ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เล็งขยายสิทธิ์ “เราชนะ” ให้ ขรก.-มติ ครม.เห็นชอบผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ “คนละครึ่ง” ลงทะเบียนใหม่ พรุ่งนี้!

นายกฯ เล็งขยายสิทธิ์ “เราชนะ” ให้ ขรก.-มติ ครม.เห็นชอบผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ “คนละครึ่ง” ลงทะเบียนใหม่ พรุ่งนี้!

19 มกราคม 2021


พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ จวก “ธนาธร” บิดเบือนปมนำเข้าวัคซีนโควิดฯ สั่งดำเนินคดีคนเผยแพร่-เล็งขยายสิทธิ์ “เราชนะ” ให้ ขรก. -มติ ครม.เห็นชอบผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ “คนละครึ่ง” เฟส 1-2 ลงทะเบียนใหม่ พรุ่งนี้!

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยในวันนี้ยังคงใช้การประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีเปิดถึงเผยความคืบหน้าในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เตรียมรับรองมาตรฐานวัคซีนจากแอสทราเซเนคา โดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด สามารถผลิตได้ โดยคาดไทยจะได้รับวัคซีนในเดือนพฤษภาคม–มิถุนายน เป็นการใช้วัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และยังต้องควบคุมเพราะรัฐบาลมีหน้าที่ในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 เพื่อดูแลประชาชนทั้งประเทศ ในอนาคตยังมีการจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพดีเพิ่มเติมได้อีก

ชู “ไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน” เป็นนโยบายรัฐปี 64

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญสุดวันนี้เน้นในเรื่องเศรษฐกิจ ไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน โดยได้กำหนดให้เป็นนโยบายของรัฐบาลในปี 2564 และดำเนินการต่อเนื่องไปตามแผนยุทธศาสตร์ของเรื่องเหล่านี้ไปถึงปี 2569 นี้ ในเรื่องทำอย่างไรที่จะทำให้ประชาชนของเราหลุดพ้นจากการดักรายได้ปานกลาง และมีรายได้ที่เพียงพอให้พี่น้องประชาชนทุกคนโดยเฉพาะด้านเกษตรกร ในส่วนของศักยภาพเรามีทั้งด้านเกษตรสุขภาพ ซึ่งต้องใช้เศรษฐกิจแบบไบโอ เซอร์คูลาร์ กรีน ในการขับเคลื่อน ซึ่งตนได้เน้นย้ำกับ ครม. ไปแล้วและอีกหลายหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ยังมีการอนุมัติแผนช่วยเหลือเยียวยาในระยะต่อจากนี้ไป ซึ่งมอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงาน และฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แถลงรายละเอียดต่อสื่อมวลชน เนื่องจากมีรายละเอียดหลายอย่างด้วยกัน ในเรื่องใครจะได้ ได้อย่างไร วิธีการลงทะเบียน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีรายละเอียดเยอะพอสมควร

“สรุปแล้วรัฐบาลจะดูแลคนให้มากที่สุด ในส่วนที่เรายังมีงบประมาณเหลืออยู่ แต่จำเป็นต้องสงวนไว้บางส่วนเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ในขั้นต่อไปในเรื่องของการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย รายละเอียดไทยชนะขอให้ไปฟังหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งมีปลีกย่อยเยอะอยู่เหมือนกัน สิ่งสำคัญคือเราจะดูแลคนให้ได้มากที่สุด แต่ต้องยอมรับในกฎกติกาบ้าง หลายอย่างเราต้องการให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ ขอบคุณทุกคนในความร่วมมือ ผมคาดหวังเพียงเท่านั้นเอง”

ส่ง “อาคม” เจรจา “เมียนมา” ยกเลิกสัมปทานไทยในทวาย 7 โครงการ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามถึงจุดยืนรัฐบาล หลังบริษัทอิตาเลียนไทยส่งหนังสือขอความช่วยเหลือถึงนายกฯ จากกรณีที่เมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทาน 7 โครงการ ในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ว่า เรากำลังเดินหน้าตรงนี้อยู่ ช่วงที่ผ่านมาเราก็มีปัญหาเยอะพอสมควร วันนี้ก็มีการปรับปรุงในการเจรจาความร่วมมือดังกล่าว โดยได้มอบหมายให้นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายไปดูกติกาต่างๆ การคุ้มครองการลงทุนของประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้อย่างไร ซึ่งได้มอบหมายให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นผู้เจรจามาก่อนหน้านี้ได้หารือกับทางการเมียนมาต่อไป ซึ่งคิดว่าน่าจะทำให้ดีขึ้นในส่วนนี้

