ThaiPublica > Events > Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการแก่ก่อนรวย หย่อนสมรรถภาพ สายตาสั้น – อนาคตกับภาวะแก่ จน ที่ไม่มีใครดูแล (ตอนที่1ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย )

Thaipublica Forum “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”: อาการแก่ก่อนรวย หย่อนสมรรถภาพ สายตาสั้น – อนาคตกับภาวะแก่ จน ที่ไม่มีใครดูแล (ตอนที่1ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย )

5 เมษายน 2015


 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?"
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?”

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2558 สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้จัดเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทย คนป่วยคนใหม่ของเอเชีย?” โดยมีวิทยากรดังนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด โดยมีนายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการบริหารสำนักพิมพ์ openbooks ดำเนินรายการ ณ อาคาร UBC II KTC POP

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ภิญโญ: มีนักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายท่าน ที่ออกมาพูดเรื่องเศรษฐกิจและตัวเลขต่างๆ มากมาย คงจะเห็นกันอยู่ แล้วก็มีคนพยายามบอกว่าเรากำลังจะกลายเป็นคนป่วยไข้แห่งเอเชียหรือเปล่า พอพูดเรื่องการป่วยไข้ทางเศรษฐกิจก็ต้องเชิญนักเศรษฐศาสตร์แต่ละท่านมาวิเคราะห์ให้ฟัง

ทีนี้ อาการที่เกิดขึ้นแต่ละท่านก็วิเคราะห์ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับท่านไปหาหมอคนไหน ไปหาหมอดูก็บอกว่าเป็นเรื่องดวงเมือง พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรก ไปหาหมอแมะก็ชีพจรอาจจะเต้นไม่ปกติ ไปหาหมอฝังเข็มพลังชีพอาจจะตกลง ลมปราณไม่ค่อยเดิน วันนี้ก็จะให้แต่ละท่านไปหาหมอวิเคราะห์อาการป่วยไข้ของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางเศรษฐกิจที่แต่ละท่านเห็นว่าคืออะไร แล้วอาการป่วยไข้เป็นอย่างไร ตอนนี้สังคมไทยป่วยด้วยโรคอะไร เริ่มที่คุณพิพัฒน์

พิพัฒน์: วันนี้เราก็จะมาคุยเรื่องเศรษฐกิจล้วนๆ การเมืองไม่เกี่ยว หลายคนบอกว่าไทยเป็นคนป่วย บางคนอาจจะรับไม่ค่อยได้ แต่ว่าวันนี้เราจะลองมาดูว่า จริงๆ แล้วเราควรจะยอมรับความจริงหรือไม่ว่าเราป่วย ถ้าสังเกตว่าหัวข้อผมใส่เครื่องหมายคำถามไว้ วันนี้เราจะวิเคราะห์กันว่าป่วยจริงหรือไม่

คำว่า “คนป่วยของเอเชีย” มาจากไหน แล้วทำไมถึงเป็นคำที่คนเริ่มใช้กันช่วงหลัง งานวิจัยจากวิกิพีเดีย คำว่าคนป่วยเริ่มจากคนป่วยแห่งยุโรปก่อน ที่พระเจ้าซาร์ นิโคลัส เรียกออโตมันเติร์กว่าคนป่วยแห่งยุโรปสมัยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1800 กว่าๆ ต่อมาคำนี้จึงใช้เรียกประเทศจีนประมาณปี ค.ศ. 1800-1900 ช่วงนั้นถ้าจำได้ทางยุโรปเศรษฐกิจเริ่มจะดีขึ้น มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม จีดีพีต่อหัวของจีนช่วงเดียวกันติดลบด้วยซ้ำ แล้วเศรษฐกิจจีนแย่ลงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เขาจึงเรียกจีนว่าเป็นคนป่วยของเอเชีย หลังจากช่วงนั้น เราก็เจอว่าฟิลิปปินส์กลายเป็นคนป่วยใหม่ที่ชาวบ้านเรียกว่าคนป่วยของเอเชีย

