ThaiPublica > Sustainability > Contributor > BCG Economy Model ในบริบทการต่างประเทศ

BCG Economy Model ในบริบทการต่างประเทศ

9 ตุลาคม 2021


ณัฐภาณุ นพคุณ รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ Twitter @NatapanuN

การประชุมเอเปกหรือความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก เป็นกรอบความร่วมมือที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการค้าพหุภาคีและสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยการลดอุปสรรคต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้การค้าและบริการเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยในปี 2565 นี้ ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปก และหนึ่งในประเด็นที่ไทยตั้งใจจะผลักดันก็คือ โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy) ที่มุ่งรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการเติบโตอย่างยั่งยืน ช่วยให้ไทยสามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจในระดับโลก และช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไปพร้อมๆ กัน

ที่ผ่านมา ไทยเองได้มีการพัฒนาโดยใช้ทรัพยากรจำนวนมาก แต่ก็ไม่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มศักยภาพ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมีความเสื่อมโทรมและไม่สมดุล อีกทั้งยังเกิดความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก จนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 กลายเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ไทยเกิดความตระหนักว่าจะต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้มีความยั่งยืน และมีความสมดุลระหว่างสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น โดยอาศัยแนวคิด BCG ซึ่งเป็นการผสานแนวคิดการพัฒนา 3 ด้าน ได้แก่ B – Bio Economy (เศรษฐกิจชีวภาพ) มุ่งเน้นการนำทรัพยากรชีวภาพมาสร้างมูลค่าเพิ่มและต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ด้านต่อมาคือ C – Circular Economy (เศรษฐกิจหมุนเวียน) เป็นการนำวัสดุกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ให้ได้มากที่สุด ตามแนวคิด Zero Waste และด้านสุดท้ายคือ G – Green Economy (เศรษฐกิจสีเขียว) การพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยทั้ง 3 ด้านนี้สามารถนำมาปรับใช้กับไทยที่มีขีดความสามารถในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ อยู่แล้ว เช่น การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ การท่องเที่ยว และการแพทย์ครบวงจร เป็นต้น

โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG กลายเป็นวาระแห่งชาติโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2564 โดยเน้นไปที่ยุทธศาสตร์ 4 ด้านหลัก ได้แก่

1) การเพิ่มขีดความสามารถให้กับศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ไทยมีอยู่เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในเรื่องการเกษตรและอาหาร

2) การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เช่น การสนับสนุนให้เกษตรกรนำระบบสมาร์ทฟาร์มมาใช้เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตหรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรให้มีมูลค่าที่สูงขึ้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ ยังคงต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐต่อไป

3) การสร้างความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายของทรัพยากรและวัฒนธรรมของไทย โดยเน้นไปที่การเติบโตที่ชุมชนมีส่วนร่วม เช่น การจัดการสถานที่ท่องเที่ยวให้มีคนท้องถิ่นคอยให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยว และการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการข้อมูลและสถานที่ ในลักษณะของการท่องเที่ยวสีเขียวหรือการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (eco-tourism)

4) การเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง หรือในประเด็นภาวะโลกร้อน โดยการเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยมลพิษ โดยยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านนี้ เป็นการนำโมเดล BCG เข้ามาปรับใช้ และจะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจไทยต่อไปในอนาคต

จากการคาดการณ์ ยุทธศาสตร์ BCG ทั้ง 4 ด้าน จะเกี่ยวโยงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โดยมีมูลค่าถึง 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 21 ของ GDP และจะก่อให้เกิดการจ้างงานรวม 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งประเทศ นอกจากนี้ ยุทธศาสตร์ BCG ยังครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4 ด้านด้วยกัน ได้แก่

1) การเกษตรและอาหาร โดยการปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรจะส่งผลให้มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท ผ่านการเพิ่มความหลากหลายของผลผลิตและการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดการระบบต่างๆ เช่น การวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคเพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ลดของเหลือทิ้ง และลดการบุกรุกป่า เนื่องจากมีการจัดการพื้นที่ทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการผลิตเพื่อจัดทำผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีความหลากหลาย ได้รับการยอมรับในระดับสากล และคำนึงถึงความยั่งยืน นอกจากนี้ การยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐานและความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหาร และการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP เป็น 0.9 ล้านล้านบาทอีกด้วย

