ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เตรียมลงนาม พ.ร.บ.ประชามติ-มติ ครม.ประกันรายได้ชาวนา-สวนยาง 61,900 ล้าน

นายกฯ เตรียมลงนาม พ.ร.บ.ประชามติ-มติ ครม.ประกันรายได้ชาวนา-สวนยาง 61,900 ล้าน

3 พฤศจิกายน 2020


นายกรัฐมนตรีถ่ายภาพร่วมกับคณะรัฐมนตรีก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 ณ หอประชุมสแปลชโรงแรมสแปลช บีช รีสอร์ท ไม้ขาว

นายกฯ เตรียมลงนาม พ.ร.บ.ประชามติ เชื่อจิตบริสุทธิ์นำชาติพ้นภัย “วิษณุ” มึนแกนนำม๊อบขอลี้ภัย-มติ ครม.ประกันรายได้ชาวนา-สวนยาง 61,900 ล้าน-เห็นชอบแผน 3 ปี ปราบยาเสพติดใช้งบฯ 15,957 ล้าน

เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 มีการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 3/2563 ณ โรงแรมสแปลช บีช ไม้ขาว โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ซึ่งบรรยากาศในการรักษาความปลอดภัยและการตรวจคัดกรองเป็นไปอย่างเคร่งครัด ขณะเดียวกันมีผู้เห็นต่างยืนถือป้ายแสดงออกทางการเมืองให้เห็นประปราย ทั้งนี้ บรรยากาศรอบเกาะภูเก็ตแม้การประชุม ครม.สัญจร จะทำให้โรงแรมหลายแห่งกลับมาคึกคัก แต่ภาพรวมของเกาะภูเก็ตยังคงเงียบเหงา ร้านรวงต่างๆ ที่ยังคงปิดบริการ ประชาชนในพื้นที่ที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวต่างต้องปรับตัว ซึ่งหลายคนเลือกที่จะหวนคืนสู่ภาคเกษตร และประมง

ลงพื้นที่ “สมุย-ภูเก็ต” พบนักธุรกิจ-ตรวจระบบคัดกรอง

ครม.สัญจรครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจราชการระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 ในพื้นที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก เพื่อฟื้นฟูเศรฐกิจควบคู่การดูแลด้านสุขภาพให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นและปลอดภัย โดยมีภารกิจ อาทิ

การตรวจมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย พร้อมชมการเก็บสารคัดหลั่ง เพื่อรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยว นักธุรกิจกลุ่มพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) ตามนโยบายรัฐบาลที่จะผ่อนคลายมาตรการให้สามารถเดินทางเข้าประเทศได้มากขึ้น โดยให้ยึดถือและปฏิบัติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

“การคัดกรองนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทุกขั้นตอน ทุกระบบมีความพร้อมแล้ว โดยเฉพาะกระบวนการเก็บสารคัดหลั่งและการตรวจหาเชื้อโควิด-19 หากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศเข้ามาแล้วระบบคัดกรองต้องใช้ได้ผล ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มมาตรการการผ่อนคลายมากขึ้น”

นายกรัฐมนตรี ตรวจศูนย์ควบคุมกล้องวงจรปิด (Samui Smart City Command Center)
นายกรัฐมนตรี ตรวจมาตรการคัดกรองนักท่องเที่ยวท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ท่าอากาศยานนานาชาติสมุย ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปตรวจแนวทางการบริหารจัดการของโรงแรมเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวในระบบ ALSQ (Alternative Local State Quarantine) ณ โรงแรมเชอราตัน สมุยรีสอร์ท ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งเมื่อนักท่องเที่ยวอยู่ใน ALSQ ครบตามกำหนด 14 วัน หากไม่พบเชื้อ ก็สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ของเกาะสมุยได้ โดยจะมีการมอบหนังสือรับรองการเข้าพักใน ALSQ และกำไลข้อมือ (Wristband) เพื่อติดตามการเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่เกาะสมุย โดยนักท่องเที่ยวต้องอยู่ในเกาะสมุยอย่างน้อย 7 วัน ซึ่งจะถูกติดตามผ่าน QR Code Samui Health Pass ทุกวัน แต่หากพบเชื้อ ก็มีกระบวนการด้านสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานรองรับการส่งตัว เพื่อเข้ารับการรักษาต่อไป

สำหรับโรงแรมที่ผ่านการตรวจประเมินเป็นโรงแรมสถานที่กักกันโรคแห่งรัฐทางเลือก (ALSQ) ในเขตอำเภอเกาะสมุย ขณะนี้มีจำนวน 8 โรงแรม ได้แก่ โรงแรม เชอราตัน สมุย รีสอร์ท, เดอะสปา มีเลีย, เอาท์ริกเกอร์เกาะสมุย บีช รีสอร์ท, บ้านหินทราย รีสอร์ทแอนด์สปา, บันยันทรี รีสอร์ท, อิมเพียน่า และโรงแรมออร่า สมุยเบสท์ บีช โฮเทล เป็นต้น

จากนั้นเดินทางไปตรวจระบบติดตามผู้เดินทางเข้า-ออกภายในเกาะสมุย ซึ่งใช้ศูนย์ควบคุมกล้องโทรทัศน์วงจรปิด Samui Smart City Command โดยระบบดังกล่าวใช้กล้องจำนวน 1,044 ตัว รอบเกาะสมุย มีห้องควบคุม ณ สำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย พร้อมทั้งมีการติดตั้งฟรี WiFi 26 จุด บนเกาะสมุย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และรองรับนักท่องเที่ยวในอนาคตทั้งไทยและต่างประเทศ รวมถึงการใช้ Application SAFE T (SAFE-Travel) เชื่อมโยงข้อมูลการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกาะสมุย กับระบบการตรวจจับใบหน้า เพื่อให้การตรวจสอบ และเฝ้าระวังด้านสุขภาพและความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากนั้นเดินทางไปพบประชาชนที่ ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังจังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นประธานการประชุมหารือแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ต ณ โรงแรมดวงจิตต์ รีสอร์ท แอนด์ สปา ร่วมกับ 6 ผู้ว่าราชการจังหวัดกลุ่มอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง และสตูล) และประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดภูเก็ต ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต  นายกสมาคมโรงแรมไทยภาคใต้ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดภูเก็ต นายกสมาคมมัคคุเทศก์อันดามัน เป็นต้น

ทั้งนี้ ในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 ก่อนการประชุม ครม. นายกรัฐมนตรีได้เป็นสักขีพยานในการมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรือ ที่อยู่อาศัยในพื้นที่เป้าหมายการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภายหลังการประชุม นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปย่านเมืองเก่าภูเก็ต เพื่อตรวจเยี่ยมสภาพวิถีชีวิตและเศรษฐกิจในย่านเมืองเก่าภูเก็ต

รับข้อเสนอเอกชนทุกข้อ แต่ส่งผ่านสภาพัฒน์ ฯกรองก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ตนไม่ขอตอบคำถามเกี่ยวกับการเมืองจะตอบเฉพาะวัตถุประสงค์ของการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ในครั้งนี้อย่างเดียวเท่านั้น  ซึ่งตนต้องการสร้างความรับรู้ให้ประชาชนทั้งประเทศได้เห็นว่า รัฐบาลเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาทั้งด้านสุขภาพและด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของเราที่เผชิญปัญหาอยู่ในขณะนี้

“วัตถุประสงค์ในการมานั้นคือการสร้างความเชื่อมั่น ความพร้อมของมาตรการต่างๆ ทุกมาตรการ ถ้าหากว่าเราเริ่มเปิดประเทศนั้นจะทยอยดำเนินการอย่างไรในระยะที่ 1 2 3 เพื่อทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น จากต่างประเทศเข้ามาโดยมีมาตรการคัดกรองที่เหมาะสม และเข้มงวด”

ขณะเดียวกันก็เพื่อจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่มีศักยภาพอยู่ให้สามารถเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็มีมาตรการทางด้านการเงินการคลังเพื่อที่จะขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ ให้เป็นไปได้ด้วยดีในช่วงนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องให้สามารถที่จะจ้างแรงงาน ลูกจ้างและพนักงานต่อไปได้

