ThaiPublica > คอลัมน์ > ความหมายที่แทรกอยู่ระหว่างกาลเวลา Your Name Engraved Herein

ความหมายที่แทรกอยู่ระหว่างกาลเวลา Your Name Engraved Herein

26 กุมภาพันธ์ 2024


1721955

นี่ไม่ใช่คอลัมน์ใหม่ และแน่นอนว่า Your Name Engraved Herein (2020) ไม่ใช่ซีรีส์ แต่ผู้เขียนอยากสลับฉากมาเขียนถึงหนังไต้หวันเรื่องนี้หลังจากเพิ่งได้ดูซ้ำอย่างละเอียดอีกหน แล้วพบว่ามันเต็มไปด้วยความหมายที่แทรกอยู่มากมาย ถ้าไม่เขียนถึงคงนึกเสียดายแย่ อีกทั้งเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองให้กับประเทศกรีซ ที่เพิ่งผ่านร่างกฎหมายสมรสเพศเดียวกันเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้ รวมถึงขอแสดงความเสียใจต่อชาว LGBTQ+ ในเมืองไทยเพราะเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ปีนี้อีกเช่นกัน ที่สภามีมติโหวตคว่ำ ร่างพ.ร.บ.การรองรับเพศ คำนำหน้านาม และการคุ้มครองผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยมีมติไม่รับหลักการ 256 เสียง รับหลักการ 152 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง

MV ประกอบหนังปัจจุบันมียอดสูงลิ่วถึง 68 ล้านวิว

Your Name Engraved Herein เป็นหนังชิงม้าทองคำไต้หวัน 5 สาขา และคว้าไป 2 รางวัล คือ ถ่ายภาพยอดเยี่ยมกับเพลงประกอบยอดเยี่ยม, ส่วนภายนอกประเทศหนังคว้ารางวัลผู้กำกับหน้าใหม่ยอดเยี่ยมจากเทศกาลเซา เปาโล ประเทศบราซิล ทำรายได้ไปมากกว่า 100 ล้านเหรียญไต้หวัน ส่งผลให้เป็นหนังเกย์เรื่องแรกที่ทำรายได้สูงขนาดนี้ในไต้หวัน

Your Name Engraved Herein เริ่มเรื่องในปี 1987 วันหนึ่ง จางเจียฮั่น หรือ อาฮั่น (เอ็ดเวิร์ด เฉินห่าวเซิน จาก The Post-Truth World และ Love at First Lie) ในชั้นเรียนว่ายน้ำของชมรมดุริยางค์เขาได้รู้จักกับ หวังป๋อเต๋อ หรือเพื่อน ๆ เรียกกันว่า เบอร์ดี้ (ปีเตอร์ เจิ้งจิ้งหวา จาก Detention และ Hello Ghost!) แม้ว่าทั้งสองจะมีนิสัยต่างกันโดยสิ้นเชิงแต่ก็กลายเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว

FYI 1987

กว่า 38 ปี 57 วันที่ไต้หวันต้องทุกข์ทนอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก(ที่แปลว่าทุกกรณีสามารถตัดสินได้เลยโดยไม่ต้องสืบสวนหรือผ่านกระบวนการยุติธรรม)ที่ส่งผลกระทบต่อทุกชีวิตภายในประเทศอย่างรุนแรง ไม่เพียงเครื่องแบบ ระเบียบวินัย ไปจนถึงวิถีชีวิต แต่สิ่งเหล่านี้ตามมาด้วยการกดทับให้สยบยอมสิโรราบต่ออำนาจเผด็จการทหารของพวกก๊กมินตั๋ง ที่ลุแก่อำนาจโดยรัฐบาลอ้างสิทธิ์ตามกฎหมาย(ที่บัญญัติขึ้นเองและประกาศใช้เอง)ที่เปิดกว้างให้ผู้มีอำนาจทำอย่างไรก็ได้ต่อประชาชนผู้เห็นต่าง ถึงขั้นเข่นฆ่า กวาดล้าง ปราบปราม อุ้มฆ่า อุ้มหาย ซ้อมทรมาน จับกุม คุมขัง(และหลายคราวก็ข่มขืน)นักศึกษาประชาชนที่ใฝ่หาเสรีภาพ ในช่วงเวลาดังกล่าวแม้ไต้หวันจะประกาศตนว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไต้หวันไม่เคยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง (เช่นเดียวกับช่วงเวลานี้ของไทย)

1987 ที่หนังเรื่องนี้เริ่มต้น เป็นปีแรกที่ไต้หวันกำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 1987 ที่มีมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 1949 อันนับเป็นการใช้กฎอัยการศึกที่ยาวนานเป็นอันดับสองของโลก (รองจากอันดับหนึ่ง ซีเรีย ที่กินเวลานานถึง 48 ปี ตั้งแต่ปี 1963-2011)

