ThaiPublica > เกาะกระแส > UN Women เปิดผลวิจัยไทย-เวียดนาม “อคติทางสังคม-มายาคติต่อคดีข่มขืน” อุปสรรคของผู้หญิงต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

UN Women เปิดผลวิจัยไทย-เวียดนาม “อคติทางสังคม-มายาคติต่อคดีข่มขืน” อุปสรรคของผู้หญิงต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

4 ธันวาคม 2017


ปุณฑริกา เรืองฤทธิ์ นักศึกษาฝึกงานรายงาน

(จากขวาไปซ้าย) นางสาวเหวียนถิกิม ถ่าว ผู้อำนวยการทั่วไป กรมกฎหมายอาญาและกฎหมายลักษณะปกครอง กระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, นางสาวเล ถิ วัน แอง หัวหน้าแผนกอาชญากรรม กรมกฎหมายอาญาและกฎหมายลักษณะปกครอง กระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, นายนิโคลัส บูธ ทีมบริหารและสร้างสันติภาพ โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หน่วยปฎิบัติการภูมิภาค ประจำประเทศไทย, นางไอรีน สคินไนเดอร์ ผู้ช่วยอาวุโสให้กับศูนย์นานาชาติเพื่อปฎิรูปกฎหมายอาชญากรรมและนโยบายยุติธรรมอาญา สถาบันเพื่อการวิจัยแห่งแวนคูเวอร์, ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจํากองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา

องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Entity for Gender Equality and the Empower of women – UN Women), โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme – UNDP) และสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime – UNODC) ได้เปิดเผยรายงานวิจัยเรื่อง “การพิจารณาคดีข่มขืน: ความเข้าใจเรื่องการตอบสนองของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่อความรุนแรงทางเพศในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม” ซึ่งถือเป็นการศึกษาเปรียบเทียบประเด็นดังกล่าวครั้งแรกสุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

นายอดิศักดิ์ ภาณุพงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้กล่าวระหว่างเปิดงานว่า สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเพื่อส่งเสริมความการเข้าถึงของกระบวนการยุติธรรมและเพื่อบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals เป้าหมายที่ 5 คือความเท่าเทียมกันทางเพศ จากงานวิจัยค้นพบว่าคดีที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงต่อผู้หญิงยังมีสัดส่วนที่สูงอยู่มาก ทั้งสังคมยังเพิกเฉยต่อความรุนแรง และผู้กระทำผิดยังลอยนวล ภูมิเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีสัดส่วนการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงถึง 38% เมื่อเทียบกับทั้งโลก และผู้หญิงกว่า 30% ในโลกเคยมีประสบการณ์ถูกกระทำความรุนแรง โดย 80% ของผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเลือกที่จะไม่บอกกล่าวหรือเปิดเผย โดยมีปัจจัยหลายประการด้วยกัน เช่น ความอับอาย หรือถูกข่มขู่ เนื่องจากประเด็นเรื่องเพศเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้นเราจึงต้องตั้งคำถามตั้งแต่กระบวนการทางยุติธรรม การป้องกันการเกิดอาชญากรรมไปจนถึงหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดี

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญาต่างๆ ในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม มีการสนองตอบต่อการแจ้งความเรื่องการข่มขืนกระทำชำเราและการใช้กำลังล่วงละเมิดทางเพศอย่างไร และเพื่อค้นหาว่าการยอมความหรือล้มคดี (Attrition) ด้านความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นตรงไหนและอย่างไร เพื่อหาช่องทางทางยุทธศาสตร์ที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับการบริหารงานยุติธรรมด้านนี้

การจัดเก็บข้อมูลในการศึกษาครั้งนี้จัดทำในระหว่างปี 2556-2557 ในประเทศไทยได้คัดเลือกพื้นที่ 3 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และสงขลา ใช้แฟ้มคดีของตำรวจทั้ง 3 จังหวัด รวม 169 คดี โดยสัมภาษณ์ข้าราชการ 9 คน ผู้ปฏิบัติงานยุติธรรมทางอาญา 34 คน ผู้ให้บริการต่างๆ 34 คน ผู้เสียหาย 6 คน รวมเป็น 83 คน

นางสาวแอนนา คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก

อคติทางสังคมเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นางสาวแอนนา คาริน จัตฟอร์ส รองผู้อำนวยการยูเอ็นวีเมน สำนักงานประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เปิดเผยข้อค้นพบต่างๆ จากงานวิจัยดังกล่าวว่า การแจ้งความคดีข่มขืนทั้งในไทยและเวียดนามต่างประสบปัญหากับทั้งนโยบายและแนวปฏิบัติทางสังคม แม้ว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นคนสร้างแนวปฏิบัติทางสังคมที่กีดกันผู้หญิงให้เข้าถึงความเป็นธรรม แต่อคติที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ประเด็นที่ค้นพบที่สำคัญจากการศึกษา

