ThaiPublica > เกาะกระแส > “บิ๊กตู่”ตอบประเด็น “ตระกูลชินฯ” เลิกยุ่งการเมืองเป็นเรื่องของเขา – มติ ครม. ปลื้มยอดจองแผง “ตลาดประชารัฐ” 1.2 แสนราย

“บิ๊กตู่”ตอบประเด็น “ตระกูลชินฯ” เลิกยุ่งการเมืองเป็นเรื่องของเขา – มติ ครม. ปลื้มยอดจองแผง “ตลาดประชารัฐ” 1.2 แสนราย

4 ธันวาคม 2017


เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 นายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” เข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ ห้องรับรอง ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/

วันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม “ครม.ประยุทธ์ 5” นัดแรก

ปฏิเสธข่าว คสช. หารือ “ปลดล็อกการเมือง”

หลังการประชุม ครม. พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวประมาณ 3 นาที เริ่มจากประเด็นปลดล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้ในที่ประชุม คสช. ประเด็นนี้เหมือนที่ผมเคยชี้แจงไปแล้วก่อนหน้านี้ ส่วนในช่วงเช้าของวันนี้ ผมได้พบปะพูดคุยกับนายอาทิวราห์ คงมาลัย หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ศิลปินเพลงร็อกที่ออกมาวิ่งใน “โครงการก้าวคนละก้าว” โดยส่วนตัวรู้สึกชื่นชม ในฐานะเด็กหนุ่มคนหนึ่งที่มีความคิดช่วยเหลือสังคม โดยที่ไม่มุ่งหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ซึ่งตูน บอดี้สแลม กล่าวว่าตนเองก็ไม่คิดว่าการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะกลายเป็นกระแสในโลกสังคมออนไลน์มากมายขนาดนี้ ซึ่งตนก็ได้ให้โอวาทแก่ตูน บอดี้สแลม โดยขอให้รักษาความดีนี้ไว้ เพราะตอนนี้ตูนกลายเป็น “ไอดอล” ของคนรุ่นใหม่ และอยากจะให้เป็นแบบอย่างที่ดีของสังคมตลอดไป

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบอาวุธสงครามจำนวนมากที่จังหวัดฉะเชิงเทราว่า ตนได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบอยู่ว่าเป็นอาวุธของกลุ่มไหน มีจุดมุ่งหมายอย่างไร นำอาวุธมาทิ้งไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่จากการตรวจสอบในเบื้องต้น น่าจะเป็นลอตเดียวกับที่เคยตรวจพบครั้งก่อน ตอนนี้กำลังเร่งตรวจสอบอยู่ หากพบว่าเกี่ยวข้องกับบุคคลใด ก็ต้องดำเนินการตามกฎหมาย

“บิ๊กตู่” แจง “ชินวัตร” ประกาศเลิกยุ่งเกี่ยวการเมือง-เป็นเรื่องของเขา

ส่วนกระแสข่าวที่ว่านางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้รับพาสปอร์ตจากประเทศอังกฤษ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานเรื่องนี้ จึงไม่ทราบว่านางสาวยิ่งลักษณ์ได้รับพาสปอร์ตจากประเทศไหน ส่วนกรณีนายพานทองแท้ ชินวัตร โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่าตระกูลชินวัตรไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า “อันนี้ก็เป็นเรื่องของเขา”

สั่ง 3 หน่วยงาน เร่งแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหายางพาราตกต่ำว่า ได้มอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงพาณิชย์, การยางแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือร่วมกัน เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางมากที่สุดประเทศหนึ่ง ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องราคายางพาราตกต่ำ ต้องพิจารณาทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ เช่น การหารือกับต่างประเทศ เพื่อเพิ่มปริมาณการส่งออก ลดปริมาณการผลิตส่วนเกิน และส่งเสริมมีการใช้ยางพาราภายในประเทศ เป็นต้น แต่ที่สำคัญ ต้องไม่ทำให้ชาวสวนยางได้รับความเดือดร้อน

มติ ครม. มีดังนี้

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

เห็นชอบหลักเกณฑ์จ่ายเงินโบนัส “บริษัทลูกรัฐวิสาหกิจ”

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐตรี เปิดเผยว่า ครม. เห็นชอบหลักเกณฑ์การจ่ายโบนัสกรรมการ พนักงาน และลูกจ้างบริษัทในเครือที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เนื่องจากยังมีความเหลื่อมล้ำของหลักเกณฑ์ในปัจจุบัน โดยบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งภายหลังปี 2550 ได้มีหลักเกณฑ์ขึ้นมากำกับดูแล ขณะที่บริษัทลูกหรือรัฐวิสาหกิจแม่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็มีระเบียบของตลาดหลักทรัพย์และกลไกตลาดควบคุมดูแลอยู่

