ThaiPublica > Sustainability > Contributor > Seaspiracy : ด้านมืดอุตสาหกรรมประมงกับทางออกที่ถูกบิดเบือน

Seaspiracy : ด้านมืดอุตสาหกรรมประมงกับทางออกที่ถูกบิดเบือน

11 เมษายน 2021


ดร.เพชร มโนปวิตร

Seaspiracy นับว่าเป็นสารคดีที่ทำให้เกิดกระแสและการตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับปัญหาการอนุรักษ์ทะเล โดยเฉพาะด้านมืดของอุตสาหกรรมประมง แต่ขณะเดียวกันก็เกิดข้อกังขาถึงความถูกต้องของข้อมูล และความน่าเชื่อถือของบทสรุปต่างๆ บทความชิ้นนี้พยายามอธิบายหลายประเด็นที่ถูกเปิดไว้ และชวนคิดถึงทางออกที่เป็นไปได้ในการฟื้นฟูมหาสมุทร ระบบนิเวศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของโลก

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าสารคดีได้เปิดประเด็นตั้งคำถามได้น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในวงการสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นด้วยความน่าหลงใหลและความความมหัศจรรย์ของมหาสมุทร แล้วไล่เรียงไปถึงปัญหาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นขยะพลาสติกในทะเล การจับสัตว์ทะเลอย่างโลมามาแสดงในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ฉลามที่ยังถูกล่าเพื่อเอาครีบ ขยะจากเครื่องมือประมง (ghost fishing) ซึ่งนำไปสู่การเปิดเผยด้านมืดของอุตสาหกรรมประมงที่สร้างผลกระทบมากมาย ตั้งแต่การทำลายระบบนิเวศใต้น้ำของเรืออวนลากซึ่งรุนแรงยิ่งกว่าการทำลายป่าบนบก การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (bycatch) ของเครื่องมือประมงอย่างเบ็ดราวและอวนลาก ที่คุกคามสัตว์ใกล้สูญพันธุ์นานาชนิดตั้งแต่วาฬ โลมา ฉลาม เต่าทะเล และนกทะเลจำนวนมาก ไปจนถึงการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเลในประเทศยากจนโดยเรือประมงข้ามชาติ และการใช้แรงงานทาสในห่วงโซ่อุปทานของการผลิตอาหารทะเล

ในแง่นี้สารคดีได้สะท้อนภาพความวิกฤติต่างๆ ในทะเลที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ ฉายให้เห็นชะตากรรมของมหาสมุทรที่ถูกกระทำราวกับไม่มีเจ้าของ ซึ่งเป็นกรณีคลาสสิกของทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ “tragedy of the commons” หรือโศกนาฏกรรมของสมบัติส่วนรวมที่มีลักษณะเปิด ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดสถานการณ์มือใครยาวสาวได้สาวเอา คือมีแต่คนตักตวงผลประโยชน์แต่ไม่มีใครรักษา เพราะคิดว่าถึงเราไม่เอา คนอื่นก็เอาอยู่ดี จนสุดท้ายธรรมชาติก็พังพินาศ

หนังมีบทสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์เก่งๆ หลายคน ไม่ว่าเป็น Cullum Roberts และ Sylvia Earle ที่วิจารณ์ปัญหาประมงอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้ง Christina Hicks ที่พูดเรื่องเงินอุดหนุนจำนวนมหาศาลจากภาครัฐที่ทุ่มลงไปในอุตสาหกรรมประมงที่ขาดทุนต่อเนื่องมายาวนานอันเนื่องมาจากการจับปลามากเกินขนาด หลายคนตอกย้ำความสำคัญของการขยายเขตอนุรักษ์ที่ห้ามทำประมงอย่างเคร่งครัด (no-take zone) ทั่วโลก ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลพยายามผลักดันให้เกิดการจัดตั้งพื้นที่คุ้มครองให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของพื้นที่มหาสมุทร

แต่สารคดีเรื่องนี้ก็มีจุดอ่อนหลายอย่างมากๆ หลายเรื่องที่นำเสนอไม่ใช่เรื่องใหม่เลย เพราะมีสารคดีเรื่องอื่นๆ ที่นำเสนออย่างเจาะลึกก่อนหน้านี้ไปแล้ว1 (ดูชื่อสารคดีอื่นๆ ได้ท้ายบทความ) แต่สิ่งที่แตกต่างคือดูจะตั้งใจทำให้ทุกอย่างดราม่าเกินจริงตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งก็อาจนับว่าเป็นลีลาการนำเสนอ ว่ากันไม่ได้เพราะก็คงมีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ แต่หัวใจสำคัญของสารคดีคือความน่าเชื่อถือ และความถูกต้องของข้อมูล รวมไปถึงการนำเสนอบทสัมภาษณ์ที่ไม่ตัดต่อจนชี้นำเกินไป

