ThaiPublica > เกาะกระแส > เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอนจบ): ภาคเกษตรมีอนาคต แต่เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ นโยบายรัฐต้องตรงจุด

เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอนจบ): ภาคเกษตรมีอนาคต แต่เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ นโยบายรัฐต้องตรงจุด

7 ตุลาคม 2020


ต่อจากตอนที่ 1 เวที

  • “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคอีสาน (ตอน 1): เอกชนคิด ทำ เปลี่ยน ปัญหาเป็นโอกาส ขอรัฐแค่อำนวยความสะดวก
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ลุกลามรุนแรงไปทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ได้ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนทั้งในสังคมโลกและประเทศไทยอย่างน้อย 3 ด้านคือ การใช้ชีวิต (living) การเรียนรู้ (learning) และการทำงาน (working) สถานการณ์ดังกล่าวจะยังคงมีผลกระทบต่อเนื่องยาวนาน ทำให้ประชาชนในสังคมต้องเรียนรู้ที่จะอยู่และปรับตัว เตรียมความพร้อม ที่จะใช้ชีวิตอยู่ในภาวะปกติใหม่ (new normal) หลังวิกฤติโควิด

    สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า การดำรงชีวิตอยู่บนความพอดีในทุกๆ ด้าน ไม่มากไปไม่น้อยไป จะทำให้โลกมีความสมดุล และประชาชนมีภูมิคุ้มกัน จะสามารถผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงเห็นความสำคัญในการนำแนวพระราชดำริมาสืบสาน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ให้มีรูปแบบการพัฒนาการขับเคลื่อนสังคมไทยที่สมดุลหลังวิกฤติโควิด-19 และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการศึกษา วิเคราะห์ในเชิงวิชาการว่าสังคมโลกและประเทศมีทิศทางในการปรับเปลี่ยนอย่างไร ประชาชนมีความพร้อมต่อการปรับเปลี่ยนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะประเทศไทยควรศึกษาว่า รูปแบบการขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริ เพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงควรเป็นอย่างไร

    แปดองค์กรประกอบด้วย ธนาคารแห่งประเทศไทย, สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา, สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร, มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ โดยมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และสำนักข่าวไทยพับลิก้าเป็นผู้ประสานงาน ได้ริเริ่ม โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” เพื่อที่จะช่วยกันมองและหารูปแบบ/โมเดลการขับเคลื่อนสังคมไทย ด้วยการประยุกต์ใช้แนวพระราชดำริเพื่อให้เท่าทันกับบริบทการเปลี่ยนแปลงและนำประเทศผ่านวิกฤติในครั้งนี้

    โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” กำหนดออกรับฟังความเห็นทั่วประเทศ ได้แก่ ภาคใต้ที่หาดใหญ่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ขอนแก่น ภาคเหนือที่เชียงใหม่ ภาคตะวันออกที่ชลบุรี จากนั้นคณะวิชาการจะได้ทำการรวบรวมทั้งงานทางวิชาการและความคิดเห็นของประชาชน เพื่อเสนอต่อรัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศได้รับทราบในช่วงปลายปี 2563

    โครงการ “คิดใหม่ ไทยก้าวต่อ” ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นจากภาครัฐและภาคเอกชนไปแล้ว 2 ครั้ง คือ ที่หาดใหญ่เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 และที่ขอนแก่นเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2563 โดยสาระสำคัญที่สรุปได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลและรับฟังความเห็นจากวงเสวนาขอนแก่น พบว่า ภาคอีสานมีพื้นฐานด้านการเกษตรที่มีศักยภาพ การสนับสนุนภาคเกษตรต้องใช้ทั้งองค์ความรู้ การวางแผนการจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีการส่งเสริมการแปรรูปหรือเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต ตลอดจนเปิดโอกาสให้เข้าถึงแหล่งทุน และจัดอบรมเสริมความรู้ ขณะที่ภาคธุรกิจมองปัญหาเป็นการสร้างโอกาส ขอเพียงรัฐและระเบียบราชการต้องอำนวยความสะดวก

  • เวที“คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอน 1 ) : รัฐต้องเข้าใจ เข้าถึงแต่ละบริบทพื้นที่ เพื่อพัฒนาช่วยเหลือตรงเป้าอย่างรู้เท่าทัน
  • เวที “คิดใหม่ไทยก้าวต่อ” ระดมแนวคิดภาคใต้ (ตอนจบ) : คิด ทำ เปลี่ยน เพื่อก้าวต่อ ด้วย “โอกาส-แข่งขันได้”
  • เสริมทักษะ-ความรู้แรงงานคืนถิ่น

