ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (3) : “ธิปไตร แสละวงศ์” ต้องเค้นข้อมูลออกมาให้ได้ แล้วแปรรูปให้คนอ่านรู้เรื่อง

ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (3) : “ธิปไตร แสละวงศ์” ต้องเค้นข้อมูลออกมาให้ได้ แล้วแปรรูปให้คนอ่านรู้เรื่อง

23 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย” โดยมีวิทยากร นายวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดำเนินรายการโดย นายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ ณ KTC POP

ในตอนที่ 2 นายบรรยง พงษ์พานิช ได้เน้นว่าข้อมูลข่าวสารคือหัวใจ ขณะที่กติกาไม่ต้องเยอะแต่ต้องโปร่งใสให้มาก และผู้อภิปรายถัดมาคือนายธิปไตรได้กล่าวว่า ความจริงเวลาเราพูดถึงเรื่องคอร์รัปชัน ที่อาจารย์วิชา (มหาคุณ) พูดถึงคอร์รัปชัน วัยรุ่นอย่างผมรู้สึกหดหู่ จริงๆ เราไม่น่าจะพูดถึงเรื่องคอร์รัปชันก่อน น่าจะเป็นเรื่องท้ายๆ ที่จะต้องพูด เพราะว่า สิ่งแรกคือ ความไม่โปร่งใส และการเปิดเผยข้อมูลน้อย ซึ่งปัญหาคอร์รัปชันมาที่หลัง แต่ปัญหาที่เกิดก่อนคือ เรื่องนโยบายที่ไม่ชัดเจน คนไม่มั่นใจว่าจะเป็นนโยบายที่ดีหรือเปล่า

ผมได้รวบรวมข่าวในอดีตที่เขามีข่าวประท้วง เรื่องความขัดแย้ง เรื่องที่คนต้องออกมาบนถนนกัน พบว่ามีจุดร่วมกันอย่างหนึ่ง ตั้งแต่ปี 2530-2558 ในการดำเนินโครงการของรัฐต่างๆ จะมีข้อหาว่าไม่โปร่งใส ประชาชนเขาไม่ได้ข้อมูล และเขาก็ไม่มั่นใจ ยกตัวอย่างเช่น จะไปสร้างโรงไฟฟ้าแถวบ้านเขา มันจะสร้างปัญหาให้เขาหรือเปล่า อันนี้เป็นปัญหาโดยตรงที่เขาจะกระทบ

แต่ว่าโครงการแบบนี้ ถ้าเป็นในประเทศที่เจริญแล้วก็ไม่ควรจะเป็น อย่างน้อยจะมีคนมาสร้างอะไรสักอย่างหน้าบ้านของผม ผมก็ควรต้องรู้ว่ามันจะกระทบกับชีวิตของผมหรือเปล่า แต่ว่าหลายๆ โครงการ โครงการใหญ่ๆ ก็ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ อาจจะมีเหมือนกัน แต่ว่าเราก็ไม่มั่นใจว่าเป็นข้อมูลที่ดีหรือเปล่า พูดง่ายๆ ข้อมูลที่เป็นข้อมูลจริงๆ เป็นข้อมูลที่ “สร้าง” (make) ขึ้นมาหรือเปล่า

อันนี้เป็นโครงการ บางโครงการก็พิสูจน์ไม่ได้ว่าคอร์รัปชันหรือเปล่า ยกเว้นโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ที่สุดท้ายก็พบว่าเป็นคอร์รัปชัน โครงการคัดค้านท่อก๊าซ สุดท้ายก็ตีกัน ทุกวันนี้คดีก็ยังไม่จบ ว่าจะได้รับการเยียวยาหรือมีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ คดีตอนนี้อยู่ในศาลปกครองอยู่ กรณีของเหมืองแร่โปแตซก็ยังอยู่ เหมืองแร่ทองคำเมื่อวานก็ยังมีปัญหากันอยู่

