ThaiPublica > คนในข่าว > “บรรยง พงษ์พานิช” คิด-เขียน-พูด และหางกระดิกหมา

“บรรยง พงษ์พานิช” คิด-เขียน-พูด และหางกระดิกหมา

8 พฤษภาคม 2014


ผมมักพูดอยู่เสมอว่า “รู้อะไร ไม่สู้ รู้งี้” เพราะคนส่วนใหญ่มักรอจนสิ่งต่างๆ ล่วงเลยพ้นไป แล้วค่อยมาแสดงความเก่ง ซึ่งไม่มีประโยชน์ไม่ว่าต่อตัวท่านเองหรือต่อผู้ใด ท่านต้องรู้จัก “เสือกให้เป็น” ไม่ใช่แค่ “เสือก” เฉยๆ ระหว่างเสือก 3 พยางค์ กับเสือกพยางค์เดียวนี่ต่างกันเยอะนะครับ อย่างแรกจะทำให้ท่านได้รับความชื่นชมมากมาย คือ เรา “เสือก” แต่ให้เค้ารู้สึกว่าเรา “เสิร์ฟ” แต่อย่างที่สองจะทำให้ท่านถูกเหม็นขี้หน้า หรือมิฉะนั้นก็ถูกด่าตรงๆ กลับด้วยคำพยางค์เดียวนั่นแหละ….บรรยง พงษ์พานิชกล่าว

จากเรื่องเล่าผ่าน เฟซบุ๊กของ”บรรยง พงษ์พานิช”ประธานกรรมการบริษัททุนภัทร จำกัด(มหาชน)และประธานกรรมการบริหารธนาคารเกียรตินาคิน ออกมาเป็นหนังสือทั้ง 3 เล่มที่วางขายไปแล้ว “บรรยง พงษ์พานิช คิด” “บรรยง พงษ์พานิช เขียน” และ “หางกระดิกหมา”

เรื่องเล่าที่กลั่นจากประสบการณ์ชีวิต เป็นเคล็ดลับที่ไม่ลับ ของอดีตเสมียนเคาะกระดานหุ้น ผู้เติบโตสู่การเป็นประธาน “หลักทรัพย์ภัทร” เขาทำได้อย่างไร กับข้อคิดสำหรับคนรุ่นใหม่จนถึงข้อเสนอต่อประเทศไทย รวมถึงความหวังและทางสู้ให้ก้าวพ้นคอร์รัปชันไปได้จริงๆ

บ่ายแก่ๆเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา มีเวทีเปิดตัวหนังสือ “บรรยง พงษ์พานิช คิด” ที่ร้านหนังสือก็องดิด โดยมีสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ “นิ้วกลม” ถาม บรรยงบอกว่า “ตื่นเต้นมาก ปกติผมบรรยายบ่อยนะ วันนี้ตื่นเต้นเป็นพิเศษเพราะไม่เคยมีหนังสือกับเขา เป็นครั้งแรกในชีวิตและมีคนคุ้นเคยมาฟังเยอะ”

นี่คือการถอดตัวตนในเวที“บรรยง พงษ์พานิช”พูด

เปิดตัวหนังสือ “บรรยง พงษ์พานิช คิด” ที่ร้านหนังสือก็องดิด   โดยมีสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ "นิ้วกลม" ถาม
เปิดตัวหนังสือ “บรรยง พงษ์พานิช คิด” ที่ร้านหนังสือก็องดิด โดยมีสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ “นิ้วกลม” ถาม

นิ้วกลม : คุณบรรยงได้เขียนความฝันในวัยเด็กไว้สองอย่าง คือการเป็นครูแล้วก็การเป็นนักเขียน ความฝันสองอย่างนี้มันมีที่มายังไง

ในตอนเด็กผมนี่ตั้งใจเรียนหนังสือมาก ขยันเรียนหนังสือมาก ชอบอ่านหนังสือ เป็นเด็กขี้อายเรียบร้อย ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่ตามนิสัยของเด็กที่เรียนหนังสือเยอะ ผมก็มีความรู้สึกว่าอยากจะไปสอนบ้าง โดยหลายๆ ครั้งเราก็จะคิดว่าเราสอนได้ดีกว่าที่ครูเราสอน นั่นตอนเด็กๆ นะครับ เราก็เลยอยากเป็นครูมาตลอด

ส่วนนักเขียนนี่เป็นเป็นธรรมดาของคนที่อ่านหนังสือเยอะๆ ก็อยากเป็นนักเขียน ตอนอายุ 14-15ปีก็สมัครที่โรงเรียนวชิราวุธ เขาเรียกว่าสมาคมหนังสือพิมพ์ มีหน้าที่ออกหนังสือโรงเรียนปีละสามเล่ม คือสมัยก่อนเป็นหนังสือพิมพ์ติดข้างฝานะครับ ก็ไปลูกมือกับเขา นานๆเขาก็ให้เขียนบทความลงหนังสือบ้าง แต่ก็เป็นการเขียนประเภทที่ถ้าไปอ่านตอนนี้ก็หน้าแดง คือมันเสี่ยว มันเห่ย นั่นก็คือความฝันเด็กๆ สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ

นิ้วกลม : ก่อนหน้านี้คุณบรรยงอ่านหนังสือมาเยอะมาก สมัยเด็กๆ นี่อ่านหนังสือประเภทไหน

จริงๆ แล้วต้องบอกว่าอ่านทุกอย่างนะครับ ผมนี่เป็นคนอ่านทุกวัน ผมเป็นเด็กต่างจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งในยุคนั้นที่บ้านก็มีตู้หนังสือ ก็อ่านมันหมดตู้แหละครับ ทั้งสารคดี ทั้งนิยาย แต่ส่วนใหญ่หนังสือที่พ่อแม่เราอนุญาตให้เราอ่านก็จะเป็นหนังสือที่ดี ส่วนหนังสือที่เขาไม่อยากให้เราอ่านเขาก็ใส่กุญแจ แต่เราก็ไปงัดมาอ่านจนได้ ซึ่งก็ไม่ใช่หนังสือโป๊อะไรนะ เป็นหนังสือพวก “พล นิกร กิมหงวน” ซึ่งผู้ใหญ่เขาคิดว่าเด็กยังไม่ควรอ่าน แต่สุดท้ายก็อ่านหมด ก็ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กๆ ก็สามก๊ก สามก๊กนี่อ่านตั้งแต่อยู่ ป.4 เขาบอกอ่านสามก๊กหลายรอบแล้วจะคบไม่ค่อยได้ แต่นี่อ่านรอบเดียว แล้วก็จำไม่ค่อยได้

นิ้วกลม : มีอีกเล่มหนึ่งที่คุณบรรยงพูดว่าถ้าอ่านหลายๆ รอบแล้วจะน่ากลัวกว่าสามก๊กอีก ก็คือหนังสือของเดล คาร์เนกี เรื่อง How to win friends and influence people หนังสือเล่มนี้คือเล่มที่เขียนและแนะนำด้วย ทำไมเขียนถึงเล่มนี้

เด็กๆ นี่ผมเป็นคนที่ไม่น่าคบ มีโลกส่วนตัว เป็นคนที่เอาตัวเองเป็นศูนย์กลางจักรวาล เพราะฉะนั้นนิสัยกับเพื่อนกับฝูงก็จะไม่ค่อยดีครับ เพราะเราจะคิดว่าเราเป็นใหญ่ เราก็จะไม่คบกับใคร ไม่สนใคร ไม่ค่อยแคร์ ก็ลองนึกถึงเด็กที่อ่านหนังสือเยอะๆ ผมอยู่วชิราวุธนี่คนอื่นเขาจะเล่นกีฬากันวันละ 5 ชั่วโมง แต่ผมจะอยู่ห้องสมุดและอ่านหนังสือไปจนหมดห้องสมุด เวลาเราอ่านหนังสือเยอะเราก็จะเริ่มคิดแล้วว่าเพื่อนมันโง่ เวลาเราพูดไปมันก็ไม่รู้เรื่อง จนกระทั่ง ม.ศ. 3 เทียบตอนนี้คือ ม.4 ก็ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ที่แปลเป็นไทยคือ “วิธีเอาชนะใจศัตรูและผูกใจมิตร” ของคาร์เนกี ก็เลยทำให้เราเริ่มเข้าใจ เริ่มคิดถึงความรู้สึกของคนอื่น และเริ่มอยากกลับเข้ามามีสังคม ส่วนที่ผมบอกว่าอ่านเล่มนี้แล้วคบไม่ได้นั้น เพราะในหนังสือมันมีกลยุทธ์มากไปหน่อย

นิ้วกลม : เท่าที่ผมอ่านหนังสือคุณบรรยงนี่ ผมรู้สึกว่ามีจุดหักเหที่น่าสนใจอยู่ตลอดเวลา จุดหนึ่งก็คือคุณบรรยงเคยเป็นคนที่เรียนเก่งมาก คือรู้สึกว่าตัวเองเก่งกว่าชาวบ้านเขานะครับ แล้วก็พอเริ่มรู้สึกว่าตัวเองเก่ง ก็เริ่มไปเล่นกีฬาหนักมาก จนกระทั่งกีฬาทั้ง 4 ประเภทที่เล่นนี่มีคุณสมบัติพอที่จะติดทีมชาติได้เลย ตอนนั้น พอไปเล่นกีฬาเยอะๆ แล้วเกิดจุดหักเหยังไงบ้าง

