ThaiPublica > Sustainability > Contributor > ประเทศไทยถูกจัดให้มี “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ” สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก!

ประเทศไทยถูกจัดให้มี “ความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ” สูงเป็นอันดับ 9 ของโลก!

24 เมษายน 2021


ประสาท มีแต้ม

ผมเชื่อว่าคนไทยเราส่วนมากจะรู้สึกภูมิใจหรือดีใจว่าประเทศของเราตั้งอยู่ในบริเวณที่มีภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ความรู้สึกดังกล่าวเกิดจากทั้งประสบการณ์ตรงของตนเองและจากตำราเรียนที่เราถูกสอนกันมาตั้งแต่สมัยเป็นนักเรียน

ผมเองเกิดในปี 2493 แม้ได้เคยประสบกับเหตุการณ์ “มหาวาตภัยแหลมตะลุมพุก” แบบว่าเกือบเอาชีวิตไม่รอดเมื่อปี 2505 แต่ผมก็ยังรู้สึกว่าประเทศเรายังมีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติน้อยอยู่ดี เพราะมันนานๆจะเกิดขึ้นสักครั้ง แต่หลังจากที่ผมได้เข้าใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศของโลก ได้รับข้อมูลข่าวสารที่มากพอ ความรู้สึกและความเชื่อของผมก็เปลี่ยนไป และเรียกตนเองว่าเป็นนักรณรงค์เรื่องโลกร้อนคนหนึ่งมาได้สัก 30 ปีแล้วครับ

เรื่องที่ผมจะเขียนถึงในวันนี้มันช็อกความรู้สึกในวัยเด็กของผมอย่างสิ้นเชิง นั่นคือ ผลการศึกษาขององค์กร “Germanwatch” ซึ่งเป็นองค์กรจากประเทศเยอรมนีที่ไม่แสวงหากำไรและสนใจเรื่องการค้าอาหาร นโยบายการเกษตรและสิ่งแวดล้อม องค์กรนี้ได้ตีพิมพ์เอกสารรายงานที่ชื่อว่า “ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก (Global Climate Risk Index-CRI)” ซึ่งมีรายงานออกมาทุกปีติดต่อกันเป็นปีที่ 16 แล้ว

ผลการศึกษาประจำปี 2021 ซึ่งใช้ข้อมูลสะสม 20 ปี ตั้งแต่ปี 2000-2019 พบว่าประเทศไทยเรามีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก จากทั้งหมดประมาณ 180 ประเทศ แต่ก่อนจะอธิบายว่าเขาศึกษาอย่างไร มีความน่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน ผมจะขอนำผลการศึกษามาแสดงดังแผนที่ในรูปก่อนครับ

ในรูปข้างต้นมีคำสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจกันก่อนก็คือ “สภาพอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather)” ซึ่งหมายถึงสภาพอากาศที่ไม่ปกติ ไม่คาดหวัง ที่น่ากลัวและเป็นอันตราย อยู่นอกขอบเขตที่เคยพบเห็นกันมาก่อนในประวัติศาสตร์ ตัวอย่างของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วได้แก่ พายุ น้ำท่วม แผ่นดินถล่ม(ซึ่งเกิดจากน้ำ) ภัยแล้ง เป็นต้น ซึ่งส่งผลเสียหายต่อทั้งมนุษย์และระบบนิเวศ บริษัทประกันภัยแห่งหนึ่ง (คือ Munich RE) ได้ประมาณว่าในปี 2015 ความสูญเสียจากภัยพิบัติทางธรรมชาติทั่วโลกประมาณ 90,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

รายงานชิ้นนี้พบว่า “ในช่วงปี 2000 ถึง 2019 มีผู้เสียชีวิตโดยตรงจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วทั่วโลกจำนวน 475,000 คน จากเหตุการณ์ทั้งหมด 11,000 ครั้ง และความเสียหายทางเศรษฐกิจรวม 2.56 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราคาเสมอภาคตามอำนาจซื้อ-Purchasing Power Parity, PPP)”

ดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลก 2021 เป็นค่าที่เกิดจากการวิเคราะห์และจัดลำดับว่าประเทศต่าง ๆ ได้รับผลกระทบที่เกิดจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว (extreme weather event) เช่น พายุ ลูกเห็บ น้ำท่วม และคลื่นความร้อน เป็นต้น (ไม่นับเหตุการณ์ที่เกิดจากระดับน้ำทะเลสูงขึ้น) โดยใช้ข้อมูลในปี 2019 และข้อมูลในช่วง 2000 – 2019 การศึกษานี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาของรัฐบาลกลาง ข้อมูลที่ใช้มาจาก Munich Reinsurance Company

ตัวชี้วัดที่ใช้ในการคำนวณมี 4 ตัว คือ (1) จำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ (2) จำนวนผู้เสียชีวิตต่อประชากร 100,000 คน (3) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (คิดเป็นดอลล่าร์สหรัฐ เทียบกับราคาตามกำลังซื้อของแต่ละประเทศ (PPP) และ (4) ความสูญเสียทางเศรษฐกิจคิดร้อยละของจีดีพี