สไลด์1

พูดง่ายๆ จะเกิดคำถามว่า ยกตัวอย่างกรณีของการทำเหมือง ทุกวันนี้เราถามกันว่า ผู้ที่ได้รับบัตรสัมปทานนั้นได้มาอย่างไร ผ่านกระบวนการอะไร ถึงได้ใบอนุญาตมา แล้วอยู่ๆ มาทำเหมืองจนเกิดเป็นผลกระทบต่อคนอื่น นี่เป็นตัวอย่างของความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการของรัฐ จะคอร์รัปชันหรือไม่คอร์รัปชันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ที่แน่ๆ กระทบกับชีวิตชุมชน แล้วก็สร้างปัญหาระยะยาว สร้างความขัดแย้งระหว่างรัฐกับเอกชน

ทีนี้ถ้าเกิดความขัดแย้ง หรือความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐกับชุมชน หรือว่าประชาชนแล้ว ต่อไปจะดำเนินโครงการพัฒนาอะไรสักอย่าง ก็จะเริ่มรู้สึกไม่ไว้ใจกันแล้ว คิดว่าต้องมีอะไรสักอย่าง ต่อให้เปิดเผยข้อมูลไปแล้ว ถ้าความไว้ใจของชุมชนกับรัฐ ไม่ไว้ใจกัน คิดว่ายังไงโครงการนั้นก็จะดำเนินไปได้ช้ามาก ก็จะเป็นตัวขัดขวางความเจริญของประเทศในอนาคต ฉะนั้น โปร่งใสแต่แรกดีที่สุด

ผมลองสกัดรูปแบบการเปิดเผยข้อมูลของไทย ความโปร่งใส 1.1 เวอร์ชันแรก ซึ่งเริ่มปี 2540 อย่างเป็นทางการ รูปแบบคือ หน่วยงานรัฐที่เราไปขอข้อมูลนั้น หากไม่ให้ข้อมูลจะต้องมีตัวกลางคือ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) เป็นผู้เค้นข้อมูลออกมาให้ คำถามก็คือ สขร. ก็ยังเป็นบรรณารักษ์

ผมเองตอนทำวิจัยเรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร อันนี้ขออนุญาตพาดพิง แต่นานมาแล้ว ผมขอข้อมูลงบประมาณของ สขร. ซึ่งอยู่ภายใต้สำนักปลัดฯ สำนักนายกรัฐมนตรี ขอไปนะครับ เจ้าหน้าที่บอกให้ไปตามดูที่สำนักปลัดฯ โทรไปที่สำนักปลัดฯ ให้ไปดูที่ สขร. ซึ่งจริงๆ แล้วสถานการณ์แบบนี้ไม่ควรจะต้องเกิด ผมควรจะเข้าไปดูในเว็บไซต์แล้วรู้ได้เลย สขร. ได้งบเท่าไร หรือเข้าไปในเว็บไซต์สำนักปลัดฯ แล้วเข้าไปดูเลยว่า สำนักปลัดฯ สำนักนายกฯ ให้งบกับหน่วยงานของตัวเองเท่าไร ซึ่งเรื่องนี้ไม่ควรที่จะต้องเกิด เพราะว่าตัวเลขงบประมาณนั้นไปดูในเอกสารงบประมาณก็ได้ แต่ว่าในระดับหน่วยงานก็ควรจะต้องมีเหมือนกัน ก็เหมือนเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ควรจะต้องรู้ว่าหน่วยงานรัฐนั้นได้งบเท่าไร นอกจากจะรู้ว่าใครเป็นปลัด ใครเป็นหัวหน้า

นี่คือรูปแบบเวอร์ชันแรก ซึ่งเวอร์ชันนี้จะมีข้อเสียอย่างน้อย 1 เรื่อง คือนอกจากจะเสียเวลาแล้ว เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้อมูลที่เราได้มาเป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือจริง เพราะว่าเราจะไม่เข้าไปดูว่าข้อมูลที่มีอยู่นั้นเป็นอย่างไร เพราะเราฝากผ่าน สขร. ให้ไปตามดูให้

