยการไต่สวนพยานทั้งหมดจะเสร็จสิ้นในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ทำให้คาดหมายกันว่า น่าจะมีคำพิพากษาออกมาในช่วงปลายปี 2559

Print

เส้นทางคดี “ยิ่งลักษณ์” ในศาลฎีกา

คดีจำนำข้าว กรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เริ่มขึ้นเมื่อ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ไปยื่นคำร้องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาไต่สวน ราวปลายปี 2555 จากนั้น ป.ป.ช. ก็ใช้เวลาเกือบ 2 ปี ในการรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนมีมติชี้มูลความผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ กรณีให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 9 พฤษภาคม 2557 และกรณีให้ดำเนินคดีอาญา ในวันที่ 17 กรกฎาคม 2557 โดยในส่วนของคดีอาญา ป.ป.ช. ได้ส่งสำนวนให้ อสส. พิจารณา แต่ต่อมามีการตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง ป.ป.ช. กับ อสส. เพื่อแก้ไขข้อไม่สมบูรณ์ ก่อนที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. จะมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาฯ เมื่อต้นปี 2558

  • 23 มกราคม 2558 อสส. มีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาฯ วันเดียวกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยคะแนน 190:18 เสียง ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
  • 19 กุมภาพันธ์ 2558 คณะทำงานของ อสส. นำสำนวนคดีจำนำข้าว ที่กล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาฯ
  • 19 มีนาคม 2558 (วันนัดอ่านคำสั่ง) ศาลฎีกาฯ มีมติรับฟ้องคดีจำนำข้าว พร้อมตั้ง “นายวีระพล ตั้งสุวรรณ” รองประธานศาลฎีกาขณะนั้น เป็นเจ้าของสำนวน
  • 19 พฤษภาคม 2558 (วันพิจารณาคดีครั้งแรก) น.ส.ยิ่งลักษณ์มาร่วมการพิจารณาคดีที่ศาลฎีกาฯ เป็นครั้งแรก กล่าวปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์เป็นบัญชีเงินฝาก มูลค่า 30 ล้านบาท
  • 31 สิงหาคม 2558 (วันตรวจบัญชีพยาน) น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นคำร้อง 1. ขอให้รอพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อน เพราะอยู่ในอำนาจศาลปกครองไม่ใช่ศาลฎีกาฯ และ 2. คัดค้านการเพิ่มเติมพยานบุคคลและเอกสารของ อสส. แต่ศาลฎีกาฯ มีมติยกคำร้องทั้ง 2 คำร้อง
  • 29 กันยายน 2558 น.ส.ยิ่งลักษณ์ยื่นฟ้อง อสส. กับพวก ต่อศาลอาญาชั้นต้น ข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลฎีกาฯ ก่อน สนช. ลงมติถอดถอนเพียง 1 ชั่วโมง และเพิ่มเติมข้อกล่าวหารวมถึงพยานหลักฐานกว่า 60,000 แผ่น ลงไปในสำนวน
  • 6 ตุลาคม 2558 ศาลอาญาชั้นต้นไม่รับคำฟ้องของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพราะไม่บรรยายฟ้องให้เห็นว่า อสส. จงใจกลั่นแกล้งอย่างไร และการเพิ่มเติมพยานหลักฐานก็เป็นไปตามกฎหมาย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสิทธินำพยานหลักฐานมาหักล้างได้ในการขั้นตอนไต่สวนของศาลฎีกาฯ
  • 29 ตุลาคม 2558 (วันนัดฟังคำสั่งกำหนดการไต่สวนพยาน)
  • 15 มกราคม 2559 (วันเริ่มต้นการไต่สวนพยานหลักฐาน)