ThaiPublica > Events > ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?”กอบศักดิ์ ภูตระกูล” แนะ รัฐ-เอกชนร่วมมือสร้าง “ทีมไทยแลนด์” พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนอย่างแท้จริง

ThaiPublica Forum เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?”กอบศักดิ์ ภูตระกูล” แนะ รัฐ-เอกชนร่วมมือสร้าง “ทีมไทยแลนด์” พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนอย่างแท้จริง

6 ธันวาคม 2013


เสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?วิทยากร ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)และดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ณ KTC Pop เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556

เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7  หัวข้อ "เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?" เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP
เสวนาThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 ณ KTC POP

เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2556 สำนักข่าวไทยพับลิก้าจัดเสวนา ThaiPublica Forum ครั้งที่ 7 หัวข้อ “เศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน..?” เนื่องด้วยประเทศไทยมีอาการถดถอยอย่างมีนัยสำคัญในด้านต่างๆ ดังรายงานของ World Economic Forum ปี 2556 รวมทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่มีอัตราการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพ สำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงเห็นว่าประเด็นการเติบโตอย่างยั่งยืนน่าจะเป็นเรื่องที่ควรหยิบยกมาเป็นหัวข้อเสวนาครั้งนี้ เพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงของประเทศอย่างรอบด้าน และมองแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากขึ้น

โดยวิทยากรที่เข้าร่วมในการเสวนาดังกล่าว ได้แก่ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI), ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน),ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.),ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ Chief Economist และ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), ดร.ธานี ชัยวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ดร.ภาวิน ศิริประภานุกูล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

โดยดร.กอบศักดิ์ได้นำเสนอต่อจากดร.ธานีรายละเอียดการเสวนามีดังนี้

ดร.กอบศักดิ์ : ประเด็นที่คุยกันวันนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจไทยกับอนาคตการเติบโตที่ยั่งยืน ผมอยากชวนคุยว่า เราจะเดินอย่างไรเพื่อให้สู่เป้าหมายที่เราปรารถนาในอนาคตที่บอกว่ายั่งยืน ซึ่งผมจะพูดทั้งหมด 3 ประเด็นที่สำคัญ

ประเด็นแรก “เป้าหมาย” ที่เราปรารถนาคืออะไร ที่บอกว่ายั่งยืน อยากขยายความให้ชัดขึ้นว่าคืออะไร เราจะได้เข้าใจตรงกันว่าจะยืนอยู่ที่จุดไหน ประเด็นที่สอง “ข้อเสนอ” ที่เราได้มาพอเพียงหรือไม่ที่จะนำเราไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ และข้อสุดท้ายคือ “สิ่งที่เราต้องทำเพิ่มเติม” เพื่อไปสู่เป้าหมายคืออะไร

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

การพัฒนาที่ยั่งยืนมี 3 ระดับ

ประเด็นแรก “ยั่งยืนคืออะไร” มีความแตกต่างในความยั่งยืนหรือไม่ อนาคตยั่งยืนคืออะไร มีความแตกต่างในความยั่งยืนหรือไม่ อนาคตของการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนที่ไทยพับลิก้าตั้งโจทย์มีหลายระดับ

ระดับแรก คือเศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลายประเทศก็ทำได้ อย่างเมืองไทยก็โตต่อเนื่องเป็นเวลาหลายสิบปี ในปัจจุบันก็มีหลายประเทศ เช่น จีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย แล้วอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง หลายคนบอกให้เราโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืนก็คือโตไปเรื่อยๆ แล้วก็มีความสามารถในการขยายตัวอันนำมาซึ่งรายได้ของทุกๆ คน

ระดับที่สอง คือเราสามารถที่จะโตแล้วก็ก้าวออกจากสิ่งที่เราอยู่ในปัจจุบัน คือออกจากการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง ก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แล้วก็ยืนอยู่ได้อย่างยั่งยืน คำว่า “ยั่งยืน” ในข้อนี้ไม่ใช่แค่โตเฉยๆ แต่สามารถก้าวข้ามขั้นแล้วไปสู่การรุดหน้าทางเศรษฐกิจ มีความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจจนนับว่าเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

เราก็เห็นตัวอย่างประเทศที่ทำได้ในช่วงที่ผ่านมา เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง สิงคโปร์ ก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ญี่ปุ่นก็ทำได้เช่นเดียวกันในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา แล้วก็มีตัวอย่างของบางประเทศที่อยู่ตรงนั้นแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เหล่านี้คือประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังยืนอยู่ในจุดนั้นได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน

ระดับสุดท้าย คือการประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างแท้จริง “อย่างแท้จริง” เป็นการประสบความสำเร็จที่แม้กระทั่งสหรัฐฯ หรือยุโรปเอง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ในปัจจุบันไม่สามารถทำได้ แต่ที่ต้องพูดเพื่อให้เราเห็นภาพกันว่าจุดเป้าหมายมันคืออะไรบ้าง