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์อัตราการจ่ายโบนัสให้กับกรรมการบริษัท กรณีบริษัทมีกำไรสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้โบนัส 3% ของกำไรสุทธิ แต่ไม่เกินคนละ 60,000 บาท โดยจะไล่เป็นขั้นบันไดไปเรื่อยๆ เช่น กำไร 101-300 ล้านบาท จะได้โบนัส 3% และไม่เกิน 65,000 บาท ไปจนถึงกำไรสุทธิ 11,001-13,000 ล้านบาท จะได้รับโบนัสไม่เกิน 130,000 บาท หากกำไรมากกว่า 13,000 ล้านบาท ให้โบนัสเพิ่มอีก 10,000 บาท จากทุกกำไร 2,000 ล้านบาทที่เพิ่มขึ้น โดยที่ประธานบริษัทจะได้รับเพิ่ม 1 ใน 4 และรองประธานได้เพิ่ม 1 ใน 8 ของกรรมการบริษัท ขณะเดียวกันยังมีหลักเกณฑ์สำหรับกรรมการที่ขาดประชุมด้วย โดยกรรมการที่ขาดประชุมเกิน 3 เดือนแต่ไม่เกิน 6 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 25%, ขาดประชุมเกิน 6 เดือน แต่ไม่เกิน 9 เดือน จ่ายโบนัสลดลง 50% และขาดประชุมเกิน 9 เดือน ให้จ่ายโบนัสลดลง 75%

สำหรับพนักงานจะสามารถจ่ายโบนัสไม่เกิน 9% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน กรณีโบนัสที่จ่ายในวงเงินไม่เกิน 9% ของกำไรสุทธิและต่ำกว่า 1 เท่าของเงินเดือนให้จ่าย 1 เท่าของเงินเดือน กรณีมีกำไรสุทธิน้อยกว่า 1 เท่าของเงินเดือน ให้เฉลี่ยจ่ายโบนัสตามส่วนของกำไรสุทธิ ส่วนพนักงานที่ลาศึกษาต่อหรือได้ทุนศึกษาต่อในต่างประเทศนานกว่า 4 เดือน ให้จ่ายโบนัสตามระยะเวลาที่ทำงานจริง

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น 158 บริษัทภายใต้รัฐวิสาหกิจ 23 แห่ง เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ 117 แห่ง โดบบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจที่ตนเองหรือบริษัทแม่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และไม่มีเกณฑ์กำกับดูแลการจ่ายโบนัส ประกอบด้วย 9 บริษัท ได้แก่ บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, บริษัท เอ ซี ที โมบาย จำกัด ในเครือทีโอที, บริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัดในเครือ กฟผ. ปตท. และการไฟฟ้านครหลวง, บริษัท ไปรษณีย์ไทยดิสทริบิวชั่น จำกัด ในเครือไปรษณีย์ไทย, บริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ในเครือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในเครือกฟผ., บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ในเครือการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และ บริษัท โครงข่ายบรอดแบนด์แห่งชาติ จำกัด (เอ็นบีเอ็น) และบริษัท โครงข่ายระหว่างประเทศและศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต จำกัด (เอ็นจีดีซี) ที่มีทีโอทีและ กสท ถือหุ้นร่วมกัน

“ทั้งนี้ ให้มีการประเมินผลการดำเนินงาน 3 มิติ คือ ด้านการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งและแผนยุทธศาสตร์, ด้านผลการดำเนินงาน ทั้งด้านการเงินและที่ไม่ใช่ด้านการเงิน และการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งการจ่ายโบนัสกรรมการและพนักงานของบริษัทในเครือให้อิงตามผลการประเมินทั้ง 3 มิติ และต้องไม่ส่งผลทางลบต่อมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการหรือการผลิตของบริษัท การคำนวณการจัดสรรโบนัสต้องมาจากกำไรที่เกิดจากผลการดำเนินงานประจำปี โดยห้ามนำรายได้จาก 6 ส่วนไปคำนวณจัดสรรโบนัสได้แก่ กำไรจากการเอาประกัน, ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร เงินกู้ และเงินลงทุนในหลักทรัพย์ของรัฐ, กำไรจากการขายที่ดิน อาคาร โรงงาน สิ่งปลูกสร้างและส่วนควบ, กำไรจากการตีราคาทรัพย์สินใหม่, เงินอุดหนุนที่ได้รับจากรัฐบาล ยกเว้นเงินอุดหนุนตามระบบการให้บริการสาธารณะ และกำไรหรือผลขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงินตรา โดยหลังจากนี้กระทรวงการคลังจะทำหนังสือเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ยังตอบไม่ได้ว่าจะทันเริ่มในรอบปีบัญชีนี้หรือไม่” นายณัฐพรกล่าว

