แผนกู้ซาก ขสมก.ตอนที่ 1 : 46 ปี ยิ่งแก้ ยิ่งขาดทุน เผยรถเมล์ 3,005 คัน เป็นรถเก่าเกิน 20 ปี 2,075 คัน-รถ 1 คัน เลี้ยง พนง. 4.65 คน
46 ปี หลังจากที่รัฐบาลหม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ” หรือ “ขสมก.” เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2519 โดยใช้เงินงบประมาณของ ขสมก. 370 ล้านบาท ไปซื้อรถโดยสารจากผู้ประกอบการรายเดิม 2,703 คัน มาใช้ในการประกอบกิจการเดินรถ แต่ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาล 329.20 ล้านบาท ทำให้ ขสมก.ขาดทุนตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และเนื่องจาก ขสมก.มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งมีภารกิจให้บริการรถโดยสารประจำทางแก่ผู้ที่มีรายได้น้อยถึงรายได้ปานกลางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยไม่หวังผลกำไร เพราะถือเป็นกิจการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่ภาครัฐต้องจัดเตรียมไว้ให้บริการประชาชน การกำหนดอัตราค่าโดยสารจึงต้องตั้งราคาไว้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง เป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุนเรื่อยมา นอกจากนี้ยังมีผู้ประกอบการรถร่วมบริการติดค้างชำระเงินค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก จนทำให้ ขสมก.ขาดสภาพคล่อง ต้องไปกู้เงินเพื่อนำมาใช้ในการบริหารกิจการ กลายเป็นหนี้สะสมเพิ่มขึ้นทุกปี แม้รัฐบาลจะจัดสรรงบฯอุดหนุนมาให้ ขสมก. แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปชดเชยผลขาดทุนที่เกิดขึ้น
รถเมล์ 3,005 คัน เป็นรถเก่าเกิน 20 ปี 2,075 คัน
จากการที่ ขสมก.ประสบปัญหาขาดทุนและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดปัญหาตามมาอีกนานับประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหารถโดยสารใหม่ ที่ผ่านมา ขสมก.ไม่สามารถจัดหารถใหม่มาทดแทนรถเก่าที่ปลดประจำการได้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนตามที่กล่าวข้างต้น ทำให้ ขสมก.มีจำนวนรถไม่เพียงพอต่อการให้บริการประชาชนได้อย่างทั่วถึง
ปัจจุบัน ขสมก.มีรถโดยสารประจำการ วิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารทั้งหมด 3,005 คัน ในจำนวนนี้เป็นรถเก่าที่มีอายุการใช้งานเกิน 20 ปี จำนวน 2,075 คัน คิดเป็นสัดส่วน 69% ของจำนวนรถประจำการทั้งหมด ซึ่งรถโดยสารส่วนใหญ่มีสภาพเก่า ชำรุด ทรุดโทรม จึงมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษารถในอัตราที่สูงตามมาอีก
ยกตัวอย่าง รถโดยสารธรรมดา มีค่าซ่อมบำรุงรักษาเฉลี่ยอยู่ที่คันละ 1,401 บาทต่อวัน , รถปรับอากาศสีครีม-น้ำเงินมีค่าซ่อมบำรุงเฉลี่ยคันละ 2,046 บาทต่อวัน , รถปรับอากาศยูโรทูที่ปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซ NGV มีค่าซ่อมเฉลี่ยคันละ 1,720 บาทต่อวัน และรถปรับอากาศ NGV จำนวน 489 คัน ภายใน 5 ปีแรก จะมีค่าซ่อมบำรุงอยู่ที่คันละ 925 บาทต่อวัน แต่หลังจาก 5 ปีไปแล้ว ค่าซ่อมบำรุงจะเพิ่มขึ้นเป็นคันละ 1,730 บาทต่อวัน นอกจากปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาแล้ว รถเก่าที่ใช้งานมานานยังมีอัตราการสิ้นเปลืองสูง ประกอบกับราคาพลังงานที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รายจ่ายในส่วนหนี้จึงปรากฎอยู่ในรายการหนี้สะสมของ ขสมก.และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการฟื้นฟูกิจการของ ขสมก.