ในการคำนวณค่าดัชนีความเสี่ยงฯ ผู้ศึกษาได้จัดเรียงลำดับตัวชี้วัดทั้ง 4 ตัวของแต่ละประเทศ เช่น ในปี 2019 ประเทศไทย ตัวชี้วัดแรกคือจำนวนผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับที่ 36 ตัวชี้วัดที่สองสูงเป็นอันดับที่ 64 ตัวชี้วัดที่สามสูงเป็นอันดับที่ 19 และตัวชี้วัดที่สี่สูงเป็นอันดับที่ 38

คะแนนดัชนีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศ (CRI) คือผลรวมของผลคูณระหว่างลำดับที่ของแต่ละตัวชี้วัดกับตัวถ่วงน้ำหนัก(หรือความสำคัญ) โดยที่ตัวชี้วัดตัวที่ (1) และ (3) มีค่าตัวถ่วงน้ำหนักเท่ากับ 1 ใน 6 สำหรับตัวชี้วัดที่ (2) และ (4) มีค่าเท่ากับ 1 ใน 3 ดังนั้น คะแนน CRI ของประเทศไทยจึงเท่ากับ (1/6)x(36) + (1/3)x(64) + (1/6)x(19) + (1/6))x(38) เท่ากับ 43.17 เป็นต้น

จากวิธีการคำนวณดังกล่าว เราจะเห็นว่าผู้ศึกษาได้พิจารณาให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดเชิงเปรียบเทียบ (relative indicator) สองตัว คือ จำนวนผู้เสียชีวิตต่อหน่วยประชากร และ ความสูญเสียทางเศรษฐกิจ(คิดเป็นร้อยละของจีดีพี) ถึง 2 ใน 3 (หรือ 66.7%)

ในฐานะที่ผมเป็นนักคณิตศาสตร์ ผมรู้สึกว่าวิธีการศึกษานี้มีความน่าสนใจ มีเหตุผลและไม่ซับซ้อนด้วย

กลับมาที่ผลการศึกษาอีกครั้งครับ

ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมานี้เป็นผลการศึกษาในปี 2019 ปีเดียว พบว่า คะแนน CRI เท่ากับ 43.17 อยู่ในอันดับที่ 34 ของโลก โดยที่ประเทศที่มีความเสี่ยงสูงสุดอันดับหนึ่งคือ โมซัมบิก (CRI=2.67) และเสี่ยงน้อยที่สุดสิงคโปร์ (CRI = 118.00)

สำหรับผลการศึกษาในระยะยาว คือในช่วง 2000 ถึง 2019 พบว่า ประเทศไทยมีค่า CRI เท่ากับ 29.83 เป็นอันดับที่ 9 ในขณะที่ประเทศสิงค์โปร์มีความเสี่ยงอันดับที่ 179 (CRI = 172.00) และประเทศการ์ตามีความเสี่ยงน้อยที่สุด 180 (CRI = 173.67)

ท่านผู้อ่านคงจะเกิดความสงสัยเช่นเดียวกับผมว่า ในปี 2019 (ปีเดียว) ประเทศไทยเรามีความเสี่ยงฯสูงอันดับที่ 34 แต่พอเป็นความเสี่ยงสะสมในระยะยาวคือ 20 ปีย้อนหลัง ทำไมจึงได้มีความเสี่ยงพุ่งปริ๊ดเป็นอันดับที่ 9 ของโลก
ผมจึงได้ไปค้นผลการศึกษาย้อนหลัง พบว่าในปี 2011 (2554) ประเทศไทยเราเกิดน้ำท่วมใหญ่ในภาคกลาง จำได้ไหมครับ เหตุการณ์น้ำท่วมในปีนั้นทำให้คนไทยเราเพิ่งได้รับรู้ว่า ประเทศของเราเป็นแหล่งผลิตฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์และน้ำยาบ้วนปากที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

นี่คือหลักฐานว่าประเทศของเราได้เปลี่ยนไปเยอะแล้วโดยที่คนไทยเราไม่รู้ตัว แล้วนับประสาอะไรกับ “ความภูมิใจว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อภัยพิบัติทางธรรมชาติน้อย” จะไม่ล้าสมัยบ้าง

ความเสียหายในปี 2554 รายงานฉบับนี้ระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 892 คน สูญเสียทางเศรษฐกิจ 75,474 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (PPP) คิดเป็น 12.53% ของจีดีพี ผลการคำนวณ พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงฯสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก(CRI = 2.50) ทิ้งห่างประเทศกัมพูชาซึ่งเสี่ยงสูงเป็นอันดับสองหลายช่วงตัว (CRI = 7.00)

ดังนั้น ความสูญเสียในครั้งที่น้ำท่วมใหญ่ปี 2011 จึงส่งผลให้ความเสี่ยงสะสมในช่วงปี 2000-2019 สูงเป็นอันดับ 9 ของโลกด้วยประการฉะนี้แล

อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังไม่หายข้อสงสัย จึงไปค้นผลการศึกษาก่อนที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่ (คือใช้ข้อมูลในช่วง 1991-2010) พบว่าประเทศไทยถูกจัดให้เป็นอันดับที่ 55 (CRI = 60.17) ในขณะที่ประเทศที่มีความเสี่ยงมากที่สุดคือบังคลาเทศ(สูญเสียทางเศรษฐกิจ 1.56%) โดยที่สิงคโปร์เป็นอันดับที่ 177

โดยภาพรวมแล้ว ผมรู้สึกว่าผลการศึกษาเรื่องความเสี่ยงต่อภัยพิบัติด้านภูมิอากาศโดย Germanwatch นี้ สอดคล้องกับความรับรู้ของผมได้ดีครับ วิธีการศึกษาก็ไม่ซับซ้อนอะไร ปัญหาจึงอยู่ที่การรวบรวมข้อมูลของประเทศต่าง ๆ ว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด

เหตุผลที่ผมได้นำเรื่องนี้มาเสนอก็เพื่อจะบอกว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกหรือที่เรียกว่า “โลกร้อน (Global Warming)” นั้นเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าความรับรู้ของมนุษย์มาก ความรับรู้ของมนุษย์เป็นอย่างช้า ๆ แบบเชิงเส้น(Linear) จาก 1, 2, 3, 4, 5, … แต่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลกอาจจะเป็นแบบ Exponential จาห 1, 2, 4, 9, 16, 25, … เป็นต้น

ผมเริ่มต้นด้วยความรู้สึก แล้วตามด้วยการวิเคราะห์และคำนวณในเชิงเศรษฐศาสตร์ คราวนี้มาดูผลการตรวจวัดอุณหภูมิของนักวิทยาศาสตร์และปรากฎการณ์ทางธรรมชาติกันบ้างครับ

ข้อมูลที่ผมนำมาเสนอในภาพข้างล่างนี้มาจาก Dr. James Hansen นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศที่มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลมากมายจากสหรัฐอเมริกา พบว่าอุณหภูมิของอากาศเฉลี่ยทั่วโลกของเดือนมีนาคม 2021 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเดือนเดียวกันของช่วง 1880 -1920 (เริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรม) ถึง 1.16 องศาเซลเซียส

ของประเทศไทยเราเองในพื้นที่ส่วนใหญ่ได้เพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ในขณะที่หลายจังหวัดทางตอนเหนือของประเทศไทย (สีแดง) ได้เพิ่มขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส

ในขณะที่ของประเทศญี่ปุ่น จากตัวเลขของ Dr. James Hansen เอง ระบุชัดเจนว่าอุณหภูมิได้เพิ่มขึ้น 5 องศาเซลเซียส พร้อมกับการยืนยันด้วยข้อมูลการบานสะพรั่งของดอกเชอร์รี่ที่เร็วที่สุดในช่วงเวลา 1,200 ปี

ในภาพดังกล่าว(ทางขวามือล่างสุด) แสดงให้เห็นว่าขณะนี้ในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก (Nino 3.4) กำลังเกิดปรากฏการณ์ La Nina ซึ่งทำให้อากาศเย็นลง ถ้าไม่มีปรากฏการณ์ดังกล่าว หรือมีปรากฏการณ์ El Nino มาเสริม อุณหภูมิอากาศของเดือนมีนาคมและเมษายนปีนี้ในประเทศไทยและทั่วโลกจะสูงไปถึงไหน

ก่อนจะจบบทความนี้ ผมขอนำเสนอสถิติจำนวนครั้งที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศทั่วโลก ในช่วงปี 1960 ถึง 2019 ดังภาพข้างล่าง กรุณาดูอย่างช้า ๆ ครับ

ตอนที่เกิดมหาวาตภัยที่แหลมตะลุมพุก จังหวัดนครศรีธรรมราชเมื่อปี 2505 (1962) ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 900 คนและสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจจำนวนมากนั้น ทั่วทั้งโลกมีภัยพิบัติดังกล่าวรวมกันประมาณ 30 ครั้งต่อปีเท่านั้น แต่ในปัจจุบันนี้ได้เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว ในเวลา 60 ปี รายละเอียดอื่น ๆ กรุณาดูจากกราฟอย่างช้า ๆ ครับ

ภัยพิบัติทางธรรมชาติซึ่งเกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศกำลังเป็นปัญหาท้าทายอย่างรุนแรงในอัตราเร่ง รวดเร็วกว่าความรับรู้และสามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไป ความรู้สึกในอดีตตามไม่ทันความเป็นจริง แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์มีองค์ความรู้ที่จะแก้ไขปัญหาได้อย่างมั่นใจ สิ่งที่ขาดมีอย่างเดียวคือการลงมือกระทำเท่านั้น เรามีทางเลือก 2 ทางเท่านั้นครับ คือ “Do or Die”