ปลื้มยอดจองแผง “ตลาดประชารัฐ” ทะลุ 1.2 แสนราย

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. รับทราบรายงานความคืบหน้า “โครงการตลาดประชารัฐ” และความพร้อมเปิดตลาดพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 5 ธันวาคม 2560 จำนวน 6,500 แห่ง หลังจากมีการเปิดให้ลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อยหรือเกษตรกรที่ต้องการมีที่ทำมาหากิน ระหว่างวันที่ 10-30 พฤศจิกายน 2560 ซึ่งสิ้นสุดการลงทะเบียน มีผู้ประกอบการทั้งที่เป็นกลุ่มเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบการที่เดือดร้อนจากการไม่มีสถานที่ค้าขาย ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรวมจำนวน 120,276 ราย จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด

แยกเป็นภาคเหนือ 21,997 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 47,175 ราย ภาคกลาง 24,639 ราย ภาคตะวันออก 7,932 ราย ภาคใต้ 14,156 ราย และภาคใต้ชายแดน 4,377 ราย โดยสินค้าที่จะนำมาขายในตลาดประชารัฐนั้น พบว่า ใน 3 อันดับแรกที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ สินค้าเกษตร ทั้งสินค้าเกษตรทั่วไป เกษตรอินทรีย์ และผักผลไม้ปลอดสารพิษ รวม 63,139 ราย รองลงมาเป็น สินค้าอื่นๆ เช่น เสื้อผ้า สินค้าชุมชน 31,718 ราย และอาหารพร้อมรับประทาน ข้าวแกง 28,415 ราย

ขณะที่ยอดสินค้าที่จะนำมาขายมีทั้งสินค้าเกษตร สินค้าเกษตรอินทรีย์ ผัก และผลไม้ปลอดภัย อาหารสดแปรรูป สินค้าโอทอป เนื้อสัตว์ หมู ไก่ ปลา อาหารทะเล ข้าวสาร ของแห้งและเครื่องปรุงต่างๆ สินค้าแปรรูปรัฐวิสาหกิจ บรรจุภัณฑ์ และอาหารพร้อมรับประทาน ข้าวแกง ส่วนประเภทของผู้ประกอบการ 3 อันดับแรก เป็นพ่อค้าแม่ค้ามากที่สุด ประมาณ 60,000 ราย รองลงมาเป็นเกษตรกร 30,000 ราย และผู้มีรายได้น้อย 13,000 ราย ขณะที่จังหวัดที่มีผู้มาลงทะเบียนสูงสุด คือ กรุงเทพฯ 8,361 ราย ศรีสะเกษ 5,828 ราย นครราชสีมา 5,814 ราย บุรีรัมย์ 4,228 ราย และสกลนคร 3,934 ราย

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ที่มาลงทะเบียน 120,276 รายนั้น มีผู้ที่ไม่เคยทำการค้าขายมาก่อน ประมาณ 20,000 ราย กลุ่มนี้จะต้องจัดอบรมให้ความรู้ด้านการทำการค้าขายและกติกาของแต่ละตลาด รวมไปถึงองค์ความรู้เชิงกลยุทธ์ทางการตลาด ระบบบัญชี และเทคนิคการขาย อนึ่งจะมีการจัดงานเปิดตลาดในวันที่ 5-7 ธันวาคม 2560 ที่คลองผดุงกรุงเกษมข้างทำเนียบรัฐบาลด้วย

ทบทวนงบฯจัดงาน World Expo 2020 – “ดีอี” แจง 1,542 ล้าน ขอเผื่อกระทรวงอื่น

นายณัฐพรกล่าวว่า ครม. มีมติให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี ทบทวนข้อเสนอของบประมาณในการไปจัดงานการแสดงนิทรรศการนานาชาติ หรือ “World Expo 2020” ณ เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ วงเงิน 1,542 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าการจัดงาน World Expo 2015 ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี โดยกระทรวงดีอีให้เหตุผลว่าได้ของบประมาณเผื่อสำหรับกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วด้วย เพื่อให้การบูรณาการงานเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ เจ้าภาพได้กำหนดให้จ้างแรงงานภายในประเทศเท่านั้น ซึ่งมีค่าจ้างสูงกว่าแรงงานของไทยประมาณ 25% รวมไปถึงอากาศที่ร้อนจัดในบางช่วงเวลาทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ ทำให้ต้องเร่งรัดการก่อสร้างและต้องจ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาเพิ่มเติม อนึ่ง การที่กระทรวงดีอีเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากธีมหรือหัวข้อหลักของงานครั้งนี้คือ “Digital Transformation Thailand”

