ThaiPublica > คอลัมน์ > โควตาการจับปลา…เรื่องนี้มาจากไหน

โควตาการจับปลา…เรื่องนี้มาจากไหน

7 กรกฎาคม 2020


วิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา กรมประมงได้เชิญสมาคมประมงแห่งประเทศไทยให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุม “คณะทำงานศึกษาแนวทางควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ซึ่งตั้งขึ้นโดยอธิบดีกรมประมง จำนวน 18 คน ให้มีอำนาจดังนี้

    1. ศึกษาความเป็นไปได้ในการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำตามปริมาณสัตว์ที่อนุญาตให้ทำการประมง โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านเศรษฐกิจ สังคม รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
    2. พิจารณาแนวทางและขั้นตอนการดำเนินการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำตามปริมาณสัตว์ที่อนุญาตให้ทำการประมง
    3. ฯลฯ

จากจดหมายเชิญประชุม กรมประมงอ้างว่า “เนื่องมาจากที่ “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ได้มีมติให้กรมประมง “พิจารณานำระบบควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำมาใช้แทนการกำหนดวันทำการประมงและให้พิจารณาเกณฑ์การคำนวณปริมาณสัตว์น้ำให้เหมาะสม” เพื่อนำสู่คณะกรรมการฯพิจารณา” ต่อไป

ครั้งแรกที่มีข่าวนี้ ผมแปลกใจเหมือนกันว่าเรื่องการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง มาได้อย่างไร

แต่พอได้อ่านจดหมาย ที่อ้างถึงมติของ “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ที่ให้กรมประมง “พิจารณานำระบบควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำมาใช้แทนการกำหนดวันทำการประมงและให้พิจารณาเกณฑ์การคำนวณปริมาณสัตว์น้ำให้เหมาะสม” แล้วก็ถึงบางอ้อ เพราะมีคนคิดแทนให้นี่เอง

และเมื่อเจาะลึกลงไปใน “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ผมก็ยิ่งแปลกใจ เพราะเมื่อไปดูที่มาของคณะกรรมการชุดนี้ ซึ่งเกิดจากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2563 ที่มีพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน ที่อ้างว่า “เพื่อให้การบริหารจัดการด้านการประมงของประเทศมีประสิทธิภาพ จึงแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจจำนวน 2 คณะ” ได้แก่ (1) คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง และ (2) คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ไขปัญหาการทำประมง นั้น ดูมันจะผิดฝาผิดตัวกับอำนาจหน้าที่

สาเหตุเพราะ “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ชุดนี้ ที่มี พลตำรวจโท จารุวัฒน์ ไวศยะ เป็นประธานกรรมการ นั้น มีอำนาจหน้าที่ “กำหนดแผนการดำเนินการ อำนวยการ การดำเนินการสืบสวนจับกุมและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และแรงงานในภาคประมง กำหนดแนวทาง สั่งการ และตรวจสอบการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการประมง และแรงงานในภาคประมงให้เป็นไปตามกฎหมาย

พร้อมเสนอแนะแนวทางในการปรับปรุงกฎหมายในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้การขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยกระดับสิทธิและสวัสดิการแรงงานในภาคประมงให้มีประสิทธิภาพและเป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศ ฯลฯ” ซึ่งเป็นการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพ สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผมอ่านดูแล้ว ไม่เห็นมีตรงไหนที่เกี่ยวข้องกับการ “จัดการทรัพยากรประมง” เลย

ที่มากกว่านั้นก็คือ “คณะกรรมการเฉพาะกิจ” คณะที่ 2 คือ “คณะกรรมการเฉพาะกิจแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย” ที่มี พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ เป็นประธานกรรมการ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ “เสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานในภาคประมงให้เห็นผลเป็นรูปธรรมและสอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศ สั่งการและกำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบาย ยุทธศาสตร์ และเป้าหมายในการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย และแรงงานในภาคประมง เสนอแนะนโยบายการพัฒนาการประมงในน่านน้ำไทยให้สอดคล้องกับปริมาณของทรัพยากรสัตว์น้ำ และขีดความสามารถมนการทำประมง โดยคำนึงถึงจุดอ้างอิงเป็นสำคัญ เป็นต้น”

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการกำกับดูแลการทำประมง และแรงงานในภาคประมงเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพ ที่ควรจะดูแลเรื่องนี้ (การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง) โดยตรง กลับไม่ใช่เป็นคนสั่งการให้ดำเนินการ

