ThaiPublica > เกาะกระแส > นายก ฯชู “ฉีดวัคซีนโควิดฯ” เป็นวาระแห่งชาติ-มติ ครม.เคาะเยียวยา “เราชนะ-ม. 33” คนละ 2,000 บาท

นายก ฯชู “ฉีดวัคซีนโควิดฯ” เป็นวาระแห่งชาติ-มติ ครม.เคาะเยียวยา “เราชนะ-ม. 33” คนละ 2,000 บาท

11 พฤษภาคม 2021


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

นายก ฯชู “ฉีดวัคซีนโควิดฯ” เป็นวาระแห่งชาติ ยันคนไทยได้ฉีดวัคซีนทุกคนแน่นอน -เผยแจกเงินเยียวยา 2,000 บาท ช่วย ปชช.ได้กว่า 40 ล้านคน-มติ ครม.เคาะจ่ายเยียวยา “เราชนะ”-“ม. 33” คนละ 2,000 บาท – ชง งบฯปี’65 เข้าสภาวาระแรก 31 พ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน

ลุยตรวจโควิดฯ เชิงรุก “กทม-ปริมณฑล” วันละ 7,000 คน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงความคืบหน้าจากข้อสั่งการของตนในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดฯ ในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่คลองเตย ว่า ตนได้ติดตามพื้นที่ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดเนื่องจากเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง มีประชาชนอยู่เป็นจำนวนมาก และส่งผลกระทบต่อชีวิตและความปลอดภัยของพ่อแม่พี่น้องเป็นจำนวนมาก

“เรื่องนี้ผมในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ (ศบค.) กรุงเทพฯ และปริมณฑล ได้สั่งการไปยังทุกหน่วยงานให้ระดมสรรพกำลังเข้าป้องกันการลุกลามอย่างเต็มที่โดยมียุทธวิธีที่สำคัญในการเอาชนะศึกครั้งนี้ก็คือการระดมตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดในพื้นที่เป้าหมาย โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมาในกรุงเทพฯและปริมณฑลเรามีการตรวจไปแล้วมากกว่า 70,000 ราย ในชุมชนที่มีความเสี่ยงเฉลี่ยคือ 7,000 รายต่อวัน”

การดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้สามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อและทำการคัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้อย่างทันการณ์ รวมทั้งแยกผู้ที่มีความเสี่ยงจากการอยู่ใกล้ชิดไปกักตัว เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่อเพื่อจำกัดวงการแพร่ระบาดให้แคบที่สุดและสั้นที่สุด

“ในสัปดาห์ที่ผ่านมาท่านอาจจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อตะวันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมของเราทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันในช่วงนี้อาจจะยังมีขึ้นมีลงอยู่บ้าง แต่ทางทีมแพทย์ก็เชื่อมั่นว่าด้วยวิธีนี้จะทำให้เราควบคุมสถานการณ์ได้ในไม่ช้า และยอดผู้ติดเชื้อในพื้นที่จะค่อยๆ ลดลง ส่วนยอดผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ เริ่มทรงตัว ซึ่งก็เป็นแนวโน้มที่ดีแต่เราก็ยังคงไม่นิ่งนอนใจ จะต้องดำเนินการตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงต่อไปให้มากและเร็วที่สุด”

ตั้งเป้าฯฉีดวัคซีน “ชุมชนคลองเตย” 50,000 คน เผยฉีดแล้ว 30%

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปถึงความคืบหน้าการฉีดวัคซีนในคลัสเตอร์คลองเตยและพื้นที่ใกล้เคียงว่า ยังคงต้องเร่งระดมฉีดวัคซีน เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประชาชนได้มากที่สุด เพื่อจะตัดวงจรที่เรียกว่า “สะเก็ดไฟ” ที่ปะทุอยู่ในเวลานี้

โดยขณะนี้ในพื้นที่คลองเตยฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 13,000 คน คิดเป็นประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายที่จะต้องฉีดให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ส่วนพื้นที่ปทุมวันที่อยู่ใกล้เคียงก็ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายหรือประมาณ 14,000 คน ซึ่งเฉลี่ยแล้วทั้ง 2 เขตฉีดได้มากกว่าวันละ 2,000 คน

“ผลการดำเนินงานจากคลัสเตอร์คลองเตยจะเป็นแนวทางในการจัดการการแพร่ระบาดในพื้นที่อื่นๆ ของกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งของต่างจังหวัดด้วย วันนี้เราอยู่ในขั้นตอนของเราที่ใช้แซนด์บอกซ์ที่เราลากออกมาแล้วดำเนินการ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงพื้นที่สีแดงเหล่านี้วันหน้าถ้าเกิดการแพร่ระบาดต่อไปอีกเราจะได้ใช้แนวทางนี้ปฏิบัติต่อไป”

ยันคนไทยได้วัคซีนฉีดทุกคนแน่นอน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า การฉีดวัคซีนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งที่ผ่านมาได้เร่งระดมฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมไปถึงผู้สูงอายุ โดยในแต่ละวันมีการระดมฉีดวันละหลายหมื่นโดส ซึ่งปัจจุบันได้มีการฉีดวัคซีนไปแล้วจำนวนเกือบ 2 ล้านโดสตามวัคซีนที่มีอยู่ในเดือนนี้ และเดือนนี้ก็จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มเติมอีก 3.5 ล้านโดส จากมาตรการจัดหาวัคซีนฉุกเฉินของรัฐบาล

