SIG ผู้นำการให้บริการโซลูชันด้านบรรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อป่าไม้และชุมชนโดยรอบที่พึ่งพาอาศัยป่าไม้บนพื้นที่กว่า 375,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นพื้นที่ทิวเขาตะนาวศรี พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง และพื้นที่ดงพญาเย็น
วันที่ 30 พฤษภาคม 2568 บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด (SIG) โดยนายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา เอสไอจี และองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) ประเทศไทย โดยนายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ ได้ร่วมให้ข้อมูลโครงการความร่วมมือการ “ขับเคลื่อนงานอนุรักษ์ป่า ปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ ภารกิจเพื่อโลกของเอสไอจี และ WWF รับวันสิ่งแวดล้อมโลก” ใครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ WWF Forests Forward ที่ต่อเนื่องจากความพยายามในเม็กซิโกและมาเลเซีย และสอดคล้องกับกลยุทธ์ป่าไม้แห่งชาติของรัฐบาลไทย
นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา SIG ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด ว่า SIG เป็นบริษัทมหาชนเยอรมนีที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์และมีสำนักงานในสวิตเซอร์แลนด์ ส่วนในเอเชีย ประเทศไทยเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อในจังหวัดระยอง โรงงาน SIG ระยองเริ่มดำเนินการในปี 2541 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 109,600 ตารางเมตร โดยบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจัดส่งให้กับลูกค้าในเอเชียแปซิฟิก เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น
SIG มีศูนย์เทคโนโลยี 5 แห่งทั่วโลกที่มีพื้นฐานจากเทคโนโลยีของเยอรมนี ทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้า เพื่อพัฒนาโซลูชันบรรจุภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ให้ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยในเอเชียแปซิฟิกนั้น มีศูนย์เทคโนโลยีตั้งอยู่ในเมืองซูโจว ประเทศจีน
SIG ซึ่งดำเนินธุรกิจมากว่า 170 ปีให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยมีแนวทางปฏิบัติที่เชื่อมโยงกันใน 4 เสาหลัก ประกอบด้วย Climate+ สภาพภูมิอากาศ Resource+ แหล่งวัตถุดิบ Food+ ความมั่นคงด้านอาหาร Forest+ การฟื้นฟูผืนป่า
“เอส ไอ จี คอมบิบล็อค ให้ความสำคัญกับเรื่องของสิ่งแวดล้อม การรักษ์โลกมาโดยตลอด เป็น Core Competence ของเรา เรามี 4 เสาหลัก (pillar) ที่เป็นนโยบายใหญ่ของ SIG จากการที่เราเป็นผู้ผลิตกล่องเครื่องดื่ม วัตถุดิบหลักๆ คือ กระดาษ พลาสติก หรือ PE และอะลูมิเนียม เพราะฉะนั้น เราให้ความสำคัญกับวัตถุดิบที่นำมาใช้”
เสาหลักแรก Climate+ นายวัชรพงศ์กล่าวว่า SIG ต้องการที่จะปล่อยก๊าซคาร์บอนให้น้อยลง โดยมีเป้าหมายเข้าสู่ net zero ภายในปี 2030 ส่วนที่ประเทศไทยโรงงานผลิตกล่องเครื่องดื่มที่ระยองซึ่งติดตั้งโซลาร์รูฟทอปขนาดกว่า 5 เมกะวัตต์ ประเมินการปล่อยก๊าซคาร์บอนทุกๆ 3 ปี ปัจจุบันได้รับการรับรองในระดับ Gold จากองค์การก๊าซเรือนกระจกแห่งประเทศไทย (อบก.) และการวัดปริมาณและการรายงานผลการปลดปล่อยของ SIG ก้าวหน้าอยู่ใน SCOPE 2 (การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงาน (indirect emissions) ได้แก่ ไฟฟ้าที่ถูกนำเข้าจากภายนอกเพื่อใช้งานภายในองค์กร พลังงานนำเข้าอื่นๆ เช่น ไอน้ำ ความร้อน ความเย็น อากาศอัด)
