ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > วว. แถลงผลสำเร็จโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

วว. แถลงผลสำเร็จโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม

19 ธันวาคม 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

วว. แถลงผลสำเร็จโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม หนุนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น ยกระดับไทยเป็นประเทศรายได้สูง

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แถลงผลการดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในพื้นที่ 8 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ชุมพร ปทุมธานี พังงา เพชรบูรณ์ สกลนคร สมุทรสงคราม และอุดรธานี โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นภาคประชาชน เกษตรกร วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตร ผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป แบ่งกลุ่มตามเทคโนโลยีการเกษตร ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีและกระบวนการด้านการเกษตร สำหรับเกษตรกร ผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตร และประชาชนผู้สนใจทำเกษตร และกลุ่มผลิตภัณฑ์จากนวัตกรรมเกษตร สำหรับประชาชนและผู้สนใจทั่วไป  กระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนเศรษฐกิจภาคเกษตรระดับชุมชนท้องถิ่น หวังยกระดับไทยเป็นประเทศรายได้สูง

ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ชี้แจงว่า  จากการที่ วว. ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ให้ดำเนิน “โครงการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากระดับจังหวัดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” โดยใช้หลักแนวความคิด นวัตกรรมความคิด พิชิตเศรษฐกิจฐานราก ยกระดับคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ด้วยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามหลักการ ทำน้อยได้มาก พัฒนาตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) ที่เป็นการ เน้นการให้ความรู้แก่ประชาชน ตั้งแต่ต้นทาง ด้านการผลิตผลการเกษตร กลางทาง ด้านการสกัดและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรในระดับอุตสาหกรรมกลางและขนาดย่อมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และปลายทาง ด้านการขนส่ง การตลาด และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์เกษตร โดยมุ่งหนุนอัตลักษณ์ของแต่ละจังหวัด เพื่อยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง มีการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง โดยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้ ตามวัตถุประสงค์ในการสร้างการเกษตรสร้างมูลค่าตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

จากการที่ วว. ได้ลงพื้นที่ทั้ง 8 จังหวัด  ทำงานร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ดำเนินการสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัด สำนักงานเกษตรจังหวัด มหาวิทยาลัย รวมถึงเครือข่ายเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่ หรือศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ร่วมกันนำเทคโนโลยีพร้อมใช้ของ วว. ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากวัตถุดิบท้องถิ่น  เทคโนโลยีการสกัดสารสำคัญ มาตรฐานการผลิตเครื่องสำอางและยา ถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติการ ให้แก่เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการที่อยู่ในท้องถิ่น ให้สามารถสร้างสินค้าซึ่งเป็นนวัตกรรมชุมชน ที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีนวัตกรรม ไปเพิ่มมูลค่า และยกระดับคุณภาพมาตรฐานให้กับสินค้าในท้องถิ่นให้มีความ เป็นเอกลักษณ์ และมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ

ที่ผ่านมา วว. ได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีพร้อมใช้ในด้านการเกษตร ตลอดห่วงโซ่คุณค่า นับตั้งแต่ เทคโนโลยีก่อนเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การแปรรูป  และ การตลาด ในพื้นที่ 8 จังหวัด ดังนี้

จังหวัดจันทบุรี  วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การพัฒนากระบวนการผลิตสมุนไพร การพัฒนากระบวนการผลิตใช้ปุ๋ยอินทรีย์ตามค่าวิเคราะห์ดินและการชีวภัณฑ์ ช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพ

จังหวัดชุมพร   วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม การยืดอายุการเก็บรักษาใบกระท่อม ทำให้ส่งการจัดจำหน่ายทำได้ในพื้นที่ห่างไกลและมีอายุการจำหน่ายยาวนานขึ้น และการลดต้นทุนเพื่อการผลิตทุเรียนอย่างยั่งยืน สามารถลดต้นทุนได้ ถึงร้อยละ 30 และสามารถผลิตสารชีวภัณฑ์จากเชื้อที่มีคุณภาพดี ต้นทุนต่ำและง่ายต่อการนำไปใช้งาน

