ThaiPublica > สู่อาเซียน > ทางออกสู่ทะเลของ “ลาว” (1)

ทางออกสู่ทะเลของ “ลาว” (1)

9 ธันวาคม 2020


ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ รายงาน

ที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง ทางออกสู่ทะเลที่ใกล้ที่สุดของลาว

ช่วงสัปดาห์เฉลิมฉลองวันชาติครบรอบ 45 ปี เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา มีข่าวหนึ่งซึ่งถูกเผยแพร่ในสื่อของลาวอย่างกว้างขวาง เป็นข่าวที่รัฐบาลเวียดนามเห็นชอบให้ลาวเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างจาก 20% ขึ้นเป็น 60% และได้เข้าบริหารท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3

ข่าวนี้มาจากให้สัมภาษณ์ของ “วิไลคำ โพสาลาด” รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ต่อหนังสือพิมพ์ประชาชน ที่บอกถึงพัฒนาการด้านโครงสร้างพื้นฐานในลาวที่เกิดขึ้นในช่วง 45 ปี นับแต่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวขึ้นมา และได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563

วิไลคำให้สัมภาษณ์หลายเรื่อง แต่มีช่วงหนึ่งที่รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง กล่าวว่า…

“การพัฒนาด้านโยธาธิการทางน้ำที่โดดเด่น กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ได้รับการตกลงจากรัฐบาลให้เซ็นสัญญาว่าด้วยความร่วมมือ ลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ 1, 2 และ 3 ของท่าเรือหวุงอ๋าง กับกระทรวงคมนาคมขนส่งของเวียดนาม และเวียดนามยังเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของลาวในท่าเรือแห่งนี้จาก 20% เป็น 60% โดยฝ่ายเวียดนามลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40% กำหนดเวลา 70 ปี และสามารถต่ออายุได้อีก”

เธอไม่ได้ให้รายละเอียดมากไปกว่านี้ แต่สื่อลาวได้นำเนื้อหาไปขยายความ ทำให้ข่าวดูน่าสนใจมากขึ้น จนเห็นถึงบทบาทของท่าเรือหวุงอ๋าง ว่ามีความสำคัญกับลาวอย่างมาก ไม่แพ้เส้นทางรถไฟลาว-จีน

เพียงแต่ไม่มีรายงานความคืบหน้าให้เห็นเป็นระยะ ต่อเนื่อง แบบเดียวกับเส้นทางรถไฟ

“สปป.ลาว จะลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือออกสู่ทะเลในสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม” เป็นประเด็นที่สื่อส่วนใหญ่ในลาวนำมาใช้พาดหัว (โปรดดูภาพประกอบ)

ข่าวการให้สัมภาษณ์ของรองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ช่วงก่อนเฉลิมฉลองวันชาติ ครบรอบ 45 ปี


ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง อยู่ในจังหวัดฮาติงห์ จังหวัดชายทะเลภาคกลางค่อนขึ้นมาทางเหนือของเวียดนาม อยู่ทางใต้ของกรุงฮานอย 340 กิโลเมตร และอยู่ทางเหนือของจังหวัดกว๋างบิ่ญ

พ.ศ. 2540 รัฐบาลเวียดนามได้วางแนวทางพัฒนาเมืองหวุงอ๋าง ตามแผน “เหนือกว๋างบิ่ญ ใต้ฮาติงห์” ด้วยการสร้างเขตอุตสาหกรรมและท่าเรือนำลึกหวุงอ๋าง จากนั้นในปี 2549 ได้สถาปนา “เขตเศรษฐกิจหวุงอ๋าง” ขึ้นบนพื้นที่ 227.81 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 142,400 ไร่ บริเวณเชิงเขาทางเหนือของเทือกเขาหว่าญเซิน ในอำเภอกี่อาญ

นอกเหนือจากที่ดินซึ่งเตรียมไว้สำหรับให้นักลงทุนมาสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ยังมีท่าเรือหวุงอ๋างที่เป็นแม่เหล็กสำคัญ สำหรับดึงดูดเม็ดเงินลงทุน

ท่าเรือหวุงอ๋างยาว 1.5 กิโลเมตร อยู่บนร่องน้ำลึก 9.5 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกได้ 46,000 เดทเวทตัน (ดูแผนที่ประกอบ)

ท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง จังหวัดฮาติงห์ ชายฝั่งทะเลตะวันออกของเวียดนาม