ถ้าจำกันได้นะครับ ช่วงนั้นเป็นปี 1990 ตอนนั้นเศรษฐกิจไทยกำลังร้อนแรง จีดีพีโต 5% 8% 10% ถ้าดูอัตราการเติบโตของฟิลิปปินส์ช่วงนั้น โตศูนย์ คือคำถามว่าฟิลิปปินส์หายไปไหนช่วงนั้น ทำไมไม่สามารถโตได้เหมือนคนอื่น

อาการที่เห็นเพื่อนวิ่งแล้วเราวิ่งไม่ออก เขาเลยเรียกกันว่าอาการของคนป่วย จนกระทั่งมาช่วงท้ายฟิลิปปินส์กลายเป็นคนป่วยของเอเชีย และการประชุม World Economic Forum (WEF) ครั้งที่ผ่านมา ประธานาธิบดีอากิโนของฟิลิปปินส์ประกาศว่าฟิลิปปินส์ไม่ใช่คนป่วยของเอเชียอีกต่อไป เพราะว่าการเติบโตเริ่มดีขึ้น”

ประเทศไทย เราไม่ได้ใช้ชื่อว่าคนไทยเป็นคนป่วยของเอเชีย เราไม่ได้คิดกันเอง คนที่เริ่มใช้ ผมเข้าใจว่ามาจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก มีรายงานข่าวหลายชิ้นที่เรียกเมืองไทยว่าคนป่วยของเอเชีย ส่วนหนึ่งมาจากฟิลิปปินส์ประกาศว่าตนเองเป็นคนเข้มแข็งของเอเชียแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมีคำถามว่า แล้วใครล่ะเป็นคนป่วยของเอเชีย ตำแหน่งเลยมาที่เมืองไทย

อาการของการป่วย ทำไมเราถึงคิดว่าไทยจึงดูเหมือนจะป่วย

ThaiPublica  Forum_1_2

ThaiPublica  Forum_1_4

ทำไมถึงคิดว่าเศรษฐกิจไทยดูเหมือนจะป่วย หากดูจากจีดีพี นี่คือภาพจีดีพีรายไตรมาสของเมืองไทย ตั้งแต่ต้นปี 1990 จะเห็นว่าก่อนวิกฤติปี 1997 เมืองไทยเกือบจะเป็นเสือตัวที่ห้า เราเกือบจะเป็น miracle of Asia เราโต 8% สูงสุดไป 10% 13% หลายปี เพราะฉะนั้น ช่วงนั้น ถ้าลากดูแนวโน้ม ทุกคนมองเห็นว่าถ้าไทยโตด้วย 8% ไปเรื่อยๆ เราจะไปแข่งกับเกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง สิงค์โปร์ พวกนั้น แล้วอยู่ดีๆ เราก็เกิดวิกฤติปี 1997 เราก็กลับมาจัดบ้าน เรากลับมาโตใหม่

“ก่อนปี 1997 เราโตด้วยการลงทุน การบริโภคค่อนข้างเยอะ ค่าเงินเราอ่อนค่าลง เราเปลี่ยนโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่กลายมาเป็นการส่งออก ช่วงนั้นแนวโน้มการเติบโตเราก็ 5% ตลอดเวลา จนเรามาเจอวิกฤติปี 2008 หลังจากนั้น จะสังเกตว่าเราไม่เคยเจอปีปกติเลย เจอน้ำท่วม เจอปัญหาเศรษฐกิจ เจอการเมือง คำถามคือ แล้วแนวโน้มการเติบโตเมืองไทยอยู่ที่ไหนกันแน่”

“ถ้าถามหลายฝ่าย ถามแบงก์ชาติว่าแนวโน้มการเติบโตที่มีศักยภาพอยู่ที่ไหน ถ้าลากเป็นเส้นก็แล้วแต่เลยว่าจะลากเส้นไหน คำถามคือว่า ถ้าเราอยู่ในอาการป่วย เป็นไปได้ไหมว่าเราจะอยู่ในภาวะที่เราโตอย่างช้าๆ แบบนี้ไปอีกสักพักหนึ่ง ซึ่งอันนั้นคืออาการ ตรงนั้นเป็นอาการคนป่วย แล้วคำถามตรงนี้ผมเปรียบเสมือนว่าเราเป็นเด็ก ป. 3 เมื่อก่อนเราวิ่งเราเห็นหลังพี่ ป. 5 อยู่ไวๆ แล้วอยู่ดีๆ เราสะดุดขาตัวเองล้ม แล้วเราก็ลุกขึ้นมา อ้าว พี่ ป. 5 ไปแล้ว เราก็วิ่งของเราต่อ อยู่ๆ น้อง ป. 2 ก็วิ่งมาเกือบจะแตะหลังเราแล้ว แล้วมีคนมาทักว่าเป็นอะไร ป่วยหรือไม่”

