ThaiPublica > คอลัมน์ > โลกที่ท้าทายของนักกิจกรรมอนาล็อกและดิจิทัลเพื่อสังคม

โลกที่ท้าทายของนักกิจกรรมอนาล็อกและดิจิทัลเพื่อสังคม

22 มกราคม 2019


กฤษฎา บุญชัย มูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

“ดอกไม้ ดอกไม้จะบาน บริสุทธิ์กล้าหาญ จะบานในใจ สีขาว หนุ่มสาวจะใฝ่ แน่วแน่แก้ไข จุดไฟศรัทธา เรียนรู้ ต่อสู้มายา ก้าวไปข้างหน้า เข้าหามวลชน ชีวิต อุทิศยอมตน ฝ่าความสับสน เพื่อผลประชา”

แม้จะผ่านไปเกือบสามสิบปี แต่เสียงแว่วของเพลงดอกไม้จะบาน ที่ประพันธ์โดยคุณจิระนันท์ พิตรปรีชา ยังคงดังอยู่ในมโนสำนึกของข้าพเจ้าและรุ่นพี่ๆ นักกิจกรรมทางสังคมที่ผันตัวเองจากรั้วมหาลัยมาทำงานสังคมในรูปแบบต่างๆ โลกของนักพัฒนาใน “ยุคแสวงหา” เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก คนทำงานสังคมจะต้องออกจาก comfort zone ของวิถีคนชั้นกลาง เข้าไปหา เรียนรู้ ร่วมทุกข์สุขกับคนชายขอบที่ด้อยโอกาส ไม่ว่าจะเป็นชาวนา กลุ่มชาติพันธุ์บนที่สูง ชุมชนสลัม ผู้ใช้แรงงาน ผู้หญิง เด็ก คนยากจน ที่ขาดอำนาจต่อรองในชีวิต เพื่อเข้าใจโลกชีวิตของพี่น้องอย่างลุ่มลึกในมุมมองคนใน แทนที่จะมองด้วยสายตาคนภายนอก กระบวนการเรียนรู้เช่นนี้เรียกร้องการรื้อถอนมายาคติและอัตตาทางสังคมของตนเองสูงมาก

ในบริบทของชุมชน เราไม่ได้เหนือกว่าชาวบ้านทางปัญญา จนถึงกับตระหนักว่า “เราไม่รู้อะไรเลย” เพราะคำตอบของปัญหาและทางออกนั้นไม่ได้อยู่ที่งานวิชาการ ไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลของราชการ หรือไม่ได้อยู่ในข่าวสารสื่อมวลชน แต่อยู่ในวิถีชุมชนซึ่งเป็นพื้นที่การประทะประสานของโลก รัฐ-ชาติ และท้องถิ่นผ่านรูปธรรมในชีวิตประจำวันของชุมชนทั้งยามปรกติและวิกฤติ

​จุดชี้ขาดของพลังอำนาจชุมชนไม่ใช่แค่เรื่องการเข้าถึงทรัพยากร ข้อมูลข่าวสาร หรือการมีช่องทางการต่อรองอำนาจ แต่อยู่ที่สำนึกทางปัญญาและความกล้าหาญที่จะแหวกกรอบพันธนาการทางสังคมต่างๆ นานา ปลดปล่อยตนเองเป็นอิสระ การ “จัดตั้ง” (การก่อรูปสำนึกใหม่) ด้วยการปลุกพลังของชุมชนขึ้นมาจึงมีความสำคัญมากที่จะเปลี่ยนชาวบ้านที่หวาดกลัว ไม่มีความมั่นใจในการต่อรองกับอำนาจต่างๆ มาเป็นชาวบ้านที่ “ลุกขึ้นสู้” ยืนยันในอัตลักษณ์ เป้าหมายชีวิตตนเองอย่างสง่าผ่าเผย เมื่อนั้นเสียงที่ไม่เคยถูกเปล่ง หรือถูกกลบจากเสียงแห่งอำนาจ ก็จะสามารถประกาศศักดิ์ศรีของตนเองได้ กระบวนการสร้างพลังสำนึกและปัญญาจากภายในที่จะขับเคลื่อนโลกภายนอก (insight out) จึงมีความสำคัญยิ่ง