สมาคมไต้หวันเพื่อส่งเสริมความจริงของพลเมืองและการปรองดองได้รวบรวมรายชื่อนักโทษประหารชีวิตด้วยเหตุทางการเมืองในช่วงกฎอัยการศึก จนถึงสิ้นปี 2013 พบว่าเท่าที่ถูกบันทึกไว้มีเหยื่อในกรณีนี้ 1,061 คน อย่างไรก็ตามกลับพบว่าจากสถิติที่ถูกบันทึกเอาไว้โดยอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ สีจงหมิน ตั้งแต่ปี 1950 จนถึงการยกเลิกกฎอัยการศึกในปี 1987 คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองของไต้หวันมีมากถึง 140,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับโทษประหารในที่สุด คนเหล่านี้มักถูกกล่าวหาว่า อั้งยี่ซ่องโจร เป็นสายลับสองหน้า ชังชาติ ขายชาติ นอกรีต ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ ไม่รักชาติ ฯลฯ (คุ้นมั้ย)

ฟังอย่างนี้แล้วเราคนไทยอาจคิดว่าพวกเขาสมควรตายเพราะก่อการร้ายแรง ทว่าในความเป็นจริงหลายต่อหลายครั้งเป็นเพียงเพราะพวกเขาผิดวินัยเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น แอบอ่านหนังสือต้องห้าม ร้องเพลงต้องห้าม ด่าทอผู้มีอำนาจ หรือแม้แต่แค่ตั้งคำถาม พูดไม่เข้าหู หรือลุกฮือขึ้นขัดคำสั่ง ขวางหูขวางตา ฯลฯ คำถามคือ ด้วยความผิดเล็ก ๆ น้อย ๆ เหล่านี้ รัฐถึงกับต้องปราบปรามเข่นฆ่าพวกเขาขนาดนั้นเชียวหรือ

ตัวละครผู้ตรวจการที่แต่งตัวข้าราชการ พวกเขาไม่ใช่ครู แต่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐอาศัยอำนาจในการข่มขู่กล่าวหานักเรียน ยิ่งในช่วงแรก ๆ ของกฎอัยการศึก คนเหล่านี้ถึงขั้นตัดสินฆ่าครูหรือนักเรียนก็ได้ด้วย ฟังดูโม้เหมือนในหนัง แต่เกิดขึ้นจริง

มีรายงานว่าเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 1996 สีจงเหมินได้ระบุตัวเลขที่แท้จริงของผู้ถูกคุมขังนั้นอยู่ที่ 29,407 ราย ส่วนตัวเลขของผู้ถูกประหารชีวิตทั้งหมดอยู่ประมาณ 4,500 ราย อย่างไรก็ตามภายหลังพบว่าตัวเลขประมาณการนั้นสวนทางกับข้อเท็จจริง ภายหลังในปี 1960 ทางการไต้หวันได้ระบุว่ามีจำนวน 126,875 คนว่า “เป็นพวกไม่อยู่ในบัญชี” และเพิกถอนคนเหล่านี้ออกจากรายนามทั้งหมด อย่างไรก็ตามนักวิชาการปัจจุบันประเมินว่าความเป็นจริงแล้ว จำนวนที่รัฐอ้างมานั้น เป็นเพียง 1 ใน 3 ของความเป็นจริง คือน่าจะมีผู้ได้รับผลกระทบราว สี่แสนคน และ 15% ของตัวเลขนี้คือผู้ถูกประหารชีวิต เนื่องจากเป็นการประกาศใช้อำนาจนี้ทั่วทั้งประเทศ รายงานบันทึกทำได้เพียงเฉพาะในส่วนกลาง แต่ยังมีที่ห่างไกลเข้าถึงยากอีกหลายที่ที่บรรดาเจ้าหน้าที่มุบมิบทำชั่วโดยอาศัยช่องโหว่อำนาจเหล่านี้