จริงๆ อันนั้นโม้นิดหน่อยนะครับ ทีมชาติอะไรนั่น เป็นอรรถรสของการเขียน แต่จริงๆ ก็มีสิทธิ์(ทีมชาติ)นะครับ อยากจะเล่า คือ เวลาเราเป็นเด็ก เด็กก็จะโดนสภาพแวดล้อมจูงใจเรา กำหนดบทบาทวิธีคิดเราค่อนข้างเยอะ โรงเรียนที่ผมอยู่สมัยนั้นทั้งเพื่อนฝูงและครูในโรงเรียนจะยกย่องนักกีฬา อย่างถ้าเราขยันเรียนอ่านหนังสือเพื่อนฝูงจะเรียกว่าไอ้ปากเหม็น คือไม่พูดไม่จากับใครมัวแต่ท่องหนังสือ น้ำลายบูดประมาณนั้น จนกระทั่งพอเราอยากเข้ามามีสังคม เราก็ต้องไปเล่นกีฬา ถึงจะเป็นการยอมรับ

พอดีผมตอนเด็กไม่ค่อยได้เล่น ฉะนั้นตอนจะเล่นก็ต้องฝึกให้หนักกว่าคนอื่น สมัยนั้นก็ตื่นตี 5 คนเดียว วิ่งรอบโรงเรียนรอบหนึ่งก็ประมาณ 1 กิโลเมตร 10 รอบ ก็ 10 กิโลเมตร ตั้งแต่ตี 5 ถึง 6 โมงเช้าทุกวัน ทำอยู่ครึ่งปีให้ร่างกายมันแข็งแรง แล้วก็ไปได้หนังสือมาเล่มหนึ่ง ซึ่งหนังสือเล่มนั้นช่วยเราหลายเรื่อง พัฒนาทักษะให้เราไปเล่นได้อย่างดีขึ้น ก็ได้ผล แสดงว่าทุกอย่างในโลกก็มีตำราแบบอย่างให้เราเดินตามอยู่แล้ว ภายใน 1 ปีก็ติดทีมโรงเรียนทุกกีฬาที่เล่น ไม่ว่าจะเป็นรักบี้ บาสเก็ตบอล กรีฑา และมีว่ายน้ำอีกอย่าง เราก็รู้สึกว่าโลกมันเป็นของเรา เท่ อยากโชว์ พออยู่ ม.ศ.5 (สมัยนั้น คือ ม.6 ตอนนี้) ก็ติดทีมชาติ ซึ่งก็ค่อนข้างยากนะครับ แต่รูปร่างก็ควายกว่าใครเขา ก็ได้เปรียบ ก็ติดทีมชาติตั้งแต่ยังอยู่โรงเรียน เป็นเกียรติประวัติยิ่งใหญ่มโหฬาร

ก็ไปเจอรุ่นพี่ที่เท่มาก นักเรียนนอก ขับรถสปอร์ต ควงสาวไม่ซ้ำหน้า เขาก็บอกว่าเชื่อพี่ เมืองไทยนี่วิชาการใช้ไม่ได้ เมืองไทยใช้กึ๋นกับเส้น ผมก็เลยยึดอันนั้นเป็นคติประจำใจ เพราะหนึ่ง ดูไปแล้วก็จริงนี่หว่า ไม่มีใครพูดวิชาการเลย มีแต่พูดว่ากูรู้จักใคร นี่กำลังเล่าเรื่องเมื่อสมัย พ.ศ. 2515 ผ่านมาตอนนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ อีกอย่างมันดูน่าเชื่อเพราะมันง่ายและมันสนุกด้วย หนังสือหนังหาไม่ได้เรียน สนุกเอาตัวรอดไปวันๆ ช่วงนั้นก็เป็นช่วงที่หลงทาง อีกอย่างเรื่องกีฬาก็ชอบ ก็เล่นทั้ง 4 อย่าง ผมติดทีมมหาวิทยาลัยทั้ง 4 อย่าง มีเล่นทศกรีฑาด้วย ก็เล่นวอลเลย์บอล เล่นบาสเกตบอล ซึ่งทั้งสามอย่างนี่แข่งระดับประเทศ อยู่มหาวิทยาลัยก็ทำอยู่สามอย่าง เล่นกีฬา เล่นไพ่ จีบสาว

นิ้วกลม : สมัยที่ผมเรียนสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ นี่พี่ๆ จะบังคับให้เล่นรักบี้ ถ้าไมเล่นรักบี้จะไม่มีเพื่อน แต่ผมรู้สึกว่ากีฬาประเภทนี้มันไม่ได้เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์ ผมรู้สึกว่ามันจะมีแต่ตัวบึ้กๆ วิ่งชนกันเท่านั้น คือ ผมไม่ได้ชอบเลย แต่ผมต้องเล่นเพราะผมอยากได้เพื่อน คุณบรรยงชอบอะไรกับกีฬารักบี้

สมัยอยู่จุฬาฯ นี่เขาเรียกผมว่าไอ้ควาย จริงๆ เด็กวชิราวุธมันต้องเล่นน่ะครับ มันเหมือนคณะสถาปัตย์ฯ เหมือนกัน มันไม่ใช่กีฬาประจำโรงเรียนหรอก มันไม่ใช่กีฬาประจำคณะสถาปัตย์ฯ หรอก มันเป็นเป็นวิถีชีวิต ฟังดูเท่เนอะ พูดเหมือนชาวนิวซีแลนด์ว่ารักบี้เป็นวิถีชีวิต ว่ามันสอนอะไรหลายๆ อย่าง เขาว่าอย่างนั้นนะ แต่ก็สอนจริงๆ

บรรยงคิด

นิ้วกลม : เขาสอนอะไรบ้างและให้อะไรบ้าง

ไม่ใช่เฉพาะรักบี้นะครับ คือ จริงๆ แล้วการที่มนุษย์ต้องมีปฏิสัมพันธ์กันเพราะคนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ กีฬาทุกประเภทมันสอนให้เรารู้จักอยู่ร่วมกับคนอื่น แต่รักบี้ก็จะมีลักษณะพิเศษหลายอย่าง ยกตัวอย่างว่า ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ปรมาจารย์แห่งวิชาการการจัดการของโลก เขาถือว่าเก่งที่สุดคนหนึ่งในวิชาแมเนจเมนต์ เป็นคนเอาคำว่า strategy หรือกลยุทธ์ ซึ่งเมื่อก่อนนี่ใช้แต่ในทางทหารมาใช้ในทางธุรกิจเป็นคนแรกตั้งแต่ปี 1946 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เขาบอกว่าถ้าจะพูดถึงการทำงานเป็นทีมเพื่อไปเทียบกับกีฬาแล้ว ปรัชญาของรักบี้น่าจะเป็นปรัชญาที่ดีที่สุดสำหรับการทำงานเป็นทีม

ดรักเกอร์เมื่อก่อนนี่เขาอยู่อังกฤษนะครับ เขาบอกว่ารักบี้นี่มีสามสี่อย่าง จำได้ไม่หมด อย่างที่หนึ่งนี่ หลักการของรักบี้ก็คือ 14 เพื่อ 1 ก็คือ 14 คนต้องทำทุกอย่างเพื่อให้คนหนึ่งคนไปทำคะแนนได้ แต่ไม่ได้กำหนดตายตัวว่า 14 คนนั้นเป็นใคร 1 คนนั้นเป็นใคร แล้วแต่จังหวะแล้วแต่โอกาส ว่าใครจะทำหน้าที่ แตกต่างกันไป

เรื่องที่สองบอกว่า ในเกมรักบี้ คนดูจะไม่ค่อยเห็นหรอกว่าใครทำงานหนักที่สุด มีใครเคยดูรักบี้บ้าง คือคนที่ทำงานหนักที่สุดนี่จะไม่ค่อยมีใครเห็น เพราะมันต้องคลุกอยู่ข้างใน เพราะเป็นพวกที่เรียกว่าไปแย่งชิงลูกเข้ามาเล่นให้ได้ เพราะฉะนั้นคนที่หนักก็จะไม่เด่น แต่ในทีมจะให้เกียรติกันมาก ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ในเกมรักบี้ ถ้าทุกคนดูจะเห็นว่าทุกคนมีความสำคัญเท่ากันหมด คนที่ทำคะแนนได้จะวิ่งกลับมาเฉยๆ จะไม่มีท่าสร้างสรรค์ ไม่เหมือนฟุตบอล รักบี้นี่อย่างมากก็ตบกระบาลที good job แล้วก็กลับมาเล่นต่อ

อีกเรื่องคือในเกมรักบี้จะไม่มีการดูถูกคู่ต่อสู้ อากัปกิริยาที่ทะเลาะชกหน้ามีประจำ แต่จะต้องไม่ดูถูกคู่ต่อสู้ นึกออกไหมครับ แถมเวลาจบเป็นธรรมเนียมเลยนะครับ ว่าทีมที่ชนะจะต้องรีบวิ่งเรียงแถวไปปรบมือให้กับผู้แพ้ ก็เป็นสิ่งที่ดรักเกอร์พูดไว้ แต่เขาพูดมากกว่าที่ผมพูดเมื่อกี้นะครับ ว่าปรัชญาการทำงานเป็นทีมในปัจจุบันมันคล้ายกับกีฬารักบี้ ที่สะท้อนใกล้เคียงมากสุด