จุดอ่อนแรกคือการพยายามไล่เรียงปัญหาทุกอย่างเกี่ยวกับทะเลมาอัดใส่ไว้ในสารคดีความยาวแค่ 90 นาที ทำให้หนังแตะปัญหาทุกอย่างแบบผิวเผิน ไม่ได้นำเสนออย่างรอบด้าน และละเลยบริบทต่างๆ ที่เชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง

มิหนำซ้ำยังพยายามสื่อให้เข้าใจว่าทุกปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นทฤษฎีสมรู้ร่วมคิดระหว่างอุตสาหกรรมประมงและองค์กรอนุรักษ์ที่ทุจริตเพื่อหลอกหลวงผู้บริโภค โดยไม่ได้มีเหตุผลสนับสนุนหรือหลักฐานมารองรับอย่างเพียงพอ

การโจมตีและกล่าวหาองค์กรอนุรักษ์หลายแห่งว่ามีการทุจริต เป็นการเหมารวมและลดทอนความน่าเชื่อถือขององค์กรอนุรักษ์หลายๆ แห่งที่ทุ่มเททำงานมาเป็นเวลานาน รวมไปถึงการสรุปง่ายๆ ว่ามาตรฐานความยั่งยืนของอาหารทะเล เช่น MSC – Marine Stewardship Council (ให้การรับรองการประมงยั่งยืน) และ ASC – Aquaculture Stewardship Council (ให้การรับรองการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำยั่งยืน) หรือแม้แต่ตรา Dolphin safe ว่าเป็นเพียงการฟอกน้ำเงิน (blue wash) คือรับเงินมาแปะป้ายให้บริษัทต่างๆ เฉยๆ ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะการจะได้มาซึ่งมาตรฐานต่างๆ มีขั้นตอนและกระบวนการการตรวจสอบซึ่งดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบอิสระ จึงไม่ได้เป็นเรื่องง่ายที่บริษัทต่างๆ จะได้มาซึ่งมาตรฐานดังกล่าว

แน่นอนว่ามาตรฐานความยั่งยืนเหล่านี้ยังมีข้อจำกัดและจุดอ่อนอีกมาก โดยเฉพาะการนำมาใช้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีเงินทุนไม่มาก หรือในบางกรณีก็ยังจำเป็นต้องปรับปรุงเรื่องความโปร่งใส แต่อย่างน้อยก็เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ในการผลักดันให้อุตสาหกรรมประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำปรับเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติให้มีความยั่งยืนมากขึ้น สิ่งที่ต้องเรียกร้องมากกว่าคือการบังคับใช้มาตรฐานความยั่งยืนกับอุตสาหกรรมประมง และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นแค่ทางเลือก ที่ภาคธุรกิจจะปฏิบัติตามหรือไม่ ก็ได้เช่นในปัจจุบัน

ปัญหาใหญ่อีกอย่างคือ การใช้ข้อมูลเก่า และการจัดฉากเพื่อนำเสนอประเด็นที่ต้องการ เช่น การเปรียบเรื่องการเพาะเลี้ยงกุ้งว่าทำให้เกิดการทำลายป่าชายเลนอย่างมโหฬาร (เป็นเรื่องจริงในอดีต) กับการใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่าเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลาป่นในอาหารสัตว์

ปัจจุบันสถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว มีการเข้ามาตรวจสอบทั้งในมิติของแรงงานและความยั่งยืนทั้งโดยองค์กรเอกชนและภาครัฐ โดยเฉพาะมาตรการแก้ปัญหาทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated fishing — IUU) หลังจากประเทศไทยถูกใบเหลืองจากสหภาพยุโรปเมื่อปี พ.ศ. 2558 ซึ่งหากไม่มีการแก้ไขจะถูกระงับการนำสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมงเข้าสู่ตลาดสหภาพยุโรป

