ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > สกพอ. ร่วมมือ ม.แม่ฟ้าหลวง ยกระดับการผลิตบุคลากรใน อีอีซี

สกพอ. ร่วมมือ ม.แม่ฟ้าหลวง ยกระดับการผลิตบุคลากรใน อีอีซี

22 กุมภาพันธ์ 2022


ข่าวประชาสัมพันธ์

สกพอ. จับมือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยกระดับการศึกษาและการผลิตบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี

สกพอ. จับมือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ยกระดับการศึกษาและการผลิตบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี นำร่องพัฒนาครูรุ่นใหม่ด้านภาษาต่างประเทศ เพื่อสร้างบุคลากรรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ที่คาดว่าจะมีความต้องการกว่า 4.7 แสนคน

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) เปิดเผยภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษาระหว่าง สกพอ. และ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่า โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในการยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง โดยมี 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย หรือ S Curve ที่เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนประเทศไทย

ทั้งนี้ การที่จะไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ และมีทักษะชั้นสูง เข้ามารองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้ เพราะถ้าหากขาดคนที่มีความสามารถเข้ามาขับเคลื่อน ก็เป็นเรื่องยากที่จะดึงดูดอุตสาหกรรมเหล่านี้เข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศ ดังนั้น สกพอ. จึงได้ศึกษาและวิจัยความต้องการของ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี พบว่า ประมาณการความต้องการบุคลากรในพื้นที่ อีอีซี ในระยะเวลา 5 ปี คือ 2562 – 2566 มีความต้องการบุคลากรที่มีทักษะจำนวนถึง 475,668 อัตรา ซึ่งเป็นความต้องการในสายอาชีพ 53% และสายสามัญอีก 47% ซึ่ง สกพอ. ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร และดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด

นอกจากนี้ เพื่อให้การผลิตบุคลากรให้มีปริมาณ และคุณภาพ ตามความต้องการของภาคธุรกิจในพื้นที่ อีอีซี สกพอ. จึงได้นำแนวคิด อีอีซี โมเดล มาเป็นแกนหลักในการผลิตบุคลากร โดยได้ประสานและดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป้าหมายในการผลิตและพัฒนาทักษะบุคลากรให้ตรงตามความต้องการ และปรับเข้าสู่ Demand Driven ซึ่งการพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง อีอีซี โมเดล นี้ นอกจากจะทำให้ธุรกิจก้าวกระโดดจากอุตสาหกรรม 2.5 เป็นอุตสาหกรรม 4.0 แล้ว ยังมีส่วนสนับสนุนให้ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายในการฝึกทักษะบุคลากรลงเฉลี่ยได้ถึง 38% เนื่องจากแรงงานที่จบการศึกษาออกมาแล้วสามารถทำงานได้จริง

สำหรับ การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ สกพอ. และมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนา อีอีซี เสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาทักษะบุคลากรในเขตพื้นที่ โดยร่วมกันพัฒนาและยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในมิติด้านการศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนและเพิ่มเติมองค์ความรู้รายวิชาภาษาต่างประเทศให้แก่ครู อีกทั้งยัง มุ่งส่งต่อองค์ความรู้และพัฒนาครูให้เป็นครูต้นแบบในการถ่ายทอดองค์ความรู้ และขยายผลออกไปในวงกว้างทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อสร้างเครือข่ายครูในพื้นที่ สร้างเสริมประสบการณ์วิชาชีพแก่ครูทุกท่าน เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาระบบการศึกษาและพัฒนากำลังคน ให้ตรงตามความต้องการและได้มาตรฐานสากล

รองศาสตราจารย์ ดร.ชยาพร วัฒนศิริ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะนำองค์ความรู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ในด้านภาษาอังกฤษ และภาษาจีน มาพัฒนา เปลี่ยนแปลง และพัฒนาให้ครูซึ่งเป็นแม่พิมพ์ของชาติ ในพื้นที่ อีอีซี พร้อมแนะนำเทคนิค วิธีการ รวมทั้งเครื่องมือทั้งหมดที่มี สู่การพัฒนาพื้นที่ เพื่อจะเป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้ อีอีซี ขับเคลื่อน เพื่อพัฒนาระบบเศรษฐกิจไทยไปข้างหน้าได้อย่างสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยระยะเริ่มแรกของการพัฒนา กระบวนการพัฒนาทักษะทางด้านภาษาภาษาอังกฤษให้แก่ครู จะใช้หลักการฝึกฝนผู้สอน (Train The Trainer) เพื่อขยายผลไปสู่นักเรียน ซึ่งเป็นไปตามหลักสมรรถนะของครูผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เพื่อเป็นเครื่องมือเปิดประตูของประเทศ สู่โลกแห่งการสื่อสาร และการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ของประเทศ ให้มีความสามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ในอนาคต

ปัจจุบัน สกพอ. ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงดำเนิน “โครงการพัฒนาสมรรถนะการจัดการโรงเรียนต้นแบบการใช้ภาษาต่างประเทศทั้งครูผู้สอนและนักเรียนในเขตพื้นที่ อีอีซี (การใช้ภาษาอังกฤษ – จีน) ในระดับมัธยมศึกษา และโรงเรียนเครือข่ายในพื้นที่ เพื่อยกระดับการจัดการให้การศึกษาสู่ระดับสากลในการใช้ภาษาต่างประเทศ” โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ คือ การร่วมมือกันจัดการศึกษาทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติให้แก่ครู โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง จำนวน 8 โรงเรียน โดยมีครูภาษาอังกฤษและภาษาจีนเข้าร่วมโครงการ 35 คน และนักเรียนเข้าร่วมโครงการอีก 150 คน โดยตั้งเป้าหมายว่าจะมีนักเรียนชั้นมัธยมต้นที่ได้รับการขยายผลจากการดำเนินโครงการในครั้งนี้อีกกว่า 8,000 คน นอกจากนี้ ยังมีแผนการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 – 2566 นี้ จะขยายผลการดำเนินโครงการไปยังโรงเรียนในพื้นที่ อีอีซีอีกจำนวน 30 และ 90 โรงเรียน ตามลำดับ