    นายอดิศักดิ์ จองศิริกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมขอนแก่น

    นายอดิศักดิ์ จองศิริกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมขอนแก่น มีความเห็นว่า อีสานในอนาคตข้างหน้าจะเป็นภาคที่โดดเด่นของประเทศ ด้วยประชากร 22 ล้านคน และพื้นที่กว้างใหญ่ 1 ใน 3 ของประเทศ อีสานจึงมีศักยภาพ เพราะจากเดิมที่เป็นอีสานแล้ง แต่ปัจจุบันปลูกพืชเศรษฐกิจหลักของประเทศได้หลายชนิด ทั้งยางพารา ทุเรียน ผลไม้ทุกชนิด เพราะฉะนั้นยุทธศาสตร์ของอีสานและอนาคตอีสานคือ ครัวโลก

    “อีสานมีโรงสีขนาดใหญ่จำนวนมาก มีโรงแป้งมันสำปะหลังที่ส่งออกระดับประเทศ มีโรงงานน้ำตาล ผู้ประกอบการใหญ่กำลังพัฒนาในการที่จะนำอ้อย มันสำปะหลัง มาทำให้เพิ่มมูลค่ามากขึ้น หลายบริษัท เช่น โรงงานที่ใหญ่ในอีสานอยู่ที่ จ.นครราชสีมา โรงแป้งสงวนวงษ์ ผลิตภัณฑ์ทำเป็น food grade ส่งออกไปที่ยุโรป” นายอดิศักดิ์กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีธุรกิจหมู ไก่ อีสานมีโรงเชือดไก่ นครราชสีมาจำนวนมากที่ส่งออกต่างประเทศ มีโรงฟาร์มหมูที่ใหญ่ในภาคอีสาน ศักยภาพในอนาคตอีสานมีดีอยู่แล้ว

    นายอดิศักดิ์กล่าวว่า วิกฤติโควิดครั้งนี้มองว่าเป็นโอกาส ส่วนหนึ่งจากแรงงานของอีสานไปทำงานต่างถิ่นจำนวน แรงงานที่คืนถิ่นจะทำให้อีสานมีแรงงานที่มีคุณภาพในอนาคต แต่ต้องมีการเสริมทักษะและความรู้เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หลายด้านที่วางไว้ ทั้งการเป็นครัวโลก หรือการยกระดับการเกษตรเพื่อขายสินค้าให้ได้ราคา สินค้าได้คุณภาพ

    เกษตรกรต้องเรียนรู้สิ่งใหม่

    นายพรชัย แซ่ลิ้ม รองเลขาธิการ หอการค้าขอนแก่น

    นายพรชัย แซ่ลิ้ม รองเลขาธิการ หอการค้าขอนแก่น มองว่า การผลักดันประเทศไทยผ่านโครงการ smart หลายด้าน จะไม่สามารถเป็นได้หากไม่พัฒนาคนให้ smart และอาจจะเกิดปัญหาตามมา

    สำหรับหอการค้าขอนแก่นในช่วงนี้เห็นว่ามีแต่ข่าวในเชิงลบ ทั้งที่ข่าวดีมีมากมาย ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบกาและผู้บริโภคมีความรู้สึกดี จึงได้จัดนิทรรศการเปิดเมือง ปลุกอนาคตทั้งเดือน เพื่อทำพื้นที่ให้ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคสังคม ระดมความคิดเห็นทางออกในอนาคต เป็นพื้นที่การแบ่งปันเพื่อให้หาปัญหาและวิธีการแก้ปัญหากันโดยรวมของปัญหาของแต่ละคน และแต่ละในจังหวัดด้วย

    ทางด้านภาคเศรษฐกิจในขอนแก่น ยังเติบโตในหลายภาค ทั้งการก่อสร้าง ค้าขายออนไลน์ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนกล่องบรรจุสินค้า ถือว่าเป็น good problem รวมทั้งยังเชิญกับการขาดแคลนแรงงานต่างชาติ

    “เราเจอการขาดแรงงานต่างชาติ แต่แรงงานไทยกลับตกงาน และมีแรงงานกลับบ้าน หอการค้าเองสนับสนุนการเพิ่มทักษะทั้ง upskill, reskill แต่จะเพิ่มทักษะอย่างไรด้านไหน เป็นปัญหาเพราะต้องมาหารือว่าจะ upskill คนที่มาจากโรงงานอย่างไร จะสอนด้านไหนให้ รวมทั้งแรงงานหรือเกษตรกรเองก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองด้วยการเข้ามาหาความรู้เพิ่มเติม”