โยน ศธ.ตอบคำถาม “วันเปิดเทอม”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยตนคิดว่ามีแนวโน้มที่จะลดลงและควบคุมได้ถึงแม้ว่าตัวเลขจะส่งขึ้นแต่หากควบคุมได้ก็ไม่มีปัญหา โดยรัฐบาลได้เตรียมความพร้อมทั้งในเรื่องของมาตรการการคัดกรองการจัดพื้นที่ควบคุมซึ่งได้มีพื้นที่ใหม่ที่เกิดขึ้นมาคือในเรื่องของ factory quarantine ซึ่งเป็นความร่วมมือของเขาเองกับรัฐบาล

“ข้อสำคัญคือต้องขอความร่วมมือจากทุกท่านเนื่องจากมาตรการควบคุมต่างๆ ยังคงต้องดำเนินต่อไป การจะตอบว่าต้องใช้มาตรการไปถึงเมื่อไหร่จะต้องรอดูผลการประเมินเป็นวาระไป วันนี้ก็ต้องดูผลจากสิ้นเดือนนี้ไปก่อน”

ต่อคำถามหลักเกณฑ์การเปิดเทอม นายกรัฐมนตรีระบุเพียงสั้นๆ ว่า “เรื่องการศึกษาก็ได้ให้กระทรวงศึกษาธิการรับเรื่องไปแล้วเขาก็จะไปดำเนินการพิจารณาของเขากรุณาสอบถามไปกับกระทรวงศึกษาธิการ”

จวก “ธนาธร” บิดเบือนปมนำเข้าวัคซีนโควิดฯ ขู่ดำเนินคดีคนเผยแพร่

ต่อกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การนำเข้าวัคซีนที่มีการเชื่อมโยงกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด โดยโยงเกี่ยวการเมือง และใช้คำว่า “วัคซีนพระราชทาน” ว่า แล้วก็เรื่องการนำเข้าวัคซีนและรายชื่อของบริษัทนี้ตนถือว่าเป็นการบิดเบือน และเตือนให้ทุกคนระมัดระวังในการนำเสนอข่าว

“ทุกเรื่อง ทุกอย่างไม่ใช่ข้อเท็จจริงเลย เรื่องใดก็ตามที่เป็นเรื่องของการบิดเบือนไม่ใช่ข้อเท็จจริงแล้วนำมาเผยแพร่ไม่ว่าจะในสื่อโซเชียลก็ตาม ผมให้มีการดำเนินคดีทุกรายการ ทุกเรื่อง ก็ขอให้ทุกคนระมัดระวังด้วย อย่าหาว่าผมเอากฎหมายมาขู่ ทุกคนต้องรักษาความเชื่อมั่นของรัฐบาลไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นต่างคนก็เขียนกันไปโดยไม่รับผิดชอบไม่ได้ทั้งสิ้น กฎหมายนั้นมีทุกตัว”

ปัดตอบปมเงินชดเชย “บีทีเอส” 9,000 ล้าน อ้างเป็นคำถามชี้นำ

พล.อ. ประยุทธ์ ตอบคำถามกรณีหนี้จำนวน 9,000 ล้านบาท ที่ต้องชำระให้เอกชน (บีทีเอส) สืบเนื่องจากการเปิดใช้รถไฟฟ้าฟรีของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ใครจะเป็นผู้จ่าย ว่า เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องของการหารือ การดำเนินการของคณะผู้รับผิดชอบที่กำลังดำเนินการอยู่ อีกไม่นานก็จะมีการเสนอแนวทางแก้ไขมาจนได้ ดังนั้น ตนไม่ขอตอบคำถามนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นการชี้นำให้ตนตอบ ซึ่งตนเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้สามารถสั่งการได้ในทุกเรื่อง ต้องดูข้อกฎหมาย ดูความรับผิดชอบ และหลายๆ อย่างเกิดมาตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ต้องไปว่ากันตั้งแต่ตรงนั้น ทั้งนี้ ตนไม่โทษใคร แต่พยายามจะแก้ทุกอย่างอยู่