อ่านเกี่ยวกับ Detention https://thaipublica.org/2021/01/series-society07/

เหตุการณ์เหล่านี้คนไต้หวันเรียกว่า “ความหวาดกลัวสีขาว White Terror” อันเป็นความทรงจำที่ไม่ควรถูกพูดถึง (เหมือน 6 ตุลาในบ้านเรา) ขณะเดียวกันไต้หวันเองก็ไม่ต่างจากไทยในตอนนี้ที่ประชาชนถูกแบ่งแยกออกเป็นพวกอนุรักษ์นิยม และหัวก้าวหน้า คนรุ่นก่อนและคนรุ่นใหม่ พวกหัวเก่าก็เรียกร้องให้ลืม ๆ ไปเสีย พวกสมัยใหม่กลับต้องการรื้อฟื้น เยียวยาคนเหล่านั้น ทวงถามความยุติธรรมและคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (ขณะที่ 6 ศพวัดปทุม หรือการกว้านฆ่า ณ ซอยรางน้ำ บัดนี้รัฐไทยยังไม่เคยกล่าวขอโทษหรือแสดงความรับผิดชอบ และยังคงกล่าวหาอย่างต่อเนื่องว่าพวกเขา “เผาบ้านเผาเมือง” ไปจนถึงกรณี 14 และ 6 ตุลา ที่ฝั่งหนึ่งสาปแช่งคนตายจนทุกวันนี้ว่า “ไม่รักชาติ หนักแผ่นดิน สมควรตาย” ส่วนฝ่ายทหารก็ทำรัฐประหารแก้กฎหมายปัดความรับผิดชอบรัว ๆ ไปจนถึงโยนผู้เห็นต่างเข้าซังเต)

ในปี 1998 ไต้หวันมีการผ่านกฎหมายเพื่อสร้าง “มูลนิธิค่าชดเชยสำหรับการตัดสินที่ไม่เหมาะสม” เพื่อดูแลการชดเชยเยียวยาให้กับเหยื่อและครอบครัวของผู้เคราะห์ร้ายจากเหตุการณ์ White Terror นับตั้งแต่ปี 1998 ถึง 2014 มูลนิธิได้รับการแจ้ง 10,065 กรณี(บางกรณีมีเหยื่อเป็นสิบเป็นร้อยคน) และมีการชดเชยไปแล้ว 20,340 ราย

ในปี 2007 นายกรัฐมนตรีในเวลานั้นได้กำหนดให้วันที่ 15 กรกฎาคม เป็น “วันรำลึกการยกเลิกกฎอัยการศึก” ประธานาธิบดีหม่า หยิงจิ่ว กล่าวขอโทษอย่างเป็นทางการในปี 2008 โดยแสดงความหวังว่า “จะไม่มีโศกนาฏกรรมที่คล้ายกับ White Terror เกิดขึ้นอีกเลยในสังคมไต้หวัน”

กระทั่งเมื่อความรู้นี้กลับมาปรากฏต่อประชาชนอีกครั้งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง ไต้หวันจึงเริ่มปูดปริปากเรื่องนี้ในวัฒนธรรมป๊อป ไม่ว่าจะนิยาย หนัง ซีรีส์ การ์ตูน และเกมคอมพิวเตอร์ อาทิ หนัง A City of Sadness (1989), A Brighter Summer Day (1991), Detention (2019), Untold Herstory (2022) ซีรีส์ The Best of Youth (2015), Detention the Series (2020), The Magician on the Skywalk (2021), Gold Leaf (2021) ในบรรดารายชื่อเหล่านี้จะพบว่ามีหนังในปี 1989 และ 1991 สองเรื่องนี้กำกับโดยสุดยอดผู้กำกับชั้นครูของไต้หวัน โหวเชี่ยวเฉียน และเอ็ดเวิร์ด หยางเต๋อชาง (เสียชีวิตเมื่อ 2007) มีเพียงสองคนนี้ที่กล้าท้าอำนาจ มาก่อนกาล และเล่าเรื่องเหล่านี้โดยทันทีหลังจากยกเลิกกฎอัยการศึกเพียงไม่กี่ปี

FYI Birdy

ชื่อเล่นของตัวละครในเรื่องมาจากหนังฮอลลีวูด Birdy ที่แม้จะเจ๊งยับไม่เป็นท่าด้วยทุนสร้าง 12 ล้าน แต่ทำรายได้แค่ 1.4 ล้านเหรียญ แต่หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลใหญ่ Grand Prix Spécial du Jury prize จากเทศกาลหนังเมืองคานส์ และยังคงเป็นหนังในดวงใจของบรรดาคอหนังมาจนทุกวันนี้ กำกับโดย อลัน พาร์คเกอร์ เข้าฉายในปี 1984 หรือสามปีก่อนไทม์ไลน์ในเรื่อง Your Name Engraved Herein โดยพล็อตของ Birdy เป็นเรื่องของเพื่อนในวัยเด็ก 2 คนที่กลับมาเจอกันหลังสงครามเวียดนาม เมื่อคนหนึ่งบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด ส่วนอีกคนกลายเป็นบ้า เบอร์ดี้ (แมทธิว โมดีน) ฝันอยากจะเป็นนกและบินออกจากกรอบกรง ส่วน อัล (นิโคลัส เคจ) คือเพื่อนเพียงคนเดียวที่เข้าใจ และปลดปล่อยเขาในที่สุด

