ThaiPublica > คอลัมน์ > บทบาทของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต่อการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า

บทบาทของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต่อการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า

15 กุมภาพันธ์ 2013


ดร.วิรไท สันติประภพ
[email protected]

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมาเงินทุนไหลเข้าดูจะเป็นเรื่องใหญ่ที่ทำให้เกิดวิวาทะระหว่างผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังกับผู้ใหญ่ในธนาคารแห่งประเทศไทย จนนำไปสู่การเรียกร้องของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังให้คณะกรรมการนโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง รวมทั้งให้คณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยต้องรับผิดชอบต่อผลขาดทุนที่เกิดขึ้นจากการดูดซับสภาพคล่องที่เกิดจากการแทรกแซงค่าเงินเพื่อไม่ให้เงินบาทแข็งค่าเร็วเกินไป รวมทั้งจะต้องรับผิดชอบถ้าการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยผิดพลาดนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจ

วิวาทะที่เกิดขึ้นทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นผู้ร้ายตัวหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้าจนสร้างความปั่นป่วนให้แก่ค่าเงินบาท และผู้ส่งออก รวมทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะสามารถแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้าได้อย่างอยู่หมัด นอกจากนี้ ยังทำให้คนเข้าใจธนาคารแห่งประเทศไทยผิดว่าดำเนินนโยบายแบบขาดความรับผิดชอบ อ้างแต่ความเป็นอิสระ รวมทั้งจะทำให้เกิดผลขาดทุนหลายแสนล้านบาท จนทำให้ส่วนทุนติดลบ เป็นภาระที่ผู้เสียภาษีต้องรับผิดชอบ ผมคิดว่าวิวาทะที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะท่าทีของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง ได้ทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดอย่างที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไทย

ทำไมผมถึงคิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้เป็นผู้ร้ายตัวหลัก ที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้าจนเกิดความปั่นป่วนขึ้น งานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเงินทุนไหลเข้าในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging markets) ได้ข้อสรุปคล้ายกันว่าปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดเงินทุนไหลเข้าคือศักยภาพและโอกาสการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลักยังทรงๆ ทรุดๆ และมีสภาพคล่องส่วนเกินอยู่ล้นโลก เงินทุนย่อมไหลไปสู่ประเทศที่มีแนวโน้มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีกว่า ซึ่งในขณะนี้หนีไม่พ้นว่า เป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะในกรณีของประเทศไทย ที่รัฐบาลทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว และให้ความสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากกว่าการรักษาวินัยการเงินการคลัง

ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดเงินทุนไหลเข้า แต่ไม่ใช่ปัจจัยหลัก และการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด ที่จะแก้ปัญหาเงินทุนไหลเข้า ถ้าดูตัวเลขเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2555 พบว่าเรามีเงินทุนไหลเข้าสุทธิเพียง 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ 21.5 ​พันล้านเหรียญสหรัฐฯ​ และเงินของคนไทยไหลออกไปลงทุนต่างประเทศ 19.6 ​พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในส่วนของเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศนั้น แบ่งได้เป็นเงินลงทุนโดยตรง (foreign direct investment) ประมาณร้อยละ 40 เงินลงทุนในหุ้นประมาณร้อยละ 15 และเงินลงทุนในตราสารหนี้อีกร้อยละ 45 การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจจะทำให้เงินที่ไหลมาลงทุนในตราสารหนี้ลดลง แต่จะทำให้เงินลงทุนทางตรงและเงินลงทุนในหุ้นเพิ่มสูงขึ้น เพราะผลตอบแทนจากการลงทุนทางตรงและการลงทุนในหุ้นจะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราดอกเบี้ยลดลง

การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อชะลอการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำในสภาวะที่เศรษฐกิจมีสัญญาณของความร้อนแรง เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อีกมาก อัตราดอกเบี้ยนโยบายมีผลต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศในหลายมิติ (มากกว่าเพียงเรื่องเงินทุนไหลเข้าและค่าเงินบาท) ในวันนี้การบริหารเศรษฐกิจไทย ต้องให้ความสำคัญเรื่องเสถียรภาพเพิ่มขึ้น เพราะมีสัญญาณทั้งเรื่องความเปราะบาง และความร้อนแรงในหลายด้าน อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงติดลบต่อเนื่องกันมาหลายปีแล้ว ส่งผลให้คนไทยให้ความสำคัญต่อการออมลดลง

