ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เสียงจากผู้ประกอบการ ช่วยสภาพคล่องช้า เงื่อนไขยาก เข้าไม่ถึงแหล่งทุน

เวที “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เสียงจากผู้ประกอบการ ช่วยสภาพคล่องช้า เงื่อนไขยาก เข้าไม่ถึงแหล่งทุน

8 ตุลาคม 2020


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้าน คือ การใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

แปดองค์กร อันประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในเดือนพฤศจิกายน

โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SME ทั้งในภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่างสะท้อนมุมมองและปัญหาที่เผชิญไม่ต่างกันคือ รัฐ หน่วยงานภาครัฐประกาศมาตรการเยียวยาวได้ทันต่อสถานการณ์ แต่ในทางปฏิบัติมีความล่าช้า โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง ที่มีเงื่อนไขมากและยุ่งยาก ทั้งจากสถาบันการเงินของรัฐ และสถาบันการเงินเอกชน ทำให้ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการได้จริง

  • เวที”คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1 ) : รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ) : คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอน 1): เอกชนคิด ทำ เปลี่ยน ปัญหาเป็นโอกาส ขอรัฐแค่อำนวยความสะดวก
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอนจบ): ภาคเกษตรมีอนาคต แต่เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ นโยบายรัฐต้องตรงจุด
  • ชาวสวนยางเจอมาตรการกีดกันการค้า

    นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการสมาคมยางพาราไทย

    นายสมบูรณ์ พฤกษานุศักดิ์ ที่ปรึกษาสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ และกรรมการสมาคมยางพาราไทย ได้ให้ความเห็นในฐานะผู้ประกอบการสวนยางพาราว่า ในช่วงโควิดถุงมือยางเป็นที่ต้องการของตลาดโลกอย่างมาก มีการเก็งกันว่าเกษตรกรชาวสวนยางน่าจะได้รับผลทางบวก และราคายางพาราน่าจะปรับเพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับตรงข้ามและสวนทางกับความรู้สึกของคนส่วนใหญ่เพราะราคายางพาราไม่ปรับขึ้น ทั้งนี้มีสาเหตุหลัก 2 ข้อด้วยกัน ข้อแรก ราคายางขึ้นอยู่กับตลาดโลกที่เคลื่อนไหวตามปริมาณและความต้องการ ซึ่งปัจุบันความต้องการยางแห้ง ที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยางล้อรถลดลง เพราะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวชะงัก ไม่มีการใช้ยางล้อรถยนต์ หรือล้อเครื่องบิน แต่แนวโน้มยังมีอนาคต

    “ราคายาง เราควบคุมไม่ได้ ทั้งโลกใช้ยางพาราทุกชนิด 12 ล้านตัน ยางสังเคราะห์ก็ 12-13 ล้านตัน รวมแล้ว ทั้งหมด 24-25 ล้านตัน แล้วก็โดนกดดันด้วยยางสังเคราะห์อยู่ครึ่งหนึ่ง ซึ่งใน 12 ล้านตันนั้น ประเทศไทยผลิตได้ 5 ล้านตัน หรือเกือบ 50% ประเทศจีนผลิตได้ล้านกว่าเกือบ 2 ล้านตัน จีนเป็นผู้ผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่อันดับ 3-4 ของโลก และจีนใช้ยางพารา ยางธรรมชาติ 4 ล้านตัน ผลิตได้แค่ล้านกว่า แต่ใช้ 4 ล้านตัน เกษตรกรของจีนได้ราคาเท่ากับคนไทย ได้ราคาเท่ากับราคาตลาดโลก”

    นายสมบูรณ์กล่าวว่า ยางพาราเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีการซื้อขายในตลาด แต่สิ่งหนึ่งที่จะเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้คือ ผลผลิตต่อไร่ที่ต้องเพิ่มขึ้น หรือ ยีลด์ สวนยางพาราของไทยผลิตได้เฉลี่ยทั้งประเทศปีละ 250 กิโลกรัมต่อไร่ รายที่ทำได้ดีที่สุด 350 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ต่างกัน 30%

