ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (2): “บรรยง พงษ์พานิช” ข้อมูลข่าวสารคือหัวใจ – กติกาไม่ต้องเยอะแต่ต้องโปร่งใสให้มาก

ThaiPublica Forum พลังการเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส (2): “บรรยง พงษ์พานิช” ข้อมูลข่าวสารคือหัวใจ – กติกาไม่ต้องเยอะแต่ต้องโปร่งใสให้มาก

22 กันยายน 2015


เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง "การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย"
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย”

เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ได้ร่วมกันจัดเสวนาเรื่อง “การเปิดเผยข้อมูล พลังความโปร่งใส โอกาส-อนาคต ประเทศไทย” โดยมีวิทยากรคือ นายวิชา มหาคุณ กรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายวิริยะ รามสมภพ นิติกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) นางสาวสฤณี อาชวานันทกุล คณะบรรณาธิการ สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า และ กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนายธิปไตร แสละวงศ์ นักวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โดยมีผู้ดำเนินรายการคือนายพงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์

ในตอนที่ 1 ได้นำเสนอในส่วนของนายวิชา มหาคุณ แนะใช้โมเดลสิงคโปร์และเน้นย้ำว่าข้อมูลคือเครื่องมือสำคัญที่สุด จากนั้นนายบรรยง พงษ์พานิช ได้อภิปรายต่อว่า “ผู้ดำเนินรายการเขาแนะนำว่าผมเป็นนายธนาคาร แต่จริงๆมาวันนี้ต้องบอกว่าไม่ได้มาในฐานะนั้น ผมอยู่กับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันมาตั้งแต่ก่อตั้ง ก็ 5 ปีแล้ว และเมื่อเร็วๆ นี้อยู่ในคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติที่ตั้งเมื่อต้นปีนี้มาได้ 8 เดือน แต่ที่สำคัญที่สุดผม เป็นคอลัมนิสต์ไทยพับลิก้ามาตั้งแต่ไทยพับลิก้าก่อตั้งเหมือนกัน ก็ประมาณ 5 ปี ที่พูดมานี่อยากจะสะท้อนให้เห็นที่อาจารย์วิชาได้พูดให้เห็นว่าสังคมไทยมีความรู้สึกตื่นตัวในเรื่องของการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้นเยอะใน 5 ปีที่ผ่านมา แต่เราก็ยังรู้ดีว่างานข้างหน้ายังมีภาระอีกเยอะ ถ้าจะทำให้ระดับของคอร์รัปชันลดลงไปอยู่ในระดับที่ไม่ถ่วงความเจริญของประเทศ”

พอพูดถึงเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ปัญหาของประเทศ นอกจากปัญหาคอร์รัปชัน เราก็มีปัญหาเรื่องของความมีประสิทธิภาพ ประเทศเราติดกับดัก ก็เพราะว่าผลิตภาพ ประสิทธิภาพส่วนเพิ่มมันมีไม่พอ มันก็เป็นปัญหาหนึ่ง ซึ่งทั้งเรื่องของความมีประสิทธิภาพและความโปร่งใส ในรูปแบบสมัยใหม่ เรื่องข้อมูลข่าวสาร เป็นหัวใจที่จะช่วยผลักดันโดยเฉพาะภาครัฐ เราก็พอรู้ว่าภาครัฐไทย รวมรัฐวิสาหกิจ ปีๆ หนึ่งมีค่าใช้จ่ายเกือบ 8 ล้านล้านบาทต่อปี เพราะฉะนั้น ความโปร่งใสและประสิทธิภาพ คือทั้ง 2 อันนี้ ต้องมีประสิทธิภาพและโปร่งใส โปร่งใสหมายถึงไม่มีการทุจริตรั่วไหลเป็นคีย์สำคัญ ทั้ง 2 เรื่อง ในโมเดลปัจจุบันที่ทุกประเทศสามารถพัฒนาขึ้นได้ เรื่องของข้อมูลข่าวสารถือว่าเป็นหัวใจ

