ข่าวประชาสัมพันธ์

สกพอ.จับมือ 4 สถาบันการเงินของรัฐ เปิดบริการทางการเงิน-ประกันวินาศภัย-ให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ-SMEs ในพื้นที่อีอีซี เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กล่าวว่า พื้นที่อีอีซีมีแนวคิดที่จะผลักดันผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีรายย่อย ทั้งภาคการผลิต บริการและการเกษตร อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงินหรือแหล่งเงินทุน
แนวคิดดังกล่าวนำมาสู่การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ‘การส่งเสริมการลงทุนและบริการทางการเงินเพื่อพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาควันออก’ ระหว่างสกพอ. และ 4 สถาบันทางการเงิน ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยพิธีลงนามในครั้งนี้มี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานและเป็นสักขีพยาน
ดร.คณิศ กล่าวว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับสถาบันการเงินทั้ง 4 แห่งจะเป็นกลไกสำคัญเพื่อเร่งบรรเทาผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการธุรกรรมทางการเงินประเภทต่างๆ โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมด้านการเงินที่พร้อมช่วยเหลือผู้ประกอบการยกระดับในพื้นที่อีอีซี ทั้งสินเชื่อรูปแบบพิเศษในแต่ละกลุ่มสินเชื่อ และเข้าถึงบริการประกันภัยในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยกระดับรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคง ซึ่งจะเป็นต้นแบบสำหรับการนำไปใช้พัฒนาพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศในอนาคต
ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า สถาบันการเงินที่ร่วมลงนามครั้งนี้จะร่วมมือการประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ผู้ประกอบการและนักลงทุนแทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมโยงของธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานอย่างครบวงจรในพื้นที่อีอีซี ให้สามารถเพิ่มขีดความสามารถและความมั่นคงทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการอย่างยั่งยืน
“ที่เราเป็นห่วงที่สุดคือพ่อค้าแม่ค้า คนกลุ่มนี้เป็นหนี้นอกระบบเยอะ ดังนั้น สินเชื่อเหล่านี้ที่ลงไปจะเป็นส่วนข่วยให้ดำเนินธุรกิจได้ และจะเชื่อมโยงกับภาคบริการ การท่องเที่ยวและภาคการผลิต”
ทั้งนี้ความร่วมมือของ 4 สถาบันการเงินดังกล่าวได้ผลักดันให้เกิดธุรกรรมทางการเงิน ผ่านผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินต่างๆ ดังนี้
ธนาคารกรุงไทย เน้นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการในพื้นที่ อาทิ
- สินเชื่อ SME EEC 4.0 ให้วงเงินกู้สูงสุด 3 เท่าของหลักประกัน หรือสำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 1 ล้านบาท สามารถกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำ
- สินเชื่อ SME Robotics and Automation เพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจด้วยเทคโนโลยีอัตโนมัติ วงเงินสูงสุด 80% ของเงินลงทุน ผ่อนนานสูงสุด 7 ปี
นอกจากนี้ธนาคารกรุงไทยยังให้บริการทางการเงินด้านการนำเข้า-ส่งออกและช่วยการบริหารจัดการทางการเงินให้สะดวกด้วยบริการต่างๆ อาทิ e-Tax Invoice / E-Receipt นำส่งข้อมูลใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมทั้งการลงทุนโดยใช้เทคโนโลยีการให้บริการทาง การเงินที่เหมาะสมรองรับความต้องการของผู้ประกอบการได้ทุกกลุ่ม รวมถึงลูกค้าทั่วไปในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพร้อมการให้คำปรึกษาแนะนำพิจารณาร่วมลงทุนหรือเข้าบริหารกองทุนรวม
ธ.ก.ส. มาตรการสินเชื่อพิเศษสำหรับเกษตรกรที่ต้องการเปลี่ยนไปทำการเกษตรแบบ Smart Farmer อาทิ
- สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินตามความจำเป็นในการดำเนินงาน อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปีเป็นระยะเวลา 3 ปี และปีที่ 4 เป็นต้นไปอัตราดอกเบี้ยปกติ ระยะเวลาชำระคืน 15 – 20 ปี เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบธุรกิจ
- สินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร กรณีใช้หลักทรัพย์ไม่เกิน 100 ล้านบาท กรณีใช้บุคคลค้ำประกันไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลา 10 ปี เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทางการเกษตรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้
- สินเชื่อนวัตกรรมดีมีทุน วงเงินไม่เกิน 300,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี เพื่อส่งเสริมเกษตรกรและประชาชนทั่วไปให้นำนวัตกรรมเทคโนโลยีและภูมิปัญญามาใช้ในกระบวนการการผลิตในรูปแบบ Smart Farmer
นอกจากนี้ ธนาคารธ.ก.ส.ได้ให้คำปรึกษาแนะนำแก่นักลงทุนผู้ประกอบการและเกษตรกรให้การสนับสนุนและความร่วมมือในด้านการรวบรวมและแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร เชื่อมโยงช่องทางการตลาด รวมทั้งส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน
เอสเอ็มอีแบงก์ ให้บริการออกสินเชื่อพิเศษแก่ผู้ประกอบการ SME และธุรกิจรายย่อยอื่นๆ ทั้งภาคการผลิตและบริการ เพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อาทิ
- สินเชื่อฟื้นฟู เพื่อฟื้นฟูกิจการหลังโควิด-19 วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีใน 2 ปีแรกโดย 6เดือนแรกรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแทน มีระยะเวลาชำระคืน 10 ปี
- สินเชื่อ SME เพื่อรีไฟแนนซ์ ลงทุน ปรับปรุง ขยายธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง วงเงินสูงสุด 50 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 4.5-6 ต่อปี ระยะเวลาชำระคืน 10 ปี ปลอดชำระเงินต้น 18 เดือน
ทิพยประกันภัย สนับสนุนให้คำปรึกษาแนะนำผู้ประกอบการและนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีในด้านการประกันวินาศภัย และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับแต่ละภาคธุรกิจ ในแนวคิด TIP EEC 4.0 อาทิ
- การประกันสำหรับพ่อค้าแม่ค้าร้านค้า ธุรกิจเอสเอ็มอี สำหรับความเสียหายอุบัติภัยสำหรับรถเข็นขายสินค้า ร้านค้า และทรัพย์สินต่างๆ ตัวอย่างเช่น การประกันภัยสำหรับพ่อค้าแม่ค้า คุ้มครองสินทรัพย์วงเงิน 10,000-30,000 บาท และได้ขยายความคุ้มครองชดเชยการสูญเสียรายได้ไม่เกิน 4,500 บาท รวมทั้งการถูกโจรกรรมเงินทางไซเบอร์ วงเงินไม่เกิน 3,000 บาทในราคาเริ่มต้น 365 บาท
- Insurance Protection for Smart Factory 4.0 คุ้มครองโรงงานที่มีการปรับฐานการผลิตจากแบบเก่าเป็นระบบ Automation และ IoT เพื่อใช้ประโยชน์จาก 5G ซึ่งทำงานร่วมกับระบบคลาวน์ โดยคุ้มครองการสูญเสียรายได้จากการถูกแฮกข้อมูลจนทำให้ดำเนินการผลิตไม่ได้ วงเงินสูงสุด 10 ล้านบาท