มาถึงเวอร์ชัน 2.0 เป็นเวอร์ชันที่มี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารตั้งแต่ปี 2540 คอนเซปต์เรื่องความโปร่งใสเริ่มเข้ามาตอนนั้น ปีนี้ปี 2558 รวมแล้ว 18 ปี หากเป็นวินโดว์คงเก่ากึ้ก ก็ถึงเวลาที่จะต้องมาอัปเดตเวอร์ชันความโปร่งใส ในรูปแบบที่ สขร. ก็ยังควรมีอยู่ในบางเรื่อง แต่ว่าในการดำเนินโครงการใหญ่ๆ ก็ควรจะต้องมีภาคประชาสังคม หรือประชาชนเเข้าไปเป็นคนคอยเค้นข้อมูลร่วมกับรัฐออกมา

ทีนี้ ข้อมูลที่มาถึงประชาชนปลายทางเราก็จะมั่นใจได้ เพราะมีตัวแทนเข้าไปเป็นคนเค้นข้อมูลออกมา ฉะนั้น เราก็จะไว้ใจคนของเรามากกว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ

อันนี้เป็นความโปร่งที่หลายๆ ประเทศ ทุกๆ ประเทศตอนนี้เริ่มจะอัปเดตเวอร์ชันความโปร่งใสของตัวเองขึ้นมา ก็คือการทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม

ต่อไปก็ตั้งคำถามว่า มีเครื่องมืออะไรบ้างที่สากลเขาใช้กัน คือในเรื่องความโปรงใส มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลอย่างที่คุณบรรยงเรียนของเรามีมาตรฐานแบบไทยๆ แต่ว่าใครจะมารับประกันว่ามาตรฐานหรือข้อมูลประเภทที่เราเปิดเผยนั้นได้มาตรฐานสากล

ความโปร่งใสเวอร์1.1

เครื่องมือความโปร่งใส

ผมก็ลองสำรวจมาคร่าวๆ พบว่ามี 5 เครื่องมือ ที่เป็นหลักของรัฐบาลและภาคประชาสังคมเขาเข้าร่วมกันในการกำหนดนโยบาย ซึ่งของไทยค่อนข้างล้าหลังกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียหรือว่าฟิลิปปินส์ ซึ่งฟิลิปปินส์มีคลับ (โครงการความร่วมมือ) ของไทยเราอาจจะคิดว่าเราเจ๋ง ถามว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ เราเจ๋งไหม เราเจ๋ง เนื้อหาเราก็ได้มาตรฐาน แต่มาตกม้าตายตอนบังคับใช้ ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้าง ก็เหลืออีกก้าวหนึ่งที่เราต้องข้ามไปให้ได้ คือการบังคับใช้ให้ได้จริง

เรามีข้อตกลงความโปร่งใสว่าด้วยอุตสาหกรรมการขุดเจาะ (Extractive Industry Transparency Initiative: EITI) อย่างที่คุณบรรยงเรียน เกี่ยวกับเรื่องความโปร่งใสในเรื่องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และเหมืองแร่

องค์กรอีไอทีไอนี้ใหญ่มาก มี 48 ประเทศเข้าร่วม มีทั้งประเทศที่พัฒนาแล้ว และด้อยพัฒนา อย่างประเทศในแอฟริกา เพราะเขาเชื่อว่าเรื่องทรัพยากรธรรมชาติเป็นเรื่องของความขัดแย้ง หากเราดูหนังเรื่องสงครามบลัดไดมอนด์ (Blood Diamond) ที่ไปขุดเพชร และอีกหลายอย่าง ซึ่งในแอฟริกาจะมีปัญหาเหล่านี้เยอะในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือสงคราม ประเทศไทยโชคดีที่ไม่มี หรือไนจีเรียที่เป็นประเทศมีน้ำมันมากอันดับต้นๆ ของโลก แต่ประชาชนจนมาก