กรณีดังกล่าวทำให้มีการยกเครื่อง จัดระเบียบประมงพาณิชย์ภายในประเทศไทยขนานใหญ่ ทั้งการขึ้นทะเบียนเรือกว่า 11,000 ลำ ทำการตรวจสอบเครื่องมือประมงประจำเรือ และมีระบบติดตามตำแหน่งเรือ (vessel monitoring system: VMS) โดยระบบดาวเทียมสำหรับเรือทุกลำที่มีขนาดใหญ่กว่า 30 ตันกรอส เพื่อป้องกันการเข้าไปทำประมงในพื้นที่อนุรักษ์ หรือเขตทะเลชายฝั่ง 3-6 ไมล์ทะเลที่ห้ามทำประมงพาณิชย์ ในเรื่องสวัสดิการแรงงานเองก็มีการปรับปรุงขึ้นกว่าเดิมมาก

สิ่งที่สารคดีน่าจะพูดถึงคือความพยายามแก้ปัญหาที่ผ่านมา และอุปสรรคที่ยังพบอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่การย้อนกลับไปสร้างภาพจำแบบเดิมๆ ซึ่งไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ

สำหรับคนไทยที่พอมีพื้นฐานเรื่องนี้อยู่บ้าง คงจะจับผิดฉากการสัมภาษณ์แรงงานทาสในเรือประมงในประเทศไทยตอนท้ายๆ ได้ไม่ยาก ฉากดังกล่าวอ้างว่าเป็นการสัมภาษณ์ลับ ไม่เปิดเผยตัวตนของแรงงานทาส แต่แรงงานทุกคนพูดภาษากลางชัดเปรี๊ยะ ทั้งๆ ที่เป็นที่ทราบกันดีว่าแรงงานประมงในปัจจุบันเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่พม่าก็กัมพูชา คนไทยอาจจะยังมีทำงานบนเรือบ้าง ส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นกัปตันก็ช่างเครื่อง นอกจากนั้นหากฟังบทสัมภาษณ์ดูก็น่าสงสัยว่าเป็นสคริปต์ที่ตั้งใจเขียนขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งเนื้อหาและภาษาที่ไม่สมจริง ซึ่งลดทอนความน่าเชื่อถือลงไปใหญ่

นอกจากนั้นสารคดีเรื่องนี้ยังนำข้อมูลจากงานวิจัยหลายชิ้นมาใช้โดยไม่อธิบายถึงที่มาที่ไป ตัวอย่างที่ถูกพูดเยอะคือการใช้พาดหัวว่า “ปลาจะหมดไปจากมหาสมุทรภายในปี ค.ศ. 2048” ซึ่งเป็นการอ้างถึงงานวิจัยอันโด่งดังของ Boris Worm และคณะ ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Science เมื่อปี ค.ศ. 2006 ที่กล่าวถึงผลกระทบของการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพต่อนิเวศบริการของมหาสมุทร2

ความจริงงานวิจัยชิ้นนั้นไม่ได้คาดการณ์การสูญพันธุ์ของปลาในทะเล เพียงแต่อ้างอิงผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากประมงพาณิชย์ซึ่งมีการจับปลาเกินขนาดติดต่อกันมาเป็นเวลานาน จนมีแนวโน้มว่าการทำประมงปลาเศรษฐกิจบางชนิดน่าจะล่มสลายไปภายในปี ค.ศ. 2048 หากไม่มีการลงทุนในเรื่องของประมงยั่งยืนและป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล แต่ตัวเลขปี 2048 ถูกสื่อนำไปพาดหัวกันอย่างแพร่หลาย บางฉบับถึงกับเรียกว่าเป็นปีที่ปลาจะสิ้นโลก

Boris Worm ซึ่งเป็นนักชีววิทยาเชิงอนุรักษ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนักวิชาการด้านการประมงว่าผลการวิเคราะห์บางอย่างไม่ถูกต้อง มีการเขียนงานวิจัยตอบโต้กันหลายครั้ง โดยเฉพาะ Ray Hilborn ตัวพ่อของนักวิชาการประมงที่เชื่อมั่นอย่างแรงกล้าเกี่ยวกับหลักการ MSY (Maximum Sustainable Yield) หรือการกำหนดปริมาณปลาที่สามารถจับได้สูงสุดอย่างยั่งยืนโดยไม่กระทบต่อประชากรปลาในระยะยาว ซึ่งเป็นหลักการที่นักชีววิทยาทางทะเลสายอนุรักษ์หลายคนกังขาเช่นกันว่าจะเป็นไปได้แค่ไหนในโลกความเป็นจริง