2) สุขภาพและการแพทย์ โดยการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ยา วัคซีน ชีววัตถุ การวิจัยและการจัดการข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์รองรับการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการนำข้อมูลพันธุกรรมมาให้บริการทางการแพทย์เฉพาะบุคคล รวมไปถึงการสร้างฐานข้อมูล (platform) การวิจัยของไทยเอง จะสามารถเพิ่มมูลค่า GDP เป็น 90,000 ล้านบาท

3) พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ โดยการพัฒนานวัตกรรมการผลิตพลังงานที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะรองรับของเสีย ซึ่งเป็นทรัพยากรที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ในลักษณะพลังงานหมุนเวียน เช่น การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะ การสร้างโรงไฟฟ้าชุมชนที่มีแหล่งพลังงานทดแทนในพื้นที่ ให้โรงไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าผ่านระบบ smart microgrid (ระบบที่รวบรวมและบริหารจัดการข้อมูลในการผลิตและการใช้ไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม) รวมทั้งการพัฒนาระบบจัดเก็บพลังงานในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (energy storge system) เพื่อสร้างเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าที่มาจากพลังงานทดแทน นอกจากนี้ การนำของเสียไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีและวัสดุชีวภาพมูลค่าสูง เช่น พลาสติกชีวภาพ หรือไฟเบอร์ ก็จะทำให้สามารถเพิ่มมูลค่า GDP ได้มากกว่า 2.6 แสนล้านบาท ด้วยเช่นกัน

4) การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคม ระบบดิจิทัล สินค้า และบริการ ให้สามารถรองรับการกระจายแหล่งท่องเที่ยวสู่เมืองรองได้ โดยเน้นการดำเนินงานและการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และการเน้นจุดเด่นของแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และสร้างมาตรฐานให้ทัดเทียมกับสากล สำหรับเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ก็สามารถนำมาใช้ร่วมกับวัฒนธรรมไทยเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เช่น การให้นักท่องเที่ยวทำและชิมอาหารไทย (การท่องเที่ยวเชิงอาหาร) หรือการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการเพาะปลูกและเก็บผลไม้ในไร่ (การท่องเที่ยวเชิงเกษตร) ซึ่งสามารถสร้างมูลค่า GDP เพิ่มเป็น 1.4 ล้านล้านบาทได้

การพัฒนาอุตสาหกรรมทั้ง 4 ด้านนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่า GDP ของไทยให้เติบโตขึ้นได้เป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยไทยเองได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีคณะกรรมการ 2 ชุด ทำหน้าที่จัดทำแผนนโยบายและนำไปใช้ในทางปฏิบัติในแต่ละสาขา

ในขณะเดียวกัน การผลักดันโมเดลนี้ในเวทีระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวทีการประชุมเอเปคที่กำลังจะจัดขึ้นนี้ ก็มีการส่งเสริมโมเดล BCG ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น และปรับภาพลักษณ์ของไทยให้กลายเป็นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวสีเขียว เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน

ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ก็ได้จัดงานสัมมนาทางธุรกิจเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรเพื่อขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย โดยเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 นายพิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชทูต ณ กรุงลอนดอน ได้เป็นประธานในงานสัมมนาทางธุรกิจ “RTE Roundtable Discussion on Thailand’s Bio-Circular-Green (BCG) Economy and Opportunities for UK Businesses” ณ มิตราสมาคม สถานเอกอัครราชทูตฯ โดยเป็นการจัดร่วมกับองค์กร public policy projects (PPP) ซึ่งเป็นองค์กรด้านนโยบายสาธารณะและวิชาการชั้นนำของสหราชอาณาจักร เพื่อประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG แก่ผู้แทนระดับสูงของภาครัฐ นักธุรกิจและนักลงทุนชั้นนำของสหราชอาณาจักรที่มีศักยภาพและความสนใจในการขยายการค้าการลงทุนในไทย โดยมีนาง Claire Perry O’Neil อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงธุรกิจ พลังงาน และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม ที่ดูแลนโยบายด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหราชอาณาจักร เป็นผู้ดำเนินรายการสัมมนาในรูปแบบ hybrid โดยเชิญผู้เข้าร่วมงานทั้งที่สถานเอกอัครราชทูตฯ และผ่านระบบการประชุมทางไกล