ต่อมาหนังเล่าไปในปี 1988 ถึงการลดธงครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยแด่ประธานาธิบดี เจียง ก่อนที่อาฮั่นกับเบอร์ดี้จะนัดแนะกันเพื่อไปร่วมพิธีศพที่โรงเรียนอนุญาตให้นักเรียนสามารถลาไปได้ พวกเขาจึงอาศัยเป็นข้ออ้างในการไปเดทกันสองคน ฉากนี้จะพบว่าจู่ ๆ เบอร์ดี้ก็แกล้งร้องไห้หนักมาก เพราะในพิธีนั้นมีแต่คนร้องไห้เสียใจ ส่วนอาฮั่นที่บอกว่า “แม้ผมจะไม่รู้จักท่านเลย แต่ผมเชื่อว่าท่านเป็นคนดี” ก่อนจะออกจากงานไว้อาลัยก็พบว่าด้านนอกมีป้ายเขียนด่า ป้ายประท้วงนายเจียง มากมาย ไปจนพบกับชายนุ่งกระโปรงที่ชูป้ายว่า “รักเพศเดียวกันไม่ใช่โรค”

หนังเรื่องนี้ได้มีการพูดถึงการบูลลี่คนที่ถูกต้องสงสัยว่าเป็นเกย์ พวกเขากลายเป็นเหยื่อระบายอารมณ์ เมื่อมนุษย์ถูกกดทับแล้วไม่สามารถจะระบายออกกับใครได้ พวกเขาจะยิ่งทำร้ายพวกที่ดูอ่อนแอกว่าอย่างพวกตุ๊ด เกย์ กะเทยเป็นลำดับแรก ๆ (ส่วนกรณีในไทยที่เปิดรับเพศหลากหลาย และชายบางคนก็อาจสู้กำลังชายด้วยกันไม่ไหว ในบ้านเราจึงมักจะได้ข่าวทารุณกรรม หรือขัง หรือฆ่า เด็ก และผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ อย่างกรณี นุ่นที่ถูกสามีกระทืบเผาอำพราง หรือคดีฮือฮาอย่างน้องชมพู่แห่งบ้านกกกอกเป็นต้น) และเกย์หนึ่งในนั้นในหนังเล่าว่าเขาถูกชก ถูกเผาขนในที่ลับ ถูกอิฐทุบหัว ส่วนเบอร์ดี้เป็นคนเดียวที่กล้าออกมาช่วยเกย์คนนี้ และนั่นคือเหตุผลที่เบอร์ดี้ถูกนินทาว่าบ้า ๆ บอ ๆ ไปจนถึงหลายคนเชื่อว่าเบอร์ดี้เป็นเกย์ จนสุดท้ายตัวเขาก็กลายเป็นเหยื่อของการบูลลี่ไปอีกคน

(ซ้าย) เจียงจิงกั๋วในช่วงบั้นปลายบนรถเข็น (กลาง) ถ่ายกับพ่อ(เจียงไคเช็ก)และแม่เลี้ยง(ซ่งเหม่ยหลิง)

FYI ประธานาธิบดีเจียง

เห็นบางบทความเข้าใจผิดว่าพิธีศพในเรื่องคือ เจียงไคเช็ก แต่ถ้าดูปีที่เกิดเหตุนั้น ย่อมไม่ใช่เจียงคนนั้นอย่างแน่นอน

เผด็จการจะสืบทอดอำนาจได้อย่างไร เมื่อพวกเขากังวลการถูกโค่นอำนาจอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงไม่แปลกที่เผด็จการชาติไหน ๆ จะมอบอำนาจให้กับญาติสนิทมิตรที่ไว้ใจได้ และเจียงจิงกั๋ว คือทายาทสายตรงลูกชายเพียงคนเดียวของเจียงไคเช็ก(กับภรรยาคนแรก เหมาฟู่เหม่ย) เราอาจเคยเรียนในบทเรียนว่าเจียงไคเช็กเป็นคนดี ปกครองบ้านเมืองให้ผาสุกร่มเย็น เหล่านี้คือนิยายที่ถูกเขียนขึ้นโดยผู้ชนะ และเราอาจไม่รู้ว่าเพื่อสร้างภาพสูงส่งศักดิ์สิทธิ์ของท่านผู้นำ นอกจากจะมีภาพท่านเจียงไคเช็กแขวนไว้ทุกห้องเรียน(ดังที่เราเห็นในหนังเรื่องนี้แล้ว) ปัจจุบันพบว่ามีรูปปั้นของเจียงไคเช็กประดิษฐานอยู่ทั่วทุกหัวระแหงไม่ว่าจะไกลโพ้นแค่ไหนมากถึง 43,000 ตัว