จุดที่บอกว่าอเมริกาทำไม่ได้คืออะไร คือ เขารวยแล้ว เขามีตึกสูงๆ แล้ว เขามีรถหรูหราแล้ว แต่ว่าเขายังมีปัญหาอีกเยอะมาก ซึ่งพอไปดูใกล้ๆ ก็มีแต่คนบอกว่า “ฉันไม่อยากเป็นอย่างนั้น” เช่น ไปที่นิวยอร์ก ลองขับรถรอบๆ เมืองจะเห็น ถามว่าอยากให้กรุงเทพฯ เป็นเหมือนนิวยอร์กไหมครับ คำตอบคือไม่ เห็นแต่ละอย่างมีแต่สิ่งที่น่าทุกข์ใจ คือคนรวยก็รวยล้นฟ้า คนจนก็จนสุดโต่ง นอนอยู่ข้างถนนไม่มีใครเหลียวแล นี่คือเรื่องของปัญหาความเหลื่อมล้ำ

“เพราะฉะนั้น โตอย่างยั่งยืนเพื่ออนาคตมีหลายระดับ แม้กระทั่งว่ารวยแล้วก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะเป็นก็ได้ เราอยากประสบความสำเร็จในการพัฒนาอย่างแท้จริง นี่คือเป็นสิ่งที่เราอยากจะไปถึง”

แม้กระทั่งอเมริกา ในปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอย่างอื่นอีกเยอะเลย เช่น ปัญหาสวัสดิการสังคม (social security) ของเขาเป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ สวัสดิการสร้างขึ้นมาแล้วแต่ไม่ยั่งยืน นี่คือสิ่งที่ผมต้องการบอกว่ามันมีอยู่หลายระดับของความยั่งยืน เราจะได้ตั้งเป้าหมายถูกว่าจะเดินไปทางไหน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

การพัฒนาของไทยอยู่แค่ “ระดับแรก”

ประเด็นที่สอง ข้อเสนอที่ทุกคนพูดในวันนี้ หรือที่นักเศรษฐศาสตร์ทีดีอาร์ไอมีข้อเสนอหลายๆ อย่างเพื่อให้เราสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ แต่มีคำถามที่สำคัญอยู่ในใจคือ “มันพอเพียงแล้วหรือยัง” ถ้าจะเปรียบเทียบการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ระดับอย่างที่ผมบอกเป็นเหมือนการเตรียมตัวของนักกีฬา ระดับแรกคือ ไปซีเกมส์ ระดับที่สองคือไปเอเชียนเกมส์ สุดท้ายคือไปโอลิมปิก

ทั้งสามระดับมีความแตกต่างกันเรื่องการเตรียมตัว ถ้าอยากชนะในแถบบ้านเราก็ง่ายๆ คือ ถ้าเป็นนักมวยก็ต่อยซ้าย ต่อยขวา แล้วก็ทำตัวให้อึดๆ เข้าหน่อย ชกๆ ไปเดี๋ยวก็ชนะได้ แต่ถ้าอยากจะชนะเอเชียนเกมส์เริ่มไม่ง่ายแล้ว ต้องเพิ่มความตั้งใจ ฝึกฝน เต้นฟุตเวิร์กให้ดี ซ้อมให้ดี แต่ถ้าอยากชนะโอลิมปิก ยิ่งยากเข้าไปอีก เราต้องเตรียมการยิ่งกว่านั้น เพราะแต่ละคนที่มาเก่งๆ ของโลกทั้งนั้น

การพัฒนาไปสู่ 3 ระดับที่บอกนั้นมีขั้นตอนที่แตกต่างกัน ความพร้อมที่เราต้องการเพื่อประสบความสำเร็จก็จะครอบคลุมมากขึ้น ที่อาจารย์เอกนิติพูดเรื่องของการคลัง ที่อาจารย์สุทธาภา พูดเรื่องของแรงงาน รวมไปถึงเรื่องการศึกษาที่เกี่ยวเนื่องกัน ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราไปสู่ “ระดับแรก” ได้ ก็คือนำไปสู่การเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะถ้าประเทศมีเสถียรภาพ คนงานดี ประเทศเราก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถามว่าสองอันนี้เพียงพอหรือเปล่าที่จะนำไปสู่เป้าหมายอันที่สอง คือการหลุดพ้นจากบ่วงประเทศกำลังพัฒนา หรือประเทศระดับกลาง แล้วก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ผมบอกเลยว่า “สองอย่างนี้ยังไม่เพียงพอ” ต้องทำอย่างอื่นอีก คือที่อาจารย์ธานีบอกเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของคอร์รัปชัน เรื่องของความเชื่อใจกัน การร่วมมือกัน การกระจายอำนาจ และโครงสร้างต่างๆ

“ถ้าจะพูด ความจริงเศรษฐศาสตร์สถาบันพูดได้เยอะกว่านี้ ตั้งใจจะฟังจากอาจารย์ธานีเยอะกว่านี้ เพราะมีอีกมากมาย อาทิ โครงสร้างกฎหมาย สารพัดอย่าง นี่คือหัวใจสำคัญที่จะสนับสนุนให้เราก้าวไปสู่ที่จุดนั้นได้”