ประเทศไทยนำระบบของ EITI มาใช้ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 ที่สถานทูตอังกฤษ และขอให้ทีดีอาร์ไอช่วยประสาน ตอนนี้ก็อยู่ในช่วงของการระดมภาคประชาสังคมให้เข้ามา เพราะต้องมีตัวแทน เขาก็จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งเรียกว่า MSC หรือคณะกรรมการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะมีรัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะต้องคุยกัน ว่าข้อมูลที่มีอยู่ต้องเค้นออกมาให้ได้ แล้วเอามาแปรรูปให้คนอ่านรู้เรื่อง คล้ายๆ ระบบของ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) หรือว่าเรื่องที่เกี่ยวกับเรื่องเงินเรื่องทอง เรื่องเกี่ยวกับบัญชี ถ้าคนไม่มีความรู้บางคนอ่านไม่รู้เรื่อง คณะกรรมการชุดนี้จะมาแปลข้อมูลให้เราเข้าใจง่ายขึ้น

ส่วนระบบ CoST ก็คือเรื่องของการก่อสร้าง อย่างที่คุณบรรยงเรียน เวลาเราจะดำเนินโครงการก่อสร้างใหญ่ๆ ของรัฐ ก็จะมีคณะกรรมการเข้ามาดู ปลายทางก็คืออยากจะรู้ว่ามีต้นทุนที่บานปลาย และมีเกินเวลาก่อสร้างเท่าไร อย่างไร เพราะว่าการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งที่มีการทุจริตมาก

สุดท้ายคือโครงการข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ที่องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT กำลังดำเนินการอยู่ ก็คือการส่งคนเข้าไปตรวจโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ไปนั่งเป็นคณะกรรมการ หรือไปเป็นผู้สังเกตการณ์ (Observers) ก็ไปนั่งดูว่าเขากำลังตกลงเรื่องอะไรกัน แต่ว่าโครงการข้อตกลงคุณธรรมจะค่อนข้างสงวนความลับทางราชการสักหน่อย เพราะบางเรื่องรู้แต่ไม่สามารถนำมาเปิดเผยได้

แต่ระบบของ EITI กับ CoST จะเป็นเหมือนกลุ่มคนที่นั่งอยู่ข้างนอกห้องนี้ แล้วเราก็เดินเอาข้อมูลไปให้เขา แต่โครงการข้อตกลงคุณธรรมก็คือ คนที่อยู่ข้างนอกเข้ามานั่งข้างใน รับรู้เรื่องที่เราคุยกัน ซึ่งเราก็คงเอามาใช้จริงๆ เมื่อตอนต้นปี 2558 ความจริงมีมานานแล้วแต่รัฐบาลไม่ยอมให้เอาไปใช้ อาจจะเป็นเรื่องกฎหมายและอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งหากเทียบกับประเทศเวียดนาม เขาเอามาใช้ตั้งแต่ปี 2553 ใช้ได้หรือไม่ได้ก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่ว่าเราเพิ่งเริ่มใช้ อาจจะได้หรือไม่ได้ด้วยซ้ำ

สุดท้ายคือ Open Government Partnership เป็นคลับของประเทศ ที่เป็นรัฐบาลโปร่งใส ก็รวมทั้ง 4 ระบบ/โครงการแรกไว้เข้าด้วยกัน หลายประเทศเข้าเป็นสมาชิกแล้วแต่ว่าไทยยังไม่เป็นสมาชิก ทั้งที่ไทยมีคุณสมบัติพอที่จะเข้าร่วมได้ แต่ยังไม่ได้เข้าเป็นสมาชิก

ทำให้เห็นว่าไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องเครื่องมือที่จะทำให้ภาคประชาสังคมหรือภาคประชาชนเข้าไปร่วมทำงานกับรัฐ