นิ้วกลม : หลัก 14 เพื่อ 1 เวลาเอามาบริหารองค์กร มาถูกปรับใช้ มันใกล้เคียงกับการบริหารยังไง

ประเด็นน่าสนใจ การบริหารสมัยนี้มันก็มีหลายรูปแบบ องค์กรแต่ละแบบก็อาจจะมีความแตกต่างกัน แต่ผมนึกถึงการทำงานของผมในฐานะวาณิชธนกร คือผมยกตัวอย่างว่าเวลาเราทำงานเป็นทีมกันนะ ทุกครั้งทุกดีลมันจะมีความสลับซับซ้อน และมันต้องวางแผน ในทีมของผมที่ภัทรนะครับ จะมีการวางเลยว่า transaction แต่ละครั้ง จะวางกันว่างานนี้คุณเป็นตัวร้ายนะ คุณเป็นพระเอกนะ นึกออกไหมครับ เวลาทำดีล มันจะต้องมีความซับซ้อน เราจะต้องจัดทีมกัน ไม่มีใครได้เป็นพระเอกทุกคน

ผมยกตัวอย่างจากลูกค้าบางราย เป็นลูกค้ารายใหญ่มากเอ่ยชื่อก็รู้จัก คือเขาไม่ชอบหน้าผม ผมก็จะรู้และผมก็จะสลับคนอื่นเข้าไปทำ แทน อย่างที่บริษัทผม จะพยายามบอกว่าเวลาทำงานนะครับ ปกติเราจะคุ้นเคยกับระบบที่เป็นพีระมิด ต่อให้เรียกว่า flat organization ยังไงก็ตาม ก็เป็นแค่พีระมิดหัวป้านๆ หน่อย แต่ถ้าการทำงานที่เป็นทีมที่ดี จะต้องเป็นการวางกลยุทธ์ที่สลับกันได้ บางครั้งก็เป็นพีระมิดหัวกลับ อย่างเช่นที่บริษัทผม ข้างล่างเขาจะไม่รอให้ผมคิดว่าอยากจะทำอะไรแล้วไปมอบหมายเขา บอกได้เลยว่าปัจจุบันมีคนข้างล่างขึ้นมามอบหมายผมมากกว่าผมมอบหมายเขาเยอะ วันๆ ผมก็รอว่าจะมีใครมาสั่งให้ผมไปทำอะไร

นิ้วกลม : การให้เกียรติกับคู่ต่อสู้มันสำคัญยังไงครับ ทั้งกับการดำเนินชีวิตและกับการทำงาน

ปรัชญาในการแข่งขัน โลกปัจจุบันมันพิสูจน์แล้วว่าการแข่งขันเท่านั้นที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพ การแข่งขันนี่ดีเสมอ คือปรัชญาของทุนนิยมที่ทำให้ชนะระบบอื่นๆ ก็มาจากคำนี้แหละคือการแข่งขัน ยกตัวอย่างปราชญ์อเมริกันคนหนึ่ง ริชาร์ด พอสเนอร์ เขาบอกว่าทุกวันนี้โลกพิสูจน์แล้วว่า ความเห็นแก่ตัวมีพลังและประสิทธิภาพมากกว่าความเห็นแก่ส่วนรวมไม่รู้เท่าไหร่ มันพิสูจน์ว่าทำไมทุนนิยมถึงชนะระบบอื่น แต่ประเด็นมันอยู่ที่ว่าทำยังไงให้ความเห็นแก่ตัวนั้นไม่สามารถที่จะไปเบียดเบียนไปทำร้ายคนอื่นอย่างไม่ชอบ เห็นแก่ตัวได้ ไม่เป็นไร แต่คือต้องอยู่ในกรอบและกติกา และถ้าจะให้ดีกว่านั้นต้องสามารถสร้างกลไก สร้างระบบให้ความเห็นแก่ตัวของทุกคนรวม เกิดประสิทธิผลรวมแล้วทำให้เกิดประสิทธิต่อส่วนรวม

เวลาเราพูดถึงการแข่งคน คนจะนึกถึงแพ้ ชนะ คนมักจะบอกว่าคนชนะได้ทุกอย่าง คนแพ้สูญเสียทุกอย่าง นั้นใช่ไม่ได้ ทำไมเราไม่มองการแข่งขันไปในมุมมองที่ว่าคนชนะวิ่งเร็วขึ้น คนแพ้ก็วิ่งเร็วขึ้นเหมือนกัน คือแข่งแล้วก็ดีขึ้นทั้งคู่ ผมว่าในสังคมเรามันยังมีความแปลกๆ เยอะคือเอาแต่แพ้ เอาแต่ชนะ ไม่ได้ดูองค์ประกอบอื่น อย่างสุภาษิตที่ผมจะพูดเสมอว่าพ่อสอนไว้ว่า “ถ้าอยากสูงนะให้ยืดตัว เตะคนอื่นล้มนี่ไม่ได้ทำให้คุณสูง” ซึ่งถ้าคุณอยู่ในสังคมคนสูง และคุณพยายามยืดตัวก็จะทำให้คุณยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ผมเป็นเพื่อนรักกับคุณกรณ์ (จาติกวณิช) เพราะอยากสูง จริงๆ เป็นคู่แข่งห้ำหั่นกันดุเดือดตลอดตอนทำงาน พาดพิงไว้ก่อนเดี๋ยวจะเชิญร่วมสนทนาด้วย(กรณ์ จาติกวณิชมาร่วมงานด้วย)

นิ้วกลม : สิ่งที่น่าสนใจคือ นอกจากเรื่องธุรกิจเกี่ยวกับการเงินที่คุณบรรยงทำอยู่แล้ว ยังมีเรื่องภาคของสังคมที่ไปเป็นกรรมการหลายๆ ที่ เช่น หอจดหมายเหตุพุทธทาส หรือกรรมการทีดีอาร์ไอ (TDRI) ทำไมเราถึงจะต้องสังคมด้วยครับ ในฐานะนักธุรกิจคนหนึ่ง

จริงๆ ผมนี่ไม่เคยเอ่ยอ้างเรื่องคุณธรรมจริยธรรมสูงส่งเลยนะ คือ ผมไม่รู้ว่าผมมีหรือเปล่าด้วยซ้ำไป ผมก็ทำในสิ่งที่คิดว่าเป็นเหตุเป็นผล แล้วก็สร้างประโยชน์ ซึ่งในที่สุดตัวเองก็ได้ประโยชน์ไปด้วย แต่ผมเป็นคนที่ถือเสมอว่าประโยชน์ตนหรือประโยชน์ท่านนี่มันสามารถไปด้วยกันได้ ยกตัวอย่างเช่น ผมทำหน้าที่ในตลาดหุ้นนะครับ ตอนแรกบอกตรงๆ ว่าสิบกว่าปีทำงานนี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตลาดหุ้นมีไว้ทำไม แต่พอทำงานไปได้สัก 12 ปี วันหนึ่งก็ลุกขึ้นมาถามตัวเองว่าวันๆ เราทำไรวะ คนเขาซื้อหุ้นขายหุ้นแล้วเรากินค่าคอมมิชชันจากเขา เราสร้างประโยชน์อะไรให้กับโลกบ้างวะ

ในที่สุดเราก็พยายามเข้าใจ สุดท้ายก็ไปศึกษา ก็เข้าใจว่าตลาดทุนมันมีบทบาทสำคัญมากเลยกับการพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะสมัยใหม่ ที่บอกว่าหนังสือเปลี่ยนชีวิตผม ก็มีช่วงหนึ่งเหมือนกันที่ได้รับมอบหมายจากบริษัทให้ไปพัฒนาธุรกิจหลักทรัพย์ของบริษัท ก็ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง investment banking ทั้งหมด 12 เล่ม เป็นตำราที่ออกมาเล่มแรกๆ เมื่อ 1985 อ่านทั้งหมดเลยครับ เพื่อพยายามจะเข้าใจว่าตลาดหุ้น มีความสำคัญอย่างไร หน้าที่บทบาทของมันต่อสังคม หลังจากที่อ่านเข้าใจแล้ว เกือบทุกงานที่เราทำ นอกจากจะได้เงินแล้วเรายังได้มีความรู้สึกว่าเราได้สร้างสรรค์อะไรให้กับสังคมบ้าง ผมยกตัวอย่าง ผมขายหุ้นทุนให้บริษัทที่จะเข้าตลาดหรือบริษัทที่เพิ่มทุน 5 แสนกว่าล้านบาท (underwrite) เมื่อมองกลับไปมันเป็นความภาคภูมิใจว่าทำให้เกิดการลงทุนจำนวนมหาศาล ปกติมันจะลงทุนประมาณ 3 เท่าของหุ้นทุน มีการจ้างงานเท่าไหร่ มีการทำให้เศรษฐกิจเดินไปข้างหน้า มีการพัฒนาสังคม คุณภาพชีวิต นี่คือเวลาเราทำงาน เราก็ได้ความภาคภูมิใจ ทั้งๆที่บางหุ้นที่ขายไป เจ๊งบ้างก็มี เป็นเรื่องธรรมดา