ถ้าอยากจะรวย อยากพัฒนาแล้วเหมือนคนอื่น “ไร้สาระ” ที่จะพูดว่าเราอยากจะเป็น เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนกฎหมายปัจจุบันที่เรามีอยู่ ก็ยากที่จะไปถึงจุดนั้นได้ เหมือนกับบอกว่า ผมจะเป็นมหาเศรษฐี แต่ทุกวันก็ทำเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่เปลี่ยนแปลง มีเท่าไรก็ใช้หมด แล้วจะเอาที่ไหนมาเก็บออม

เพราะฉะนั้น “หัวใจ” คือ ถ้าเราอยากจะไปถึงจุดนั้นเราก็ต้องเปลี่ยน แล้วโครงสร้างสถาบันที่อาจารย์ธานีพูดก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอที่จะทำให้ประเทศไทยไปถึงจุดนั้นได้

ของอาจารย์สมชัยก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอ ถ้าเราต้องการมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง คือไม่ใช่รวยเฉยๆ แต่รวยอย่างถ้วนหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี เราก็ต้องคิดโจทย์เรื่องของความเหลื่อมล้ำ เรื่องของสวัสดิการสังคม เรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราต้องทำเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จระดับที่สาม

ณ จุดนี้ผมคิดว่า เราต้องมานั่งถามว่าที่เราพูดมาหรือที่ได้ยินมามันพอหรือไม่ที่จะนำเราไปถึงจุดนั้น หรือ “หลุดพ้น” ได้หรือไม่

นักเศรษฐศาสตร์เก่งในเรื่องของความทุกข์ ความทุกข์เต็มไปหมด ศาสนาพุทธก็บอกแล้วว่าต้องนำไปสู่ความหลุดพ้น หลุดพ้นจากการเป็นประเทศที่ยากจนอย่างเรา หรือประเทศที่มีระดับรายได้ปานกลางอย่างเรา คำถามคือ ข้อเสนอต่างๆ จะนำไปสู่จุดนั้นได้หรือเปล่า แต่สิ่งที่เราได้ยินคือความทุกข์ เรามีปัญหานั้นปัญหานี้ และเราก็ได้ยินว่ามี “ไอ้ปื๊ด” ซึ่งคือต้นเหตุของความทุกข์ที่ทำให้เราอยู่ในจุดๆ นี้ พยายามโทษว่าไอ้ปื๊ดอยู่ไหน อยากจะรู้ว่าใครมันคือไอ้ปื๊ด เพื่อว่าจริงๆ เราไม่ได้อยากทำอะไรกับไอ้ปื๊ด แค่อยากจะบอกว่า “ไอ้ปื๊ดไม่ใช่เรา”

“เรื่องของความทุกข์ที่เต็มไปหมด เรื่องไอ้ปื๊ดอยู่ไหน เรื่องเป้าหมายที่บอกว่าสิ่งที่เราอยากจะสำเร็จคืออะไร เพราะทุกคนก็อยากจะขายฝันว่าเราจะเป็นประเทศที่รวยอย่างคนอื่นเขา เหล่านี้เป็นเรื่องที่เราก็พูดกันเยอะ โจทย์คำว่ายั่งยืนก็พูดกันบ่อยมาก ผมมั่นใจว่ามีสัมมนาอย่างนี้เยอะมาก แต่สิ่งที่สำคัญคือว่า แล้วเราจะไปสู่เป้าหมายนั้นได้อย่างไร ที่พูดกันในวันนี้มันพอหรือไม่ที่จะนำตัวเองไปสู่ความหลุดพ้น ผมว่านี่คือสิ่งที่เราต้องตั้งคำถาม”

เวลาไปงานสัมมนา ผมจะถามตัวเองเสมอว่าผมได้ยินมากพอหรือเปล่าที่จะเอาประเทศไทยออกจากวังวนเรื่องทุกข์ เพราะว่าเรื่องทุกข์เราก็รู้ ข้อมูลเราก็รู้ ปัญหาอยู่ตรงไหนเราก็พูดกันเยอะ ทางที่เราอยากไปไหนเราก็รู้ แต่ที่เราอยากจะรู้จริงๆ ก็คือว่า เราจะเอา “หัวมารวมกัน” แล้วนำไปสู่คำตอบที่นำไปสู่ความหลุดพ้นจากที่เราเป็นอยู่ได้หรือเปล่า

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(ซ้าย) ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (กลาง) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ(ขวา)
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล(ซ้าย) ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ (กลาง) ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ(ขวา)

ปรับรากฐาน สร้าง “ทีมไทยแลนด์” พัฒนาเศรษฐกิจยั่งยืนแท้จริง

และทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่ ประเด็นที่สาม คำถามที่อยากจะถามกันเองว่า “เรายังขาดอะไร จะเดินอย่างไรเพื่อให้บรรลุถึงจุดนั้น” ในจุดนี้เราต้องกลับมานั่งคิดโดยอยากจะเปรียบเทียบเพื่อให้เห็นภาพ คือ