อันนี้เป็นเรื่องที่นอกจากความโปร่งใสแล้วยังเป็นเรื่องที่ให้ภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมทำงานกับรัฐด้วย ก็เข้าใจว่ารัฐบาลไทยก็มีอีโก้ และภาคประชาสังคมไทยก็ค่อนข้างมีอีโก้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ต้องมีสักเวทีหนึ่งที่เขายอมทำงานร่วมกันได้

ถามว่าที่เราไม่เข้าร่วมโครงการเกี่ยวกับความโปร่งใสต่างๆ ในระดับสากล แล้วไทยเจริญกว่าประเทศอื่นไหม ขอบอกว่าไม่ (สไลด์) อันนี้คือดัชนีที่ชี้วัดเรื่องความโปร่งใสของการอนุมัติงบประมาณ ภาพรวมประเทศไทยยังมีสีเหลืองหากเทียบกับฟิลิปปินส์เขาเป็นสีเขียวแล้ว ก็ฟิลิปปินส์ยังดีกว่าเรา อันนี้คือปีล่าสุด 2558

แต่ถ้าดูแนวโน้ม ไทยจะอยู่นิ่งๆ คะแนนไทยจะอยู่ในระดับเดิม ซึ่งบ่งบอกว่าไทยไม่ได้พัฒนาขึ้นไปเลย ฟิลิปปินส์เขาตกอยู่ในกับดักคอร์รัปชันมานาน แต่เมื่อเขาเริ่มมีประชาธิปไตยมากขึ้นเขาก็เริ่มเร่งตัวมากขึ้น ถ้าขืนไทยปล่อยไว้ต่อไปอาจจะต้องไล่หลังฟิลิปปินส์

อันนี้ลองมาแตกดูว่า ความมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ของไทยได้คะแนนเพียง 42 คะแนน เต็ม 100 คะแนน เทียบกับประเทศเวียดนาม ประเทศเวียดนามมีระบบการปกครองเป็นอย่างไร ของไทยก็คล้ายๆ กัน

นายธิปไตร แสละวงศ์ (ขวา)
นายธิปไตร แสละวงศ์ (ขวา)

ด้วยความเข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบงบประมาณ หรือสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ของไทยไม่ได้เข้มแข็งไปกว่ากัมพูชา ฟิลิปปินส์ ติมอร์-เลสเต และเวียดนาม หรือแม้แต่อินโดนีเซีย เพราะฉะนั้น สตง. ของไทยไม่ได้มีศักยภาพขนาดนั้น แล้วภาคประชาสังคมไทย รัฐบาลก็ไม่ได้เปิดให้ภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนร่วมมากขนาดนั้น ฉะนั้น 2 ส่วนนี้คือดัชนีชี้วัดความโปร่งใส และเรื่องความเข้มแข็งขององค์กรตรวจสอบงบประมาณ หากไปไม่ได้ก็คงจะแย่

อีกดัชนีหนึ่งเป็นเรื่องธรรมาภิบาล เป็นของ World Bank ทำ คะแนนเต็ม 2.5 คะแนน แต่ไทยได้ 0.21 คะแนน เท่าๆ กับฟิลิปปินส์ เขาวัดอะไรตรงนี้ วัดประสิทธิภาพของรัฐบาล วัดเรื่องคุณภาพของนโยบายที่ออกมา และความเชื่อมั่นของประชาชนต่อนโยบายที่ออกมา อันนี้ไม่ใช่ภาพรวมนะครับ เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น

ส่วนเรื่องการควบคุมคอร์รัปชันนั้นติดลบ ก็ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่แย่ และสุดท้ายคือดัชนีชี้วัดความเจริญทางด้านความโปร่งใส มีคนชอบบอกว่าอันดับความโปร่งใสไทยดีขึ้น แต่หากดูภาพใหญ่ก็คือยังอยู่ในสีแดง ภูมิภาคอาเซียนยังเป็นสีแดงอยู่ ส่วนอินโดนีเซียดีขึ้นหน่อยมีสีส้ม ก็อาจจะเป็นความผิดของประเทศอื่นที่มาสีแดงเหมือนไทย