บทรายงานจากทีมเจ้าหน้าที่จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ของไทย ที่เดินทางไปสำรวจเส้นทางโลจิสติกส์ ไทย-ลาว-เวียดนาม ตั้งแต่จังหวัดมุกดาหาร ผ่านสะหวันนะเขต ขึ้นไปจนถึงกรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 5-10 มิถุนายน 2560 เขียนไว้ว่า ท่าเรือหวุงอ๋างประกอบด้วย

  • ท่าเทียบเรือ 1 ยาว 185 เมตร กว้าง 28 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 13,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ 2 ยาว 270 เมตร กว้าง 31 เมตร คลังสินค้ากว้าง 5,000 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 24,000 ตารางเมตร
  • ท่าเทียบเรือ 3 ยาว 225 เมตร กว้าง 95 เมตร คลังสินค้ากว้าง 6,400 ตารางเมตร และลานเก็บสินค้ากว้าง 30,000 ตารางเมตร

รายงานระบุว่า ท่าเรือหวุงอ๋างใช้เพื่อส่งออกสินค้าเป็นส่วนใหญ่ 80-90% นำเข้าเพียง 10-20% สินค้าที่ส่งออกผ่านท่าเรือแห่งนี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรมและวัตถุดิบ เช่น เครื่องจักร ปูน หิน ทราย แร่ และถ่านหิน
สินค้าจากไทย ยังไม่เคยมีการส่งออกสินค้าผ่านทางท่าเรือหวุงอ๋าง

การที่ลาวไม่มีพื้นที่ติดทะเล เป็นข้อจำกัดหนึ่งในการวางแผนพัฒนาประเทศ

หลังปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองใหม่ๆ ช่วงทศวรรษ 2530-2540 ลาวได้นำวิสัยทัศน์ “จินตนาการใหม่” มาใช้เพื่อวางยุทธศาสตร์ประเทศ

แผนยุทธศาสตร์สำคัญประการหนึ่ง คือการเปลี่ยนสถานะจาก land lock คือประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล ให้เป็น land link คือพื้นที่เชื่อมต่อกับประเทศในภูมิภาค

เมื่อรัฐบาลเวียดนามสร้างท่าเรือหวุงอ๋างขึ้นมา จึงเหมือนเป็นการเปิดช่องทางออกสู่ทะเลให้กับลาว เพราะจุดที่ตั้งของท่าเรือแห่งนี้ คือปลายทางของถนนหมายเลข 8 และ 12 เส้นทางยุทธศาสตร์สำคัญในแนวขวางของลาว และหากวัดจากจุดเริ่มต้นที่นครหลวงเวียงจันทน์ จะเป็นปลายทางที่อยู่ใกล้ที่สุด ใกล้กว่าถนนหมายเลข 9 (เส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก หรือ East-West Economic Corridor: EWEC) ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ลงไป (ดูแผนที่ประกอบ)

เดือนเมษายน 2553 รัฐบาลเวียดนามและรัฐบาลลาวได้ร่วมลงนามจัดตั้งบริษัท Viet Nam-Laos Vung Ang Port Joint Stock Company ขึ้น ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 1,300 ล้านบาท ในอัตราแลกเปลี่ยนปัจจุบัน) ฝ่ายเวียดนามถือหุ้น 80% ลาว 20% เพื่อร่วมกันพัฒนาและบริหารท่าเรือหวุงอ๋างให้เป็นท่าเรือสำหรับส่งออกสินค้าที่ผลิตได้จากลาว

ปี 2558 หลังจากลาวได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยท่าเรือบก (dry port) รัฐบาลลาวได้ให้การรับรองแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งสินค้า ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง

หนังสือพิมพ์เศรษฐกิจสังคม มีรายงานในเดือนเมษายน 2559 ว่า แผนนี้ได้ยกระดับตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของลาว จาก land link ขึ้นเป็นศูนย์บริการทางผ่านด้านคมนาคมขนส่ง(transit services) หรือเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่ง รวบรวม และกระจายสินค้า (logistics hub)ให้กับภูมิภาค

แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการขนส่งสินค้า ได้กำหนดพื้นที่เพื่อสร้างศูนย์โลจิสติกส์สากลขึ้นใน 9 จุดสำคัญทั่วประเทศ ได้แก่

1. เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ตรงข้ามอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 และเป็นปลายทางของถนนสาย R3A

2. เมืองนาเตย แขวงหลวงน้ำทา อยู่ห่างจากชายแดนลาว-จีนที่บ่อเต็นประมาณ 20 กิโลเมตร เป็นเมืองสามแพร่ง จุดบรรจบของถนนสาย R3A กับถนนสาย 13 เหนือ