เดิมผมคิดว่าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดที่เราจะทำให้สังคมก็คือ ทำหน้าที่ของเราให้ดี มันก็ง่ายๆ ใครๆก็พูดแบบนี้ ในส่วนสังคมภายนอกก็ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ผมก็ทำส่วนของตลาดทุนเป็นส่วนใหญ่ ก็ใช้ความรู้ความเข้าใจที่ศึกษามาทั่วโลก พัฒนาตลาดทุนไทยไปในแนวที่ผมเชื่อว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ก็พยายามทำมาตลอด ผมถือว่ามันสำคัญกว่าที่จะไปเที่ยวบริจาคสร้างวัดสร้างอะไรมากมาย จริงๆ ผมก็เห็นแก่ตัวนะที่ตลาดทุนพัฒนาไปในแนวที่ผมอยากให้เป็น มันก็ทำให้ผมได้ตังค์ ถ้ามันพัฒนาไปเป็น”ปั่น(หุ้น)”ร้อยเปอร์เซ็นต์ผมทำงานไม่เป็น ผมเชื่อว่าสำคัญที่สุดคือรู้หน้าที่ของเรา มันสำคัญมากที่เราจะรู้บทบาทหน้าที่ของเรา และเข้าใจว่าประโยชน์ของเรากับประโยชน์ของสังคมมันเป็นเรื่องเดียวกัน

ส่วนที่ไปทำต่างๆ ข้างนอก จริงๆ ก็ทำอยู่สองสามเรื่อง เรื่องที่ไปช่วยเอ็นจีโอทั้งหลายแหล่นั่นก็เป็นเพราะว่าน้องชายผมอยู่ในแวดวงนี้ ก็เรียกไปใช้บริการ ก็เรียกว่าเป็นเจ้านายตัวจริงของผมอีกคนหนึ่ง ก็เรียกผมไปตั้งเครือข่าย ตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส ส่วนอื่นๆ ก็ไปช่วยงานของทีดีอาร์ไอ ก็ช่วยบ้าง เราได้เรียนรู้ไปด้วย

กับอีกเรื่องหนึ่ง ปี 2553 ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ที่ราชประสงค์ ทุกคน”จิตตก” ก็เลยพยายามที่จะศึกษาว่าอะไรที่เป็นสาเหตุของความแตกแยกเท่านั้นหรือ โชคดีที่ภัทรเรามีทีมเศรษฐกิจที่ดี ก็ช่วยกันศึกษาสาเหตุที่แท้จริง มันแค่คน 2-3 คนแย่งอำนาจกันแค่นั้นเหรอ เราก็พยายามศึกษา ก็พบว่ามันมีอยู่ 2 ประเด็น

หนึ่งก็คือความเหลื่อมล้ำที่มันสะสมในสังคมค่อนข้างมาก อีกประเด็นหนึ่งก็คือเรื่องคอร์รัปชัน ผมว่าอันนี้เป็นสาเหตุที่สำคัญมาก ก็เลยพยายามที่จะศึกษาทั้งสองเรื่อง แต่ไม่ได้เป็นผู้นำอะไรนะครับ ไม่ได้เป็นผู้นำบรรยายหรือผู้เชี่ยวชาญต่อต้านคอร์รัปชัน

หางกระดิกหมา

นิ้วกลม : คอร์รัปชัน มันเป็นปมสำคัญยังไงของความแตกแยกในบ้านเรา

ทั้งทางตรงทางอ้อม เยอะแยะไปหมด ยกตัวอย่างเช่น การที่ประเทศเราไม่เจริญก็เพราะว่าคอร์รัปชันมันสูง เวลาคนพูดกันว่าเราเสียหายไปแสนล้าน เพราะมันโกงไปแสนล้าน จริงๆ ถ้ามันเสียหายแสนล้านนะ เราจะเสียหายอย่างน้อย 5 เท่าของที่มันโกงไป เพราะมันมีองค์ประกอบอีกเยอะมาก คอร์รัปชันทำให้การใช้ทรัพยากรเบี่ยงเบนไปหมด ทีนี้พูดไว้แค่นี้เพราะหนังสือเล่ม 3 พูดถึงเรื่องคอร์รัปชันล้วนๆ เลยครับชื่อ “หางกระดิกหมา”

นิ้วกลม : ขอย้อนกลับไปตอนต้น การทำงานของคุณบรรยงน่าสนใจมาก เคยเป็นคนที่เรียนเก่งมากแล้วไปเพลินกับการเล่นกีฬาจนกระทั่งใช้เวลาเรียน 5 ปี และจบมาด้วยเกรดเฉลี่ยแค่ 2.00 ใช่ไหม

จริงๆ 4 ปีครึ่งนี่หน่วยกิจครบแล้ว มันได้อยู่ 1.98 ผมก็เลยต้องเรียนต่ออีก 1 เทอม เป็น 5 ปี แล้วมันก็มีทางเลือกอยู่สองทาง คือ ทางหนึ่งเลือกลง 2 วิชา แล้วได้ B คู่ หรือ A กับ C ก็จบ หรืออีกทางหนึ่งก็คือลงวิชาเดียวแล้วต้องได้ A เท่านั้น ผมเลือกลงวิชาเดียว ทำไมรู้ไหมครับ เพราะการขอร้องอาจารย์คนเดียวมันง่ายกว่าเยอะ(หัวเราะ) ผมก็เลยไปเลือกวิชาที่โค้ชรักบี้เป็นคนสอน คือเป็นวาณิชธนกร เป็น deal maker ตั้งแต่เด็ก

นิ้วกลม : พอจบออกมาก็ไม่ได้หางานง่ายด้วย แล้วก็เคยเข้าใจผิดที่คนไทยบอกว่ามันสำคัญที่ว่า Know who มากกว่า Know how คือรู้จักใครมากกว่า แต่สุดท้ายคุณบรรยงก็ได้งานเพราะ Know Who ด้วยเหมือนกัน

ถูกครับ คือพอเราจบมาเราก็เริ่มรู้สึกว่าเพื่อนฝูงเขาได้งานดีๆ กันไปหมด ผมนี่ไปสมัครงาน 8 เดือน ตั้งใจนะครับ ไม่มีใครรับเลย เป็นงานดีๆ อย่างบริษัทเชลล์ ปูนฯ ก็ไม่ต้องพูดถึง ก็เข้าไปพวกแบงก์ ก็ถือว่ารองๆ ลงมาหน่อย ไปที่ธนาคารกสิกรไทย พอกรอกใบสมัครเสร็จ ยื่นทรานสคริปต์เสร็จ ปกติเขาจะมีให้สอบข้อเขียน แต่นี่ดูเสร็จเขาบอกว่าน้องอย่าสอบเลย เสียเวลาคนตรวจครับ ไปที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ก็ดูเสร็จไม่ให้กรอกใบสมัคร บอกว่าไปข้างหน้าเถอะ เกรดเท่านี้เขาไม่รับ จากที่วนอยู่ 8 เดือน ก็โชคดีไปเจอรุ่นพี่นักรักบี้คุณวิโรจน์ นวลแข ซึ่งตอนนั้นเป็นเบอร์สองของภัทรธนกิจ ท่านก็เคยดูผมเล่นรักบี้ ท่านก็บอกว่า “มาทำงานกับพี่ดีกว่า”

คือตลาดหุ้นเมื่อก่อน น้องๆ (ผู้ฟัง) คงเกิดไม่ทัน มันต้องวิ่งกันแย่งเคาะกระดาน ต้องการคนตัวใหญ่เบียดกระแทก ใช้ไหวพริบ คุณสมบัตินี้ผมมีครบ ไม่ต้องใช้วิชาการ ก็เลยได้งาน แล้วจากนั้นมาก็โชคดีที่ได้ไปอยู่ในองค์กรที่ดี องค์กรที่ให้โอกาส องค์กรที่กระตุ้นให้คนเรียนรู้ ก็ไม่รู้โชคดีรึเปล่า จนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เคยอยู่องค์กรอื่นเลย

นิ้วกลม : จริงๆ พออ่านแล้วมันก็น่าสนใจมาก โดยเพาะคนรุ่นผมหรือหลังจากผม เพราะการที่รู้ว่าคนคนหนึ่งทำงานในที่ที่หนึ่ง 36 ปี มันตกใจนะครับ เพราะเดี๋ยวนี้ทำกันไม่ถึง 3 ปีก็เปลี่ยนที่แล้ว คุณบรรยงไม่มีความรู้สึกอยากจะเปลี่ยนที่ หรือที่นี่ไม่เหมาะกับเราบ้างเหรอ

คงเป็นสองสามเรื่องปนกันนะ หนึ่งคือศักยภาพผมคงต่ำเกินกว่าที่จะไปเลือกอะไรได้มากกว่านั้น ก็คงจะเป็นสาเหตุหนึ่ง แต่สองสามเรื่องที่ผมอยากจะเล่าคือ จริงๆ ก็มีคนชวนนะครับ ไม่ได้เป็นคนโง่ดักดานขนาดนั้น แต่ว่าตอนที่มีคนชวนแล้วไปนั่งคุย ดูเงื่อนไข ดูวิธีการ ดูปรัชญา ดูเป้าหมายแล้วเราก็คิดว่ามันยาก นั่นเป็นเหตุการณ์เมื่อ 25 ปีที่แล้ว ผมก็เลยตั้งคติว่า ถ้าเราอยากทำงานที่ไหน เราจะอยากอยู่ในสังคมแบบไหน เราก็มีทางเลือกสองทาง คือวิ่งหาหรือสร้างมัน

“คือคนมันชอบทำตัวเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญ แล้ววิ่งหาที่ พอไปแล้วใส่เป๊ะพอดี ขาดกูไปมึงก็อัปลักษณ์ อะไรแบบนี้ ซึ่งเรื่องแบบนี้ผมก็บอกว่ามันไม่มีหรอก เพราะฉะนั้นทำไมเราไม่สร้างมันล่ะ อยากให้มันเป้นยังก็สร้างมัน นี่ไม่ได้หมายความว่าสร้างเพื่อเราคนเดียวนะ ถ้าอย่างนั้นไม่มีใครมากับเราหรอก เราก็ต้องหาคนที่มีทัศนคติใกล้เคียงกัน มารวมหัวกัน เป้าหมายร่วมกัน แล้วก็ค่อยๆ สร้างกันขึ้นไป ซึ่งมันก็ไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกครับ”

ปี 1992 สมัยที่ผมเป็นผู้บริหารในธุรกิจหลักทรัพย์มาได้ระยะหนึ่ง มีหนังสือออกมาเล่มหนึ่ง ชื่อ “Principle-centered leadership” ของ สตีเฟน โควี (Stephen Covey) เพิ่งตายไปเมื่อปีที่แล้ว นี่ก็เป็นหนึ่งในปราชญ์ด้านวิชาการจัดการ หนังสือเล่มนี้ดีมาก เขาสรุปง่ายๆ ว่าองค์กรที่ดีควรจะมีหลักการ (principle) เป็นศูนย์กลางขององค์กร ซึ่งผมก็เริ่มมีความคิดว่าน่าจะเอาหลักการมาเป็นผู้นำ เพราะแน่นอนว่า แม้มนุษย์จะเป็นคนตั้งคนสร้างหลักการขึ้นมา แต่ตัวหลักการที่เป็นผู้นำมันจะดีกว่ามนุษย์ สมมติเราเป็นผู้นำ บางวันเราก็อารมณ์ดี บางวันเราก็อารมณ์เสีย บางวันก็ฉลาด บางวันก็โง่ ความไม่แน่นอนสูง แต่พอเราคิดอย่างนี้ได้เราก็พยายามทำให้ตัวองค์กรเรามี หลักการเป็นผู้นำ ซึ่งผมก็ทำได้ประมาณหนึ่งนะครับ ถ้าใครสนใจ เมื่อปีที่แล้วมีรุ่นน้องให้อ่านหนังสือชื่อ “Principles” เขียนโดยเรย์ ดาลิโอ (Ray Dalio) อยู่ในอินเทอร์เน็ต เขาให้อ่านฟรี เพราะว่าคนเขียนเขามีเงินอยู่ประมาณ 9 พันกว่าล้านเหรียญ ผมยังรู้สึกว่ามีน้อย เขาก็เลยให้อ่านฟรีในอินเทอร์เน็ต ดีมากเลยครับ ลองไปอ่านได้เลย เขาจะพูดถึงการที่องค์กรจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้สำเร็จ หลักการต้องเป็นแกนเป็นผู้นำ

บรรยงคิด-เขียน

นิ้วกลม : คุณบรรยงเริ่มทำงานได้เงินเดือน 2,450 บาท จนกระทั่งทุกวันนี้กลายมาเป็นประธานกรรมการบริษัท อยากทราบว่ามีเคล็ดลับอะไรครับที่ทำให้คนคนหนึ่งไต่เต้าขึ้นมาจนถึงแบบนี้ได้

จริงๆ มีเคล็ดลับอยู่แล้วนะครับ สำหรับผมคือไม่มีเคล็ดลับ ทุกอย่างเปิดเผยได้หมด แต่ถ้าอยากจะบอกมันก็มีองค์ประกอบหลายๆ เรื่อง ในหนังสือเล่มแดง (บรรยงเขียน) บทสุดท้าย ก็เป็นสิ่งที่ผมอยากจะรวบรวมเรื่องราวต่างๆ คุณสมบัติต่างๆ ที่ถ้าคนรุ่นใหม่สนใจฝึกฝนก็จะช่วยได้มาก ความจริงมันเยอะ แต่หลักใหญ่ๆ มันไม่ได้มากน้อย ที่สำคัญผมคิดว่าเราต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของเรา คือมนุษย์โดยทั่วไปก็จะนึกว่ากูเจ๋ง แต่ข้อเท็จจริงคือมึงเจ๋งบางเรื่องเท่านั้น ส่วนใหญ่เวลามึงเจ๋งนี่ไม่ใช่เรื่องที่มึงคิดด้วย เดี๋ยวนี้มันโชคดีมากที่มีเครื่องมือเยอะแยะ อย่างหนังสือที่ผมชอบแนะนำให้คนทำงานรุ่นใหม่ไปซื้อ ไปทำแบบฝึกหัดเพื่อจะได้ค้นพบจุดแข็งของตัวเอง เหมือนจะมีแปลเป็นไทยชื่อว่า “เจาะจุดแข็ง” ซึ่งมันมาจากการวิจัย ฉะนั้นความถูกต้องแม่นยำมันก็จะสูง แต่ผมคิดว่ามันอาจจะไม่พอเพราะมันไม่ได้พูดถึงจุดอ่อน มนุษย์เราต้องรู้จุดอ่อน ผมชอบคอนเซปต์ของหนังสือเล่มนี้เพราะผมปฏิบัติมานานก่อนที่จะมีหนังสือเล่มนี้ นั่นคือ เวลาเรารู้จุดอ่อนของเรานี่ ไม่ต้องไม่แก้มันทั้งหมด แต่ต้องรู้ว่ามันมีอยู่ คือ อย่าไปนั่งแก้เลยครับ มันเป็นไปไม่ได้นะครับ ที่จะเป็นมนุษย์สมบูรณ์ แต่ถ้าเรารู้ตัวว่ามันมีอยู่ เราก็จะได้ให้คนอื่นเขาช่วยทำ

นิ้วกลม : คุณบรรยงเขียนถึงวิธีแก้ปัญหา ว่าเวลาเจอปัญหาเราจะมีวิธีตอบโต้ปัญหากลับไป 3 แบบ ช่วยอธิบายสักนิด

คือ ของทุกอย่างเรามองมันได้หลายมุมนะครับ เวลาเราเจอปัญหาเราจะมีทางเลือก 3 ทาง คือ แก้ ทน หรือหนี ถ้าคนฟังคร่าวๆ ก็จะนึกว่ามันต้องนักแก้ แต่ผมบอกว่าคนที่เจอปัญหาแล้วทนนี่ห่วยสุด เพราะมันแปลว่าคุณไม่มีศักยภาพอะไรเลย ต้องอดต้องทนกับมันอยู่ร่ำไป แต่คนที่ห่วยที่สองก็คือคนที่เจอปัญหาแล้วหนี ต่อให้มีศักยภาพที่ดีแต่คุณก็ต้องหนีทั้งชีวิต อันที่สามก็คือต้องแก้ร่ำไป เอะอะกูก็ดันทุรังแก้ ผมบอกว่าวิญญูชนจะต้องใช้ทั้ง 3 อย่าง คือ เริ่มต้นจะต้องแก้ แต่ระหว่างแก้คุณจะต้องมีความอดทน เพราะถ้าดีดนิ้วจบมันไม่เรียกว่าปัญหา ถ้าคนไปถึงจุดหนึ่งก็ต้องหนีเป็น ใครจะไปดันทุรังอยู่ได้

นิ้วกลม : ได้ยินว่าที่“ภัทร”คนชอบถามถึงเคล็ดลับความสำเร็จ แต่จริงๆ แล้วที่ภัทรเคล็ดลับคือความไม่มีเคล็ดลับ มันคืออะไร

ต้องแยกนิดหนึ่ง คือการทำงานในสมัยใหม่ เขาเรียกว่าเป็น knowledge working โดยเฉพาะเดี๋ยวนี้ที่เขาเรียกว่า third wave คือ จากที่เมื่อก่อน ในยุคอุตสาหกรรมมันจะเน้นการทำงานแบบสายพาน อย่างขันน็อตตัวนี้ก็จะต้องขันน็อตตัวนี้ให้เชี่ยวชาญที่สุดในโลก คุณไม่จำเป็นต้องรู้ด้วยซ้ำว่าเครื่องยนต์มันทำงานยังไง แต่เดี๋ยวนี้มันไม่ใช่ เพราะมันเป็นการบริหารข้อมูลข่าวสาร เป็นการใช้ความรู้ในการทำงาน ซึ่งมันก็แปลกนะครับว่าผมก็ถือและปฏิบัติมานาน ในที่สุดการวิจัยหลังๆ ก็ยืนยัน ถ้าใครอ่านใน Harvard business หรืออะไรก็ตามว่าองค์กรที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดก็คือมีระดับความโปร่งใส (level of transparency) สูงมาก ยกเว้นอยู่ไม่กี่เรื่องที่มันเปิดเผยไม่ได้ แต่อย่างบริษัทผม ไม่มีอะไรต้องลับ ไม่มีนวัตกรรมอะไรที่ซับซ้อน