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่ตนได้รับฟังมาตลอดระยะเวลา 2 วันนี้ ก็คือในเรื่องของปัญหาข้อขัดข้องข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการในภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันก็มีอยู่หลายจังหวัดด้วยกัน ซึ่งได้มีผู้ว่าราชการจังหวัดมาร่วมประชุมด้วย ซึ่งรัฐบาลได้รับข้อเสนอในเรื่องต่างๆ ทั้งการเยียวยา การฟื้นฟู ในเรื่องของการเตรียมการเรื่องการท่องเที่ยวทั้งในวันนี้และในอนาคตเพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพของการท่องเที่ยวให้มากยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูเก็ตกับสมุยนั้นได้อาศัยรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการถึง 90% ส่วนอีก 10% นั้นเป็นอาชีพอื่นๆ ฉะนั้นเราต้องเตรียมความพร้อมในอนาคตไว้ด้วยว่าสถานการณ์เช่นนี้มันจะเกิดขึ้นได้อีกในวันข้างหน้าหลังจากสถานการณ์โควิดฯ นั้นดีขึ้นแล้ว เพราะโรคอุบัติใหม่นั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในช่วงนี้หรือช่วงที่ผ่านมาในระยะเวลา 5 ถึง 10 ปีก็เกิดขึ้นครั้งหนึ่งฉะนั้นผลกระทบครั้งนี้ก็จะเป็นบทเรียนให้กับรัฐบาลทุกรัฐบาลทุกประชาคมต่างๆ ทุกภูมิภาคได้เตรียมการ

นายกรัฐมนตรียืนยันว่า สิ่งต่างๆ ที่กลุ่มจังหวัดฯ และภาคเอกชนเสนอมามารัฐบาลรับไว้พิจารณาทั้งหมดแต่เราคงยังตอบตรงนี้ไม่ได้เพราะเป็นเรื่องที่มีรายละเอียดมากมายพอสมควรอะไรที่ทำได้เราก็จะทำอันไหนที่มีปัญหาเราก็ต้องศึกษาต้องไปดูคนไกลของการทำงานเรื่องกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแต่รับไว้ทุกเรื่องเรื่องใดทำได้เลยก็จะดำเนินการให้โดยเร็ว เรื่องใดจะต้องไปหาหรือเพิ่มเติมโดยการรวบรวมข้อมูลต่างๆ โดยสภาพัฒน์ไปพิจารณาถึงความเหมาะสมสำนักงบประมาณต้องไปพิจารณาในเรื่องของงบประมาณที่จะต้องใช้จ่าย เพราะบางเรื่องใช้งบประมาณสูงถึง 30,000 ล้านบาท จึงต้องเข้ากระบวนการศึกษาจากคณะกรรมการต่างๆ เพื่อดูว่าสิ่งที่จะได้ตอบรับกลับมากับประชาชนกับประเทศชาติเพราะเราใช้ภาษีจากประชาชนมาพัฒนาทั้งสิ้นและมีหลายจังหวัดที่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวเช่นเดียวกันแบบนี้แต่อาจจะน้อยกว่านี้เขาก็ต้องการเหมือนกันฉะนั้นการจะทำอะไรก็ตามจะต้องทั่วถึงและเป็นธรรมและเท่าเทียม

ฉะนั้นสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการปรับรูปแบบหรือโครงสร้างของธุรกิจ เศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ ให้ตรงตามศักยภาพของพื้นที่ทั้งของกลุ่มจังหวัดของจังหวัดซึ่งบางจังหวัดอาจจะเน้นในเรื่องของการเกษตรบางจังหวัดอาจเน้นเรื่องการท่องเที่ยวบางจังหวัดเน้นเรื่องอุตสาหกรรม แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการที่เรานำแนวพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ในเรื่องของ “การสืบสานรักษาต่อยอด” สิ่งเหล่านี้ตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ การพัฒนาคุณภาพชีวิต การรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

“ฉะนั้นวันนี้ก็ได้มีการอนุมัติโครงการและแผนงานในเรื่องของการใช้งบฟื้นฟูไปจำนวนหนึ่งซึ่งเราได้ใช้งบประมาณดังกล่าวลงในทุกจังหวัดไปแล้วครบทุกจังหวัดต่อไปก็จะซอยลงไปถึงพื้นที่ข้างล่างลงไปในระดับอำเภอตำบลลงไปอีกเป็นโครงการที่มีมูลค่าในการพยุงเศรษฐกิจของประชาชนโดยเฉพาะเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มากยิ่งขึ้น”

เตรียมลงนาม พ.ร.บ.ประชามติ เชื่อจิตบริสุทธิ์นำชาติพ้นภัย

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ขอให้พวกเราช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบเพื่อจะได้บริหารกิจการเหล่านี้ได้แล้วก็วางโครงการที่นำเสนอขึ้นมาบางครั้งก็ไม่สามารถอนุมัติให้ได้เพราะไม่ถูกต้องตามหลักการผมได้บอกให้ส่งย้อนกลับไปยังพื้นที่จังหวัดให้ไปทบทวนขึ้นมา เพื่อที่จะสามารถอนุมัติงบประมาณได้อย่างถูกต้องนี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องทำให้เกิดความรวดถึงเป็นธรรมและเท่าเทียมตามศักยภาพที่มีอยู่ หลายจังหวัดไม่ตรงกันบางจังหวัดเน้นเรื่องเศรษฐกิจบางจังหวัดเน้นเรื่องการท่องเที่ยวซึ่งได้เหมือนกันฉะนั้นเราก็จะทำให้ดีที่สุด

ทั้งนี้ รัฐบาลมีแผนในการพัฒนาประเทศไปสู่ความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืนตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ วันนี้เรามีผลงานปรากฏจำนวนมากแต่ก็ยังสร้างการรับรู้ได้ไม่มากนักจึงต้องมีการปรับวิธีการนำเสนอใหม่ ว่าในแต่ละยุทธศาสตร์นั้นเราได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้างมีอะไรที่ปรากฏขึ้นมาแล้วบ้างอะไรที่กำลังทำอยู่อะไรที่มีแผนที่จะทำต่อไปนี่แหละคือประโยชน์ที่มียุทธศาสตร์ชาติว่าเราจะมีถนนอย่างไรเส้นทางอย่างไรรถไฟฟ้า รถโมโนเรล อย่างไรทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด นึ่คือยุทธศาสตร์ชาติไม่เช่นนั้นจะไม่เชื่อมโยงต่อเนื่องครบวงจรเสียที

“ผมรับฟังความคิดเห็นทุกคนทุกพวกทุกฝ่าย แต่รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องใช้กลไกในการบริหารปกติของรัฐบาลกลไกของรัฐสภาในการแก้ปัญหา นั่นคือสิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องยึดมั่นและอาศัยกระบวนการยุติธรรมต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมซึ่งกันและกัน ก็ขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคนในประเทศนี้ด้วย ขอบคุณในการต้อนรับของประชาชนภาคใต้ โดยเฉพาะสมุยและภูเก็ตซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชนในภาคใต้ ซึ่งผมเห็นถึงความรักความสามัคคี ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ที่ได้แสดงออกมาผมตื้นตันกับประชาชนของ เราแม้แต่ในกรุงเทพฯ ทุกคนได้แสดงถึงจิตเจตนา ปรารถนาบริสุทธิ์ที่จะทำให้ประเทศไทย ประเทศชาตินั้นปลอดภัย แล้วทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง ทุกอย่างมันต้องเริ่มต้นด้วยความสงบเรียบร้อย เริ่มต้นด้วยสิ่งที่ถูกต้อง มีวัฒนธรรมมีอัตลักษณ์ มีประเพณีสิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศชาติเราเข้มแข็งต่อไปในอนาคตก็ขอฝากไว้ด้วย”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยว่า ตนจะลงนามในร่างพระราชบัญญัติ​ (พ.ร.บ.) ​ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ หลังคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาร่างดังกล่าวเสร็จแล้วเพื่อส่งไปยังรัฐสภา​

นอกจากนี้​  ยังแจ้งให้ทราบว่า​ ได้มีการนำข้อเสนอเรื่องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของนายวิชา​ มหาคุณ​ ไปปรับปรุงในร่าง​ พ.ร.บ.ตำรวจ​ ซึ่งเป็นร่างที่เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างตำรวจ.