​แต่เมื่อโลกเปลี่ยนสู่ภาวะทันสมัย ทั้งสถานการณ์ปัญหาที่เชื่อมระดับประเทศ การเรียนรู้และปฏิบัติการเชิงลึกของยุคแสวงหาในพื้นที่จุดเล็กไม่มีพลังพอจะต่อรองอำนาจของโครงสร้างรัฐและทุนในระดับมหภาค แนวคิดการพัฒนาสมัยใหม่จึงเคลื่อนไปสู่บนฐานคิดประจักษ์นิยมมากยิ่งขึ้น องค์ความรู้และวิถีการพัฒนาบนฐานคิดวัฒนธรรมชุมชน สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา หรือเศรษฐศาสตร์การเมืองมาร์กซิสม์ ถูกแทนที่ด้วยกรอบคิดเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม “ยุคนักพัฒนาอาชีพ” ได้เกิดขึ้น ความเป็นชุมชน ความยากจน ความด้อยโอกาส ถูกอธิบายผ่านข้อมูลเชิงประจักษ์ สถิติ ตัวเลข เพื่อให้เรา “อ่าน” ปัญหา และพัฒนาข้อเสนอทางนโยบาย

จุดแข็งของงานพัฒนาในยุคนี้คือ การตัดข้ามบริบทที่เฉพาะเจาะจงมาสู่การพัฒนาสู่ความเป็นสากลภายใต้กรอบรัฐ-ชาติ ทั้งการออกแบบนโยบาย การวางแผนการพัฒนา การศึกษาวิจัยในรูปแบบใหม่ที่สร้างผลสะเทือนในระดับมหภาคได้กว้างขวาง แต่สิ่งที่สูญเสียไปกับความเป็นระบบ คือ ความลุ่มลึกต่อวิถีมนุษย์ และความนอบน้อมทางปัญญาแบบวิถีนักปรัชญา

เพราะแบบใหม่นี้ ไม่ต้องการความเข้าใจโลกทัศน์ที่ชุมชนใช้ตีความความหมายทางสังคมไม่ต้องมีคำถามทางปรัชญาในเชิงอุคติทางสังคมเท่าใดนัก ปัญหาต่างๆ นานา เช่น ความยากจน การถูกกีดกัน การเลือกปฏิบัติ การละเมิดสิทธิ ความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความทุกข์ยาก และการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนอธิบายได้ผ่านระบบข้อมูลเชิงประจักษ์ จากนักวิชาการหรือนักพัฒนา “มืออาชีพ” ที่เปลี่ยนสถานะจากความถ่อมตนทางปัญญาในยุคแสวงหา มาเป็น “ผู้รู้” ที่สามารถ “อ่าน” ชุมชนและสังคมจากการเก็บข้อมูล และนำมาจัดระบบวิเคราะห์สาเหตุ ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลลัพธ์ ปัจจัยเงื่อนไขตามกรอบจากทฤษฎีทางสังคมศาสตร์

​แต่กระนั้น ในยุคนักพัฒนามืออาชีพ ที่ชุมชนเป็นวัตถุ (object) ของการพัฒนาและการออกแบบนโยบาย ก็ยังต้องยึดโยง หรือมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนหรือผู้ด้อยโอกาสในระดับหนึ่ง คุณภาพการพัฒนาในยุคนี้จึงอยู่ที่กระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน ที่จะสร้างการเชื่อมโยงข้อมูลและปฏิบัติการของชุมชนกับรัฐและสาธารณะในการออกแบบกิจกรรมการพัฒนาที่สอดคล้องกับปัญหาและความต้องการของชุมชน