ในกลไกที่จะผลักดันให้การทำงานของภาครัฐมีประสิทธิภาพ ในสมัยใหม่นี้ เขาจะมี 4 กลไกหลัก อันแรกคือเรื่องของความโปร่งใสของข้อมูลข่าวสาร อันที่สอง คือเรื่องของการมีความเชี่ยวชาญมาติดตามข้อมูลข่าวสารนั้น กล่าวคือ โปร่งใสอย่างเดียวไม่พอ จะต้องมีหน่วยงาน มีองค์ประกอบที่เชี่ยวชาญมาติดตาม อันที่สาม คือ ต้องมีความมีส่วนร่วมจากหลายๆ ภาคส่วน และสุดท้ายก็คือต้องสื่อถึงประชาชน นี่คือกลไกที่ที่ประสิทธิภาพมากที่สุดแล้ว

แต่เดิมเวลาเราอยากจะปราบคอร์รัปชัน เราเรียกหาคนดี คนดี คนดี คนดี มาเป็นผู้บริหารจัดการทรัพยากร คนดีมาเป็นผู้ปราบปราม แต่ในที่สุดคำว่าคนดีมันนิยามยากมากเลย มาตรฐานคุณธรรม จริยธรรม ของแต่ละอันก็แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ในกลไกที่เขาใช้ที่กล่าวข้างต้น ขออธิบายคร่าวๆ แล้วจะขอยกตัวอย่างบางกรณีที่กำลังทำอยู่หรือมีแผนที่จะทำ

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

ข้อที่ 1 เลย คำว่าต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร นัยยะมันไม่ใช่แค่ว่าเปิดเผยอย่างเดียว ต้องมีเงื่อนไขคือ 1)ต้องเปิดเผยให้มากที่สุดแล้ว 2)ต้องเปิดเผยในรูปแบบที่ได้มาตรฐาน ถ้าพูดภาษาชาวบ้านคือรูปแบบที่ดูรู้เรื่อง ไม่ใช่บอกว่าอยู่ในห้องนี้แหละ คุณมาเอาไปเถอะ แบบนี้ไม่ได้ ต้องเปิดเผยในรูปแบบที่มีมาตรฐาน ที่คนเข้าไปใช้ต่อได้ และ 3) ต้องเปิดเผยในลักษณะที่เขาเอาไปใช้ได้เลย คือ Machine Processable Information เพราะเดี๋ยวนี้พอพูดออกไปเรื่อง Big data Open data มันมหาศาล เพราะฉะนั้น ต้องอยู่ในรูปแบบที่ Machine Processable Formation ไม่ใช่ PDF ล้านหน้า ไปคัดหาเอาเอง แบบนั้นจะทำให้กลไกต่างๆ ไม่มีประสิทธิภาพ

ข้อที่ 2 คือ ต้องมีผู้ที่มีความเชี่ยวชาญมาตามดูข้อมูลเหล่านั้น ยกตัวอย่างเช่น ตอนนี้หลายท่านอาจจะยังไม่รู้ว่ารัฐวิสาหกิจไทย 56 แห่ง ต้องเปิดเผยข้อมูลในมาตรฐานอย่างต่ำเท่ากับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักททรัพย์แห่งประเทศไทย คือแบบ 56-1 ท่านเข้าไปดูได้ คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)สั่งไปแล้วแต่ยังไม่ครบ 56 แห่ง แต่ก็ทำออกมาบ้างแล้ว ยังไม่ได้มาตรฐาน อันนั้นเป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญที่จะต้องเข้าไปตามดู ตามวิเคราะห์ ตามจี้ ให้เขาปรับปรุงมาตรฐาน ให้เขาปรับปรุงมาตรฐานของการเปิดเผยข้อมูล อันนั้นเป็นเบื้องต้นเท่านั้นนะครับที่จะให้ทำตาม 56-1 ท่านเข้าใจไหมครับ อย่างแบบ 56-1 ถ้าใครเล่นหุ้นก็จะรู้ว่าถ้านักลงทุนบุคคลเข้าไปก็จะไม่รู้เรื่องอยู่ดี ต้องมีผู้เชี่ยวชาญ

