ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ > “PTT-GULF” เซ็นสัญญาร่วมทุน กทท. ลุยสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 รองรับการขนส่งสินค้า 18 ล้านตู้/ปี

“PTT-GULF” เซ็นสัญญาร่วมทุน กทท. ลุยสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 รองรับการขนส่งสินค้า 18 ล้านตู้/ปี

25 พฤศจิกายน 2021


ข่าวประชาสัมพันธ์

“PTT-GULF” เซ็นสัญญาร่วมทุน กทท. ก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 เป็น “ท่าเรืออัจฉริยะ” เพิ่มขีดความสามารถรองรับการขนส่งสินค้าปีละ 18 ล้านตู้คอนเทนเนอร์ ยกระดับไทยสู่ระดับโลก

เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ในพิธีลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ระหว่าง เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กับ นายรัฐพล ชื่นสมจิตต์, หม่อมหลวงปีกทอง ทองใหญ่ และนายหวัง ไห่กวง กรรมการ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด ซึ่งเป็นภาคเอกชนที่เสนอผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐได้รับดีที่สุด เป็นไปตามเอกสารการคัดเลือกเอกชน และมติ ครม. ได้อนุมัติไว้ เพื่อร่วมกันลงทุนพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และส่วนท่าเทียบเรือ F โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม , ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) , นายโชคชัย ปัญญายงค์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สกพอ. พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกระทรวงคมนาคม และการท่าเรือแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ณ ห้องบอลรูมโรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)

เรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) กล่าวว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F ถือเป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญ ที่ สกพอ. ได้เร่งขับเคลื่อนร่วมกับ การท่าเรือแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน จีพีซี โดยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของท่าเรือแหลมฉบัง รองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างท่าเทียบเรือ สำหรับรองรับเรือสินค้าขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ รวมทั้งพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟที่ท่าเรือแหลมฉบัง (Single Rail Transfer Operator, SRTO2) ก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่งระหว่างประเทศ (International Coastal Terminal) ปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรภายในท่าเรือ ตลอดจนโครงข่ายและระบบการขนส่งต่อเนื่องที่จำเป็นในเขตพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับภายนอกให้เพียงพอ และพร้อมที่จะรองรับการขยายตัวของปริมาณเรือและสินค้าประเภทต่าง ๆ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างท่าเรือ F1 แล้วเสร็จ สามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2568 ส่วนท่าเทียบเรือ F2 จะแล้วเสร็จปี 2572 และเมื่อโครงการฯ ในระยะที่ 3 แล้วเสร็จจะสามารถรองรับความจุตู้สินค้าจาก 11 ล้านตู้/ปี เป็น 18 ล้านตู้/ปี หรือเพิ่มตู้สินค้าไม่ต่ำกว่า 7 ล้านตู้/ปี รับการขยายตัวของปริมาณเรือขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น เชื่อมต่อการพัฒนาสู่ท่าเรือบก (Dry port) เป็นศูนย์กลางการค้าบริการขนส่ง ยกระดับไทยเป็นประตูการค้าเชื่อมภูมิภาคเอเชียไปสู่ระดับโลก โดยผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินที่ภาครัฐจะได้รับจากโครงการฯ เป็นค่าสัมปทานคงที่ คิดเป็นมูลค่าปัจจุบัน 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อ TEU (หน่วยนับตู้คอนเทนเนอร์ที่มีขนาด 20 ฟุต)มีระยะเวลาร่วมลงทุน 35 ปี ซึ่ง ครม. ได้มีมติรับทราบผลการเจรจา และร่างสัญญาร่วมลงทุนของโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.

ดร.คณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังฯ ถือเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ร่วมระหว่างรัฐ – เอกชน หรือ PPP (Public Private Partnership) ที่ สกพอ. ได้ดำเนินการเพื่อเป็นต้นแบบการลงทุนโครงการสำคัญของรัฐ โดยขณะนี้ โครงสร้างพื้นฐานหลักใน อีอีซี ได้ดำเนินการครบ 4 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 654,921 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในส่วนของภาคเอกชน 416,080 ล้านบาท และเป็นการลงทุนในส่วนของภาครัฐ 238,841 ล้านบาท นับเป็นความสำเร็จที่เกิดจากการสนับสนุนด้วยดีของภาครัฐ และความร่วมมือจากเอกชนทุกภาคส่วน ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานในอีอีซีจะสร้างความเชื่อมโยงเพื่อยกระดับเศรษฐกิจไทย จูงใจนักลงทุนทั่วโลก สร้างโอกาส และสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อเนื่อง ช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก และเป็นคำตอบการสร้างอนาคตที่ดีให้แก่คนไทยทุกคนอย่างยั่งยืน

“ย้อนหลังกลับไปในช่วง 3 ปีก่อน เรามีแนวคิดที่จะนำ Assets ของภาครัฐที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อะไร นำมาใช้อย่างเต็มที่ และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งแตกต่างจากในอดีต คือ รัฐบาลไม่ต้องไปกู้เงินจากต่างประเทศ เพื่อมาลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนก่อสร้าง และก็นำเงินกลับประเทศของเขา แล้วทิ้งหนี้ไว้ให้เรา โดยรัฐบาลเป็นผู้รับภาระหนี้และความเสี่ยงในอนาคต” ดร.คณิศ กล่าว

ดร.คณิศ กล่าวต่อว่า ตอนนี้ภาคเอกชนของไทยแข็งแรงมาก สามารถที่มาร่วมกระบวนการพัฒนาประเทศได้ ดังนั้น ความร่วมมือต่าง ๆจึงลงตัว เมื่อภาครัฐชวนภาคเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งไม่ใช่ต่างชาติ แต่เป็นเอกชนไทยที่ได้แสดงมีความแข็งแกร่งเป็นผู้นำพันธมิตรต่างชาติเข้ามาร่วมกันทำงานให้กับคนไทย ดังนั้น การพัฒนาประเทศแนวใหม่ โดยใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย และใช้เงินไทย จึงเกิดขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่จะสร้างเงิน และงาน ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยเงินลงทุนกว่า 6 แสนล้านบาทนี้จะทำให้เกิด Multiplier Effect หลายเท่าตัว ทั้งสร้างงาน และสร้างรายได้ให้บริษัทไทย ทั้งรายใหญ่ รายเล็กและชุมชน นอกจากนี้ยังช่วยสร้างรายได้ภาษี โดยเฉพาะภาษีทางอ้อมอีกเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น การนำ Assets ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาบริหารร่วมกับภาคเอกชน ถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม ทำให้เกิดการลงทุน 650,000 ล้านบาท โดยที่รัฐบาลไม่ต้องใช้งบประมาณมากนัก ซึ่งในอนาคตก็จะมีรายได้นำส่งคลัง คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันกว่า 200,000 ล้านบาท โดยโครงการร่วมลงทุน (PPP) ทั้ง 4 โครงการนี้ แสดงให้เห็นว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สามารถร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติได้ และการที่เอกชนนำเงินมาลงทุนร่วมกับรัฐบาลถือเป็นการแชร์ความเสี่ยงร่วมกัน ซึ่งประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่อนาคตใหม่ของการร่วมกันทั้งประเทศ ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน และประชาชน