ThaiPublica > Sustainability > Contributor > รัฐสภาไทย กับบทบาทต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

รัฐสภาไทย กับบทบาทต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน

1 ตุลาคม 2020


วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา

สหประชาชาติอาจเป็นองค์กรที่มีแอ็กชันได้น้อยในระดับสนาม เมื่อเทียบกับบทบาทของรัฐประเทศสมาชิกในแต่ละพื้นที่

ก็ต้องยังงั้นแหละ เพราะสหประชาชาติถูกออกแบบมาแบบนั้น…

คือมีไว้ให้พูด ให้เถียง ให้ต่อรอง ไม่ใช่ให้ไปรบไปสู้กับตัวปัญหาเอง นอกจากกรณีที่สมาชิกมีมติว่าปล่อยความขัดแย้งในสนามขนาดนั้นไว้ไม่ได้แล้ว

แต่สิ่งที่สหประชาชาติมีมติ มันคือสิ่งที่สากลทั่วไปย่อมเห็นพ้องได้ง่าย

วาระการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นหนึ่งในท่าทีและหัวข้อที่สหประชาชาติทุ่มเทส่งเสริมมานานที่สุดหัวข้อหนึ่ง

และมันจะเกิดได้จริงก็ต้องอาศัยการกระทำระดับสากลร่วมกันอย่างน้อย 17 หัวข้อ

และทุกๆ หัวข้อมีผลต่อความสำเร็จและไม่สำเร็จของกันและกัน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals จึงเป็นเสมือนพระธรรมคำภีร์ภาคการพัฒนา ที่จะช่วยให้สังคมโลกอยู่ร่วม อยู่รอด และสามารถส่งมอบโลกที่ยังอยู่ได้ให้กับคนรุ่นถัดๆๆ ไปได้

รัฐสภาของทุกประเทศที่มีสภา ซึ่งสมาชิกจะมาด้วยวิธีใดก็ตาม ย่อมมีหน้าที่ช่วยให้ความเห็นเพื่อสร้างและเตือนสติแก่ฝ่ายบริหารประเทศ ในการทำอะไรก็ตามที่จะยังประโยชน์โดยรวมแก่ประชาชนประเทศนั้น รวมทั้งรัฐสภาเองก็เป็นสถาบันที่ควรเป็นทั้งแบบอย่างนำมวลชน และเป็นองค์กรที่สะท้อนสังคมได้อย่างมีความหมาย

ในเมื่อฝ่ายบริหารของแต่ละประเทศ (กรณีนี้มีแล้ว 193 รัฐประเทศ) ไปผูกพันรับรองเห็นพ้องกับฉันทามติในระดับนานาชาติ รัฐสภาของประเทศนั้นก็เลยพลอยต้องมีหน้าที่กำกับสนับสนุนให้ฝ่ายบริหารของประเทศนั้น ปฏิบัติให้สอดคล้องกับที่เป็นตัวแทนประเทศและประชาชน ตามที่ไปรับปากกับสากลไว้ด้วย

ประเทศไทยรับรองและเข้าร่วมในฉันทามติโลกที่สหประชาชาติเสนอไว้ในเรื่องเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาเป็นหลายซีรีส์แล้ว ตั้งแต่รอบที่พูดกันถึงเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ที่เริ่มกันมาตั้งแต่ พ.ศ. 2543 หรือ ค.ศ. 2000

ดังนั้น จึงชอบที่รัฐสภาจะช่วยติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดให้ฝ่ายบริหารของไทย ดำเนินการต่างๆ โดยคำนึงและมุ่งเป้าการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้างต้น

ทีนี้ปรากฏว่า ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ไทยทำได้ดี และมีทีท่าจะบรรลุเป้าหมายอยู่หลายเป้า

แต่ก็มีอีกอย่างน้อย 3 เป้าหมาย ที่ไทยยังไล่ตามสากลในอัตราที่ช้ากว่า

1. การลดความเหลื่อมล้ำ
2. การลดภาวะโลกร้อนหรือแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก
3. การเชิดชูหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เข้มข้นขึ้น