อันดับดีขึ้นจริงๆ แต่คะแนนที่ได้ยังเท่าๆ กับประเทศเมียนมา ก็สะท้อนให้เห็นว่า หากเราบอกว่าไทยเจริญแล้ว แล้วจะไม่เข้าไปอยู่ในคลับความโปร่งใสที่เขามีอยู่ ก็คิดว่าคงไม่ใช่ เราคงต้องรู้ตัวว่าไทยอยู่อันดับไหน จะมาโกหกตัวเองอยู่ว่าโปร่งใสแล้วไม่ได้

สุดท้ายคือ โปร่งใสแล้วได้อะไร ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง คือ 1) เน้นบรรยากาศการลงทุนให้นักลงทุนกล้ามาลงทุนบ้านเรา ไม่ใช่ว่าเขาเอาเงินมาวางแล้วโดนยึดไปเลย มาลงทุนในอุตสาหกรรมเหมืองแร่แล้วถูกคนคัดค้าน ไปไม่รอดต้องปิดเหมืองก็ไม่ใช่ 2) ลดความขัดแย้ง แน่นอนว่าระบบของ EITI กับ CoST จะช่วยได้มากขึ้น เพราะว่ามีตัวแทนจากภาคประชาสังคมเข้าไปร่วมทำงานกับภาครัฐมากขึ้น จะได้เข้าใจกันมากขึ้น เพิ่มความไว้ใจกัน ถ้าไว้ใจกัน โครงการพัฒนาใหญ่ๆ ของประเทศก็จะไปได้เร็ว สุดท้ายคือเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมไม่ได้ใส่เรื่องคอร์รัปชันเข้าไปเลยเพราะว่านั่นท้ายสุดที่ผมคิดว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ว่าเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่องเหมืองแร่ ก็คิดว่าเราอยู่ในยุคที่สามารถส่งคนไปดวงจันทร์ได้ แต่ว่ายังมีปัญหาเรื่องสุขภาพที่เกิดจากเหมืองแร่อยู่เลย ไม่ต่างอะไรกับประเทศแอฟริกา เพราะว่าหากจะดูในเรื่องของสิทธิมนุษยชน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารของรัฐเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

นอกจากนี้ สุดท้าย ตัวอย่างข้อมูลนอกจากที่เราจะพูดกันแล้ว เรื่องการจัดซื้อจัดจ้างที่เราพูดกันบ่อย ข้อมูลที่จะต้องเปิดเผย เรื่องการบริหารราชการขั้นพื้นฐาน เช่น การแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการ ผมอ่านรายงานฉบับหนึ่งของมหาวิทยาลัยมหิดล ทำเรื่องการแต่งตั้งข้าราชการและการเรียกรับสินบนเวลาที่ย้ายตำแหน่ง อันนั้นเป็นรายงานปี 2543 เขาไปทำโฟกัสกรุ๊ป ก็มีคนเข้ามาแสดงความคิดว่าแล้วทำอย่างไรจึงจะป้องกันการโยกย้ายแบบไม่เป็นธรรม หรือว่าการเรียกรับสินบน การซื้อตำแหน่งนั้นได้

ง่ายๆ ก็คือ เปิดเผยประวัติการทำงานของผู้สมัครที่จะเข้าชิงตำแหน่ง สมมติ แต่งตั้งปลัดจะมี 5 คนเข้าไป ก็นำประวัติการทำงาน หรือว่าผลงานของทั้ง 5 คนเปิดเผยในเว็บไซต์แล้วให้คนได้ดู