    นายพรชัยกล่าวว่า หอการค้าได้ดำเนินการปรับโครงการ 1 ไร่ 1 แสน เป็นโครงการ 1 ไร่ 1 ล้าน ซึ่งมีศูนย์เรียนมากมายที่สามารถรองรับให้ภาคเกษตรมาเรียนรู้ได้ แต่ก็มีน้อย การไม่มาเรียนเป็นอุปสรรค ประเทศไทยมีศูนย์เรียนรู้หลายแห่งทั้งจากกรมวิชาการเกษตร กรมประมง แม้กระทั่งภาคเอกชนเองก็พยายามพัฒนาแหล่งเรียนรู้ขึ้น เพื่อที่จะให้ผู้ประกอบการหาตลาดได้ ให้เกษตรพัฒนาได้ แต่เกษตรกรยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมตัวเอง

    ตัวอย่างล่าสุด สมุนไพรในภาคอีสานส่งออกมาก เป็นแหล่งวัตถุดิบที่ดีมาก และหอการค้าได้ทำงานร่วมกับ Science Park มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่มีโครงการงานวิจัยดีๆ หลายโครงการ แต่เกษตรกรไม่รู้ว่าการปลูกขิง จะนำขิงมาพัฒนาต่ออะไรได้อีก ไม่รู้ว่าปลูกข้าวแล้วจะพัฒนาได้อีก ทั้งๆ ที่แหล่งเรียนรู้มีอยู่

    “ผมว่าเกษตรกรเราน่าจะแก้ไขตรงที่ว่า เขามาเรียนรู้ใหม่ๆ เรื่องใหม่ๆ เป็นพฤติกรรมใหม่ๆ เปลี่ยนพฤติกรรมเขาจากที่เขาเคยปลูกเช้า เคยปลูกเย็น ให้ลองหาวิธีปลูกที่ง่ายขึ้น ปลูกแล้วได้ผลมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าปลูกข้าว ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังไม่ดี แต่พืชผลทางการเกษตรที่ราคาดีๆ มีอีกมาก เช่น เมล็ดโกโก้ ประเทศเราปลูกได้ พริกไทยประเทศจีนอยากได้ต้องนำเข้าเป็นพันๆ ตัน ประเทศไทยปลูกได้ แต่การปลูกของไทยไม่เคยใช้ตลาดนำ ตรงนี้ทางหอการค้าก็พยายามส่งเสริม เอาตลาดมาเป็นเรื่องนำเพื่อจะไปบอกผู้ประกอบการ เกษตรกรก็ต้องยอมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ปลูกแล้วขายใคร หรือตอนนี้โลกต้องการตลาด”

    นโยบายพัฒนาทุกระดับต้องตรงจุด

    นายสมศักดิ์ วิชัยนันท์ เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดขอนแก่น

    นายสมศักดิ์ วิชัยนันท์ เกษตรและสหกรณ์ จังหวัดขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า ในฐานะที่เป็นคนทำแผน ทำโครงการ จะเจอปัญหาอยู่เรื่อยๆ ว่า ในเรื่องการเรียนรู้ เกษตรกรส่วนใหญ่ ถ้ารู้สึกว่าไม่ได้อะไรเขาจะไม่มา ดังนั้นในการทำโครงการที่ผ่านมาได้ใช้หลายวิธีการที่จะดึงให้เกษตรกรเข้ามาร่วมโครงการ

    “สำหรับเกษตรกรที่อยู่รอดได้ หรือพยายามเรียนรู้ เป็นกลุ่ม Young Smart Farmer หรือ Smart Farmer ที่พัฒนาตัวเอง คนกลุ่มนี้จะพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ จะเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ ต่อให้ไม่ไปเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้ ก็ดูจากยูทูบ ดูจากแหล่งต่างแล้วนำมาพัฒนาด้วยตัวเอง”