“วิษณุ” มึนแกนนำม๊อบขอลี้ภัย

ด้านนายวิษณุ​ เครืองาม​ รองนายกรัฐมนตรี​ ตอบคำถาม​ถึงกระแสข่าวแกนนำกลุ่มราษฎร เตรียมทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ที่สหรัฐอเมริกา​ ตามขั้นตอนกฎหมายสามารถทำได้หรือไม่ ​ ว่า ตนไม่รู้ และคำว่าภัยคืออะไร อยู่ๆ คนทั่วไปจะไปขอลี้ภัยไม่ได้ เพราะไม่มีภัยจะขอลี้ภัยได้อย่างไร​

“คำว่าลี้ภัยเป็นภาษาพูด แปลภาษากฎหมายคือกรณีที่เกิดภยันตรายขึ้นมาแล้วขอลี้ภัย คือต้องมีเหตุเกิดขึ้น เหมือนแกนนำม็อบที่ฮ่องกง และภัยทั่วไปคือต้องเป็นภัยทางการเมือง เพราะเรื่องนี้เวลาไปแล้วขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาเขายังไม่ส่งมาเลย”

โอดเก็บภาษีได้น้อย-จัดเยียวยา ปชช.ได้แค่ระยะสั้น

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรการสำคัญที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือมาตรการทางการเงินการคลังทางด้านภาษีและการขยายเวลาพักชำระหนี้ต่างๆ รัฐบาลได้ทยอยดำเนินการให้ อย่างไรก็ตามบางอย่างก็ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากรายได้ของรัฐ เพราะจำเป็นต้องนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนา มาใช้จ่ายเหมือนกัน ฉะนั้นงบประมาณในการแก้ปัญหาขณะนี้มีทั้งงบประมาณจากรายจ่ายประจำปีและงบ ฯฟื้นฟู ซึ่งถ้าเก็บภาษีไม่ได้มาก รายได้ส่วนนี้ลดลงแน่นอนจะทำให้โครงการมีความล่าช้าแต่รัฐบาลก็จะหาวิธีทางในการที่จะดำเนินการให้ได้ในสิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สรุปถึงการอนุมัติ 2 มาตรการสำคัญในการช่วยเหลือเกษตร คือ โครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 และโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/2564 รอบที่ 1 ประกอบด้วยมาตรการต่างๆ รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 61,193.96 ล้านบาท แบ่งเป็น โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางเป็นเงิน 99,045.82 ล้านบาท โครงการรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวและโครงการคู่ขนานวงเงินรวม 51,248.14 ล้านบาท

“อยากจะกราบเรียนให้พี่น้องเกษตรกรรับทราบว่ารัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับเกษตรกรทุกคนทุกท่านแต่เราจะช่วยกันอย่างไรในอนาคตเพื่อไม่ให้ปัญหาในเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณเหล่านี้มันมากจนเกินไปจนรัฐบาลมีปัญหาโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภาครัฐมีการลดภาษี ผ่อนชำระต่างๆ มันทำให้การเก็บรายได้ลดลงและผมก็ไม่สามารถไปเก็บกับใครได้เหมือนกันอะไรที่เราลดได้ก็ลดไปแต่จะขอลดเป็นช่วงช่วง 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง แต่การจะให้ตลอดทั้งปีนั้น ผมคิดว่าเป็นเรื่องอันตรายพอสมควร ก็ดูสถานการณ์ไปก่อนแล้วกัน”

ดึงเอกชน-สายการบิน หนุน “เราเที่ยวด้วยกัน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้ก็คือเราจะต้องทำอย่างไรให้ธุรกิจที่ยังมีโอกาส ที่ไม่ใช่เรื่องของการท่องเที่ยวและบริการโดยตรงอย่างเดียวสามารถที่จะเดินต่อได้ทั้งนี้ก็เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนทางรายได้มีเงินอยู่ในระบบ ขณะนี้เรามั่นใจในระบบสาธารณสุขและระบบสุขภาพซึ่งเราทำได้ดีถือว่าดีมาก แต่ก็ประมาทไม่ได้

“วันนี้สิ่งที่ผมได้รับแจ้งมาจากมาตรการของรัฐบาลคือ ในเรื่องของมาตรการคนละครึ่ง มาตรการเราเที่ยวด้วยกัน ก็ได้รับความนิยม ผมจึงได้สั่งการไปว่าเมื่อวงเงินเรายังเหลืออยู่ก็ลองดูว่าจะทำต่อไปอย่างไรจะปรับปรุงอะไรให้มากขึ้นได้หรือไม่หรือมีมาตรการอื่นเสริมหรือไม่ในส่วนนี้ ซึ่งที่ผ่านมาเป็นเรื่องของรัฐกับประชาชนช่วยกัน ต่อไปนี้อาจจะมีภาคเอกชนและธุรกิจเข้ามาร่วมมือด้วยได้หรือไม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานประกอบการหรือสายการบินที่จะมาร่วมในโครงการเหล่านี้รัฐบาลก็จะหาไม่การที่เหมาะสมทั้งนี้เพื่อสนับสนุนอำนวยความสะดวกให้ประชาชนท่องเที่ยวในประเทศได้มากยิ่งขึ้น”

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ www.thaigov.go.th

สั่งสภาพัฒน์ ฯกรองข้อเสนอเอกชน

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบในหลักการ ตามข้อเสนอของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน จากการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน (กระบี่ ตรัง พังงา ภูเกต็ ระนอง และสตูล) ร่วมกับ ครม. ในช่วงเช้า ใน 6 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดฯ ด้านการท่องเที่ยว ด้านการเกษตร ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิจ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และด้านโครงสร้างพื้นฐาน  ซึ่งได้มอบหมายให้สภาพัฒน์ เป็นหน่วยงานหลักในการศึกษาและพิจารณาข้อเสนอต่างๆ ก่อนนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป

  • ด้านการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดฯ นั้นได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับมาตรกากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยส่งเสริมการจัดงานประชุมสัมนาและการแสดงสินค้าภายในประเทศ พร้อมกันนี้ยังมีข้อเสนอในมาตรการเยียวยา ด้านการเงินและภาษี โดยขอให้พิจารณามาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยให้เหลือ 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับผู้ประกอบการในกลุ่มจังหวัดอันดามัน เป็นเวลา 3 ปี ขอให้พิจารณาผ่อนปรนหลักเกณฑ์การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของกลุ่มจังหวัดฯ
  • รวมถึงขอให้มีการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานของนักท่องเที่ยวจนถึงเดือนธันวาคม 2564 ขอให้จัดสรรรายได้ 15 เปอร์เซ็นต์จากการจัดเก็บค่าเข้าอุทยานฯ เพื่อนำเข้ากองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้จังหวัดมีงบประมาณบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การขอรับการสนับสนุนในการพัฒนาอุตสาหกรรมมารีน่า หรือการขอให้เปิดน่านน้ำให้เรือยอร์ชต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศ และให้คนประจำเรือกักตัวเองภายในเรือตามเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข การขออนุญาติให้เรือสำราญและกีฬาขนาดใหญ่ (super yacht) ของต่างชาติประกอบกิจการเช่าเหมาลำในน่านน้ำไทยได้ และขยายเวลาให้เรือยอร์ชและคนประจำเรือสามารถอยู่ในไทยได้ 3 ปี จากเดิมอนุญาตเพียง 6 เดือน

    นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอรับการสนับสนุนในอีก 3 โครงการ ได้แก่ โครงการมหกรรมอาหารและการกีฬา (Food and Sport Festival) ในการจัดงานแสดงและจำหน่ายสินค้า รวม 174 ครั้งในพื้นที่กลุ่มจังหวัดฯ โครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น การหุงข้าวด้วยกระทะใบบัวและการทำเมนูอาหารจานด่วนเพื่อรองรับภัยพิบัติ และโครงการส่งเสริมการจ้างงานผุ้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิดฯ เช่น การจ้างแรงงานในหน่วยงานรัฐ การจ้างแรงงานเพื่อสำรวจผู้ว่างงาน การจ้างงานเกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ เป็นต้น

    ทั้งนี้ นายธนูศักดิ์ พึ่งเดช ประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งที่จะสามารถดำเนินการได้ก่อนอันดับแรกคือการกระตุ้นการท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัดอันดามันด้วยการจัดมหกรรมอาหารและกีฬาร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 52 สัปดาห์ ใช้งบประมาณ 270 ล้านบาท

