ThaiPublica > คอลัมน์ > The Future is Asian บูรพาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 21

The Future is Asian บูรพาภิวัตน์ในศตวรรษที่ 21

18 ตุลาคม 2020


ดร.สุทธิ สุนทรานุรักษ์

ช่วงเวลาแห่งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา ตั้งแต่ต้นปี 2020 สะท้อนภาพความเป็น “อนิจจัง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจที่วิกฤติ Covid-19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และส่งผลต่อการปรับตัวครั้งสำคัญที่นำไปสู่ “วิถีปกติใหม่” หรือ New Normal

ย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2019 มีหนังสือเล่มหนึ่งที่อธิบายภาพอนาคตของภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ไว้ได้น่าสนใจ โดยเฉพาะบทบาทของเอเชีย ความเป็นเอเชีย และชาวเอเชียในศตวรรษที่ 21

หนังสือเล่มนี้มีชื่อว่า The Future is Asian: Commerce, Conflict, and Culture in the 21st Century เขียนโดย ดร.ปารัค คานนา (Dr. Parag Khanna) นักภูมิรัฐศาสตร์ชาวอินเดีย

The Future is Asian หนังสือเล่มล่าสุดของ ดร.ปารัค คานนา ที่มาภาพ : https://blackwells.co.uk/jacket/l/9781982115333.jpg

ก่อนที่ผู้เขียนจะเข้าสู่เนื้อหาการรีวิวหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนขออนุญาตเล่าภูมิหลังของ ดร.ปารัค คานนา ให้ฟังพอสังเขป

ดร.ปารัค คานนา เกิดที่อินเดีย เติบโตในยูเออี นิวยอร์ค และเยอรมนี เรียนจบปริญญาตรีและโทด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Georgetown University ‘s School of Foreign Service ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะข้ามฝั่งมาเรียนจบปริญญาเอกจาก London School of Economics

ดร.คานนา มีประสบการณ์ทำงานกับ World Economic Forum เคยได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Esquire ให้เป็นหนึ่งใน 75 ผู้ทรงอิทธิพลแห่งศตวรรษที่ 21…

นอกจากนี้เขายังมีผลงานเด่น ๆ เช่น เป็นที่ปรึกษาให้กับ US Intelligence Council Global Trends 2030 เคยเป็น Research Fellow ที่ Brookings Institution และ Lee Kuan Yew School of Public Policy

ดร.ปารัค คานนา ที่มาภาพ : https://i.ytimg.com/vi/629-Dm22vVI/maxresdefault.jpg

ด้วยความที่สนใจเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการวิเคราะห์ภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geoeconomics) ทำให้ ดร.คานนา มีผลงานด้านนี้ออกมาแล้ว 5 เล่ม ได้แก่

    (1) The Second World: Empires and Influence in the New Global Order
    (2) How to run the World,: Charting Course to the Next Renaissance
    (3) Connectography: Mapping the Future of Global Civilization
    (4) Hybrid Reality: Thriving in the Emerging Human-Technology Civilization
    (5) Technocracy in America : Rise of the Info-State

สำหรับงานชิ้นล่าสุดที่เพิ่งตีพิมพ์ออกมา คือ The Future is Asian: Commerce, Conflict, and Culture in the 21st Century ได้อธิบายเหตุผลว่าเพราะเหตุใด ศตวรรษที่ 21 จึงเป็นศตวรรษของเอเชียอย่างแท้จริง

บทรีวิวหนังสือเรื่องนี้ ผู้เขียนวางโครงร่างไว้ 2 ส่วน โดยส่วนแรก ผู้เขียนขออนุญาตหยิบประเด็นน่าสนใจ 4 ประเด็นที่ได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ และส่วนที่สอง ผู้เขียนจั่วเป็นหัวข้อไว้ว่า ทำไมเราจึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้

The Future of Asia ไม่ใช่ตำราวิชาการทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดร.คานนา เลือกใช้ภาษาที่ค่อนข้างง่าย อ่านสนุกและเพลิดเพลินไปกับความรู้ใหม่ ๆ

