ThaiPublica > คอลัมน์ > เรียนรู้ชีวิตจากชายวัย 90

เรียนรู้ชีวิตจากชายวัย 90

17 ตุลาคม 2020


วรากรณ์ สามโกเศศ

Warren Buffett ที่มาภาพ : https://markets.businessinsider.com/news/stocks/warren-buffett-joe-biden-presidential-election-america-global-leadership-2020-10-1029682841#

Warren Buffett ผู้ติดอันดับเป็นเศรษฐีหมายเลขหนึ่งของโลกหลายครั้งมีอายุครบ 90 ปีเมื่อไม่นานมานี้ ในงานเลี้ยงฉลองวันเกิดเขาได้ให้คำสอนเกี่ยวกับเรื่องชีวิต การทำมาหากิน การครองชีวิต การลงทุน ฯลฯ ไว้อย่างน่าฟังนอกเหนือจากคำกล่าวของเขาในงานประจำปีของบริษัทที่ผู้คนนับหมื่นเข้าฟัง และคนอีกนับล้านทั่วโลกเงี่ยหูฟัง

Buffett (บัฟ-เฟ็ต) มีอะไรเหมือนคนสูงอายุทั่วไปซึ่งต่างจากคนหนุ่มสาวอยู่บางประการเช่นไม่กลัวความแก่เพราะได้แก่ไปเรียบร้อยแล้ว และไม่กลัวเสียชีวิตแต่ยังหนุ่มสาวเพราะได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วด้วยการเป็นคนแก่

ในวันที่อายุครบ 90 ปี เขามีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 82,600 ล้านเหรียญ (ประมาณ 2.73 ล้านล้านบาท) 90% ของมูลค่านี้เกิดขึ้นหลังจากที่เขามีอายุ 65 ปี เขาร่ำรวยด้วยการสร้างตัวเอง พ่อเขาเป็น ส.ส. ของรัฐสภาอเมริกันจากรัฐ Nebraska เขามีลูก 3 คน และมีหลานปู่และตา 10 คน

Buffett บริจาค 90% ของสมบัติที่เขามีแก่มูลนิธิและสาธารณกุศลต่างๆ มีชีวิตด้วยความพอเพียง ไม่เคยมีบ้านหลายหลังไว้พักผ่อน ไม่มีเครื่องบินส่วนตัว อยู่บ้านหลังเก่าที่อยู่มาตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงาน ตอนเย็นก็อยู่บ้านดูทีวีกับครอบครัว “6 ข้อคิด” ของเขาจากงานวันเกิด 90 ปี น่าไตร่ตรองมาก ผู้เขียนพบข้อเขียนนี้ในอินเตอร์เน็ตโดยไม่ทราบเจ้าของ จึงขออนุญาตนำมาแพร่หลายต่อ ดังนี้

1. แต่งงานกับคนที่ใช่ Buffet เคยกล่าวไว้ว่าการตัดสินใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาไม่ใช่การเลือกซื้อหุ้นตัวไหน แต่เป็นการเลือกคู่ชีวิตของเขา Buffet กล่าวว่าความคิดของคนเราจะเปลี่ยนแปลงไปตามคนที่เราใช้เวลาอยู่ด้วย และคนที่เราใช้เวลาด้วยมากที่สุดในชีวิตก็คือคู่ชีวิตของเรา

เขาพูดในการประชุมประจำปีของ Berkshire Hathaway ครั้งหนึ่งว่า…

“จงแต่งงานกับคนที่ใช่ ผมพูดจริงๆ นะมันสำคัญมาก เพราะการแต่งงานครั้งเดียวจะเปลี่ยนชีวิตคนเราไปตลอดชีวิต มันจะเปลี่ยนความปรารถนาและทุกสิ่งทุกอย่างอีกมากมายของเรา”

2. ลงทุนในตัวเอง Buffett ได้พูดเสมอว่าการลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง นอกจากจะทำให้เรามีความรู้มากขึ้นแล้วยังไม่มีใครสามารถแย่งความรู้ไปจากเราอีกด้วย Buffet ยังแนะนำให้ลงทุนในตัวเองด้วยการพัฒนาความสามารถในการสื่อสารเพราะมันจะทำให้เราสามารถแชร์ไอเดียและสร้างสัมพันธ์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับผู้อื่นและทำให้คนอื่นเข้าใจสิ่งที่เราต้องการจะสื่อ มันจะช่วยเพิ่มคุณค่าของตัวเราเองได้อีกไม่ต่ำกว่า 50% เลยทีเดียว