  • ด้านการท่องเที่ยว ได้ขอรับการสนับสนุนใน 3 โครงการ ได้แก่ โครงการพัฒนาและยกระดังการท่องเที่ยว การกีฬา และการบริการด้านสาธารณสุขจังหวัดสตูล โครงการพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติ และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์และส่งเสริมความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยว (เคเบิลใต้ดิน) โดยนำสายไฟฟ้าและระบบสื่อสารลงใต้ดินช่วงถนนอุตรกิจ ระยะทาง 590 เมตร บริเวณเทศบาลเมืองกระบี่ โครงการพัฒนาเมืองอัฉริยะอันดามัน เพื่อความเป็นเมืองที่น่าอยู่และการท่องเที่ยวยั่งยืน การทำระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัยสาธารณะ 3 ระบบ ได้แก่ 1) ระบบด่านตรวจภูเก็ต และการสั่งการจราจรอัจฉริยะ โดยการติดตั้งเครื่องเอ็กซ์เรย์ชนิดอุโมงค์สำหรับรถบรรทุก ระบบบูรณาการกล้องวงจรปิด ระบบรายงานสถานการณ์จรจรให้ประชาชน เป็นต้น 2) ระบบสั่งการความปลอดภัยทางทะเล และการจัดการท่าเรืออัฉริยะอันดามัน โดยใช้ระบบ CCTV ตรวจใบหน้าผู้โดยสาร พร้อมการลงทะเบียนก่อนลงเรือและอุปกรณ์ช่วยเหลือติดตามผู้โดยสารและลูกเรือ 3) ระบบความปลอดภัยและเก็บข้อมูล ชายหาดท่องเที่ยวและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญใน ภูเก็ต พังงา กระบี่ ด้วยระบบเสาอัจฉริยะ 300 ต้น รวมถึงการจัดทำระบบวิเคราห์และติดตามข้อมูลสาธารณสุขประชาชน และการทำระบบให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
  • ด้านการเกษตร มีการขอรับการสนับสนุนด้านนโยบาย ได้แก่ การขับเคลื่อน Thailand Green Rubber ยกระดับไทยสู่สากล เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางยางพาราระดับโลก ด้วยการให้สวนยางพาราไทยได้รับการรับรองการจัดการแบบสวนป่ายั่งยืนภายใต้ระบบการจัดการป่าไม้ตามาตรฐานชาติและสากล (REFC) โดยจัดสรรงบประมาณให้การยางแห่งประเทศไทยดำเนินการกับสวนยางภาคใต้ทั้งหมด 9 ล้านไร่ ในระยะเวาลา 5 ปี ตลอดจนถึงการขอรับการสนับสนุนให้มีการทำประมงนอกน่านน้ำ เช่น ปลาทูน่า เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอขอรับการสนับสนุนอีก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการส่งเสริมการปรับโครงสร้างอาชีพสวนยางและปาล์มน้ำมัน (ส่งเสริมการเลี้ยงแพะ) และโครงการพัฒนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
  • ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต อาทิ โครงการย้ายเรือนจำจังหวัดกระบี่ออกจากศูนย์กลางสถานศึกษา เพื่อลดความแออัด และสร้างความปลอดภัยให้กับนักเรียนในโรงเรียนใกล้เคียงจำนวน 4 แห่งและประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง รวมถึงและลดความแออัดของการจราจรบริเวณดังกล่าว โครงการ “ยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” โครงการศูนย์สุขภาพนานาชาติอันดามัน โครงการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดกระบี่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวคุณภาพตามวิถีใหม่ (New Normal)
  • ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ ฟื้นฟู พะยูน และสัตว์ทะเลหายาก โดยการปรับปรุงอาคารอนุบาล และจัดแสดง พันธุ์ปลา พะยูน เต่าทะเล แมวน้ำ การปรับปรุงอาคารเพาะพันธุ์สัตว์น้ า เป็นโรงพยาบาลสัตว์ทะเลหายากพร้อมครุภัณฑ์ เป็นต้น
  • ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวให้เกิดการเชื่อมโยง ระหว่างแหล่งท่องเที่ยวภายในพื้นที่ จึงขอรับการสนับสนุน โครงข่ายคมนาคมทางถนน เร่งรัดการดำเนินการในโครงการก่อสร้างถนนแนวใหม่สายเมืองใหม่-เกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต ซึ่งเป็นทางหลวงหมายเลข 4026 ระยะทาง 22.4 กิโลเมตร ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความ เหมาะสมในเบื้องต้นแล้ว นอกจากนี้ยังมี โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง–ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการก่อสร้าง เส้นทางและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 4 เส้นทาง จากมาตรฐานทาง 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่อง จราจร ได้แก่ (1) ทางหลวงหมายเลข 4046 ตอน ตรัง–ควนกุน ช่วง กม. 8+750 – กม. 30+029 ระยะทาง 21.28 กม. (2) ทางหลวงหมายเลข 419 บ.ควนปริง– บ.ควน ช่วง กม.8+572 – กม.14+500 (ถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง) รวมสะพานข้ามทางรถไฟ กม. 11+550 ระยะทาง 11.55 กม. (3) ทางหลวงหมายเลข 419 บ.ควน–แยกต้นรัก กม.14+500 – กม.25+370 ระยะทาง 10.87 กม. (4) ทางหลวงหมายเลข 419 แยกต้นรัก – บ.นาขา กม.0+000 – กม.1+691 และ กม.25+370 – กม.31+254.659 ระยะทาง 7.57 กม.  และโครงการก่อสร้างถนนสามช่องจราจรบริเวณเขาท่ากะได อำเภอเภอ กะปง จังหวัดพังงา และขอรับการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างถนนสามช่องจราจร บริเวณเขาท่ากะได อำเภอกะปง จังหวัดพังงา เส้นทางทางหลวงหมายเลข 4090 ช่วง กม.21+500 ถึง 24+500 ระยะทาง 3 กิโลเมตร เพิ่มช่องทางขึ้นเขาอีกหนึ่งช่องจราจร โครงข่ายคมนาคมทางน้ำ เป็นต้น
  • สำหรับโครงการที่กลุ่มจังหวัดได้ข้อเสนอประเภทขอรับการสนับสนุนและส่งเสริมด้านนโยบาย จำนวน 1 โครงการ ได้แก่ การศึกษาแผนแม่บทยุทธศาสตร์มาริไทม์ฮับ (Maritime Hub) ส่งเสริม สนับสนุน ให้กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามันเป็นศูนย์กลาง การท่องเที่ยวทางน้ำแบบครบวงจร (Maritime Hub) ปรับปรุง แก้ไข ระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่อาจเป็นอุปสรรค ในการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่นอันดามันไปสู่ Maritime Hub และส่งเสริมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวทางทะเลกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่ง อันดามัน ประกอบด้วย การลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือ อู่ซ่อมเรือ มารีน่า และเรือครุยส์ครบวงจร

    ด้านนายดนุชา พิชยนันทน์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เอกชนจังหวัดภูเก็ตได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณาช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะเร่งด่วน และระยะกลางและระยะยาวเพื่อวางรากฐานการพัฒนาในระยะต่อไป

    โดยข้อเสนอขอรับความช่วยเหลือในระยะยาวและระยะปานกลาง ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่ (สาย บ.เมืองใหม่–บ.เกาะแก้ว) ระยะทางรวม 22.4 กิโลเมตร วงเงินรวม 30,00 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท และค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 18,000 ล้านบาท  ส่วนโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก วงเงินงบประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะใช้ช่องทางในการดำเนินการแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ซึ่งในเบื้องต้นที่ประชุมมอบให้ สศช. ไป พิจารณาความเหมาะสม ก่อนนำเสนอต่อกระทรวงการคลังต่อไป

    โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลกประกอบด้วย การจัดตั้งศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร  (wellness center) วงเงินลงทุน 3,000 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมี โครงการพัฒนาคุณภาพการคัดกรองด่านตรวจภูเก็ต และการให้สิทธิประโยชน์ให้กับบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือบริษัทเอกชนอื่นๆ ให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สำนักงานในหน่วยงานด้านเทคโนโลยี หรือดิจิทัลที่จังหวัดภูเก็ต ซึ่งในส่วนนี้นายกรับมนตรีเห็นชอบในหลักการและมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาจัดทำความเห็นในรายละเอียดทั้งความเหมาะสมของแผนงานและแหล่งเงิน และเสนอให้ ครม. พิจารณาต่อไป

    สำหรับข้อเสนอระยะเร่งด่วนในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวในภูเก็ต ได้แก่

    • การปรับปรุงเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ของโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเป็นการลดราคาห้องพักโดยรัฐบาลจ่ายให้เป็น 50% จากเดิม 40% ขยายประเภทธุรกิจที่ได้รับสิทธิประโยชน์ และขยายระยะเวลาโครงการไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564 หรือการพิจารณาปรับปรุงสิทธิประโยชน์คูปองให้ครอบคลุมกิจการสปาบริษัทนำเที่ยวและรถเช่า การขยายสิทธิประโยชน์เงินคืนค่าเครื่องบินให้กับนักท่องเที่ยวที่ขับรถยนต์ เป็นต้น
    • การส่งเสริมให้มีการจัดประชุม สัมมนาในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตและกลุ่มจังหวัดอันดามัน ของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
    • การจัดกิจกรรมเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับการกีฬา อาหาร และสันทนาการ การเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในเส้นทางกรุงเทพมหานคร-ภูเก็ต ในช่วงสุดสัปดาห์จากสายการบินไทยสไมล์ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564
    • มาตรการส่งเสริมการจ้างงานเร่งด่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วย โครงการฟื้นฟูภาคเกษตรกรรมให้เกิดการ ช่วยเหลือตนเองด้วยการปลูกพืชสวนครัว เช่น เพาะพันธุ์กล้าไม้ป่าชายเลน การสนับสนุนให้ปลูกพืช 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง
    • มาตรการทางการเงิน ประกอบด้วย การขยายเวลาพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยในสินเชื่อเพื่อธุรกิจ รวมถึงวงเงินสินเชื่อเช่าซื้อที่มีอยู่ปัจจุบันออกไปจนถึงธันวาคม 2564 การจัดตั้งวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในจังหวัดอันดามันเป็นการเฉพาะ และการจัดตั้งกองทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยเน้นที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม สปา และบริษัทนำเที่ยว
    • แนวทางการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามแนวทาง 5T
    • การจัดตั้งคณะทำงาน Phuket Sandbox เพื่อปรับปรุง แก้ไข กระบวนงาน และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตในประเทศไทย ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวและจัดตั้งคณะทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาของภาคธุรกิจที่เกิดจากผลกระทบของโควิดของจังหวัดภูเก็ต