“บางทีเราก็ต้องค่อยๆ สร้างความเข้าใจสร้างความรับรู้เพราะบางทีมันอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา กว่าเขาจะตกลงได้บางทีก็มาทีละ 500,000 โดสเดี๋ยวก็ขอต่อเขาเป็น 1 ล้านโดส เป็น 2 ล้านโดส 2.5 ล้านโดส เพราะฉะนั้นวันนี้ก็เป็นที่น่ายินดีว่าน่าจะชัดเจนที่จำนวน 3.5 ล้านโดส และเราได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการที่จะเพิ่มศักยภาพในการฉีดได้อีกมาก”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่เป็นศูนย์กลางในการผลิตวัคซีนโควิดฯ ของแอสตร้าเซนเนก้า ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ได้มาตรฐานสูงผ่านการรับรองคุณภาพจากทั่วโลก และจะสร้างความมั่นคงยั่งยืนในการต่อสู้กับไวรัสโควิค 19 ในระยะยาวด้วยเพื่อสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจการแข่งขันให้กับประเทศชาติในอนาคตอีกด้วย

“รัฐบาลสามารถหาวัคซีนให้กับประชาชนทุกคนในประเทศได้อย่างแน่นอน และจะไม่หยุดในการจัดหาและสำรองใช้เพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน”

ชู “ฉีดวัคซีนโควิดฯ” เป็นวาระแห่งชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ ตนได้เสนอให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการอย่างครบวงจร ทั้งการจัดหาการกระจายไปจนถึงการฉีดด้วย เพื่อจะเร่งสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประเทศไทย พร้อมยืนยันคุณภาพวัคซีนที่รัฐจัดหา

“สิ่งที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนั้นจะเป็นจริงไปไม่ได้เลยหากพี่น้องประชาชนในประเทศไทยไม่มาเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิดฯ ผมขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนทุกคนมาเข้ารับการฉีดวัคซีนกันให้มากที่สุด ประเทศไทยเราจึงจะเดินหน้าต่อไปได้”

“ผมขอยืนยันว่าวัคซีนที่รัฐบาลนำเข้าทุกชนิดได้มีการตรวจสอบคุณภาพประสิทธิภาพความปลอดภัยโดยได้รับการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุขแล้ว และในขณะนี้ก็ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลกมีผู้ฉีดไปแล้วหลายสิบล้านคนรวมทั้งผู้นำประเทศทั่วโลกก็เห็นได้จากภาพข่าวอยู่แล้วในวัคซีนที่เรานำเข้ามานี่แหละผู้นำประเทศหลายประเทศก็ได้ฉีดไปแล้ว”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกก็ต่างยืนยันว่าวัคซีนโควิดฯ ทุกชนิดสามารถป้องกันการป่วยรุนแรงหากติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่วนโอกาสในการเกิดผลข้างเคียงนั้นมีน้อยมาก หากเปรียบเทียบกันแล้วกับโอกาสในการติดโควิดฯ และการเสียชีวิตจากโควิดฯ นั้นมีสูงกว่าการฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงหลายพันเท่า และในการฉีดแต่ละครั้งก็จำเป็นจะต้องมีแพทย์ผู้ทำการประเมินความเหมาะสมคอยเฝ้าดูอาการหลังการฉีดอีกด้วย

“ฉีดดีกว่าไม่ฉีด ผมเองรวมทั้งคณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต่างก็มีผู้ฉีดวัคซีนโควิดฯไปแล้วโดยไม่มีผู้มีผลข้างเคียงใดๆ ในขณะนี้”

สำหรับผลการลงทะเบียนยืนยันและนัดหมายการฉีดวัคซีนผ่านระบบ “หมอพร้อม” และช่องทางต่างๆ สำหรับกลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง มีผู้ลงทะเบียนแล้วกว่า 1.6 ล้าน โดยกรุงเทพฯ มีผู้ลงทะเบียนมากกว่า 5 แสนคน ตามด้วยลำปางมียอดผู้ลงทะเบียนมากกว่า 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม หากนับตามสัดส่วนประชากรถือว่าลำปางมีสัดส่วนผู้ลงทะเบียนสูงที่สุดในประเทศ

โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมจังหวัดลำปางที่เป็นพื้นที่ที่มีความตื่นตัว ซึ่งก็สืบเนื่องมาจากลงพื้นที่อย่างต่อเนื่องของบุคลากรทางการแพทย์ อาสาสมัครและทุกท่านที่เกี่ยวข้อง โดยได้ขอให้ทุกจังหวัดได้เร่งให้มีจำนวนผู้มาขอฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุด ส่วนรัฐบาล และตนจะพิจารณาในการจัดสรรวัคซีนลงไปเพิ่มเติมให้

เล็งจ่ายเงินอดุหนุนให้ รพ.เอกชน รักษาโควิดฯ เพิ่ม 25%

พล.อ. ประยุทธ์ ยืนยันว่า ว่ารัฐบาลจะดูแลค่ารักษาพยาบาลออกค่าใช้จ่ายให้ประชาชนทุกคนตามสิทธิ์ ตั้งแต่การตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง การรับวัคซีน การชดเชยกรณีได้รับผลข้างเคียงจากการฉีดวัคซีนและการรักษาพยาบาล กรณีโรงพยาบาลเอกชนรัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายไปที่โรงพยาบาลเอกชนเพิ่มร้อยละ 25 ทุกรายการ หากมีประกันส่วนบุคคลให้โรงพยาบาลเรียกเก็บประกันส่วนบุคคลก่อน ที่เหลือให้เรียกเก็บกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

“โดยห้ามโรงพยาบาลเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากประชาชน หากฝ่าฝืนจะมีโทษตามกฎหมาย”

สำหรับกรณีที่เกิดความเสียหายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบาดเจ็บ เจ็บป่วยต่อเนื่อง เสียอวัยวะ พิการ ทุพพลภาพถาวร หรือเสียชีวิต สามารถยื่นขอรับเงินเยียวยาได้จาก สปสช.