ทีนี้ผมจะพูดถึงว่าจะตั้งองค์กรที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญอย่างไร แต่ก่อนเวลาเราขาดอะไรเราก็ตั้งภาครัฐ ตั้งหน่วยงานภาครัฐ ตั้ง ป.ป.ช. ซึ่งก็จำเป็นนะครับ แต่ว่าในที่สุด ในกลไกใหม่ เขาจะใช้ภาคประชาสังคมให้เข้ามาทำงาน พวกนี้แทน แต่ต้องเป็นภาคประชาสังคมที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีทรัพยากร คือภาคประชาสังคมเขาก็ต้องการทรัพยากรที่จะไปจ้างคน อันนั้นก็เป็นเรื่องที่จะมาพูดอีกทีหนึ่ง แต่ผมเล่าถึงกลไกที่จะมีประสิทธิภาพคือต้องมีคนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญมาติดตาม

สุดท้ายก็คือ ต้องมีส่วนร่วม คือ ในกลไกที่มาติดตาม นอกจากมีผู้เชี่ยวชาญแล้ว ต้องมีภาคประชาสังคม คือ Civil Society NGO ก็ดี สถาบันวิชาการอิสระก็ดี เข้ามามีส่วนร่วมอยู่ในการติดตามนั้น และสุดท้ายก็ที่ผมเรียนทั้งหมด ผลของจากที่ติดตามเสร็จต้องสื่อถึงประชาชน เพราะสุดท้ายแล้วคนที่จะควบคุมได้อย่างแท้จริงก็คือประชาชน ประชาชนที่มีข้อมูล ประชาชนที่มีผู้วิเคราะห์ข้อมูลให้ ประชาชนที่มีคุณภาพ และเขามีความรู้พัฒนาการกระบวนการพวกนี้ไป

ตรงนี้ขอยกตัวอย่าง โครงการที่ผลักดันนำมาใช้นำร่องโดยคนร. 2-3 โครงการ แต่คุณธิปไตรคงจะลงรายละเอียดได้มากขึ้น อย่างเช่น โครงการ CoST ซึ่งเราสมัครเข้าเป็นสมาชิกในโครงการสากลภายใต้การสนับสนุนของสถานทูตอังกฤษ เราเข้าเป็นสมาชิก และจากไทยครั้งแรก จากโครงการสุวรรณภูมิส่วนต่อขยาย 8-9 หมื่นล้านบาท อันนี้ก็เริ่มเดินไปแล้ว คือมันมาภายใต้แนวคิดที่ผมพูดเลย คือต้องเปิดเผยข้อมูลในรูปแบบที่ดูรู้เรื่อง มีผู้มีส่วนร่วม ในกรณีนี้เรียกว่า MSD ประกอบด้วยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคอุตสาหกรรม วิศวกรรมสถาน สถาปนิกสยาม และภาคประชาสังคมที่จะเข้ามาตามดู และมีความเชี่ยวชาญ คือมีทรัพยากรเพียงพอที่จะไปว่าจ้าง เขาเรียกว่า Assurance team ที่จะคอยตาม มีข้อมูลวิศวกรรม มีข้อมูลทางเทคโนโลยี ที่ต้องมีคนที่เชี่ยวชาญ และสุดท้าย จะสื่อกับสังคมเป็นระยะต่างๆ เป็นต้นไป

หรือหลายๆ เรื่องที่พยายามทำอยู่ หลายท่านอาจจะได้ยิน ซึ่งเป็นองค์ประกอบใน 4 ขั้นตอนนี้ ที่มาตรการก็ผลักดันไปหลายเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ท่านทราบไหมครับว่าประเทศไทยเรามีใบอนุญาต 1,600 กว่าใบอนุญาต ที่ประชาชนและธุรกิจต้องไปขอจากภาครัฐ ทั้งหมดเกี่ยวข้องกับกระบวนการของภาครัฐ 15,000 กระบวนการ

พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกที่ออกไปก็มีคำสั่งให้หน่วยราชการทุกหน่วยที่ต้องให้ใบอนุญาตประชาชน คือตอนนี้เขาขึ้นในเว็บไซต์ว่ามีวิธีการอย่างไรบ้าง ต้องเอาอะไรมายื่นบ้าง มี Service Level Agreement มากี่วัน เขาต้องให้คำตอบ ถ้าคำตอบไม่เป็นที่พอใจ ไปร้องเรียนได้ที่ไหน อันนี้เพิ่มความคล่องตัว ต้องเรียนว่าผลอาจจะไม่เห็นในทันที มันขึ้นอยู่กับประชาชนผู้ใช้บริการที่จะต้องร่วมมือในระยะยาวด้วย ที่จะต้องไปตามไปให้ comment ให้อะไร แล้วมันจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ที่จะทำให้กระบวนการพวกนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