แปลกดีไหมครับ

ถ้าผมเป็นอธิบดีกรมประมง ผมคงต้องถามว่า “เรื่องนี้ (การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง) เป็นอำนาจของ “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” หรือว่าเป็นการ “จัดการการงานนอกสั่ง” ครับ

เมื่อผมเจาะลึกเข้าไปในคำสั่งคณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ ที่ 5/2563 ที่นอกจากจะเห็นว่า “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ชุดนี้ไม่ได้มีอำนาจเกี่ยวกับ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” แล้ว

ผมยังประหลาดใจว่า บุคคลที่เป็นกรรมการตามรายชื่อทั้ง 29 คน “ไม่น่าจะมีใครที่รู้เรื่องการบริหารจัดการประมงเลยสักคน” แต่เหตุไฉนจึงหาญกล้ามาทำเรื่องการควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมงนี้

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

ผมไม่แน่ใจครับว่า “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ชุดนี้ ได้ความคิดมาจาก

1) การรับคำสั่งมาจากสหภาพยุโรป หรือ
2) นั่งเทียน หรือ
3) นั่งฝัน หรือ
4) อะไรกันแน่

คนที่ไม่มีหน้าที่ คนที่ไม่รู้เรื่อง แต่อยากทำครับ

เอาล่ะครับ เมื่ออยากทำ ผมก็อยากจะให้ความรู้เบื้องต้นครับ จะได้เอาไปคุยกันต่อให้ถูกต้อง

ก่อนที่จะไปว่ากันเรื่องโควตาการจับปลา หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ผมขอวิพากษ์เกี่ยวกับ “คณะทำงานศึกษาแนวทางควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ในประเด็นดังต่อไปนี้

คณะทำงานชุดนี้ มีอยู่ 18 รายชื่อ ประกอบด้วยอาจารย์มหาวิทยาลัย 3 คน ผู้แทนสมาคมประมง 4 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการกรมประมงอีก 11 คน

เท่าที่ดูรายชื่อแล้ว เข้าใจว่ามีคนที่น่าจะรู้และเข้าใจเรื่องนี้ดี (ระบบควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำ) ไม่น่าจะเกิน 2-3 คน ทำให้ผมอดสงสัยไม่ได้ว่า “คณะทำงานศึกษาแนวทางควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ชุดนี้จะคุยกันรู้เรื่องหรือไม่ เพราะถ้าไม่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจมาก่อน สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ คนรู้เรื่องอาจจะครอบงำความคิด และสุดท้ายก็จะลากถูลู่ถูกังกันไปตาม “ธง” ที่วางไว้

โชคดีที่บังเอิญคนที่น่าจะรู้เรื่องเป็นอาจารย์ประเภทลิเบอรัล (liberal) และเห็นว่าชาวประมงทะเลเจอปัญหามามากแล้ว ก็น่าจะไว้วางใจได้

ผมไม่รู้ว่าผลการประชุมออกมาอย่างไร เพราะไม่ได้รับเชิญให้ไปประชุมด้วย แต่ดูจากคำสั่ง เขาคงต้องหาคำตอบไปรายงานให้อธิบดีผู้แต่งตั้งทราบ เพื่อจะเอาคำตอบไปบอก “คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบ และติดตามการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการทำประมง และแรงงานในภาคประมง” ที่ไม่มีหน้าที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ (แต่อยากรู้) อีกทอดหนึ่ง

โควตาการจับปลา หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” เป็นเรื่องของ “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” ที่มีหลากหลายวิธี เช่น

    (1) ระบบการควบคุมจำนวน (ใบอนุญาต)
    (2) ระบบการควบคุมเครื่องมือ (ขนาด/ชนิด/ประเภท/จำนวน/ขนาดตาอวน)
    (3) ระบบการควบคุมพื้นที่ (แหล่งประมง)
    (4) ระบบการควบคุมการเข้าถึงแหล่งประมง (วันทำประมง)
    (5) ระบบการควบคุมฤดูกาล (ฤดูการเพาะพันธุ์/วางไข่)
    (6) ระบบการควบคุมการจับสัตว์น้ำบางชนิด (ชนิด/ขนาด)
    (7) ระบบการควบคุมจำนวนสัตว์น้ำที่อนุญาตให้จับ (โควตา)
    (8) ระบบผสมผสาน

แต่ละระบบ ต้องมีเครื่องมือในการจัดการ ซึ่งได้แก่ ข้อมูลทรัพยากร (จำนวน ชนิด แหล่ง (ที่อยู่อาศัย/เพาะพันธ์/เจริญเติบโต) ขนาดของสัตว์น้ำ จำนวนเรือประมง ประเภทของเครื่องมือ และกฎหมาย ฯลฯ)

