ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..? :”ธานี ชัยวัฒน์” สังคมต้องสร้าง “ความเชื่อใจ – ความร่วมมือ” เพื่อเอื้อเศรษฐกิจและการลงทุนระยะยาว

ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..? :”ธานี ชัยวัฒน์” สังคมต้องสร้าง “ความเชื่อใจ – ความร่วมมือ” เพื่อเอื้อเศรษฐกิจและการลงทุนระยะยาว

3 ธันวาคม 2013


เสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?วิทยากร ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ KTC Pop เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7  หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?" เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP
เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดเสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เนื่องด้วยประเทศไทยมีอาการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ดังรายงานของ World Economic Forum ปี 2556 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงเห็นว่าประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นเรื่องที่ควรหยิบยกมาเป็นหัวข้อเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงของประเทศอย่างรอบด้าน และมองแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น

โดยวิทยากรที่เข้าร่วมในการเสวนาดังกล่าว ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยดร.ธานีได้นำเสนอต่อจากดร.สุทธาภารายละเอียดของการเสวนามีดังนี้

ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ดร.ธานี : ผมก็พยายามหาช่องที่พูดในมิติที่ผมพูดแล้วอาจจะสามารถแตกต่างจากท่านอื่นได้ เนื่องจากว่าในหลายๆ สาขาผมก็ไม่ชำนาญมาก เพราะฉะนั้น ผมก็เริ่มคิดว่าเราจะมองอย่างไรได้บ้าง อันนี้ก็ลองมาชวนกันคิดนะครับว่า ทำไมการเติบโตที่ผ่านมาของประเทศไทยถึงไม่ยั่งยืน เรามองจากภายใน แล้วลองเอาทั้ง 3 สถาบัน คือ วัฒนธรรม (culture) การเมือง (quality of politics) และเศรษฐกิจ (long-run growth) มาวิเคราะห์ว่าทำไมที่ผ่านมาถึงไม่ยั่งยืน มันติดอะไร ตรงไหน ขอให้ดูกรอบสามเหลี่ยม(ดูภาพประกอบข้างบน) ฝั่งหนึ่งคือวัฒนธรรม ฝั่งหนึ่งคือการเมือง และอีกฝั่งหนึ่งคือเศรษฐกิจ

กรอบคิด

“เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การเมือง” 3 สิ่ง มีความสัมพันธ์กัน ผมสรุปเป็นภาพกว้างๆ 2 ข้อ ว่าทำไมการเติบโตของประเทศไทยที่ผ่านมาถึงไม่ยั่งยืน

ข้อแรก ที่ผ่านมาการเติบโตของประเทศไทยเป็นการเติบโตที่ “ไม่เอื้อ” ต่อความร่วมมือของคนในสังคม

ข้อที่สอง ทำไมเศรษฐกิจของไทยถึงเติบโตแล้วไม่ยั่งยืน

เริ่มจากข้อแรก ที่ผ่านมา การเติบโตของประเทศไทยเป็นการเติบโตที่ “ไม่เอื้อ” ต่อความร่วมมือของคนในสังคม ทำไมถึงไม่เอื้อ นักเศรษฐศาสตร์กับนักรัฐศาสตร์คิดเหมือนกัน ฝั่งเศรษฐศาสตร์คิดว่า ในระบบเศรษฐกิจของประเทศหนึ่ง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการเมืองนั้นผูกติดกันมากๆ คุณดูอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ เพราะมันแยกกันไม่ออกหลายอย่าง

รายได้เฉลี่ยต่อหัว

จากภาพ (ข้างบน) นี่คือรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประเทศต่างๆ หรือโลก ประเทศที่อยู่ตรงสีเขียวอ่อน หรือคือประเทศไทย มีรายได้อยู่ในระดับกลางๆ ค่อนข้างสูง พูดง่ายๆ คืออยู่ในลำดับที่ 89 ของโลกจาก 185 ประเทศ ก็คือประเทศที่มีรายได้ขั้นกลางนี่เอง