แต่เมื่อกาลเปลี่ยนไป ชาวไต้หวันต่างรู้แล้วว่า เจียงไคเช็ก ทำชั่วสั่งฆ่าคนเป็นเบืออย่างไรไว้ในช่วง White Terror รัฐบาลหัวก้าวหน้ายุคหลัง ๆ จึงทำการทยอยย้ายรูปปั้นเหล่านั้นออกไปตั้งรวม ๆ กัน แต่จะกำจัดอย่างไรก็ไม่สิ้น ปัจจุบันมีเพียง 150 ตัวที่ถูกนำออก ดังนั้นในทุกปีในไต้หวันจึงมีข่าวผู้คนเอาป้ายไปล้อเลียน เขียนเติม หรือตัดหัวรูปปั้นเจียงไคเช็กที่ยังคงอยู่ตามซอกมุมต่าง ๆ เสมอ ไม่เว้นแม้แต่อนุสรณ์สถานใหญ่กลางไทเป หอรำลึกเจียงไคเช็กเองก็ถูกสาดสีนับครั้งไม่ถ้วน

วกกลับมาที่ความชั่วของลูกชายหัวแก้วหัวกล้วยของท่านผู้นำ เจียงจิงกั๋ว ร่ำเรียนมาจากรัสเซีย พูดภาษารัสเซียได้คล่องปร๋อ แปลกมั้ยทั้งที่ไต้หวันเป็นประชาธิปไตย แต่ทำไมส่งลูกไปเรียนคอมมิวนิสต์ และตำแหน่งแรกที่เจียงไคเช็กผู้พ่อมอบให้ เจียงจิงกั๋ว คือผู้ดูแลและควบคุมตำรวจผู้ตรวจการทั้งหลาย นั่นหมายความว่าอำนาจบาดใหญ่ของบรรดาผู้ตรวจการที่เข้าควบคุมชาวบ้านและนักเรียน ได้มาจากนายเจียงคนลูกคนนี้แล ซึ่งลงเอยด้วยความโหดเหี้ยมอย่างที่เราเล่าไปแล้ว

หลังจากนั้นพ่อก็เลื่อนยศลูกให้คุมกระทรวงกลาโหมคือคุมกองทัพ ไปจนถึงรองนายก และนายก จนเจียงผู้พ่อสิ้นชีพ เจียงคนลูกก็ได้เป็นหัวหน้าพรรคก๊กมินตั๋ง พรรคเดียวที่คุมประเทศและไม่มีการเลือกตั้งมาอย่างยาวนาน ออกไล่ล่าอุ้มฆ่าอุ้มหายผู้เห็นต่างทางการเมืองด้วยความหวาดกลัวว่าตนเองจะถูกล้มอำนาจ จนสุดท้ายในพรรคก๊กมินตั๋งก็เลือกกันเองให้เจียงคนลูกได้กลายเป็นประธานาธิบดีสืบทอดเชื้อชั่วไม่ยอมตายนี้มา

ทว่าเหตุใดเขาจึงยอมคลายอำนาจ ไปสู่การยกเลิกกฎอัยการศึก ไม่ใช่เพราะเป็นคนดีขึ้น แต่เพราะในเวลานั้นไต้หวันถูกกดดันจากทุกทิศทุกทาง ทั้งคว่ำบาตร ทั้งตัดขาดทางการทูต ไหนจะโดนอำนาจใหญ่จากจีน ก่อนจะพบว่าจีนรวยขึ้นแต่ไต้หวันกลับดิ่งเหว และท่ามกลางกระแสโลกที่เปลี่ยนไปตาสว่างไม่มืดบอดในกะลาอีกต่อไป พวกเขาแยกแยะได้ว่าประชาธิปไตยคือต้องคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ไม่ใช่การอยู่ดีกินดีของพวกผู้มีอำนาจ และการกระทำของไต้หวันในเวลานั้นนับว่าห่างไกลจากสิทธิมนุษยชนโดยสิ้นเชิง การจะไล่ฆ่าฝ่ายต่อต้านไปเรื่อย ๆ ไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลเลย นี่เองคือคำถามว่าทำไมจึงมีป้ายประท้วงไปแขวนด่าหน้าพิธีศพของเจียงจิงกั๋ว