มายาคติ: “การข่มขืนที่แท้จริง” เกี่ยวข้องกับคนแปลกหน้า การใช้กำลังบังคับ แต่ในความเป็นจริง ในประเทศไทย ร้อยละ 91 และในประเทศเวียดนามกว่าร้อยละ 86 ของผู้เสียหาย แจ้งว่ารู้จักกับผู้ต้องสงสัย

มายาคติ: มีการบาดเจ็บทางกายและเกิดในที่สาธารณะ ข้อเท็จจริงที่พบในประเทศไทยมีผู้เสียหาย 68% และในเวียดนามมี 76% ที่ไม่มีร่องรอยบาดแผลที่เห็นได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น รู้สึกอับอาย ทำให้มาแจ้งความดำเนินคดีช้า หรือเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการอบรมขั้นตอนการการรับแจ้งความที่เกี่ยวกับความรุนแรงต่อเพศหญิง อีกทั้งการข่มขืนและการล่วงละเมิดทางเพศส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ส่วนตัว เช่น บ้าน ห้องพัก หรือโรงแรม ทำให้มีพยานรู้เห็นยาก จึงทำให้หลักฐานอ่อนและคดีก็ถูกทำให้ตกไป

มายาคติ: การข่มขืนและความรุนแรงทางเพศเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อเกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิงที่มีความประพฤติดี หรือบริสุทธิ์ ข้อค้นพบคือ ขณะที่การข่มขืนสามารถเกิดขึ้นกับใครก็ได้ การศึกษาพบว่าผู้ให้บริการด้านงานยุติธรรมทางอาญามีความเชื่อเกี่ยวกับ “ผู้เสียหาย/เหยื่อจากความรุนแรงทางเพศ” ในเชิง “มโนคติ” ตัวอย่างเช่น “ผู้เสียหายในมโนคติ” ควรแสดงอาการหวาดกลัว, ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้, ผวาหรือมีอารมณ์ตื่นเต้นตกใจอย่างรุนแรง ผู้เสียหายที่บอกเล่าประสบการณ์ของตนด้วยท่าทีเย็นชาหรือถอนอารมณ์ออกจากประสบการณ์ ไม่เข้ากับพฤติกรรมที่เหมาะสมของผู้เสียหายตามมโนคติ ดังนั้นเรื่องราวที่พวกเธอเล่าจึงไม่น่าเชื่อถือ

มายาคติ: ผู้หญิงบางคนสมควรถูกข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ เป็นความผิดของพวกเธอเอง จากการศึกษาพบว่าผู้หญิงมักถูกตำหนิในเรื่องความรุนแรงทางเพศโดยผู้หญิงต้องเจ็บปวดจากเหตุผลต่างๆ เช่น เป็นหญิงบริการทางเพศ ไปจนถึงแต่งตัวยั่วยุ ออกไปข้างนอกตอนกลางคืนกับผู้ชาย หรือขึ้นรถโดยสารคนเดียวตอนกลางคืน

มายาคติ: ความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นเฉพาะในบางส่วนของสังคม จากการศึกษาพบว่า มายาคติดังกล่าวเกิดจากความเชื่อที่ว่าผู้หญิงปกติจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงทางเพศ ทำให้การเกิดคดีข่มขืนเกิดขึ้นเฉพาะกลุ่ม “คดีข่มขืนเกิดขึ้นเฉพาะกับผู้หญิงที่ยากจน ไร้การศึกษา หรือผู้ลี้ภัยต่างๆ” ผู้พิพากษารายหนึ่งได้ให้ความเห็นไว้

มายาคติ: สามีไม่สามารถข่มขืนหรือล่วงละเมิดทางเพศต่อภรรยาตนเอง ข้อค้นพบว่าเกิดจากความเชื่อโดยทั่วไปที่การแต่งงานคือการสมยอมให้มีเพศสัมพันธ์ตราบเท่าที่การสมรสนั้นยังคงอยู่ แม้ในไทยและเวียดนามกำหนดให้การข่มขืนคู่สมรส (marital rape) เป็นความผิดทางอาญา แต่ทัศนคติทางสังคมยังคงอยู่

นางสาวแอนนากล่าวต่อว่า การแจ้งความคดีข่มขืนทั้งในไทยและเวียดนามต่างประสบปัญหากับทั้งนโยบายและแนวปฏิบัติทางสังคม แม้ว่าเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้เป็นคนสร้างแนวปฏิบัติทางสังคมที่กีดกันผู้หญิงให้เข้าถึงความเป็นธรรม แต่อคติที่เกิดขึ้นในการทำงานเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้ผู้เสียหายไม่ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

รายงานระบุว่าปัจจัยทางกฎหมายและปัจจัยเชิงสถาบันส่งอิทธิพลต่อการลดทอนจำนวนคดี อุปสรรคเหล่านี้สามารถยับยั้งการรายงานการกระทำความรุนแรงทางเพศและลดทอนความเป็นไปได้ที่ผู้หญิงจะยืนหยัดในการแสวงหาการชดเชยผ่านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา จากการวิเคราะห์คดีในแฟ้มคดี ผลการศึกษาพบตัวอย่างผู้เสียหายรายหนึ่ง ซึ่งต้องเดินไปสถานีตำรวจมากกว่า 10 ครั้ง เพื่อให้คดีของเธอสามารถเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