ถ้าอยากให้ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 3 ระดับที่เราพูดกันไป โดยเฉพาะระดับที่สองและสามต่อไป ก็เหมือนกับการสร้างตึก คือ ในปัจจุบันเราอยู่อาคารสูง 10 ชั้น แต่ถ้าเราอยากจะสร้างบ้าน หรือสร้างตึก 60 ชั้น บอกเลยว่าเป็นคนละเรื่องกัน คือเราไม่สามารถก่อขึ้นไปเรื่อยๆ จาก 10 ชั้น เป็น 60 ชั้นได้ เพราะเราต้องกลับไปที่ “รากฐาน” แล้วก็สร้างมันขึ้นมาใหม่ นี่คือ “หัวใจ”

ถ้าเราอยากจะสำเร็จจริงๆ ไม่ใช่แค่ต่อยอดของปัจจุบัน แต่เราต้องกลับลงไปข้างล่าง ไปสร้างฐานใหม่ หลังจากนั้นค่อยรวบรวมสร้างขึ้นไปพร้อมกัน นี่คือหัวใจที่อาจารย์ธานีบอก คือเรื่องของเศรษฐศาสตร์สถาบัน เป็นการสร้างสถาบันที่อยู่ล่างๆ ให้แน่นหนาเพื่อที่จะรองรับตึก 60 ชั้นได้ ไม่อย่างนั้นขอบอกเลยว่าคือเป็น “ความฝัน” เท่านั้น

“เหมือนอยู่บ้าน 10 ชั้น แล้วบอกอยากเพิ่มเป็น 60 ชั้น แต่ไม่อยากจะเปลี่ยนเลยแม้แต่อย่างเดียว พูดเท่าไรก็ไม่มีทางสร้างได้ สร้างชั้น 20 ตึกก็ถล่มลงมาใส่แล้ว เพราะฐานรากมันรับไม่ไหว ซึ่งในจุดนี้ ผมคิดว่ามันเป็นหัวใจสำคัญที่เราต้องกลับมาคิดเรื่องปรับพื้นฐาน (redesign foundation) ครั้งสำคัญ ต้องคิดใหญ่ๆ ว่าเราจะปรับพื้นฐานของเศรษฐกิจอย่างไรเพื่อเราจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ ซึ่งมีหลายเรื่อง เช่น เรื่องกฎหมายที่เราต้องยกเครื่องใหม่หมดเลย ประเทศไทยจะก้าวไปได้อย่างไรถ้ากฎหมายยังล้าหลังอยู่ 50 ปี ทุกฉบับที่ใช้มันเก่ามาก แล้วก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ทำอะไรกันอยู่ก็ไม่รู้ ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวลใจ

ระบบการเงินหรือตลาดทุนที่เราต้องพัฒนาต่อไป ตอนนี้ก็ถือว่าดีขึ้นมาก แต่ก็ต้องทำอีกเยอะเพื่อให้เข้มแข็งและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยได้ โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็เป็นเรื่องสำคัญ พูดกันไปแล้วว่าต้องทำ เช่น รถไฟหรือการเชื่อมโยงกับนานาชาติ เรื่องของคอร์รัปชันที่ต้องแก้ให้ได้ เพราะถ้าแก้ไม่ได้อย่างที่อาจารย์ธานีบอกก็ไม่มีทาง เพราะเป็นต้นทุนที่สูงถ้าเราจะก้าวขึ้นไป ก็จะเป็นตัวบ่อนเซาะรากฐานทำให้ไม่แข็งแรงพอ ก็จะขึ้นชั้นที่ 30 ไม่ได้ ก็ป่วยการที่พูดถึงชั้น60

“สุดท้าย การเมืองต้องเปลี่ยน การเมืองอย่างนี้ไม่ต้องฝันอะไรแล้ว เพราะการเมืองที่นิ่งไม่พอก็เป็นรากฐานที่ไม่ดีพอสำหรับสิ่งที่เราอยากจะไปในการพัฒนา”

ผมคิดว่านี่เป็นสิ่งที่เป็นปัญหา ที่เราต้องกลับมานั่งคิดเรื่องของรูปแบบกันใหม่ ว่าเราจะเดินไปข้างหน้าอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้ผมคิดว่าเรามีอีกเรื่องที่สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องการสร้างฐานราก คือ เครื่องจักร เราจะสร้างเครื่องจักร หรือ “ทีม” ที่จะนำเราขึ้นไปสู่ชั้น 60 ได้อย่างไร