3. เมืองไซ แขวงอุดมไซ ชุมทางในโครงข่ายถนนภาคเหนือ จุดเชื่อมชายแดนลาว-เวียดนาม ทางฝั่งตะวันออก เข้าหาชายแดนลาว-ไทย ทางฝั่งตะวันตก

4. หลวงพระบาง เมืองท่องเที่ยวชื่อดังในภาคเหนือ

5. ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์ ที่ตั้งสถานีรถไฟแห่งแรกของลาว ปลายทางรถไฟลาว-จีน และจุดเชื่อมโครงข่ายรถไฟลาวกับโครงข่ายทางรถไฟไทย ที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้าม

6. เมืองหลักซาว แขวงบอลิคำไซ ห่างจากชายแดนลาว-เวียดนามประมาณ 35 กิโลเมตร เป็นเมืองหลักบนถนนหมายเลข 8 ที่เริ่มต้นมาจากเมืองท่าแขก แขวงคำม่วน และมีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

7. เมืองท่าแขก จุดเริ่มต้นของถนนหมายเลข 8 ที่ตั้งของสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 ตรงข้ามกับจังหวัดนครพนม

8. เมืองเซโน แขวงสะหวันนะเขต ตรงข้ามกับจังหวัดมุกดาหาร ที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวัน-เซโน ต้นทางของถนนหมายเลข 9 เส้นทางหลักของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) โดยมีปลายทางที่ท่าเรือดานัง เวียดนาม

9. เมืองวังเต่า แขวงจำปาสัก ตรงข้ามด่านช่องเม็ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี จุดเริ่มต้นโครงข่ายถนนที่เชื่อมระหว่างลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ศูนย์โลจิสติกส์ที่เมืองเซโน เป็นจุดแรกที่สร้างเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2559 จากนั้น เมื่อวันที่ 3 กรกฏาคมที่ผ่านมา ได้มีพิธีวางศิลาฤกษ์ เริ่มต้นก่อสร้างโครงการโลจิสติกส์ ปาร์ค ศูนย์โลจิสติกส์ที่ท่านาแล้ง นครหลวงเวียงจันทน์

เดือนสิงหาคม 2559 ลัดตะนะมะนี คูนนิวง รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ของลาว และเลดิ่งเถาะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมขนส่ง ของเวียดนาม นำคณะลงพื้นที่สำรวจแนวเส้นทางก่อสร้างทางด่วนเชื่อมนครหลวงเวียงจันทน์กับกรุงฮานอย เมืองหลวงของ 2 ประเทศ ลาว-เวียดนาม

ทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย มีแผนสร้างเป็นถนน 6 เลน ยาว 707 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปตามเส้นทางหมายเลข 13 (ใต้) จนถึงเมืองปากซัน แขวงบ่อลิคำไซ จากนั้นเบี่ยงไปทางทิศตะวันออก ผ่านเมืองเวียงทอง จนถึงชายแดนลาว-เวียดนาม ที่ด่านน้ำออน-แทงถุย เมืองแทงเจือง จังหวัดเหงะอาน

ทางด่วนส่วนที่อยู่ในเขตลาวช่วงนี้ ยาว 365 กิโลเมตร

ส่วนที่อยู่ในเวียดนาม ยาว 342 กิโลเมตร เริ่มจากด่านแทงถุยไปตามทางหลวงหมายเลข 46 และเชื่อมต่อเข้ากับทางด่วนภาคเหนือตอนใต้ของเวียดนามไปจนถึงกรุงฮานอย

ทางด่วนสายนี้คาดว่าต้องใช้งบประมาณก่อสร้างสูงกว่า 4,500 ล้านดอลลาร์

ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2560 นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม นำคณะเดินทางเยือนลาวอย่างเป็นทางการ ครั้งแรกตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง

ช่วงอยู่ในลาว นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก กับนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ของลาว ได้ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามข้อตกลงร่วม 2 ประเทศ รวม 9 ฉบับ มีข้อตกลงที่สำคัญ ได้แก่

  • ข้อตกลงระหว่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว และกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม ว่าด้วยการร่วมลงทุน ควบคุมและบริหารท่าเรือหวุงอ๋าง (ท่าเทียบเรือ 1 , 2 และ 3) เพื่อให้เป็น “ท่าเรือลาว-เวียด”
  • ข้อตกลงระหว่างกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว และกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม ว่าด้วยการลงทุนก่อสร้างทางรถไฟตั้งแต่นครหลวงเวียงจันทน์-ท่าแขก-มุยา-เติ่นเอิบ โดยมีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง
  • บทบันทึกความเข้าใจระหว่างกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ลาว และกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า เวียดนาม เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างคลังเก็บน้ำมัน ณ ท่าเรือห่อนลา และระบบท่อส่งน้ำมันห่อนลา-คำม่วน
  • นายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก กับนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด เข้ารับตำแหน่งปีเดียวกัน