แต่ในหนังก็แสดงให้เห็นว่าแม้กฎอัยการศึกจะถูกยกเลิก และนายเจียงจิงกั๋วจะตายไปแล้ว แต่ความล้าหลังที่นายเจียงวางฐานรากไว้อย่างมั่นคงก็ยังคงส่งผลให้กับบรรดาเศษซากยุคเก่า ทั้งการบูลลี่ การข่มขู่บังคับ อย่างกรณีที่ในเรื่องเล่าว่าโรงเรียนเปิดให้มีนักเรียนหญิงเข้ามาเรียนร่วมด้วย แต่ต้องถูกแยกห้องเรียนกัน หรือผู้ตรวจการเข้ามาแยกชายหญิงในวงดุริยางค์ สิ่งเหล่านี้ล้วนสะท้อนภาพช่วงเวลานั้นเป็นอย่างดี เพราะหลังจากนายเจียงจะตายไปแล้ว แต่ผู้ชนะการเลือกตั้งในสมัยต่อมาก็ยังคงเป็นพรรคก๊กมินตั๋ง หันกลับมามองไทย แม้การบริหารประเทศของบรรดาลุงจะสร้างความวายป่วงเพียงใด เราก็ยังคงได้ยินว่ามีคนบางกลุ่มมองว่าลุงเป็นคนดี(ย์) และลุงยังคงสืบทอดอำนาจมาได้จวบจนทุกวันนี้

อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญประการหนึ่งที่ผลักดันให้ เจียงจิงกั๋ว ยอมยกเลิกกฎอัยการศึก อาจเป็นเพราะ “เวลา” เนื่องจากเขาป่วยเป็นเบาหวานขั้นรุนแรงมาตั้งแต่ปี 1976 ที่ในบั้นปลายส่งผลต่อจอประสาทตา ไตอักเสบ มะเร็งกล้ามเนื้อขา และโรคหัวใจ

หนึ่งปีก่อนการยกเลิกกฎอัยการศึก เมื่อวันที่ 28 กันยายน 1986 พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าประกาศจัดตั้งพรรคขึ้นทั้งที่พวกก๊กมินตั๋งมีคำสั่งไม่ให้ผู้ใดตั้งพรรคการเมือง แต่ถึงกระนั้นนางเจียงก็ไม่ได้ปราบปรามอะไร เขาเพียงแต่นั่งรถเข็นแล้วออกมากล่าวต่อประชาชนว่า “เวลาก็เป็นเช่นนี้ สิ่งแวดล้อมกำลังเปลี่ยนแปลง และกระแสลมก็กำลังจะเปลี่ยนตาม” ต่อมาในวันที่ 7 ตุลาคม เขาให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์วอชิงตันโพสต์ว่ากำลังเตรียมจะยกเลิกกฎอัยการศึกและเปิดให้มีการจัดตั้งพรรคการเมือง และอีกครั้งในวันที่ 12 ตุลาคม เขาให้แถลงกับสื่อว่า “ผมถือว่าการส่งเสริมประชาธิปไตยเป็นหน้าที่ของผม และหวังว่าจะยกเลิกกฎอัยการศึกได้โดยเร็วที่สุด ผมเห็นชอบกับการมีรัฐธรรมนูญและจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองอีกต่อไป” อันนำไปสู่การยกเลิกกฎอัยการศึกในวันที่ 15 กรกฎาคม 1987 ก่อนที่อีกไม่ถึงครึ่งปีเขาก็เสียชีวิตลงในวันที่ 13 มกราคม 1988 เนื่องจากเบาหวานทำให้ปอดและหัวใจล้มเหลวด้วยวัย 77 ปี

FYI สดุดีแด่ผู้มาก่อนกาล

ดังที่เราเล่าถึงหนังว่ามีฉากสั้น ๆ ที่ชายนุ่งกระโปรงประท้วงอย่างโดดเดี่ยว ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ถูกตำรวจลากออกจากหน้าพิธีศพท่านผู้นำ ชายคนนี้มีตัวตนอยู่จริง เขาคือ ฉีเจียเว่ย (Qi Jiawei) คุณอาจไม่รู้ว่าปัจจุบันพาเหรดเกย์ไพรด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นอยู่ที่ไทเป ผลสำรวจพบว่าล่าสุดมีผู้เข้าร่วมมากถึงสองแสนคน และหนังเรื่องนี้ Your Name Engraved Herein เข้าฉายในวันที่ 14 มีนาคม 2020 หรือเพียง 10 เดือนหลังจากสภาไต้หวันผ่านพ.ร.บ.สมรสเพศเดียวกันเป็นครั้งแรกในเอเชียเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2019 และทั้งหมดนี้เริ่มต้นมาจากการต่อสู้เพียงคนเดียวของ ฉีเจียเว่ย

เขาคือนักเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อสิทธิ์ชาวเกย์ ผู้ริเริ่มการเรียกร้องตีความรัฐธรรมนูญการแต่งงานเพศเดียวกันของไต้หวัน ผู้ที่ได้ชื่อว่า “ชายเกย์โดยเปิดเผยคนแรกของไต้หวัน” ในปี 1986 (ช่วงปลายกฎอัยการศึก) เขาไปที่สำนักงานทนายความของศาลแขวงไทเปเพื่อขอแต่งงานกับผู้ชายคนหนึ่งแต่ถูกปฏิเสธ ตั้งแต่นั้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปีที่เขายื่นคำร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่า และยื่นร้องต่อฝ่ายปกครองที่คัดค้านการประท้วงของเขา ยื่นฟ้องศาลฎีกาเพื่อตีความรัฐธรรมนูญเสียใหม่ และใช้ทุกวิถีทางในการต่อสู้เพื่อสิทธิในการสมรสของคนเพศเดียวกัน รวมถึงเป็นอาสาสมัครรณรงค์เกี่ยวกับความรู้ทางด้านเอชไอวี แม้จะถูกทางการจับกุมอยู่หลายครั้งแต่เขาก็ยังยืนยันที่จะสู้ แม้ในช่วงแรกจะไม่มีใครกล้ายืนเคียงข้างเขาเพราะความหวาดกลัว ทั้งต่อกฎอัยการศึก และต่อขนบธรรมเนียมจากโลกเก่า แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้น

เขาเริ่มต้นการเคลื่อนไหวในเดือนมีนาคม 1986 โดยได้รับการสนับสนุนจากพ่อและแม่ เปิดแถลงการณ์ ณ ร้านแมคโดนัลด์แห่งหนึ่ง จนสื่อต่าง ๆ ทั่วโลกต่างตีข่าวนี้ เขาออกแถลงการณ์ในวันนั้น ก่อนที่ถัดไปในวันที่ 15 สิงหาคมปีนั้น ทางการได้เรียกตัวเขาไปปรับทัศนคติก่อนจะขังเขาภายในชั้นใต้ดินของสำนักความมั่นคงแห่งชาติเป็นเวลานานกว่าครึ่งเดือน ก่อนจะย้ายเขาไปจำคุกในวันที่ 1 กันยายน รวมกับนักโทษทางการเมืองด้วยข้อหาผิดต่อเสรีภาพในการพูด เขาเล่าว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงตะโกนใส่หน้าเขาว่าเขาจะต้องถูกขังคุก 5 ปี แต่ด้วยเป็นช่วงปลายกฎอัยการศึก ในวันเสรีภาพโลก 23 มกราคมปีถัดมา ไม่กี่เดือนก่อนประกาศยุติกฎอัยการศึก ฉีเจียเว่ยก็ได้รับอภัยโทษ (ผู้เขียน/ โทษจากอะไร โทษจากการเป็นเกย์ โทษจากการใช้เสรีภาพในการพูด โทษจากการเป็นภัยความมั่นคง?!)

อย่างไรก็ตามเมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไปในปี 1996 รัฐมอบรางวัลพลเมืองกิตติมศักดิ์ให้แก่เขา, รางวัลพลเมืองไทเปดีเด่นในปี 2006, รางวัลผู้บุกเบิกชาวเควียร์ในปี 2016, รางวัลนักปฏิรูปสังคมในปี 2017 และติดอันดับใน 100 ผู้ทรงอิทธิพลจากนิตยสารไทม์ในปี 2020

ในปี 2018 วาระครบรอบ 70 ปี การประกาศปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน สหภาพยุโรป (อียู) ร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ OHCHR (Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights) ได้จัดทำโครงการภาพยนตร์นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน เพื่อบันทึกเรื่องราวของนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนจากทั่วโลก ฉีเจียเว่ย ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในนั้น

อาฮั่น และผู้กำกับหลิว

หนังเรื่องนี้กำกับโดย แพทริก หลิวกวงฮุย เกิดและเติบโตในเมืองฉางฮั่ว จึงไม่ต้องแปลกใจว่าอีกสิ่งหนึ่งที่ผู้ชมชาวไต้หวันรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้แปลกต่างไปจากหนังเกย์ไต้หวันเรื่องอื่น ๆ ที่มักจะให้ฉากหลังเป็นไทเป แต่สำหรับเรื่องนี้กลับเล่าเส้นเรื่องหลักในเมืองไถจง เมืองที่อยู่ติดกันกับบ้านเกิดของตัวผู้กำกับนั่นเอง เขาให้ความเห็นว่า “ด้วยตัวผมและทีมงานมีพื้นเพเติบโตในแถบนี้ อีกทั้งผมอยากจะทำลายภาพจำส่วนใหญ่ของหนังเกย์กระแสหลักออกไป เพื่อเล่าเรื่องราวในพื้นถิ่นอื่นให้มากขึ้น ชายรักชายไม่ได้เกิดขึ้นได้แต่ในเมืองใหญ่ขี้เหงาแบบไทเปเท่านั้น มันเกิดได้ทุกที่แหละไม่ว่าจะบ้านนอกคอกนาขนาดไหนก็ตามที”