ในขณะที่ด้านการเมือง ตัววัดหนึ่งที่เขานิยมใช้คือ “ดัชนีภาพพจน์คอร์รัปชัน” ซึ่งถ้าดัชนีนี้มีค่าสูงแปลว่าดี แต่ถ้ามีค่าต่ำแปลว่าไม่ดี ซึ่งพอจัดอันดับแล้วประเทศไทยก็อยู่ในขั้นกลางๆ

แล้วในด้านวัฒนธรรมเขาดูเรื่องอะไรกัน ก็มีรายงานสำรวจที่เรียกว่า World Value Survey คือการสำรวจทัศนคติของคนทั้งโลก เขามีคำถามหนึ่งที่น่าสนใจมาก คือ “คุณคิดว่าคนในสังคมคุณนั้นไว้ใจได้ไหม” (social trust) มีให้เลือก 2 คำตอบ ข้อหนึ่ง คนส่วนใหญ่ไว้ใจได้ ข้อสอง คนส่วนใหญ่ในสังคมไว้ใจไม่ได้

ในประเทศไทย คนร้อยละ 58 คิดว่าคนไทยในสังคมไว้ใจไม่ได้ คือ เกินกว่าครึ่งคิดว่าคนอื่นๆ ในสังคมไว้ใจไม่ได้ เพราะฉะนั้น ค่า social trust หรือ “ความไว้เนื้อเชื่อใจ” ที่มีต่อสังคมที่ตัวเองอยู่ในเมืองไทยก็มีค่าในระดับกลางๆ เหมือนกัน เพราะ social trust ที่สะท้อนถึงความร่วมมือในสังคมไทยของเราก็อยู่ในระดับกลางๆ ด้วย

ถามว่าทำไมสะท้อนถึงความร่วมมือในสังคม ก็เพราะถ้าคุณคิดว่าสังคมเป็นสังคมที่ดี น่าอยู่ คุณก็พร้อมจะช่วยเหลือ แต่ถ้าคุณคิดว่าสังคมของคุณเอารัดเอาเปรียบ ขี้โกง คุณก็พร้อมจะขี้โกง เอาตัวรอด และเห็นแก่ตัว ฉะนั้น social trust คือทัศนคติที่มีต่อสังคม เป็นสิ่งที่จะสะท้อนความร่วมมือของคนในสังคม (social cooperation)

social trust

เพราะฉะนั้น ในสังคมที่เราอยู่ เราจะเห็นว่า “เมืองไทย” นั้นระดับเศรษฐกิจก็อยู่กลางๆ คุณภาพการเมืองก็กลางๆ แล้วมีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อความร่วมมือกลางๆ เพราะฉะนั้น ถ้าลองนึกถึง middle income trap ที่เราพูดกันบ่อยๆ ว่าประเทศไทยติดกับดักรายได้ปานกลาง มันกลับไม่ใช่แค่เรื่องโครงการพื้นฐาน (infrastructure) หรือการศึกษา หรืออะไรอื่นๆ เท่านั้น แต่เป็นเรื่องวัฒนธรรมของคนในสังคมด้วย

ถ้าเราดูจากนานาประเทศ ทั้งสามมิตินี้สำคัญยังไง ลองหาส่วนผสมดูเราจะเห็นว่า ถ้ามี social trust ที่ดี คุณคิดว่าสังคมคุณไว้ใจได้ สถาบันทางการเมืองก็จะมีคุณภาพดี ถ้าสถาบันทางการเมืองคุณภาพดี การเติบโตของเศรษฐกิจระยะยาวก็ดี รวมทั้งถ้าคุณมีความเชื่อใจทางสังคมที่สูง การเติบโตของประเทศนั้นก็ดี คือ สามตัวนี้สำคัญหมด ถ้าในทางสถิติก็คือ มีนัยสำคัญทางสถิติทั้งสามตัว