    โดยในส่วนมาตรการในระยะเร่งด่วนต่างๆ นี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้คณะที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีที่มีนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เป็นประธาน นำข้อเสนอไป พิจารณาและทำแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตในภาพรวมและพิจารณารายละเอียดข้อเสนอของจังหวัดภูเก็ต และนำเสนอต่อ ศบศ. เพื่อพิจารณาต่อไป นอกจากนี้นายกรัฐมนตรียังได้มอบนโยบายแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เดินหน้าสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้มีความหลากหลาย เพื่อให้ประชาชนและคนภูเก็ตได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวทั้งทางตรง ทางอ้อม

    10 เดือน ท่องเที่ยวภูเก็ตวูบ 2 แสนล้าน

    นายภูมิกิตติ์ รักแต่งาม นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สิ่งที่ภาคธุรกิจต้องการคือ มาตรการที่จะมากระตุ้นให้ภูเก็ต และกลุ่มจังหวัดอันดามันเดินได้เร็ว เช่น การเพิ่มกำลังซื้อ หรือการเยียวยาผู้ประกอบการ เช่น การพักชำระหนี้ในกลุ่มธุรกิจโรงแรม สปา และให้ครอบคลุมไปถึงกลุ่มลิสซิ่ง เนื่องจากผู้ประกอบการรถตู้กระทบหนักมาก ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอให้ขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ทั้งส่วนของเงินต้นและดอกเบี้ยไปถึงเดือนตุลาคมปีหน้า

    ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดฯ ทำให้ผู้ประกอบการต่างๆ ต้องปิดตัวไปจำนวนมาก ซึ่งภายหลังที่สถานการณ์โควิดฯ ทุเลา ธุรกิจโรงแรมในจังหวัดภูเก็ตก็ได้ทยอยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ซึ่งเปิดให้บริการแล้วประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ โดยประมาณการว่าภูเก็ตได้รับความสูญเสียทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 10 เดือนที่ผ่านมาไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท

    “เราพึงพาการท่องเที่ยวจากต่างชาติเยอะทำให้คนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบาดเจ็บล้มตายไปจำนวนมาก จึงต้องขอให้มีการสนับสนุนด้านกำลังซื้อ เราประมาณการจากตัวเลขปีก่อนหน้าที่ภูเก็ตมีรายได้ที่ 4.7 แสนล้านบาท ซึ่งในปีนี้มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงเดือนมกราคมราว 1.5 แสนล้าน กับการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงที่ผ่านมา อีกราว 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งกำลังซื้อคงไม่มากไปกว่านี้แต่ก็ต้องให้ได้เต็มศักยภาพ และมีมาตรการในการพยุงผู้ประกอบการร่วมด้วย”

    เมื่อถามถึงความกังวลต่อการเปิดรับนักท่องเที่ยว นายภูมิกิตติ์ ระบุว่า คนภูเก็ตมีสิทธิกังวล แต่ทั้งนี้ก็พร้อมที่จะรับนักท่องเที่ยว ในเรื่องมาตรการการคัดกรองตรวจโรค และการกักตัวนั้นตนเชื่อและพร้อมรับฟังความเห็นทางวิชาการ จากทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการกักตัว 10 วัน หรือ 14 วัน หากทางแพทย์ยืนยันว่าทำได้ตนก็เชื่อว่าได้

    คลังปรับ-ขยายมาตรการอุ้มท่องเที่ยว

    นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากการผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มบรรเทาลง รวมไปถึงการดำเนินมาตรการรักษาระดับการบริโภคในประเทศเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ และแนวทางการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจหลังสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ ส่งผลให้ภาคธุรกิจบางสาขาเริ่มส่งสัญญาณกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ภาคธุรกิจท่องเที่ยวทั้งที่เป็นบริษัทขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีลูกค้าหลักเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ ยังคงประสบปัญหา

    เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเห็นชอบการแก้ไขปัญหาข้อติดขัดและขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในภาคธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึง และมีสภาพคล่องที่เพียงพอในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

      1)ปรับเพิ่มวงเงินสินเชื่อต่อราย Soft loan ท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่องของธนาคารออมสิน จากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย เป็นไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย โดยธนาคารออมสินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ ดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี และขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564
      2) ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ภายใต้โครงการ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการสินเชื่อ Soft loan ท่องเที่ยวตาม 1) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตามมาตรการดังกล่าว จากเดิมที่ บสย. ค้ำประกันให้เฉพาะกับผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับสินเชื่อตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) ทั้งนี้ บสย. คิดค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดยเริ่มค้ำประกันในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับสินเชื่อ
      3) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Soft loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท
      ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3.99 ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
      4) ขยายระยะเวลารับคำขอสินเชื่อ Extra cash วงเงิน 10,000 ล้านบาท ออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยธนาคารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่นๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี

    ลดภาษีน้ำมันเครื่องบินลงลิตรละ 4.50 บาท

    นอกจากนี้ เพื่อเป็นการลดต้นทุนให้แก่ผู้ประกอบการสายการบิน และส่งผลให้สายการบินสามารถปรับลดค่าโดยสาร ทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางลดลง และตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบการลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นจาก 4.726 บาทต่อลิตร เหลือ 0.20 บาทต่อลิตร โดยมีผลหลังเวลา 24.00 น. ของวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2564

    กระทรวงการคลังมั่นใจว่า มาตรการด้านการเงินและมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวจะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสาขาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตช่วงนี้ไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมได้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ สำหรับมาตรการด้านการเงินผู้ประกอบการที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

    เห็นชอบฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน 12 โครงการ 2.3 พันล้าน

    นายอนุชา กล่าวว่า และเพื่อเป็นการขยายโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อให้กับผู้ประกอบคนตัวเล็กในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่าครบวงจร ที่ประชุม ครม.วันนี้ มีมติเห็นชอบโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 12 โครงการ วงเงิน 2,298.5488 ล้านบาท เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐานสากล ให้เกิดการจ้างงานในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ตามข้อเสนอโครงการภายใต้การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน

    โดยโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน 12 โครงการ มีรายละเอียดดังนี้

      1.โครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต งบประมาณ 786.4897 ล้านบาท
      2.โครงการพัฒนาศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนระนองสู่มรดกโลกเพื่อการท่องเที่ยว พื้นที่ดำเนินการจังหวัดระนอง งบประมาณ 385.4651 ล้านบาท
      3.โครงการป้องกันและเฝ้าระวังภัยจากแมงกะพรุนพิษในพื้นที่ชายหาดท่องเที่ยว พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ระนอง ตรัง และสตูล งบประมาณ 54.00 ล้านบาท
      4.โครงการจัดทำระบบเฝ้าระวังมลพิษและติดตามมลพิษทางทะเลเพื่อการท่องเที่ยวปลอดภัย พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต พังงาและกระบี่ งบประมาณ 106.4760 ล้านบาท
      5.โครงการติดตั้งทุ่นผูกเรื่อเพื่อการอนุรักษ์ปะการังในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล งบประมาณ 66.40 ล้านบาท
      6.โครงการติดตั้งทุ่นแพลอยน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศทางทะเลฝั่งอันดามัน พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล และระนอง งบประมาณ 154.70 ล้านบาท
      7.โครงการจัดการขยะในแหล่งท่องเที่ยวเพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ พังงา และระนอง งบประมาณ 44.8280 ล้านบาท
      8.โครงการเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พื้นที่ดำเนินการจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และระนอง งบประมาณ 59.450 ล้านบาท
      9.โครงการฟื้นฟูแนวปะการังด้วยการปลูกเสริมในพื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต และพังงา งบประมาณ 230.8200 ล้านบาท
      10.โครงการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล พื้นที่ดำเนินการจังหวัดกระบี่ ภูเก็ต พังงา ตรัง สตูล และระนอง งบประมาณ 200 ล้านบาท
      11.โครงการฟื้นฟูชายหาดคึกคักแบบบูรณาการ พื้นที่ดำเนินการ จังหวัดพังงา งบประมาณ 199.9200 ล้าบาท
      12.โครงการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการการศึกษาออกแบบแนวกันคลื่นปากร่องน้ำเค็มเกาะคอเขา อำเภอตะกั่วป่า พื้นที่ดำเนินการจังหวัดพังงา งบประมาณ 10 ล้านบาท