หลักการของเรามีอยู่สองอันนะครับ คือ ความลับที่ต้องเป็นไปตามกฏ เช่น ดีลที่กฎหมายบอกให้เป็นความลับ อันนี้ไล่ออกทันที พนักงานไปกินเหล้าเผลอพูดก็ไล่ออก ความลับก็มีกฎมีเกณฑ์หมดครับ เพราะฉะนั้นเราไม่ยอม เราไม่ประนีประนอม แต่ในการทำงานในแต่ละทีมนี่ทุกคนรู้ได้เท่ากัน ตั้งแต่เด็กที่เพิ่งเข้ามา จนถึงประธานบริษัท ต้องรู้เท่ากันทุกคน เพราะว่าเราจะพูดเสมอว่าเราต้องรวมหัวกัน แต่มันจะมารวมหัวกันได้ไงถ้าคุณรู้แค่นี้ รู้ไม่เท่ากัน มันทำไม่ได้ มันต้องรู้เท่ากันหมด เรื่องของความโปร่งใสมันช่วยเยอะ ช่วยให้ประสิทธิภาพงานนี่สูงสุด มันช่วยให้คนเรียนได้เร็ว คนรุ่นใหม่จะเรียนได้เร็วที่สุด ช่วยให้มีการคานกันในทุกเรื่อง อย่างที่บริษัทผมจะบอกว่าถ้ามีอะไรที่ทุกคนควรรู้ ทุกคนเอาความรู้ที่ตัวเองรู้เอามาไว้บนโต๊ะ ถ้ามีอะไรที่ควรจะเปิดเผยแล้วมึงยังเสือกรู้คนเดียวนี่ ยอมได้อย่างเดียว ก็คือมึงรู้เมื่อวาน

“เราใช้คำว่า พูดจริงพูดหมดไม่ต้องจำ แต่ถ้าคุณเริ่มโกหกเริ่มปิดบังอะไรนี่คุณต้องจำหมด นั่นเป็นเรื่องเสียเวลาเยอะ และนั่นก็เป็นเรื่องของเคล็ดลับที่ไม่ลับ”

ขอตอบอีกนิดหนึ่งว่า คนรุ่นใหม่ Gen Y ที่เวลาทำงานกับคนรุ่นเก่าแล้วดูเหมือนเขาไม่นับถือ คือเขาเป็นคนที่มีข้อมูลข่าวสารเยอะมาก สมัยที่ผมเด็กๆ การมีข้อมูลข่าวสารนี่มันหายากมาก เวลาใครมีข้อมูลข่าวสารสักอันนี่เหมือนมีอาวุธ การรู้ทำให้เขาได้เปรียบ เพราะฉะนั้นคนรุ่นผมก็เป็นธรรมดาที่จะต้องนับถือผู้ที่อาวุโสกว่าเรา เพราะว่าแก่กว่าก็ควรจะรู้เยอะกว่า แต่เด็กสมัยนี้เขาไม่นับถือคุณหรอก เพราะในไอแพดเขามีทุกอย่าง เขาจะไม่นับถือคุณที่แก่กว่า เด็กเขาจะนับถือคนที่ใช้ข้อมูลข่าวสารเป็น แล้วก็พิสูจน์ให้เขาเห็น ซึ่งมันค่อนข้างยากนะ แต่ว่าที่ผมเล่าเรื่องนี้เพราะมันไปสะท้อนเรื่องคนรุ่นเก่าบางคนที่รู้สึกไม่มั่นคงขึ้นมา มันทำให้คนรุ่นเก่ายิ่งกั๊กข้อมูลข่าวสาร เพราะมันเป็นทางเดียวที่เขาจะแตกต่างจะเหนือกว่า ซึ่งเมื่อเป็นแบบนี้นะ องค์กรที่ดีจะต้องไม่ยอมให้เกิดขึ้น จริงๆเทรนด์มันจะกลับไปเป็นแบบนั้น นี่เป็นสิ่งสะท้อนกับหลายๆ สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นิ้วกลม : สมมติอย่างที่คุณบรรยงบอกว่า ยิ่งเราหวงความรู้ไว้ มันก็ดูเราจะเหนือกว่า แต่ถ้าเราคายความรู้ไปหมดให้คนอื่นเขารู้เท่ากับเราหมด แล้วเราจะเหลืออะไรที่เราจะเหนือกว่าเมื่ออยู่ในองค์กรนั้นๆ เขาจะต้องปรับตัวยังไงเพื่อที่จะอยู่รวมกับคนรุ่นใหม่

คือคำว่าเหนือกว่านี่มันเหนือกว่าจริงๆ ไม่ใช่ว่าคุณกั๊กอะไรแล้วคุณจะเหนือกว่าได้ ซึ่งที่คุณนิ้วกลมพูดมันเป็นปัญหาขององค์กรอยู่แล้ว ตัวองค์กรเองต้องสร้างวัฒนธรรมให้คนวิ่งตลอดเวลา ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา ผมเขียนไว้ใน learning organization มันฮิตขึ้นมาสักสิบกว่าปีที่แล้ว ซึ่งทุกคนก็จะพูด ผู้บริหารทุกคนก็พูดว่าจะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ แต่ผมกลับเห็นว่ามีสองสามเหตุผลที่คนจะต้องเรียนรู้ คนที่เรียนรู้เท่านั้นที่จะอยู่รอด องค์กรจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่ใช่รู้แล้วรู้เลย เก่งแล้วเก่งเลย องค์กรมันต้องวิ่งตลอดเวลา อยู่เฉยๆ มันก็ไม่รอด ในองค์กรมันต้องทำให้เกิดเงื่อนไขอย่างนั้น

บรรยงเขียน

นิ้วกลม : ได้ยินว่า ที่ภัทร คุณบรรยงมีเพื่อนร่วมงานที่เก่งเต็มไปหมดเลย อยากทราบว่าพนักงานหรือลูกน้องในฝันมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง

จริงๆ ตอนนี้ผมมาบริหารธนาคารเกียรตินาคินด้วย แต่เวลาพูดจะติดภัทรเป็นส่วนมาก งานใหม่นี่เพิ่งมาทำแค่ปีเดียว และยังอยู่ในระหว่างเรียนรู้ด้วย ภัทรเป็นบริษัทที่เล็กมาก เป็นบริษัทที่มีพนักงานแค่ 300 คน ถือว่าเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่เล็กที่สุดก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่บริษัทใหญ่ ถ้าใครอ่านหนังสือผมจะรู้ว่าผมไม่เรียกเพื่อนร่วมงานว่าลูกน้อง เป็นเพื่อนร่วมงานกันหมด ผมจะถือเสมอว่ามนุษย์ทุกคนนี่กระบาลมันเท่ากัน ผมเชื่อว่าคุณสมบัติที่ดีอันหนึ่งที่ผมพอจะมีคือการที่เคารพคนอื่นตลอดเวลา สังคมที่ดีจะต้องเป็นสังคมที่ให้ความนับถือกัน ของพวกนี้จะทำให้เราเรียนรู้หรือเพิ่มประสิทธิภาพได้ คือจริงๆ ผมสัมภาษณ์พนักงานทุกคน ยกเว้น back office กับ IT ซึ่งไม่ใช่ไม่สำคัญนะครับ แต่เป็นสิ่งที่ตัวผมไม่มีทักษะ

เวลาสัมภาษณ์พนักงาน ผมจะดูอยู่แค่ 2 อย่าง อันที่หนึ่งก็คือทัศนคติ ทัศนคติที่สอดคล้องกัน ไม่เรียกว่าดีไม่ดีนะ แต่สอดคล้องกับกลุ่มพวกเรา พร้อมที่จะทำงานเป็นทีม หลักการไปด้วยกันได้ ประการที่สอง ผมดูว่าเป็นคนมีพลังหรือไม่ อันนี้สำคัญมาก ต้องดูจากบุคลิก ลักษณะ ประวัติ วิธีการ ซึ่งอันหลังนี่สำคัญนะครับ จริงๆ เรื่องอื่นก็สำคัญนะครับ แต่กว่าผมจะสัมภาษณ์นี่ก็รอบที่ 6 นะ คือผ่านมา 5 รอบแล้ว เรื่องอื่นผมก็ไม่ได้ไปเช็คเท่าไหร่ จะเช็คอยู่ 2 เรื่อง แต่ถ้าโตขึ้นมาหน่อยผมชอบเกณฑ์ของแจค เวลช์ (Jack Welsh) ครับ เขาจะดูความเป็นผู้นำ จะใช้คำว่า 1P 4E สำคัญสุดเลยคือ Passion ต้องเป็นคนที่ลุ่มหลงทุ่มเทกับงานที่ทำ หลงรักงานที่ทำ คือฉันทะ คือรักงานไม่ใช่รักเงินเดือน อันที่สอง 4E ประกอบด้วย Energy คือพลังงาน แต่ถ้าจะเป็นผู้นำก็ต้องมีมากกว่า Energy ต้องสามารถ Energize peopleคือทำให้คนอื่นมีพลังไปด้วย เคยเห็นไหมครับว่ามันมีเพื่อนบางพวกที่เวลามันอยากทำอะไรเราอยากทำกะมัน มันน่าทำด้วย อันที่สามคือ Edge คือการตัดสินใจซึ่งอันนี้วัดยากนะ เวลารับคนผมจะไม่มอง แต่เวลาโปรโมทคนผมจะสังเกตได้ คือคุณตัดสินใจได้ถูกที่ถูกเวลาและถูกต้อง แต่ถูกเวลานี่มันยาก บางคนก็เร็วมาก บางคนก็ไม่ตัดสินใจ อันสุดท้ายก็คือ Execute ก็คือทำให้มันเกิด ไม่ใช่ดีแต่พูดๆ อย่างผมเขียนเฟซบุ๊กนี่ก็มีคนเข้ามาด่าว่าเอาแต่คิดแต่พูด ไม่ได้ทำอะไรเลย จะให้ผมไปขึ้นเวทีหรือยังไง(หัวเราะ)