ทีนี้ เวลาแต่งตั้งแล้วก็จะเกิดคำถามขึ้นว่า ถ้าคนที่ผลงานแย่ได้เป็นปลัดได้อย่างไร โดยไม่สามารถตอบคำถามต่อสาธารณะชนได้ว่าเขาเหมาะสมมากแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องง่ายๆ ที่จะทำให้การบริหารราชการไทยโปร่งใสได้ และอีกอันนึ่งที่ต้องเน้นมากคือ โครงการของรัฐที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม

นายธิปไตรกล่าวเสริมในตอนท้ายว่า “ผมว่าภาคประชาสังคมของไทยมีความเข้มแข็งพอสมควรในเรื่องเครื่องมือที่ยกขึ้นมาเมื่อสักครู่ อาจจะพูดถึงบ่อยในเรื่อง EITI กับ CoST เพราะว่าความเข้าใจของสังคมมาก คือแนวคิดง่ายแต่การนำมาใช้ยาก เพราะมีแรงกดดันเยอะ ทุกคนก็มองว่าจะไปรอดหรือ ไม่ใช่ให้รัฐบาลขึ้นมาเป็นคนนำ ไม่ใช่ไม่ไว้ใจรัฐบาล แต่สังคมต้องนำรัฐบาล อย่าให้รัฐบาลนำสังคม อันนี้คือเรื่องหนึ่ง”

แต่ผมคิดว่าภาคประชาสังคมไทยก็มีความพร้อมพอสมควร เราจะเห็นได้ว่ามีกลุ่มจำพวก “Watch” ทั้งหลาย เช่น FTA Watch คือ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เกิดขึ้นมาเยอะมาก ภาคสื่อก็พร้อม ทุกวันนี้ถามว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารฯ ใช้ไม่ได้ แต่สำนักข่าวอิศราทำอย่างไร เขาก็ทำได้ของเขา ไทยพับลิก้าทำอย่างไร ทีซีไอเจ หรือประชาไทยก็ทำได้ เพราะฉะนั้น สื่อมวลชนของไทยก็ไม่ใช่ย่อย ถ้าเป็นสังคมไทยก็มีเครือข่ายที่พร้อม และมีบุคลากรที่มีความรู้เยอะ

เทียบกับประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อวันก่อนมีตัวแทนจากประเทศฟิลิปปินส์ มีตัวแทนมาอธิบายเรื่อง EITI ให้ฟัง เขาบอกว่าประเทศเขา ภาคประชาสังคมค่อนข้างมีความแตกต่างกันระหว่างพื้นที่ ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม เรื่องศาสนา ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันก็จะน้อยกว่าไทย

เสวนาพลังความโปร่งใส

ผมคิดว่าภาคประชาสังคมไทยเราพร้อมมานานแล้ว เหลือแค่ว่าภาครัฐและเครื่องมือที่เอามาใช้นั้นจะช่วยให้เขาทำงานได้เร็วแค่ไหน เรื่องบางเรื่องก็ไม่ได้อยากตรวจสอบรัฐ ผมนั่งทำงานอยู่ที่สำนักงานอยากจะทราบว่าในหน่วยงานนี้ได้งบเท่าไรก็ไม่มี เรื่องแค่นี้เอง เราอยากจะรู้ว่าคืออะไรเท่านั้นเอง แต่เราไม่อยากจะไปจับผิดจับถูกใคร จริงๆ ก็ไม่ใช่สาระสำคัญ แค่เราอยากรู้เฉยๆ ฉะนั้น การที่จะทำข้อมูลเตรียมพร้อมสำหรับคนที่อยากรู้เข้ามาก็ไม่น่าจะทำยาก