“ขอความร่วมมือ ขอความไว้ใจ อะไรที่ไม่เป็นสาระผมก็พยายามที่จะไม่พูด เพราะฉะนั้นอย่าเอาเรื่องที่ไม่เป็นสาระมาถามผม หลายเรื่องเป็นเรื่องของความขัดแย้ง โอกาสของเรามีอย่างเดียวคือประเทศไทยต้องไม่มีความขัดแย้งไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม หารือกันเข้าสู่ช่องทางที่ถูกต้อง ว่าจะคุยกันตรงไหนอย่างไร ผมไม่ขัดข้องสักเรื่องก็ขอให้เข้าใจหน้าที่ของรัฐบาลและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีด้วยแล้วกัน ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยให้ไปถามต้นทาง ไปถามอย่างผู้ปฏิบัติ วันนี้ตนทำงานในนามของ ครม. ในฐานะนายกฯ อนุมัติแผนงานต่างๆ ที่เข้ามาใน ครม. ให้อนุมัติร่วมกันทุกกระทรวง มีรัฐมนตรีอยู่ร่วมกันทั้งหมดในการรับผิดชอบในเรื่องรายละเอียด”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

เคาะ “เราชนะ” แจกคนละ 7,000 บาท นายกฯ เล็งขยายสิทธิ์ให้ ขรก.

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. เห็นชอบโครงการ “เราชนะ” กรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชนด้วยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือจำนวนไม่เกิน 3,500 บาทต่อคนต่อเดือน จำนวนประมาณ 31.1 ล้านคน

ทั้งนี้ผู้ได้รับสิทธิ์จะไม่สามารถเบิกเงินสดได้ ต้องนำไปใช้ผ่านระบบเพื่อชำระค่าสินค้า เครื่องดื่ม และอาหาร ค่าโดยสารรถจักรยานยนต์สาธารณะ รถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน (แท็กซี่มิเตอร์) และรถตู้โดยสารประจำทางที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งบริการต่างๆ ยกเว้นสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ หรือยาสูบที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น

ในส่วนผู้ประกอบการ/ร้านค้าที่จะเข้าร่วมโครงการฯ ต้องไม่เป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า ที่เป็นนิติบุคคล โดยเป็นผู้ประกอบการ/ร้านค้า/บริการรายย่อยที่มีสถานประกอบการเป็นหลักแหล่งและตรวจสอบได้ หรือเป็นร้านค้าของกองทุนหมู่บ้านหรือกองทุนชุมชนเมืองหรือวิสาหกิจชุมชน และจะสามารถใช้จ่ายเงินสนับสนุนได้ตั้งแต่กุมภาพันธ์ – สิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 โดยจะมีการแบ่งจ่ายเป็นรายสัปดาห์ รวม 8 สัปดาห์ จนกว่าจะครบ 7,000 บาท เพื่อให้เกิดการกระจายการใช้จ่ายแต่ละช่วงเวลาด้วย

รายละเอียดโครงการฯ เพิ่มเติม ดังนี้

  1. กลุ่มเป้าหมาย: จำนวน 31.1 ล้านคน เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป
    • ไม่ใช่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33
    • ไม่ใช่ข้าราชการและข้าราชการการเมือง พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐ
    • ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ
    • ไม่มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาทในปีภาษี 2562
    • ไม่มีเงินฝากทุกบัญชี 500,000 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
  2. ช่องทางการจ่ายเงิน 3 ช่องทาง คือ
    • กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 13,738,023 คน เบิกจ่ายเงินผ่าน กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (ช่อง e-Money) โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่
    • กลุ่มผู้ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเราเที่ยวด้วยกันสำเร็จและผ่านการยืนยันตัวตนเปิดใช้แอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 27 มกราคม 2564 เมื่อผ่านการตรวจสอบข้อมูลและคัดกรองผู้ได้รับสิทธิ์แล้ว จะเบิกจ่ายผ่าน “เป๋าตัง” จำนวน 3,500 บาทต่อเดือนโดยไม่ต้องลงทะเบียน
    • กลุ่มผู้ไม่มีข้อมูลอยู่ในระบบฐานข้อมูลผู้มีบัตรโครงการคนละครึ่งและโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ต้องลงทะเบียนใหม่ เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564 นี้ จนถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ เราชนะ.com
  3. ผู้ที่ได้รับสิทธิเยียวยาในโครงการเราชนะจะสามารถใช้เงินได้ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 โดยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะสามารถเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านโครงการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป ส่วนผู้ที่ได้รับสิทธิในกลุ่มอื่นๆ จะสามารถเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านโครงการนี้ได้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2564 เป็นต้นไป