แน่นอน หลายคนต้องมีเสียงบ่นมาว่า หลายหน่วยก็เลยไม่อนุญาตลูกเดียวไว้ก่อน ในระยะแรกอาจจะมีขลุกขลักอาจจะมีการรวนกันอย่างนั้นบ้าง แต่ในระยะต่อไปอันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้น ซึ่งก็เป็นเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ว่าทุกคนสามารถที่จะรู้ข้อมูลว่าสิ่งที่เขาจะทำมีอะไรบ้าง เขาต้องบอกเรา ไม่ใช่เอะอะก็ยื่นมาแล้วบอก 10 วันมาฟัง พอ 10 วันไปก็บอกว่าขาดอีกเท่านั้นเท่านี้ รวนกันอยู่อย่างนั้น ขอใบอนุญาตก่อสร้างปีหนึ่งก็ไมเสร็จ วนไปเวียนมา มันต้องทำให้เป็น form เลย พวกนี้ก็จะเป็นกระบวนการข้อมูลต่างๆ ที่จะทำให้ดีขึ้น

มีอีกเรื่องที่ผมขอแถม น่าจะเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารเหมือนกัน เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2558 มีพระราชกฤษฎีกาฉบับหนึ่งออกมา ประกาศในราชกิจานุเบกษา ชื่อว่า พ.ร.ฏ.ทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย ก็คือสั่งว่าทุก 5 ปี รัฐมนตรีทุกคนต้องไปดูกฎหมายที่ตนเองรักษาการว่ากฎหมายนั้นมีความเหมาะสมอยู่หรือเปล่า จะต้องทบทวนปรับปรุงหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.ฏ. นี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น แต่คงไม่พลิกฟ้าพลิกดินในทันทีอยู่แล้ว แต่จากจุดนี้ก็เป็นหน้าที่ แต่ถ้าประชาชนไม่ตื่นตัวไม่ไปตาม นี่ก็สะท้อนเรื่องของข้อมูลข่าวสาร ไม่ไปตามเขาก็จะบอกว่าดูแล้วเหมาะสม อยู่อย่างเดิม เราต้องเข้าไปตามเพื่อจะแนะนำ มันจะมากับแนวคิดว่า Regulatory Impact Assessment ที่ต้องไปทบทวน เพราะว่ากฎหมายบางฉบับ วันก่อนคุณหมอปราเสริฐ (ปราสาททองโอสถ) บ่นให้ฟังว่าท่านต้องเสียค่าปรับเฉียดล้านในการตั้งสนามบินที่จังหวัดตราด เพราะว่าไปผิด พ.ร.บ.การเดินเรือในทางน้ำสยาม พ.ศ. 2456 ที่บอกว่าถ้าทางน้ำถึง 2 เมตร ต้องไปขออนุญาตกรมเจ้าท่า จะไปปิดไม่ได้ ทั้งที่มันแห้งไปแล้วแต่มันก็ปิด อะไรแบบนี้เป็นต้น ผมก็ยกตัวอย่างให้ฟังง่ายๆ

นี่เป็นกระบวนการตัวอย่างที่ผมจบให้ฟังว่า ทุกอย่าง ภาครัฐเขาก็จะทำได้ ก็เพิ่มโครงการ ประชาชนก็ต้องตามไปแล้วก็เดินไป

นายบรรยง พงษ์พานิช
นายบรรยง พงษ์พานิช

มีอีกอันภายในไม่นานนี้น่าจะเข้าสู่ สนช. โดย สปช. ซึ่งยุบไปแล้ว ทางฝั่งของการต่อต้านคอร์รัปชันเสนอมา 2 เรื่อง ที่ฝากมาที่กรรมการต่อต้านคอร์รัปชัน เรื่องที่ 1 ก็คือ การปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบัน เรื่องที่ 2 ก็คือ ที่คุณธิปไตรเป็นคนทำอยู่ คือการออก พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐและหน่วยงานรัฐ