ครม.ประยุทธ์ 5 ยึดพระราโชบายรัชกาลที่ 10

พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้แสดงความยินดีกับรัฐมนตรีใหม่และมอบนโยบายการทำงานให้คณะรัฐมนตรีทุกคนยึดพระราโชบายของในหลวงรัชกาลที่ 10 ให้ตั้งใจอุทิศตนทำงานเพื่อชาติและประชาชน ให้ตระหนักเสมอว่าประชาชนต้องการความสุข ความมั่นใจ และความปลอดภัย พร้อมกับให้ใช้ปัญญา สติ และกำลังใจในการทำงาน

สำหรับแนวทางการทำงานนั้น ขอให้คณะรัฐมนตรียึดความซื่อสัตย์ สุจริต และความโปร่งใสเป็นสำคัญ ทำงานแบบบูรณาการ มีการทำงานระหว่างกระทรวง โดยสั่งการให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงไปศึกษางานในกระทรวงของตัวเอง หน่วยงานที่ตัวเองต้องรับผิดชอบ ขณะเดียวกันต้องศึกษางานและกฎของกระทรวงต่างๆ ด้วย เพื่อให้การทำงานร่วมกันกับกระทรวงอื่นๆ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นอกจากนี้ ในส่วนของการลงพื้นที่ของรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงนั้น นายกรัฐมนตรีขอให้ครอบคลุมทุกภาคทุกพื้นที่ในประเทศ และลงไปพูดคุยกับประชาชน ภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและสร้างความเข้าใจ อธิบายปัญหา รับฟังปัญหา และนำมาแก้ไขให้ทันท่วงที สุดท้ายขอให้ติดตามเรื่องของข่าวสารโซเชียลมีเดีย ถ้าเกิดปัญหาขึ้นก็ขอให้รัฐมนตรีรีบชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหากระจายออกไปเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ติดตามเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ และรีบทำความเข้าใจเน้นเรื่องการประชาสัมพันธ์

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย) พ.อ. อธิสิทธิ์ ไชยนุวัติ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ขวา)
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th/

คำสั่งแบ่งงาน-“สมคิด”คุม 10 กระทรวง

พ.อ.หญิง ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ ได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 322, 323, 324, 325 เรื่องการมอบหมายงานให้รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และมอบหมายงานให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ดังนี้

พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหม, มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนในกระทรวงกลาโหม, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงแรงงาน, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, สภาความมั่นคงแห่งชาติ, ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.อ.อ. ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กระทรวงพลังงาน, กระทรวงศึกษาธิการ, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน), สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน), สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนในกระทรวงการคลัง, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงเกษตรและสหกรณ์, กระทรวงคมนาคม, กระทรวงพาณิชย์, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, กระทรวงอุตสาหกรรม, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์), สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนใน กระทรวงวัฒนธรรม, กรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน, สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.), สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.), สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.), สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.), สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.), สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน)

พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนในกระทรวง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)

นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนในกรมประชาสัมพันธ์, สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค, สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ, สำนักงานราชบัณฑิตยสถาน, บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน), สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้กำกับการบริหารราชการแทนใน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ), สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)

ตั้ง “สุรเชษฐ์” ดับไฟใต้แทน “อุดมเดช”

พ.อ.หญิง ทักษดา กล่าวว่า ครม. รับทราบการลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2560 เรื่องการแต่งตั้งผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยกเลิกคณะผู้แทนพิเศษเดิมที่ประกอบด้วย พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร หัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายพรชาต บุนนาค ผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และให้แต่งตั้งชุดใหม่ขึ้นดังนี้ พล.อ. สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ เป็นหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล เป็นรองหัวหน้าผู้แทนพิเศษของรัฐบาล นายภาณุ อุทัยรัตน์ เป็นผู้แทนพิเศษของรัฐบาล และนายพรชาต บุนนาค เลขานุการผู้แทนพิเศษของรัฐบาล

อ่านมติ ครม. วันที่ 4 ธันวาคม 2560 ที่นี่