ThaiPublica > คอลัมน์ > วัคซีน COVID-19 แล้วไงต่อ?

วัคซีน COVID-19 แล้วไงต่อ?

18 มกราคม 2021


ดร. นพ.มโน เลาหวณิช ผู้อำนวยการสถาบันคานธี อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่เข้าสู่ระยะสำคัญ เพราะมีตัวละครสำคัญโผล่ขึ้นมาคือวัคซีน แต่เป็นเรื่องเจ้ากรรมอย่างหนึ่งที่วัคซีนที่จะใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดนี้ผลิตกันออกมาจากหลายบริษัททั่วโลก เจ้าแรกที่ประกาศความสำเร็จและได้มีการระดมฉีดกันไปทั่วประเทศแล้วคือรัสเซีย ในนามของ Sputnik V ซึ่งรัฐบาลของรัสเซียให้การรับรองและผลิตออกมาเป็นจำนวนมาก มีข้อดีที่สำคัญคือราคาถูกว่าวัคซีนที่ผลิตกันออกมาจากทุกประเทศ และรัฐบาลให้การสนับสนุนเต็มที่

รองมาคือของจีนในนามของ Sinovac ซึ่งชาวโลกมีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับวัคซีนทั้งสองตัวนี้ แม้จะออกมาเป็นชาติแรกๆ ก็ตาม อาจเป็นเพราะมีเรื่องการเมืองระหว่างประเทศเข้าแทรกแซง อาจเรียกได้ว่าการผลิตวัคซีนครั้งนี้ได้รับอิทธิพลทางการเมืองมากกว่ายุคสมัยใดในประวัติศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก

อีกรายหนึ่งที่สำคัญคือที่วัคซีนที่คิดสูตรโดยมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก ออกซ์ฟอร์ด และผลิตโดยบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษ ซึ่งหลายประเทศให้การรับรอง ตั้งแต่ที่ยังไม่ได้การรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย ยุโรป หรืออเมริกาก็ตาม ซึ่งอาจเป็นเพราะมีชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลกรับประกันก็เป็นได้

ส่วนวัคซีนที่ได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในยุโรป คือวัคซีนของบริษัทยายักษ์ใหญ่ของอเมริกา Pfizer และ Moderna โดยวัคซีนที่ผลิตโดยบริษัท Pfizer นั้นมีข้อเสียประการสำคัญคือต้องเก็บไว้ในอุณหภูมิที่เย็นจัด -70 องศาเซลเซียส ซึ่งต้องการการขนส่งที่พิเศษมากๆ และตัวยาเองก็หมดอายุอย่างรวดเร็ว ต้องนำมาฉีดในเวลาไม่ถึงสัปดาห์นับแต่วันที่ผลิตออกมาจากโรงงาน จนทำให้รัฐบาลของปากีสถานประกาศออกมาว่าวัคซีนตัวนี้ไม่เหมาะสำหรับประเทศของตนเนื่องจากไม่สามารถที่จะหาห้องเย็นอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมาเก็บได้

ในขณะที่ยาที่ผลิตจากบริษัท Moderna ไม่ต้องการที่เก็บรักษาที่เย็นจัด และมีอายุยืนนานกว่ามาก วัคซีนที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดนี้ ประชาชนต้องได้รับการฉีดจำนวน 2 ครั้งเพื่อให้ได้ภูมิคุ้มกัน

ส่วนอีกบริษัทยาอีกแห่งหนึ่งของอเมริกาคือ Johnson and Johnson คุยว่าวัคซีนตัวใหม่ของบริษัทนั้นจะสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดเพียงครั้งเดียว และเป็นที่แน่นอนว่าราคาย่อมแพงกว่าวัคซีนของบริษัทต่างๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด

องค์การอนามัยโลกเกิดความเป็นห่วงว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะสามารถที่จะบริการให้ประชาชนของตนฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ได้ในเร็ววัน ในขณะที่ประเทศที่กำลังพัฒนาไม่อาจที่จะหาวัคซีนใดๆ มาฉีดให้ประชาชนของตนได้เลย และการแพร่ระบาดนี้จะอยู่กับโลกใบนี้ไปอีกนานแสนนาน