“วันนี้เราไม่มีทางเลือก ว่าถ้าเราจะหยุดแล้วพิจารณาตัวเองว่าเราป่วยจริงหรือไม่ หรือเรายังวิ่งต่อไปทั้งที่เราไม่รู้ว่าเราเป็นอะไร ถ้าเกิดเราหยุดแล้วดู เราอาจจะแค่ผูกเชือกรองเท้าก็ได้ ถ้าป่วยจริงเราไปหาหมอ หาวิธีแก้ดีไหม การยอมรับความจริงของการแก้ไขปัญหา เป็นภาวะที่ดีกว่า”

ThaiPublica  Forum_1_3

จากภาพเกือบทุกๆ ประเทศรวมถึงฟิลิปปินส์ โตเกิน 5% ในขณะที่ไทยการเติบโตเหลือแค่ 3% ก็ว่ายากแล้ว อันนี้คือคำถามว่าเราป่วยหรือไม่

ภาพต่อไปอาจจะดูยากขึ้น ผมลองเอารายได้ต่อหัวของเมืองไทย เปลี่ยนเป็นเส้นนอนแล้วเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ หมายความว่าถ้าคนอื่นช้ากว่าเราไปเรื่อยๆ แสดงว่าเขาโตช้า ถ้าเกิดเขากลับใกล้เราเข้ามาเรื่อยๆ แสดงว่ากลับมาใกล้เมืองไทยมากขึ้นทุกที จะสังเกตว่าช่วงที่เศรษฐกิจเราดีๆ เราทิ้งห่างคนอื่นไปเรื่อยๆ ขณะที่ตอนนี้ หลายๆ ประเทศกำลังเข้ามาหาเมืองไทยเร็วขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างที่ดี ประเทศจีน ตอนปี 1980 รายได้ต่อหัวเป็นแค่ 1/3 ของประเทศไทย เขาใช้เวลา 30 ปี ตอนนี้แซงไทยไปแล้ว แล้วประเทศอื่นๆ คำถามคือว่าถ้าเขาปิดช่องว่างเข้ามาเรื่อยๆ เราจะยืนอยู่เฉยๆ ให้เขาวิ่งแซงหรือไม่

นี่คืออาการที่ผมตั้งคำถามว่าเรากำลังป่วยหรือไม่

คำว่าป่วยอาจจะไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่จะยอมรับเสมอไป ถ้าจำกันได้ ช่วงปี 1990 เยอรมันเคยถูกเรียกว่าคนป่วยแห่งยุโรป ตอนที่เขารวมเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก ตอนนี้กลายเป็นคนแข็งแรงไปแล้ว หากเรายอมรับความจริงและหาสาเหตุที่เราป่วย เราอาจมีโอกาสอยู่

นี่เป็นอีกอาการหนึ่ง ตัวเลข FDI การลงทุนโดยตรง ช่วงปี 1990 มีแต่คนอยากมาลงทุนเมืองไทย เป็นปลายทางของการลงทุน

ทีนี้วินิจฉัยก่อนว่าเราป่วยเป็นอะไร เราคิดยังไงดี ผมขอทำหน้าที่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ อาจจะมองว่าอาการที่เราเห็น การป่วยคือการที่เราผลิตรายได้ช้ากว่าคนอื่น แล้วการผลิตรายได้มันมาจากอะไรบ้าง ผมตั้งง่ายๆ ว่าเปรียบเหมือนเศรษฐกิจเป็นเครื่องจักรเครื่องหนึ่ง ที่ใส่ทุนแรงงาน ที่ดินเข้าไป แล้ววิ่งอยู่ในเครื่องจักร ใช้เทคโนโลยี แล้วผลิตออกมาแล้วเป็นผลผลิต