โดยสิ่งที่ไทยทำได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ (แม้ไม่ได้แปลว่าไร้ที่ติและยังต้องเดินหน้าพัฒนาต่อเนื่อง) ได้แก่ การบริหารพัฒนาปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต เรื่องการมีสาธารณสุขที่ดี การมีโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ การมีน้ำสะอาด การมีพลังงานสะอาด ฯลฯ

ท่านที่สงสัยว่า 17 เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีอะไรบ้าง ดูที่นี่

ที่มาภาพ : http://www.un.or.th/sdgs/

ทีนี้ รัฐสภาไทยควรทำอะไรกับเรื่องนี้ได้บ้าง

จึงขอจำแนกมาให้อ่านดังนี้ครับ

อย่างแรก คือบรรดาสมาชิกรัฐสภา เมื่อรวมตัวกันในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวแล้วเป็นรัฐสภา เป็นวุฒิสภา เป็นสภาผู้แทนราษฏร เป็นคณะกรรมาธิการ ไม่ว่าจะคณะกรรมาธิการสามัญหรือวิสามัญ บทบาทที่สามารถทำได้เพื่อส่งเสริมเป้าหมายของ SDG ก็คือ

ประสานงาน

ให้มีความร่วมมือของหน่วยต่างๆ เช่น องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรภาคประชาสังคม องค์กรส่วนท้องถิ่น และแน่นอน กับองค์กรของฝ่ายรัฐบาล หรือในหลายกรณีทำงานร่วมกับองค์กรนอกประเทศไทยเพื่อประสานความร่วมมือต่อเป้าหมายของ SDG

การบัญญัติกฎหมาย

ให้มีสำนึกต่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนเสมอในทุกขั้นตอนของการร่าง การพิจารณา การอภิปราย การลงมติ และการติดตามผลของกฎหมายที่ออกโดยสภา ว่าได้ส่งเสริม ขัดขวาง หรือชะลอผลที่ควรจะเกิดเพื่อก้าวไปบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายหรือเปล่า

ถ้าเจอ ก็ควรทบทวนเร่งรัด ขจัดอุปสรรคเหล่านั้นเสีย

และถ้าตัวกฎหมายเป็นอุปสรรคเสียเอง ก็ควรยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายนั้น

การจัดสรรงบประมาณ

กำกับดูแลให้การอนุมัติการจัดสรรงบประมาณในหมวดในโครงการว่าต้องมุ่งให้บรรลุเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในขณะเดียวกัน นอกจากดูที่รายจ่ายของงบประมาณแล้ว สภาควรดูที่รายรับด้วย ว่าใช้กฎหมายจัดเก็บรายได้ที่เสริมต่อการมุ่งเป้าข้างต้นอย่างยั่งยืนด้วยหรือไม่

การติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร

สภาย่อมติดตามด้วยการตั้งกระทู้ ทั้งที่เป็นกระทู้สดด้วยวาจา กระทู้เป็นหนังสือ การเสนอญัตติ การเชิญฝ่ายบริหารมาให้ข้อมูล มาปรึกษาหารือ ในกิจกรรมที่เกี่ยวกับหรือส่งผลต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในวุฒิสภามีหน้าที่พิเศษอีกอย่างตามรัฐธรรมนูญที่ใส่บทเฉพาะกาลไว้ ให้วุฒิสภาทำภารกิจติดตาม เร่งรัด และเสนอแนะ การดำเนินการของรัฐบาลตามแผนปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งในหลายครั้งที่ผมติดตามการอภิปรายซึ่งจัดทุกๆระยะ 3 เดือน สมาชิกวุฒิสภาหลายๆ ท่านได้นำเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาเป็นเครื่องมือในการกำกับการ ต. ส. ร. (ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัด) การปฏิรูปเสมอๆ

การทำหน้าที่ผู้แทนปวงชนชาวไทย

สมาชิกรัฐสภาไทยย่อมเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยกันทั้งนั้น จึงควรส่งเสริมให้ปวงชนมีส่วนร่วมในการบัญญัติกฎหมาย จัดทำและติดตามการจัดสรรงบประมาณเข้าถึงข้อมูลสาธารณะที่จะใช้ตรวจสอบติดตาม และเอื้อให้ระดับท้องถิ่นต่างๆ ได้ร่วมมุ่งเป้าการพัฒนาที่ยั่งยืนได้สะดวกขึ้น