ประเทศที่ประชากรนับถือศาสนาอิสลามเป็นส่วนใหญ่ก็ปริวิตกกันไปมากถึงที่มาของวัคซีนนี้ เพราะคำว่า “vaccine” นั้นมีรากศัพท์จากในภาษาลาตินซึ่งแต่เดิมทำจากเลือดของวัว แต่ก็พบว่าสามารถทำจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นได้เช่นกัน ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจมาจาก “หมู” ถ้าเช่นนั้นก็ต้องผ่านการรับรองทางองค์กรทางศาสนาอิสลามเสียก่อนว่าไม่ได้ทำจากส่วนใดของหมูเลย จึงกลายเป็นเรื่องการเมืองในระดับโลกที่บริษัทยาทั้งหลายต้องนำไปพิจารณา และเปิดเผยสูตรและกระบวนการผลิตอย่างละเอียด

อย่างไรก็ตาม เป็นที่เชื่อมั่นกันว่าวัคซีนนั้นเป็นคำตอบสุดท้ายในการควบคุมการแพร่ระบาดใหญ่ครั้งนี้ได้ เมื่อข่าวการรับรองวัคซีนของบริษัท Pfizer โดยรัฐบาลสหรัฐอเมริกาประกาศออกมานั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกขานรับอย่างรวดเร็ว และราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวนั้นทะยานขึ้นอย่างมาก

ตามปกติแล้วการที่บริษัทยาจะผลิตวัคซีนออกมาใหม่สักตัวหนึ่งนั้นต้องใช้เวลาไม่ต่ำว่า 5 ปี และอาจจะยาวนานถึง 10 ปีทีเดียว ไม่ใช่เวลาเป็นเดือนๆ อย่างที่ทราบกันในปัจจุบัน เพราะต้องผ่านขั้นตอนการวิจัยมากมาย เป็นต้นว่า การทดลองในหลอดทดลอง หากทราบว่ามีผลดีจึงนำยาตัวนั้นไปทดลองในสัตว์ โดยเริ่มจากหนูทดลองประเภทต่างๆ ไปจนถึงลิงไม่มีหางขนาดใหญ่ (เช่น ลิงชิมแปนซี) เมื่อผ่านจากทดลองในสัตว์แล้วจึงเริ่มทดลองในคน

การทดลองในคนนั้น เป็นเรื่องใหญ่มากโดยแบ่งออกเป็น 4 ระยะใหญ่ๆ

ในระยะแรกทดลองกับอาสาสมัครขนาดเล็ก เพื่อดูพิกัดยา ผลข้างเคียงอันไม่พึงปรารถนาของยาตัวนั้น หากผ่านก็เข้าสู่ระยะที่สอง ดูการหมุนเวียนของยาในร่างกายมนุษย์ จากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีทั้งหญิงชาย โดยอาสาสมัครแต่ละคนต้องได้รับการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ถูกเจาะเลือดนับสิบครั้งเพื่อไปวัดปริมาณยาในกระแสโลหิต และผู้วิจัยต้องเฝ้าระวังอาสาสมัครเข้าร่วมวิจัยเป็นอย่างดี

เมื่อผ่านจึงเข้าสู่ระยะที่สามคือเปรียบเทียบกลุ่มที่ได้รับยากับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาเพื่อศึกษาว่ามีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างไรบ้าง มีการคำนวณทางสถิติเปรียบเทียบกันอย่างชัดเจน เมื่อผ่านทั้งสามขั้นตอนนี้แล้วจึงนำยาไปขอจดทะเบียนกับกรมอาหารและยากระทรวงสาธารณสุขได้

ต่อจากนั้นจึงเข้าสู่ระยะที่สี่ คือ ทดลองฉีดในประชากรจำนวนมาก โดยรวบรวมสถิติการได้รับยาจากประชาชนกลุ่มต่างๆ เปรียบเทียบกัน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผลข้างเคียงของยาบางชนิดนั้นอาจไม่แสดงออกในระยะสั้น แต่แสดงออกในระยะยาว