ดร.คานนา วางโครงสร้างหนังสือเล่มนี้โดยแบ่งออกเป็น 10 บท เขียนร้อยเรียงเชื่อมโยงบทบาทของภูมิภาคเอเชียและภูมิภาคอื่น ๆ ได้น่าสนใจ เช่น บทที่ 5 Asians in the Americas and Americans in Asia บทที่ 6 Why Europe Loves Asia but Not (Yet) Asians หรือ บทที่ 7 The Return of Afroeurasia

เคยมีการเปรียบเปรยไว้ว่า ในศตวรรษที่ 19 เป็นศตวรรษของยุโรป หรือ Europeanization ศตวรรษที่ 20 เป็นศตวรรษอเมริกา Americanization ขณะที่ศตวรรษที่ 21 คือ ศตวรรษของเอเชีย หรือ Asianization

ศตวรรษที่ 21 คือ ศตวรรษที่เอเชียก้าวขึ้นมานำ ที่มาภาพ: parakhanna.com

สี่ประเด็นสำคัญของ Asianization

…คำว่า Asianization คือ หัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ เพราะอย่างน้อยที่สุด เรามองเห็นประเด็นสำคัญจากหนังสือเล่มนี้อยู่ 4 ประเด็น กล่าวคือ

1.ศตวรรษที่ 21 คือ ศตวรรษแห่ง Asianization หรืออนาคตของชาวเอเชีย ที่ไม่ได้เป็นของประเทศจีนหรือชาวจีนเพียงฝ่ายเดียว

แม้ว่า จีน คือ มหาอำนาจในศตวรรษที่ 21 เป็นตัวแทนของทวีปเอเชียและเผ่าพันธุ์มองโกลอยด์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความเป็นเอเชียนั้นมีมากกว่าความเป็นจีน

… ดร.คานนา ชี้ให้เห็นถึงความหลากหลายของชาติพันธุ์ในภูมิภาคเอเชียที่ไล่เรียงกันตั้งแต่ อาหรับ เปอร์เซีย อินเดีย เรื่อยมาถึง ชาวอุษาคเนย์อย่างพวกเรา

ด้วยเหตุนี้ ความเป็น Asianization จึงไม่ได้ยึดติดอยู่ที่จีน ถึงแม้จีนจะเป็น “พี่ใหญ่” แห่งเอเชีย แต่ความหลากหลายในภูมิภาคเอเชียนั้นไม่สามารถทำให้จีนเปลี่ยนเอเชียไปได้ทั้งหมด

2.เอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ คลื่นลูกใหม่แห่งการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประชากรในภูมิภาคเอเชียมีถึง 5 พันล้านคน ประชากรเหล่านี้อาศัยอยู่ตามอนุภูมิภาคต่าง ๆ ของทวีปเอเชีย…เฉพาะแค่อินเดีย (1.353 พันล้านคน: ข้อมูลปี 2018) และจีน (1.393 พันล้านคน: ข้อมูลปี 2018) จำนวนประชากรรวมกันเกินครึ่งหนึ่งภูมิภาคเอเชียเข้าไปแล้ว

ในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียนั้น นับตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง เราอาจแบ่งคลื่นพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียได้คร่าว ๆ ดังนี้