บทเรียนจากนานาประเทศ

ทั้งสามตัวนี้สำคัญเพราะถ้าคุณคิดว่าสังคมคุณเป็นสังคมที่ดี คุณภาพการเมืองจะดี เนื่องจากการกำกับดูแลการเมืองเขาอาศัยความร่วมมือในสังคม ถ้าคนที่อยู่ร่วมกันในสังคมไม่ชอบนักการเมืองคุณภาพไม่ดี นักการเมืองก็ไม่สามารถประพฤติตัวเป็นคนคุณภาพไม่ดีได้ ตรงนี้ชัดเจนว่าคุณภาพการเมืองกระทบการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร

คุณภาพการเมืองก็มีผลต่อวัฒนธรรมเช่นกัน คือ ถ้าการเมืองเป็นการเมืองที่ดี คนที่อยู่ก็รู้สึกมีความสุข ไว้ใจกัน เชื่อถือกันได้ และวัฒนธรรมก็มีผลต่อประชาชน สามอันนี้สัมพันธ์กันทั้งทางสถิติและทางเหตุและผล

ทีนี้ คำถามก็คือ แล้วกรณีของประเทศไทยเป็นอย่างไร กรณีของ “ประเทศไทย” น่าสนใจ ความสัมพันธ์ไม่เป็นแบบนี้ ทั้งๆ ที่นานาประเทศควรจะเป็นแบบนี้

กรณีประเทศไทย

ในกรณีของประเทศไทย คุณภาพการเมืองส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจสูง และมีค่าคอร์รัปชันสูง การเติบโตทางเศรษฐกิจก็น้อยลง ความสัมพันธ์นี้ชัดเจน แต่ที่มีปัญหามี 2 ตัว คือ

หนึ่ง ถ้าคุณอยู่ในสังคมที่ไว้ใจกันได้ มีความร่วมมือที่ดี เช่น คุณนึกถึงชุมชนในต่างจังหวัด ไม่ได้มีผลอะไรให้นักการเมืองดีเลย หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่าง social trust กับคุณภาพของการเมืองไม่มีนัยสำคัญ คือ ความสัมพันธ์ต่ำไปหน่อย ตรงนี้ขาดหรือมีปัญหา คือ ต่อให้เป็นสังคมที่คุณรู้สึกว่าความร่วมมือดีแค่ไหน ก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพการเมืองดีขึ้น

สอง ที่เป็นลักษณะพิเศษก็คือ ในสังคมที่มีความร่วมมือหรือความไว้ใจกันสูงนั้น การเติบโตจะต่ำ แต่ในสังคมหรือพื้นที่ที่มีความเห็นแก่ตัวกับการเอาตัวรอดสูงๆ การเติบโตจะสูง social trust กับ long-run growth มีความสัมพันธ์ในทิศทางตรงกันข้าม ทั้งที่ในโลกที่เราดูไม่ได้เป็นแบบนั้น

เหตุผลที่เป็นแบบนี้ เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีความน่าสนใจ 2 ประการที่ไม่เหมือนกับประเทศอื่นๆ ในโลก ลักษณะพิเศษของประเทศไทยอย่างแรกคือ ความร่วมมือของคนในสังคมมีผลต่อคุณภาพการเมืองน้อยมาก เพราะฉะนั้น จะเห็นว่าตลอดมาการพัฒนาเศรษฐกิจเติบโตไปเท่าไหร่ มีการพัฒนาการศึกษามากเท่าไหร่ ค่าดัชนีคอร์รัปชันของไทยแทบไม่เปลี่ยนเลย ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม อยู่เกือบจะคงที่ตลอด

คอร์รัปชั่น

เราพยายามตั้งคำถามว่า เศรษฐกิจก็ดีขึ้น การศึกษาก็ดีขึ้น ทำไมคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index : CPI) ไม่เปลี่ยนเลย (ดูภาพประกอบ) ซึ่งพบว่า เมื่อคนรู้สึกว่าสังคมเอารัดเอาเปรียบ คนคนนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเห็นแก่ตัว เห็นแก่ตัวแปลว่า ถ้าคุณถูกจับได้หรือคนในครอบครัวมีปัญหา คุณพร้อมจะช่วยเหลือให้เขารอดโดยไม่สนใจว่าด้วยวิธีการใด เพราะฉะนั้น ตัวคอร์รัปชันมันอาจจะสะท้อนมาจากวัฒนธรรมที่มันไม่เปลี่ยนเลย โดยที่ไม่เกี่ยวกับเศรษฐกิจหรือว่าการศึกษา