    ในช่วงโควิดที่ผ่านมามีกลุ่ม Young Smart Farmer บางกลุ่ม ที่ผลิตสินค้า แต่ไม่สามารถที่จะเอาไปวางขายได้ ก็หันมาขายผ่านระบบออนไลน์ทั้งแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊ก เว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือเว็บไซต์ของจังหวัด รับคำสั่งซื้อออนไลน์ ขณะที่สินค้าเกษตรบางส่วนที่ไม่สามารถส่งออกได้ ก็แก้ปัญหาด้วยการจำหน่ายผ่านระบบแบบนี้ แม้ราคาถูกลงและต่ำกว่าราคาส่งออก ซึ่งปรากฏว่ากลับมีผลผลิตไม่เพียงพอต่อการขาย ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ มะม่วงน้ำดอกไม้เกรดดีที่อำเภอบ้านแฮด ขอนแก่น เดิมส่งออกได้ราคาสูง แต่ช่วงโควิดได้หันมาขายออนไลน์ในประเทศ ซึ่งแก้ปัญหาส่งออกได้ และกลายเป็นว่าปัจจุบันมะม่วงน้ำดอกไม้ที่บ้านแฮดตอนนี้ไม่พอขาย

    การส่งเสริมหรือการทำโครงการพัฒนาต่างในด้านเกษตร บางครั้งติดปัญหาจากการมอบหมายของผู้บริหาร ไม่ว่าจะเป็นระดับจังหวัด ระดับกระทรวง ที่ให้นโยบายซึ่งมีเป้าหมายไม่ตรงจุด หรือเข้าใจไม่ถูกต้อง ตัวอย่าง นโยบายตลาดนำการผลิตผู้บริหารบางคนยังเข้าใจว่าตลาดคือสถานที่ขายของ บางครั้งให้จัดงานมหกรรมขายสินค้า ทั้งๆ ที่ ตลาดคือผู้ซื้อ และมีตัวอย่างให้เห็นอยู่แล้วจากการขายออนไลน์ ผ่านแพล็ตฟอร์มเฟซบุ๊ก บนเว็บไซต์ และมีผู้ซื้อ

    นอกจากนี้เมื่อมีการเสนอนโยบายขึ้นไปจากระดับปฏิบัติหรือ bottom-up ก็ไม่ตอบรับ เช่น เกษตรกรรมยั่งยืน ในความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืน มีการเกษตรอยู่ 4-5 ประเภท ได้แก่ เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานทฤษฎีใหม่ ซึ่งเมื่อดูลึกลงในรายละเอียดเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสานยังไม่มีการผลิตที่ได้ปริมาณมาก เป็นการผลิตเพื่ออยู่รอดทั้งนั้น แต่มีความปลอดภัย ปรากฏว่าผู้บริหารในระดับกระทรวงมองว่าต้องผลิตให้มาก แล้วไปเสนอขายให้โรงพยาบาล ก็ถูกโรงพยาบาลย้อนถามกลับว่า ปริมาณการผลิตเท่าไร

    “นี่เป็นปัญหาที่คนที่ทำงานด้านการส่งเสริม หรือการที่จะทำโครงการพัฒนาต่างๆ ในด้านเกษตร ต้องเผชิญและทำให้การดำเนินการติดปัญหา”

    ส่งเสริมแปรรูป-เข้าตลาดออนไลน์

    นางสาวณัสชนก วงศ์สละ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น

    นางสาวณัสชนก วงศ์สละ หัวหน้ากลุ่มนโยบายและแผนงาน สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงบทบาทของสำนักงานอุตสาหกรรม จังหวัดขอนแก่นว่า มุ่งเน้นการผลักดันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป ซึ่งปัจจุบันสำนักงานช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการเสียค่าใบอนุญาตรายปี กรณีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เคยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเอสเอ็มอีก็จะได้รับการลดหย่อน การพักชำระหนี้

    เมื่อพิจารณาจากห่วงโซ่การผลิตแล้วภาคอุตสาหกรรมจะอยู่กลางน้ำ โดยต้นน้ำเป็นภาคการเกษตร เกษตรกร ส่วนกลางน้ำอุตสาหกรรมก็จะเป็นการแปรรูป กระทรวงอุตสาหกรรมจะมีสูตรแปรรูปอุตสาหกรรม มีโรงงานต้นแบบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้ง startup หรือผู้ประกอบการภาคการเกษตรที่จะเข้าสู่การแปรรูปเพื่อจำหน่าย โดยมีเครื่องมืออุตสาหกรรมต้นแบบที่ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถรับบริการได้ทุกจังหวัด แต่จะมีเครื่องมือต้นแบบอยู่ที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 5 ที่ขอนแก่น เช่น เครื่องบดอาหาร เครื่องบรรจุสูญญากาศ เครื่องต้มที่เกี่ยวข้องกับการผลิต ที่สามารถผลิตขนาดเล็กๆ เพื่อช่วยเอสเอ็มอีได้