นิ้วกลม : ทำยังไงให้คนเก่งอยากมาอยู่กับเรา

คนเก่งเขาเลือกเราอยู่แล้ว ไม่ใช่เราเลือกเขา เพราะฉะนั้นอันนี้มันสำคัญ เริ่มตั้งแต่กระบวนการต่างๆ มันต้องเป็นการเชิญชวน ไม่ใช่หยิ่งยโสว่ากูเท่ ตอนผมสร้างทีมใหม่ๆ จากบริษัทเล็กๆ ที่ไม่มีชื่อเสียง แทบจะต้องไปกราบไหว้อ้อนวอนไป 5 คนมา 1 คน คนที่นั่งอยู่ตรงนี้ (กรณ์ จาติกวณิช มาร่วมงานเปิดตัวหนังสือด้วยโดยนั่งอยู่บนพื้นร่วมกับผู้ฟังคนอื่นๆ) ผมไม่รู้ว่าเขาจำได้หรือเปล่า ผมก็เคยไปทาบทามตั้งแต่รู้ว่าอยู่บริษัทหลักทรัพย์ในอังกฤษที่มีชื่อเสียง ผมก็พยายามไปทาบทามคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ก็เคย พวกนี้ไม่มาแล้วได้ดีหมดเลย ใครที่เคยมาสัมภาษณ์งานกับผมจะรู้ว่าผมใช้เวลาตัดสินเขาแค่ 20 นาที แล้วอีก 20 นาทีผมขายตัว

นิ้วกลม : จริงๆ มันมีเทคนิคอันหนึ่งที่คุณบรรยงเขียนไว้ ว่าจะไม่ยอมให้หัวหน้าสัมภาษณ์ลูกน้องของเขาตรงๆ

จริงๆ ระบบนี้เจ้านายเก่าผม(คุณวิโรจน์ นวลแข)เป็นคนวางเอาไว้ เดี๋ยวนี้ยากขึ้นเยอะ เพราะเรามีการแบ่งเลเยอร์หลายชั้น เมื่อก่อนเขากำหนดไว้เลยว่าต้องบวกสองขั้นขึ้นไป ถ้าจะรับคนระดับหนึ่ง ต้องเอาคนระดับ 4 มาสัมภาษณ์ จะไม่ยอมให้คนระดับ 2-3 มาสัมภาษณ์ ง่ายๆ ก็คือไม่มีใครอยากได้ลูกน้องที่เก่งกว่าตัวเอง แล้วคนส่วนใหญ่ก็อยากได้คนที่ว่าง่าย กูเอาอยู่ ซึ่งเราไม่ได้ต้องการคนแบบนั้น เราต้องการคนที่เก่งกว่าพวกเราเสมอ

นิ้วกลม : คุณบรรยงอยู่ในการงานที่เกี่ยวกับการลงทุน แต่ไม่สนใจเล่นหุ้นเลย ทำไมเป็นแบบนั้น

เล่นหุ้นแปลว่าอะไร ถ้าเล่นหุ้นแปลว่าเราเข้าไปเลือกหุ้นนี้ขายหุ้นนั้น แบบนั้นผมไม่เอา ที่ไม่เอา ไม่ใช่ว่าไม่อยากได้ตังค์ คือมันเคยทำมาแล้วและก็หมดตัว สมัยราชาเงินทุน ปี พ.ศ. 2522 ก็หมดตัว ใช้หนี้อยู่ 10 กว่าปี กว่าจะใช้หนี้หมด หลังจากนั้นเราก็เลยเรียนรู้ถึงเหตุผลว่า เวลาไปแผงหนังสือแล้วเปิดหนังสือนิตยสารที่เกี่ยวกับธุรกิจเกี่ยวกับการเงินต่างประเทศ ในนั้นไม่แนะนำหุ้นทุนนะ มันแนะนำให้คุณซื้อกองทุน มีตารางกองทุนให้เลือก เพราะว่ามนุษย์ธรรมดานี่ไม่มีศักยภาพพอที่จะซื้อขายหุ้นหรอกครับ ไปอ่านใน 6 เหตุผลแล้วกัน ข้อเสียผมคือพูดอะไรสั้นไม่เป็น มันไม่ครบ ไม่ถึงเหตุถึงผล

กรณ์ จาติกวณิช (ขวา)มาร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือของ"บรรยง พงษ์พานิช"
กรณ์ จาติกวณิช (ขวา)มาร่วมเสวนาเปิดตัวหนังสือของ”บรรยง พงษ์พานิช”

นิ้วกลม : ขอเชิญคุณกรณ์มาร่วมเสวนา อย่างที่คุณบรรยงบอกว่าเป็นเพื่อนรักมานาน อยากให้คุณกรณ์พูดถึงคุณบรรยง

กรณ์:ผมรู้จักพี่เตา(คุณบรรยง)มานานในฐานะคู่แข่ง ผมเพิ่งนึกขึ้นได้ว่าพี่เตาได้หยุดการทำงานตอนอายุ 40 ครั้งหนึ่งแล้วก็ไปเป็นอาจารย์ก่อนที่จะถูกตามตัวกลับมาทำงานเพราะว่าเรากำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ต้องกลับมากอบกู้บริษัทตนเอง ผมก็เลยนึกได้ว่าสองปีนั้นเป็นสองปีที่ผมและทีมงานที่บริษัท (เจเอฟ ธนาคม) มีความรู้สึกสบายใจจากการทำงานมากเพราะเราขาดคู่แข่งสำคัญไป นี่ผมไม่ได้พูดเล่น ผมจำได้ได้ว่าช่วงนั้นมีการประชุมครั้งหนึ่งที่บริษัท บริษัทผมเล็กกว่าและก็ใหม่กว่า มีการบอกว่าพี่เตาเขาหยุดทำงานแล้ว เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของเรา พี่เตาก็ให้เวลาเรา 2 ปี ก็ต้องกลับมาอยู่ในตำแหน่ง มีความทรงจำมากมาย มีหลายคำพูดของพี่เตาที่พูดไว้ พี่เตาพูดถึงการแข่งขัน ตรงนี้ต้องถือว่าเป็นปรัชญาร่วม พี่เตาพูดเสมอว่าเมื่อแข่งขันแล้วชอบที่จะเสียเปรียบนิดหนึ่ง เพราะว่าเสียเปรียบนิดหน่อยจะเป็นแรงกระตุ้นเพิ่มเติม คือไม่อยากเสียเปรียบมากเกินไป แต่เอาสักนิดเป็นแรงกระตุ้นเพิ่มเติมให้กับตนเองกับการแข่งขัน จึงเป็นสาเหตุที่ประสบความสำเร็จ เป็นที่รักของพวกเราทุกคน จะเรียนรู้จากพี่เตา และเป็นแรงบรรดาลใจมาตลอด ไม่เคยหยุดหาความรู้ ตอนที่ผมเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี พี่เตาเป็นคนแรกๆ ที่ผมต่อสายไปเพื่อขอคำปรึกษาคำแนะนำ พี่เตาก็ได้ให้ยืมมือขวาสำคัญที่ภัทรมาช่วยผมทำงานที่กระทรวงได้ปีกว่า ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะฉะนั้นแนะนำเต็มที่หนังสือเล่มนี้ หากไม่มีเงินซื้อก็ไปเปิดอ่านในเฟซบุ๊กของพี่เตาได้

นิ้วกลม : ที่บอกว่าเป็นคู่แข่งกัน คู่แข่งกันทำไมถึงรักกันได้

บรรยง : ก็อย่างที่บอกว่าแข่งกัน มันคนละเรื่องกับที่จะต้องไม่ชอบพอกัน ครั้งแรกผมจำได้ว่าผมซ้อมเขียนหนังสือมาก่อนหน้านี้นิดหนึ่ง เมื่อ 3 ปีที่แล้วคุณกรณ์เขาเขียนหนังสือแล้วเปิดโอกาสให้ผมได้เขียนถึงเขาในเล่ม ก็เล่าให้ฟังว่าเจอกันครั้งแรกเหมือนทะเลาะกันในการทำดีลอันหนึ่ง ผมยังไม่รู้จักเขาเลย เขาก็ไปพูดในหนังสือพิมพ์ว่าพวกเสือแก่กลัวสิงห์หนุ่ม แล้วหลังจากนั้นก็มีคนแนะนำให้รู้จักสนิทสนมกันไป ผมมีโอกาสพูดกับเขาว่า”ลูกผู้ชายไม่ต่อยตีไม่รู้จักกัน ขอเพียงแต่หลังจากต่อยตีแล้วร่วมดื่มให้สมอยาก ตีแผ่ความในใจให้หมดสิ้น และเป็นมิตรแท้กันตลอดกาล” หลังจากนั้นก็สนิทสนมกันมาตลอดทั้งครอบครัว พอคุณกรณ์ไปทำงานการเมืองผมก็เอาใจช่วย ก็รับใช้เท่าที่ทำได้