ลักษณะพิเศษของประเทศไทยประการที่สองคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากความเป็นตัวใครตัวมันมากกว่าความร่วมมือในสังคม ลองนึกถึงว่า เวลาที่เศรษฐกิจไทยเติบโตมากๆ เราทุกคนรู้สึกว่าเราทำงานหนักขึ้น คือ แต่ละคนทำงานหนักขึ้นเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต เป็นการเติบโตที่มาจากการทำงานหนัก ไม่ได้เป็นการเติบโตที่มาจากการที่เราคิดว่าเราจะร่วมมือกันเพื่อสร้างผลผลิตที่สูงขึ้นอย่างไร

เพราะฉะนั้น พื้นที่ที่มีการเติบโตมากก็คือพื้นที่ที่มี social trust ค่อนข้างต่ำ สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า การอุดหนุนทางตรงของรัฐดึงประชาชนให้ยึดกับรัฐแทนที่จะไปส่งเสริมให้เขาร่วมมือกันเอง หรือความล้มเหลวของระบบสหกรณ์สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนที่มีความร่วมมือกันไม่ได้ทำให้ผลผลิตหรือพื้นที่ที่มีระบบสหกรณ์อยู่มันเติบโต

เพราะฉะนั้น ลักษณะพิเศษทั้งสองประการนี้เป็นตัวสะท้อนได้อย่างดีว่า การพัฒนาหรือการเติบโตของประเทศไทยที่ผ่านมาทำให้คนทำงานหนักขึ้น คือ พึ่งพิงตัวเองเยอะขึ้นมากกว่าพึ่งพิงกันในสังคม

เพราะฉะนั้น นี่คือลักษณะพิเศษของประเทศไทยสองประการที่เป็นข้อสรุปว่า การเติบโตไม่ได้เอื้อต่อความร่วมมือของคนในสังคม เพราะถ้าคุณคิดว่าทำงานหนักขึ้นแล้วเศรษฐกิจโต ถึงจุดหนึ่งมันก็มีขีดจำกัด แต่ถ้าคิดว่าจะร่วมมือกันเพื่อให้เติบโตขึ้น มันจะไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะไม่มีขีดจำกัด

เศรษฐกิจนอกระบบ

ข้อที่สอง ทำไมเศรษฐกิจของไทยถึงเติบโตแล้วไม่ยั่งยืน ก็เพราะว่าเป็นการเติบโตที่ไม่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาวของรัฐ ทำไมถึงเป็นเช่นนี้ เมื่อกี้ ดร.สุธาภาพูดถึงเรื่องแรงงานนอกระบบ (ดูภาพประกอบ) ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับแรงงานนอกระบบ ถ้าเราดูสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบของประเทศไทยอยู่ประมาณร้อยละ 55-70 ตลอด แทบไม่เปลี่ยนเลย คืออยู่อย่างนี้ตลอดมา

และถ้าดูกราฟสัดส่วนเศรษฐกิจนอกระบบจะเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจในระบบโตขึ้น เศรษฐกิจนอกระบบก็โตขึ้น ข้อมูลนี้สอดคล้องกับข้อมูลแรงงานนอกระบบของสำนักงานสถิติ คือ มีแรงงานนอกระบบเฉลี่ยที่ร้อยละ 60 แทบจะไม่เปลี่ยนเลย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจนอกระบบของไทยมีมูลค่าเยอะมาก และโตไปพร้อมๆ กับเศรษฐกิจในระบบ