    ประกันรายได้ชาวนา-สวนยาง 61,900 ล้าน

    นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผย ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่ จังหวัดภูเก็ต (ครม.สัญจร) ว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการดำเนินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวและยางพาราวงเงินรวม 61,900 ล้านบาท โดยใช้แหล่งทุนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำรองจ่ายไปก่อน และให้ ธ.ก.ส.ขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 และปีถัดๆ ไป จากรัฐบาลทั้งต้นทุนเงินและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงจากการดำเนินโครงการทั้งหมด

    แจงเงื่อนไขประกันราคาข้าว 5 ชนิด

    ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าสำหรับโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2563/2564 ต้องเป็นข้าว 5 ชนิด มีความชื้นจะต้องไม่เกินร้อยละ 15 มีหลักเกณฑ์ดังนี้ 1. ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาประกันตันละ 15,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 14 ตัน 2. ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน 3. ข้าวเปลือกเจ้า ราคาประกันตันละ 10,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ตัน 4. ข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาประกันตันละ 11,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 25 ตัน และ 5. ข้าวเปลือกเหนียว ราคาประกันตันละ 12,000 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 16 ตัน

    ทั้งนี้ เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการชดเชยจะต้องขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวปีการผลิต 2563/2564 (รอบที่ 1) กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปลูกข้าวระหว่างวันที่ 1 เมษายน – 31 ตุลาคม 2563 ยกเว้นภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 มิถุนายน 2563 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยเกษตรกรสามารถเข้าร่วมโครงการประกัน ฯ ได้แปลงละ 1 ครั้ง เท่านั้น เพื่อไม่ให้เป็นการจ่ายเงินซ้ำซ้อน มอบหมายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการจ่ายเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรงตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดภายใน 3 วันทำการ นับตั้งแต่วันที่คณะอนุกรรมการฯ กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวประกาศราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงในแต่ละรอบ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดภาระในการเข้าร่วมโครงการประกันรายได้ ฯ เกษตรกรไม่ต้องทำสัญญาประกันรายได้ กับ ธ.ก.ส.

    ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ส่วนมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2563/2564 ประกอบไปด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี ปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 19,826 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่ม 1 พฤศจิกายน 2563 – 31 ธันวาคม 2564 2. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ เริ่มตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564 และ 3. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการค้าข้าวเพื่อเก็บสต๊อก ปีการผลิต 2563/2564 วงเงิน 610 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการเริ่ม 1 ตุลาคม 2563 – 31 ตุลาคม 2565 โดยทั้ง 3 โครงการจะใช้เงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 35,999 ล้านบาท

    นอกจากนี้ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบ โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563 /2564 โดยให้จ่ายเงินเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกับกรมการส่งเสริมการเกษตรในอัตราไร่ละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ หรือ ครัวเรือนละไม่เกิน 10,000 บาท เป็นการจ่ายก่อนในเบื้องต้น วงเงินจ่ายขาด 28,046 ล้านบาท

    ประกันราคายางเฟส 2 วงเงิน 10,042 ล้าน

    ดร.รัชดา เปิดเผยว่าจากนั้นที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยางระยะที่ 2 วงเงิน 10,042 ล้านบาท เพื่อเพิ่มรายได้และสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 ครอบคลุมเกษตรกรชาวสวนยางกว่า 1.8 ล้านราย พื้นที่ปลูกยางพารากว่า 18 ล้านไร่ โดยยึดหลักเกณฑ์เดิมตามโครงการระยะที่ 1 คือ ประกันรายได้ยาง 3 ชนิด คือ

      1)ยางแผ่นดิบคุณภาพดี ราคา 60 บาทต่อกิโลกรัม
      2)น้ำยางสด (DRC 100%) ราคา 57 บาทต่อกิโลกรัม
      และ3)ยางก้อนถ้วย (DRC 50%) ราคา 23 บาทต่อกิโลกรัม โดยกำหนดปริมาณผลผลิตยางที่จะประกันรายได้ คือ ผลผลิตยางแห้ง (DRC 100%) จำนวนไม่เกิน 20 กิโลกรัม/ไร่/เดือน และผลผลิตยางก้อนถ้วย (DRC 50%) จำนวนไม่เกิน 40 กิโลกรัม/ไร่/เดือน

    สำหรับเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดยางไปแล้ว รายละไม่เกิน 25 ไร่ มีสัดส่วนแบ่งรายได้ระหว่างเจ้าของ 60% และคนกรีดยาง 40% ส่วนระยะเวลาโครงการ เดือนกันยายน 2563 – กันยายน 2564 (ประกันรายได้ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – 1 มีนาคม 2564) ทั้งนี้ ราคายางยางแผ่นรมควันชั้น 3 ในช่วงที่ผ่านมา ขยับเกิน 80 บาทต่อกิโลกรัม ทำให้ไม่ต้องจ่ายเงินชดเชย ซึ่งรัฐบาลจะพยายามรักษาระดับราคายางพาราให้อยู่ในระดับนี้ต่อไป

    ไฟเขียว 4 โครงการ เยียวยาโควิดฯ-ลดพื้นที่ปลูกยาง

    นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติ 4 โครงการคู่ขนาน ตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 1/2563 ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

    1.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ มีวัตถุประสงค์ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากโรคโควิด-19 และช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางขายไม้ยางพาราได้ในราคาที่เป็นธรรม รวมถึงสนับสนุนการลดพื้นที่ปลูกยางพารา โดยธนาคารพาณิชย์ หรือ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ สนับสนุนสินเชื่อแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์ ซึ่งรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี แต่ไม่เกิน 600 ล้านบาท และมีค่าบริหารจัดการโครงการ 4 ล้านบาท ส่วนเป้าหมายของโครงการมีดังนี้

      1.1 ผู้ประกอบกิจการไม้ยางและผลิตภัณฑ์สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ร้อยละ 80
      1.2กระตุ้นการโค่นยาง จำนวน 400,000 ไร่ และดูดซับไม้ยางจากการโค่น จำนวน 12 ล้านตัน
      1.3 ราคาไม้ยางที่คาดหวังเฉลี่ย 1,300 บาทต่อตัน ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – กันยายน 2565

    2.โครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกร เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง และโครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง เป็นการขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ทั้งสองโครงการให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มีรายละเอียดดังนี้
    2.1ขยายเวลาชำระคืนเงินกู้ออกไปเป็นวันที่ 31 ธันวาคม 2566 จากเดิมวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 โดยให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาค้ำประกันเงินกู้กับ ธ.ก.ส. ออกไปและยกเว้นค่าธรรมเนียมในการค้ำประกันเงินกู้ พร้อมชดเชยต้นทุนเงินในอัตรา FDR+1

      2.2นำเงินจากการระบายยางในสต็อก และของบประมาณชดเชยการขาดทุนชำระคืนเงินกู้ ธ.ก.ส. วงเงินรวมทั้งสองโครงการ จำนวน 9,955.32 ล้านบาท และ
      2.3 ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าเช่าโกดัง ค่าประกันภัย ค่าจ้างผลิตยาง และอื่นๆ รวม 898.76 ล้านบาท

    3.โครงการสนับสนุนสินเชื่อผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง (วงเงินเดิม) วงเงินรวม 25,000ล้านบาท เป็นการปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินงานโครงการดังนี้

      3.1ให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการโดยธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ (สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) ได้ทุกธนาคาร จากเดิม เฉพาะธนาคารพาณิชย์
      3.2 ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับสินเชื่อทุก 1ล้านบาท จะต้องเพิ่มปริมาณการใช้ยางในประเทศเป็น 2 ตันต่อปี ในปีการผลิต 2563 เดิมที่กำหนดในปีที่ 1 – 2 ของการลงทุน ต้องเพิ่มเป็น 2 ตันต่อปี ส่วนปีที่ 3 เป็น 4 ตันต่อปี) และ
      3.3 ให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ตรวจสอบการใช้ยางของผู้ประกอบการเป็นรายปี ในปีการผลิต 2563 จากเดิมที่กำหนดเป็นรายเดือน โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้อนุมัติสินเชื่อให้ผู้ประกอบการไปแล้ว 14,038.20 ล้านบาท วงเงินโครงการคงเหลือ 10,961.80 ล้านบาท

    4.โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบกิจการยาง (ยางแห้ง) เป็นการเพิ่มกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการยาง ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 โดยใช้วงเงินเดิมของโครงการ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในครั้งนี้ เป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการซื้อยางมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตของฤดูกาลใหม่เป็นรายเดือน เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนในตลาด หากไม่มีการซื้อยางก็จะไม่ได้รับการชดเชยในเดือนนั้น โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยในอัตราตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ต่อปี ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 – ธันวาคม 2564