แต่ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราอยู่ในยุคที่ข้อมูลวิ่งเขาหาเรา ไม่ใช่เราวิ่งเข้าหาข้อมูล ถ้าเป็นเว็บไซต์สมัยก่อนตัวอย่างของคนวิ่งเข้าหาข้อมูลก็คือต้องเปิดเข้าเว็บไซต์ แต่สมัยนี้มีทวิตเตอร์ มีเฟซบุ๊กที่ข้อมูลวิ่งเข้าหาเรา ถ้าเรื่องเล็กๆ อย่างข้อมูลพื้นฐานของภาครัฐไม่วิ่งเข้าหาเรา ผมคิดว่าเราจะเชยนะครับ รัฐบาลไทยและสังคมไทย หากไม่เปลี่ยนตัวเองตอนนี้เราก็จะเชย ผมคิดว่าเราจะเชยแน่ๆ เพราะว่าเทคโนโลยีล้ำหน้าไปถึงไหนแต่ว่าเรื่องง่ายๆ ที่เรายังทำไม่ได้ก็เรียกได้ว่า “ล้าหลัง”

อีกเรื่องหนึ่ง คิดว่าผู้ที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในยุคที่เรากำลังจะเปลี่ยน ช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าจะพูดถึงหน่วยงานรัฐที่จะทำตัวเป็นตัวอย่างผมคิดว่าคงต้องพูดว่า ป.ป.ช./สตง. ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่าง งานวิจัยของ TDRI เมื่อปีที่แล้วพบว่า 3 หน่วยงาน คือ ป.ป.ช. สตง. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่เป็น 3 เสาหลักในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐยังอ่อนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล ไม่ได้เทียบกับในประเทศไทยเอง เทียบกับสากลพบว่าไทยยังอ่อนอยู่มาก

ถ้าลองเปิดเว็บไซต์ สตง. ของประเทศอังกฤษ ก็จะเห็นว่าเขาตรวจทุกอย่าง และเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างในข้อมูลที่สวยงามด้วย ไม่ใช่เว็บไซต์ที่มีนาฬิกาทราย และมีราคาน้ำมัน คือเราไม่อยากรู้จริงๆ ในส่วนนั้น แต่เราอยากรู้ว่าที่ไปตรวจสอบ ไปทำงานมานั้นทำอะไรมาบ้าง นอกจากเว็บไซต์ของไทยขี้เหร่แล้วข้อมูลยังน้อยอีก หากดูของ สตง. อเมริกา อังกฤษ หรือ นิวซีแลนด์ จะเห็นว่ามีข้อมูลทุกอย่างแม้แต่เรื่องความมั่นคง

สุดท้าย กรณีตัวอย่าง คือ ความจริงการเปิดเผยข้อมูลไม่สามารถที่จะทำทีเดียวแล้วเจริญ โปร่งใสหมด มันต้องเป็นกระบวนการที่ค่อยๆ เรียนรู้ไป ของสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหา กรณีล่าสุดคือ มีผู้ขอข้อมูล จากเมื่อหลายเดือนก่อนที่อเมริกาโดนแฮกเกอร์จีนโจมตี เป็นเรื่องความมั่นคงทางไอที มีคนสงสัยว่าแล้วระบบที่ลงทุนไปเป็นจำนวนมากในการป้องกันแฮกเกอร์นั้นลงทุนไปเท่าไร แล้วได้อะไรมาบ้าง เขาก็ขอไป หน่วยงานที่เป็นผู้คีย์ข้อมูลเรื่องนี้ก็ไม่ให้ เพราะเขาอ้างว่าเป็นเรื่องความมั่นคง แต่สุดท้ายก็เปิดข้อมูลออกมาได้ ภายในเวลาไม่ถึง 3 เดือน

ทำให้เห็นว่าทัศนคติของหน่วยงานรัฐก็มีเรื่องผลประโยชน์สาธารณะที่ต้องปกป้อง แต่กระบวนการเค้นข้อมูลออกมาให้เร็วนั้นสำคัญมาก

ดูพาวเวอร์พอยต์ที่นี่

อ่านตอนที่ 4 นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.)

ป้ายคำ :