​แต่โลกการพัฒนาก็เหมือนกับโลกทางสังคมอื่นๆ ที่กำลังถูก disrupt ด้วยระบบดิจิทัลซึ่งเป็นมากกว่าเทคโนโลยี แต่กินความถึงวัฒนธรรมดิจิทัลที่เป็นคุณค่า ความหมาย และพฤติกรรมทางสังคมใหม่​เราได้มีนักกิจกรรมทางสังคมรุ่นใหม่แนวดิจิทัลที่ก้าวข้ามวาทกรรม “การพัฒนา” ไปแล้ว พวกเขาไม่ได้มา “พัฒนา” ใคร เพราะไม่ได้มีความคิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือกว่าที่จะไปกำกับ ออกแบบ หรือจัดตั้งการพัฒนาให้กับชุมชนตามแนวทางยุคนักพัฒนามืออาชีพ และไม่มีความหมายใดๆ ของชุมชนที่ต้องอ่านหรือตีความตามแนวทางยุคแสวงหา เพราะอนุมานว่าชุมชน ผู้ด้อยโอกาส สื่อข้อมูล เรื่องราวได้ด้วยตนเองภายใต้เทคโนโลยีที่เปิดเสรีภาพอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

โลกสังคมที่เขาเห็น คือ โลกแห่งข้อมูลข่าวสารที่แม้จะไหลบ่าท่วมท้น ความไม่เป็นธรรมหรือเหลื่อมล้ำทางสังคมมาจากปัญหาระบบการจัดการข่าวสารและความรู้ขาดประสิทธิภาพ ซึ่งมาจากระบบการจัดการ ระบบตัวกลาง การเชื่อมต่อ ฯลฯ ที่ส่งผลให้ผู้ที่เดือดร้อนหรือด้อยโอกาสทางสังคมถูกปิดกั้นเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และโอกาสทางสังคมที่จำเป็น เกษตรกรยากจนเพราะขาดการเข้าถึงข้อมูลในการพัฒนาอาชีพ คนจนมีปัญหาเพราะเข้าไม่ถึงแหล่งทุนที่ยังออกแบบไม่สอดรับกับคนจน ผู้ด้อยโอกาสทางสังคมต่างๆ มีปัญหาเพราะระบบราชการ และกลไกบริหารจัดการสาธารณะขาดประสิทธิภาพ แม้กระทั่งปัญหาทางการเมืองก็เป็นเรื่องประชาธิปไตยในระบบข้อมูลข่าวสาร

​แก่นหลักของนวัตกรรมทางสังคมในยุคดิจิทัลจึงเป็นเรื่องการสร้าง platform กระบวนการเชื่อมต่อใหม่ๆ ที่หลากหลาย รวดเร็ว ตัดข้ามระบบ ตัวกลางต่างๆ ที่เป็นกลไกผูกขาดอำนาจ เปิดทางเลือกใหม่ๆ ในการเรียนรู้ และการออกแบบนวัตกรรมทางสังคมอย่างหลากหลาย รวดเร็ว และเชื่อมต่อพลังทางสังคมอันกว้างใหญ่ไพศาล

​นักกิจกรรมทางสังคมดิจิทัล ยังได้ข้ามเส้นแบ่งระหว่างงานพัฒนา งานอาสาสมัครเพื่อสังคม งานเคลื่อนไหวทางสังคม และงานธุรกิจ เกิดเป็นรูปแบบกิจกรรมใหม่ๆ เช่น กิจกรรม social entreprenur, social enterprise หรือ startup ที่มีเป้าหมายทางธุรกิจและสังคมไปพร้อมกัน ทำให้เห็นภาพอนาคตได้ว่า เราอาจไม่เหลืองานพัฒนาหรืองานเคลื่อนไหวทางสังคมที่ไม่เชื่อมโยงกับตลาดและทุนนิยมอีกต่อไป