“ประชาชนที่ได้รับสิทธิ์เงินช่วยเหลือดังกล่าว จะได้ยกเว้นเงินภาษีรายได้บุคคลธรรมดา โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ เกิดการใช้เพื่อการบริโภค สร้างเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ ลดปัญหาสังคมที่อาจเกิดขึ้น”

นายอนุชากล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้กล่าวในที่ประชุมว่า หากเป็นไปได้อาจให้สิทธิเพิ่มกับข้าราชการ และบุคคลที่ไม่ได้รับสิทธิ ให้ได้สิทธิเพิ่มเติมด้วย โดยให้ทางกระทรวงการคลังไปพิจารณา

  • ครม.เคาะ “เราชนะ” แจกคนละ 7,000 บาท 31 ล้านคน เริ่มลงทะเบียน 29 ม.ค.นี้
  • เห็นชอบผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์ “คนละครึ่ง” เฟส 1-2 ลงทะเบียนใหม่ พรุ่งนี้!

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 โดยเปลี่ยนเงื่อนไขการดำเนินโครงการฯ “กำหนดให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน ภายใต้โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 ไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้” เป็น “กำหนดให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากการไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน ภายใต้โครงการคนละครึ่งระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถลงทะเบียนใหม่ได้” ส่งผลให้ผู้ที่ถูกตัดสิทธิ์เนื่องจากไม่ใช้จ่ายภายใน 14 วัน โครงการคนละครึ่งระยะที่ 1 และโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 สามารถลงทะเบียนได้ หากยังมีจำนวนสิทธิ์เหลืออยู่

    ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการฯ ครั้งนี้ ไม่กระทบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการดำเนินโครงการในส่วนอื่นๆ ของโครงการฯ ระยะที่ 1 และระยะที่ 2 และไม่กระทบต่อแหล่งเงินดำเนินโครงการ ซึ่งเบิกจ่ายภายใต้วงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ ประกอบด้วย วงเงินกู้สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 1 จำนวน 30,000 ล้านบาท และวงเงินกู้สำหรับโครงการฯ ระยะที่ 2 จำนวน 22,500 ล้านบาท รวมวงเงิน 52,500 ล้านบาท

    อนึ่ง ในวันพุธที่ 20 มกราคม 2564 กระทรวงการคลังจะนำสิทธิที่เหลือของโครงการคนละครึ่งและโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จำนวนรวม 1.34 ล้านสิทธิ เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพิ่มเติมผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ระหว่างเวลา 06.00 น. – 23.00 น. จนกว่าจะครบจำนวน โดยการลงทะเบียนรอบเพิ่มเติมนี้ ผู้ที่ถูกตัดสิทธิโครงการคนละครึ่งและโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 2 จากการไม่ใช้สิทธิภายใน 14 วัน สามารถลงทะเบียนได้

    อนุมัติงบฯ 166 ล้าน จ่าย VAT นำเข้าวัคซีนโควิดฯ

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติวงเงิน 166,530,000 บาท สำหรับจ่ายเป็นค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (ร้อยละ 7.0 ของมูลค่าวัคซีนที่จอง) ในการจองวัคซีนแอสทราเซเนคาล่วงหน้าจำนวน 26 โดส ในโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท แอสทราเซเนคา เป็น 2,545.9606 ล้านบาท จากเดิม 2,379.4306 ล้านบาท

    ทั้งนี้ เป็นการขอทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) สำหรับประชาชนไทย โดยการจองล่วงหน้า (AstraZeneca) จากวงเงิน 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงิน 6,216.25 ล้านบาท

    โดยเพิ่มงบประมาณในส่วนการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าผ่านความร่วมมือแบบทวิภาคีกับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จาก 2,379.4306 ล้านบาท เป็น 2,545.9606 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มในการดำเนินงานดังกล่าว ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ จะได้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ต่อไป

    ขยายเวลา “1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่” ถึงสิ้นปี 64

    นายอนุชากล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติอนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการฯ โดยเห็นควรปรับลดกรอบวงเงินของโครงการจากเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติโครงการเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 วงเงิน 9,805.7075 ล้านบาท เป็น 3,550.9175 ล้านบาท และขยายระยะเวลาดำเนินโครงการ จากเดิมสิ้นสุดเดือนกันยายน 2564 เป็นธันวาคม 2564 พร้อมทั้งเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำกับดูแลหน่วยงานรับผิดชอบ ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ อย่างเคร่งครัด

