ThaiPublica > ข่าวประชาสัมพันธ์ (archive) > ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดเชื่อมพลังอาเซียนขับเคลื่อน “การพัฒนาครู” ศตวรรษที่ 21

ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดเชื่อมพลังอาเซียนขับเคลื่อน “การพัฒนาครู” ศตวรรษที่ 21

2 พฤษภาคม 2021


ข่าวประชาสัมพันธ์

ศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดและศธ. เปิดโมเดลใหม่ Teacher Development เพื่อการขับเคลื่อนพัฒนาครูทั้งระบบ สร้างเครื่องมือเชิงบูรณาการ ยกระดับครู ทั้งปรับปรุงหลักสูตร การเลื่อนวิทยฐานะและพัฒนาทักษะการสอน เพื่อสร้างกรอบการศึกษาในยุคดิจิทัลอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 28-29 เมษายน 2564 องค์การรัฐมนตรีศึกษาแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสมาชิกซีมีโอ รวมถึงกระทรวงศึกษาธิการไทย เป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม SEAMEO Congress 2021 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแสวงหาแนวทางปฏิบัติที่ดีด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมในยุคดิจิทัล โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 9,500 คน จาก 11 ประเทศสมาชิกซีมีโอ หนึ่งในประเด็นสำคัญคือการ “ปฏิรูปการพัฒนาครู” เพื่อยกระดับการศึกษาอาเซียน นำสู่การเสวนาต่อเนื่องในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project เพื่อสังเคราะห์แนวทางขับเคลื่อนนโยบายสะเต็มศึกษา สร้างโมเดล Teacher Development ที่ขับเคลื่อนทิศทางเดียวกันทั้งระบบ คือ หลักสูตรพัฒนาทักษะวิชาชีพครู แนวทางการปรับวิทยฐานะ และการสนับสนุนด้านวิชาการ

ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

ดร. สุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ Chevron – SEAMEO Policy Advocacy for Strengthening Regional STEM Education Project ว่า นี่คือช่วงเวลาสำคัญที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันทั้งด้านองค์ความรู้และกำลังคนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรน่า เนื่องจากการพัฒนาการศึกษาต้องมุ่งเน้นการพัฒนาครูและสนับสนุนองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องแก่ครูและผู้นำโรงเรียนอย่างเหมาะสม ดังนั้นต้องมีข้อมูลสนับสนุนอย่างเพียงพอโดยเฉพาะหลักฐานงานวิจัยเพื่อให้ผู้กำหนดนโยบายได้ใช้ประโยชน์ผลักดันในเชิงนโยบาย อีกทั้งให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสะเต็มศึกษาในโรงเรียน

การประชุมครั้งนี้ จึงนับเป็นโอกาสดีที่ผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องจะได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางการพัฒนาครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ร่วมกัน ซึ่งศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ดจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการด้านการพัฒนาครูเชิงนโยบายนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยได้รับการสนับสนุนจากเชฟรอน เพื่อให้ครูมีแรงบันดาลใจและสามารถพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีความพร้อมด้านทักษะแห่งศตวรรษที่ 21และทักษะการทำงานของโลกอนาคต

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีเวทีเสวนาหัวข้อ “Implications for Policy on Teacher Development” เพื่อนำเสนอกรอบโมเดลใหม่ Teacher Development เพื่อแลกเปลี่ยนประเด็นการผลักดันนโบบายการปฏิรูปการพัฒนาครู โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม และกรรมการสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา รศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ดร.อีซาน อิสมาอิล ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสศูนย์สะเต็มแห่งชาติ แผนกวางแผนการศึกษาและวิจัย กระทรวงศึกษาธิการมาเลเซีย และนายลิโต้ พาโลมาร์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักส่งเสริมการศึกษา กรรมการศึกษาแห่งฟิลิปปินส์ เชื่อมร้อยเวทีโดย ดร.เกศรา อมรวุฒิวร ผู้อำนวยการศูนย์ซีมีโอสะเต็มเอ็ด

ประเด็นสำคัญของเวทีเสวนานี้ คือการนำเสนอภาพรวมของโมเดลใหม่ที่เกิดจากการใช้หลักฐานงานวิจัยมาออกแบบเป็นโมเดลที่จะดันให้การพัฒนาครูรุดหน้าไปได้จริง สร้างโอกาสการเลื่อนวิทยฐานะที่สามารถบูรณาการกับการสร้างหลักสูตร รวมทั้งการเรียนการสอนในห้อง และการประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ การทำงานเชิงระบบ ไม่เพียงส่งผลต่อครูในทุกระดับ แต่ยังส่งผลต่อผู้เรียน และองค์กร หรือสถานศึกษา ซึ่งเป็นเป้าประสงค์ของการปฏิรูปการพัฒนาครู

บรรยากาศงานเสวนา

ในส่วนของประเทศไทย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง และรศ.ดร.มนตรี แย้มกสิกร ได้พูดถึง หลักเกณฑ์ใหม่ในการเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์สำคัญข้อหนึ่งในการปฏิรูปการศึกษาของไทยที่เริ่มวางโครงการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2560 เรียกว่าโครงการ Innovation School โดยเริ่มทดลองในเดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนตุลาคม ศกนี้ ส่วนการประเมินผลจะเป็นการประเมินทุกส่วน เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปพร้อมๆ กันในทุกระดับ ทั้งตัวครูผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และศึกษานิเทศก์ โดยทั้ง 4 องค์ประกอบที่เป็นบุคลากรในระดับเชี่ยวชาญจะต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เพื่อให้โรงเรียนเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ และครูคือกุญแจแห่งความสำเร็จ

วงเสวนายังพูดถึงการประเมินผลที่ใช้เครื่องมือจาก University of Texas Austin เพื่อการวัดผลให้เห็นว่าครูเกิดการแลกเปลี่ยนและพัฒนาวิธีจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เพิ่มทักษะการคิด เรียนอย่างสนุก โดยให้สถานศึกษาสร้างทีมบันทึกวิดีทัศน์การสอนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาเลื่อนวิทยฐานะ ซึ่ง ดร.อีซาน อิสมาอิล และนายลิโต้ พาโลมาร์ ได้เสริมว่าทั้งในมาเลเซียและฟิลิปปินส์ มีการส่ง “โค้ช” จากส่วนกลางไปติวให้กับครูในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อเสริมทักษะด้านดิจิทัลและการบันทึกวิดิทัศน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานการวิจัย อันจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง เฉพาะในฟิลิปปินส์มีการถอดบทเรียนจากโครงการ Chevron Enjoy science Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่ทำให้เกิดเครือข่าย Master Teacher ซึ่งรวมถึงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ

บทสรุปของเวทีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม SEAMEO Congress 2021 จะนำเสนอถึงผู้กำหนดนโบยายด้านการศึกษาในประเทศสมาชิกซีมีโอ เพื่อส่งเสริมนโยบายการพัฒนาสะเต็มศึกษาให้รุดหน้าในภูมิภาคอาเซียนนี้อย่างจริงจัง