    นายกรัฐมนตรีทองลุน รับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ส่วนนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก รับตำแหน่งในวันที่ 7 เมษายน 2559

    นายกรัฐมนตรีทองลุนเป็นชาวหัวพัน แขวงชายแดนติดกับเวียดนาม หลังเรียนจบในลาวเมื่อปี 2512 ได้ไปเรียนต่อทั้งในโซเวียตและในเวียดนาม ทำให้สามารถพูดได้อย่างคล่องแคล่ว ทั้งภาษาเวียดนาม และภาษารัสเซีย

    การประชุมของกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว กับกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม เรื่องทางรถไฟเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่มาภาพ : เว็บไซต์กระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว http://www.mpwt.gov.la/lo/news-lo/ministry-news-lo/1794-60818-lao-viet-conference-lo

    6 สิงหาคม 2561 เวียงสะหวัด สีพันดอน รองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ลาว ได้ร่วมประชุมกับเหวียน ง๊อกดิ่ง รองรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมและขนส่ง เวียดนาม เรื่องการสร้างทางรถไฟจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังท่าเรือหวุงอ๋าง

    โครงการนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศเกาหลี (Korea International Cooperation Agency: KOICA)

    ข้อมูลเบื้องต้นจากที่ประชุม ทางรถไฟสายนี้ ยาว 555 กิโลเมตร อยู่ในลาว 452 กิโลเมตร ในเวียดนาม 103 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นจากนครหลวงเวียงจันทน์ไปยังแขวงบ่ลิคำไซ แขวงคำม่วน เลี้ยวไปทางตะวันออก เข้าสู่เวียดนามที่ด่านชายแดนนาเพ้า-จาลอ ขึ้นสู่จังหวัดกว๋างบิ่ญ และจังหวัดฮาติงห์ มีปลายทางที่ท่าเรือหวุงอ๋าง

    การประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด กับนายกรัฐมนตรีเหวียน ซวน ฟุก ที่กรุงฮานอย เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2562 ที่มาภาพ : https://www.vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Lao129.php

    วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2562 หลังเสร็จสิ้นการประชุม “The Future of Asia” ครั้งที่ 25 ที่กรุงโตเกียว ระหว่างเดินทางโดยเครื่องบินกลับลาว นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้แวะพักที่กรุงฮานอย ช่วงสั้นๆ และได้เข้าร่วมประชุมกับนายกรัฐมนตรี เหวียน ซวน ฟุก

    การประชุมครั้งนั้น นายกรัฐมนตรี 2 ประเทศ เห็นพ้องในการผลักดันแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจสำคัญ 3 โครงการ ได้แก่

    • การพัฒนาท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋าง
    • การก่อสร้างทางรถไฟสายเวียงจันทน์-หวุงอ๋าง
    • การสร้างทางด่วนเวียงจันทน์-ฮานอย

    หนังสือพิมพ์ Vientiane Times มีรายงานข่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ฝ่ายลาวต้องการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Viet Nam-Laos Vung Ang Port Joint Stock Company จากเดิม 20% ขึ้นเป็น 60% เพราะท่าเรือหวุงอ๋างถือเป็นทางออกสู่ทะเลที่สำคัญของลาว ส่วนเวียดนามจะลดสัดส่วนลงมาเหลือ 40%

    การตัดสินใจของรัฐบาลเวียดนาม ได้ถูกเปิดเผยขึ้นจากคำให้สัมภาษณ์ของรองรัฐมนตรีกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง ในโอกาสวันชาติครบรอบ 45 ปี ครั้งนี้

    เห็นได้ว่า ขณะที่ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่โครงการทางรถไฟลาว-จีน แต่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องการเป็นศูนยกลางโลจิสติกส์ให้กับภูมิภาค ลาวได้ดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน เพื่อเปิดทางออกสู่ทะเลให้กับประเทศของตน

    ที่เล่ามาทั้งหมด เป็นการรวบรวมข้อมูลเฉพาะในส่วนของภาครัฐ

    ยังมีเรื่องราวของภาคเอกชนที่เข้ามามีบทบาทไม่น้อย ในการผลักดันการดำเนินการครั้งนี้ ซึ่งจะนำมาเล่าต่อไปในคราวหน้า