    ในภาคการเกษตรอาจจะมีผู้ประกอบการเกษตรที่สูงวัย แต่สำหรับกระทรวงอุตสาหกรรมจะมองไปที่ทายาทของผู้ประกอบการทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร ที่นำมาสู่การแปรรูปอุตสาหกรรมการเกษตร รวมทั้งการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ และการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้มีศักยภาพในการออกสู่ตลาดเพื่อจำหน่ายทั้งตลาดออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งปัจจุบันกระทรวงอุตสาหกรรมได้ทำมาอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทำตลาดออนไลน์

    “ในช่วงโควิดที่ผ่านมาได้จัดอบรมเรื่องตลาดออนไลน์ ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จค่อนข้างมากอย่างเช่น ข้าวแต๋นน้ำแตงโม ที่สามารถเข้าลาซาด้าได้แล้ว ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กระทรวงอุตสาหกรรมสนับสนุน ซึ่งคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่ดีที่แรงงานจะกลับมาสู่ชนบทบ้านเรา เข้าสู่กระบวนการหรือการพัฒนาเรื่องของการเกษตรอุตสาหกรรมแปรรูป

    แรงงานกลับจากต่างประเทศใช้ความรู้ช่วยพัฒนา

    นางจารี คุ้มบุ่งคล้า นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น

    นางจารี คุ้มบุ่งคล้า นักวิชาการชำนาญการ สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่น ให้ข้อมูลว่า ในช่วงโควิด สำนักงานแรงงานจังหวัดขอนแก่นได้ประสานงานกับหน่วยงานที่อยู่ต่างประเทศ คือ สำนักงานแรงงานไทยในต่างประเทศ ในการดำเนินงานการติดตามสิทธิประโยชน์แรงงานไทยในต่างประเทศ คืนเงินภาษี คืนเงินประกันสังคมต่างๆ

    ส่วนการพัฒนาทักษะต่างๆ ในระดับพื้นที่ ได้ดำเนินการผ่านสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ขอนแก่น ซึ่งในช่วงโควิดได้มีระบบเทรนนิงออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อให้มีการต่อยอดตรงทักษะต่างๆ ได้ โดยไม่ต้องเข้าไปฝึกอาชีพที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 และหากมีความประสงค์จะต้องการฝึกอาชีพก็สามารถเข้าไปดูที่เพจเฟซบุ๊กของสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ที่จะประกาศเป็นช่วงๆ ทั้งอาชีพและนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับพวกแผงวงจร หรือการนำระบบ AI มาใช้

    สำหรับแรงงานภาคการเกษตร สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 จะไม่ได้เน้น แต่มีโครงการพิเศษ เรียกว่า โครงการช่วยเหลือความเดือดร้อนด้านอาชีพ เป็นการสำรวจความต้องการ มีอาสาสมัครแรงงานในพื้นที่ 199 คน ตำบลละ 1 คน ให้สำรวจความต้องการของคนที่ได้รับผลกระทบไม่ว่าจากโควิด ผู้ว่างงาน ตกงานจากสาเหตุต่างๆ ว่า มีความต้องการฝึกอาชีพด้านไหน สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 6 ก็จะจัดหาวิทยากร ผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานต่างๆ มาช่วยฝึกให้ ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้อบรมไป 384 คน ก็เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เดิมสถาบันฯ เน้นการฝึกอบรมด้านช่างเทคนิค แต่ปีนี้มีชาวบ้านขอฝึกอบรมทำบายศรี ซึ่งเมื่อฝึกแล้วนำไปใช้ได้จริงเพราะในหมู่บ้านมีงานประเพณี

    “โครงการนี้ก็มีโครงการใหม่ๆ ออกมาคือ สอนการซ่อมบำรุง เราให้ทุกตำบลเข้ามาร่วม ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับค่อนข้างมาก เพราะเกี่ยวข้องกับเครื่องมือการเกษตรด้วย เขาบอกว่าเขาซ่อมเป็น ทำได้ และที่สำคัญเขาสามารถเอาไปสร้างรายได้ได้ด้วย มีใครจ้างเขา เขาก็ไป เป็นสิ่งที่ได้มาจากตรงนั้น”

    นอกจากการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานแล้ว ยังมีความริเริ่มใหม่ๆ เกิดขึ้นจากแรงงานที่กลับจากต่างประเทศ เกาหลี ซึ่งสำนักงานแรงงานได้เข้าไปช่วยเหลือประสานขอเงินประกันสังคมต่างประเทศคืน รวมทั้งสอบถามความต้องการทำงานในประเทศไทย ปรากฏว่าแรงงานส่วนหนึ่งต้องการใช้ความรู้เรื่องเกษตร โดยได้เริ่มขึ้นแล้ว คือการปลูกผักปลอดสาร ขายตามหมู่บ้าน