เอาล่ะ…ที่จารนัยไปนั้น เป็นบทบาทระดับ ส.ส. และ ส.ว. นะครับ

ส่วนในระดับข้าราชการของรัฐสภา ไม่ว่าจะสังกัดสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนฯ หรือสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ตลอดแม้ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ของสองส่วนราชการที่ว่า แต่เป็นหน่วยในสังกัดของรัฐสภา เช่น สถาบันพระปกเกล้า ก็ยังสามารถจะทำภารกิจที่มุ่งเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อีกมากมาย

สุดท้ายอีกหน่วย ที่แม้ไม่สังกัดต่อรัฐสภา แต่ก็เป็นองค์กรที่มุ่งหมายจะมาทำภารกิจที่รัฐสภา เช่น พรรคการเมืองต่างๆ กลุ่มความร่วมมือ กลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภา ชมรมลูกเสือ ชมรมสโมสรต่างๆ ในพื้นที่ของรัฐสภา ก็ควรมีกิจและเป้าในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนเช่นกัน

ฟังดูแล้วครอบคลุมพอควร

แต่ถ้าถามว่ามีอะไรที่จะทำได้เร็วๆ ชัดๆ อีกเพื่อให้รัฐสภาเป็นองค์กรตัวอย่างในการนำปวงชนและท้องถิ่นต่างๆ ในการเปลี่ยนไปสู่สำนึกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ก็ขอเสนอแนะเป็นเกร็ดว่า

ฝ่ายบริหารของรัฐสภาซึ่งดูแลอาคาร ดูแลการจัดกิจกรรมสารพัดในเขตรั้วของรัฐสภาน่าจะตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน การติดโช้กอัปดึงประตูให้ปิดอัตโนมัติเพื่อไม่ให้แอร์ไหลออก ลดการใช้กระดาษ (สภาใช้กระดาษผลิตเอกสารเยอะมากๆ) ลดการใช้พลาสติกชนิดครั้งเดียวทิ้ง เช่น หลอดดูด ช้อนส้อมพลาสติก น้ำดื่มบรรจุขวด แล้วสร้างวัฒนธรรมการกระจายความรับผิดชอบให้ทุกๆ ฝ่ายที่ต้องเข้ามาในเขตของรัฐสภาไปทีละนิด ทีละเรื่องไปเรื่อยๆ เช่น ค่อยๆ ชักชวนให้พกช้อนส้อมมาใช้เอง พกหลอดดูดอะลูมิเนียม พกกระติกน้ำมาเติมจากเครื่องกรองที่สภา หันมาใช้กระดาษรีไซเคิล ใช้ไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนเท่าที่ทำได้ แม้แต่กล่องใส่เอกสารงบประมาณก็ควรให้ทำจากวัสดุหมุนเวียน

แม้แต่ในอนาคตที่จะต้องซ่อมแซมปรับปรุงวัสดุตกแต่ง เช่น ลดการใช้ไม้จำนวนมากมาประดับเพดานห้องประชุม การติดป้ายบอกทางเดิน ป้ายในที่จอดรถ ป้ายห้องน้ำ ฯลฯ ก็อาจพิจารณากำหนดสเปกให้ทำจากวัสดุรีไซเคิล และดูแลให้แน่ใจว่าผู้พิการ คนชรา คนท้อง เด็ก หรือคนแคระตัวเล็กๆ ก็สามารถเข้าถึงห้องหับห้องน้ำและสามารถมีส่วนร่วมกับกิจกรรมของรัฐสภาได้โดยไม่พบอุปสรรคกีดขวาง

สุดท้ายที่สำคัญที่สุด คือเราทุกฝ่ายต้องช่วยกันมุ่งมั่นทำประชาธิปไตยและการเมืองอย่างมีส่วนร่วมที่สุจริต รับผิดชอบ และพึ่งหวังประสิทธิภาพได้