ดังนั้น อาการวันนี้ที่เราเห็น คือการผลผลิตมันโตช้า คำถามวันนี้ มันมีปัญหาที่ของที่ใส่เข้าไป หรือที่ไหนกันแน่ นี่คือคำถาม

ThaiPublica  Forum_1_5

ThaiPublica  Forum_1_6

ผมขอพูด 2 ประเด็น 1. เรากำลังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบที่ใส่เข้าไป แรงงาน ทั้งในแง่ของปริมาณและคุณภาพ 2. สาเหตุที่ทำให้เราป่วย อาการเบื้องต้นคือ เรื่องความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหาหรือไม่

“โรคแรก เรากำลังเจอปัญหาแก่ก่อนรวย นี่เป็นอายุเฉลี่ยมัธยฐานของทุกประเทศในโลก สังเกตว่าถ้าเป็นสีส้มๆ แดงๆ อายุ 30-40 กว่าปี ส่วนสีเขียวๆ เหลืองๆ อายุ 10-20 กว่าปี จะสังเกตว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อายุเฉลี่ยของคนในโลก ถ้าดูประเทศที่อยู่ทางเหนือ รายได้สูง ยุโรป อเมริกา เฉลี่ยอยู่ 30-40 ปี ซึ่งไม่ได้แปลกอะไรเพราะเราทราบอยู่แล้วว่าประเทศที่ร่ำรวยมีปัญหาประชากรที่สูงอายุอยู่แล้ว แต่จะสังเกตว่ามีไม่กี่ประเทศในโลกที่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วเผลอแก่ คือถ้ารวยแล้วแก่ไม่เป็นไร เขามีเงินดูแลได้ แต่สังเกตว่าในแผนที่มีจีนกับไทย ที่อายุเฉลี่ย 30 กลางๆ แล้วยังไม่รวยซะที ซึ่งอาการแก่ก่อนรวยมันมีปัญหา 2 เรื่อง”

อันนี้คือพีระมิดประชากรของเมืองไทย ช่วงปี 1970 ถ้าเราจำกันได้มันเป็นปกติที่แต่ละครอบครัวจะมีพี่น้องเยอะ 4 คน 6 คน 8 คน แต่หลังจากที่เรามีการวางแผนครอบครับที่ดีมาก 20 กว่าปีที่ผ่านมาเราลดอัตราการเกิดจากผู้หญิงหนึ่งคนมีลูก 4-5 คน ตอนนี้เหลือ 1.4 คน ทำให้ประชากรเราบวมอยู่ตรงนี้ แล้วความเร็วของคนที่กำลังจะเกษียณอายุออกไปจากวัยทำงานเร็วกว่าเด็กที่โตขึ้นมา

สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชากรวัยทำงานของไทยกำลังลดลง ไม่ใช่จะลดลง กำลังลดลง ตอนนี้เราผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว ในแง่ของประชากรวัยทำงาน สังเกตตรงตอนปี 2015 กำลังไปข้างหน้าเรื่อยๆ เรากำลังมีแรงงานที่อยู่ในวัยทำงาน น้อยลงเรื่อยๆ จึงไม่แปลกใจที่เรามีปัญหาขาดแคลนแรงงาน นี่คือปัญหาที่ 1 เรามีจำนวนแรงงานที่จะใส่ในเครื่องจักรลดลง

ปัญหาที่ 2 ทรัพยากรที่เราต้องใส่เข้าไป เราต้องใส่เข้าไปดูแลคนแก่และเด็กเยอะขึ้นเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นทรัพยากรที่ใส่จะมีประสิทธิภาพน้อยด้วย ถ้าเกิดดูการเติบโตของฐานคนวัยทำงาน เมืองไทยอยู่ในอันดับต่ำๆ ของเอเชียไปแล้ว ถึงแม้ว่าประชากรเรายังไม่ลดเหมือนในญี่ปุ่น นี่คือ 2010-2013 แต่ถ้าดูภาพเดียวกัน มองไปข้างหน้าอีก 5 ปีจากวันนี้ เราจะเริ่มติดลบ