ไม่ใช่ว่ายาที่ผลิตออกมาผ่านขั้นตอนทั้งสี่นี้แล้วจะปลอดภัยทั้งหมด ในประวัติศาสตร์วงการแพทย์เคยมียาที่ผ่านการรับรองของกระทรวงสาธารณสุขมาแล้วอย่างดีและทำให้เกิดผลรุนแรงหลังจากนั้น ตัวอย่างเช่น เมื่อประมาณ 50 ปีมาแล้ว ยาแก้แพ้ท้องในหญิงตั้งครรภ์ของบริษัทหนึ่ง มีประสิทธิภาพดีมากในการลดอาการแพ้ท้อง แต่ทารกจำนวนมากที่มารดาได้รับยาชนิดนี้แล้ว แขนกุดขากุด จนมีการฟ้องร้องกันในสหรัฐอเมริกาและยุโรปมาแล้ว หากคำนึงถึงกรอบการทำการวิจัยในคนนี้แล้ววัคซีนของทุกบริษัทและทุกชาติ ยังไม่มีความน่าเชื่อถือและยังปลอดภัยไม่เพียงพอทั้งสิ้น!!

หากถามว่า “จำเป็นไหมที่ประชาชนทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีน” คำตอบคือไม่จำเป็น

เพราะจากวิชาระบาดวิทยา การสร้างภูมิต้านทานหมู่นั้นจะเกิดขึ้นเมื่อมีจำนวนประชากรในชุมชนนั้นกว่า 60% มีภูมิต้านทาน ซึ่งอาจมาจากการฉีดวัคซีนหรือร่างกายสร้างภูมิต้านทานไวรัสขึ้นมาจากการที่เคยป่วยด้วยโรคนี้ หรือเคยสัมผัสกับผู้ป่วยมาก่อน ประชากรที่เหลือทั้งชุมชนก็จะมีภูมิต้านทานเชื้อไวรัสนี้ตามไปด้วย (herd immunity) สำหรับประเทศไทยอาจจำเป็นฉีดวัคซีนให้ประชากรจำนวนประมาณ 40 ล้านคน ก็น่าจะเป็นที่พอเพียง

การเมืองได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการผลิตวัคซีนจนถึงกระบวนการจำหน่ายจ่ายแจก และระดมฉีดให้แก่ประชาชนตั้งแต่ต้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือโครงการ Warps Speed (ความเร็วแสง) ของอเมริกาภายใต้การบริหารของประธานาธิบดี Donald Trump โดยนำศัพท์จากภาพยนตร์วิทยาศาสตร์มาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ ว่าเป็นการเร่งรัดการผลิตอย่างที่สุดแล้ว แรงจูงใจสำคัญของผู้นำท่านนี้คือใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของตนและประกาศหลายครั้งว่าจะต้องออกมาก่อนวันเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาให้ได้ แต่จนแล้วจนรอดวัคซีนที่ตนเองคุยนักคุยหนาก็คลอดออกมาไม่ทัน หนำซ้ำเจ้าตัวเองยังติดเชื้อไวรัสเข้าเต็มที่ แม้จะเข้าโรงพยาบาลไปสามวันก็ตาม ความน่าเชื่อถือของประธานาธิบดีจึงตกต่ำเป็นอย่างมาก

หนำซ้ำเมื่อว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาเริ่มเข้ามารับมอบงาน จึงทราบว่าที่ประธานาธิบดี Donald Trump ได้วางแผนระดมฉีดวัคซีนทั่วประเทศนั้นยามีปริมาณเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น และไม่มีโอกาสที่จะสำเร็จอย่างที่คุยไว้ได้เลย เป็นการทิ้งทวนอีกครั้งเพื่อสร้างความสับสนให้ผู้นำคนใหม่ จนทำให้ว่าที่ประธานาธิบดี Joe Biden จึงต้องประกาศนโยบายที่จะฉีดวัคซีนให้คนอเมริกันหนึ่งร้อยล้านคนในหนึ่งร้อยวันแรกที่เข้ามารับตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ และขอความร่วมมือให้คนอเมริกันทุกคนสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องหนึ่งร้อยวันเช่นกัน