    ขณะเดียวกัน ได้อนุมัติให้มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ยกเลิกการดำเนินโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และส่งเสริมการขายในรูปแบบตลาดออนไลน์ของวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปปลา บ้านท่าดินแดง จังหวัดนครสวรรค์ วงเงิน 1.6370 ล้านบาท ตามที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำกับสถาบันการศึกษาให้พิจารณาตรวจสอบความซ้ำซ้อนของโครงการที่อยู่ในความรับผิดชอบ เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวมต่อไป

    ผ่าน กม.กำหนดหลักเกณฑ์บริหารจัดการทรัพย์สินวัด

    นายอนุชากล่าวว่า ครม. มติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการดูแลรักษาและจัดการศาสนสมบัติของวัด พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาการแสวงหาประโยชน์ในที่ดินของวัด และแก้ไขจำนวนเงินที่วัดสามารถเก็บรักษาได้ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน รวมทั้งปรับปรุงบทบัญญัติในประเด็นอื่นๆ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างจากกฎกระทรวงเดิม ดังนี้

    1. การมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัด จากเดิมไม่มีการกำหนดเกี่ยวกับการมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์แทนวัดได้ เป็นกำหนดให้วัดสามารถมอบอำนาจให้ พศ. จัดประโยชน์ในศาสนสมบัติของวัดทั้งหมดหรือแต่บางส่วนแทนวัดได้
    2. การให้เช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง จากเดิมกำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา หรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี ต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. (กรมการศาสนา ศธ. เดิม) เป็น กำหนดให้การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนา ที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์หรือ “สิ่งปลูกสร้าง” ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปีต้องได้รับความเห็นชอบจาก พศ. และได้รับอนุมัติจากมหาเถรสมาคม
    3. การเก็บรักษาเงินของวัด จากเดิมกำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน 3,000 บาทขึ้นไป ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือนิติบุคคลที่ พศ. ให้ความเห็นชอบ เป็นกำหนดให้การเก็บรักษาเงินของวัดในส่วนที่เกิน “100,000 บาทขึ้นไป” ให้เก็บรักษาโดยฝากธนาคาร หรือวิธีการอื่นใดตามที่มหาเถรสมาคมกำหนด

    ต่อเวลาสินเชื่อยกระดับชุมชน-ช่วย SMEs ถึง 18 ธ.ค.64

    ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ออกไปอีก 1 ปี คือสิ้นสุดวันที่ 18 ธันวาคม 2564 เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมาย ดังนี้

    1. ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในธุรกิจเกษตรแปรรูป ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจค้าส่งค้าปลีก
    2. ให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกประมาณ 5,760 ราย วงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายไม่เกิน 1.65 ล้านบาท ภายใต้วงเงินโครงการคงเหลือ 9,559 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน อีกทั้งยังสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 43,510 ล้านบาทด้วย

    ไฟเขียวเกณฑ์ตัดหนี้สูญย้อนหลังตั้งแต่ 1 ม.ค.63

    ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบปรับปรุงหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไปและของสถาบันการเงิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    1. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละราย จากเดิมเกิน 500,000 บาทขึ้นไป เป็นเกิน 2,000,000 บาทขึ้นไป
    2. เพิ่มวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้แต่ละราย จากเดิมไม่เกิน 500,000บาท เป็นไม่เกิน 2,000,000บาท และกำหนดขั้นตอนให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ติดตามทวงถามให้ชําระหนี้ตามสมควร
    3. กำหนดวงเงินการจำหน่ายหนี้สูญของลูกหนี้รายย่อยของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลทั่วไป จากเดิมไม่เกิน 100,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท
    4. กำหนดให้การจำหน่ายหนี้สูญที่มีจำนวนไม่เกิน 200,000 บาท ไม่ต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในข้อที่ 1 หรือ 2 ข้างต้น ถ้าปรากฏว่ามีหลักฐานการติดตามทวงถามตามสมควรแล้ว แต่ไม่ได้รับการชำระหนี้ และหากจะฟ้องลูกหนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่คุ้มกับหนี้ที่จะได้รับ
    5. กำหนดหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ในส่วนของหนี้จากการให้สินเชื่อที่ได้กันสำรองครบ ร้อยละ 100 ตามหลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด

    ต่อเวลา “เจลล้างมือ-mask-กระดาษรีไซเคิล” เป็นสินค้าควบคุมอีก 1 ปี

    ผศ. ดร.รัชดากล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการกำหนดสินค้าควบคุมเพิ่มเติมปี 2564 ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 จำนวน 4 รายการ ได้แก่ 1. หน้ากากอนามัย 2. ใยสังเคราะห์ Polypropylene (Spunbond) เพื่อใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัย 3. ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ และ 4. เศษกระดาษและกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้อีก จากเดิมที่สิ้นสุดในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกไปอีก 1 ปี