เสาหลักที่ 2 Resource+ กระดาษเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต ปัจจุบันทุกกล่องของ SIG ใช้เยื่อกระดาษจากป่าที่ปลูกทดแทน 100% รวมทั้งยังใช้พลาสติกที่จัดว่าเป็น forest-based polymers และอะลูมิเนียมใช้อะลูมิเนียมที่ได้ ASI เป็นอะลูมิเนียมที่มาจากแหล่งผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อธรรมชาติ ต่อสังคม
“เพราะฉะนั้น ทุกๆ วัตถุดิบทุกๆ ขั้นตอนการผลิตนี้ SIG เราให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้อยู่แล้วไม่ใช่ว่าเราจะเพิ่งมาทำวันนี้ เราทำมาเป็นระยะเวลายาวนานมาก” นายวัชรพงศ์กล่าว
ในด้าน Food+ โดยที่ผลิตภัณฑ์ของ SIG ใช้เพื่อบรรจุเครื่องดื่ม จึงให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ข้างในด้วย และทำงานร่วมกับลูกค้าในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่บรรจุข้างใน ให้มีประโยชน์ถึงมือผู้บริโภคได้อย่างมีคุณภาพ

นายวัชรพงศ์ อึงศรีสวัสดิ์ ผู้อำนวยการเขตประเทศไทย ลาว พม่า และกัมพูชา บริษัท เอส ไอ จี คอมบิบล็อค จำกัด (SIG)
ด้าน Forest+ สำหรับ SIG ไม่ได้หมายถึงการปลูกป่าอย่างเดียว ป่าไม้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนทุกชีวิตบนโลก เนื่องจากเป็นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ ชุมชน ช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนด้วยการดูดซับก๊าซเรือนกระจก และเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับธุรกิจของเอสไอจี เพราะเป็นแหล่งผลิตเยื่อไม้ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตกระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์ของเอสไอจี
ตั้งแต่ปี 2564 เอสไอจีได้จัดหากระดาษจากป่าไม้ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากองค์กรพิทักษ์ป่าไม้ (FSC-certified) เท่านั้น ซึ่งรับประกันได้ถึงมาตรฐานขั้นสูงในการจัดการป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ รวมถึงการสนับสนุนความหลากหลายทางชีวภาพและชุมชน
“SIG เป็นผู้นำอุตสาหกรรมที่มีความรับผิดชอบในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ และได้รับการรับรอง Forest Stewardship Council™ (รหัสใบอนุญาตเครื่องหมายการค้า FSCTM: FSCTM C020428) ของแผ่นวัสดุที่ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่ม รวมถึงการจัดซื้อแผ่นบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องดื่มทั้งหมดที่ได้รับใบรับรอง FSC™ ตั้งแต่ต้นปี 2564 ลูกค้าจึงมั่นใจและสามารถติดฉลาก FSC บนบรรจุภัณฑ์ปลอดเชื้อทุกชิ้นที่ผลิตโดย SIG ตั้งแต่ปี 2559
นอกจากนี้ SIG มีความมุ่งมั่นในการสร้าง ฟื้นฟู ปกป้อง และการจัดการพื้นที่ป่าไม้เพิ่มเติม 650,000 เฮกตาร์ หรือราว 4.062 ล้านไร่ภายในปี 2573 โดย SIG มีความร่วมมือกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund For Nature) สวิตเซอร์แลนด์ และที่สำนักงานประเทศไทย (WWF Switzerland and Thailand)