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือแทนที่จะตีกันจนแตกหัก สามปีต่อมา Boris ได้ร่วมกับ Ray และนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ เขียนเปเปอร์ออกมาอีกชิ้นลงในวารสาร Science ว่าด้วยการฟื้นฟูประมงของโลก3 เพื่อชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์อาจจะไม่แย่อย่างที่คิด และมีตัวอย่างจากหลายพื้นที่ที่มีการจัดการประมงได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยชิ้นนั้นก็ได้สรุปว่า 63% ของประชากรปลาทั่วโลกที่มีการประเมินยังอยู่ในสภาวะที่น่าเป็นห่วงและถูกจับออกมามากเกินไป จึงจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟู ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายของการประมงและการอนุรักษ์ไปพร้อมๆ กันนั้น มีความเป็นไปได้ด้วยการใช้วิธีการจัดการแบบผสมผสาน เช่น การจำกัดปริมาณการจับ การปรับเปลี่ยนและจำกัดเครื่องมือบางประเภท การจัดแบ่งเขตการใช้ประโยชน์ (ocean zoning หรือ marine spatial planning) การใช้กลไกทางเศรษฐศาสตร์ งดเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ไปจนถึงการปิดพื้นที่เพื่อการอนุรักษ์

งานวิจัยชิ้นสำคัญสิบปีถัดมาในปี ค.ศ. 20164 พบว่าจากข้อมูลการประมง 4,714 แห่งที่มีการประเมิน มีการจับปลาเกินขนาดถึง 68% ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)5 ที่พบว่าปริมาณสัตว์น้ำคงเหลือทั่วโลก อยู่ในสภาวะสมบูรณ์ หรือยังไม่ถูกทำประมงเกินศักยภาพในการทดแทนเพียง 10% เท่านั้น ส่วนที่เหลืออีก 61% อยู่ในภาวะที่มีการทำการประมงเต็มศักยภาพ (fully fished) และ 29% อยู่ในภาวะที่มีการทำประมงเกินขนาด (over fished) ไปเรียบร้อยแล้ว

บทสรุปสำคัญคือหากยังมีการทำประมงอย่างไม่บันยะบันยังอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จะส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเล ห่วงโซ่อาหาร ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลและมหาสมุทร และที่สำคัญคือ ความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลกในอนาคต แต่เรายังมีโอกาสแก้ปัญหานี้ได้ มีพื้นที่หลายแห่งที่การประมงมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีเมื่อมีการจัดการอย่างถูกต้อง

Boris เองได้ทำการวิเคราะห์และเสนอความเห็นอีกครั้งว่า6 ทั่วโลกจำเป็นต้องมีการปฏิรูปกิจการประมงอย่างจริงจัง ลดกำลังการจับ ยกเลิกเงินอุดหนุนจากรัฐ รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดาวเทียมเพื่อติดตามเรือประมง เพื่อแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อันจะนำไปสู่การล่มสลายของประชากรปลาและความหลากหลายทางชีวภาพในมหาสมุทร

แน่นอนว่าหนัง Seaspiracy ไม่ได้อธิบายบริบทและทางออกเหล่านี้เลย ทำให้ผู้ชมส่วนใหญ่อาจรู้สึกจนตรอกกับปัญหาต่างๆ และนำไปสู่บทสรุปของสารคดีเรื่องนี้ว่า ทางออกที่ดีที่สุดที่ทุกคนทำได้คือเลิกกินปลา

บทสรุปที่บอกให้ทุกคนเลิกกินปลาดูจะไม่ใช่ทางออกที่เป็นจริงเลย ทุกวันนี้คนหลายพันล้านคนยังคงอาศัยปลาจากทะเลเป็นแหล่งโปรตีน และมองในมุมนิเวศวิทยา มหาสมุทรคือแหล่งผลิตโปรตีนที่มีประสิทธิภาพสูงสุด สร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศน้อยที่สุดแล้ว เมื่อเทียบกับระบบผลิตอาหารทางบกแบบอื่นๆ ที่ต้องใช้สารเคมี ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศดั้งเดิม

ปลาทะเลส่วนใหญ่โดยเฉพาะกลุ่มปลาผิวน้ำ (pelagic fish) เช่น ปลาทู ปลาโอ ปลาข้างเหลือง ปลาหางแข็ง ปลาอินทรี เป็นกลุ่มปลาที่หากินในมวลน้ำ บางชนิดกินแพลงก์ตอน บางชนิดกินสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง บางชนิดก็กินปลาขนาดเล็กกว่าเป็นอาหาร ปลาพวกนี้มีถิ่นอาศัยกว้างไกล มีระยะเวลาวางไข่สั้นประมาณ 2-3 เดือน เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ภายใน 8-12 เดือน ออกไข่คราวละ 5 หมื่นถึงกว่าแสนฟอง จึงขยายพันธุ์และทดแทนประชากรได้อย่างรวดเร็ว หากมีการจัดการประมงที่ดีย่อมสามารถรองรับการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมได้