นอกจากนี้ วันนี้ตนได้พบกับนายกสมาคมประกันภัย และได้ทํากรมธรรม์ประกันภัยให้กับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานใกล้ชิดผู้ติดเชื้อจำนวน 270,000 ราย วงเงินคุ้มครองมากกว่า 2.7 แสนล้านบาท เป็นประกันสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งได้เสียสละเสี่ยงภัยทำงานอย่างหนักในขณะนี้ในกรณีเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตหรือรายละ 1 ล้านบาทแล้วแต่กรณี

“กรุณาอย่าไปฟังที่มันไม่ใช่ข่าวจากรัฐบาลเดี๋ยวจะสับสนอลหม่านกันหมด เราดูแลทั้งหมดทั้งประชาชนทั้งเจ้าหน้าที่บุคลากรด่านหน้าดูแลทั้งหมดและประชาชนทั่วไปด้วย ที่สำคัญคือผมต้องขอร้องให้ทุกท่านระมัดระวังตัวอย่างที่สุดเรายังไม่จากพ้นการแพร่ระบาดในระลอกนี้ ขอให้ป้องกันตนเองให้เต็มที่”

สั่งตรวจ “เฟกนิวส์” ชี้ไม่ใช่เวลาการเมือง-หยุดซ้ำเติมประเทศชาติ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า จะเห็นได้ว่าผู้ติดเชื้อจำนวนมากในระลอกนี้เป็นการติดเชื้อในครอบครัว ในหมู่เพื่อนฝูงที่ทำงาน สถานประกอบการต่างๆ ซึ่งเป็นการยากที่ภาครัฐจะเข้าไปควบคุมดูแลได้ทั้งหมด ดังนั้นถ้าเราร่วมมือกันเราจะชนะศึกครั้งนี้ได้ โดยขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างอย่างแข็งขันและเข้มงวดมากขึ้นกว่าเดิม

และตนขอความร่วมมือประชาชนและสื่อมวลชนคำนึงถึงผลกระทบจากการแชร์ข่าวสารที่ไม่รู้ที่มา ยังสงสัย ไม่มีการตรวจสอบความถูกต้องแน่นอน เนื่องจากอาจสร้างความวุ่นวายสับสนให้แก่สังคม ยิ่งกว่านั้นก็ยังมีทางพูดเจตนาหรือไม่เจตนาสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จที่เรียกว่า เฟกนิวส์ ตนขอให้หยุดการกระทำเหล่านี้เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเพิ่มความเดือดร้อนความเสี่ยงให้กับตัวเองคนรอบข้างและประเทศชาติ

“ผมได้สั่งการและย้ำให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบและจะดำเนินการทันทีหากพบการกระทำผิดตามกฎหมาย ดังนั้นผมขอให้ทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจกัน เพื่อประเทศชาติและส่วนรวม พวกเราจะสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้ ขณะนี้เราคนไทยทั้งประเทศและทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ เผชิญหน้ากับศัตรูตัวร้ายที่เราไม่เคยพบเจอมาก่อนที่ชื่อว่าไวรัสโควิด –19 และทางเดียวที่เราจะเอาชนะศัตรูตัวนี้ได้ก็คือการร่วมแรงร่วมใจร่วมมือกันแก้ปัญหาไม่ใช่การขัดแย้งหรือแตกแยกกัน”

“อนาคตของประเทศไทยต่อจากนี้จะขับเคลื่อนไปได้อย่างมั่นคงเพียงใด ขึ้นอยู่กับพวกเราทุกคนที่จะต้องรวมใจเป็นหนึ่งเดียวก้าวเดินไปพร้อมกัน วันนี้ไม่ใช่เวลาทำการเมืองทั้งสิ้นเป็นเวลาที่ทำให้บ้านเมือง ให้ประเทศของท่านให้ประชาชนของท่านอันเป็นที่รักที่เลือกท่านเข้ามาทำงาน ทั้งหมดนั่นคือหน้าที่ของรัฐบาลในเวลานี้ ก็ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วยขอขอบคุณทุกคนที่มีส่วนร่วมแก้ปัญหากับเรามาโดยตลอด อะไรที่ยังมีปัญหาขัดข้องไม่เข้าใจก็สอบถามมาก็ยินดีให้หน่วยงานเขาตอบไป”

มอบ ผู้ว่า ฯประเมิน – จว.ไหนสถานการณ์ดีขึ้นให้ผ่อนคลาย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากการควบคุมสถานการณ์ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว ตนได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดติดตามดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพื่อจะควบคุมสถานการณ์ในแต่ละจังหวัดได้ปิดกั้นการลักลอบเข้าประเทศอย่างสูงสุด และประเมินสถานการณ์วันต่อวัน