องค์ประกอบ 3 ด้านที่นำไปสู่การพัฒนาที่แท้จริง

เพราะว่าถ้าเราสร้างฐานรากอย่างเดียว แต่ไม่มีทีมที่จะนำเราขึ้นไป เราก็เป็นแค่ตึกที่มีฐานสวย เป็นแบบพีระมิดฐานแน่นหนามากแต่ว่าไม่มีใครพาเราไปข้างบน ซึ่งในจุดนี้ผมอยากจะเรียกว่านี่คือ “push engine of the future” หรืออนาคตของเราที่จะเอาเครื่องจักรนี้นำไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น การพัฒนาที่ยั่งยืนขึ้น นำพาเราไปสู่ดวงดาวที่คาดหวังไว้ ซึ่งในจุดนี้จะนำไปสู่องค์ประกอบสำคัญทั้ง 3 ด้าน ด้านที่หนึ่ง ภาคเอกชนที่ต้องขับเคลื่อน ด้านที่สอง ภาครัฐที่ต้องสนับสนุน และด้านที่สาม ตัวเราเอง

ด้านแรก “เอกชนต้องขับเคลื่อน” สิ่งที่ทุกคนไม่ค่อยเฉลียวใจเกี่ยวกับภาคเอกชนไทยในปัจจุบันคือ เอกชนไทยเก่งมาก แต่ก่อนผมอยู่ธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) วันนี้ขอออกมาดูโลกในภาคเอกชน อยู่เอกชนทำให้เห็นว่าเอกชนเป็นอย่างไร ทำให้มีความหวังขึ้นมาว่า เอกชนไทยดีมากๆ ถึงระดับหนึ่ง เพราะขณะนี้เรามีบริษัทอันดับ 1 หรือ 2 ของโลกจำนวนมากที่เราไม่เคยเฉลียวใจ

เชื่อหรือไม่ว่าเมืองไทยแทบไม่มีทูน่าเหลือในทะเลไทย แต่เราผลิตทูน่าเป็นอันดับหนึ่งของโลก ก็คือบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น (TUF) เราเป็นประเทศที่มีบริษัทผลิตขวดน้ำพลาสติกอันดับ 2 ของโลก คือบริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มีบริษัทที่อยู่ใน fortune 100 คือบริษัท ปตท. (PTT) มีบริษัทที่ผลิตอาหารเก่งที่สุดในโลก ผมมั่นใจว่าเป็นอันดับต้นๆ คือเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ผลิตไก่ได้ดีมาก เรามีบริษัทที่ผลิตน้ำตาลเป็นอันดับ 2 ของโลกคือมิตรผล เรามีห้างสรรพสินค้าที่ก้าวไปสู่ global department store นั่นก็คือเครือเซ็นทรัล ตอนนี้เซ็นทรัลซื้อ 4 สาขาในอิตาลี ขณะเดียวกัน ปูนใหญ่ (SCG) ก็เก่งมาก ได้รับรางวัลชั้นหนึ่งของโลกเช่นเดียวกัน

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล

ถ้ามาดูอุตสาหกรรมอื่นๆ ของไทย ไม่ต้องดูรายบริษัท เราก็เป็นที่ 1 ของโลกหลายเรื่อง เช่น ด้านท่องเที่ยว เราไม่เป็นสองรองใคร เรื่องของอาหารเราก็ดีมาก เรื่องของรถปิ๊กอัพก็เป็นเบอร์หนึ่งของโลก เรื่องของสื่อโฆษณาเราก็ใช้ได้ ได้รับรางวัลอันดับหนึ่งของโลก หรือด้านสถาปัตย์ก็เก่งมาก เรื่องของภาพยนตร์เราก็ได้รับรางวัลมาเรื่อยๆ แม้กระทั่งละครเรื่องลำยองก็เด็ดขาดมากช่วงหลังๆ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

จะเห็นว่าปัจจุบันเอกชนไทยก้าวไปไกลถึงระดับหนึ่งแล้ว และเราก็มีความเข้มแข็งอยู่ในภาคเหล่านี้อย่างยิ่ง ซึ่งบริษัทเหล่านี้กำลังก้าวไปสู่ขั้นที่ 3 คือก้าวผ่านการผลิตเพื่อการทดแทน ผลิตเพื่อส่งออก ตอนนี้กำลังก้าวสู่การเป็นบริษัทระดับโลก (global company) และเกิดขึ้นอย่างหลากหลายมาก

อีกเรื่องที่คนไม่ทันคิด คนชอบพูดกันว่าคนไทยสร้างนวัตกรรมไม่ได้ ไปสัมมนาไหนๆ ก็ได้ยินครับว่าเมืองไทย R&D (Research & Development ) ต่ำมาก แต่ถามจริงว่าถ้า R&D ต่ำมากๆ แล้วบริษัทเหล่านี้จะเป็นเบอร์หนึ่งของโลกได้อย่างไร ถ้าไม่มีนวัตกรรมหรือความสามารถ คำตอบคือเขามีจริง แต่เราไปคำนวณไม่ถูก เราหาจุดนั้นไม่เจอ

