ThaiPublica > เกาะกระแส > Squid Game กระแสตอบกลับของทั่วโลก

Squid Game กระแสตอบกลับของทั่วโลก

20 ตุลาคม 2021


รายงานโดย ทินารมย์ เสือแก้ว สาขา วารสารศาสตร์คอนเวอร์เจ้นท์ คณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=SzSH2VKK_vY&t=36s&ab_channel=NetflixThailand

“Squid Game” ซีรีส์ชื่อดังจากเกาหลี ที่หลายประเทศกลับนำกระแสในเกมมาทำส่งเสริมในด้านการค้า หรือการสร้างวิดีโอเกม ได้กระแสตอบรับจากทั่วโลกในแง่ดีทั้งบทละครและนักแสดง แต่ไทยมองว่าเป็นซีรีส์ที่ส่งเสริมความรุนแรง อาจทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบพฤติกรรมได้

“Squid Game” ซีรีส์เกาหลีชื่อดังที่เป็นกระแสนิยมทั่วโลกในตอนนี้ การเล่าเรื่องที่ใช้การละเล่นของเด็กในประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการเล่นกันแพร่หลายในยุคหนึ่ง สร้างความนิยมทั้งในประเทศและทั่วโลกได้เป็นอย่างดี การเล่าเรื่องที่เต็มไปด้วยปมปัญหาชีวิตของตัวละครหลักภายในเรื่อง การสะท้อนถึงระบบทุนนิยมที่ทำให้เนื้อเรื่องเข้มข้นและน่าสนใจ อีกทั้งการเล่าเรื่องราวของมิตรภาพที่เกิดขึ้นทำให้เห็นความผูกพันธ์ของตัวละครที่อยู่ในการเล่นเกมเพื่อชิงรางวัล 45.6 พันล้านวอนหรือประมาณ 38.19 ล้านดอลลาร์ เพราะหากชนะจะได้เงินแต่หากแพ้หมายถึงความตาย

Squid Game มีทั้งหมด 9 ตอน เปิดให้ชมบนเน็ตฟลิกซ์เมื่อวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมามียอดวิวทะลุ 111 ล้านวิวภายในหนึ่งสัปดาห์ และเป็นซีรีส์ใหญ่สุดเป็นประวัติการณ์ของเน็ตฟลิกซ์

  • กลยุทธ์ที่ทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นยักษ์ใหญ่การส่งออกสินค้าวัฒนธรรม เช่น หนัง Squid Game
  • ผลการตอบการตอบรับจากทั่วโลกถือว่าไปในทิศทางที่ดี เพราะซีรีส์ “Squid Game” มีมูลค่าถึง 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) จากตลาดทั่วโลก และยังมีโอกาสมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งบทละครของซีรีส์ยังมีความหมายที่ลึกซึ้ง สอดแทรกไปด้วยจิตใจของคนในแต่ละตอน ทำให้ได้รับคำชมอย่างล้นหลามจากคนทำหนัง

    รวมถึงนักแสดงภายในเรื่องได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นจากการแสดงซีรีส์เรื่องนี้ ยอดการติดตามในอินสตาแกรมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จน 4 นักแสดงหลัก ได้แก่ อีจองแจ ที่รับบทเป็นผู้เล่นหมายเลข 456 หรือซองกีฮุน ตัวเอกของเรื่อง, พัคแฮซู เป็นผู้เล่นหมายเลข 218 โจซังอู, จองโฮยอนเป็นผู้เล่นหมายเลข 067 คังแซบยอก และ วีฮาจุน ที่เล่นเป็นตำรวจ จุนโฮ ได้ไปออกรายการ ‘Tonight Show’ ซึ่งเป็นรายการทอล์กโชว์ชื่อดังของสหรัฐอเมริกา จึงถือได้ว่าซีรีส์เรื่องนี้ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

    ที่มาภาพ: https://www.news24.com/channel/tv/news/watch-the-cast-of-squid-game-on-the-jimmy-fallon-show-20211010

    แต่ในประเทศไทยกลับมองว่า Squid Game เป็นหนังที่ส่งเสริมความรุนแรงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบขึ้นได้ เพราะภายในเรื่องมีฉากที่แสดงความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัด เช่น การยิงผู้เข้าแข่งขัน การต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด จึงทำให้ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แสดงความเห็นว่า เด็กและเยาวชนที่ต้องเรียนออนไลน์อยู่ที่บ้าน มีการใช้สื่อออนไลน์มากขึ้น การรับชมซีรีส์หรือภาพยนตร์ เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความนิยม จึงอยากให้ผู้ปกครองคอยดูแลการใช้สื่อสังคมออนไลน์ การรับชมสื่อต่างๆ และคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิด และ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ฝากเตือนให้ประชาชนใช้วิจารณญาณในการรับชมสื่อและแยกแยะว่าสิ่งใดเหมาะสม สิ่งใดไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กและเยาวชน ผู้ปกครองต้องคอยควบคุมดูแลการเลือกรับสื่อ รวมถึงดูแลอบรมและสังเกตพฤติกรรมของบุตรหลานให้เป็นไปอย่างเหมาะสม และให้คำแนะนำในเรื่องต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นห่วงจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐต่อเยาวชน ที่ใช้สื่อออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ในช่วงกักตัวอยู่บ้านในการแพร่ระบาดโควิด-19

    เช่นเดียวกับหลายโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ทางโรงเรียนได้มีจดหมายถึงผู้ปกครองเพื่อแสดงถึงความห่วงใยบุตรหลานถึงการเข้ารับชม Squid Game เพราะเนื้อหารุนแรงเกินไปสำหรับเด็ก ในหลายฉากเห็นผู้เข้าแข่งขันเสียชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บสาหัส