หากจังหวัดใดโดยเฉพาะจังหวัดโซนสีแดงที่มีการปิดสถานที่และข้อจำกัดต่างๆ และมีสถานการณ์ที่ควบคุมได้ดีขึ้นแล้ว ก็ให้มีการพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขต่อไป เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้กลับไปสู่การทำมาค้าขาย เดินทางท่องเที่ยวได้เช่นเดิม ซึ่งตนก็จะพิจารณาด้วยความรอบคอบเพื่อรักษาสมดุลทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจให้เดินหน้าควบคู่กันไปด้วย

ย้ำแจกเงินเยียวยา 2,000 บาท ช่วย ปชช.ได้กว่า 40 ล้านคน

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า วันนี้ ครม. ได้พิจารณามาตรการทางเศรษฐกิจหลายประเด็น เช่น พัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 45,000 ล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชนบนพื้นฐานของโอกาสและศักยภาพท้องถิ่นของท่านเอง ซึ่งจะเร่งดำเนินการทันทีเมื่อสถานการณ์ของโควิดฯ บรรเทาล งโดยจะมีคณะกรรมการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเป็นกลไกสำคัญภายใต้การติดตามของรองนายกรัฐมนตรีทุกคน

นอกจากนี้ ครม. ได้มีมติเห็นชอบกับการเพิ่มเงินสนับสนุนในโครงการเราชนะอีกคนละ 1,000 บาทเป็นเวลา 2 สัปดาห์ซึ่งจะมีพี่น้องประชาชนได้รับประโยชน์จำนวนมากถึง 33.5 ล้านคน รวมทั้งการเพิ่มเงินช่วยเหลือผู้ประกันตนโครงการ มาตรา 33 เรารักกัน อีกสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์เช่นกัน และจะขยายเวลาของโครงการนี้ออกไปถึงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งจะช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้มากกว่า 8 ล้านคน รวมทั้งสองโครงการจะช่วยประชาชนได้มากกว่า 40 ล้านคน

ทั้งหมดนี้คือการทำงานอย่างเต็มที่ของผมและผู้เกี่ยวข้องทุกคนทุกคนทำงานร่วมกัน หารือร่วมกันข้อมูลเดียวกันอันเป็นประโยชน์อันพิสูจน์ได้ตามหลักการของทางการแพทย์และสาธารณสุขเราต้องคิดร่วมกัน รัฐบาล นายกฯ เองก็ไม่สามารถจะไปรู้ได้ทั้งหมดเพียงแต่ว่าก็รู้ข้อมูลเอาข้อมูลมาสังเคราะห์หาปัญหาและอุปสรรคให้เจอ ตรงไหนที่นายกฯ จะปลดให้ได้ ก็จะปลดตรงนั้น

“ไม่ได้หมายความว่านายกจะเอาอำนาจเหล่านั้นมาใช้ด้วยตัวเอง เพราะผมก็รู้ไม่เท่าหมออยู่แล้ววันนี้ก็ทำงานอย่างนี้มาโดยตลอดโดย ศบค.ทำงานร่วมกันทำนั้นต่อเนื่องทุกวันไม่มีวันหยุด ในการวางแผนและดำเนินการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนคลี่คลายสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดฯ และบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจปากท้องพี่น้องประชาชนในการเตรียมความพร้อม ในการฟื้นฟูอนาคตไทยและตอบรับโอกาสที่กำลังจะมาถึง” 

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า ตนยังให้ความสำคัญในเรื่องการท่องเที่ยวด้วย ซึ่งจะต้องมีการยืนยัน และตรียมความของของแต่ละจังหวัดก่อน เพื่อจะให้สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ที่ทางองค์กรต่างประเทศเขากำหนดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของการแพร่ระบาด การนำคนเข้า-ออก ซึ่งต้องคำนึงถึงประชาคมโลกด้วย

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

เคาะจ่ายเยียวยา “เราชนะ”-“ม. 33” คนละ 2,000 บาท

นายอนุชา บูรพชัยศรี  โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติเพิ่มวงเงินสิทธิตามช่องทางที่เคยได้รับของแต่ประชาชนแต่ละกลุ่มโดยอัตโนมัติ ทั้งนี้  ผู้มีสิทธิสามารถใช้จ่ายได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยมีรายละเอียดดังนี้

  • โครงการการเราชนะ สำหรับผู้ที่ไม่เคยขอสละสิทธิ์การเข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับเงินเพิ่มจำนวน 2,000 บาทต่อคน แบ่งเป็นสัปดาห์ละ 1,000 บาท เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์ โดยประชาชนกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และประชาชนกลุ่มผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จะได้รับเงินจำนวน 1,000 บาท รอบแรกวันที่ 21 พฤษภาคม  2564 และรับเงินโอนจำนวน  1,000 บาท อีกครั้งในวันที่  28 พฤษภาคม 2564
  • สำหรับประชาชนกลุ่มที่มีแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” จะได้รับเงินจำนวน 1,000 บาท รอบแรกในวันที่  20 พฤษภาคม  2564 และอีก 1,000 บาท ในวันที่ 27 พฤษภาคม  2564

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเผยว่ามีผู้ได้รับสิทธิ์ในโครงการเราชนะแล้ว รวมทั้งสิ้นจำนวน 32.9 ล้านคน คิดเป็นมูลค่าการใช้จ่ายหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยแล้วกว่า 205,028 ล้านบาท

  • โครงการ ม33 เรารักกัน จะได้รับเงินจำนวน 2,000 บาทต่อคนเช่นกัน โดยจะได้รับเงิน 1,000 บาท ครั้งแรกในวันที่ 24 พฤษภาคม  2564และอีก 1,000 บาทในวันที่  31 พฤษภาคม  2564 นี้

ส่วนโครงการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น โครงการคนละครึ่งระยะที่3 และโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ กระทรวงการคลังจะเสนอเพื่อให้ ครม. พิจารณาในระยะต่อไป

  • ครม. เคาะจ่ายเยียวยา “เราชนะ-ม.33” คนละ 2,000 บาท
  • โยกงบฯฟื้นฟูเศรษฐกิจ 85,000 ล้าน จ่ายเยียวยา ปชช.

