ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > “ไอแบงก์” แถลงทิศทางธุรกิจ ครบรอบ 20 ปี เป็นสถาบันการเงินที่ยึดหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน

“ไอแบงก์” แถลงทิศทางธุรกิจ ครบรอบ 20 ปี เป็นสถาบันการเงินที่ยึดหลักชะรีอะฮ์ เพื่อความยั่งยืน

26 เมษายน 2023


ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

วันนี้ (24 เมษายน 2566) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย หรือไอแบงก์(ibank) โดย ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ พร้อมคณะผู้บริหาร แถลงข่าวประกาศ “ทิศทางธุรกิจของไอแบงก์ ปี 2566 เนื่องในวาระครบรอบ 20 ปีของธนาคาร” พร้อมเดินหน้าขยายสินเชื่อ ลดหนี้เสีย และการดำเนินงานต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในปี 2566 เพื่อนำไปสู่วิสัยทัศน์การเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์เพื่อความยั่งยืน

ธนาคารอิสลามได้ออกจากการฟื้นฟูกิจการแล้วเมื่อสองปีก่อน ขณะนี้อยู่ในช่วงการติดตามการดำเนินงานในสถานะกลุ่มพิเศษ ปัจจุบันสินทรัพย์รวมมีจำนวน 76,000 ล้านบาท มียอดเงินฝาก 75,000 ล้านบาทจากฐานลูกค้าเงินฝากจำนวน 1 ล้านล้านราย และมียอดสินเชื่อคงค้าง 62,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตามเงินกองทุน(ส่วนของเจ้าของ)ของธนาคารยังติดลบกว่า 3,000 ล้านบาท

ในปี 2564 ธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน 229.56 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 119.93 ล้านบาท เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ชะลอตัวลงขณะที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อภาคธุรกิจและกลุ่มสถาบันการเงิน ทำให้รายได้ในภาพรวมของธนาคารลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน รายได้จากการให้สินเชื่อและรายได้จากการปรับโครงสร้างหนี้ลดลง เนื่องจากลูกหนี้เข้ามาตรการพักชำระหนี้และมีการปรับเงื่อนไขการชำระที่ลดลงรวม ถึงผลกระทบจากการหยุดรับรู้รายได้ของรัฐวิสาหกิจรายใหญ่และรายการขาดทุนจากการขายเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจรายเดียวกันที่อยู่ระหว่างการยื่นแผนฟื้นฟูกิจการ

ดร.ทวีลาภ เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้เข้ามารับตำแหน่งกรรมการและผู้จัดการไอแบงก์ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ก็ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการธนาคารให้ทบทวนแผนยุทธศาสตร์ธนาคาร ซึ่งประกอบด้วยทิศทางการดำเนินงานในระยะยาว 5 ปี และระยะสั้นหรือเร่งด่วนของปี 2566 จึงได้นำเสนอแผนดังกล่าวต่อคณะกรรมการธนาคารและหน่วยงานกำกับดูแล โดยปรับวิสัยทัศน์ของธนาคารใหม่ “เป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตามหลักชะรีอะฮ์เพื่อความยั่งยืน” เพื่อยกระดับการบริการทางการเงินของธนาคารให้เท่าเทียมสถาบันการอื่น ยึดมั่นในหลักธรรมอิสลามหรือหลักชะรีอะฮ์ ซึ่งเป็นประโยชน์กับทุกศาสนิก ตลอดจนดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และอยู่ภายใต้หลักธรรมาภิบาลที่ดี

ในช่วงวันที่ 24-25 เมษายน คณะกรรมการธนาคารนำโดยนายภูมิศักดิ์ อรัญญาเกษมสุข ประธานกรรมการได้มีการชี้แจงแนวทางการดำเนินงานภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ให้แก่ผู้บริหารสาขาทั่วประเทศให้รับทราบโดยทั่วกัน