นายวัชรพงศ์เปิดเผยว่า SIG ได้ริเริ่มโครงการเพื่อเชื่อมโยงและปกป้องภูมิทัศน์ป่าไม้ที่สำคัญในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการป่าไม้และการเชื่อมโยงในภูมิทัศน์ เทือกเขาตะนาวศรี พื้นที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่าง และกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ป่าทั้งหมด 60,000 เฮกตาร์ หรือเทียบเท่า 375,000 ไร่ โครงการนี้เป็นโครงการเพื่อปกป้องและดูแลป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพโครงการที่สามของบริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โปรแกรม Forests Forward ต่อจากที่ดำเนินการแล้วในเม็กซิโกและมาเลเซีย หลังจากริเริ่มความร่วมมือที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2565
“ความร่วมมือระหว่างเรากับ WWF สวิตเซอร์แลนด์ เปิดโอกาสให้เอสไอจีสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อป่าไม้และชุมชนโดยรอบที่พึ่งพาอาศัยป่าไม้ ในโครงการความร่วมมือครั้งที่สามนี้ มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมโยงและปกป้องภูมิทัศน์ป่าไม้ที่สำคัญในประเทศไทย ที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเอสไอจีในการดูแลป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ และสอดคล้องกับเป้าหมายสำหรับการฟื้นฟูในอนาคต เพื่อให้มันใจว่าเราสามารถช่วยเหลือผู้คนและโลกใบนี้ให้มีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น”
…นายวัชรพงศ์กล่าว
ป่าไม้ของประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของความหลากหลายทางชีวภาพอินโด-เมียนมา ซึ่งเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ป่าไม้ผืนนี้เป็นบ้านของสัตว์ป่าหลากหลายชนิด รวมถึงเสือลายเมฆ เสือโคร่ง ช้างเอเชีย และกล้วยไม้หลากหลายสายพันธุ์ที่หลายชนิดกำลังตกอยู่ในอันตราย การตัดไม้ทำลายป่าและการเติบโตของที่อยู่อาศัย เป็นภัยคุกคามที่สำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพนี้
สำหรับโครงการ Forests Forward ขององค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เป็นการดำเนินการของบริษัทเพื่อประโยชน์ต่อธรรมชาติ สภาพภูมิอากาศ และผู้คน บริษัทต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ Forests Forward ต้องยึดมั่นต่อเป้าหมายเกี่ยวกับการจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ การจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน และการลงทุนในภูมิทัศน์ของป่าไม้ ความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของภาคเอกชนจึงมีความสำคัญต่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้จากความสูญเสียและเสื่อมโทรม
โครงการใหม่นี้มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ คือ
กิจกรรมภายใต้เป้าหมายเหล่านี้ เชื่อมโยงและฟื้นคืนให้ป่าไม้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการกลับมาของสัตว์ใหญ่ การปรับปรุงความเชื่อมโยงของที่อยู่อาศัยเพื่อช่วยช้างที่กระจายตัวในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ในบริเวณแหล่งน้ำ การกำหนดพื้นที่คุ้มครอง การรักษาสิทธิการใช้ที่ดินสำหรับชุมชน และการส่งเสริมวนเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
“โครงการในประเทศไทยคิดเป็นประมาณ 10% ของ 4 ล้านไร่ รวมมาเลเซีย ในเม็กซิโกน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15-20% ตอนนี้เพิ่งได้แค่ประมาณ 40-50% แล้วก็จะมีประเทศอื่นเพิ่มเติมเข้ามา แต่ SIG ก็รอดูว่าจะขยายโครงการไปที่ประเทศไหนต่อ และคาดว่าน่าจะมีประเทศในเอเชียอีก แต่ขณะยังไม่ได้สรุป ขึ้นอยู่กับความพร้อมและศักยภาพของประเทศ” นายวัชรพงศ์กล่าว

นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ และผู้อำนวยการส่วนงานกลุ่มป่าไม้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand)
นายรัฐพล พิทักษ์เทพสมบัติ รองผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ และผู้อำนวยการส่วนงานกลุ่มป่าไม้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF Thailand) กล่าวว่า “ความร่วมมือกับ SIG ช่วยให้องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลประจำประเทศไทย มีโอกาสในการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูพื้นที่ป่าไม้ที่มีความสำคัญระดับโลก 3 แห่งในประเทศไทย การสนับสนุนครั้งนี้จะช่วยให้เราสามารถฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรมได้โดยตรง รวมถึงทำงานร่วมกับรัฐบาลและชุมชนในการกำหนดพื้นที่คุ้มครองใหม่ เพื่อทำการอนุรักษ์และเชื่อมโยงป่าไม้ของเรา รวมถึงสนับสนุนการอยู่อาศัยตามธรรมชาติของสัตว์ป่ารวมถึง เสือ กระทิง และช้างเอเชีย”
การที่จะฟื้นฟูป่าก็มีหลายทฤษฎี แต่ทฤษฎีที่สามารถที่จะทำให้ระยะเวลาไม่นานแล้วก็เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ซึ่ง WWF ได้ใช้แนวทาง Forest Landscape Restoration การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้โดยใช้พื้นที่ Landscape และการมีส่วนร่วมเป็นการจัดการ ซึ่งมีการพิสูจน์ทราบมาหลายที่ ว่านอกจากจะเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้คืนกลับสู่สภาพป่าได้เหมือนเดิมแล้ว ผู้ที่ใช้ประโยชน์ไม่ว่าจะเป็นชุมชนในระยะใกล้ ระยะไกล หรือแม้กระทั่งคนเมือง ก็จะรับคุณค่าระบบนิเวศนี้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายรัฐพลกล่าวว่า จากขอบเขตโครงการที่ WWF ได้ให้ความสำคัญว่ามีคุณค่าด้านความหลากหลายทางชีวภาพแล้ว ก็อาจจะอยู่ในช่วงของการที่จะต้องฟื้นฟู อาจจะแยกประเภทของป่า ซึ่งป่าของไทยมีหลายแบบ แต่ที่ให้ความสนใจก็คือประเภทป่าที่สามารถที่จะฟื้นฟูได้ โดยมีเป้าหมายผลักดันการประกาศพื้นที่คุ้มครองใหม่และผนวกพื้นที่เพิ่มเติมเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ผลักดันพื้นที่ป่าชุมชน เป็น OECMs เพื่อการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน และปกป้องเส้นทางของสัตว์ป่า โดยเฉพาะเสือโคร่ง ที่เริ่มฟื้นตัวในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก
“เราให้ความสำคัญในผืนป่าตรงนี้ที่ประมาณ 30,000 เฮกตาร์ หรือ 187,000 ไร่ อีกกลุ่มป่าหนึ่ง เป็นกลุ่มป่าที่มีความสำคัญและกำลังถูกภัยคุกคามและเป็นสิ่งสำคัญในเรื่องของทรัพยากรสัตว์น้ำ ทรัพยากรป่าที่เป็นผืนป่าชุ่มน้ำสุดท้ายของประเทศไทยในเขตจังหวัดนครพนม ในลุ่มน้ำสงครามตอนล่างอีก 30,000 เฮกตาร์ รวมทั้งหมดในโครงการนี้ 60,000 เฮกตาร์ หรือประมาณเกือบๆ 400,000 ไร่” นายรัฐพลกล่าว
โครงการในประเทศไทยระยะแรกมีเวลา 3 ปี แต่ทั่วโลกคือ 5 ปี โดยในไทยตั้งต้นในเดือนตุลาคม 2565 และเริ่มดำเนินการโครงการในเดือนมกราคม เป็นช่วงการจัดทำฐานข้อมูล มีการสร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับนโยบายการจัดการพื้นที่ป่าชุมชนทั้งในและนอกเขตพื้นที่ ที่จะได้รับผลกระทบจากการทำโครงการ รวมถึงแนะนำตัวกลยุทธ์ วิธีการเพื่อเปิดให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จัดปรับสิ่งที่โครงการคิดว่าจะมีความเสี่ยง สิ่งที่จะผลักดันได้ในช่วงขั้นตอนนี้ รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ประสบการณ์กับทุกชนชนอีกหลายที่ เพื่อทำแผนการทำงานให้สมบูรณ์แบบ และรวมถึงการวางแผนการฟื้นฟู ทำวิจัยว่าชนิดพันธุ์ไม้ใดที่มีความเหมาะสมของการฟื้นฟูในพื้นที่นั้นๆ เช่น พบว่า พื้นที่ในภาคเหนือเป็นป่าดิบแล้ง แล้วเป็นป่าเต็งรัง ซึ่งป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังไม่ได้ชอบปริมาณน้ำฝนที่ค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น ชนิดไม้ก็มีส่วนสำคัญในการฟื้นฟูป่า
ถ้าไม่ได้คำนึงถึง แล้วนำพันธุ์ไม้ต่างถิ่นมาปลูกก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศของป่า เช่น ไม้ธรรมชาติ ที่จริงควรจะขึ้นก็กลับกลายเป็นไม้ต่างถิ่นแทน ต้องมีการระบุและกำหนดเขตพื้นที่ (Zoning) ซึ่งก็ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและชุมชน ทั้งในป่าชุมชนเอง ป่าชุมชนที่อยู่ภายใต้การดูแลของชุมชน นอกจากจะมีการบริหารจัดการที่คงไว้ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ให้สามารถขยายป่าได้ การยกระดับการจัดการป่าของเครือข่ายป่าชุมชนที่มีอยู่ทั้งในภาคเหนือ รวมทั้งการเป็นแหล่งอาหาร (Food Supply) เรื่อง Carbon Credit ที่จะทำให้โครงการทางการเงิน (Financial Scheme) ยั่งยืน ภายใต้บริบทที่เป็นจริง ซึ่งทั้งหมดเป็นการขั้นตอนในการเตรียมการศึกษา
นายรัฐพลอธิบายว่า ป่าในประเทศไทยมีทั้งป่าที่เป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ตามกฎหมาย ก็คืออุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ซึ่งอยู่ในความควบคุมของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ป่าอีกประเภทหนึ่งคือป่าสงวนแห่งชาติ อยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้ ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการจัดการเป็นป่าชุมชนต่างๆ
ในช่วงปีแรกอาจจะยังไม่ได้เห็นผลชัดเจน เพราะช่วงนี้ต้องเริ่มเข้าไปกับชุมชน แต่เชื่อว่าในขั้นตอนต่อไปสักประมาณ 6 เดือนถึง 8 เดือนจะเห็นชัดเจน การทำงานที่เข้าในชุมชน คือ การนำองค์ความรู้ไปให้ เข้าไปช่วยสนับสนุนต้นไม้
“ภายใต้โครงการนี้เราก็จะมาช่วยสนับสนุนความเข้มแข็งของทั้งภาครัฐในการบริหารจัดการป่าอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยทั้งชุมชนในการส่งเสริมการจัดการร่วมกันเป็น Co-Management ซึ่งสถานการณ์ที่คุกคามตอนนี้มากที่สุดก็คือไฟป่าทั้งภาคเหนือจังหวัดตากขึ้นเป็นฮอตสปอต แม่ฮ่องสอนอันดับหนึ่ง 2-3 ปีติดกัน ป่าที่พัฒนาเป็นป่าที่สมบูรณ์จะนิ่งและสัมพันธ์กับชนิดพันธุ์ เพราะฉะนั้น บางครั้งจะเห็นความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า” นายรัฐพลกล่าว
สำหรับผลักดันพื้นที่ป่าชุมชน เป็น OECM หรือ Other Effective Area-based Conservation Measures นายรัฐพลกล่าวว่า สิ่งสำคัญคือการสร้างองค์ความรู้ สร้างข้อมูลให้กับสาธารณชน ให้เห็นว่าป่ารอยต่อตรงนี้ เหมือนจะเป็นป่าความหวังของการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่ง WWF ทำงานกับหน่วยงานรัฐในท้องที่ เรื่องการจะให้ชุมชนสามารถรักษาป่าร่วมกันได้ ทำให้ฟื้นฟูป่าได้ด้วยและคุณภาพชีวิตได้รับการปรับปรุง การใช้กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีศักยภาพสูง มาใช้ประโยชน์ทำให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน
“ผมว่าโจทย์นี้ด้วยสองพันธมิตรนี้น่าจะสามารถพัฒนาโจทย์ในระยะต่อไปที่จะร่วมกันได้ว่าจะสามารถที่จะ supply ในเรื่องของ livelihood วิถีชีวิตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งประโยชน์ที่ได้ในด้านสิ่งแวดล้อม เขามีความรู้แต่รูปแบบในการที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมแล้วก็สร้างรายได้จากการฟื้นฟูป่าร่วมกับการจัดการทรัพยากร เป็นสิ่งที่เริ่มต้น ซึ่งต้องมีการทำความเข้าใจแล้วเผยแพร่ แลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน”
…นายรัฐพลกล่าว
สำหรับชุมชนที่อยู่ในป่าอยู่แล้วและอยู่มานานมากก่อนอุทยานจะเข้าไปจัดการ นายรัฐพลกล่าวว่า ได้ให้กรมอุทยานดูแลตามกฎหมาย ตามระบบของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทุกพื้นที่ที่ยังไม่ได้มีการจัดการที่ลงตัว WWF จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปทำงานในพื้นที่นั้น โดยส่วนใหญ่กรมอุทยานฯ ก็สามารถที่จะใช้โครงการตามพัฒนาที่ดินแห่งชาติ ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของกระบวนการจัดการ ตามเอกสาร ตามหลักฐาน ก็ไม่ได้มีผลกระทบพื้นที่กำหนดเรียบร้อยแล้ว
“พื้นที่เรากำหนดเรียบร้อยแล้วเป็น 30,000 เฮกตาร์ที่อยู่ในเขตจังหวัดตาก อยู่ใน 2 อุทยานแห่งชาติเตรียมการคือพื้นที่ป่าตะวันตก ห้วยขาแข้ง อุทยานแห่งชาติเตรียมการดอยสอยมาลัยและอุทยานแห่งชาติลานสาง อุทยานแห่งชาติเตรียมการ คือยังไม่ประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นอุทยานแห่งชาติเต็มตัว ป่าปิตุ๊โกร ซึ่งได้รักษามาอย่างดีเราจะยกระดับให้เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ตามมาตรฐาน OECM” นายรัฐพลกล่าว
ในระดับโลกหลังจากประชุมที่ COP ก็เห็นว่า การพยายามที่จะใช้เพิ่มพื้นที่ป่าอนุรักษ์อย่างเดียว (ป่าอนุรักษ์หมายถึงป่าที่มีกฎหมายคุ้มครองอย่างจริงจัง และในไทยก็คือกรมอุทยานแห่งชาติส่วนใหญ่ดูแล) ในอีก 10 ปีไม่มีทางที่จะถึงเป้าหมาย เพราะประเทศไทยมีข้อจำกัดในการที่จะขยายพื้นที่ป่าอนุรักษ์แล้ว แต่ป่าชุมชน ป่าหัวไร่ปลายนา ป่าสาธารณะต่างๆ ที่ยังไม่มีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ต้องมีแนวทางในการสนับสนุนให้พื้นที่เหล่านี้ได้รับการจัดการ แล้วก็ได้รับการยอมรับในระดับสากล ซึ่งพื้นที่ OECM ต่างๆ ก็อยู่ในโครงการนี้ด้วย
นายรัฐพลกล่าวว่า ในการจัดการพื้นที่ป่าชุมชน จะไม่เน้นให้ชุมชนยึดการคำนวณคาร์บอนเครดิตเป็นหลัก แต่เน้นให้คิดว่าคาร์บอนเป็นเหมือนออมทรัพย์ระยะยาว แต่ส่วนใหญ่เมื่อทำไปราว 5 ปีชุมชนก็ไม่อยากขายคาร์บอนแล้ว เพราะว่าราคาจริงๆ ที่ได้ดีกว่าคาร์บอนในตลาดสมัครใจ “เป้าหมายจริงๆ คือฟื้นฟูป่าให้อุดมสมบูรณ์แล้วชุมชนคือผลพลอยได้
“ในยุทธ์ศาสตร์เราพูดถึง Nature-Based Solutions ซึ่งคุณค่าคือ มีองค์ประกอบจากป่าที่ climax มีป่าหลายชั้นที่ ทฤษฎีปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างของรัชกาลที่ 9 เรานำทฤษฎีนี้มาเป็นภาคปฏิบัติแล้วก็มีโมเดลที่จะนำไปสู่การพื้นฟูแบบนี้ รวมทั้งการหาโอกาสในการทำงานกับภาคประชาสังคมและภาคเอกชนอื่นๆ ที่สนับสนุนการจัดการอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การทำ Value-Based Biodiversity, Native Production ซึ่งกำลังเป็นที่น่าสนใจ แต่เราจะชูเรื่องของ Biodiversity กับ Nature-Based Solutions และวัฒนธรรมของคนรวมกัน คือประเด็นที่ต้องทำต่อ” นายรัฐพลกล่าว