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้  ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท) โดยขอนำวงเงินในส่วนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 85,000 ล้านบาท  มาใช้ในส่วนการช่วยเหลือ เยียวยาประชาชน ซึ่งเป็นการโยกวงเงินข้ามหมวดครั้งที่ 3

    ทั้งนี้ ให้หน่วยงานชะลอการนำเสนอโครงการในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมออกไป ยกเว้นโครงการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมและฐานราก ที่ ครม. เมื่อ 23 พฤษจิกายน 2563 อนุมัติกรอบวงเงินไว้ 45,000 ล้านบาท ให้เดินหน้าต่อ แต่เปลี่ยนแปลงกลไกการเสนอโครงการ ให้สอดคล้องกับคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  99/2564  ให้คณะกรรมการขับเคลื่อนไทยระดับจังหวัดรับผิดชอบดำเนินการ ส่งต่อให้รองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลการปฏิบัติราชการแต่ละภูมิภาค โดยไม่ต้องส่งผ่านรัฐมนตรีที่รับผิดชอบระดับจังหวัดตามเดิม

    สำหรับโครงการเราชนะและม.33 เรารักกัน ที่ได้รับความเห็นชอบในหลักการเมื่อสัปดาห์ก่อน ครม. ครั้งนี้ ได้เห็นชอบเพิ่มวงเงินสนับสนุนให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์  โครงการเราชนะ จากไม่เกิน 213,242 ล้านบาท เป็นกรอบวงเงินไม่เกิน 280,242 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 67,000 ล้านบาท และโครงการ  33เรารักกัน จากกรอบวงเงินเดิมที่ 37,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้นอีก 11,741  ล้านบาท  เป็น  48,841 ล้านบาท

    นอกจากนี้ ได้อนุมัติโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัตการน้ำและเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ของกรมชลประทาน 384 รายการ กรอบวงเงิน 4,224ล้านบาท  อนุมัติโครงการพัฒนาการตลาดสินค้ากลุ่มผู้ทำการผลิตที่บ้านหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ของมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ วงเงิน 4.16 ล้านบาท

    อนุมัติโครงการขององค์กรภาคประชาชนภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์  2 โครงการ  ได้แก่โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจครัวเรือนคนพิการและครอบครัวด้วยเกษตรสมัยใหม่และยกระดับการแปรรูปผลิตภัณฑ์และอาหาร โดยใช้การตลาดผสมผสาน Online ผ่าน Social Media ของมูลนิธิสภาศูนย์การตำรงชีวิตอิสระคนพิการประเทศไทย กรอบวงเงิน  23.69 ล้านบาท  และ โครงการสร้างต้นแบบศูนย์เรียนรู้การบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืนและครบวงจร เพื่อสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างต้นแบบ 1 อำเภอ 1 ตำบล ของสุพรรณบุรี เพื่อการบริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน พร้อม “ร้านรวยน้ำใจ”สู้วิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของสวนพุทธชาติ ศูนย์เรียนรู้บริหารจัดการขยะอย่างยั่งยืน วงเงิน 1.64 ล้านบาท

    โดยให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปรับลดกรอบวงเงินของโครงการกำลังใจจาก  2,400 ล้านบาท เป็น 1,370 ล้านบาท หรือลดลง 1,030 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงและผลการดำเนินโครงการ

    ชง งบฯปี’65 เข้าสภาวาระแรก 31 พ.ค.นี้

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป โดยคาดว่าตะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 31พฤษภาคม – 2 มิถุนายน 2564 นี้

    โดยวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ได้กำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 185,962.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.66 เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีงบประมาณรายจ่ายเพียงพอในการดำเนินภารกิจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศรวมทั้งรองรับผลกระทบจากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยมีประมาณการรายได้สุทธิ จำนวน 2,400,000 ล้านบาท และกำหนดวงเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งการขาดดุลงบประมาณจำนวนดังกล่าวยังอยู่ในกรอบสัดส่วนที่กฎหมายกำหนด

    นอกจากนี้ กรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจํานวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณที่กําหนดไว้ สํานักงบประมาณได้เสนอมาตรการดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแล้ว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2564 โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศในช่องทางอื่นนอกเหนือจากงบประมาณรายจ่าย ได้แก่

    1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP)
    2. การลงทุนของหน่วยงานในกองทุนรวมโครงสร้าง พื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (THAILAND FUTURE FUND)
    3. การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและ สังคม ตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ. การบริหารหนี้สาธารณะ 2548

    ทั้งนี้ สํานักงบประมาณได้จัดทําคําชี้แจง เหตุผลความจําเป็นของมาตรการดังกล่าว และจะได้จัดทําคําแถลงต่อรัฐสภาต่อไป

