ThaiPublica > Sustainability > Sustainable Business > ธอส. แบงก์รัฐแห่งแรก ออกพันธบัตร Sustainability Bond

ธอส. แบงก์รัฐแห่งแรก ออกพันธบัตร Sustainability Bond

11 ธันวาคม 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เป็นแบงก์รัฐในสังกัดกระทรวงการคลัง ภายใต้พันธกิจ ” ทำให้คนไทยมีบ้าน” ประกาศความสำเร็จจากการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรด้านความยั่งยืน (ESG Bond) ครั้งแรกของธนาคาร และเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งแรกที่ออกตราสารประเภทนี้ โดยได้รับความช่วยเหลือด้านเทคนิคจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) ในการพัฒนากรอบการระดมทุนด้านความยั่งยืนของธนาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และได้ให้การสนับสนุนการดำเนินโครงการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนโครงการแรกของธนาคาร

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ครั้งแรกของธนาคาร ประสบความสำเร็จ โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักลงทุน โดยมียอดจองเกินเป้าไปกว่า 1.7 เท่า เสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบัน (Institutional Investors ) มูลค่าเสนอขายรวม 8,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ธนาคารตั้งเป้าหมายในการเสนอขายพันธบัตรที่ 5,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมากสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อธนาคาร อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของนักลงทุน โดยความสำเร็จในการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ของ ธอส. ในครั้งนี้เป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนด้านความยั่งยืนของประเทศ ควบคู่ไปกับการสานต่อพันธกิจทำให้คนไทยมีบ้านของธนาคาร และส่งเสริมการขับเคลื่อนสู่การเป็น Sustainable Bank ที่มีเป้าหมายดูแลโลกและพัฒนาสังคมที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ ธนาคารจะนำเงินที่ได้ไปใช้สำหรับ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคม ช่วยเหลือให้ผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
โดยสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน

สำหรับพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) ที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ถือเป็นส่วนผสมของทั้งพันธบัตรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Bond) ที่เป็นการระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ร่วมกับพันธบัตรเพื่อสังคม (Social Bond) ที่เป็นการระดมทุนเพื่อพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และยังเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินงานตามหลักการด้านพัฒนาความยั่งยืนของธนาคาร (Sustainable Bank) และสอดคล้องกับการดำเนินการตามแนวทางการประเมินผลการดำเนินงานรัฐวิสาหกิจ (State Enterprise Assessment Model : SE-AM) ด้านการกำกับดูแลที่ดีและการนำองค์กร (Corporate Governance & Leadership : CG & Leadership)

ทั้งนี้ ธอส. ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือองค์กรจาก บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ “AAA” แนวโน้ม “Stable” เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 แสดงให้เห็นถึงสถานะทางการเงินและธุรกิจที่แข็งแกร่งของธนาคาร โดยในครั้งนี้ธนาคารเสนอขายพันธบัตรทั้งหมด 2 รุ่น ประกอบด้วย พันธบัตรรุ่นที่ 1 อายุ 3 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 2.39% ต่อปี มูลค่า 3,500 ล้านบาท พันธบัตรรุ่นที่ 2 อายุ 12 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.87% ต่อปี มูลค่า 5,000 ล้านบาท และกำหนดจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน โดยมีธนาคารออมสินทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย และธนาคารทีเอ็มบีธนชาตเป็นนายทะเบียนพันธบัตร สามารถดูรายละเอียดของพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนได้ที่ Website ของธนาคารอาคารสงเคราะห์ www.ghbank.co.th

การออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนครั้งแรกของธนาคารอาคารสงเคราะห์ ได้รับการสนับสนุนของธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ เอดีบี ซึ่งเป็นไปตามแนวทางพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสมาคมตลาดทุนระหว่างประเทศและภายใต้มาตรฐานการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน (Association of Southeast Asian Nations (ASEAN) Sustainability Bond standards)

“การระดมทุนดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเอดีบีมุ่งมั่นที่จะช่วยประเทศไทยในการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนให้ประเทศมีการฟื้นตัวสีเขียวและคลอบคลุมทุกภาคส่วนในระยะยาวจาก COVID-19” นายอานุช เมธา ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนเอดีบีประจำประเทศไทย กล่าว “สถาบันการเงินเช่นธนาคารอาคารสงเคราะห์ สามารถมีบทบาทในการระดมเงินทุนภาครัฐและภาคเอกชนในวงกว้างเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”

เอดีบีให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในการระดมทุนครั้งนี้ โดยช่วยสนับสนุนการคัดเลือกโครงการ การพัฒนากรอบการออกพันธบัตร การจัดทำ external review และการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถผ่านความร่วมมือระหว่างความริเริ่มด้านตลาดตราสารหนี้ของภูมิภาคอาเซียน (Asian Bond Markets Initiative – ABMI) และ Green, Social, Sustainable and Other Labeled (GSS+) Bonds in Southeast Asia Initiative ภายใต้กองทุนการเงินสีเขียวของอาเซียน (ASEAN Catalytic Green Finance Facility – ACGF) ABMI เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลต่างๆ ในประเทศอาเซียน รวมถึง จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี เพื่อช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้สกุลเงินท้องถิ่นที่ยั่งยืน ส่วน ACGF นั้น เป็นความคิดริเริ่มของกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน (ASEAN Infrastructure Fund) เพื่อเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เอดีบีมุ่งมั่นในการพัฒนาภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้เจริญรุ่งเรือง มีการพัฒนาอย่างทั่วถึง พร้อมรับความเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน ในขณะเดียวกัน ยังคงพยายามในการขจัดปัญหาความยากจนต่อไป เอดีบีก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2509 โดยมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 68 ประเทศ โดย 49 ประเทศ มาจากประเทศในภูมิภาค