นอกจากนี้ก็ควรดูแลตัวเอง ดูแลร่างกายและจิตใจให้ดีเพราะคนเรานั้นมีร่างกายและจิตใจเดียวเท่านั้น ไม่เหมือนรถยนต์ที่มีอะไหล่เปลี่ยนได้เสมอ

3. เป็นเพื่อนกับคนที่เก่งและดี การอยู่กับคนที่ดีและเก่งกว่าตัวเราเอง หรือกลุ่มคนที่Buffett เรียกว่า “High Grade People” จะทำให้เราเรียนรู้และเริ่มปฏิบัติตัวเหมือนคนเหล่านั้น ในทางกลับกันหากเรามัวหลงอยู่กับคนที่มีพฤติกรรมแย่กว่าตัวเราเอง ยิ่งนานไปเราก็จะยิ่งถูกดึงลงไปในทางที่แย่ลงเช่นเดียวกัน ดังคำพูดที่ว่า “ตัวคุณในวันนี้คือค่าเฉลี่ยของคน 5 คน ที่คุณใช้เวลาด้วยมากที่สุด”

4. ทำงานให้กับคนที่เรานับถือ Buffett แนะนำให้ทุกคนเริ่มการทำงานกับคนที่เรานับถือ เราไม่จำเป็นต้องทำงานกับเขาไปตลอดชีวิต แต่การเริ่มทำงานกับคนที่เรานับถือและยกย่องจะช่วยกำหนดแนวทางในการทำงานที่ดีให้กับเราแม้ว่าในอีก 10 ปีข้างหน้างานของเราอาจจะเปลี่ยนไปแล้ว แต่โอกาสในการเรียนรู้จากคนที่เรานับถือจะมีคุณค่ากับเราไปตลอด และถึงแม้ “เงิน” จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการเลือกงาน แต่อย่าให้เงินมาเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของการเลือกงานอย่างเดียวเท่านั้น

5. อย่าสนใจเสียงรบกวน Buffett บอกว่าไม่มีใครรู้อย่างแน่ใจร้อยเปอร์เซ็นต์หรอกว่าตลาดหุ้นจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน เพราะทุกๆ อย่างนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยในอนาคต ดังนั้นกลยุทธ์ในการลงทุนที่ดีที่สุดคือการทำตามแผนที่วางไว้อย่างรอบคอบและอย่าสนใจเสียงรบกวนรอบข้าง “เมื่อ นักลงทุนส่วนใหญ่กำลังโลภ จงระมัดระวังตัว แต่เมื่อใดที่นักลงทุนส่วนใหญ่ตื่นกลัว ก็จง “โลภ” และช่วงนี้เป็นเวลาที่นักลงทุนควรรอคอย” ประโยคนี้เป็นคำแนะนำที่ Buffet ย้ำไม่ให้ นักลงทุนฟังเสียงรอบข้างมากเกินไปอยู่เสมอ

6. ความสำเร็จไม่ได้วัดด้วยเงิน แม้ว่าจะเป็นมหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของโลกมาตลอดเวลาหลายปี แต่สำหรับ Buffett แล้ว ความร่ำรวยไม่ใช่ตัวชี้วัดความสำเร็จในชีวิต เขามองว่า…

การทำตนให้ได้รับความรักจากคนที่ใกล้ชิดสำคัญยิ่งกว่าเงินหลายเท่า และการได้รับความรักแบบไร้เงื่อนไข (Unconditional Love) นั้นเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของคนเรา

เงินไม่ใช่ตัวความสุขแต่เป็นสะพานไปสู่ความสุขตราบที่เจ้าของเงินรู้จักใช้เงินให้เป็นประโยชน์ และรู้จักแสวงหาสิ่งที่เป็นความสุขของชีวิตอย่างแท้จริง

ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” น.ส.พ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 29 ก.ย. 2563