ในขณะที่หนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และอัตราการผิดนัดชำระหนี้ก็เพิ่มขึ้นด้วย อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันไม่ได้เป็นอุปสรรคทำให้คนไทยไม่สามารถกู้ยืมเงินได้ สินเชื่อสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มขยายตัวเกินร้อยละ 10 ต่อปี ในขณะที่สินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคขยายตัวสูงถึงร้อยละ ​20 ต่อปี ราคาสินทรัพย์ทุกประเภท โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นรวดเร็ว คนที่จ่ายตลาดรู้ดีว่าราคาสินค้าอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อร้อยละ 3 ต่อปี ของทางการมาก นอกจากนี้ อัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ซึ่งต่ำที่สุดในโลก หลายอุตสาหกรรมหาแรงงานไม่ได้ และเราต้องพึ่งแรงงานต่างด้าวอีกหลายล้านคน

ถ้ามองไปในระยะข้างหน้า เราจะยังเห็นความร้อนแรงของเศรษฐกิจไทยในอีกหลายด้าน ในด้านการลงทุน โครงการที่ได้รับการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2555 สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 984,000 ล้านบาท จะเริ่มทยอยลงทุนจริงตามลำดับ รัฐบาลมีโครงการลงทุนบริหารจัดการน้ำอีก 300,000 ล้านบาท ที่จะต้องรีบกู้เงินก่อนที่จะหมดเวลาการกู้เงิน ที่พระราชกำหนดอนุญาตในช่วงกลางปี 2556 ทั้งนี้ ยังไม่รวมแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอีก 2,000,000 ล้านบาท

นอกจากภาครัฐมีแผนจะลงทุนจำนวนมากแล้ว เศรษฐกิจไทยยังได้รับอานิสงค์จากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ(แบบทุ่มสุดตัว)ของรัฐบาลอีกหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาที่สูงเกินควร ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจในต่างจังหวัดคึกคักเป็นพิเศษ โครงการรถคันแรกที่ยังส่งมอบไม่หมดอีกประมาณ​ 600,000 คัน ทั้งหมดนี้กำลังเกิดขึ้นในสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีความชัดเจนขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกของเรามีแนวโน้มดีขึ้น (ยกเว้นการส่งออกข้าวและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง เพราะได้รับผลกระทบจากนโยบายรับจำนำข้าวและการขึ้นค่าแรง 300 บาท) และจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่จะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในสภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงและรัฐบาลให้ความสำคัญกับการขยายตัวของเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว ไม่ประหลาดใจที่เงินทุนจะไหลเข้ามาในประเทศไทยโดยต่อเนื่อง

ถ้าพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ จะพบว่าไม่ได้อยู่ในระดับที่สูง (นักเศรษฐศาสตร์บางคนอาจจะคิดว่าต่ำเกินควรด้วยซ้ำไป) ถ้าเทียบกับประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่ประสบปัญหาเงินทุนไหลเข้าคล้ายกัน จะพบว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ร้อยละ 2.75 นั้นเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เกือบต่ำสุดในภูมิภาค มีเพียงไต้หวันเท่านั้นที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำกว่าไทย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเราต่ำมากเมื่อเทียบกับอินเดีย (ร้อยละ 8.0) จีน (ร้อยละ 6.0) และอินโดนีเซีย (ร้อยละ5.75)

และที่น่าสนใจคืออัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยที่อาจจะถูกมองว่าสูงจนดึงดูดให้เกิดเงินทุนไหลเข้ามาสงทุนในตลาดตราสารหนี้นั้น เป็นผลมาจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวมากกว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (repurchase rate 1 วัน) เมื่อมองย้อนกลับไปช่วงก่อนเดือนตุลาคม 2555 ซึ่งเป็นเดือนที่คณะกรรมการนโยบายการเงินลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 3.0 เป็นร้อยละ 2.75 พบว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว(อายุ 10 ปี) ในช่วงนั้นต่ำกว่าในเดือนมกราคม 2556 การที่อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวปรับสูงขึ้นในขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายระยะสั้นปรับลดลง(หรือ yield curve ชันขึ้น) ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความต้องการกู้เงินของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมาก ไม่ใช่ความผิดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือคณะกรรมการนโยบายการเงินแต่อย่างใด