รถ 1 คัน เลี้ยง พนง. 4.65 คน
ขสมก. เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีพนักงานทั้งหมด 13,961 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563)แบ่งเป็น พนักงานขับรถ 5,781 คน , พนักงานเก็บค่าโดยสาร หรือ “กระเป๋ารถเมล์” 5,917 คน และพนังงานประจำสำนักงาน 2,263 คน (รวม Outsource 28 คน) หากเปรียบเทียบกับรถโดยสารประจำการทั้งหมด 3,005 คัน จะพบว่ารถโดยสารประจำการ 1 คัน ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายของพนักงาน 4.65 คน ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานทั่วไป ทำให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของ ขสมก.เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะเงินเดือนของพนักงานที่มีการปรับเพิ่มขึ้นทุกปี เฉลี่ยปีละ 6.5%
จากการประมาณการค่าใชจ่ายด้านบุคลากรของ ขสมก. ณ 30 กันยายน 2562 คาดว่าในปี 2565 พนักงานขับรถของ ขสมก.จะมีอัตราเงินเดือนเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 26,673 บาท , พนักงานเก็บค่าโดยสารเงินเดือนเฉลี่ยอยู่ที่ 23,794 บาท และพนักงานสนับสนุนประจำสำนักงานเงินเดือนเฉลี่ย 43,611 บาท
เมื่อนำไปรวมกับผลประโยชน์อื่นๆที่พนักงานได้รับแล้ว ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะมีสัดส่วนสูงถึง 42.57% ของค่าใช้จ่ายโดยรวมทั้งหมด
สำหรับค่าใช้จ่ายหลักๆของ ขสมก.จะประกอบไปด้วย
-
1) ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเฉลี่ยปีละ 5,300 ล้านบาท
2) ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท
3) ค่าเชื้อเพลิงเฉลี่ยปีละ 1,956 ล้านบาท
4) ค่าซ่อมบำรุงรักษารถเฉลี่ยปีละ 1,520 ล้านบาท
จากสภาพปัญหาของ ขสมก.ตามที่กล่าวมาในข้างต้น ขสมก.จึงมีหนี้สินสะสมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และก่อนที่ ขสมก.จะเสนอแผนฟื้นฟูกิจการให้ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2561 ขสมก.มีหนี้สินคงค้างอยู่ประมาณ 118,183 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 59,841 ล้านบาท , หนี้ค่าซ่อมบำรุงรถ 39,341 ล้านบาท , หนี้ตามภาระผูกพัน 8,447 ล้านบาท , หนี้จากการซื้อรถโดยสาร 1,627 คัน รวมเป็นเงิน 7,131 ล้านบาท และหนี้จากการกู้เงินมาเสริมสภาพคล่องอีก 3,423 ล้านบาท เป็นต้น
มติ ครม.เห็นชอบแผนฟื้นฟู ขสมก.-จัดซื้อรถเมล์ 3,000 คัน
ต่อมา ในสมัยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงทำเรื่องเสนอ ครม. ขอทบทวนมติ ครม.เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2556 ที่เคยมีมติเห็นชอบแผนจัดซื้อรถโดยสารที่ใช้ก๊าซ NGV เพื่อทดแทนรถโดยสารที่ใช้น้ำมันดีเซลจำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท พร้อมกับนำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. ส่งให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการตามแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก. หลัก ๆ ประกอบไปด้วย
1. แผนการจัดซื้อรถโดยสารปรับอากาศใหม่จำนวน 3,000 คัน ประกอบไปด้วย รถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิง NGV จำนวน 489 คัน (ดำเนินการตรวจรับรถไปแล้วก่อนหน้านี้) , จัดซื้อรถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 35 คัน ,จัดซื้อรถโดยสารไฮบริด จำนวน 1,453 คัน , เช่ารถโดยสารไฮบริด จำนวน 400 คัน , เช่ารถโดยสาร NGV จำนวน 300 คัน , และปรับปรุงสภาพรถโดยสาร NGV เดิม 323 คัน (ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างไปเรียบร้อยแล้ว)
2.ให้ ขสมก.ติดตั้งระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์บนรถโดยสาร หรือ “E-Ticket” และติดตั้งตรวจสอบและติดตามการเดินรถทั้ง GPS , WIFI , กล้องวงจรปิด และพัฒนาระบบแอปพลิเคชั่น
3. ปรับปรุงเส้นทางการเดินรถใหม่
4. ปรับโครงสร้างองค์กรให้มีขนาดกระชับลง (LEAN) โดยเปิดโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด (Early Retirement) ด้วยความสมัครใจ คาดว่าจะมีพนักงานเข้าร่วมโครงการ 5,051 คน ใช้เงินงบประมาณ 6,004 ล้านบาท
5. พัฒนาพื้นที่อู่บางเขน และอู่มีนบุรีในเชิงพาณิชย์ โดยให้เอกชนเข้ามาใช้ประโยชน์ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อเพิ่มรายได้ให้ ขสมก.