ผมเคยไปเยี่ยมชมบริษัทซีพีที่ปักกิ่ง เขาเลี้ยงไก่ได้ถึงคนละ 1.5 -1.6 แสนตัว เขาเข้าใจไก่อย่างลึกซึ้งทำให้ผลผลิตเยอะถึงขนาดนี้ได้ ทั้งหมดไม่ได้มาเพราะโชคดีแต่มาจากนวัตกรรม ทั้งที่เขาไปซื้อมาหรือขวนขวายหาเองบ้าง และทุกบริษัทที่กล่าวมานั้นมีนวัตกรรมชั้นหนึ่งของโลกทั้งนั้น ไม่อย่างนั้นเขาคงยืนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ แต่หัวใจของเราคือทำอย่างไรจะทำให้บริษัทเหล่านี้ทำได้มากขึ้น และมีบริษัทเหล่านี้มากขึ้น บริษัทเหล่านี้กำลังโชคดีเพราะเออีซีที่กำลังจะเปิดกว้าง เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เขามีความนำสมัยเรื่องนวัตกรรมมากถึง 15-20 ปี

ผมไปประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ใช่แค่ซีพีและ ปตท. เท่านั้น แม้แต่นิติพลคลินิก กับวุฒิศักดิ์คลินิก ก็ออกไปตั้งสาขาหมดแล้ว เพราะเรามีนวัตกรรมนำหน้าประเทศเหล่านี้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น ก็เป็นโอกาสที่เราจะก้าวไปฉกฉวยโอกาสเหล่านี้ เราก็จะขับเคลื่อนไปได้ คือ เราต้องทำให้เอกชนเป็นตัวขับเคลื่อนให้เราไปสู่ชั้น 60 ผมว่านั่นคือหัวใจ

ด้านที่สอง “บทบาทของภาครัฐ” เราชอบไปโทษเขาว่า ทำไมรัฐบาลไม่ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ขอบอกว่าเราพลาดไป เราพลาดเพราะไปคิดว่ารัฐบาลต้องทำทุกอย่าง ความจริงคำตอบไม่ได้อยู่ที่รัฐบาล เพราะทุกวันนี้เก็บเงินก็ได้น้อย แถมยังมีภาระเยอะอีกต่างหาก ไหนจะโครงการประชานิยมกินเงินไปเยอะมาก ดังนั้น เขาไม่มีความสามารถที่จะขับเคลื่อนสิ่งต่างๆ ได้ แค่อยากทำโครงการ 2 ล้านล้านก็ถือว่าหรูเต็มที่แล้ว คือกระเบียดกระเสียรแล้ว ต้องทำในรอบ 7 ปี

“บางประเทศผมเคยได้ยิน อย่างจีน ทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานปีเดียวเท่ากับ 7 ปีของไทย นี่คือเมืองเดียวของจีนเท่านั้น แต่เมืองไทยต้องค่อยๆ ทำไป 7 ปี เพราะเราไม่ค่อยมีเงิน”

เพราะฉะนั้น อย่าไปคาดหวังว่ารัฐบาลจะเป็น “พระเอก” ไม่เช่นนั้นเราก็จะโทษเขาว่าเป็น “ไอ้ปื๊ด” อยู่เสมอ ว่าทำไมไอ้ปื๊ดไม่ทำงาน เพราะบทบาทของรัฐไม่ใช่พระเอก แต่ต้องเป็นผู้ “สนับสนุน” ที่จะปลดปล่อยให้เอกชนวิ่งไปถึงเส้นชัยได้ นี่คือ “Team Thailand” ที่เราพูดกัน คือเอกชนไปข้างหน้าเพราะว่าเขาเก่ง เขามีความสามารถ และรัฐบาลต้องเล่นบทผู้สนับสนุนที่ถูกต้อง แล้วอย่าไปคาดหวังอย่าไปคาดคั้นว่าเขาต้องทำเพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เพราะรัฐบาลไม่มีทางทำได้

ไม่มีประเทศไหนในโลกที่รัฐบาลเป็นคนทำให้ประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะอย่างมากรัฐบาลมีส่วนแค่ร้อยละ 20

บทบาทของภาครัฐที่เราอยากได้คืออะไร บทบาทแรก ต้องการแผนที่ชัดเจนว่าเราจะขายอะไร หรือจะเป็นอะไร เพราะเอกชนคิดเรื่องนี้ไม่ได้ มีแค่หน้าที่ทำมาหากินไป แต่รัฐบาลเป็นคนที่ต้องวางแผนว่าทุกคนจะเดินไปพร้อมๆ กันอย่างไร เช่น เราอยากเป็นศูนย์กลางของอินโดจีน ทำการเชื่อมโยงต่างๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตทุกอย่าง ต้องพูดให้ชัด หรืออยากให้เมืองไทยเป็นประตูของจีนตะวันตกออกสู่โลกเหมือนกับที่ฮ่องกงเป็นประตูของจีนตะวันออกสู่โลก แล้วเขาเจริญรุ่งเรื่องมาได้ ก็ต้องพูดให้ชัดและทำให้ชัด และโครงข่ายต่างๆ ก็ทำให้ชัดขึ้นมา