ด้วยเหตุผลข้างต้น ผมจึงไม่คิดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นผู้ร้ายตัวหลักที่ทำให้เกิดเงินทุนไหลเข้า และผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังไม่ควรทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าvคณะกรรมการนโยบายการเงินและธนาคารแห่งประเทศไทยvกำลังดำเนินนโยบายการเงินด้วยความเป็นอิสระแบบดื้อดึง ขาดความรับผิดชอบ

ในทางตรงกันข้าม ผมเห็นว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต้องมีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้า เพื่อให้เงินทุนไหลเข้าเหล่านั้นเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว โดยไม่ทำให้เกิดความเปราะบาง และกระทบต่อเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจในอนาคต บทบาทที่ควรเป็นของผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังมีอย่างน้อย 4 ประการ

ประการแรก จะต้องปรับนโยบายการคลัง(และนโยบายการก่อหนี้สาธารณะ)ให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังต้องไม่ติดกับความคิดว่าเศรษฐกิจต้องขยายตัวสูงๆ และต้องเข้าใจว่าเงินทุนไหลเข้ามีแรงจูงใจจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ร้อนแรง ซึ่งได้รับอานิสงค์ไม่น้อยจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังจะต้องให้ความสำคัญต่อการประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังและหยุดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว รัฐบาลของหลายประเทศที่เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลเข้า ได้ปรับลดการขาดดุลของภาครัฐลง

ในกรณีของประเทศไทยที่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องลดรายจ่ายประจำที่คิดเป็นถึงร้อยละ 80 ของงบประมาณประจำปี และมีแนวโน้มจะบานปลายขึ้นเรื่อยๆ รายจ่ายประจำที่ควรปรับลดลงครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ เช่น ค่าเช่าป้ายโฆษณารูปรัฐมนตรีที่ติดอยู่ทั่วประเทศ หรือ งบประมาณจ้าง organizer เพื่อจัดงานเปิดตัวรายวัน ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เช่น โครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ด หรือ การปฏิรูประบบราชการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อไม่ให้งบเงินเดือนข้าราชการบานปลายในอนาคต การปรับนโยบายการคลังให้สมดุลกับสภาวะเศรษฐกิจนี้ นอกจากจะลดความร้อนแรงของสภาวะเศรษฐกิจและลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ (ซึ่งเป็นข้อกังวลของผู้ฝากเงินและคณะกรรมการนโยบายการเงิน)แล้ว ยังจะช่วยลดความจำเป็นในการกู้เงินของรัฐบาล ไม่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้นเช่นในช่วงที่ผ่านมา

ประการที่สอง ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรเร่งให้เกิดสมดุลมากขึ้นระหว่างเงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออก เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศในระยะยาว โดยผ่านกลไกของภาครัฐทั้งรัฐวิสาหกิจและโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องนำเข้าสินค้าทุน เงินทุนไหลเข้าได้ส่งผลให้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นสูงมาก แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มี(และอาจจะยังไม่ควรมี)กองทุนเพื่อความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) แต่รัฐวิสาหกิจของไทยหลายแห่งต้องลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ประเทศในระยะยาว โดยเฉพาะความมั่นคงด้านพลังงาน ถ้ารัฐวิสาหกิจเหล่านี้สามารถเร่งขยายการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว โดยอาศัยความเป็นมืออาชีพ และไม่ถูกการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นแทรกแซง จะเป็นช่องทางสำคัญในการใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ในส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็เช่นกัน หลายโครงการต้องนำเข้าสินค้าทุนในสัดส่วนที่สูง ถ้ารัฐบาลสามารถดำเนินการได้รวดเร็ว และโครงการเหล่านี้ไม่ถูกการเมืองหรือผลประโยชน์อื่นแทรกแซงแล้ว จะทำให้เงินทุนไหลเข้าและเงินทุนไหลออกสมดุลมากขึ้น ไม่ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทเหมือนที่กังวลกัน