6. บริหารจัดการหนี้สินของ ขสมก. เป็นต้น
นอกจากที่ประชุม ครม.จะมีมติเห็นชอบหลักการของแผนฟื้นฟูฯดังกล่าวแล้ว ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และขสมก.เร่งจัดทำรายละเอียดในการดำเนินงานต่าง ๆให้ถูกต้อง ตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม.ที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด พร้อมกับให้นำความเห็นของกระทรวงการคลัง สำนักงานประมาณ และสภาพัฒน์ฯไปพิจารณาดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ชง ครม.เปลี่ยนจาก “ซื้อ” เป็น “เช่า-จ้างเหมาเอกชนเดินรถ”
พอจะเริ่มลงมือปฏิบัติตามแผนฟื้นฟู ฯ ก็เกิดการแปลงเปลี่ยนรัฐบาล นโยบายก็เปลี่ยน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองทางอากาศ หรือ PM 2.5 ทาง ขสมก.จึงปรับปรุงแผนฟื้นฟูกิจการฯให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จนนำไปสู่การปรับเปลี่ยนสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฯ ที่ ครม.เคยมีมติเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 โดยเฉพาะเรื่องการจัดหารถโดยสารใหม่ เปลี่ยนจาก “ซื้อ” มาเป็น “เช่า” แทน
กล่าวคือให้ ขสมก. เช่ารถโดยสารไฟฟ้า (EV) จำนวน 2,511 คัน และให้จ้างเอกชนเข้ามาให้บริการเดินรถโดยสารไฟฟ้า หรือ รถโดยสาร NGV อีก 1,500 คัน และขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณปี 2565 วงเงิน 4,560 ล้านบาท มาใช้ในโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด ซึ่งคาดว่าจะมีพนักงาน ขสมก.เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 5,301 คน รวมทั้งขอให้รัฐบาลรับภาระหนี้ของ ขสมก.ประมาณ 127,786 ล้านบาท หรือ ตามภาระหนี้ที่เกิดขึ้นจริงไปจนกว่า ขสมก.จะมีรายได้เพียงพอกับรายจ่าย หรือ “EBITDA ไม่ติดลบ” โดยให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบฯมาให้ ขสมก.เป็นค่าดอกเบี้ยเงินกู้ และขอรับเงินอุดหนุนการให้บริการสาธารณะ (PSO) จากรัฐบาท รวม 7 ปี เป็นเงิน 9,674 ล้านบาท
นายกฯตีกลับแผนเช่ารถเมล์ไฟฟ้า -จ้างเหมาเดินรถ
การปรับแปลงสาระสำคัญของแผนฟื้นฟูฯที่เคยผ่านความเห็นชอบจาก ครม. ทำให้นายศักดิ์สยาม ต้องทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2563 พร้อมแนวแผนฟื้นฟูกิจการฯฉบับปรับปรุงใหม่ ส่งให้ที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อบรรจุเข้าสู่วาระที่ประชุม ครม.ให้พิจารณาเห็นชอบแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯและจังหวัดที่มีเส้นทางต่อเนื่อง รวมทั้งขอทบทวนแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก.ที่เคยผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2562 ก่อนที่จะนำไปปฏิบัติ
ปรากฏว่า สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีทำหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 22 ธันวาคม 2563 แจ้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมว่า
“นายกรัฐมนตรีพิจารณาเรื่องแล้ว มีคำสั่งให้ส่งเรื่องนี้คืนกระทรวงคมนาคม โดยให้กลับไปพิจารณาทบทวนแนวทางการปฏิรูประบบรถโดยสารประจำทางและแผนฟื้นฟูกิจการฯใหม่..”
หลังจากแผนฟื้นฟูกิจการของ ขสมก.ฉบับใหม่ ถูกตีกลับ 2 ปีที่ผ่านมา แผนฟื้นฟูฯฉบับใหม่ ก็ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ขสมก.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด แผนเก่าก็ไม่เอา แผนใหม่ก็เดินหน้าไม่ได้อย่างเต็มที่ แต่หนี้สินและดอกเบี้ยเดินทุกวัน ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ขสมก.หนี้สินคงค้างประมาณ 129,507 ล้านบาท คาดว่าสิ้นเดือนกันยายน 2565 หนี้สินของ ขสมก.จะมีจะเพิ่มขึ้นเป็น 132,412 ล้านบาท
แผนกู้ซาก ขสมก.ตอนที่ 2