    อย่างเช่นโรงเรียนประถมจอห์นแบรมสตันในอิลฟอร์ดได้แสดงความกังวลผ่านจดหมายที่ส่งให้กับผู้ปกครอง จากการสังเกตการเล่นของเด็กภายในโรงเรียนที่เล่นยิงกัน และเห็นภาพความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในสนามเด็กเล่น จึงเสนอให้ผู้ปกครองตักเตือนเด็กๆ ที่กำลังเลียนแบบพฤติกรรมภายในหนัง เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างเด็กที่เล่นเกมเลียนแบบในหนัง และอีกหลายโรงเรียนในเมืองเคน รัฐแซนดาวน์ ที่ได้เพิ่มบทเรียนเกี่ยวกับความรุนแรงและอันตรายของออนไลน์ เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปรับตัวของโรงเรียนในประเทศอังกฤษ ที่ไม่ห้ามให้เด็กดูแต่เป็นการสอนให้เข้าใจเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้น และให้เข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่ควรเลียนแบบ

    ในประเทศเกาหลีใต้ที่เป็นผู้สร้างซีรีส์เอง ได้รับกระแสตอบกลับอย่างดี เพราะในซีรีส์ได้นำการละเล่น ขนม และอาหารเข้ามาเป็นตัวเด่นในการเล่าเรื่อง อย่าง “ขนมทัลโกนา” ถือเป็นขนมเก่าแก่ของเกาหลีใต้ เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาลผสมกับเบกกิงโซดา และปั๊มลายออกมาเป็นรูปแบบต่างๆ ขาดคนสำคัญในเรื่องนี้ไม่ได้อย่าง อัน ยอง ฮุย ที่ทำขนมให้กับซีรีส์ Squid Game ทำให้ร้านของเขาขายดีมากยิ่งขึ้น จากวันละ 200 ชิ้น เป็นวันละ 500 ชิ้น และทำให้ขนมทัลโกนากลับมาเป็นที่นิยม เป็นการนำขนมเก่าแก่กลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง และเห็นพลังจากผลิตภาพยนตร์ของเกาหลีที่สอดแทรกไปด้วยวัฒนธรรมเก่าแก่มากมาย

    ในต่างประเทศที่มีการดึงเกม อาหาร และขนมที่อยู่ในซีรีส์มาเป็นจุดต่อยอดในการทำธุกิจ ในคาเฟ่ Brown Butter ประเทศสิงคโปร์ ได้มีการคิดไอเดียจาก “ขนมทัลโกนา” โดยมีกติกาเพื่อทำให้เกมน่าสนใจ และเลียนแบบบางกติกาเพื่อให้คล้ายในซีรีส์ เช่น หากแพ้หรือแกะขนมไม่ทันเวลา ต้องถ่ายคู่กับกล่องดำเพื่อโพสต์รูปและแท็กกับทางร้าน ถือเป็นการลงโทษผู้แพ้

    นอกจากนี้ ประเทศฝรั่งเศสมีการสร้าง Netflix Squid Game Cafe ซึ่งจะทำคล้ายกับเกมเพื่อให้ลูกค้าได้เข้าถึงบรรยากาศภายในซีรีส์ และยังมีการนำเกมต่างๆ ที่อยู่ภายในซีรีส์มาเป็นจุดเด่นของร้าน เช่น เกมตั๊กจี เป็นเกมที่ใช้กระดาษตบกัน ซึ่งเกมนี้ถือเป็นตัวเริ่มเกมที่สำคัญภายในเรื่อง เพราะผู้เข้าแข่งขันต้องมีการเริ่มเล่นเกมนี้ก่อนเข้าแข่งทุกคน ซึ่งช่วยให้ pop-up store แห่งนี้ได้รับความนิยมจากชาวปารีสเป็นอย่างมาก

    ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้มีการจำลอง “เกม A E I O หยุด” ที่ได้รับความสนใจทั้งจากเด็กและผู้ใหญ่เป็นจำนวนมาก มีการจำลองหุ่นที่อยู่ภายในซีรีส์และผู้คุมกฎออกมา เพื่อให้ผู้เข้าร่วมได้สัมผัสประสบการณ์ที่สมจริงเหมือนในซีรีส์ แต่ทางผู้จัดได้จำกัดอายุผู้เข้าร่วม และจำกัดอายุของผู้ชม หากต่ำกว่า 10 ปีต้องมีผู้ปกครองอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ว่าเป็นเพียงการสมมติขึ้นมาเท่านั้น อีกทั้งมีข่าวลือออกมาว่าทาง Netflix จะมีการทำวิดีโอเกมแนว Battle Royal ออกมาให้เล่น ข้อมูลมาจาก Tom Henderson ที่คอยปล่อยข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับเกมออกมาบ่อยครั้ง ถือได้ว่าซีรีส์เดียวสามารถต่อยอดได้อีกหลายรูปแบบ

    Squid Game ได้รับความสนใจในเธอร์แลนด์ ที่มาภาพ: https://www.koreaboo.com/news/real-life-squid-game-in-netherlands-draws-crowd-hundreds-including-children/

    อย่างไรก็ตาม การเลือกรับชมภาพยนตร์ หรือซีรีส์ในปัจจุบันมีส่วนทำให้เด็กและเยาวชนเลียนแบบได้ง่าย เพราะขาดความเข้าใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เห็นเพียงความสนุกภายในเรื่องแต่ไม่รู้ถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น ต้องมีผู้ปกครองคอยให้คำแนะนำระหว่างการรับชม เพื่อไม่ให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบที่ไม่ดี อาจก่อให้เกิดเหตุอันตรายขึ้นได้ หากช่วยสอน แนะนำด้านดีๆ ของภาพยนตร์ ก็ช่วยให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้ถึงข้อคิดภายในเรื่องได้เป็นอย่างดี