สำหรับการปกป้องเส้นทางของสัตว์ป่า โดยเฉพาะ เสือโคร่ง นายรัฐพลให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า WWF ได้ดำเนินโครงการระบบนิเวศกับป่าไม้มานานแล้ว โดยใช้สายพันธุ์หลัก (flagship species) ของสัตว์เป็นสัญลักษณ์ของการอนุรักษ์ โดยกำหนดให้เสือโคร่งเป็น flagship species ของสัตว์ผู้นำพาเรื่องการอนุรักษ์พื้นฟูป่า เนื่องจากเสือโคร่งหนึ่งตัวใช้อาณาบริเวณในการที่จะเจริญเติบโตค่อนข้างมาก ในอดีตประเทศไทยมีเสือโคร่งมาก แต่ช่วงประมาณ 20 กว่าปีนี้เสือโคร่งลดลงด้วยหลายสาเหตุ ทั้งการล่าสัตว์ ระบบนิเวศของเสือโคร่งและอาหารของเสือโคร่งที่สูญหายไป เพราะเสือโคร่งต้องกินพวกสัตว์กีบ เพราะฉะนั้น ถ้าป่าหมด สัตว์ที่เป็นเป็นเหยื่อเสือโคร่งก็จะหมดตาม
“เราเริ่มทำการอนุรักษ์เสือโคร่งมาประมาณ 10 กว่าปี เสือโคร่งเพิ่มจาก 20 กว่าตัวมาเป็นเกือบ 200 ตัวและที่สำคัญอยู่ในผืนป่าตะวันตก ผืนป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกทุ่งใหญ่ และตอนนี้เสือพยายามที่จะขยาย การขยายคือการที่จะเคลื่อนย้ายออกไปในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะสอดคล้องกับพื้นที่ป่าไม้ที่ค่อนข้างลดลง ความพยายามที่จะขึ้นไม่ว่าจะเป็นตอนบนไปถึงแม่ปิง ไปไม่ได้แล้วก็กลับมา ไปลงใต้แก่งกระจานก็ไปได้ถึงก็กลับมา ปัจจัยที่เราค้นพบก็คือ ระบบนิเวศป่าของเสือไม่เพียงพอกับการที่ใช้ และก็คือเหยื่ออาจจะไม่เพียงพอ เพราะฉะนั้น ถ้าเราพูดถึง flagship species ของการจัดการเสือโคร่งได้ การฟื้นฟูป่าก็จะเป็นสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศที่เหมาะสมกับเสือโคร่ง นอกจากนี้ยังมีอื่นๆ อีกที่เป็นตัวชี้วัด” นายรัฐพลกล่าว
นายรัฐพลกล่าวว่า ตอนนี้เสือจากห้วยขาแข้งที่อนุรักษ์กันอย่างเต็มที่ ขึ้นไปถึงที่อุ้มผาง บางตัวสามารถที่ข้ามถนนไปได้ไปถึงที่แม่ปิงอมก๋อย มีการพบรอยเท้าจาก camera trap เข้าไปในหมู่ป่าชุมชน ชุมชมชาวบ้านบ้าง ซึ่งใน 10 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเจอเสือโครงแต่เริ่มมีเข้าไปบ้าง เพราะฉะนั้น แสดงว่าระบบนิเวศกำลังพัฒนาขึ้น แต่ขณะเดียวยังไม่ชัดเจนว่าเสือเข้าไปแล้วจะอยู่หรือไม่
นอกเหนือจากเสือโคร่งในเขตของรอยต่อพื้นป่า สัตว์ป่าอีกชนิดหนึ่งที่พบ คือ เสือดาวลายเมฆ กระทิงแดง กวาง เป็นสัตว์ที่อยู่ในบัญชีที่มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
“เสือที่ยังมีอยู่ มีอยู่เฉพาะในประเทศไทยเป็นแหล่งอนุรักษ์เสือโคร่งที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชีย เป็นอันดับหนึ่ง ประชากรเสือโคร่งเพิ่มขึ้นเร็ว จากเริ่มแรกประมาณ 25 ตัวใน 10 กว่าปีที่แล้ว ตอนนี้ 200 กว่าตัว แต่เพิ่มขึ้นก็ทรงตัวที่ประมาณ 200 ตัว เราก็วิเคราะห์ได้แล้วว่าพื้นที่ไม่เพียงพอ ถ้าเราเพิ่มพื้นที่แนวระเบียงขึ้นไปแล้วเชื่อมถึงแม่ปิงอมก๋อยได้ จาก 200 น่าจะพุ่งเป็น 500 ตัว” นายรัฐพลกล่าว
โครงการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ มีพื้นการทำงาน 3 ที่คือ หนึ่ง แนวเชื่อมต่อระบบนิเวศเทือกเขาถนนธงชัยต่อเนื่องเทือกเขาตะนาวศรี จังหวัดตาก ซึ่งที่ผ่านมาเป็นพื้นที่การทำงานการจัดการอนุรักษ์เสือโคร่ง และการอนุรักษ์ช้างที่กุยบุรี แก่งกระจาน สอง Mae Ping (tiger) Corridor เพื่อเชื่อมต่อกลุ่มป่าตะวันตกตอนบนกับกลุ่มป่าแม่ปิง-อมก๋อย และสาม ที่ลุ่มน้ำสงครามตอนล่างประมาณ 5 แสนไร่ ซึ่ง 5 แสนไร่เป็นพื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลากจากแม่น้ำโขงเข้ามา และ flagship speicies ตรงนี้คือปลาบึก ที่เป็นปลาธรรมชาติมีน้ำหนักถึง 350 กิโลกรัมและมีพันธุ์ปลากว่าอีก 250 ชนิด ซึ่งเป็นปลาที่สร้างรายได้ให้กับชุมชนงง