นอกจากนี้ ปัจจัยทางกฎมายและปัจจัยเชิงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการวิธีพิจารณาความอาญา ทั้งในประเทศไทยและเวียดนาม การลดทอนคดีด้วยการยอมความหรือล้มคดีเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ประกอบด้วยขั้นตอนการแจ้งความ/การติดต่อในเบื้องต้น ขั้นตอนการสืบสวนสอบสวน ขั้นตอนก่อนพิจารณาคดีและขั้นตอนพิจารณาคดี

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจํากองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา

ก้าวสู่การเปลี่ยนแปลง

ดร.สุนทรียา เหมือนพะวงศ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจํากองผู้ช่วยผู้พิพากษาในศาลฎีกา กล่าวว่า ในประเทศไทยนั้นเรายังไม่มีองค์กรที่ทำหน้าที่เพื่อดูแลปัญหาความรุนแรงต่อเพศหญิงโดยตรง และปัญหาเกี่ยวกับเรื่องเพศก็ยังเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทยในแง่ของการบังคับใช้กฎหมาย ไม่เหมือนกับสิทธิเด็ก ซึ่งมีศาลเยาวชนและครอบครัวเป็นองค์กรที่กำกับดูแล มีความพยายามในการที่จะจัดตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลประเด็นดังกล่าวเหมือนกรณีสิทธิเด็ก แต่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากต้องได้รับแรงสนับสนุนทางการเมือง รวมถึงควรเริ่มมีการจัดการเรียนการสอนเรื่องความรุนแรงต่อสตรีในคณะนิติศาสตร์ในประเทศไทยอีกด้วย

นางสาวเหวียนถิกิม ถ่าว ผู้อำนวยการทั่วไป กรมกฎหมายอาญาและกฎหมายลักษณะปกครอง กระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้กล่าวว่า ในขณะนี้เวียดนามได้อยู่ในกระบวนการแก้ไขกฎหมาย การศึกษาครั้งนี้ได้ช่วยในเรื่องการแก้ไขโดยให้เห็นเป็นภาพรวม เป็นหลักฐาน และแนวปฏิบัติในการแก้ไขกฎหมายอาญา ตัวอย่างเช่น มีมาตราหนึ่งที่ระบุไว้ว่ารายละเอียดในการพิจารณาคดีจะต้องคุ้มครองความเป็นส่วนบุคคล ไม่เฉพาะแต่ผู้เสียหายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพยานและครอบครัวของผู้เสียหายอีกด้วย

นางสาวเล ถิ วัน แอง หัวหน้าแผนกอาชญากรรม กรมกฎหมายอาญาและกฎหมายลักษณะปกครอง กระทรวงยุติธรรมแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยม เวียดนาม กล่าวว่า ปัญหาการมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เป็นผู้หญิงไม่เพียงพอ ต้องมีการส่งเสริมให้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือผู้ให้บริการภาคสังคมที่เป็นเพศหญิงมากขึ้น รวมทั้งได้มีการแก้กฎหมายในเรื่องการขยายการให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย ไม่จำกัดเฉพาะผู้ยากไร้เพียงอย่างเดียวแต่ยังเปิดกว้างต่อผู้เสียหายโดยไม่จำกัดฐานะทางเศรษฐกิจ แต่อาจมีปัญหาด้านอื่นให้เข้าถึงความช่วยเหลือทางกฎหมาย หรือเข้าพักในที่พักฉุกเฉินได้ฟรี

ด้าน พ.ต.อ. นพ.ดนุกฤต กลัมพากร หัวหน้าศูนย์พึ่งได้ โรงพยาบาลตำรวจ กล่าวว่า ฐานข้อมูลในประเทศไทยที่น่าสนใจและมีข้อมูลที่ดีคือ โรงพยาบาลหรือกระทรวงสาธารณสุข เพราะถือได้ว่าเป็นหน้าด่าน ในประเทศไทยความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นในประเทศไทยจะต้องเข้าระบบสาธารณสุข ไม่ว่าจะมีการแจ้งความหรือไม่แจ้งความก็ตามก็ต้องไปเข้าระบบสาธารณสุขก่อน แม้ผู้เสียหายจะเข้าไปที่สถานีตำรวจก่อนเป็นอันดับแรกก็ตาม

รายงานยังนำเสนอแนวปฏิบัติที่เป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในประเทศไทย นั่นคือ การแก้ไขกฎหมายอาญา การจัดตั้งและขยายงานศูนย์ช่วยเหลือเด็กและผู้หญิงในภาวะวิกฤติ (Stop Crisis Centre) จัดตั้งทีมงานสหวิชาชีพที่ทำงานตอบสนองความรุนแรงทางเพศ การรณรงค์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้จัดจ้างเจ้าพนักงานตำรวจหญิง การจัดหาพื้นที่ในศาลให้ผู้เสียหายเป็นศูนย์ การอบรมเจ้าพนักงานตำรวจ เจ้าพนักงานอัยการ และเจ้าพนักงานศาลอย่างต่อเนื่อง โดยความร่วมมือกับ UN Women