วันนี้ ถ้าถามรัฐบาลว่าเมืองไทยจะเป็นอะไร ผมไม่แน่ใจว่าเขาจะตอบได้ เพราะเขาก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเมืองไทยจะเป็นอะไร ทางที่ดีเราต้องเล่นเกมล่ารางวัล คือ เรามีเรียบร้อยแล้วว่าเราเป็นที่หนึ่งอะไรบ้าง แล้วหลังจากนั้นเราก็บอกว่าเราจะเป็นอะไร เช่น ศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพ (medical hub) รัฐบาลก็ต้องทำนโยบายต่างๆ ให้เป็นศูนย์กลางบริการด้านสุขภาพให้ได้ หรือเราอยากจะเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงของเอเชีย หรือระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ก็ต้องทำเต็มที่ให้เกิดขึ้น แล้วก็มุ่งไปสู่เป้าหมายต่อไป

“นี่คือสิ่งที่รัฐบาลทำได้ แล้วก็เป็นบทบาทที่เราควรจะเรียกร้องจากเขา”

บทบาทที่สอง รัฐบาลต้องช่วยพัฒนาผู้เล่นของเราให้มากขึ้นไปอีก เอกชนเก่งจริงแต่ยังต้องช่วยพัฒนาอีกเยอะ เพราะเก่งเป็นกลุ่มๆ เท่านั้น แต่ยังมีอีกเยอะที่สามารถก้าวสู่ตรงนั้นได้ ซึ่งจุดนี้ต้องช่วยเรื่องนวัตกรรม ถ้าของบางบริษัททำดีแล้ว รัฐบาลต้องช่วยด้วย

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล
ผมเคยเห็นตัวอย่างกรณีเยอรมัน เขาบอกว่าเพื่อให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ รัฐบาล-เอกชน-มหาวิทยาลัย ร่วมกันก่อตั้งสถาบันที่เรียกว่า Fraunhofer สถาบันนี้สร้างนวัตกรรม MP3 ขึ้นในโลก โดยเขาจ่ายเงินคนละ 1 ใน 3 แล้วสิ่งที่สถาบันนี้ทำไม่ได้ทำวิจัยขึ้นหิ้ง แต่ทำวิจัยเพื่อสร้างผลิตผลใหม่เพื่อให้เยอรมันนำไปขายในโลกได้

นี่คือสิ่งที่ต้องเปลี่ยนวิธีการคิด ว่าเอกชนเริ่มนวัตกรรมบางส่วนไปดีแล้ว รัฐบาลจะมาช่วยเสริมโครงการนวัตกรรมต่างๆ เหล่านั้นให้ดีอย่างไร แล้วงบ R&D ที่บอกให้รัฐบาลใช้จ่ายมากขึ้นก็จะมาช่วยส่วนนี้ โดยเราต้องปลดปล่อยมหาวิทยาลัยของรัฐ จากการที่เป็นการวิจัยเพื่อเป็นรองศาสตราจารย์หรือเป็นศาสตราจารย์ นำไปสู่การวิจัยที่ทำให้เราเข้มแข็งและแข่งขันได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าส่งเสริมอย่างยิ่ง

แม้กระทั่ง SMEs เราก็ต้องพัฒนา วันนี้ธนาคารก็ทำ แต่รัฐบาลก็ต้องช่วยทำ อย่างเกาหลี ญี่ปุ่น มีโครงการชัดเจนเรื่องของ SMEs Guarantee Agreement ซึ่งรัฐเก็บภาษีมาแต่ไปช่วยค้ำประกันให้ SMEs กู้ยืมได้เพื่อสร้างผู้เล่นรายต่อไป จะได้มีสตีฟ จอบส์ อีกคนหนึ่งในเมืองไทยขึ้นมา

“ผมคิดว่าเรื่องนี้สำคัญ ผมมั่นใจว่าทำเรื่องนี้ดีกว่าไปทำ SMEs bank ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลทำได้เช่นกัน”

หลังจากนั้น เมื่อสร้างผู้เล่นเสร็จแล้ว รัฐบาลควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เอกชนไปได้ ไม่ว่าจะเรื่องกฎหมาย เรื่องวินัยการเงินการคลัง หรือโครงสร้างพื้นฐาน กฎเกณฑ์ต่างๆ ขณะเดียวกัน การเอื้อให้เอกชนไปสู่นอกประเทศไทยมากขึ้น เพราะเอกชนกำลังก้าวไปเป็นหัวหาด แล้ววันหนึ่งเอกชนเหล่านี้จะนำประเทศไทยไปสู่ชั้น 60 ทำไมเราจะไม่เอื้อให้เขายึดให้ดีขึ้น แล้วเราก้าวสู่ชั้น 60 ให้ดีขึ้น