ThaiPublica  Forum_1_8

อันนี้คือเปรียบเทียบว่า ตรงนี้ไทยกับประเทศอื่นๆ ในเอเชียมีแค่ 4 ประเทศที่ประชากรกำลังจะลดลง คือไทย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น แม้สิงค์โปรที่เราคิดว่าเขาเริ่มแก่ๆ แล้ว เขายังมีประชากรวัยทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าเกิดไปดูประเทศอื่นๆ ในอาเซียน อินโดนิเชีย ฟิลิปปินส์ เราพบว่าประชากรยังเพิ่มอยู่

คำถามคือ ถ้านักลงทุนต่างประเทศจะย้ายฐานการลงทุนมา เขาจะเลือกประเทศไหน ถ้าต้องเลือกมาลงทุน ถ้าเกิดดูแนวโน้มประชากรของเรา มันมีความเสี่ยง มีปัญหาการหาแรงงาน นี่จะเป็นปัญหาใหญ่ของเมืองไทยที่เราต้องเจอ นอกจากจำนวนประชากรจะลดแล้ว คุณภาพอาจจะมีปัญหาด้วย

นี่คือตัวเลขการทดสอบความสามารถทางคณิตศาสตร์ระหว่างประเทศ นอกจากคะแนนเราจะไม่ดีแล้ว คะแนนเรากำลังแย่ลงเรื่อยๆ เราอยู่ 400 กว่า สิงค์โปร 600 ฮ่องกง 500 ปลายๆ สหรัฐอเมริกา 500 กว่า ทุกประเทศที่เติบโตดีๆ อย่างน้อยคุณภาพของการศึกษา มองผ่านทางนี้ หลายคนอาจจะมองว่าเป็นเครื่องวัดที่ไม่ดี แต่ผมมองว่าเป็นเครื่องวัดหนึ่ง

ถ้าไปดูเครื่องวัดอีกตัว คะแนนคือ PISA ของ OECD หลายคนอาจจะเชื่อมั่นมากกว่า เราอยู่ที่อันดับ 50 จากทั้งหมด 65 ประเทศ คำถามว่านอกจาก “ของ” ที่ใส่เข้าไปในเครื่องจักรมีปริมาณน้อยลงเรื่อยๆ คุณภาพของของที่กำลังใส่เข้าไปกำลังจะมีปัญหาหรือไม่ นี่คือที่ผมตั้งเป็นข้อสังเกต

ภิญโญ: ตกลงอาการทั้งหมด ประเทศไทยเป็นโรคอะไร

พิพัฒน์: โรคที่หนึ่งที่กำลังเป็นแน่ๆ แล้วอันนี้อาจจะปฏิเสธลำบาก คือโรคแก่ก่อนรวย เป็นโรคชรา เรารู้อยู่แล้วว่าเราแก่มากขึ้นเรื่อยๆ ความสามารถจะน้อยลงเรื่อยๆ ต้องเอาพลังงานแรงงานไปทำอย่างอื่นมากขึ้น

โรคที่ 2 เป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพ คือความสามารถในการแข่งขันของแต่ละคน ผมคิดว่าตอนนี้คุณภาพของแรงงานที่เรากำลังใส่ลงไป มันไม่ดีอย่างที่หลายๆ คนคาดว่ามันจะเป็น อาการนี้ออกตรงที่รายได้ของแรงงานแต่ละคนเริ่มจะโตช้าลงเรื่อยๆ มันเริ่มหย่อนสมรรถภาพจากจุดที่ควรจะเป็นหรือเปล่า เป็นปัญหาในแง่ของระบบเศรษฐกิจด้วย ว่าเราไม่สามารถเอาศักยภาพของแรงงานของเราออกมาทำให้ดีที่สุด

ตัวอย่างหนึ่งที่เราเห็นภาพ เราเคยภูมิใจเรื่องการส่งออกฮาร์ดดิสก์ของโลก น้ำท่วมทีโลกไม่มีจะขาย แต่อย่างไรก็ตาม เราเป็นประเทศรับจ้างผลิต ทันที่ที่เทคโนโลยีเปลี่ยน อุปสงค์เปลี่ยน ต้องผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น เราไม่สามารถจะกระโดดข้าม value chain หรือช่องว่างเทคโนโลยีได้ แล้วรับจ้างผลิตได้ ตรงนี้คือเหมือนกับว่าเราคิดว่าควรจะทำได้ดีกว่านี้ แต่เราไม่สามารถทำได้