โดยแผนยุทธศาสตร์ด้านพันธกิจมุ่งเน้นกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ภายใต้แนวคิด ESG คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและสังคม ตอบโจทย์ความยั่งยืน สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหลักซึ่งเป็นพี่น้องมุสลิมและลูกค้าทั่วไป อาทิเช่น สินเชื่อบ้านมีหนี้ลด เป็นการช่วยเหลือลูกค้าลดภาระการผ่อนชำระหนี้ด้วยการรวมหนี้ต่างๆไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิตหรือหนี้บุคคลเข้ากับหนี้ที่อยู่อาศัย ทำให้ลูกค้าสามารถผ่อนชำระในอัตราย่อมเยาและระยะเวลายาวนานขึ้น เสมือนมีรายได้คืนมาบางส่วน โครงการชุมชนซื่อสัตย์ เป็นสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือพี่น้องมุสลิมระดับฐานรากให้หลุดพ้นหนี้นอกระบบกลับมาอยู่ในระบบสถาบันการเงิน นอกจากนี้ยังมี สินเชื่อธุรกิจฮาลาลครบวงจร จะสนับสนุนผู้ประกอบการที่สนใจในตลาดธุรกิจฮาลาลแต่ยังขาดแหล่งทุน ขาดความรู้ความเข้าใจ เพื่อส่งเสริมต่อยอดให้เป็นผู้ประกอบการฮาลาลเต็มรูปแบบได้ สำหรับผู้ประกอบที่มีธุรกิจฮาลาลอยู่แล้ว ไอแบงก์จับมือกับพันธมิตรหลายภาคส่วน ในการเพิ่มศักยภาพยกระดับสินค้าของผู้ประกอบการให้สามารถส่งออกไปนานาประเทศได้ ตลอดจนช่วยพัฒนาเป็นสินค้าฮาลาลเพื่อสังคมและยั่งยืน

ด้านการสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่มีแนวทางการพัฒนาภาคใต้ผ่านการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ธนาคารยังคงดำเนินการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนใต้ให้มีแหล่งทุนในการประกอบอาชีพ นอกเหนือจากการพึ่งพิงการเกษตรและประมงซึ่งเป็นอาชีพที่มีความผันผวนสูงและสร้างรายได้ครัวเรือนต่ำ โดยมีแผนยุทธศาสตร์ภาคใต้ที่มุ่งเน้นการสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนซึ่งอาศัยเครือข่ายที่มีอยู่ในพื้นที่โดยเฉพาะมัสยิด รวมทั้งสหกรณ์อิสลามเป็นกลไกในการขับเคลื่อน เพื่อลดปัญหาความยากจนในพื้นที่พันธกิจของธนาคารอย่างยั่งยืนต่อไป

ปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าในภาคใต้จำนวน 400,000 ราย

สำหรับยุทธศาสตร์ด้านธุรกิจ ธนาคารเดินหน้าขยายสินเชื่อ SMEs ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของธนาคาร ตลอดจนการทำ Synergy กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ส่วนสินเชื่อ Corporate ซึ่งเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวแล้ว ธนาคารก็ยังคงให้การสนับสนุนทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ สำหรับสินเชื่อรายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารมุ่งเน้นและเติบโตได้ดีอยู่แล้ว จะประสานความร่วมมือกับบริษัทลูก หรือ บมจ.อะมานะห์ ลิสซิ่ง ในการแนะนำธุรกิจระหว่างกันเพื่อเป็นการ สร้างคุณค่าให้แก่ลูกค้า

ดร.ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการและผู้จัดการ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์)

นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าลดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPF) ด้วยการแก้ไขหนี้อย่างเบ็ดเสร็จ จากปัจจุบัน 13,000 ล้านบาท หรือประมาณ 20% ของยอดสินเชื่อคงค้าง โดยตั้งเป้าลดหนี้เสียลงประมาณ 5,000 ล้านบาท เหลือ 8,000 ล้านบาท ด้วยการแก้ไขหนี้กลุ่มลูกค้ารายใหญ่ 3-4 ราย ที่มีมูลหนี้จำนวนมาก หรือราว 50% ของหนี้เสีย ซึ่งเป็นหนี้ที่ตกค้างมาตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด

หนี้เสียของธนาคารอิสลามได้ปรับลดลงจากที่เคยสูงราว 40-50% ของสินเชื่อคงค้าง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตัดขายหนี้เสียออกไปให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์จำนวนหนึ่ง แต่ในช่วงที่การระบาดของโควิด ลูกค้าประสบปัญหาธุรกิจ ทำให้กลับมาเป็นหนี้เสียจำนวนหนึ่ง ทำให้หนี้เสียใน 2-3 ปีที่ผ่านมาทรงตัว