ถามว่าประเด็นนี้เกิดอะไรขึ้น ให้คิดไว้ก่อนว่า เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้สิ่งที่เราเห็นก็คือ เมื่อไรก็ตามที่เศรษฐกิจในระบบโตขึ้น นอกระบบมันโตตามไปด้วย เหมือนเป็นส่วนประกอบของเศรษฐกิจในระบบ เพราะอะไร ลองนึกถึงว่าแรงงานที่ทำงานอยู่ในธนาคารสำนักงานใหญ่ที่สีลมทำงานอย่างหนัก ทำงานเสร็จตอนเย็นก็มาซื้อของที่ตลาดนัดที่สีลม อาจกินข้าวอยู่ข้างถนน นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาทำงาน

เพราะฉะนั้น เศรษฐกิจนอกระบบเป็นเศรษฐกิจที่ผลิตวัตถุดิบหรือวิถีชีวิตราคาถูกให้กับแรงงานในระบบให้เขาสามารถอยู่ได้ แล้วพอเขาทำงานหนักขึ้นเขาก็อาจกินเยอะขึ้น ซื้อเสื้อผ้าเยอะขึ้น เขาก็ซื้อจากตลาดนัด หาบเร่แผงลอยที่อยู่ข้างๆ ตึกเขานั่นแหละ เพราะฉะนั้น สองอย่างนี้จึงโตไปด้วยกัน

จุดผ่อนปรนหาบเร่

แต่ถามว่า ทำไมเศรษฐกิจนอกระบบถึงมีปัญหา (ดูภาพประกอบ) นี่คือจุดผ่อนปรนหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯ จะเห็นว่าหาบเร่แผงลอยเป็นเศรษฐกิจนอกระบบตัวหนึ่ง ซึ่งจะมีเยอะมากในศูนย์กลางของเมืองที่จีดีพีเยอะมากๆ หาบเร่แผงลอยก็จะเยอะไปด้วย ก็คือเศรษฐกิจนอกระบบอยู่กับเศรษฐกิจในระบบนั่นแหละ แต่คำถามคือ ทำไมเศรษฐกิจนอกระบบถึงไม่เอื้อต่อการเติบโตระยะยาว

ตลอดมาเราบอกว่า เศรษฐกิจในระบบมันดีเพราะว่าแรงงานได้ฝึกทักษะ แรงงานได้เรียนรู้ต่างๆ มีการทำงานที่ชัดเจน ในประเทศไทยเราพยายามทำให้เศรษฐกิจนอกระบบเข้าไปเกี่ยวในระบบ แต่ความน่าสนใจคือเราเปลี่ยนเศรษฐกิจนอกระบบให้เป็นเศรษฐกิจในระบบ แต่เป็นการเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบ หรือ formalize informal to economy ไปสู่ informal to economy ยกตัวอย่างเช่น

เศรษฐกิจนอกระบบที่เรามีคนที่อยู่ในชุมชนเคยทำเกษตร ทำประมง หรือทำธุรกิจในชุมชนที่ต่างจังหวัด เป็นเศรษฐกิจภาคชนบท (rural economy) เขาทำธุรกิจในชุมชน ไว้ใจกัน มีความสุข วันดีคืนดีเขาเข้ามาอยู่ในเมืองเป็นหาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง รับช่วงเหมา คือเขาไม่ได้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ เขายังอยู่นอกระบบนั่นแหละ แต่ว่าเขาเปลี่ยนจากนอกระบบที่เป็น “high class” มาอยู่นอกระบบที่เป็น “low class”

เพราะจากเดิมที่คุณทำการเกษตรและรวมตัวกันขาย มีชีวิตความเป็นอยู่ที่มีคุณภาพสูง (high class) แล้วเปลี่ยนมาเป็นขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีจากที่เป็น high class มาสู่คุณภาพชีวิตที่แย่ลง (low class) เพราะว่าคุณทำงานด้วยตัวของตัวเอง แล้วขี่มอเตอร์ไซค์นานเท่าไหร่คุณก็ยิ่งมีรายได้มากเท่านั้น โดยที่ไม่ต้องคิดถึงความร่วมมือ