ในส่วนของประเทศไทย เรามีการใช้ระบบ “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” แบบผสมผสานมาแต่ต้น ตั้งแต่การออกใบอนุญาต การควบคุมเครื่องมือบางชนิด (อวนลาก/อวนรุน/อวนล้อมปลากะตัก/ขนาดตาอวน) การควบคุมพื้นที่ (เขตชายฝั่ง 3 กิโลเมตร) การควบคุมฤดูกาล (ฤดูการเพาะพันธุ์/วางไข่ของปลาทู) ฯลฯ ซึ่งต่อมาภายหลังการได้รับใบเหลืองจากสหภาพยุโรป มีการเพิ่มเติมการเข้าถึงแหล่งประมง (วันทำประมง) เพิ่มเติมขึ้นมา พร้อมทั้งมีการเข้มวงดในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งที่จริงก็น่าจะเพียงพอสำหรับประเทศไทยที่ตั้งอยู่ในเขตร้อนที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำ ที่มีชนิดและขนาดที่แตกต่างกัน และอาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ที่ยากแก่การจัดการสัตว์น้ำเฉพาะชนิด เมื่อเทียบกับทะเลที่อยู่ในเขตหนาวที่มีความแตกต่างของชนิดสัตว์น้ำที่น้อยกว่า มีขนาดใกล้เคียงกัน และอยู่รวมกันเป็นฝูง

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

ทำไมต้องมีโควตา

โควตาการจับปลา หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” เป็นเรื่องของ “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” วิธีหนึ่ง ที่มักใช้ในประเทศที่มีที่ตั้งอยู่ในเขตหนาว (น้ำเย็น) โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตะวันตก (ฝรั่ง) ซึ่งได้แก่ อเมริกา แคนาดา สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยเราจะไม่ได้เห็นประเทศใดในเอเชียและแอฟริกาที่ใช้ “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” ด้วยวิธีการใช้ “โควตาการจับปลา” หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” เลย

นอกจากข้อมูลของสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และอุณหภูมิของน้ำ ที่บ่งบอกถึงประเภทและความหลากหลายของทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีอยู่น้อยชนิดแล้ว มีปัจจัยหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้ประเทศเหล่านั้น ใช้วิธี “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” ด้วยวิธีการใช้ “โควตาการจับปลา” หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” เพราะมีการใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพการผลิตทดแทนในประเทศดังกล่าว จึงต้องมีการควบคุมการจับเพื่อมิให้เกินจำนวนที่กำหนด (MSY) ซึ่งแต่ละประเทศเขามีความพร้อมในเรื่องข้อมูลของสัตว์น้ำเป็นรายชนิด ที่บ่งบอกถึงการใช้ทรัพยากรเกินศักยภาพการผลิตทดแทนที่ชัดเจน การใช้ระบบโควตาจึงเกิดขึ้นเพื่อที่จะ “จำกัดการใช้ทรัพยากรจากสัตว์น้ำชนิดที่มีการจับเกินจนเป็นอันตรายต่อการผลิตทดแทน” นั่นเอง

คำถามคือ ถ้าประเทศไทยจะใช้วิธี “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” ด้วยวิธีการใช้ “โควตาการจับปลา” หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” เรามีข้อมูลพร้อมหรือยัง เรารู้หรือไม่ว่า มีสัตว์น้ำตัวไหนที่มีการจับเกินศักยภาพ

คำตอบ คือ ไม่มี

ถ้าถามผม ผมบอกได้เลยว่า ประเทศไทยไม่จำเป็นที่จะต้องใช้วิธีนี้ และไม่มีความพร้อมที่จะใช้ เพราะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่เพียงพอที่จะใช้วิธีการกำหนดโควตาเลย (และยังอีกนานกว่าจะพร้อม ถ้ายังมัวแต่วิ่งไล่จับชาวประมงอยู่อย่างนี้ โดยไม่สนใจที่จะตั้งกรมประมงทะเล และขยายหน่วยงานวิจัยทางทะเลเพื่อให้มีข้อมูลที่พร้อมและมีศักยภาพที่จะจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเหมือนกับประเทศอื่น)

บางคนอาจจะโต้แย้งว่า เราไม่จำเป็นต้องกำหนด “โควตาการจับปลา” แบบเฉพาะเจาะจงเป็นรายชนิดก็ได้ โดยใช้การให้โควตารวม เป็น/ลำ/ปี ของแต่ละชนิดเครื่องมือและขนาดของเรือ