    ผ่านร่าง พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด-ผู้ถือหุ้นประชุมออนไลน์ได้

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 โดยเพิ่มช่องทางโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ นอกจากทางหนังสือพิมพ์ การจัดส่งหนังสือหรือเอกสาร กำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดสามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุมคณะกรรมการและการประชุมผู้ถือหุ้น การเรียกประชุมกรรมการ และการมอบฉันทะให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-proxy)

    ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น ได้แก่

    1. การโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทสามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็คทรอนิกส์อื่นใดแทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ก็ได้
    2. บริษัท/คณะกรรมการสามารถส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
    3. การประชุมคณะกรรมการ หรือการประชุมผู้ถือหุ้นเป็นการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่จะต้องอยู่ภายในราชอาณาจักร และกำหนดให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นการประชุม ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท
    4. แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกประชุมกรรมการ
    5. ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองส่งหนังสือนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่นเดียวกับ กรณีที่คณะกรรมการเรียกประชุม
    6. มอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนได้

    “การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวว่า จะเป็นผลบวกต่อการดำเนินธุรกิจ ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของบริษัทมหาชนจำกัด ส่งเสริมการดำเนินธุรกิจของบริษัทมหาชนจำกัดให้มีประสิทธิภาพ ทันสมัยและสอดคล้องต่อเทคโนโลยีในปัจจุบันด้วย”

    ยกเว้นภาษีเงินได้ช่วย SMEs-ซื้อซอฟต์แวร์หักลดหย่อน

    นายอนุชา กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่… พ.ศ.) (มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล)

    โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท สำหรับเงินได้อีกร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่จ่ายเป็นค่าซื้อหรือค่าจ้างทำหรือค่าใช้บริการโปรแกรมคอมพิวเตอร์หรือซอฟต์แวร์ (Software) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะในส่วนที่ไม่เกิน 100,000 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2564  ถึงวันที่ 31  ธันวาคม 2565

    “ร่างพระราชกฤษฎีกา ฯ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริม SMEs ปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจให้ SMEs เพิ่มศักยภาพในการดำเนินกิจการและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในการบริหารจัดการธุรกิจเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะช่วยให้รัฐบาลมีข้อมูล ในการกำหนดมาตรการหรือกลไกในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ในด้านต่างๆ ได้มากขึ้นอีกด้วย”

    จ่ายเงินอุดหนุนเบี้ยประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 311 ล้าน

    ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ครม. เห็นชอบโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564 วงเงินงบประมาณ 311.41 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทดลองจ่ายเงินอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยก่อน และรัฐบาลจะชดเชยเงินตามจำนวนที่จ่ายจริง พร้อมด้วยอัตราต้นทุนเงิน ในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือน ธ.ก.ส. บวก 1 ในปีงบประมาณถัดไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

    ทั้งนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงด้านภัยพิบัติผ่านระบบการประกันภัย และเป็นการต่อยอดความช่วยเหลือของภาครัฐในการรองรับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับเกษตรกรเมื่อประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ  ซึ่งโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปีการผลิต 2564  เป็นโครงการต่อเนื่องจากปีการผลิต 2563 โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายรับประกันภัยโครงการปีการผลิต 2564 รวม 2.92 ล้านไร่

    สำหรับ ค่าเบี้ยประกันภัย (ไม่รวมค่าอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) แบ่งเป็น

    1. ค่าเบี้ยประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มลูกค้าสินเชื่อ ธ.ก.ส. ค่าเบี้ยประกันภัย 160 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 2.8 ล้านไร่  โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่ และ ธ.ก.ส.จะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้อีก 64 บาทต่อไร่ และกลุ่มลูกค้าเกษตรกรทั่วไป ค่าเบี้ยประกันภัยแยกเป็นพื้นที่ความเสี่ยงต่ำ 150 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงปานกลาง 350 บาทต่อไร่ พื้นที่ความเสี่ยงสูง 550 บาทต่อไร่ พื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่ โดยรัฐจะอุดหนุนค่าเบี้ยประกันภัยให้ 96 บาทต่อไร่
    2. ค่าเบี้ยประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 ซึ่งเกษตรกรซื้อเพิ่มเติมและจะต้องจ่ายค่าเบี้ยเองตามระดับความเสี่ยงในแต่ละพื้นที่ คือ พื้นที่เสี่ยงภัยต่ำ 90 บาทต่อไร่ พื้นที่เสี่ยงภัยปานกลาง 100 บาทต่อไร่ และพื้นที่เสี่ยงภัยสูง 110 บาทต่อไร่ โดยมีพื้นที่เป้าหมาย 6 หมื่นไร่

    ส่วนวงเงินความคุ้มครอง ครอบคลุมภัยพิบัติธรรมชาติ 7 ภัย ได้แก่ น้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ภัยแล้ง ฝนแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ลมพายุหรือพายุไต้ฝุ่น ภัยอากาศหนาวหรือน้ำค้างแข็ง ลูกเห็บ ไฟไหม้ ช้างป่า และภัยศัตรูหรือโรคระบาด โดย Tier1 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 1,500 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด จำนวน 750 บาทต่อไร่ Tier2 ให้วงเงินคุ้มครองภัยธรรมชาติจำนวน 240 บาทต่อไร่ และภัยศัตรูหรือโรคระบาด จำนวน 120 บาทต่อไร่  ทั้งนี้ เกษตรกรที่สนใจสามารถซื้อกรมธรรม์ได้ที่ ธ.ก.ส.ทุกสาขา