ประการที่สาม ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรเร่งให้หน่วยงานในกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพากร แก้ไขกฎเกณฑ์ภาษีที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ยังคั่งค้างอยู่ ผมนึกถึงตัวอย่างสองเรื่อง เรื่องแรกคือการยกเลิกการยกเว้นไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้รับจากการถือพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ในอดีตนั้นรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติถือพันธบัตรรัฐบาลไทย จึงยกเว้นไม่หักภาษี ณ ที่จ่ายดอกเบี้ยที่นักลงทุนต่างชาติได้รับ (ในขณะที่นักลงทุนไทยต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย) เมื่อมีเงินทุนไหลเข้าประเทศมาก คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ยกเลิกการยกเว้นการหักภาษี ณ ที่จ่ายดังกล่าวตั้งแต่เดือนตุลาคม 2553 บัดนี้ผ่านไปสองปีเศษแล้วการแก้ไขประมวลรัษฎากรที่เกี่ยวข้องยังไม่เรียบร้อย มาตรการบริหารจัดการเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่ประกาศไปแล้วจึงยังไม่เห็นผล เรื่องที่สองคือการแก้ไขกฎเกณฑ์ภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทย ในช่วงสามปีที่ผ่านมา การลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่ยังติดอุปสรรคภาษีซ้ำซ้อนในการส่งกำไรกลับ ถ้าอุปสรรคอันนี้หมดไป ความต้องการลงทุนในต่างประเทศของธุรกิจไทยจะเพิ่มสูงขึ้น และจะทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศสมดุลมากขึ้น

ประการสุดท้าย ผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังควรหยุดเอาเรื่องการขาดทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยและส่วนทุนติดลบ มาสร้างความสับสนและความตระหนกตกใจให้แก่สาธารณะชน ไม่มีองค์กรไหนต้องการเห็นองค์กรของตัวเองขาดทุน แต่ในโลกนี้ไม่มีอะไรฟรี การทำนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศย่อมมีต้นทุน ธนาคารแห่งประเทศไทยต้องแทรกแซงในตลาดเงินตราต่างประเทศเพื่อไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งเร็วเกินไป ส่งผลให้ปริมาณเงินบาทสูงขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงจำเป็นต้องดูดซับสภาพคล่องเงินบาทส่วนเกินนี้กลับคืนมา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ฟองสบู่ราคาสินทรัพย์ และการขยายตัวของสินเชื่อมากเกินควร ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจเปราะบางในอนาคต และบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ความจำเป็นในการดูดซับสภาพคล่องส่วนเกินนี้จำเป็นมากในภาวะที่เศรษฐกิจร้อนแรง และรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัว

ปัญหาเรื่องการขาดทุนของธนาคารกลาง ไม่ใช่ปัญหาเฉพาะของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารกลางของหลายประเทศที่ประสบกับภาวะเงินทุนไหลเข้า คล้ายกับเราต้องประสบกับปัญหาขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารกลางอิสราเอล สวิสเซอร์แลนด์ เช็ค ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย หรือชิลี ธนาคารกลางเหล่านี้ยังคงทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ผมลองคำนวณต้นทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เกิดจากการดูดซับสภาพคล่องคร่าวๆ ว่าอยู่ประมาณ 70,000 – 80,000 ล้านบาทต่อปี คนทั่วไปคงเห็นว่าเป็นต้นทุนที่สูงมาก (แม้ว่าจะน้อยกว่าความเสียหายจากโครงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดอยู่มาก) แต่เมื่อเทียบกับขนาดของเศรษฐกิจไทยที่ 12.5 ล้านล้านบาทต่อปีแล้ว จะพบว่าต้นทุนส่วนนี้คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 0.6 – 0.7 เท่านั้น ถ้าจะอุปมาต้นทุนที่เกิดขึ้น ก็คงเทียบเศรษฐกิจไทยคล้ายกับรถแข่งขับโดยรัฐบาลใจร้อน เน้นแต่เรื่องความเร็ว เสียเงินติดเทอร์โบว์ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบทุ่มสุดตัวหลายมาตรการ แต่ให้งบประมาณธนาคารแห่งประเทศไทยไปดูแลรักษาระบบเบรกเพียงแค่ร้อยละ 0.6 – 0.7 ของมูลค่ารถทั้งหมด แล้วยังบอกว่าระบบเบรกแพงเกินควร คนส่วนใหญ่คงเห็นคล้ายกันว่าถ้าอยากจะให้ระบบเบรกถูกลงแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่คนขับจะต้องลดความเร็วลง ลดเทอร์โบว์กระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่จำเป็น และลดรายจ่ายประจำของภาครัฐลงด้วย

ใครก็ตามที่ได้ฟังผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังพูดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีส่วนทุนติดลบคงตกใจ เพราะไปเปรียบเทียบกับกรณีที่ธนาคารพาณิชย์มีส่วนทุนติดลบและต้องเลิกกิจการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นธนาคารกลางที่ไม่มีผู้ฝากเงินมารีบถอนเงินในเวลาที่คิดว่าธนาคารไม่มั่นคง ทรัพย์สินที่ธนาคารกลางถืออยู่เป็นทรัพย์สินที่มีความเสี่ยงต่ำไม่กลายเป็นหนี้มีปัญหาเหมือนกับธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ

นอกจากนี้ ธนาคารกลางมีความสามารถในการหารายได้จากการพิมพ์เงิน และถ้าค่าเงินอ่อนค่าลงในอนาคต ฐานะการเงินของธนาคารกลางจะดีขึ้นเพราะทุนสำรองระหว่างประเทศที่ถืออยู่มีค่าในสกุลเงินท้องถิ่นสูงขึ้น ปัญหาจะเกิดขึ้นถ้าธนาคารกลางมีภาระหนี้ที่ต้องพิมพ์เงินออกมาใช้หนี้หรือจ่ายดอกเบี้ยมากจนเกิดปัญหาเงินเฟ้อ หรือนักลงทุนไม่กล้าถือพันธบัตรของธนาคารกลาง(ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะตกใจจากความสับสนที่เริ่มขึ้นโดยผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลัง) เมื่อถึงเวลานั้น จะกระทบกับความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของธนาคารกลาง และอาจจะทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปเพิ่มทุนให้ธนาคารกลาง

เมื่อพิจารณาส่วนทุนและความน่าเชื่อถือของธนาคารแห่งประเทศไทยในวันนี้ ผมคิดว่ายังห่างไกลจากสภาวะดังกล่าวมาก แม้ว่างบดุลของธนาคารแห่งประเทศไทยจะมียอดขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 333,000 ล้านบาท แต่ถ้าส่วนทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยคิดเหมือนกับธนาคารกลางอื่นๆ ที่ไม่ได้แยกบัญชีทุนสำรองเงินตราออกจากบัญชีของฝ่ายปฏิบัติการแล้ว จะต้องรวมทุนในบัญชีสำรองพิเศษ​และบัญชีผลประโยชน์ประจำปีของทุนสำรองเงินตราอีกประมาณ 820,000 ล้านบาทเข้ามาด้วย เมื่อคิดแบบนี้แล้วจะเห็นว่าธนาคารกลางของประเทศไทยยังมีส่วนทุนเป็นบวกอยู่ประมาณ 487,000 ​ล้านบาท

ผมเขียนบทความนี้ขึ้นด้วยความหวังว่าจะช่วยให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงแนวทางการบริหารจัดการเงินทุนไหลเข้าที่ควรเป็นและเห็นมิติต่างๆ ที่คณะกรรมการนโยบายการเงินต้องพิจารณาในการตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งหวังว่าผู้ใหญ่ในกระทรวงการคลังจะเข้าใจว่าหน่วยงานของตนมีบทบาทไม่น้อยไปกว่าธนาคารแห่งประเทศไทยในการบริหารนโยบายเงินทุนไหลเข้า ถ้าผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจในประเทศไทยไม่เข้าใจการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในภาพรวม ยังชอบโยนความรับผิดชอบไปให้หน่วยงานอื่น ไม่เห็นความสำคัญของการประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจที่ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ความเปราะบางที่จะเกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยจะน่ากลัวกว่าเรื่องค่าเงินบาทแข็งเพราะเงินทุนไหลเข้ามากมายนัก

หมายเหตุ : ตีพิพม์ครั้งแรก หนังสือพิมพ์โพสท์ทูเดย์ 14 กุมภาพันธ์ 2556