    “แรงงานอีกส่วนหนึ่งได้ใช้ความรู้ที่สะสมจากการทำงานในเกาหลีกลับมาช่วยพัฒนางานหลายอย่าง นำความรู้มาประยุกต์ใช้”

    รัฐต้องมีกลไกช่วยแรงงานทักษะต่ำ

    ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน ม.ขอนแก่น

    ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า จากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอีสาน พบว่า ความเชื่อมั่นลดลงมากว่า 12 ไตรมาสต่อเนื่อง ก่อนการระบาดของโควิดอีก รวมทั้งทำการวิเคราะห์กลุ่มแรงงานอาชีพที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ซึ่งพบว่ากลุ่มแรงงานที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เป็นกลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มลูกจ้างตามสถานประกอบการ บริการ รองลงมาเป็นกลุ่มประกอบธุรกิจส่วนตัว ค้าขายกลุ่มฟรีแลนซ์ รองลงมาคือกลุ่มเกษตรกรรม ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบแต่ไม่รุนแรง เป็นมนุษย์เงินเดือน บริษัทเอกชน ยังไม่ได้รับผลกระทบมากหากถ้าไม่ได้อยู่ในภาคการท่องเที่ยว กลุ่มแรงงานที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบคือ กลุ่มที่ทำงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ

    ด้านอายุ กลุ่มอายุที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดมี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่เพิ่งเริ่มทำงานอายุ 18-30 ปี กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่อายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนกลุ่ม 30-40 ปีขึ้นไปอาจได้รับผลกระทบไม่มากเท่ากับกลุ่มอื่น เป็นไปได้ว่ากลุ่มนี้มีประสบการณ์ในการทำงาน มีเครือข่ายที่ทำให้สามารถปรับตัวกับสถานการณ์เศรษฐกิจได้ดีกว่ากลุ่มอายุช่วงอื่น

    ประเด็นปัญหาแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาจาก การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจหันไปใช้ทุนกับเทคโนโลยีมากขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่ผลิตภาพโตไม่ทัน และยังทำให้แรงงานที่ไม่สามารถเพิ่มทักษะให้เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

    “ถ้าเรามองในมุมระบบเศรษฐกิจ ครัวเรือนมีปัจจัยการผลิตอยู่ 4 อย่าง คือ ทุน ที่ดิน แรงงาน ผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจัยการผลิต 4 อย่างจะได้ผลตอบแทนกลับมาเมื่อมีการจัดหาให้กับฝั่งผู้ผลิต ในอนาคตครัวเรือนที่เป็นเจ้าของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่ไม่เป็นที่ต้องการของระบบเศรษฐกิจก็จะได้รับรายได้ค่อนข้างน้อยสำหรับครัวเรือนดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยมีจำนวนมาก อีกทั้งยังมีแรงงานอยู่ในภาคเกษตรกว่า 1 ใน 3 แม้จะมีแนวคิดว่าอาหารยังเป็นที่ต้องการของโลก แต่ด้วยเทรนด์ของเทคโนโลยีเชื่อว่าประเทศต่างๆ จะสามารถลงทุนกับเทคโนโลยีอาหารแล้วก็สามารถจะผลิตอาหารหรือวัตถุดิบทางการเกษตรได้เพียงพอกับความต้องการของเขามากขึ้น ต่อไปก็ผลิตสินค้าเกษตรได้ สุดท้ายแล้วดีมานด์หรือการส่งออกสินค้าภาคเกษตรของไทยจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตข้างหน้า”

    ภาคเกษตรของไทยก็จะได้รับผลกระทบที่รุนแรง รวมไปถึงแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตร อาจจะกลายเป็นแรงงานที่ระบบเศรษฐกิจไม่ต้องการในอนาคต ซึ่งภาครัฐต้องหากลไกที่จะมาลดผลกระทบตรงนี้เพราะจะเกิดความเหลื่อมล้ำเยอะมากในอนาคต เนื่องจากคนที่เป็นเจ้าของทุนจะอยู่ได้ แต่แรงงานที่มีทักษะน้อยเงินออมก็ติดลบ และในอนาคตผลตอบแทนที่เป็นเจ้าของแรงงานก็จะยิ่งลดลงไปอีก