  • คลื่นลูกแรก ช่วงทศวรรษที่ 60 เป็นยุคการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่เพิ่งฟื้นฟูหลังแพ้สงคราม ต่อมา
  • คลื่นลูกที่สอง ช่วงทศวรรษที่ 70-80 หรือที่เรารู้จักในชื่อเสือเศรษฐกิจ (Asia Tiger) คลื่นลูกนี้นำโดยเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์
  • คลื่นลูกที่สาม เป็นยุคที่จีนเปิดประเทศ หลังจากนโยบายสี่ทันสมัยของเติ้ง เสี่ยวผิง ผลิดอกออกผล คลื่นลูกนี้ทำให้จีนเริ่มผงาดตั้งแต่ทศวรรษที่ 90 และก้าวขึ้นมากลายเป็นมหาอำนาจใหม่
  • อย่างไรก็ดี คลื่นลูกล่าสุด คลื่นลูกที่สี่ ที่ ดร.คานนา มั่นใจว่าคลื่นลูกนี้ คือ อนาคตของเอเชียเช่นกัน เมื่อการเติบโตและการพัฒนาขยับมาอยู่ที่เอเชียใต้ (South Asia) ซึ่งไม่ได้มีแค่อินเดียเพียงอย่างเดียว หากมีปากีสถาน บังกลาเทศ ศรีลังกา

    …ขณะเดียวกัน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ยิ่งโดดเด่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อรวมจำนวนประชากรของทั้งเอเชียใต้และอาเซียนเข้าด้วยกัน พบว่า สูงถึง 2.5 พันล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของประชากรชาวเอเชียเลยทีเดียว

สี จิ้นผิง และ นาเรนทรา โมดี สองผู้นำยุค Asianization ที่มาภาพ : https://asiasociety.org
  • 3.Belt and Road Initiative (BRI) หรือ เส้นทางสายไหมเส้นใหม่ของจีน คือ จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ทำให้เอเชียก้าวขึ้นมาผงาด
  • นับตั้งแต่ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ขึ้นครองอำนาจ โครงการ อิไต้อิลู่ หรือ Belt and Road Initiative ถูกผลักดันออกมาอย่างเป็นรูปธรรม การลงทุนก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกให้กับประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย การก่อสร้างทางรถไฟ และสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมแผ่นดินเอเชียเข้าด้วยกัน พร้อม ๆ กับการเชื่อมภูมิภาคยุโรปด้วยเส้นทางสายไหมสายใหม่

    ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ทำให้ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศกำลังเปลี่ยนแปลงไปในศตวรรษที่ 21 จีนใช้ The Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB) เป็นเครื่องมือในการพัฒนา ลงทุนขยายสาธารณูปโภคด้านต่าง ๆ ไปทั่วทั้งเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

    กล่าวกันว่า AIIB ขึ้นมาเทียบเคียงองค์กรโลกบาลด้านเศรษฐกิจอย่าง World Bank ที่มีสหรัฐอเมริกาหนุนหลัง และ IMF ที่มียุโรปแบคอัพให้

    ดร.คานนา มองว่า BRI และ AIIB คือ จิ๊กซอว์สองตัวสุดท้ายที่ทำให้ Asianization ผงาดขึ้นมาในศตวรรษที่ 21 นี้

    Belt and Road Initiative จิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายสู่การเป็น Asianization ภาพจาก ที่มาภาพ :https://doingbusinessinturkey.com

    4.ค่านิยมเอเชียสามประการ (Three Asian values) หนังสือ The Future is Asian ไม่ได้กล่าวถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหรือการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียเพียงอย่างเดียว หากแต่ ดร.คานนา ยังเชื่อมโยงถึงบริบททางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ตลอดจนความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้

    ความเป็น Asianization ทำให้ ดร.คานนา ตั้งข้อสังเกตถึงการสร้างค่านิยมใหม่ของเอเชีย 3 ประการ ได้แก่

      (ก) การมีระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ยึดโยงกับเหล่า “ขุนนางนักวิชาการ” หรือเทคโนแครต (Technocratic governance)
      (ข) การใช้ระบบทุนนิยมแบบผสมผสาน (Mixed capitalism) ที่มีรัฐยังคงเป็นทุนหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
      (ค) การยังคงรักษาจารีตบางอย่างทางสังคมไว้ (Social conservation)