กรณ์ : สำหรับผมพี่เตาเป็นคนแฟร์ เป็นนักกีฬา แข่งขันในมิติเหมือนเราแข่งกีฬากัน แพ้ชนะไม่ใช่สิ่งสำคัญ ที่สำคัญคือบริษัทผมชื่อเจเอฟธนาคม การที่มีภัทร ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเอง มันไม่ได้เป็นซีโรซัม การที่คนหนึ่งชนะ ไม่ใช่อีกคนไม่ได้อะไรเลย … เป็นการแข่งขันที่ทำให้เราได้พัฒนาตัวเองทั้งคู่ มีอยู่ครั้งหนึ่ง เราได้รับงานร่วมกัน แต่ลูกค้าบอกว่าไปเจรจากันเองว่าจะแบ่งค่าธรรมเนียมอย่างไร พวกผมก็นั่งเตรียมกันก่อนว่า เราจะไปเจรจากันอย่างไร จะต่อรองกันอย่างไร ปรากฏว่าพอเสนอเผื่อต่อ พี่เตาแกไม่ได้ใช้เวลาในการนั่งถกเถียงว่าจะแบ่งค่าธรรมเนียมเลย พี่เตา บอกโอเค ..วินาทีนั้นนี่ผมรู้สึกด้อยไปเลยว่าเรื่องสำคัญที่จะต้องมาคุยกันตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องนี้ มันเป็นเรื่องว่าเราจะทำดีลนี้กันอย่างไร คุยกับลูกค้าอย่างไร ตอนนั้นมันทำให้ผมได้รู้ว่า ผู้ยิ่งใหญ่เขาทำกันอย่างไร แล้วก็เป็นเรื่องที่ประทับใจ วันนั้นมีผลทางจิตวิทยากับทั้งทีมงานของผมมาก ว่าคู่แข่งของเรานี่ไม่เหมือนคนอื่น เพราะงั้นเราต้องปรับตัว

นิ้วกลม : ขอบคุณคุณกรณ์ วันนี้ต้องให้รัฐมนตรีนั่งพื้น จากนี้เป็นการเปิดให้ผู้เข้าร่วมงานถาม

คำถาม : ชอบเสี่ยงไหม แล้วที่ผ่านมาเคยเสี่ยงไหม

จริงๆ ผมว่าผมเป็นคนปอดแหก ผมไม่ใช่ risk taker คือผมจะไม่เสี่ยงโดยไม่จำเป็น ผมยกตัวอย่างเรื่องหนึ่งสมัยที่ผมอายุประมาณ 32-33 ตอนนั้นเก็บเงินได้ 2-3 ล้านบาทแรก ผมเอาเงินทั้งหมดไปลงทุนที่เสี่ยงเต็มที่เลย เพราะผมไปให้คำจำกัดความว่ามันคือ 3 ล้านที่ 50 ผมคิดว่า 50 ล้านนี่มันคือความสามารถของตัวผม และเส้นมูลค่าของตัวผมมันอยู่ที่ 50 ล้าน และพอได้ 3 ล้านนี่ผมเสี่ยงหมดเลยโดยฝากเพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งในชีวิตของผม ลงทุนให้ผมหมดเลย และก็ทำให้ผมเริ่มตั้งตัวได้ ถ้าถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสี่ยงเต็มที่ แต่ข้อเท็จจริงคือผมให้คำจำกัดความชัดเจน อย่างตอนนี้ผมก็รู้ว่าผมมีเงินอยู่เท่าไหร่ ส่วนไหนอยู่อย่างไร ผมมีวินัยพอ มีขีดจำกัดของตัวเองอยู่ ถ้าส่วนท้ายๆ ผมก็ลงทุนที่เสี่ยง แต่ส่วนต้นๆ ผมก็มีความมั่นคง หากมีสงครามกลางเมือง ผมก็มีที่อยู่ (หัวเราะ)
บรรยง พูด 1 (1)

คำถาม : อยากให้พูดถึงเด็ก Gen Y หน่อยว่าจะสร้าง passion ยังไง

ผมปีนี้ 60 ลูกก็ไม่มี ก็เลยจะตอบแบบมั่วๆ หน่อย เท่าทีสังเกตเอา คือมันมีการวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับ Gen Y นี่เยอะ แล้วเขาก็จะอธิบายถึงสาเหตุทางจิตวิทยา ว่าเติบโตมาอย่างนี้จึงไม่ควรใช้คำว่า passion คือ เขาจะเปลี่ยนความสนใจไปเรื่อยๆ เพราะเขามีโอกาสที่จะเห็น การพัฒนา passion ของตนเองผมคิดว่ามันไม่มีสูตรตายตัว จะต้องเริ่มที่หาตัวเองก่อนว่าเราอยากได้อยากเป็นอะไร ที่ผมพบก็คือเด็กรุ่นผมมีคนที่เป็นต้นแบบ แต่เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยมี ไม่เป็นไรไม่ต้องมีก็ได้ อาจจะเป็นเรื่องๆ พยายามหาตัวเองว่าอยากได้อยากเป็นอะไร และแน่นอนที่สุดว่าพอคิดได้แบบนี้คุณก็อยากได้อยากเป็นทุกอย่าง

ผมก็เริ่มของผมอย่างนั้นแหละ คิดถึงที่อยากได้อยากเป็น แล้วถ้าจะได้จะเป็นอย่างนั้นนี่ วันนี้เรามีอะไรขาดอะไร ถ้าคุณแฟร์พอคุณจะพบว่าคุณขาดเยอะมาก แล้วก็ถามต่อไปว่าไอ้ที่ขาดนี่จะสร้างมันได้อย่างไร หามันได้อย่างไร และที่สำคัญคือต้นทุนมันคืออะไร เช่น คุณจะต้องทุ่มเทจะต้องอะไรก็ว่าไป เมื่อคุณคิดวนเสร็จแล้วมันก็จะไปลดความอยากได้อยากเป็นของคุณเอง ถ้าคุณแฟร์นะ มันต้องเป็นแบบนั้นอยู่แล้ว กระบวนการมันก็จะเป็นกระบวนการของมันอยู่แล้ว อย่างผมนี่มี passion กับตลาดมาก ต้องใช้คำว่าหลงรักหวงแหนในแบบของผมนะ คือมันก็จะออกมาในงานที่ทำ อย่างตอนเรียนหนังสือนี่อยากทำงานหรือเปล่าตอนที่เริ่มทำงานวาณิชธนกิจ ผมได้ทุนไปเรียนปริญญาโทและถูกมอบหมายให้ไปตั้งฝ่ายวาณิชธนกิจ ผมเดินไปหาเจ้านายผมว่าผมทำผิดอะไรถึงถูกมอบหมายให้ไปทำงานอันนี้ เพราะว่าคนเก่งคนดีมันต้องได้เป็นสินเชื่อสิ คือคนธรรมดานี่ชอบตามกระแส ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ทำอย่างไรเราถึงจะเป็นคนที่หลีกจากการตามกระแสได้ บังเอิญว่าสิ่งที่ผมอยู่มันโต 1,000 เท่า ผมก็เลยได้อานิสงส์จากมัน แต่เด็กรุ่นใหม่ก็คงจะมีข้อมูลมากขึ้น ผมเห็นเยอะเลยที่เด็กรุ่นหลังไม่มีโฟกัส คือมันเปลี่ยนไปเรื่อยนะครับ

นิ้วกลม : หลังจากที่มีหนังสือออกมา 2 เล่มแล้ว และกำลังจะมีเล่มที่ 3 ออกมา หลังจากนี้มีแผนว่าอยากเขียนอะไรบ้าง

ต้องเรียนว่านี่เป็นเป็นเรื่องที่เปลี่ยนชีวิตผมอีกครั้งหนึ่ง คือ การที่ผมมาเขียนลงเฟซบุ๊ก ซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่มี พอมีโอกาสได้มีไอแพด และมีคนสมัครให้ก็พบว่ามันสนุกมาก เขียนธรรมดาก็สนุกแล้ว พอเขียนในเฟซบุ๊กมันสนุกกว่านั้นอีก เพราะว่ามันทำให้ หนึ่ง มีการโต้ตอบทันที มีเสียงตอบรับทันที อันที่สองซึ่งสำคัญมากก็คือได้เรียน เชื่อไหมครับทุกบทความที่ผมเขียนนี่ต้องค้นคว้า เพราะแม้จะจับประเด็นได้เค้าโครงแต่ผมต้องการความแม่นยำ ผมก็เลยต้องกลับไปเปิดดู