ด้วยจินตนาการว่า โลกดิจิทัลเป็นโลกเดียวของอนาคต การเข้าไม่ถึงหรือหันหลังให้โลกดิจิทัล จะเป็นปัญหาการขาดอำนาจต่อรองอย่างรุนแรง มีแต่โดดเข้าไปสร้าง หรือขับเคลื่อนโลกดิจิทัลให้ครอบคลุม ทั่วถึง เกิดความเป็นประชาธิปไตย ที่มีทั้งสิทธิ เสรีภาพ และความเป็นธรรม สังคมที่พึงประสงค์จึงจะเป็นไปได้

​แม้เทคโนโลยีดิจิทัลจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไปมาก ทั้งการเชื่อมต่อพลังทางสังคมของโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เกิดกลุ่มปฏิบัติการทางสังคมใหม่ๆ ที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนทางเศรษฐกิจมากนักในการต่อรองกับกลุ่มอำนาจหรือทุนขนาดใหญ่ แต่ใช่ว่าภาคสังคมจะเป็นผู้กำชัยในสนามการต่อสู้ทางดิจิทัล

​กลุ่มทุนขนาดใหญ่มีความได้เปรียบทางเทคโนโลยี สามารถก่อรูปการผูกขาดทางเศรษฐกิจ สังคม กระทั่งกำกับวิถีทางเศรษฐกิจของปัจเจกบุคคล รัฐก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการกำกับปกครองชีวญาณ (governmentality) ของพลเมืองได้ในทุกปริมณฑลของชีวิต​

เกิดความเหลื่อมล้ำแบบใหม่ๆ ที่สะท้อนผ่านระบบข้อมูลต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงในโลกดิจิทัล ฐานหลักมาจากระบบข้อมูลที่ถูกออกแบบโดยกลไกที่มีอำนาจนำทางเศรษฐกิจและการเมืองกระบวนการสถาปนาอำนาจข้อมูลข่าวสารเกิดขึ้นผ่านระบบอ้างอิงด้วยเทคโนโลยี blockchain, big data และในกระบวนการคัดสรรข้อมูลข่าวสารยังอยู่กับอัลกอริทึมต่างๆ รวมทั้ง AI ที่สถาบันเทคโนโลยีต่างๆ กำลังออกแบบ เลือกสรร จัดระบบข้อมูล และวินิจฉัยจากเรื่องข้อเท็จจริงทั่วไปมาสู่การตัดสินในเชิงคุณค่า กระทั่งกำหนดทางเลือกชีวิตให้

​แม้นักกิจกรรมทางสังคมดิจิทัลจะเชื่อมต่อพลังทางสังคมได้สูงกว่ายุคไหน แต่ภาคส่วนเหล่านั้นไม่รู้จักหรือไม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตคนชายขอบและโครงสร้างที่ปิดล้อมพวกเขามากนัก เรา “เห็น” (visualize) ปัญหาได้ชัดในระดับ 4k และออกแบบความเป็นไปได้เสมือนจริงที่เราเห็นผ่าน VR ได้นับร้อยทางเลือก แต่เราอาจขาด ความ “เข้าใจ” (understand) ที่ลุ่มลึก ความหมายที่อยู่เบื้องลึกทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองในระบบอนาล็อกที่นับวันจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นั่นทำให้ความเหลื่อมล้ำยังเด่นชัดระหว่างโลกดิจิทัลซึ่งเป็นโลกใหม่ของผู้ที่สามารถสั่งสมทุนทางวัฒนธรรมดิจิทัล กับโลกอนาล็อกซึ่งกำลังจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เรื่องราว ความหมาย คุณค่าของผู้คน สังคมที่ไม่ได้ถูกแปรสู่โลกดิจิทัลจะไม่มีความหมายทางสังคมและการเมืองอีกต่อไป