กระนั้นในโลกตะวันตกมีประชาชนจำนวนมากที่ไม่เชื่อว่าการแพร่ระบาดนี้มีอยู่จริงแต่เป็นเพียงทฤษฎีสมคิดของนักการเมืองที่ร่วมมือกับนายทุนสร้างข่าวเท็จนี้มาเพื่อหากผลกำไรต่างหาก จึงไม่ยอมใส่หน้ากากอนามัยเพราะเชื่อว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้น

ในบรรดาประเทศทั้งหลายทั่วโลก อินเดียเป็นประเทศที่เอาจริงเอาจังในการฉีดวัคซีนมากที่สุด มีการซักซ้อมกันหลายครั้งในการกระจายยา และเป็นปฏิบัติการเชิงรุกโดยเริ่มตั้งแต่วันศุกร์ที่ 15 มกราคม ที่ผ่านมาให้เป็นการฉีดจริงทั่วประเทศ แม้อินเดียมีประชากรมากถึงพันสามร้อยล้านคน และจำนวนการติดเชื้อค่อนข้างสูง แม้จะไม่มีระบบสาธารณสุขใดๆ รองรับ อัตราการตายของประชาชนก็ยังอยู่ในลำดับที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับอเมริกา อังกฤษ และเกือบทุกประเทศในยุโรป

กระนั้นก็ตาม การสนับสนุนให้มีการฉีดวัคซีนในหมู่ประชาชนก็มิใช่เป็นเรื่องง่าย ต้องเป็นผู้ที่ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนและเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจนเป็นที่ยอมรับของสังคม กรณีนี้วัคซีนของบริษัท Pfizer จึงได้รับการประชาสัมพันธ์อย่างมากจนถึงกับนำไปฉีดให้สมเด็จพระราชินีนาถของอังกฤษพร้อมพระสวามี นักการเมืองและคนชั้นนำในประเทศอังกฤษและยุโรปอย่างรวดเร็ว แม้จะมีราคาแพงกว่าวัคซีนทุกยี่ห้อก็ตาม ด้วยความเชื่อว่าสามารถสร้างภูมคุ้มกันได้กว่า 95% ก็ตาม และเป็นที่น่าสังเกตว่าวัคซีนที่ผลิตในอเมริกาและยุโรป ล้วนมีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์

ในขณะที่วัคซีนของประเทศจีนนั้นมีประสิทธิภาพเพียงร้อยละ 50.40 เท่านั้น และเป็นวัคซีน Sinovac ของบริษัทรัฐวิสาหกิจของจีนโดยตรง ซึ่งเป็นวัคซีนที่รัฐบาลไทยได้สั่งซื้อกันมาแล้ว และจะมาถึงประเทศไทยในเดือนหน้านี้

ข่าวนี้ทำให้ประชาชนในประเทศไทยตกอกตกใจกันไม่ใช่น้อย รัฐบาลไทยถูกจีนหลอกกระนั้นหรือ คำตอบคือมิใช่เลย

สาเหตุที่ตัวเลขที่แสดงประสิทธิภาพของวัคซีนของจีนนั้นต่ำเตี้ยเป็นพิเศษก็เพราะว่ามีการเก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่แพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางสาธารณสุขในประเทศบราซิล หากมีการเก็บข้อมูลจากประชากรกลุ่มใหญ่ก็ย่อมได้ตัวเลขที่สูงไม่แพ้วัคซีนที่ผลิตโดยบริษัทยายักษ์ใหญ่ในยุโรปอเมริกาเหมือนกัน

สิ่งที่ยังขาดอยู่คือการประชาสัมพันธ์ให้ชาวไทยทราบกันทั่วไปว่าวัคซีนของจีนมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลไม่แพ้ที่บริษัทในยุโรปและอเมริกาผลิตออกมาขาย กระนั้นก็ตาม การสร้างความเชื่อถือนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ลำพังโฆษก ศบค. คุณหมอทวีศิลป์คนเดียวจะออกมาอธิบายย่อมไม่พอแน่ ต้องมีผู้เชียวชาญหลายคนออกมาแถลงข่าวอย่างเป็นทางการให้ประชาชนทราบจึงจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้