    น่าสนใจว่ามุมมองดังกล่าวดูจะ “ย้อนหลัง” ไปเมื่อสามสิบหรือสี่สิบปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นบทบาทของเหล่าเทคโนแครตในการบริหารราชการแผ่นดินก็ดี หรือ การใช้ระบบทุนนิยมที่มีรัฐเป็นตัวนำขับเคลื่อนก็ดี อย่างไรก็ตาม หากมองจากสายตาของชาวเอเชียด้วยกันก็น่าคิดว่า ค่านิยมที่คานนาอธิบายนั้นเป็นเรื่องเฉพาะในบริบทเอเชียที่ดูจะไม่มีวันเดินไปบรรจบตามค่านิยมแบบอเมริกันหรือยุโรป

    หากแต่เป็นค่านิยมแบบเอเชียที่ยังมีอะไรบางอย่างที่สะท้อนว่า ท้ายที่สุดแล้ว กลไกรัฐ กลไกระบบราชการก็ยังเป็นสิ่งชี้นำในสังคมเอเชียที่ “ขาดเสียมิได้”

    ขณะเดียวกันในแง่ของการมี Social conservation นั้น แม้เรื่องสิทธิเสรีภาพต่าง ๆ จะเบ่งบานไปทั่วเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ เสรีภาพของสื่อในการรายงานข่าวที่มีมากกว่าแต่เดิม การเปิดโอกาสในการแสดงความเห็นในสื่อสังคมออนไลน์…

    แต่เอาเข้าจริงแล้ว สังคมเอเชียยังคงมีจารีตบางอย่างที่ “พึงระมัดระวัง” มากกว่าจะเปิดเผยอย่างอิสระ เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมตะวันตก

    ทำไมเราจึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้

    หลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ ผู้เขียนหาข้อมูลเพิ่มเติมต่อใน YouTube เกี่ยวกับบทสัมภาษณ์ การอภิปรายต่าง ๆ ของ ดร.ปารัค คานนา..ผู้เขียนชื่นชมนักภูมิรัฐศาสตร์ท่านนี้ตรงที่ไม่ได้นำเสนอภาพความเป็นวิชาการมากเกินไป หากแต่อธิบายและนำเสนอข้อมูล บทวิเคราะห์ด้วยเนื้อหาที่ง่าย กระชับ ตรงประเด็นและมองเห็นว่าอนาคตข้างหน้าที่เราทุกคนต้องเผชิญนั้น เราควรจะปรับตัวอย่างไร

    ผู้เขียนตั้งโจทย์กับตัวเองว่า ทำไมเราจึงควรอ่านหนังสือเล่มนี้

    คำตอบที่ได้มีสามข้อ กล่าวคือ

    • (ก)The Future of Asia ทำให้เข้าใจระบบคิดความเป็นเอเชีย หรือ Asia system ซึ่งเป็นรากฐานเดิมแท้ของเรา ความเป็นเอเชียมีความละเอียดอ่อนและเต็มไปด้วยปรัชญาโดยเฉพาะเป็นปรัชญาตะวันออกจากจีน อินเดีย อาหรับ เปอร์เซีย…ความเป็นเอเชียสอนให้เราเคารพอ่อนน้อม ถ่อมตนต่อทุกสรรพสิ่ง ซึ่งแสดงถึง “วิถีของคนเอเชีย” ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับค่านิยมเอเชียที่ ดร.คานนา ชี้ให้เห็นว่า เรายังคงรักษาจารีตบางอย่างทางสังคมไว้อยู่

    หลายปีมานี้ ผู้เขียนสนใจการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ Emerging economy ซึ่งหลายประเทศอยู่ในเอเชีย เช่น กลุ่มประเทศ “สถาน” ในเอเชียกลาง หรือ กลุ่มประเทศเอเชียใต้ ด้วยเหตุผล คือ ประเทศเหล่านี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป แต่ที่มีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ…

    วิธีคิดในการพัฒนาประเทศตนเองให้เติบโตได้ภายใต้บริบทแวดล้อมของประเทศตัวเอง ไม่ใช่ “สูตรสำเร็จ” ที่ต้องเดินตามโลกตะวันตกเพียงฝ่ายเดียว

