ThaiPublica > Sustainability > Contributor > น้ำดื่มของคนไทย

น้ำดื่มของคนไทย

4 ตุลาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

กรมอนามัยกำหนดเกณฑ์คุณภาพของน้ำบริโภคมาตั้งแต่ พ.ศ.2533 สมัยพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ

กำหนดตัวชี้วัด 20 องค์ประกอบในการตรวจ เช่น ดูความเป็นกรดด่าง ดูความขุ่น ดูสี ดูคุณภาพทางเคมีว่าพอน้ำระเหยหมดแล้วทิ้งสารละลายอะไรไว้ น้ำมีความกระด้างแค่ไหน มีซัลเฟต มีคลอไรด์ มีไนเตรท มีฟลูออไรด์ มีโลหะหนักอย่าง เหล็ก ทองแดง สังกะสี แมงกานีส มีตะกั่ว โครเมียม แคดเมียม ปรอท และสารหนูไม่เกินเท่าไหร่ มีแบคทีเรียประเภทโคลิฟอร์ม และ ฟิคัลโคลิฟอร์มไม่เกินเท่าไหร่

ขืนให้อธิบายต่อ จะกลายเป็นวิชาเคมี ชีวะไป ขอผ่านไปแล้วกันนะครับ

แต่จนกระทั่งสิ้นเดือนมิถุนายน 2562 คือ 30 ปี ต่อมา กรมอนามัยได้ให้การรับรองระบบน้ำประปาที่เทศบาลต่างๆผลิตและจำหน่ายไปตามบ้านประชาชนแล้วได้เพียง 518 เทศบาล

แปลว่ารับรองมาตรฐานตาม EHA หรือคำเต็มคือ Environmental Health Accreditation ไปแล้วเพียง 10% ของจำนวนระบบประปาที่เทศบาลต่างๆผลิตกันอยู่

แต่ทั่วถิ่นแดนไทยนั้น เรามีเทศบาลที่กำลังผลิตน้ำประปาอยู่ถึง 5หมื่น แห่ง!!

คงอีกนานโข กว่าจะครบ

อ้อ….ผู้อ่านที่ดื่มน้ำจากการประปาภูมิภาคและการประปานครหลวงนั้น ไม่ต้องตกใจ เพราะนี่เป็นสองหน่วยที่มีระบบตรวจคุณภาพน้ำทั้งโดยหน่วยผลิตน้ำประปาเองและจากหน่วยตรวจภายนอก ได้ระดับมาตรฐานมานานแล้ว

คนเมืองใหญ่ส่วนมากจึงถอนใจโล่งอกพอได้ แต่รออ่านให้จบท้ายบทความนี้นะครับ

เอาล่ะ….นอกจากน้ำประปาที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นผลิตแล้ว คนไทยในหลายพื้นที่ บริโภคน้ำจากบ่อบาดาล และจากบ่อน้ำตื้นอีกเยอะพอควร ได้มาตรฐานต่อสุขภาพแค่ไหน อันนี้ยังสุดจะเดาเอง

การดื่มน้ำต้มสุกนั้น ช่วยกำจัดแบคทีเรียได้ แต่พวกโลหะหนัก และเคมีหลายอย่างนั้น ความร้อนจะจัดการได้ไม่หมด

ผมเป็นเด็กนักเรียนต่างจังหวัดตั้งแต่อนุบาลจนจบประถม แล้วมาเรียนที่กรุงเทพ จากนั้นแม่ก็เอาตัวกลับมาเรียนต่างจังหวัดจนมัธยมสอง จึงชินกับการดื่มตรงจากก๊อกประปา หรือจากถังน้ำฝน เพราะราคาถูกดี

เมื่อเข้ามาเรียนต่อมัธยม ในกรุงเทพ โรงเรียนเมืองกรุงมีระบบก๊อกเป็นแถวยาวแบบฉีดน้ำพุ่งขึ้นมาตรงๆให้นักเรียนดื่มจากประปาได้สะดวก

ข้อดีคือไม่ต้องเอียงหงายคอม้วนเป็นห่าน มุดไปใต้ก๊อกน้ำเหมือนอย่างตอนเรียนที่ต่างจังหวัด

ตอนนั้นรู้สึกทันสมัยดี นักเรียนบางคนห่ามหน่อย ดื่มน้ำก๊อกด้วยการอมมันทั้งหัวก๊อกกลมๆมนๆที่ปล่อยน้ำพุ่งขึ้นมาเลยก็เคยเห็นมาแล้ว

แต่นั่น 30 ปี มาแล้วหรอกนะครับ

ปัจจุบันการดื่มน้ำจากตู้หยอดเหรียญ เข้ามาเสริมแทนอย่างแพร่หลาย จึงติดตามหาความรู้ต่อจากเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ซึ่งเพิ่งสำรวจเมื่อปี 2558 ทำให้พบว่าแม้น้ำประปาก่อนเข้าตู้กดน้ำหยอดเหรียญจะอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน แต่ผลตรวจน้ำที่ออกจากตู้กลับปนเปื้อนแบคทีเรีย!! สาเหตุเพราะภาชนะเก็บน้ำในเครื่องกรองไม่สะอาด ไม่ก็ ไส้กรองน้ำไม่ได้รับการเปลี่ยนตามเวลา

นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ตู้หยอดเหรียญในพื้นที่กรุงเทพฯที่สำรวจใน 18 เขต เป็นตู้เถื่อนถึง 91.76%!!