ภิญโญ: แก่ก่อนรวย คือ แก่ จน หย่อนสมรรถนะ มันมีอะไรน่ากลัวกว่านี้ไหม ดูไม่เซ็กซี่

พิพัฒน์: คือความเสี่ยง ก็คือเราจะอยู่ในสภาวะเรียกว่า แก่ จน แบบที่ไม่มีใครดูแล ดูคนอื่นวิ่งแซงไปเรื่อยๆ ผมจะบอกว่าเราไม่ได้เจอวิกฤติในแง่ที่ว่าประเทศแตก หรืออยู่ๆ มีวิกฤติอย่างรุนแรง แต่เราเข้าไปสู่ภาวะที่โตช้าๆ หรือไม่ แทนที่จะเป็นต้นไม้ที่โตเร็วๆ เราจะเป็นกลายบอนไซหรือไม่

ภิญโญ: ผมสรุปเพื่อพาดหัวข่าวว่า ดร.พิพัฒน์ สรุปว่าประเทศไทย แก่ จน ไร้คนเหลียวแล สรุปได้แค่นี้

พิพัฒน์: วันนี้เรามาพูดอาการป่วย แต่เราอาการดี มีคนกำลังวิ่งอยู่นะครับ ฐานะประเทศเรายังมีศักยภาพอยู่ ถ้ามองในภาพดี เรามีข้อดีมากมาย แต่วันนี้เรามองโลกในแง่ร้ายไปนิดหนึ่ง ว่ามองไปข้างหน้าว่ามีปัจจัยเสี่ยงอะไร

อีกโรคหนึ่งที่ตอนนี้เราเป็นคือโรคสายตาสั้นด้วย แต่ว่าเรารู้ว่าเราจะไปอย่างไร บังเอิญสายตาสั้น เรามองทางไม่ชัด แต่เรามองใกล้ๆ ชัด เราไปทางที่ใกล้เราก่อนดีกว่า นั่นเป็นสาเหตุหนึ่ง ทั้งที่รู้ๆ ว่าต้องกินยารักษาต้นเหตุของโรค แต่ว่าเราไปกินยาประคับประคองอาการมากกว่า

ThaiPublica  Forum_1_7

ประเด็นอันแรกที่จะเป็นวิธีการรักษา คือต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบเศรษฐกิจ ต้องปฏิรูประบบราชการ ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ จัดการคอร์รัปชัน

ประเด็นที่สอง เราต้องเพิ่มคุณภาพของแรงงานที่ใส่เข้าไปในเครื่องจักรของเรา การปฏิรูปการศึกษาต้องทำอย่างเร่งด่วน ต้องรีบทำกันจริงๆ อันที่หนึ่ง คือถ้าเรายังไม่ยอมรับว่าระบบการศึกษาของเรากำลังจะล้มเหลวหรือล้มเหลวไปแล้ว เราจะไม่มีการปฏิรูปสักที

อีกอันจากข้อมูลประชากรศาสตร์ คือจำนวนนักเรียนจะลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ทรัพยากรที่เราใส่ไปในการศึกษาเยอะที่สุดในบรรดางบทั้งหมด คำถามคือแปลว่าอะไร เปรียบเทียบกับต่างประเทศ งบของรัฐที่ใส่ไปในการศึกษาของไทย 5-6% ของจีดีพี ซึ่งเกือบจะใหญ่ที่สุดในโลก เทียบกับคุณภาพที่ออกมา มันบอกเหมือนกันว่าของที่เราใส่เข้าไปมันเป็นอย่างไร ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษามันมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

“อันที่สองที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพแรงงานที่ใส่ในระบบคือการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน การส่งเสริมให้เกิดการลงทุน เพราะอะไร เพราะว่ามันเหมือนเราทำงานในโรงงาน ถ้าเราทำทุกอย่างด้วยมือหมด คนคนหนึ่งผลิตของได้ไม่นาน ถ้าเราเอาเครื่องจักรใส่เข้าไป ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร การเพิ่มผมผลิตทั้งสองภาค คือทำอย่างไรให้คนเท่าเดิม และเรารู้คนแก่จะมากขึ้น สามารถผลิตสินค้าได้เยอะขึ้น เป็นการเพิ่มผลผลิตและคุณภาพของแรงงาน