เรื่องการผลิตวัคซีนนั้นประเทศไทยมีโชคดีอีกหลายอย่าง ที่เรามีสถาบันวัคซีนไทยซึ่งเป็นหน่วยงานระดับชาติซึ่งล้นเกล้ารัชกาลที่ ๙ ได้ทรงโปรดให้สร้างไว้ ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล ยิ่งไปกว่านั้นบริษัท AstraZeneca ของอังกฤษจะดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนสูตรที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดคิดได้นี้ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ขณะที่สองคณะสำคัญของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอันได้แก่ คณะแพทยศาสตร์ และเภสัชศาสตร์ ต่างกำลังวิจัยค้นคว้าการผลิตวัคซีนตัวใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีของไทยเองและแถลงว่าจะสามารถผลิตได้ในสองปีข้างหน้า ซึ่งเท่ากับเป็นการเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ทำให้อุตสาหกรรมยาและเวชภัณฑ์ของไทยนั้นได้แจ้งเกิดเสียที เป็นที่น่าสังเกตว่าองค์การเภสัชกรรม ของไทยนั้นพยายามผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาหลายปีดีดักแล้ว แต่ถึงปัจจุบันยังเพิ่งเริ่มขั้นตอนการวิจัยในคน ยังอีกหลายปีนักที่จะผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ให้คนไทยได้ใช้กัน อาจเป็นเพราะว่าทำตามขั้นตอนการผลิตยาอย่างเข้มงวด ไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกนั่นเอง

ส่วนในประเทศไทยนั้นรัฐบาลได้ประกาศขั้นตอนในการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชนอย่างชัดเจน เป็นต้นว่า เริ่มจากบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขก่อน ตามด้วยประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวเช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรังต่างๆ ฯลฯ และตามด้วยกลุ่มอาชีพที่ต้องสัมผัสกับคนเป็นจำนวนมาก เช่น พนักงานในรถประจำทาง คนขับรถแท็กซี่ ขับรถตู้ นักโทษในเรือนจำ ทหารในค่ายทหาร รวมไปถึงครูอาจารย์ในสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นต้น ซึ่งการจัดลำดับความสำคัญนั้นมาจากเงื่อนไขความจำเป็นจากกติกาของจริยธรรมทางการแพทย์

เป็นที่น่าสังเกตว่าวัคซีน Sputnik V ของรัสเซียนั้น ได้รับการรับรองจากรัฐบาลรัสเซียเป็นรายแรกของโลก ได้รับการฉีดเป็นประเทศแรกของโลกก็ว่าได้ และราคายังถูกว่าของบริษัทยาในอเมริกาและยุโรปเป็นสิบเท่า แต่เป็นที่รู้จักกันน้อยยิ่งกว่าวัคซีนของจีนเสียอีก เกือบจะเรียกได้ว่าไม่มีสำนักข่าวระหว่างประเทศใดๆ นำเสนอข่าวเลย แม้กระทั่งชาวรัสเซียจำนวนนับล้านได้รับการฉีดวัคซีนตัวนี้ไปแล้วก็ตาม ประธานาธิบดีรัสเซียเองปฏิเสธที่จะรับการฉีดวัคซีนตัวนี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าตนอายุ 68 ปีแล้ว แก่เกินไปจนอยู่นอกเกณฑ์การฉีดยาตัวนี้นั่นเอง

กระนั้นก็ตาม วัคซีนของรัสเซียนั้นประสบความสำเร็จก่อนวัคซีนทุกตัวในทุกประเทศ อัตราการแพร่ระบาดในประเทศรัสเซียนั้นลดลงอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน และราคายังย่อมเยากว่าวัคซีนทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นของจีน อเมริกา หรือยุโรป จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างมากหากรัฐจะสั่งซื้อ Sputnik V มาฉีดให้ประชากรไทย

แม้ว่าวัคซีนจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ก็ตาม ไวรัสตัวนี้ยังคงจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกไม่ต่ำกว่าสองปี นั่นคือไม่ต่ำกว่าสิ้นปี พ.ศ. 2565 เรายังจำเป็นต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ เว้นระยะห่างใช้ชีวิตวิถีใหม่กันต่อไปอีกอย่างแน่นอนครับ