จังหวัดปทุมธานี  วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรม  การผลิตกล้วยต้นเตี้ยเพื่อการลดการหักล้มจากพายุช่วยลดการสูญเสียจากลม และการให้สารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชยังส่งผลดีต่อการเพิ่มทั้งปริมาณและคุณภาพ เทคโนโลยีการผลิตกล้วยผลโตโดยใช้ฮอร์โมน ทำให้ราคาผลผลิตสูงขึ้น และการพัฒนายกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากสารสกัด นำสารสกัดจากวัตถุดดิบท้องถิ่น ได้แก่ บัวหลวง  ข้าวหอมปทุม กล้วยหอมทอง พัฒนาเป็นเครื่องสำอาง สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าการเกษตร

จังหวัดพังงา วว. ถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตผักเหลียงสด โดยใช้สารชีวภัณฑ์ที่เหมาะสม ต้นทุนต่ำ ประสิทธิภาพสูงในการเพิ่มผลผลิต ทำให้เก็บผลผลิตได้มากกว่าเดิมถึง 2 เท่า และการยืดอายุการเก็บใบเหลียงสด สามารถเก็บได้นานขึ้น จากเดิม 5-7 วัน เป็น 10-15 วัน ทำให้เพิ่มระยะเวลาการจำหน่ายได้มากขึ้น

จังหวัดเพชรบูรณ์  วว.  ถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการสร้างนวัตกรรมการพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสมุนไพรและพืชท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มขิง เป็นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อินทรีย์เคมีที่มาจากวัสดุในท้องถิ่นเชิงปริมาณและระยะเวลา ที่เหมาะสม ช่วยลดต้นทุน  เพิ่มผลผลิตเชิงปริมาณและคุณภาพ อีกทั้งทำให้เกิดกระบวนการผลิตขิงที่ได้มาตรฐาน การพัฒนากระบวนการผลิตและแปรรูปสมุนไพรและพืชท้องถิ่น เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกระบวนการสกัดน้ำมันอะโวคาโด  เป็นกระบวนการสกัดและฟอกสีที่ได้มาตรฐาน

จังหวัดสกลนคร  วว.  ถ่ายทอดเทคโนโลยีองค์ความรู้การใช้ชีวภัณฑ์ในระบบเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ ช่วยควบคุมคุณภาพของจุลินทรีย์ที่ผลิต ลดการปนเปื้อน ลดระยะเวลาการเลี้ยง ขยายเชื้อจุลินทรีย์และใช้งานง่าย และน้ำใบย่านางอเนกประสงค์ผง โดยใช้เทคโนโลยี freeze dry เพื่อลดการสูญเสียคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการ

จังหวัดสมุทรสงคราม วว.  ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตคุณภาพลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ด้วยสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืชบังคับการออกดอกของลิ้นจี่  สามารถทำให้ลิ้นจี่ออกดอกได้เร็วขึ้น ลดการหลุดร่วงของดอก ทำให้ขนาดผลผลิตโตขึ้น และคุณภาพดีขึ้น    เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวด้วยการรมด้วยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และ ชีวภัณฑ์ เพื่อป้องกันโรคและแมลงศัตรูลิ้นจี่ในพื้นที่ และยังสามารถใช้สำหรับเพิ่มผลผลิตส้มโอในพื้นที่ได้อีกด้วย

จังหวัดอุดรธานี  วว.  ถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม การผลิตมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนอกฤดูกาล โดยการใช้สารควบคุมการออกดอกและติดผลนอกฤดู ส่งผลดีทั้งระยะสั้น คือทำให้ได้ผลผลิตนอกฤดูกาล และส่งผลระยะยาว คือ เกษตรกรสามารถขยายผลให้สมาชิกกลุ่ม ทำให้เกิดการลงทุนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น

“ตลอดระยะเวลาดำเนินการโครงการฯ วว.สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ได้มากกว่า 5,500 คน เกิดสร้างนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์กว่า 30 .นวัตกรรม ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม มากกว่า 48 ล้านบาท  นับเป็นนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ ใช้กับภาคการเกษตรในพื้นที่  กระตุ้นการบริโภคของประชาชนภายในประเทศจากสินค้าเกษตรคุณภาพดีและผลิตภัณฑ์ที่มีนวัตกรรมจากวัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศที่เข้มแข็งและยั่งยืน สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาสินค้านวัตกรรมจากฐานรากด้วยกลไก

ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เชื่อมโยงการทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และสามารถสนับสนุนการพัฒนาหรือแก้ปัญหาพื้นที่อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างขีดความสามารถของชุมชนในการนำนวัตกรรมไปใช้เปลี่ยนแปลงและจัดการปัญหาชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน”  ศาสตราจารย์ (วิจัย) ดร.ชุติมา กล่าวสรุป