อีกด้านหนึ่งการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็เป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยสร้างงานและมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประชากรทั่วโลก รวมทั้งช่วยแบ่งเบาแรงกดดันจากการทำประมงได้ การเลือกชนิดสัตว์น้ำในการเพาะเลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญอีกด้านที่จะเป็นหลักประกันเรื่องความยั่งยืน สัตว์ เช่น กลุ่มหอยสองฝาหรือปลิงทะเลที่กินแพลงก์ตอนและเศษซากอินทรีย์เป็นอาหาร เป็นกลุ่มที่สามารถเพาะเลี้ยงได้อย่างยั่งยืน และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก

ปัจจุบันยังมีแนวคิดเรื่อง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำแนวธรรมชาติแบบผสมผสาน (integrated multi-trophic aquaculture) ซึ่งเป็นการลอกเลียนแบบระบบนิเวศเพื่อสร้างวงจรห่วงโซ่อาหารที่สมบูรณ์ คือมีผู้ผลิต เช่น สาหร่าย ผู้บริโภค เช่น ปลา หอยสองฝา หอยเม่น หนอนทะเล และผู้กำจัดของเสีย เช่น ปลิงทะเล ของเสียจากสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งกลายเป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตอีกชนิด นับเป็นวิวัฒนาการของการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนที่เป็นทางออกหนึ่งของระบบผลิตอาหารได้

นอกจากการเรียกร้องให้ประมงพาณิชย์และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำมีความรับผิดชอบและมีความยั่งยืนมากขึ้นแล้ว ทางออกอีกด้านที่สำคัญมาก คือ การสนับสนุนประมงพื้นบ้านที่มีแนวคิดด้านการอนุรักษ์ มีการดำเนินงานปกป้องระบบนิเวศชายฝั่ง เพื่อเป็นหลักประกันว่าระบบนิเวศสำคัญและทำหน้าที่เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำอย่าง ป่าชายเลน หญ้าทะเล แนวปะการังจะได้รับการปกป้อง และไม่ถูกทำลายจากการทำประมงแบบทำลายล้าง รวมไปถึงการเลือกใช้เครื่องมือที่ปลอดภัยต่อสัตว์ทะเลหายากชนิดอื่นๆ

ไม่มีทางปฏิเสธได้ว่าทะเลของเราถูกทำร้ายและทำลายมานาน และทุกวันนี้ก็ยังคงถูกคุกคามจากสารพัดปัญหา แต่ก็มีคนอีกมากมาย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ องค์กรอนุรักษ์ เจ้าหน้าที่ภาครัฐ อาสาสมัคร ที่ทำงานกันอย่างหนักทุกๆ วัน เพื่อหยุดยั้งการทำลายดังกล่าว

มหาสมุทรยังคงเป็นระบบนิเวศที่เป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารที่สำคัญที่สุด แต่แน่นอนว่าเราต้องช่วยกันปกป้องมหาสมุทรให้มากกว่านี้

การทำงานแก้ปัญหายากๆ ทำได้ไม่ง่าย และมีรายละเอียดมากมาย การสร้างจิตสำนึกให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากๆ แต่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้ด้วยข้อมูลที่ไม่เป็นจริง

หมายเหตุ :

1. แนะนำสารคดีเรื่องอื่นที่เจาะลึกประเด็นปัญหาซึ่ง Seaspiracy นำเสนออย่างผิวเผิน

A Plastic Ocean: มลภาวะจากพลาสติกในมหาสมุทร
The Cove: การล่าโลมาที่เมืองไทจิในญี่ปุ่น
Sharkwater: การประมงฉลามและอุตสาหกรรมหูฉลาม
Blackfish: วาฬและโลมาในสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ
Chasing Coral: ชะตากรรมของปะการัง
End of the Line: อุตสาหกรรมประมง

เอกสารอ้างอิง

2.Worm et al. 2006. Impacts of Biodiversity Loss on Ocean Ecosystem Services

3. Worm et al. 2009. Rebuilding Global Fisheries

4. Costello et al. 2016. Global fishery prospects under contrasting management regimes

5.FAO 2014 The State of World Fisheries and Aquaculture.

6. Worm. 2016. Averting a global fisheries disaster.