หลังจากนั้นรัฐบาลต้องทำอีกอย่างหนึ่ง คือ สิ่งที่เป็นความล้มเหลวของตลาดที่เอกชนช่วยไม่ได้ นั่นคือ การสร้างสังคมที่อยู่ดีกินดีและทั่วถึงอย่างที่อาจารย์สมชัยพูดไป ก็คือระบบสวัสดิการที่พอประมาณของประเทศไทย และระบบที่มีความอยู่ดีกินดีที่ทำอย่างไรเราจะพัฒนาชนบทขึ้นมาให้ได้ วันนี้อย่าไปคาดหวังกับเอกชนมาก เพราะเขาต้องทำมาหากินไป หาภาษีให้รัฐบาล จากนั้นกระทรวงการคลังก็จะไปเก็บภาษี แล้วนำไปสู่การทำโครงการสวัสดิการดีๆ ให้กับประชาชน และไม่นำไปใช้อีลุ่ยฉุยแฉกในโครงการประชานิยม นี่คือทีมไทยแลนด์ที่เราต้องพูดถึง

ที่สำคัญ เราต้องคิดว่ารัฐบาลจะเอาเอกชนมาใช้ได้อย่างไร อย่างที่บอกว่าเงินทั้งหมดอยู่ที่เอกชน รัฐบาลเป็นแค่ร้อยละ 20 ของจีดีพี ขณะที่เอกชนมีเงินร้อยละ 80 ของจีดีพี ถ้ากู้มาได้ก็มีมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้น เงินทั้งหมด อำนาจต่างๆ อยู่ที่นั่น หรือแม้กระทั่งการเงินชุมชนที่อาจารย์ธานีพูด ถ้าให้เอกชนช่วยกันทำในลักษณะ CSR และธนาคารต่างๆ ก็มาช่วยกันทำ ประเทศชาติก็จะเปลี่ยนแปลง แต่ว่าจะเอาเอกชนมาเป็นพาร์ทเนอร์ในการพัฒนาประเทศขึ้นสู่ชั้น 60 อย่างไร ในจุดนี้ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราต้องกลับมานั่งคิด ที่สำคัญคือ เอกชนเหล่านี้ ถ้าเกิดเขามาช่วยกันทำจะเกิดกำลังอย่างยิ่งในเศรษฐกิจไทย และช่วยลดภาระให้รัฐบาล

บทบาทสุดท้าย การดำเนินการของรัฐบาล คำว่า “planning” ขอให้เลิก “plan แล้วนิ่ง” ขอให้ทำจริงสักที เพราะว่าช่วงที่ผ่านมาเก่งแต่เรื่องทำแผน แต่ทำแล้วหยุด แม้แต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 แล้ว รัฐบาลคิดมาแต่ไม่เคยทำธุรกิจ แล้วประเทศชาติจะเจริญได้อย่างไร ที่มาเลเซียเขาเอาเอกชนมาช่วยทำแผน แผนเลยนำไปสู่ความก้าวหน้า

ด้านสุดท้าย สิ่งที่คิดว่าเราต้องเปลี่ยนจริงๆ คือ “ตัวเราเอง” ต้องเชื่อว่าเราทำได้ ถ้าเราคิดว่าเราทำไม่ได้เราจะวนเวียนแค่นี้ และจมกับความทุกข์ที่มีอยู่มากมายที่เราช่วยกันพูด อยู่กับสมุทัย หาไอ้ปื๊ดอยู่นั่นแหละ แต่เราไม่นำไปสู่ความหลุดพ้น เราต้องเชื่อว่าเราทำได้

ผมมั่นใจกับประเทศไทยว่า ประเทศไทยเรามีดีเยอะมาก เรามีทุกอย่าง มีศักยภาพ ขอให้เราช่วยกัน สื่อก็ช่วยได้ ชี้ไปทิศทางที่ถูก เชื่อว่ารัฐบาลก็ต้องไปทำทางนั้น และถ้าเราช่วยกัน ผมมั่นใจว่าเราจะทำได้อย่างดียิ่ง

แต่ที่น่าเสียใจที่สุดถ้าเราไม่ทำคือ เราเกิดมาอยู่บ้านเดียวกัน เรามัวแต่ตบตีกันอยู่ มัวแต่ทำโน่นนี่อยู่ พอสุดท้ายเพื่อนข้างบ้านชื่อมาเลย์เขาไปก่อนหน้า เพื่อนข้างบ้านชื่อจีนที่เมื่อก่อนล้าหลังเรามาก ตอนนี้เขาเท่าเราแล้ว อีกไม่นานก็จะเกินหน้าเราแล้ว แม้กระทั่งพม่าซึ่งตามหลังเราอยู่ 50 ปี ถ้าเราไม่ระวัง 10–20 ปีข้างหน้าเขาอาจไปก่อนเราก็ได้

เพราะฉะนั้น ผมบอกเลยว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง ถ้าเกิดเราไม่หยิบฉวยโอกาสที่เปิดให้กับเราขนาดนี้ และผมคิดว่าทั้งหมดจะเริ่มได้ ถ้าเราเริ่มจากความรู้สึกว่าเราทุกคนทำได้ แล้วเราจะไปช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่ผมบอก

ป้ายคำ :