คำว่าเถื่อน อาจไม่แปลตรงตัวว่าไม่สะอาด แต่คือตู้ไม่มีใบอนุญาตตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือสคบ.กำหนด เพราะตู้หยอดเหรียญเป็นสินค้าควบคุมฉลาก ที่ประกาศไว้ตั้งแต่ 2533 แล้ว

สิ่งที่พบต่อคือ ตู้เหล่านี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีฝุ่นมากถึง 76.3 % เช่นตั้งริมถนนที่มีฝุ่นจากยวดยานผ่านไปมาจำนวนมาก

มีที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสียหรือมีน้ำขัง28.3%

และตั้งอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ 22%

พอปี 2560 จึงมีการสำรวจซ้ำแบบปูพรม 50 เขตทั่วกรุงเทพมหานครเสียเลย

พบปัญหาทุกข้อข้างต้น ไม่ต่างจากเดิม!!!

ข้อเขียนนี้จึงบอกเราได้กลายๆว่า การมีน้ำในท่อประปาที่สะอาดมีมาตรฐานมาถึงชุมชนนั้น สะดวกดีแล้ว แต่ถ้าปล่อยเผลอการด์ตก

ก็น่าคิดทบทวนเหมือนกัน

ไหนๆรัฐบาลก็ออกประกาศให้เตรียมการเลือกตั้งท้องถิ่นในปลายปีนี้จนปลายปีหน้า ทั้งเลือกนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด เลือกสมาชิกสภาเทศบาล เลือกผู้ว่ากทม. และเลือกผู้ว่าเมืองพัทยา

ใครจะคิดลงสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น คงต้องพูดถึงปัญหานี้กันเสียที เพราะเราทุกคนดื่มน้ำกันวันละหลายลิตร ถ้านับน้ำแปรงฟันบ้วนปากด้วยก็จะราว ๆ 5 ลิตรต่อวัน พอๆกันทุกคน น้ำที่ผ่านเข้าปากของพี่น้องราษฏรทุกวัน ย่อมมีผลต่อสุขอนามัยของสังคมอย่างน่าสนใจ

องค์กรส่วนท้องถิ่นทั่วไทยจึงควรเร่งตื่นตัวในการประเมินระบบน้ำดื่มในเขตท่านกันเสียแต่บัดนี้ ทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เจ้าหน้าที่อนามัยในพื้นที่ ให้ลองสำรวจตรวจตราเสียจะดีมาก จากนั้นก็คอยติดตาม ตรวจสอบ อบรมให้บรรดาตู้น้ำมีการเปลี่ยนไส้กรอง ทำความสะอาดภาชนะภายในตู้ให้ดี รวมทั้งวางตู้ให้อยู่ในจึดที่เหมาะสม

ในปี 2558 ปีเดียว กรมควบคุมโรค พบผู้ป่วยท้องร่วงจากการดื่มน้ำไม่สะอาดเกิน 1 ล้านราย!!

ทำให้ปีนั้นมีการตื่นตัวติดตามเตือนพื้นที่ต่างๆกันยกใหญ่ แต่กระนั้น ช่วงมีนาคม-เมษายน ของปี 2561 เดือนเดียวก็ยังเจอผู้ป่วยท้องร่วง ถึงสองแสนราย

อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจค่าเฉลี่ยคุณภาพน้ำบริโภคครัวเรือนย้อนหลัง 10 ปี พบว่าค่าเฉลี่ยดีขึ้น แต่ยังมีอาการขึ้นๆลงๆ และโดยรวมแล้วยังอยู่ในระดับต่ำไปหน่อย

นอกจากนี้ ก็มีข้อค้นพบอีกคือ ภาชนะกักเก็บและท่อน้ำในครัวเรือน ยังไม่ได้ระบบมาตรฐาน ดังนั้นการต้มน้ำให้สุกก่อนดื่มจึงยังสำคัญมาก

น้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำทิ้ง จึงไม่ใช่ปัญหาเวียนซ้ำของไทยอย่างเดียวที่เกี่ยวกับน้ำครับ

น้ำบริโภคก็ต้องไม่ถูกมองข้ามเช่นกัน….