อันที่สาม ผมเสริมของอาจารย์สมประวิณ (อ่านใน ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ) คือการส่งเสริมให้เอกชนมีบทบาท มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น เพราะว่าอย่างที่คุยกัน ทุกวันนี้เราทราบแล้วว่า ทำไมไม่มีเหตุผลว่าทำไมต้องนวัตกรรม เราพบว่าเราซื้อได้เพื่อให้ได้ความสามารถในการแข่งขัน เพราะรัฐมีนโยบายที่ส่งเสริมหรือขัดไม่ให้คนมีความสามารถในการแข่งขันได้ อย่างนโยบายปกป้องไม่ให้คนเข้ามาแข่งขัน เพราะฉะนั้น คนทำไมต้องลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมขึ้นมา ซึ่งนวัตกรรมที่ได้มา ก็ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ ซื้อเอาชัวร์กว่า จึงเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันในเมืองไทยหรือการพัฒนาขีดความสามารถในเมืองไทยมีข้อจำกัด เพราะฉะนั้น การลดการผูกขาด ทั้งผูกขาดที่เกิดโดยรัฐ ต้องให้เอกชนมีบทบาทมากขึ้น ส่งเสริมให้มีการแข่งขันอย่างเสรี และส่งเสริมเรื่องการวิจัยและพัฒนาที่เยอะขึ้น

“ตรงนี้ จริงๆ ผมเห็นว่าไม่ใช่รัฐที่ต้องไปวิจัยและพัฒนา เพราะพิสูจน์แล้วว่ารัฐวิจัยและพัฒนามันไม่ได้อะไร อะไรที่อยากให้ทำให้รู้ว่ามันเจ๊งแน่นอนคือให้รัฐทำ เราต้องส่งเสริมเอกชนทำ เพราะสุดท้ายถ้าเขารู้ว่าทำแล้วไปแข่งกับคนอื่นได้ วันนี้ไม่ได้แข่งแต่ในประเทศเท่านั้น เราต้องเปิดไปแข่งข้างนอกด้วย ความจำเป็นที่เราต้องมีศักยภาพในการแข่งขันที่ดีมันมีมากขึ้น”

ภิญโญ: เวลาที่เราสนทนากับนักเศรษฐศาสตร์มักจะมีสูตรสำเร็จในการแก้ปัญหา ต่อให้ทำได้จริง ทำไมปัญหาในประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศที่มีนวัตกรรมสูงๆ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ก็ยังมีปัญหาเศรษฐกิจ มันแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่โลกกำลังเผชิญได้จริงหรือ

พิพัฒน์: ผมว่าปัญหาที่เขาเจอกับที่เราเจอคนละระดับกัน คือเราเป็นเหมือนกับที่หลายๆ คนใช้คำพูดว่าเป็นกับดักรายได้ปานกลาง เหมือนกับที่อาจารย์สมประวิณบอก พูดง่ายๆ เราเก็บผลไม้ที่เป็น low-hanging fruit ไปเกือบหมดแล้ว เราจะกระโดดข้ามไปเก็บที่มันอยู่ข้างบนขึ้นไป ที่มีเยอะกว่า

ภิญโญ: แต่ว่าข้างบนมันก็มีปัญหา

พิพัฒน์: แต่ว่าคุณภาพชีวิตมันคนละระดับไปแล้ว มันอยู่ในสถานะที่ดีแล้ว ปัญหาของเขาคือจะแก้ที่โต 2-3% แต่เขามีคุณภาพชีวิตที่โอเคแล้ว แต่เรามีปัญหาทางสังคมอีกเยอะ ที่ต้องพึ่งพาทรัพยากรมาใช้ และมีปัญหาที่รออยู่มหาศาล แต่วันนี้เรามีเงินไม่พอที่จัดการปัญหาพวกนั้น ผมว่าระดับของปัญหามันคนละระดับ

ดูเอกสารเพิ่มเติม sickman of asia

อ่านต่อ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ป้ายคำ :