    “ผมก็มีสวนยางพาราแม้ดูแลไม่ทั่วถึงก็ยังได้ 300 กิโลกรัมต่อไร่ต่อปี ชาวสวน 100% อยู่ในแปลงของเขาเอง 24 ชั่วโมงเช้ากรีดยางเสร็จเก็บน้ำยางทำสวนต่อ ก็ต้องผลผลิตให้ได้ 350 กิโลกรัม เงินก็จะเพิ่มขึ้น”

    ข้อสอง การกีดกันทางการค้าโดยใช้เหตุผลสุขภาพของประชาชน การผลิตถุงมือยางจึงใช้ยางพาราเพียง 30% อีก 70% เป็นยางสังเคราะห์ ซึ่งการที่ใช้ยางพาราธรรมชาติน้อยเกิดจากผิวของคนชาติตะวันตกมีความอ่อนไหวต่อโปรตีนในเนื้อยางธรรมชาติ

    ในจุดนี้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้ศึกษาวิจัย เพื่อให้ผลิตยางที่ให้โปรตีนต่ำกว่า 200 มิลลิกรัมต่อยาง 1 กรัม ซึ่งก็จะทำให้ไม่เกิดการแพ้

    อย่างไรกันการกีดกันทางการค้าเป็นแนวโน้มที่น่ากังวลเพราะในระยะต่อไป อาจจะนำเรื่องสิ่งแวดล้อม ป่าไม้ยั่งยืน มาเป็นประเด็นในการกีดกันทางการค้ามากขึ้น ซึ่งการยางแห่งประเทศไทยก็กำลังดำเนินการ โดยเริ่มวางมาตรฐาน Forest Stewardship Council หรือ FSC รับรองการจัดการสวนยางพาราอย่างยั่งยืน โดยการรวบรวมกลุ่มสมาชิกของเกษตรกรชาวสวนยางในท้องถิ่น เพื่อความมั่นคงทางด้าน เศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสวนไม้ยางพาราให้มีประสิทธิภาพและสามารถสร้างกำไรจากการทำสวนป่าได้อย่างยั่งยืน

    “สวนยางเป็นป่าปลูกไม่ใช่ป่าธรรมชาติ แต่เขาเอาข้อกำหนดของป่าธรรมชาติมาควบคุมป่าปลูก คนละเรื่องกัน เราก็สู้ไม่ได้ พอสู้ไม่ได้เราก็ต้องตามเขา”

    นายสมบูรณ์ได้เสนอให้ภาครัฐขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการออกไปจนถึงสิ้นปี 2563 เช่น พักชำระหนี้ ซอฟต์โลน รวมทั้งเร่งการปฏิบัติให้เร็วขึ้น รวมทั้งควรผ่อนผันการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่ได้นำไปเป็นหลักประกันสินเชื่อเดิมอยู่แล้ว และรีบเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ตลอดจนออกมาตรการเพิ่มเติมสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำเงินที่มีอยู่แล้วมาจ้างงานและมาซื้อวัตถุดิบ เช่น การชะลอเก็บค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า การคืนเงินประกันหม้อแปลงไฟฟ้า หรือเร่งการคืนภาษีให้เร็วขึ้น

    รัฐต้องแก้ไขปัญหาการเข้าถึงแหล่งทุน

    นางสาวพิชวรรณ ครุอำโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ ศิริภัณฑ์ กรุ๊ป เจ้าของโรงแรมเดอะเบด สงขลา

    นางสาวพิชวรรณ ครุอำโพธิ์ กรรมการผู้จัดการ ศิริภัณฑ์ กรุ๊ป เจ้าของโรงแรมเดอะเบด ที่สงขลา ให้ข้อมูลว่า ศิริภัณฑ์ กรุ๊ป มีธุรกิจ 3 แห่งด้วยกัน คือ ร้านขายวัสดุก่อสร้าง มีโรงแรม 2 แห่งที่สงขลากับหาดใหญ่ เมื่อเกิดการระบาดของโควิด โรงแรมที่หาดใหญ่ได้รับผลกระทบมาก แต่ที่สงขลายังโชคดีมากเพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทยฉะนั้นช่วงที่ผ่อนคลายล็อกดาวน์ ธุรกิจโรงแรมที่สงขลาดีขึ้น จำนวนลูกค้ายังพอมี