ท่านเชื่อไหมครับว่า รัฐไทยและหน่วยงานรัฐไทยใช้เงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ปีละ 8,000 ล้านบาท ทีดีอาร์ไอทำวิจัยแล้วประมาณได้ว่าประมาณครึ่งหนึ่งเป็นโฆษณาที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย แต่ว่ากลายเป็นงบโฆษณาหน้านักการเมืองเต็มเมือง เต็มหน้าหนังสือพิมพ์ อะไรแบบนี้เป็นต้น คือนอกจากจะมีรั่วไหล มีการใช้เงินอย่างไม่มีประโยชน์แล้ว สุดท้าย ขอประทานโทษ เป็นงบซื้อสื่อกลายๆ ซึ่งตรงนี้จะเป็นกลไกสำคัญว่าเราจะต้องปรับตรงนี้ เพื่อที่จะให้สื่ออย่างที่ท่านอาจารย์วิชาว่า ที่มีอยู่ไม่กี่สำนักข่าว ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ที่ควรจะทำ สื่อจะได้ลุกขึ้นมาทำหน้าที่ที่ตัวเองควรจะทำ

จริงๆอยากจะเรียนว่าพื้นฐานมาตรการป้องกัน มันจะเป็นเรื่องข้อมูลข่าวสารทั้งนั้นเลย ผมเขียนหนังสือเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน 2 เล่ม ในนี้มีทั้งหมด 40 มาตรการที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันคอร์รัปชัน มาตรการครึ่งหนึ่ง เป็นมาตรการที่ต้องเริ่มที่การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

นายบรรยงได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า open data เรื่องของ big data และ open government เพราะในที่สุดตรงนี้ คือผมเชื่อว่ายังไงก็ต้องเกิด เพราะกระแสทั่วโลกเริ่มอิน เริ่มเห็นเป็นตัวอย่าง ผมยกตัวอย่างเมื่อ 2 วันก่อนได้เข้าไปอ่านในไทยพับลิก้านี่แหละ ที่เกี่ยวกับเรื่อง open data และ big data ของคุณณภัทร (จาตุศรีพิทักษ์) ผมยกตัวอย่างนิดเดียว มีจุดนิดหนึ่งที่พออ่านแล้วเกิดไอเดีย เขายกตัวอย่างว่า ในนิวยอร์ก คุณเข้าไปในเว็บไซต์แล้วคุณรู้เรื่องว่าตึกไหนเสียภาษีบำรุงท้องที่กี่บาท อันนี้เมืองไทยน่าใช้มาก เอาง่ายๆ ถ้าใครอยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์จะรู้ว่าเจ้าหน้าที่ประเมินเขามีอำนาจมากมายที่จะประเมิน

ผมขออนุญาตเล่าตัวอย่างให้ฟัง มีเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าเขาไปซื้อตึกในเขตย่านธุรกิจ พอสิ้นปีทางเจ้าหน้าที่ตึกมาถามว่า นายเอาอย่างเดิมหรือเปล่า เขาถามว่าอะไรเอาอย่างเดิม จ่าย 8 แสนบาท แล้วภาษีจะเหลือ 1.5 ล้านบาท เขาบอกว่าถ้าไม่จ่ายล่ะ เจ้าหน้าที่บอกว่าเขาประเมินภาษีไปได้ถึง 8 ล้านบาท คือเขาประเมินภาษีได้ตั้งแต่ 1.5-8 ล้านบาท ถ้าจ่าย 8 แสนบาท ก็เสียภาษี 1.5 ล้านบาท เขาเลยบอกว่าอั๊วไม่เอา อั๊วไม่จ่าย 8 ล้านก็ 8 ล้านบาท เพราะมันเป็นเรื่องของการให้เงินคอร์รัปชัน แต่สุดท้ายก็เสีย 1.5 ล้านบาท เพราะตึกอื่นๆ แถวนั้นมันเสียอัตราพอๆ กัน พอนึกออกไหม