    ส่วนกิจกรรมที่มีอยู่เดิมของโครงการ คือ ผู้เข้าร่วมจะต้องมีสต็อกยางเพิ่มขึ้นมากกว่าสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี หากเจ้าหน้าที่สุ่มตรวจพบว่ามีปริมาณสต็อกน้อยกว่าหรือเท่ากับสต็อกเฉลี่ยย้อนหลัง 1 ปี จะไม่ได้รับการชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาล ร้อยละ 3 ต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว 4 ราย อนุมัติวงเงินสินเชื่อ 2,410 ล้านบาท มีปริมาณที่จัดเก็บตามโครงการ 75,692 ตัน จากเป้าหมาย 350,000 ตัน

    เปิดประมูลสร้างรถไฟฟ้าเชื่อมภูเก็ต มี.ค.65

    นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่1 ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยมีความก้าวหน้าของโครงการดังนี้คือ  คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ (คชก.)ได้พิจารณารายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) แล้วเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2561 และมีมติให้ปรับปรุงแก้ไขและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมในรายงานอีไอเอก่อนนำเสนอคชก.พิจารณาอีกครั้ง ในส่วนของการตราพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจรฟม.ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจ.ภูเก็ตนั้น ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2562

    โดยรายละเอียดของโครงการ มีดังนี้คือ แนวเส้นทางโครงการของระบบขนส่งมวลชน จ.ภูเก็ต ระยะที่ 1 จะเริ่มจากสถานีท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตและไปสิ้นสุดบริเวณห้าแยกฉลอง ระยะทางรวม 42 กิโลเมตร มีสถานีทั้งสิ้น 21 สถานี มีศูนย์ซ่อมบำรุงตั้งอยู่บริเวณใกล้ห้างเทสโก้โลตัสถลาง ส่วนของระบบรถไฟฟ้า จะเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเบาประเภท Tram แบบพื้นต่ำ เป็นระบบล้อเหล็กหรือล้อยาง ความเร็วสูงสุดไม่ต่ำกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้ระบบจ่ายไฟฟ้าเหนือศีรษะ  และมีระบบแบตเตอรี่สำรองสำหรับขับเคลื่อนในระยะสั้น คาดการณ์จำนวนผู้โดยสารประมาณ 39,000 คนต่อวัน กรอบวงเงินลงทุนโครงการเบื้องต้น 35,201 ล้านบาท มีอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุนเท่ากับ 1.12 และผลตอบแทนทางการเงินเท่ากับร้อยละ 2.34 ผลการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบPPP ในเบื้องต้นพบว่า PPP Net Cost มีความเหมาะสม โดยรฟม.จะดำเนินการตามขั้นตอนของพ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนปี 2562 ต่อไป

    “กระทรวงคมนาคมเห็นว่าการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของ จ.ภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาการจราจร เสริมสร้างศักยภาพระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง สนับสนุนและรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว รวมทั้งช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน โดยตามแผนการดำเนินงานโครงการนั้น ครม.จะอนุมัติรูปแบบการลงทุนโครงการได้ในเดือนตุลาคม 2564  คัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการในเดือนมีนาคม 2565-มีนาคม 2566  เริ่มก่อสร้างเดือนเมษายน 2566 และเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2569”

    แจงความคืบหน้าก่อสร้างทางพิเศษ “กะทู้-ป่าตอง”

    นอกจากนี้ ครม.ยังได้รับทราบผลการดำเนินโครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)  มูลค่าลงทุน 14,177 ล้านบาท  เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวสายทางระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นโครงการเชื่อมกับถนนพระเมตตาในพื้นที่ ต.ป่าตอง อ.กะทู้ จนถึงจุดสิ้นสุดโครงการในพื้นที่ต.กะทู้ บริเวณจุดตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4029 มีอัตราผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจร้อยละ 20.44 อัตราผลตอบแทนด้านการเงิน 8.94 คาดว่าจะมีปริมาณการใช้ทางพิเศษจำนวน 71,050 คันต่อวัน ส่วนความคืบหน้าของโครงการนั้น ทางกทพ.ได้ส่งรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์โครงการให้สคร. ซึ่งสคร.ได้ขอให้กทพ.เร่งดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ให้มีความชัดเจน ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ทั้งหมดแล้วเสร็จได้ภายในเดือนธันวาคม 2563 โดยตามแผนงานจะคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการได้ในเดือนมิถุนายน 2564- มกราคม 2566 ก่อสร้างโครงการเดือนกุมภาพันธ์ 2566-มกราคม 2570 เปิดให้บริการได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 2570

    รับทราบแผนท่องเที่ยว 3 จว. “สุราษฎร์ธานี-กระบี่-ภูเก็ต”

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. รับทราบแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวและกีฬาในจังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต ประกอบด้วย 3 โครงการที่สำคัญดังนี้คือ โครงการคลองท่อมเมืองสปา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่, โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำผุดบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี

    ทั้งนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬารายงานว่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดกระบี่ และจังหวัดภูเก็ต เป็นจังหวัดที่มีการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งในปี 2562 มีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็นร้อยละ 68 แต่เนื่องจากเกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสไวรัสโคโรนา 2019(โควิด-19)ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในพื้นที่อย่างมาก ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง ดังนั้นจึงต้องเร่งกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมี 3 โครงการข้างต้นของทั้ง 3 จังหวัดเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญ

    สำหรับโครงการคลองท่อมเมืองสปา อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ แยกเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อนคลองท่อมเมืองสปา, โครงการบริหารจัดการน้ำพุร้อนเค็มให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ด้วยนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำพุร้อนอย่างยั่งยืน

    ส่วนโครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวน้ำผุดบางสวรรค์ อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานีนั้น อ่างน้ำผุดบางสวรรค์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ที่มีจุดเด่น คือ เป็นอ่างน้ำขนาดใหญ่จากธรรมชาติที่มีอ่างน้ำผุดที่ผุดจากใต้ดินมากกว่า 10,000 จุด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาตลอดทั้งปี มีโครงการที่สำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาสินค้าและกิจกรรม(New Product) ได้แก่ กิจกรรมเดินป่า  กิจกรรมSub Board/แคนู/คายัค การพัฒนาที่พักชุมชน การสร้างโปรแกรมทัวร์ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ป้ายบอกทาง การปรับปรุงสะพานเดินชม การก่อสร้างห้องน้ำ เป็นต้น

    ขณะที่โครงการจัดการแข่งขันกีฬาเชื่อมโยงการท่องเที่ยวในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่ และสุราษฎร์ธานี เป็นแนวคิดเพื่อพัฒนาธุรกิจด้านการท่องเที่ยวให้มีมูลค่าสูงด้วยอัตลักษณ์และวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์คุณค่าทางเศรษฐกิจและความหลากหลายด้านการท่องเที่ยวที่เน้นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา มีโครงการที่สำคัญในการพัฒนาดังนี้คือ โครงการพัฒนาบุคลากรกีฬา โครงการสร้างสังคมกีฬาและวัฒนธรรมกีฬาจากฐานชุมชน โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลกีฬาแบบดิจิทัล โครงการจัดแข่งขันกีฬานานาชาติ 9 ชนิดกีฬา โครงการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬา โครงการจ้างงานประชาชนในการจัดการแข่งขันกีฬา

    ยกเว้นค่าธรรมเนียมจดทะเบียนเครื่องจักร

    นางสาวไตร กล่าวว่า ครม. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องจักร เป็นระยะเวลา 1ปี เพื่อบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบกิจการที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิดฯ โดยจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

    ซึ่งประกอบด้วย 3 รายการ ดังนี้คือ  1.ค่าจดทะเบียนกรรมสิทธิ์เครื่องจักร ปกติอัตราจัดเก็บอยู่ที่เครื่องละ 750 บาท แต่ไม่เกิน 12,000 บาท 2.ค่าเครื่องหมายการจดทะเบียนซึ่งเจ้าพนักงานได้ประทับหรือทำไว้ที่เครื่องจักร อัตราการจัดเก็บค่าธรรมเนียมอยู่ที่ เครื่องหมายละ 120 บาท แต่ไม่เกิน 1,200 บาท และ 3. ค่าคัดสำเนาเอกสารพร้อมด้วยคำรับรองว่าถูกต้อง อัตราจัดเก็บอยู่ที่หน้าละ 10 บาท

    “คาดว่ากระทรวงอุตสาหกรรมได้ประมาณการการสูญเสียรายได้จากการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมครั้งนี้ในรอบ 1 ปี อยู่ที่ประมาณ  2 ล้านบาท”