“ตรงนี้ยังเป็นป่าบุ่งป่าทาม (ป่าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะทางธรรมชาติหรือ flood forest) ที่ยังเป็นผืนใหญ่อยู่ ที่ยังเป็นผืนใหญ่อยู่ เพราะว่าเป็นแม่น้ำเดียวที่ยังไม่มีเขื่อนกั้น ชี มูล แม่น้ำสาขาอื่นของแม่น้ำโขงนี้มีเขื่อนกั้น เขื่อนทำให้ปลาจากแม่น้ำโขงสามารถที่เข้าไปวางไข่ได้ แต่ที่นี่ผืนป่า 5 แสนไร่ยังเป็นที่วางไข่ของปลาอพยพจากแม่น้ำโขง มูลค่าเศรษฐกิจของปลาที่นี่สามารถเลี้ยงคนทั้งจังหวัดนครพนมได้ 3 เท่าแล้วก็ส่งออกไปต่างประเทศ และสามารถยังเป็นแหล่งที่ไปถึงปลาที่เวียดนาม” นายรัฐพลกล่าว
แม่น้ำสงครามมีความยาว 540 กิโลเมตรต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาภูพาน จังหวัดสกลนครเชื่อมต่อแม่น้ำโขง และมีป่าโกงกางน้ำจืดเป็นแหล่งวางไข่ เป็นแหล่งพักอาศัยของปลาอพยพ ปลาอพยพ ปลาแม่น้ำโขงจะไม่วางไข่ในแม่น้ำโขง แต่จะวางไข่ในแม่น้ำสาขา นอกจากนี้ ลุ่มน้ำสงครามยังมีสัตว์ป่าชนิดอื่น เช่น เสือปลา
นายรัฐพลกล่าวว่า การรักษาผืนป่าบุ่งป่าทามตรงนี้กว่า 3 แสนไร่ สามารถที่จะสนับสนุนความมั่นคงทางด้านอาหารของคนในท้องถิ่น ไม่เฉพาะคนในภาคอีสาน และป่าบุ่งป่าทามตรงนี้ถ้าไม่ได้รับการจัดการก็จะถูกบุกรุก (enclosed) จากการเกษตรที่ยังมีจากนโยบายที่อาจจะไม่ได้มองเห็นคุณค่าของ “พื้นที่ชุ่มน้ำ” หรือ wetland
“เพราะฉะนั้น ตรงนี้เราเลยใช้นโยบายกำหนดพื้นที่ Ramsar sites พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้จัดเป็น Ramsar sites แล้ว และโครงการนี้จะเข้ามาช่วย และนี่คือความสำคัญที่ SIG กับ WWF ให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ การสนับสนุนการจัดการของ SIG จะทำให้การป้องกัน สิ่งที่จะเข้ามาบุกรุกในพื้นที่เหล่านี้ แม้จะเป็น Ramsar sites แล้ว แต่บางครั้งก็ยังต้องให้ความรู้กับชุมชน” นายรัฐพลกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีการเสริมเรื่องการปลูกป่าในพื้นที่ป่า เช่น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกรุง ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พื้นที่อื่นๆ เพราะพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีการเข้ามาปลูกยางพาราจำนวนมาก แต่จากราคายางพารา ผลกระทบจาก EUDR ที่ไทยยังไม่ได้ปรับตัวดี ทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจว่าจะยังคงปลูกยางพาราหรือจะปลูกพืชอื่นที่มีความมั่นคงนอกเหนือจากยางพาราอย่างเดียว โครงการนี้จะช่วยในการปลูกป่าตามแนวคิดปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่างในพื้นที่ที่เกษตรกรกับชุมชนกับอุทยานทำงานร่วมกัน แต่อาจจะไม่ได้มีพื้นที่มากเหมือนสองพื้นที่นี้ แต่เป็นพื้นที่ที่เคยถูกบุกรุกมาก่อน จึงต้องการทำเป็นโมเดลไว้ส่วนหนึ่ง และในโครงการยังมีโมเดลคนกับช้างอยู่ร่วมกัน โดยใช้พื้นที่ทับลาน
“ถ้าเรามีการจัดการป่าชุมชนเขาอย่างเป็นระบบ ยกระดับเป็น OECMs ก็คือการจัดการพื้นที่นอกป่าอนุรักษ์ ส่วนใหญ่พื้นที่ตรงนี้ไม่ใช่พื้นที่ป่าอนุรักษ์ เป็นพื้นที่ป่าชุมชนสาธารณะ ป่าหัวไร่ปลายนา ซึ่งถ้ามีการจัดการพื้นที่ดีจะสามารถทำให้ประเทศไทยและโลกเข้าถึงเป้าที่ตั้งไว้ว่าพื้นที่ป่ารองรับความหลากหลายได้ 30% ที่เราไปให้สัตยาบัน ในการประชุม COP ที่คุนหมิง” นายรัฐพลกล่าว