จริงครับ แต่ระบบนี้ก็ไม่ต่างจากการจำกัดวันทำประมงครับ แถมยังมีข้อด้อยกว่าตรงที่จะทำให้มีการทิ้งสัตว์น้ำที่จับขึ้นมา แม้จะตายไปแล้ว เพื่อลดจำนวนสัตว์น้ำที่จะต้องแจ้งลงไม่ให้เกินโควตาที่ได้มา และจะมีการทะเลาะกันเรื่องจำนวนโควตาที่จะได้ของเรือแต่ละชนิด แต่ละลำ ฯลฯ

บทเรียนของระบบโควตาการจับปลา

การใช้ “โควตาการจับปลา” หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ในประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน ก็มีปัญหามากมาย ตั้งแต่การทิ้งปลาตัวเล็กหรือปลาที่ไม่ได้ราคา การทิ้งปลาที่จับได้ในช่วงใกล้จะหมดโควตา (ดังที่กล่าวมาแล้ว) การยึดโควตาสัตว์น้ำโดยกลุ่มทุนบางราย (ด้วยการซื้อ) ฯลฯ และสุดท้ายก็จะเกิดปัญหาการใช้โควตาไม่หมดในปลายปี จนเกิดความเสียหายต่อ “การจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำ” ของประเทศโดยรวม

จากข้อมูลในต่างประเทศ มีการประเมินว่า ในประเทศนิวซีแลนด์ มีเพียง 8 บริษัทเท่านั้นที่ควบคุมร้อยละ 80 ของการประมงทั้งประเทศผ่านการซื้อโควตา ในสหรัฐอเมริกามีเพียง 4 บริษัทที่ควบคุมการจับปูอลาสกาถึงร้อยละ 77 และร้อยละ 7 ของผู้ถือหุ้นควบคุมร้อยละ 60 ของโควตาปลากะพงแดงในเขตอ่าวเม็กซิโก ซึ่งทำให้เห็นว่า ระบบโควตาการจับปลานี้ก่อให้เกิดการลดการจ้างงาน การลดค่าจ้าง และลดโอกาสของผู้ประกอบการรายย่อยและรายใหม่ในการเข้าสู่การประมง สุดท้ายทำให้ความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมากต่อชุมชนชายฝั่งที่ต้องพึ่งพาการทำประมงเชิงพาณิชย์เป็นหลักในหลายๆ เมืองที่ใช้ระบบนี้

ที่มาภาพ : เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat

โควตาการจับปลา ความพร้อมของประเทศไทย

จากประสบการของผมที่รู้จักกรมประมงมากว่า 50 ปี ผมบอกได้เลยว่า ใน 10 ปีข้างหน้า กรมประมงของไทยก็ยังไม่มีความพร้อมในการที่จะทำระบบโควตาการจับปลา หรือ “การควบคุมปริมาณการจับสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง” ให้เกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพ

ทำไมผมจึงกล้าบอกเช่นนี้ เพราะ

(1) เราไม่มีข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับสัตว์น้ำที่พร้อมจะนำระบบโควตานี้มาใช้ เพราะคนที่มีอยู่ยังไม่ประสีประสาอะไรมากนัก แถมมีจำนวนคนไม่มากพอที่จะทำงาน โดยไม่นับรวมถึงงบประมาณที่จะต้องใช้อีกต่างหาก

(2) คนในกรมประมงเวลานี้ไปจนถึง 10 ปี ข้างหน้า ที่จะขึ้นมาบริหารกรมนี้ แทบจะไม่เห็นคนที่มีพื้นความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการประมงทะเลย แล้วเราจะหวังการบริหารจัดการในเรื่องนี้ที่มีประสิทธิภาพได้อย่างไร

(3) เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีพันธุ์สัตว์น้ำที่หลากหลายชนิดและขนาด ซึ่งยังไม่มีประเทศใดในเขตร้อนนำระบบโควตานี้มาใช้เลยสักประเทศเดียว แล้วเราจะหาญกล้าเป็นผู้นำในการนำระบบนี้มาใช้ โดยไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจ แล้วสร้างความ “ship-หาย” ให้บ้านเมือง เหมือนกับการแก้ปัญหา “IUU Fishing” และ “ค้ามนุษย์” อย่างที่ทำมาในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมาหรือ

ผมจึงขอเรียกร้องไปยังผู้บริหารประเทศครับ หยุดฟังคนที่ไม่รู้เรื่องประมงที่ท่านตั้งให้ไปทำงาน หยุดฟัง EU และ “หยุด “ทำร้ายชาวประมง” เถอะครับ”

ที่ผ่านมาท่านยังสร้างความ “ship-หาย” ให้กับอุตสาหกรรมประมงไม่พอหรือครับ

หมายเหตุ :ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Wicharn Sirichai-Ekawat