    เช่นกัน The Future of Asia ทำให้เราเห็นว่า ระบบคิดแบบเอเชียนั้นสามารถแผ่อิทธิพลและกลมกลืนกับวัฒนธรรมต่าง ๆ ทั่วโลกได้ในทุกด้าน โดยเฉพาะการสร้าง Soft power ผ่านช่องทางต่าง ๆ นั่นทำให้เราภูมิใจในความเป็นเอเชีย

    • (ข)The Future of Asia ทำให้เราเห็นการพัฒนาของยุคโลก “หลายขั้ว” หรือ Multipolar แนวคิดการพัฒนาไม่จำกัดเฉพาะแค่วิถีแบบจีนหรือวิถีแบบอเมริกัน หากแต่เราเห็นการพัฒนาของโลกยุคใหม่ที่มีทั้งเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียกลาง แอฟริกา ละตินอเมริกา กลุ่มประเทศแปซิฟิก

    …คำว่า “หลายขั้ว” นี้ทำให้เรามองเห็นความแตกต่างหลากหลายที่เป็นผลผลิตจากโลกาภิวัตน์ การเติบโตอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้โลกทั้งถูกย่อส่วนและทำให้แคบลง คำว่า Connectivity หรือ เชื่อมโยงนั้น มีทั้งการเชื่อมโยงผ่านการเดินทางที่สะดวกขึ้นและเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสาร ที่รวดเร็วมากขึ้น

    ความเชื่อมโยงทำให้เกิดการแลกเปลี่ยน การแลกเปลี่ยนทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้นำไปสู่การพัฒนา การพัฒนานำไปสู่ความเจริญ…นี่คือ คุณค่าที่แท้จริงจากการพัฒนาของโลกหลายขั้ว โลกที่ไม่ได้จำกัดแค่ “ค่ายจีน” หรือ “ค่ายอเมริกา” หากแต่มีความหลากหลายทางภูมิภาค วิธีคิด มุมมองภายใต้พื้นถิ่นของตนเอง

    • (ค)The Future of Asia ดูเหมือนจะตอกย้ำว่าวิกฤต Covid-19 เป็นบทพิสูจน์ศักยภาพของ ภูมิภาคเอเชีย…หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ก่อนวิกฤต Covid-19 ทำให้เรายังไม่มี Scenario ที่แสดงถึงศักยภาพรัฐและผู้คนในการรับมือกับวิกฤตโรคระบาด อย่างไรก็ดี พลันที่ Covid-19 ปรากฏขึ้นเมื่อต้นปี 2020 นั้น เราได้เห็นภาพการจัดการกับวิกฤตของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้แจ่มชัดขึ้น

    สำหรับเอเชีย แล้ว แม้จีนจะเป็นประเทศแรกที่เผชิญวิกฤติ ผลจากการ Lockdown อู่ฮั่น แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจีนจัดการเรื่องนี้ได้ค่อนข้างดี

    มิพักต้องเอ่ยถึง “ไต้หวัน” ที่เป็นเป็นต้นแบบในการจัดการวิกฤติรอบนี้ได้ดีเยี่ยม อย่างไรก็ดีด้วยความหลากหลายของเอเชีย ประเทศในเอเชียใต้ ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือบังกลาเทศ กลับยังต้องสาละวนกับการแก้วิกฤต Covid-19 อย่างไม่เห็นทางออกมากนัก เช่นเดียวกับในอาเซียน ที่บ้านเราได้รับการยกย่องจาก WHO ว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศต้นแบบในการจัดการวิกฤตครั้งนี้ได้ดี แต่หันไปมองรอบกาย ทั้งเมียนมาร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ หรือ มาเลเซีย เพื่อนบ้านเราก็ยังหนักใจกับโรคระบาดครั้งนี้อยู่

    แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราก้าวเข้าสู่ยุค New Normal แล้ว ศตวรรษที่ 21 ก็ยังคงเป็นศตวรรษของเอเชียอันเรืองรองและเป็นความหวังของพวกเราชาวเอเชียต่อไป