ทั้งนี้ นาย Mark Garnier ผู้แทนการค้าของนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรที่ดูแลการค้ากับไทย และนาย Stephen Hammond อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสหราชอาณาจักร ก็ได้เข้าร่วมเพื่อรับฟังการบรรยายจากฝ่ายไทยและให้ข้อคิดเห็นในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน

การสัมมนาแบ่งออกเป็น 3 ช่วงหลัก โดยเริ่มจากการบรรยายจากวิทยากรผู้แทนระดับสูงของหน่วยงานของไทย ได้แก่ 1) ภาพรวมแนวคิดด้านเศรษฐกิจ BCG ของไทยและแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดย ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) 2) โอกาสการลงทุนเกี่ยวกับ BCG ในพื้นที่เขตระเบียบเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) โดย ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสายงานการลงทุนและการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และ 3) BCG กับตลาดการส่งออกของไทยโดย ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ นักวิชาการพาณิชย์เชี่ยวชาญ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ได้ให้ความสนใจรับฟังการบรรยาย พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแนะแก่ฝ่ายไทยอย่างครอบคลุมในแต่ละหัวข้อ ตลอดจนได้สอบถามข้อมูลเชิงลึกเพิ่มเติมเพื่อประกอบการประเมินโอกาสและความท้าทายสำหรับการลงทุนทางธุรกิจในไทย เช่น แผนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่สอดรับกับ BCG ของไทย การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการลงทุนของต่างชาติ และการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลเพื่อรองรับการปรับเปลี่ยนสู่การเกษตรทันสมัย เป็นต้น

ในโอกาสนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้ย้ำว่า BCG Model เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาสและรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ซึ่งจะเป็นหนทางการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 ของไทย ตลอดจนนำพาให้ไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศรายได้สูงที่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายการฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤติโควิด-19 (Build Back Better) และนโยบายปฏิวัติภาคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industrial Revolution) ของสหราชอาณาจักรด้วยเช่นกัน โดยโมเดล BCG มีอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ต้องการส่งเสริมความร่วมมือ 4 ด้านกับสหราชอาณาจักร ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องว่า ล้วนเป็นสาขาที่ภาคธุรกิจของสหราชอาณาจักรเชี่ยวชาญและมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าสอดคล้องกับความต้องการด้านการลงทุนของไทยทั้งสิ้น โดยเฉพาะการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพของ EEC ที่มีการปรับใช้โมเดล BCG ในแผนการพัฒนาพื้นที่และในการให้สิทธิพิเศษการลงทุนแล้ว ทั้งนี้ ไทยตั้งเป้าที่จะกระตุ้นการลงทุนของสหราชอาณาจักรใน EEC เพิ่มขึ้นเพื่อผลักดันให้ GDP เติบโตได้ร้อยละ 5 ต่อปี และทำให้ EEC กลายเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลักให้แก่ไทย

การสัมมนาดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ผู้เข้าร่วมแสดงความสนใจต่อโมเดล BCG ของไทยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในด้านการออกแบบสินค้าเชิงสร้างสรรค์จากวัสดุเหลือใช้ในภาคอุตสาหกรรม การสร้างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่หลายผลิตภัณฑ์ของไทยได้มาตรฐานสากลและวางจำหน่ายในยุโรปบางประเทศแล้ว ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าของไทยในด้านดังกล่าวและศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตและตลาดนำเข้าสินค้าของไทย รวมทั้งยังสามารถสร้างแรงบันดาลใจและความเชื่อมั่นต่อทิศทางการพัฒนาประเทศของไทยที่เข้ากับกระแสโลกในยุคหลังวิกฤติที่เอื้อต่อการมีผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างภาคเอกชนของสองประเทศได้เป็นอย่างดีโดยภาคเอกชนของสหราชอาณาจักรส่วนหนึ่งได้แจ้งความสนใจที่จะขยายการลงทุนใน EEC ด้วย

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมการสัมมนาฯ ยังแสดงความยินดีที่ไทยกับสหราชอาณาจักรได้บรรลุข้อตกลงการตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Commission – JETCO) เมื่อต้นปีที่ผ่านมาและประกาศเจตจำนงที่จะทำงานร่วมกันเพื่อสนับสนุนให้ความสัมพันธ์ทางการค้าไทยกับสหราชอาณาจักรก้าวหน้าไปสู่การเจรจาความตกลงการค้าเสรีต่อไป