ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ปรากฏการณ์จีนในเชียงใหม่ (ตอนที่2) เส้นทางการรุกคืบธุรกิจการท่องเที่ยวจีน

ปรากฏการณ์จีนในเชียงใหม่ (ตอนที่2) เส้นทางการรุกคืบธุรกิจการท่องเที่ยวจีน

23 พฤศจิกายน 2017


นักท่องเที่ยวจีนในเชียงใหม่ ที่มาภาพ : นายธุววิช ปานเกิด

ต่อจากตอนที่1
จากกระแสการท่องเที่ยวของคลื่นคนจีนที่ไหลบ่ามาท่องเที่ยวเมืองไทย ซึ่งยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เชียงใหม่เป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภาคเหนือ และเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวกัน จนเมืองเชียงใหม่ทุกวันนี้ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวคนจีน หากมองย้อนไปในภาพรวมของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแล้ว เมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มปริมาณเป็นทวีคูณ นั่นย่อมแสดงให้เห็นถึงการกระจายรายได้สู่ทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ไม่ว่าจะเป็น โรงแรมที่พัก ภัตตาคาร ร้านค้าขายของที่ระลึก บริษัทท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ จะต้องคึกคักรายได้สะพัดในวงกว้าง แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ จำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจริง แต่การจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวจีนไม่ได้กระจายมายังผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเลย ถึงแม้มีบ้างก็เป็นส่วนน้อย เมื่อเทียบกับรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ที่กลับคืนสู่กระเป๋ากลุ่มทุนจีน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น คำตอบคือ กลุ่มคนจีนเข้ามาบริหารจัดการท่องเที่ยวจีนแบบครบวงจร เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนแทนผู้ประกอบการไทยในทุกภาคส่วน เริ่มจากทัวร์จีนซื้อทัวร์ มาเที่ยวไทย บริษัททัวร์จีนทางฝั่งไทย จัดการติดต่อ พาเข้าพักในโรงแรมของกลุ่มตนเอง ที่ทำสัญญาเช่าระยะยาวกับผู้ประกอบการไทย แล้วกลุ่มคนจีนเข้ามาบริหารจัดการเสมือนเป็นที่พักของตนเอง บางกลุ่มลงขันร่วมหุ้นกันซื้อโรงแรมที่พักจากผู้ประกอบการคนไทยแล้วปรับปรุงใหม่ เป็นโรงแรมของกลุ่มคนจีน ภัตตาคารร้านค้าก็เช่นกัน กลุ่มทุนจีนเข้ามาลงทุนสร้างภัตตาคารจีนใหญ่โต อยู่ใกล้เซ็นทรัลเฟสติวัล การเตรียมการขนาดนี้ วางแผนไว้อย่างเป็นระบบ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวเชียงใหม่นั่นเอง

ไม่เพียงแค่นั้น กลุ่มทุนจีนได้รวมกลุ่มกันขยายลงสู่ธุรกิจร้านจำหน่ายของที่ระลึก ความหดหู่ได้บังเกิดขึ้นกับงานฝีมือการทำเครื่องเงินที่ขึ้นชื่อของสกุลช่างล้านนา ที่ถูกธุรกิจเครื่องเงินของกลุ่มทุนจีนจากสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน รุกคืบมาตั้งเป็นร้านค้าจำหน่ายเครื่องเงิน โดยมีช่างจากสิบสองปันนามาสาธิตการทำเครื่องเงินแถวๆ หมู่บ้านไทลื้อ อำเภอดอยสะเก็ด เชียงใหม่

ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร? หมู่บ้านไทลื้อ ที่บ้านลวงเหนือ เป็นชุมชนไทลื้อที่ในอดีตชาวไทลื้อจากเมืองลวง สิบสองปันนา ได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานในดินแดนแถบนี้ ดังปรากฏร่องรอยการย้ายถิ่นฐานตามที่จารึกในเสื้อบ้าน มีวัดไทลื้อเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวไทลื้อในชุมชนบ้านลวงเหนือ จะเห็นได้จากมหาวิหารไทลื้อ วัดศรีมุงเมือง เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ที่บอกกล่าวเรื่องราวแห่งอารยธรรมอันยาวนานของชุมชนไทลื้อ

ด้วยรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมไทลื้อยังคงอยู่เคียงคู่กับชาวบ้านลวงเหนือ จึงเป็นเสน่ห์ในการดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้มาเยือน กลุ่มทุนจีนจากสิบสองปันนา ภายใต้การนำของผู้ร่วมทุนชาวไทยเชื้อสายจีน ที่มองการณ์ไกล จึงเลือกเข้ามาลงทุนในชุมชนบ้านลวงเหนือ ด้วยการมาเช่าบ้านแบบปูพรม เริ่มจากเช่าบ้านทำสำนักงานรองรับทัวร์จีน เช่าบ้านเปิดร้านจำหน่ายเครื่องเงิน ตามจุดต่างๆ บางจุดเช่าไว้เพื่อเป็นแหล่งสาธิตการทำเครื่องเงิน รวมทั้งเช่าสถานที่วัดไทลื้อเพื่อเป็นที่จอดรถทัวร์ และใช้บริการห้องสุขาของวัด

ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มทุนจากมณฑลเสฉวน ชักนำพรรคพวกให้เข้ามาลงทุนเปิดร้านจำหน่ายพระเครื่องบูชา โดยเช่าศาลาวัดทำเป็นออฟฟิศ เพื่อจำหน่ายพระเครื่องบูชาแก่นักท่องเที่ยวชาวจีน โดนจ่ายค่าเช่าให้วัด ทำให้วัดมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ ดีกว่าปล่อยพื้นที่ทิ้งไว้เปล่าๆ เรียกได้ว่าวิน-วินกันทั้งวัดและกลุ่มทุนจีนจากเสฉวน

ชุมชนไทลื้อบ้านลวงเหนือและวิหารไทลื้อ วัดศรีมุงเมือง อำเภอดอยสะเก็ด จึงถูกบรรจุเป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวในเชียงใหม่ ที่ทัวร์จีนจะต้องมาเยือน เริ่มจาก บริษัททัวร์นำพานักท่องเที่ยวมาลงในจุดที่คณะฟ้อนชาวไทลื้อฟ้อนให้การต้อนรับ แล้วเดินไปยังจุดต่างๆ ที่กลุ่มทุนจีนมาเช่าไว้ เพื่อสาธิตการทำเครื่องเงินและจำหน่ายเครื่องเงิน แล้วผ่านเข้าวัดศรีมุงเมือง แวะเข้าห้องน้ำ ไกด์จะพาเที่ยวชมไหว้พระในวิหารไทลื้อ และตามจุดต่างๆ ในวัด ปิดท้ายพาแวะชมและซื้อพระเครื่องบูชา ก่อนขึ้นรถทัวร์ที่จอดรออยู่ในวัด เพื่อไปเที่ยวยังสถานที่อื่นๆ อีกต่อไป ซึ่งในวันหนึ่งๆ ชาวบ้านในชุมชนเล่าให้ฟังว่า มีรถทัวร์แวะเวียนมาส่งนักท่อง เที่ยวตั้งแต่เช้าจรดเย็นเกิน 10 เที่ยวต่อวัน

หากวิเคราะห์จากภาพรวมในการทำธุรกิจของกลุ่มทุนจีน ถือเป็นความได้เปรียบที่ชัดเจน สามารถมองเห็นโอกาสทางการตลาด ที่แวดล้อมด้วยความพร้อมทางทรัพยากรและภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นรากฐานทางวัฒนธรรมของชาวไทลื้อที่มีมาอย่างยาวนาน เพียงแค่นำเงินทุนมาลงทุนเช่าพื้นที่เป้าหมาย เช่น วัดและบ้านของชาวไทลื้อ แบบปูพรม ก็สามารถจัดตั้งสถานที่ท่องเที่ยวและร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึก เก็บเกี่ยวรายได้อย่างยั่งยืนจากนักท่องเที่ยวจีนง่ายๆ

นักท่องเที่ยวชาวจีนในเชียงใหม่ ที่มาภาพ : นายธุววิช ปานเกิด

เพราะรายได้หลักจากนักท่องเที่ยวหักค่าใช้จ่าย ที่เป็นค่าเช่าสถานที่และค่าดำเนินการต่างๆ ยังได้กำไรอย่างต่อเนื่อง ในทางกลับกัน ถ้ากระบวนการคิดแบบกลุ่มทุนจีน เป็นของคนไทลื้อในชุมชน ที่กล้าตัดสินใจรวมกลุ่มกันลงทุน แบบที่กลุ่มจีนทำ รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนจะตกอยู่ในมือใคร ถ้าไม่ใช่มือคนไทลื้อด้วยกัน ศิลปวัฒนธรรมที่ชาวไทลื้อสั่งสมมาอย่างยาวนานจากรุ่นสู่รุ่น ตลอดจนสินค้าของที่ระลึกจากภูมิปัญญาไทลื้อ มีมากมายกว่าเครื่องเงินและพระเครื่องบูชา ของกลุ่มจีน การกระจายรายได้ในชุมชนจะเกิดมีอย่างยั่งยืนสู่รุ่นลูกรุ่นหลานในอนาคต แต่น่าเสียดายมากที่รายได้กลับคืนสู่กระเป๋ากลุ่มทุนจีน ชาวไทลื้อได้เพียงเงินค่าเช่าบ้าน คณะฟ้อนได้เงินค่าฟ้อน วัดได้เงินค่าเช่าสถานที่ ใครที่จะได้ประโยชน์ระยะยาวกว่ากัน

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ถือเป็นการรุกคืบทางธุรกิจท่องเที่ยวที่น่าหวั่นไหวแทนการท่องเที่ยวไทยจริงๆ การรุกคืบทางธุรกิจของกลุ่มทุนจีนอาจไม่หยุดอยู่แค่ธุรกิจท่องเที่ยว เพราะถ้ากลุ่มทุนจีนกลุ่มอื่นๆ เห็นช่องทางธุรกิจไม่ว่าจะเป็นภาคส่วนใดก็ตาม กลุ่มทุนจีนจะไม่ลังเลที่จะเข้าไปลงทุนทันที ฉะนั้น จงตื่นเถิดชาวไทย รีบๆ ดำเนินมาตรการเพื่อป้องปรามการรุกคืบทางธุรกิจของกลุ่มทุนจีน ก่อนที่อะไรๆ จะสายเกินไป