    เห็นชอบแผนปราบยาเสพติด 3 ปี ใช้งบฯ 15,957 ล้าน

    นางสาวไตรศุลี  กล่าวว่า ครม. เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดปี 2563-2565 งบประมาณดำเนินการจำนวน 15,957 ล้านบาท แยกเป็น ด้านการป้องกันยาเสพติดจำนวน 5,608 ล้านบาท ด้านการปราบปรามยาเสพติดจำนวน 5,897 ล้านบาท และด้านการบำบัดรักษายาเสพติดจำนวน 4,451 ล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแผนชี้นำการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดและลดระดับปัญหาได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายใน 3 ปี และลดระดับจนไม่ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศภายในปี 2580 ประกอบด้วย 5 มาตรการ 9 แนวทาง

    • มาตรการแรก ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ มี 1 แนวทางคือ แนวทางในการให้ความสำคัญกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การปฏิบัติการสนับสนุนซึ่งกันและกัน การบริหารจัดการชายแดน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากร
    • มาตรการที่ 2 การปราบปรามและบังคับใช้กฎหมาย มี 2 แนวทางคือ การสกัดกั้นยาเสพติด สารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ และการปราบปรามกลุ่มการค้ายาเสพติด
    • มาตรการที่ 3 การป้องกันยาเสพติด มี 3 แนวทางคือ การเสริมสร้างความเข้มแข็งของหมู่บ้าน และชุมชนตามแนวชายแดนและการพัฒนาทางเลือก, การป้องกันยาเสพติดในแต่ละกลุ่มเป้าหมายอย่างเหมาะสมเป็นรูปธรรม และการปรับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม
    • มาตรการที่ 4 การบำบัดรักษายาเสพติด มี 1 แนวทางคือ การดูแลผู้ใช้ ผู้เสพ ผู้ติดยาเสพติด ให้เข้าถึงการบำบัดรักษาและการลดอันตรายหรือผลกระทบจากยาเสพติด มาตรการที่ 5 การบริหารจัดการอย่างบูรณาการ มี 2 แนวทางคือ แนวทางแรกเป็น กิจการพิเศษเพื่อดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่พิเศษ โดยการควบคุมและใช้ประโยชน์จากพืชเสพติด และการพัฒนามาตรการทางเลือกรูปแบบใหม่ เช่น การทำให้ยาเสพติดชนิดที่ไม่ร้ายแรงเป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย และแนวทางที่ 2 การบริหารจัดการอย่างบูรณาการเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเป็นระบบโดยการพัฒนาระบบข้อมูล และการเฝ้าระวังปัญหายาเสพติด การพัฒนาระบบเทคโนโลยีดิจิทัลยาเสพติด

    เตรียมตั้งศูนย์อาเซียนฯ – จัดการโรคอุบัติใหม่ในไทย

    นาวสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.อนุมัติกรอบการเจรจาและข้อเสนอของไทยเพื่อจัดตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทย (ASEAN Center for Public Health Emergencies and Emerging Diseases -APHEED) เพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัยจากภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ให้กับประชาคมอาเซียน โดยเน้นขีดความสามารถ พร้อมรับ ตรวจจับ และตอบโต้ โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ส่งชุดคำตอบสำหรับการแสดงความจำนงค์ที่ประเทศไทยมีความพร้อมต่อการเป็นเจ้าภาพจัดตั้ง APHEED  ไปที่สำนักเลขาธิการอาเซียนแผนกสุขภาพ โดยระบุคำตอบถึงความพร้อมในการเตรียมสถานที่ตั้งของAPHEED โดยสามารถจัดตั้งได้ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

    สำหรับงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของ APHEED จะอยู่ที่ปีละประมาณ 12-15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และหากให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดจะใช้งบประมาณ 28-33 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี โดยใน 5 ปีแรกของการจัดตั้งAPHEED จะต้องมีการตั้งงบลงทุนประมาณ 14-17 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี  สำหรับการก่อสร้างตึก ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เป็นต้น โดยควรจะมีบุคลากรประมาณ 70-80 คนในระยะ 3 ปีแรก และภาพรวมควรจะมีบุคลากรทำงานในAPHEED ประมาณ 130-170 คน อย่างไรก็ตามกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า งบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของAPHEED ซึ่งในปีแรกคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ส่วนนี้จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลญี่ปุ่นและจากกลไกการดำเนินงานของสำนักเลขาธิการอาเซียน แต่ก็ยังไม่ทราบจำนวนสนับสนุนที่แน่ชัด ดังนั้นส่วนที่เหลือจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของประเทศที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำข้อเสนอกรอบวงเงินเพื่อการเจรจาต่อรองไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณพื้นฐานในการดำเนินงานของAPHEEDต่อปี และต้องไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี

    ทั้งนี้หากประเทศไทยได้รับการคัดเลือกให้จัดตั้งAPHEED จะได้มีส่วนร่วมสำคัญในการพิจารณากำหนดกรอบการดำเนินการของAPHEED  นำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือทั้งด้านวิชาการและการดำเนินการป้องกันโรคร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียนและความร่วมมือจากประเทศอื่น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยดังนี้คือ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์และสาธารณสุขของไทยที่ให้การสนับสนุนในการคัดกรองและการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค การตรวจรักษา และการควบคุมโรคระบาดในกลุ่มแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

    นอกจากนี้ยังสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน นักท่องเที่ยว และผู้ที่เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ในความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของไทย และประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการค้า การลงทุนระหว่างกัน รวมถึงการส่งเสริมด้านเศรษฐกิจร่วมกันของอาเซียนและจากประเทศในภูมิภาคอื่นทั่วโลก รวมทั้งยังช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขของไทยให้มีความยั่งยืนตามเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านสาธารณสุข

    ผ่านร่างถ้อยแถลงที่ประชุม รมต.อาเซียนฯ

    นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม.รับทราบผลการประชุมและให้ความเห็นชอบต่อร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนด้านการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน ภายใต้แนวคิด การลดความยากจนและเสริมสร้างศักยภาพในการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง : การฟื้นฟูประเทศจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สำหรับการประชุมสมัยพิเศษระดับรัฐมนตรีอาเซียนฯครั้งนี้จัดขึ้นผ่านระบบการประชุมทางไกลเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาเป็นประธานการประชุม มีวัตถุประสงค์เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 โดยทุกประเทศจะต้องมีมาตรการเพื่อรองรับการส่งเสริมให้ประชาชนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงได้ โดยเฉพาะการเสริมสร้างขีดความสามารถในการปรับตัวของกลุ่มคนยากจน เพื่อให้อาเซียนสามารถเติบโตไปด้วยกันได้อย่างยั่งยืน

    ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว เลขาธิการอาเซียนได้รายงานว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สัดส่วนคนยากจนเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 15 เมื่อปี 2558 เป็นร้อยละ 47 เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชนบท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเกษตรกรรม รวมทั้งแรงงานในเมืองที่ตกงานจากการที่ผู้ประกอบการปิดกิจการได้เดินทางกลับภูมิลำเนา ดังนั้นประเด็นเรื่องความคุ้มครองทางสังคมและการรักษาความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นประเด็นที่ทุกประเทศสมาชิกอาเซียนควรให้ความสำคัญ เพื่อทำให้ชุมชนในชนบทสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวได้

    สำหรับสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมฯมีดังนี้คือ ที่ประชุมแสดงข้อห่วงกังวลเรื่อผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ซึ่งทำให้ประชากรโลกกว่า 100 ล้านคน เข้าสู่สภาวะยากจนอย่างรุนแรงและมีความเสี่ยงต่อความหิวโหยในระยะยาวมากขึ้น ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศสมาชิกอาเซียนที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ ต้องหยุดชะงักไป รวมทั้งมีข้อกังวลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท
    อย่างไรก็ตามเพื่อขจัดความยากจนจากผลกระทบของโควิด-19ดังกล่าว ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการดังนี้คือ ปกป้องผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง เพิ่มโอกาสในการจ้างงานและการกระจายรายได้ และส่งเสริมการดำรงชีวิตในชนบทและสร้างความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่นและระบบการผลิตอาหารให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ สร้างความเชื่อมั่นมีหลักประกันว่าทุกประเทศมีกรอบแนวทางที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูประเทศที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับคนยากจน และให้ความสำคัญกับข้อจำกัดที่สตรีและเยาวชนในชนบทต้องเผชิญ ส่งเสริมการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เสริมสร้างกรอบนโยบายเชิงบูรณาการเพื่อเชื่อมโยงชนบทกับเมืองในทุกระดับ

    อ่านมติ ครม.ประจำวันที่ 3 พฤศจิกยาน 2563เพิ่มเติม