สำหรับการแก้ไขหนี้เสีย ดร.ทวีลาภกล่าวว่า ในกลุ่มลูกหนี้รายใหญ่จะผ่านกระบวนการฟื้นฟูกิจการตามกฏหมาย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจมีสัญญานดีขึ้นก็คาดว่าน่าจะแก้ไขได้ดีขึ้นจากช่วงโควิดที่เศรษฐซบเซา ส่วนกลุ่ม SME จะแก้ไขด้วยการใช้มาตรการภาครัฐเดิมที่มีอยู่ เช่น มาตรการแก้ไขหนี้จากธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนรายย่อยใช้แนวทางการปรับโครงสร้างหนี้

ดร.ทวีลาภกล่าวว่า ในปีนี้สินเชื่อน่าจะขยายตัว 10% จากสินเชื่อคงค้างหรือมีจำนวน 6 พันล้านบาท จากกลุ่มลูกค้ารายใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากได้ประโยชน์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ส่วนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาองค์กร ธนาคารจะใช้ระบบเทคโนโลยีและข้อมูลในการปฏิบัติงาน รวมทั้งจะเพิ่มช่องทางการบริการผ่านโมบายแบงก์กิ้ง โดยเป็นการพัฒนาผ่านความร่วมมือ (Synergy) กับหน่วยงานภาครัฐซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมให้บริการในไตรมาส 3 นี้แน่นอน

สำหรับทิศทางองค์กรในอนาคต ธนาคารตั้งเป้าสร้างกำไรอย่างยั่งยืนและเงินกองทุนเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยจากการศึกษาภาพรวมของตลาดการเงินอิสลามทั่วโลก ในรายงานการพัฒนาของระบบการเงินอิสลามฉบับปี 2565 ของ Refinitiv ผู้ให้บริการข้อมูลอัจฉริยะด้านการเงินและการจัดการความเสี่ยงแถวหน้าของโลก โดยในรายงานพบว่า ณ สิ้นปี 2564 สินทรัพย์ของระบบการเงินอิสลามรวมทั่วโลกมีมากถึง 137 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์แม้ภายหลังประสบปัญหาเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด 19 ที่ร้อยละ 17 และมีจำนวนสถาบันที่ออกผลิตภัณฑ์ทางการเงิน รวมกว่า 1,650 แห่งทั่วโลก โดยสินทรัพย์รวมของระบบการเงินอิสลาม มีสินทรัพย์ที่มาจากภาคธนาคารอิสลามมากที่สุดถึงร้อยละ 70 รองลงมาคือศุกูกหรือพันธบัตรอิสลาม ร้อยละ 18 และกองทุนอิสลามที่ร้อยละ 6 และสำหรับสินทรัพย์จากภาคธนาคารอิสลาม รวมทั่วโลกแล้วมีทั้งสิ้นราว 96 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตของสินทรัพย์ธนาคารอิสลามรวม ร้อยละ 17 หรือเท่ากับการเติบโตในภาพรวมของการเงินอิสลามทั้งระบบ และมีจำนวนธนาคารอิสลาม ณ ปี 2564 รวม 566 แห่งทั่วโลก

จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ระบบการเงินอิสลามในประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตได้อีกมาก โดยเมื่อช่วงต้นปี ก.ล.ต. ก็อยู่ระหว่างปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนรวมอิสลาม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุนมุสลิมว่าการลงทุนในกองทุนรวมที่มีอยู่ในประเทศไทยเป็นไปตามหลักศาสนาอิสลาม สำหรับผลิตภัณฑ์ประกันตะกาฟุลในประเทศไทยก็ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจาก คปภ. ในพัฒนาขอบเขตการให้บริการที่สอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการของตลาด นอกจากนี้การฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศซาอุดิอาระเบียยังเสริมสร้างโอกาสในการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนกับระบบการเงินอิสลามชั้นนำในต่างประเทศ

จากการวางทิศทางและตั้งเป้าหมายที่กล่าวมา เชื่อมั่นว่าด้วยความร่วมมือร่วมใจของทีมงานไอแบงก์ทั้งหมด จะทำให้ในปี 2566 ธนาคารสามารถมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญพร้อมกับการสร้างสรรค์สังคมอย่างยั่งยืน ดร.ทวีลาภ กล่าว