โครงสร้างอำนาจในสังคมดิจิทัล จึงเป็นความท้าทายของนักกิจกรรมทางสังคมดิจิทัลว่าจะเชื่อมต่อการเรียนรู้เชิงลึกระหว่างโลกดิจิทัลกับโลกอนาล็อกให้เกิดสภาวะที่เป็นธรรมได้อย่างไร จะใช้สังคมดิจิทัลสร้างสมดุลอำนาจ ความเป็นธรรม และสร้างอำนาจต่อรองให้กับคนชายขอบได้อย่างไร

เช่นเดียวกับนักกิจกรรมทางสังคมยุคอนาล็อกรุ่นสุดท้ายที่ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ โลกของการแสวงหาและพัฒนาในยุคก่อนได้เปลี่ยนแปลงมาสู่ยุคหลังสมัยใหม่แล้ว ทั้งในเชิงคุณค่า แนวคิด ผู้กระทำการ ยุทธศาสตร์ พื้นที่ ช่องทาง วิถี กลไก สถาบัน และระบอบแห่งอำนาจ จุดปัญหาและพลังการสร้างสรรค์เกิดขึ้นได้ในทุกส่วน ทุกปริมณฑล

โอกาสทางสังคมของยุคหลังสมัยใหม่จึงเป็นไปได้หลายทางมากขึ้น เกิดพื้นที่ใหม่ที่เป็นโอกาสของนักกิจกรรมอนาล็อกเมื่อสังคมเริ่มแสวงหาความสัมพันธ์ทางตรงที่ลึกซึ้งและเรียบง่ายมากกว่าอยู่แต่ในโลกสัญญะดิจิทัล เช่น ผู้บริโภคในยุคหลังไม่ได้อยากแค่สั่งซื้อข่าวผ่านแอป แต่ยังอยากพบปะเรียนรู้กับชาวนา คนในเมืองที่สนใจปัญหาสังคมไม่ได้อยากจบการเรียนรู้เพียงแค่บริจาคเงินผ่านระบบดิจิทัล แต่ยังต้องการเรียนรู้และร่วมทุกข์สุขกับผู้คนที่เขากำลังเชื่อมต่อด้วย

ด้วยเหตุนี้ นักกิจกรรมอนาล็อกจึงไม่ควรยึดติดอยู่แต่โครงสร้างการพัฒนาแบบปิดในโลกอนาล็อกที่นับวันจะหดตัวลง แต่ต้องมีบทบาทเชิงรุกในการเปิดพื้นที่การเรียนรู้ และเชื่อมต่อพลังทางสังคมรุ่นใหม่ๆ โลกดิจิทัล เพื่อขับเคลื่อนความเป็นธรรม เสริมพลังกับคนชายขอบ และการเรียนรู้ของสังคมในโลกอนาล็อกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้นด้วย

โลกหลังสมัยใหม่ที่เป็นธรรม จึงควรจะเป็นโลกที่เรามีพื้นที่ทางสังคมและการเมืองหลายแบบๆ ทั้งโลกดิจิทัล โลกอนาล็อก นักกิจกรรมทางสังคมสามารถออกแบบ เข้าไปต่อสู้ในทุกพื้นที่อย่างมียุทธศาสตร์ และสร้างกระบวนการเรียนรู้ทางสังคมหลังสมัยใหม่ให้ลุ่มลึกในชีวิตคนดุจยุคแสวงหา มีฐานความรู้และจัดการที่เป็นระบบแบบยุคนักพัฒนา และเชื่อมต่อพลังทางสังคมด้วยทุกมรรคาแห่งยุคดิจิทัล

หากนักกิจกรรมทางสังคมในโลกดิจิทัลและอนาล็อกสามารถมาบรรจบกันได้ตามวิถีแห่งตน จึงเป็นไปได้ที่บทเพลงดอกไม้จะบาน จะกลับมามีความหมายอีกครั้งเพื่อการเรียนรู้ ต่อสู้มายา และเข้าหามวลชนในวิถีแห่งสังคมหลังสมัยใหม่