    “หลังจากนี้ถ้าเราจะคิดใหม่ ที่ว่าเราจะก้าวต่อไป คือ แหล่งเงินทุน ทุกคนมีความเห็นเหมือนกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการเร็วมาก จริงๆทราบเรื่องซอฟต์โลนตั้งแต่กุมภาพันธ์เพราะธปท.ได้โทรศัพท์แจ้งด้วย แต่กระบวนการในการทำเรื่องต้องผ่านธนาคารออมสิน ซึ่งกระบวน การช้ามาก ขอกู้ไปเดือนกุมภาพันธ์เพิ่งจะได้ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ช่วงที่เราต้องการเงิน กลับไม่ได้ เรามาเงินได้ตอนนี้ แม้จะดีกว่าไม่ได้ แต่สำหรับคนที่เขาไม่ได้ ก็ต้องหยุดกิจการไปเลย”

    นางสาวพิชวรรณกล่าวว่า ศิริภัณฑ์ กรุ๊ปนับว่าโชคดี ที่ยังขายวัสดุก่อสร้างได้ในช่วงโควิดระบาด เพราะผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น เมกะโฮม ไทวัสดุปิด แต่ศิริภัณฑ์ กรุ๊ป เป็นร้านธรรมดาที่เปิดให้บริการได้เพราะฉะนั้นจึงมีเงินจากธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง มาช่วยพยุงให้ธุรกิจเดินไปได้

    “ตอนนี้ถ้าหากรัฐต้องการที่จะแก้ ก็เห็นว่าควรแก้ไขในส่วนการเข้าถึงแหล่งทุน ทางภาคใต้ส่วนใหญ่จะปล่อยผ่านเอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารออมสิน ต้องยอมรับว่าการทำงานของ 2 หน่วยงานนี้ช้ามาก ยกตัวอย่าง ที่เขาบอกมาในรูปแพลตฟอร์มต่างๆ มีSME D Bank อาทิตย์ที่แล้วส่งข้อมูลมาบอกว่า เรามีเงินกู้คนตัวเล็ก ส่งมาตอน 8 โมง ให้กู้ได้คนละ 5 แสนบาท แต่พอตอนเที่ยงวันส่งมาบอกว่าขอแสดงความเสียใจด้วย วงเงินเต็มแล้ว นี่ครึ่งวันเตรียมเอกสารยังไม่ทันเลยเงินหมดแล้ว มันก็ย้อนแย้ง”

    นางสาวพิชวรรณกล่าวว่า สถานะธุรกิจที่เป็นเอสเอ็มอี การเข้าถึงแหล่งทุนยากอยู่แล้ว เพราะหนึ่งไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือกรณีที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ราคาประเมินก็ต่ำ โดยเฉพาะหลังจากเกิดโควิดธนาคารมีการประเมินหลักทรัพย์ที่ย้อนแย้ง ตัวอย่างของศิริภัณฑ์ กรุ๊ป เอง ที่เป็นลูกค้าธนาคารออมสินก่อนโควิดได้ราคาประเมิน 65 ล้านบาท เมื่อมีการกู้เพิ่มต้องประเมินราคาหลักทรัพย์ใหม่ ธนาคารบอกราคาประเมินได้แค่ 45 ล้านบาท ปรับราคาประเมินลง โดยให้เหตุผลว่าเมื่อก่อนใช้เกณฑ์รายได้ แต่ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่ไม่ดี เพราะฉะนั้นราคาประเมินก็เปลี่ยน ทางกลุ่มจึงหันไปถึงพึ่งพาบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือบสย.