    “ส่วนสินค้าเศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้ แม้ไม่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แต่ด้วยสถานการณ์ ราคาเศษกระดาษในตลาดโลกปรับตัวลดลง ซึ่งอาจมีการนำเข้าเศษกระดาษมาในไทยเพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นที่ต้องกำหนดเศษกระดาษ และกระดาษที่นำกลับมาใช้ได้เป็นสินค้าควบคุม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมด้านราคาแก่ผู้ประกอบการรับซื้อของและซาเล้ง รวมถึงป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วย” ผศ. ดร.รัชดากล่าว

    กำหนดนิยาม “ไม้ทรงคุณค่า” ตาม พ.ร.บ.ป่าชุมชนฯ

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดไม้ทรงคุณค่า ตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2562 ที่บัญญัติให้ไม้ทรงคุณค่า เป็นไม้หวงห้ามตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และให้หมายความรวมถึงไม้อื่นใดที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่ต่อไปตามลักษณะหรือชนิดที่กำหนดในกฎกระทรวง พร้อมกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติป่าชุมชน

    สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงคือ กำหนดลักษณะและชนิดของไม้ทรงคุณค่าว่าเป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดความโตตั้งแต่ 200 เซนติเมตรขึ้นไป โดยวัดรอบลำต้นตรงที่ระดับความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน และต้นไม้ที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์ เชิงวัฒนธรรมประเพณี ไม้ตามความเชื่อที่สืบต่อกันมาในท้องถิ่น และพันธุ์ไม้ที่หาได้ยากหรือใกล้สูญพันธุ์ หรือมีความสำคัญเชิงนิเวศในป่าชุมชน

    เสนอ “เมืองโบราณศรีเทพ” ขึ้นบัญชีมรดกโลก

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติเห็นชอบการนำเสนอเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ เข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก โดยประเทศไทยจะต้องจัดส่งเอกสารนำเสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อมรดกโลก ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เพื่อเข้าวงรอบการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกของคณะกรรมการมรดกโลก

    ทั้งนี้การเสนอครั้งนี้มีแหล่งมรดกวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง 3 แหล่งได้แก่ เมืองโบราณศรีเทพ โบราณสถานเขาคลังนอก และโบราณสถานถ้ำเขาถมอรัตน์ พื้นที่รวมประมาณ 8.66 ตารางกิโลเมตร

    นางสาวไตรศุลีกล่าวถึงเหตุผลที่เสนอเข้าสู่บัญชีรายชื่อ เนื่องจากเมืองโบราณศรีเทพมีรูปแบบผังเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ทั้งเมืองในและเมืองนอก ส่วนศาสนสถานเขาคลังนอกแสดงถึงความเป็นมณฑลจักรวาลที่ค่อนข้างสมบูรณ์ ศาสนสถานถ้ำถมอรัตน์มีความสำคัญของศาสนสถานประเภทถ้ำ ประติมากรรมสกุลช่างศรีเทพ มีความโดดเด่นและแตกต่างจากประติมากรรมในยุคสมัยเดียวกัน โดยเป็นประติมากรรมสลักลอยตัว เอียงตน และมีลักษณะสีหน้าผสมผสาน

    จัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย”

    นางสาวไตรศุลีกล่าวว่า ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย” (องค์การมหาชน) หรือ ส.ศ.ท. ซึ่งเปลี่ยนชื่อมาจากศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) พร้อมปรับปรุงวัตถุประสงค์ หน้าที่ และอำนาจของสถาบัน องค์ประกอบของคณะกรรมการสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย ตลอดจนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้อง

    โดยอำนาจหน้าที่ของสถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทยคือส่งเสริมและสนับสนุนการสร้าง ‘มูลค่าเพิ่ม’ ศิลปหัตถกรรมไทย และสนับสนุนด้านการตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ และสร้างรายได้อย่างยั่งยืน

    ขณะที่องค์ประกอบของคณะกรรมการ ได้แก่ ประธานกรรมการ ครม. จะแต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เกี่ยวกับการบริหารงานผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยพื้นบ้าน มีปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 8 คน ซึ่ง ครม. แต่งตั้งจากผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงเป็นที่ประจักษ์ในด้านที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ต่อกิจการของสถาบัน

    อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 19 มกราคม 2564เพิ่มเติม