เพราะฉะนั้น การที่ formalize informal to economy มาเป็น informal to economy การเติบโต (growth) จะสูงขึ้น เพราะถ้าเขาไม่มีรายได้มากขึ้นเขาไม่ย้ายมา

ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

แต่ในเวลาที่การเติบโตของเขาสูงขึ้น เขาอาจจะทำงานหนัก การเติบโตเลยสูงขึ้นด้วย แต่ว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของสังคมจะลดลงโดยเฉลี่ย เพราะเขามาอยู่ในเมืองและทำงานด้วยตัวของตัวเองมากขึ้น ภาษีที่รัฐควรจะได้ก็ไม่ได้เพราะเขายังอยู่ในเศรษฐกิจนอกระบบเหมือนเดิม

สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ เศรษฐกิจนอกระบบที่เป็นหาบเร่ แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้างนั้น แทนที่เขาจะอยู่ในชุมชนที่ระเบียบของเขาชัดเจน เพราะว่าเขามีความไว้ใจกัน อยู่กันเป็นชุมชน พอมาเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็มีผู้จัดระเบียบให้เขา เพราะฉะนั้น มันจะไปสร้าง “ระบบมาเฟีย” หรือ “ระบบผู้มีอิทธิพล” ขึ้นมาในที่ที่อยู่ แล้วระบบพวกนี้จะไปส่งเสริมคอร์รัปชัน

เพราะฉะนั้น มันเป็นการ formalize informal to economy ไปสู่ informal to economy ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจของสังคมลดลง ภาษีจัดเก็บก็ไม่ได้ แถมมีผู้มีอิทธิพลซึ่งเกี่ยวพันกับคอร์รัปชันเข้ามา

ดังนั้น ในส่วนแรก การเติบโตที่ผ่านมาไม่ได้เอื้อต่อความร่วมมือของคนในสังคม และการเติบโตที่ผ่านมาก็ไม่เอื้อต่อการลงทุนในระยะยาวของรัฐ เพราะว่าเศรษฐกิจนอกระบบรัฐไม่ได้ภาษี และยังเป็นการทำให้เศรษฐกิจในระบบเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆ ส่วนเศรษฐกิจนอกระบบก็เท่าเดิม รัฐก็ไม่ได้ภาษีเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น เมื่อรัฐไม่ได้ภาษีไม่ใช่ว่าเศรษฐกิจเติบโต

ไม่ได้ เศรษฐกิจเติบโตได้เพราะคนยังทำงานหนัก เศรษฐกิจนอกระบบในเมืองก็ทำงานหนักโตไปเรื่อยๆ แต่ระยะยาวโตไม่ได้เพราะรัฐไม่ได้ภาษีอย่างที่ควรจะได้ ใครจะลงทุนโครงสร้างระยะยาวก็ไม่มี

เพราะฉะนั้น สองอย่างนี้เป็นการเติบโตที่ผ่านมาของประเทศไทย คือ ไม่เอื้อต่อการเกิดความร่วมมือของคนในสังคม และไม่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาวของรัฐ

แล้วเราจะเติบโตระยะยาวได้อย่างไรในกรอบนี้

คำตอบก็คือไม่ได้ ต้องทำให้การเติบโตนั้นเอื้อต่อความร่วมมือของคนในสังคม และเป็นการเติบโตที่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาวของภาครัฐ อันนี้อาจต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันได้บ้าง

1. ก็คือ เมื่อกี้เรารู้แล้วว่าความไว้เนื้อเชื่อใจของคนไทยต่ำลงเรื่อยๆ เพราะว่าเราเป็นการเติบโตที่เน้นปัจเจก แนวทางที่ทำได้ก็คือ เราอาจต้องสนับสนุนการเติบโตที่เป็นแบบรวมกลุ่ม จริงๆ แนวทางการสนับสนุนภาคชุมชน เศรษฐกิจชุมชน หรือการเมืองชุมชนนั้นเป็นไปได้ และเราอาจต้องคิดว่าการศึกษาแบบกลุ่ม เช่น วิชาลูกเสือ วิชาหน้าที่พลเมือง ไม่ได้สำคัญน้อยกว่าวิชาคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ เคมี