    “เราเข้าใจในการทำงานของหน่วยงานรัฐจะมีขั้นตอน แต่สำหรับเอกชนการที่ช้า วันสองวันมันคือชีวิตเลย เช่น ไม่มีเงินจ่ายค่าไฟฟ้าเลยกำหนด การไฟฟ้าตัดไฟยกหม้อไฟฟ้าไปแล้ว เราจะบอกว่าให้รอเพราะกำลังขอกู้ธนาคารอยู่ ก็ไม่ได้ เพราะขอกู้ธนาคารแล้วเกิดไม่ได้ บางเกณฑ์อาจต้องมีการผ่อนปรนบ้าง เช่น วงเงินกู้ต่อราย รวมทั้งต้องมีความชัดเจนเรื่องกรอบเวลา เช่น รู้ผลการยื่นขอเงินกู้ภายในกี่วัน ต้องรู้ว่าเงินกู้ได้หรือไม่ได้ เพราะการไม่รู้เวลาทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถวางแผนได้

    นอกจากนี้ขอเสนอว่า ภาครัฐควรจะมีมาสเตอร์แพลตฟอร์มที่รวมศูนย์ทุกๆอย่างได้แล้ว เช่น ระบบการจัดการโรงแรม หรือช่องทางต่างๆ รัฐมีเงินมากกว่าเอกชน รัฐลงทุนครั้งเดียว ไม่ต้องบังคับให้ใช้ระบบ แต่พัฒนาระบบให้ดี จนดึงผู้ประกอบการให้เข้ามาใช้ด้วยตนเอง รัฐจะได้ข้อมูลที่บัน ทึกในระบบไปใช้ เช่น ข้อมูลที่ทำให้รัฐรับรู้ได้ว่า ใน 1 วันธุรกิจในจังหวัด มีรายได้เท่าไร หรือผูกข้อมูลนี้กับภาษีมูลค่าเพิ่ม รัฐจะได้ประโยชน์

    นางสาวพิชวรรณเสนออีกว่า ให้มีการเชื่อมโยงของแต่ละหน่วยงาน เพราะปัจจุบันการติดต่องานหน่วยงานราชการแต่ละแห่งขาดความต่อเนื่องกัน รวมทั้งมีข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการวางแผนได้ เช่น การขอใช้ไฟฟ้า ก็อาจจะมีศูนย์รวมข้อมูลกระบวนการยื่นขอแต่ละขั้นตอนที่ครบถ้วน หรือการจดทะเบียนการค้า ที่ควรมีรายละเอียดแต่ละขั้นตอนรวมทั้งเอกสารที่ต้องการ

    เงื่อนไขเงินกู้ธุรกิจขนาดเล็กต้องผ่อนปรน

    นางเกษรา สุภัทรพาหิรผล ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าอาหาร ขอนแก่น

    นางเกษรา สุภัทรพาหิรผล ประธานชมรมผู้ประกอบการค้าอาหาร จากเวทีในขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า สมาชิกในชมรมมีจำนวน 140 ร้าน หรือประมาณ 10% ของร้านค้าที่เปิดในเขตเทศบาล 1,400 ร้านที่ได้รับอนุญาต ซึ่งก่อนหน้าที่จะเกิดการระบาดของโควิดได้ตั้งเป้าขยายสมาชิกให้ถึง 200 ร้านค้า เพื่อที่จะมีร้านอาหารที่ดีและมีคุณภาพให้กับผู้บริโภค

    นางเกษรากล่าวว่า ธุรกิจร้านอาหารก็ไม่ต่างจากภาคธุรกิจอื่น โดยเจอผลกระทบมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่รัฐใช้มาตรการห้ามนั่งรับประทานภายในร้าน แต่ให้ซื้อกลับบ้าน ต่อมาร้านอาหารรับภาระไม่ไหว รายรับส่วนใหญ่ลดลงตั้งแต่ 30% ต่อเนื่องจนถึง 70% ก็ต้องปิดร้าน ส่วนพนักงานมีทั้งเลือกกลับบ้านในรายที่มาจากชนบทหรือต่างจังหวัด ส่วนหนึ่งเลือกที่จะอยู่กับร้านอาหาร ทำให้บางร้านใช้วิธีแบ่งรายได้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานมีชีวิตรอด เพราะหากรายได้ถูกตัดไปก็ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ สมาชิกในชมรมก็มีการประชุมหารือกัน

    นอกจากปัญหาขาดรายได้แล้ว การระบาดของโควิดยังนับว่าเป็นวิกฤติกับร้านอาหาร แม้โดยปกติก่อนเกิดโควิดร้านอาหารให้ความสำคัญกับความสะอาด ถูกสุขอนามัยอยู่แล้ว แต่ในช่วงที่ร้านต้องปิด ชมรมได้สนับสนุนให้สมาชิกทบทวนมาตรฐานความสะอาด สุขอนามัยเพื่อยกระดับให้ดีขึ้นไปอีก โดยกิจกรรมส่วนหนึ่งที่ดำเนินการคือได้ขออัลกอฮอลล์จากโรงพยาบาลมาแจกให้กับสมาชิกเพื่อทำความสะอาดร้าน

