ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > “กอบศักดิ์” บอกข่าวดีอาเซียนจะเป็นสวรรค์นักลงทุน หลบวิกฤติศก.ถดถอย- “ณัฐพงศ์” จี้แก้เหลื่อมล้ำช่วย SMEs

“กอบศักดิ์” บอกข่าวดีอาเซียนจะเป็นสวรรค์นักลงทุน หลบวิกฤติศก.ถดถอย- “ณัฐพงศ์” จี้แก้เหลื่อมล้ำช่วย SMEs

9 กันยายน 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาตลาดทุนไทย

ม.มหานครจัดสัมมนา “ไทยแลนด์ 66 พลิกโฉมสู่ความยั่งยืน” ‘กอบศักดิ์’ เตือนวิกฤติพายุถล่มเศรษฐกิจ ปีหน้ารับมือดอกเบี้ยแพง แต่ข่าวดีคือ อาเซียนจะเป็นสวรรค์ของนักลงทุน “ณัฐพงศ์” ชี้โควิดยิ่งสร้างปัญหาเหลื่อมล้ำ ทำ SMEs ไปต่อไม่ไหว ครึ่งปีแรกล้มตายอีกกว่า 6 พันราย

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร (MUT)ได้จัดงานสัมมนาเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 หัวข้อ “ไทยแลนด์ 66 : พลิกโฉมสู่ความยั่งยืน
โดยมีดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และประธานสภาตลาดทุนไทย กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2566 : วิกฤติและโอกาส สู่ความยั่งยืน ว่าหากมองจากพัฒนาการของวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ มีความรุนแรงถึงขั้น Perfect Storm คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีถึงจะเริ่มสงบและเริ่มฟื้นตัว แบ่งออกเป็น 4 ช่วง

ช่วงแรก ปี 2565 ถือเป็นช่วงวิกฤติเริ่มทวีความรุนแรง เงินเฟ้อถีบตัวสูงขึ้น ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะราคาพลังงานปรับสูงขึ้นหลายเท่าตัวสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อ ตลาดเงินตลาดทุนปรับลดลง และนักลงทุนเริ่มหาทางหนีจากปัญหา

ช่วงที่ 2 ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งจะใช้เวลาปี 2566-2567 ซึ่งภาวะดอกเบี้ยแพงจะกินเวลานานระยะหนึ่ง ถึงจะสามารถจัดการให้เงินเฟ้อปรับลดลงเข้าสู่ปกติ

หลังจากนั้น จะเข้าสู่ช่วงที่ 3 ซึ่งจะเริ่มขึ้นในปี 2567 เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย อัตราเงินเฟ้อลดมาสู่ระดับ 2% ซึ่งสถานการณ์เริ่มกลับด้าน เฟดจะหันมาใช้นโยบายกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยการปรับลดดอกเบี้ย เพื่อผลักดันเศรษฐกิจให้พ้นจากภาวะถดถอย และเข้าสู่ช่วงที่ 4 ที่เป็นช่วงกระตุ้นเศรษฐกิจ ในปี 2568

“มองจากพัฒนาของวิกฤติ ดูจากการสุกงอมของปัญหา กลไกการเปลี่ยนแปลงของตลาดที่เกิดขึ้น เชื่อว่า ปี 2566 เศรษฐกิจประเทศไทยจะอยู่ในช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น เงินเฟ้อจะยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) แน่ ๆ ขณะเดียวกัน ก็อาจจะเริ่มต้นของปัญหาใหม่ คือ EM Crises หรือวิกฤติของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Market Crisis) ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศศรีลังกา ซึ่งเมื่อดูแล้ว เป็นเรื่องยากที่เงินเฟ้อจะปรับลดลงได้ตามเป้าหมาย หรืออาจต้องใช้เวลานานถึงปลายปี 2567 จึงจะคุมเงินเฟ้อได้ และดอกเบี้ยสามารถปรับลดลงได้”

นายกอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามยังมีข่าวดีในข่าวร้าย นั่นคือ ประเทศไทยจะได้อานิสงส์จากช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ เนื่องจากภายใต้สภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้น เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศแทบจะทั่วโลกอยู่ในภาวะย่ำแย่ อัตราการเติบโตติดลบ แม้กระทั่งจีน แต่ปรากฎว่า เศรษฐกิจในอาเซียนกลับสามารถปรับตัว และสร้างอัตราเติบโตได้ดี ตัวอย่างเช่น ช่วงไตรมาส 2 ปี 2565 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจมาเลเซียสามารถเติบโตได้ถึง 8.9% เวียดนาม 7.7% ฟิลิปปินส์ 7.4% อินโดนีเซีย 5.4% สิงคโปร์ 4.8% ขณะที่ไทยก็มีอัตราเติบโตที่ 2.5%

“ดังนั้น คาดหมายว่า ประเทศในแถบอาเซียนจะเป็นที่นิยมของนักลงทุน เป็นแหล่งหลบภัย (Safe Haven) การลงทุนจากต่างประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นอย่างคึกคัก” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดและที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร

ด้านนายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ที่ปรึกษากรรมาธิการการป้องกันปราบปรามการฟอกเงินและยาเสพติดและที่ปรึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร บรรยายในหัวข้อ “การขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ พันธนาการของ SMEs” ว่า ความเหลื่อมล้ำกับ SMEs มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ยิ่งความเหลื่อมล้ำมากก็จะเกิดปัญหา เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของ SMEs มาก

ในปี 2566 ปัญหาที่ SMEs ต้องเผชิญ โดยจากข้อมูลตัวเลขช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 SMEs กว่า 6,006 ราย ที่ต้องเลิกกิจการไป ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 22% อันเป็นผลมาจากภาระต้นทุนทางการเงิน และต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันได้ สภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตของ SMEs

“โดยปกติเอสเอ็มอีมีความเสียเปรียบรายใหญ่อยู่แล้ว ยิ่งช่วงโควิด ความเหลื่อมล้ำยิ่งมีมากขึ้น รายใหญ่ยิ่งกดทับเอสเอ็มอีรุนแรงขึ้นอีก ดังนั้น หากภาครัฐไม่ช่วยแก้ปัญหา ระดมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกันในการหามาตรการลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการหาทางรวมกลุ่มเอสเอ็มอีเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรอง ออกกฎระเบียบที่ช่วยสนับสนุนกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม และหาวิธีให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนได้ในราคาที่เป็นธรรม อัตราดอกเบี้ยที่ไม่สูง” นายณัฐพงศ์กล่าว