2. ต้องเชื่อมความร่วมมือของคนในสังคมกับคุณภาพของการเมืองให้ได้ จริงๆ แล้วมันเป็นบทบาทของท้องถิ่นในเชิงทฤษฎีอย่างที่ ดร.เอกนิติบอก ถ้าสมมติว่าประชาชนได้กำกับดูแลนักการเมืองของตนเองในท้องถิ่น เขาจะเริ่มเรียนรู้และมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เขาสามารถกำกับดูแลได้จริงในท้องถิ่น

ThaiPublica Forum ครั้งที่7

เพราะฉะนั้น ในทางทฤษฎี การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นจะช่วยส่งเสริมให้คนในชุมชนที่พบปะกันทุกวันพูดคุยกันทุกวันและคุยเรื่องการเมืองในท้องถิ่น ถ้านิสัยที่กำกับดูแลนักการเมืองในท้องถิ่นจะต้องมีให้เขาพบเจอเอง รวมถึงบทบาทของสื่อมวลชนท้องถิ่น ประการแรกคือต้องสร้าง trust ขึ้นและรู้ trust จากคุณภาพการเมืองให้ได้

3. เรื่องเศรษฐกิจนอกระบบนั้นจริงๆ ทุกประเทศไม่ได้ถูกทำให้เป็นเศรษฐกิจในระบบทั้งหมด แนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบยุคใหม่คือในแต่ละประเทศจะมีเศรษฐกิจนอกระบบที่เป็นพื้นฐาน คือคุณไม่สามารถจัดการให้เป็นในระบบได้หมด เพราะประเทศที่มีชุมชน มีทรัพยากรท้องถิ่น มีวัฒนธรรมที่แข็งแกร่งจะมีเศรษฐกิจนอกระบบเป็นส่วนหนึ่ง หรือข้างหนึ่งของเศรษฐกิจในระบบ ดังนั้นรัฐต้องกลับไปคิดว่าจะบริหารจัดการเศรษฐกิจนอกระบบอย่างไรให้เกิดประโยชน์ที่สุด

ในเมืองไทยนั้นระบบสหกรณ์น่าสนใจ อย่างในสแกนดิเนเวีย ระบบสหกรณ์เป็นระบบที่คุณผลิตกันในชุมชน เป็นเศรษฐกิจนอกระบบก็ได้ แต่เมื่อคุณได้ผลผลิตแล้วหรือเมื่อคุณผลิตได้ ผลผลิตนั้นจะกลับเข้าสู่เศรษฐกิจในระบบทางสหกรณ์ ฉะนั้น สหกรณ์จะเป็นตัวเชื่อมเศรษฐกิจนอกระบบกับเศรษฐกิจในระบบ

ในประเทศที่ไม่มีระบบสหกรณ์นั้นจะเกิด “middleman” คือผู้มีอิทธิพลท้องถิ่นที่เขารู้ คนงานรับจ้างช่วงเหมาที่รู้ทรัพยากรท้องถิ่น แล้วเป็นคนดึงส่วนนั้นเข้าสู่ในระบบ เพราะฉะนั้น ถ้าคุณไม่สร้างระบบสหกรณ์ให้เข้มแข็ง เศรษฐกิจนอกระบบก็จะไม่เข้าสู่ระบบ

ดังนั้น แนวทางที่เป็นไปได้ก็คือ สร้างความร่วมมือในสังคมและต้องสร้างการเติบโตที่เอื้อต่อการลงทุนระยะยาวของภาครัฐ

ดาวน์โหลด เอกสารประกอบการเสวนาฯ ของ ดร.ธานี ชัยวัฒน์

อ่านต่อ“กอบศักดิ์ ภูตระกูล” แนะ รัฐ-เอกชนร่วมมือสร้าง “ทีมไทยแลนด์” พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนอย่างแท้จริง

ป้ายคำ :