    ขณะเดียวก็ได้ยกระดับอาหารให้เป็นอาหารคุณภาพมีประโยชน์ต่อสุขภาพตาม วัตถุประสงค์ของชมรมที่จะผลักดันโครงการ Q Restaurant ทั้งจังหวัด โดยเริ่มจากเขตเทศบาลก่อน และจากเมนูสุขภาพ เช่น ส้มตำที่ต้องใช้ผักสะอาดปลอดสาร เป็นผักอินทรีย์ ลาบหมู ก็ต้องใช้หมูที่เลี้ยงแบบถูกสุขลักษณะ ซึ่งตรงจะโยงไปถึงภาคการเกษตร

    “เราเคยทำโครงการผักปลอดภัยมาเสิร์ฟในร้านอาหารของสมาชิก เช่น ผักแพว ซึ่งเป็นผักพื้นเมือง ผักที่กินแล้วมีสุขภาพ แต่เราก็ไม่เคยได้จากเกษตรกร 2 ปีมาแล้วที่เราตั้งโครงการ เราเคยประสานกับทางเกษตรจังหวัดซึ่งรับว่าจะประสานไปในแต่ละอำเภอ เราก็รอเพื่อที่จะขึ้นป้ายว่าร้านเป็น Q Restaurant ผักมีที่ไปที่มาตรวจสอบย้อนกลับได้ แต่เราก็ไม่มี ทั้งที่หากทำได้ เกษตรจะได้รับความต่อเนื่อง เพราะสมาชิกชมรมมีถึง 140 ร้าน”

    นางเกษรากล่าวว่า การทำตลาดเกษตรอินทรีย์ไม่ต้องมุ่งไปต่างประเทศ เฉพาะผักเกษตรอินทรีย์ที่มีราว 20% ก็ยังไม่พอต่อความต้องการในประเทศ ดังนั้นจึงควรมีการวางแผนทั้งระบบเชื่อมโยงกันทุกภาคของประเทศ สลับกันปลูกตามฤดูกาลให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำแต่ละพื้นที่ จะทำให้มีปริมาณส่งตลาดไม่ใช่ต่างคนต่างทำ และไม่ใช่ปลูกเหมือนกันไปหมดซึ่งจะทำให้มีปัญหาด้านปริมาณและกระทบต่อราคาจำหน่าย

    นางเกษรากล่าวต่อว่า ในแง่ธุรกิจ สมาชิกชมรมในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กส่วนใหญ่ ต้องการที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างจริงจัง สมาชิกได้ยื่นขอเงินกู้ไป แต่เมื่อตรวจสอบรายการเดินบัญชีหรือ ตั้งแต่มีนาคมจนถึงพฤษภาคมไม่มีรายได้เข้า และหากไม่มีรายได้เข้าเกิน 6 เดือนก็ขอสินเชื่อไม่ได้แล้ว การที่ตั้งเงื่อนไข 6 เดือน ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่มีทางเลือกเพราะขายของไม่ได้

    “ตรงนี้อยากจะเสนอธปท.ว่า ให้พักเงื่อนไขนี้ไว้หรือพักหนี้ตรงนี้ไว้ก่อนแล้วค่อยย้อนกลับมาดูเมื่อธุรกิจเดินหน้าไปได้ แต่หากมุ่งว่าต้องเอา Statement 6 เดือนที่ผ่านมา ธุรกิจไม่มีรายได้เพราะต้องปิดร้าน ทางด้านธนาคารออมสินที่บอกว่าช่วยเหลือ 5 แสนบาท เพียงวันเดียววงเงินหมดไปแล้ว ผลักดันให้เอสเอ็มอีไปหาเงินทุนนอกระบบ ซึ่งตรงนั้นจะทำให้ต้นทุนสูง แล้วก็วนเป็นวงจรอยู่อย่างนี้”