ทีนี้ ผมอ่านของคุณณภัทร แกบอกเรื่องเล็กๆ แค่นี้นะครับ รับรองว่าประชาชนจะเห็นหมดเลย ทุกวันนี้เราไม่รู้นะครับว่าตึกไหนจ่ายเท่าไร เหตุใดถึงจ่ายต่างกัน ผมยกตัวอย่างว่า พวก open data กับ big data จะช่วยเยอะมากเลย แล้วการตรวจสอบจะง่ายขึ้นมาเลย ถ้าออกมาเป็นโมเดลที่ว่า

Thaipublica Forum

“อีกเรื่องหนึ่ง คือทุกอย่างจะมีต้นทุน กลไกตรวจสอบ การตรวจสอบทุกอย่างมีต้นทุน ซึ่งต้นทุนทั้งหมดเป็นทั้งต้นทุนโดยตรงกับต้นทุนทางอ้อม ผมเรียนรู้หลังจากเข้ามาทำงานจริง ในหลายๆ จุดว่า กลไกควบคุมตรวจสอบที่เข้มงวดมากไป งานมันหยุด เพราะกลไกตรวจสอบที่เข้มงวดก็ทำให้…คือจำได้ไหมครับ ที่มีนักวิชาการที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน ถ้าจำไม่ผิด ชื่อ ซามวลแอล ฮันติงตัน เขาเคยพูดไว้ว่า ระบบที่แย่กว่าระบบ red tape ที่ต้องยัดเงิน ก็คือระบบ red tape ที่ยัดเงินไม่ได้ นึกออกไหมครับ คือกลไกมันเลยหยุด ผมมี sense ว่ามันเกิดขึ้นเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นมา

ทีนี้ สิ่งที่ต้องทำก็เลยต้องมาทบทวนกฎกติกาด้วย คือ กลไกตรวจสอบที่วางไว้ อาจจะเจตนาดีหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ถึงเวลาต้องกลับมาถูกทบทวน ผมขอยกตัวอย่าง หลายเรื่องต้นทุนสูงเหลือเกิน ขออนุญาต อย่างเช่น เรื่องที่ให้ภาคเอกชนไม่รู้กี่หมื่นรายต้องไปยื่นบัญชีให้กรมสรรพากร ยื่นบัญชีกับภาครัฐ (ตามกฎหมายป.ป.ช.) กระดาษพวกนี้นะ เอาไปเก็บ เสียค่าเก็บโกดัง เป็นต้นทุน ไม่รู้ว่า ป.ป.ช. ใช้ประโยชน์อันนี้มากน้อยแค่ไหน ผมไม่ได้ว่าไม่ดีนะครับ แต่หลายเรื่องต้องทบทวบ เพราะว่าสุดท้ายต้นทุนทั้งหลายมันเกิดขึ้น

“จากประสบการณ์ทำงานจริง เราก็เห็นอาการชะงักงันหลายจุด ในขั้นตอนระเบียบพัสดุอะไรทั้งหลายแหล่ ผมก็มีประสบการณ์โดยตรงว่าอยากจะไปปรับปรุงหน่วยงานรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพและลดต้นทุนการจัดซื้อจัดจ้าง ปรากฏว่าภายใต้ระเบียบพัสดุมันไม่ได้ เพราะว่ามันเน้นเรื่องของการควบคุม ทำให้กระบวนการที่จะต้องไปแข่งขันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการจัดซื้อจัดจ้างทำไม่ได้ มีเรื่องอย่างนั้นเหมือนกัน”

“ผมก็แค่ฝากเอาไว้ว่าทุกอย่างมันก็มีต้นทุนของมัน เราจะต้องกลับไปทบทวนให้ได้ สุดท้าย สำหรับผม กติกาอะไรต่างๆ ไม่ต้องมีเยอะ แต่ความโปร่งใสคือการเปิดเผย มีให้มาก เวลามันผิดปกติแล้วมันก็ตามได้เอง แต่พยายามเขียนกติกาในทางปฏิบัติจริงแล้วจะเกิดอาการไม่ทำ ทำไม่ได้ ต่อให้คนไม่ได้เป็นคนตั้งใจทุจริตมันก็จะเกิดปัญหาตามมา”

ป้ายคำ :