เขาเรียนจากมหาวิทยาลัยศิลปะไทเป ชื่นชอบผลงานของ เอ็ดเวิร์ด หยางเต๋อชาง เป็นอย่างมาก ระหว่างเรียนเขาไปเป็นผู้ช่วยให้กับโฆษณาและ MV ทำให้หลังจากเรียนจบเขาหันเหไปเป็นผู้กำกับ MV นับตั้งแต่ช่วงปี 1994 เป็นต้นมา ก่อนจะโดดไปกำกับซีรีส์ทีวี ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าผลงานชิ้นแรกของเขาจะเป็นละครที่คนไทยเรารู้จักและติดงอมแงมหนักมาก นั่นก็คือ เทพบุตรถังแตก (2001 -Poor Prince Taro ดัดแปลงจากมังงะญี่ปุ่นชื่อดัง) ที่ได้พระเอกสุดฮอตเวลานั้นคือ วิค หรือ ไจ่ไจ๋ แห่ง F4 นั่นเอง

หลิวกำกับซีรีส์อยู่หลายเรื่องก่อนจะโดดมากำกับหนังเรื่องแรกในปี 2016 เรื่อง 22nd Catch ส่วน My Name Engraved Herein เป็นหนังเรื่องที่สองของเขา ต่อจากนั้นในปี 2021 เขากำกับหนังสั้นสองซิสสุดเฟี้ยวที่กลับมารวมตัวกัน หลังจากห่างหายไปนานก่อนจะพบว่าซิสคนพี่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ใน My Sister Forever และขณะนี้กำลังถ่ายทำซีรีส์วายเรื่องใหม่ The Only One แฟน ๆ สามารถติดตามข่าวสารเกี่ยวกับซีรีส์นี้ได้ที่นี่ https://www.instagram.com/theonlyone_tw_series

ส่วนคำถามที่ว่า Your Name Engraved Herein ได้ไอเดียตั้งต้นมาจากไหน หลิวให้คำตอบว่า “80 เปอร์เซ็นต์ของเรื่องนี้มาจากประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง คาแร็คเตอร์ของอาฮั่นถอดแบบมาจากผมในช่วงเวลานั้น เดิมทีความตั้งใจแรกผมไม่ได้กะจะทำให้มันออกมาเป็นหนังเกย์ขนาดนี้ เป็นแต่เพียงการสร้างภาพยนตร์ที่มาจากประสบการณ์ส่วนตัวเท่านั้น แล้วอันที่จริงหนังเรื่องนี้มันเกี่ยวกับรักแรก ซึ่งให้เผอิญว่ารักแรกของผมเกิดขึ้นกับเด็กผู้ชายคนหนึ่งก็เท่านั้นเอง”

หนังเล่าเหตุการณ์อีกมากมาย ก่อนจะตัดไปเล่าไทม์ไลน์ปัจจุบันหรือในอีก 30 ปีต่อมา เบอร์ดี้ในวัยชราพูดขึ้นมาในที่สุดว่า “ใครมันจะไปรู้ว่าโลกในอีก 30 ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง ถ้าตอนนั้นเรายอมรับว่าเป็นเกย์ ชีวิตก็จบเห่แล้ว” อาฮั่นในวัยแก่พอกันหันกลับมาถามว่า “แล้วตอนนี้ล่ะ…พูดออกมาดัง ๆ ได้เลย” หันมาทำท่าล้อเลียนเบอร์ดี้ “ทำได้หรือเปล่า” แล้วโบกมือโดยไม่พูดแต่เป็นเชิงว่า…เราทำได้แล้ว…ทำสิ…ตะโกนออกมาดัง ๆ ได้เลย! / หันกลับมามองการถูกโหวตคว่ำในไทย และอีกหลากหลายเหตุการณ์อันมืดมิด ล้าหลัง ดิ่งเหว ในทุกวันนี้ (ผู้เขียนได้แต่ถอนหายใจยาว ๆ)

หมายเหตุ: คอลัมน์ Art นอกสายตา จะเกี่ยวกับเบื้องหลังไอเดียงานกำกับศิลป์ของหนังเรื่องนี้ ที่มีรายละเอียดสื่อความหมายได้น่าสนใจมาก โปรดติดตาม