    “ผลการดำเนินโครงการปีการผลิต 2563 ที่ผ่านมา มีเกษตรกรผู้เอาประกันภัยพื้นฐาน Tier 1 จำนวน 120,607 ราย พื้นที่เข้าร่วมจำนวน 2.14 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 76.43 ของจำนวนพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 2.8 ล้านไร่ และเกษตรกรผู้เอาประกันภัยแบบสมัครใจ Tier 2 มีจำนวน 86 ราย ส่วนคำขอรับค่าสินไหมทดแทน ข้อมูล ณ 31 มีนาคม 2564 มีเกษตรกรยื่นจำนวน 3,396 ราย รวมเป็นเงิน 34.29 ล้านบาท ซึ่งจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเสร็จสิ้นประมาณเดือนพฤศจิกายนนี้”

    จัดงบกลาง 350 ล้าน เป็นทุนประเดิม “สภาองค์กรของผู้บริโภค”

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. เห็นชอบจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น งบเงินอุดหนุน จำนวน 350 ล้านบาท ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อเป็นทุนประเดิมเบื้องต้น ตามที่พระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนด

    โดยในปีงบประมาณ พ.ศ.2564 จะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 350 ล้านบาท ส่วนงบประมาณอีก 378 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 นั้น ให้สภาองค์กรของผู้บริโภคใช้จ่ายจากเงินทุนประเดิมที่มีเหลือและเงินรายได้ที่มาจากค่าลงทะเบียน ค่าบำรุง และค่าบริการที่เก็บจากสมาชิกหรือบุคคลภายนอก หากไม่เพียงพอให้เสนอขอแปรญัตติเพิ่มงบประมาณตามความจำเป็นต่อไป

    อนึ่ง สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหาผลกำไร มีอำนาจหน้าที่ อาทิ 1)คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค 2)ติดตามและตรวจสอบปัญหาที่กระทบสิทธิผู้บริโภค 3)ส่งเสริมองค์กรของผู้บริโภคในระดับพื้นที่และจังหวัด 4)ดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค 5)ช่วยเหลือสมาชิกในการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททั้งก่อนและในระหว่างการดำเนินคดี 6)สนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อใช้ประโยชน์ในการคุ้มครองสิทธิ 7)เสนอแนะนโยบายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ภาครัฐ

    มอบ ธ.ก.ส.จ่าย 6,056 ล้าน จูงใจเกษตรกรตัดอ้อยสด-ลด PM 2.5

    ผศ.ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. อนุมัติโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสด เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2563/2564 กรอบวงเงิน 6,056 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธ.ก.ส.)  ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่ส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาอ้อยในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว และช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดให้มีรายได้รวมมากกว่าชาวไร่อ้อยที่เผาอ้อย ซึ่งเป็นการจูงใจให้เกษตรกรตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น

    สำหรับรายละเอียดการดำเนินโครงการคล้ายคลึงกับฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา แต่โครงการฤดูการผลิตปี 2563/2564 นี้ รัฐจะให้ความช่วยเหลือเฉพาะเกษตรชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดคุณภาพดีส่งโรงงานเท่านั้น (ประมาณ 300,000 ราย) ในอัตรา 120 บาทต่อตัน ตั้งเป้าหมายอ้อยสดร้อยละ 80 ของปริมาณอ้อยคาดการณ์ทั้งหมด 70 ล้านตัน คิดเป็นอ้อยสด 56 ล้านตัน

    โดยจ่ายเงินช่วยเหลือเพียงครั้งเดียวหลังปิดหีบ (ระหว่างเดือนมิถุนายน – กันยายน 2564)  ซึ่ง ธ.ก.ส. จะโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรทุกรายโดยตรง ทั้งที่เป็นคู่สัญญากับโรงงานและเกษตรกรรายย่อยที่ส่งอ้อยผ่านหัวหน้ากลุ่มชาวไร่อ้อย
    เผา
    ส่วนผลการดำเนินโครงการฤดูการผลิตปี 2562/2563 ที่ผ่านมา ได้จ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยสดแล้ว 1.33 แสนราย เป็นเงินจำนวน 3,457 ล้านบาท มีปริมาณอ้อยสดส่งเข้าโรงงาน จำนวน 37.58 ล้านตัน และมีปริมาณอ้อยไฟไหม้ลดลงเหลือร้อยละ 49.65 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด เมื่อเทียบกับปริมาณอ้อยไฟไหม้ในฤดูกาลผลิตปี 2561/2562 อยู่ที่ร้อยละ 61.11 ของปริมาณอ้อยเข้าหีบทั้งหมด

    นอกจากนี้ ครม. รับทราบแผนดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ดังนี้ 1)ปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ แบ่งเป็น ฤดูการผลิตปี 2564/2565 ไม่เกินร้อยละ 10 ฤดูการผลิตปี 2565/2566 ไม่เกินร้อยละ 5 และฤดูการผลิตปี 2566/2567 เป็นศูนย์ 1) หักเงินชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาท 3)กำหนดโทษปรับโรงงานที่รับอ้อยไฟไหม้เกินเกณฑ์ที่กำหนด 4)จัดหาเครื่องสางใบอ้อยให้เกษตรกรยืม เพื่ออำนวยสะดวกในการตัดอ้อยสด  5)ส่งเสริมการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเพิ่มรายได้และลดการเผาใบอ้อยหลังตัด 6)ขอความร่วมมือโรงงานช่วยประกันราคารับซื้ออ้อยสด ในราคาที่เหมาะสมกับต้นทุนการตัดอ้อยสดอย่างน้อย 2 ฤดูการผลิต  และให้จัดคิวรับอ้อยสดเข้าหีบเป็นอันดับแรก 7)สนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตร

    “การช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อส่งเสริมการตัดอ้อยสดในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการจูงใจให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดส่งโรงงานมากขึ้น และตอบสนองการแก้ปัญหามลพิษฝุ่น PM 2.5 ตามนโยบายรัฐบาลแล้ว ยังช่วยให้เกษตรกร มีเงินทุนหมุนเวียนเพียงพอในการประกอบอาชีพและดำรงชีพอีกด้วย”

    ผ่านร่างแผนปฏิบัติการอาเซียนต่อต้านขยะทะเล ปี’64-68

    นางสาวไตรศุลี  ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม. เห็นชอบร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี 2564-2568(ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris 2021-2025) และยังอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายรับรองร่างแผนปฏิบัติการดังกล่าว และหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำในร่างแผนปฏิบัติการในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยไม่ต้องเสนอ ครม. อีก โดยทางสำนักเลขาธิการอาเซียนจะขอรับการรับรองร่างแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลปี 2564-2568 จากรัฐมนตรีอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2564

    สำหรับวัตถุประสงค์ของร่างแผนปฏิบัติการฯนั้น เพื่อสร้างการประสานงานทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศให้มีการจัดการสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาขยะพลาสติกในทะเล เนื่องจากขยะประเภทนี้มีปริมาณมากและใช้เวลาในการย่อยสลายนาน เริ่มตั้งแต่ต้นทางของการออกแบบบรรจุภัณฑ์ไปจนถึงปลายทางในเรื่องของการจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ใน 4 ด้านคือ 1. Policy Support and Planning 2.Research, Innovation,and Capacity Building 3.Public Awareness, Education, and Outreach และ 4.Private Sector Engagement

    โดยแผนปฏิบัติการนี้สามารถดำเนินงานได้อย่างสอดประสานกัน เพื่อแก้ไขปัญหาตลอดห่วงโซ่คุณค่าของพลาสติก ซึ่งตอบสนองต่อกรอบปฏิบัติการทั้ง 4 ด้าน และครอบคลุมการดำเนินการในทุกช่องของพลาสติกได้แก่ ลดการนำพลาสติกเข้าสู่ระบบ, ส่งเสริมการจัดเก็บและลดการรั่วไหลออกจากระบบ และสร้างมูลค่าให้กับพลาสติกที่ถูกนำมาใช้ซ้ำ

    แจ้งผลงานส่งเสริมผ้าไทยฯ-สร้างรายได้ 8,511 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. รับทราบการสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่คู่แผ่นดิน โดยผลการดำเนินงานตามมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2563 พบว่า ทุกจังหวัดมีมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการสวมใส่ผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองตามความเหมาะสมของท้องถิ่น โดยมีการกำหนดให้ข้าราชการและประชาชนแต่งกายด้วยผ้าไทยและผ้าพื้นเมืองอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน จำนวน 51 จังหวัด

    จากการดำเนินมาตรการดังกล่าวพบว่า ผู้ทอผ้ามีรายได้จากการจำหน่ายระหว่างเดือนมิถุนายน 2563-มกราคม 2564 จำนวน 8,511 ล้านบาท  จังหวัดที่มียอดจำหน่ายสูงสุด 3 อันดับคือ ขอนแก่น, นครราชสีมา และอุดรธานี ส่วนผู้ผลิตและผู้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวน 8,016 กลุ่ม  สมาชิกกลุ่มผู้ผลิตและผุ้ประกอบการโอทอปได้รับประโยชน์จำนวนทั้งสิ้น 69,553 คน

    สำหรับการขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทยสู่การรักษาไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของผ้าไทยนั้น  ตามที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ได้มีพระดำริว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” เมื่อคราวเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน OTOP City 2020 เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563  ซึ่งได้มีกลุ่มทอผ้า นำแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้า ต่อยอดแล้วจำนวน 1,042 กลุ่ม 10,168 คน มียอดจำหน่ายจำนวน 6,856,740 บาท

    และมีการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการทอผ้า โดยดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการทอผ้าจังหวัดตราด และจัดตั้งกลุ่มอาชีพทอผ้า ซึ่งกรมการพัฒนาชุนได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 796,100 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมและค่าวัสดุในการฝึกอบรม

    อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาและอุปสรรคสำหรับมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการใช้และสวมใส่ผ้าไทย เช่น ต้นทุนการผลิตสูง ผู้ประกอบการบางส่วนมีข้อจำกัดด้านการผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าครั้งละจำนวนมากได้ และความไม่ต่อเนื่องของการผลิตในบางจังหวัด กลุ่มทอผ้าขาดทักษะ กลุ่มตัดเย็บผ้าบางพื้นที่ขาดความประณีต และยังพบปัญหาด้านการตลาด เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดฯ ทำให้การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายและผู้ซื้อสินค้าน้อยลง

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 11 พฤษภาคม 2564เพิ่มเติม