ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ เปิดตัวทีม ศก. เรียกความมั่นใจ – มติ ครม.เคาะ “ช้อปดีมีคืน” บิล VAT ซื้อสินค้า 3 หมื่น หักภาษี

นายกฯ เปิดตัวทีม ศก. เรียกความมั่นใจ – มติ ครม.เคาะ “ช้อปดีมีคืน” บิล VAT ซื้อสินค้า 3 หมื่น หักภาษี

12 ตุลาคม 2020


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

นายกฯ เปิดตัวทีม ศก.เรียกความมั่นใจ – ชู 3 มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายเงิน เผย Q4 อัดฉีดเงินอีก 2 แสนล้าน-มติ ครม.เคาะ“ช้อปดีมีคืน”บิล VAT ซื้อสินค้า 3 หมื่น หักภาษี-ขยายเวลา “โครงการกำลังใจ-เราเที่ยวด้วยกัน” ถึง 31 ม.ค.ปีหน้า

เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาลมีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน โดยวันนี้นายกรัฐมนตรีได้นำทีมเศรษฐกิจครบทีม หลังจากการปรับ ครม. ครั้งที่ผ่านมาว่างเว้นตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปกว่า 2 เดือน โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวแนะนำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ที่หลายคนคุ้นตากันดี คือ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมในรัฐบาล คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เพียงสั้นๆ ว่า

“วันนี้จากเมื่อวาน (11 ตุลาคม 2563) ก็ได้ทำพิธีพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเป็นที่เรียบร้อยแล้วแล้วเราก็ได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่เข้ามา ท่านรัฐมนตรีบางคนก็ถือว่าเป็นหน้าใหม่แล้วกัน ในวันนี้ก็ผมนำฝ่ายเศรษฐกิจมาเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกท่าน ทั้งในส่วนของสื่อ สังคม ประชาชนโดยรวมว่าเราจะทำงานกันอย่างเต็มที่และจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ได้อย่างไรระวังที่สุดให้ครอบคลุมถึงทุกกลุ่มทุกมาตรการต่างๆ ที่เราได้ทำออกไป”

ชู 3 มาตรการกระตุ้นจับจ่ายใช้สอย-แก้ปัญหาปากท้อง

ทั้งนี้ในวันนี้นายกรัฐมนตรีไม่ได้ทำการตอบคำถามในประเด็นที่สื่อมวลชนส่งไปแต่อย่างใด แต่ได้กล่าวถึงมาตรการด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน

โดย พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ ครม. มีการอนุมัติหลายเรื่องในเรื่องเกี่ยวกับด้านเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาภารกิจที่ตนมุ่งเน้นเป็นอย่างมากคือ การดูแลบรรเทาปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ช่วยคนไทยหลายสิบล้านคนให้ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปให้ได้ ในส่วนของประชาชนคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศ ก็ทยอยเดินทางกลับมาในวันนี้ก็เป็นจำนวนหลายแสนคนแล้ว และจะดำเนินการต่อเนื่องไป

พล.อ. ประยุทธ์ เปิดเผยว่า สิ่งที่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจ (ศบศ.) และรัฐบาลกำลังดำเนินการมีทั้งการปรับปรุงมาตรการการบรรเทาผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งต้องทำหลายมาตรการไปพร้อมๆ กัน โดยเป้าหมายหลักก็คือการช่วยคนที่มีรายได้น้อยให้พอมีเงินใช้จ่ายได้ และช่วยให้คนที่มีรายได้มากคนที่มีเงินแต่อยากใช้ได้ออกมาใช้เงินไปด้วย เพื่อดึงเงินให้เข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยได้ขอให้ทุกส่วนในห่วงโซ่การผลิตช่วยเหลือกัน พร้อมกล่าวขอบคุณภาคเอกชนที่ให้ความร่วมมือในการเสนอความเห็นให้แก่รัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา

“ผมขอขอบคุณภาคเอกชนผ่านทางสื่อไม่ว่าจะเป็นสมาคมธุรกิจต่างๆ องค์กรธุรกิจต่างๆ ที่เข้าร่วมเวิร์กชอป เพื่อนำเสนอความคิดเห็นให้ผมได้ทราบโดยตรงทั้งปัญหาและอุปสรรคของท่านในช่วงเดือนที่ผ่านมา หลายคนหลายธุรกิจก็ได้นำเสนอความเห็นผ่านคณะทำงานต่างๆ ซึ่งก็มีประโยชน์อย่างมากในการที่รัฐบาลจะนำมาวิเคราะห์หาวิธีการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ให้ได้โดยเร็ว แต่ต้องช่วยกันมันจะได้เกิดตรงจุดตรงความต้องการ เรื่องสำคัญที่สุดก็คือการที่เราใช้คำว่า ‘รวมไทยสร้างชาติ’ ซึ่งหมายถึงคนไทยเกิดในแผ่นดินไทยจะต้องจับมือกันทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันคิดช่วยกันทำเพื่อจะช่วยกันนำพาประเทศไทยให้ก้าวไปข้างหน้า”

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงมาตรการเศรษฐกิจ 3 มาตรการ ที่รัฐบาลนำมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเวลานี้คือ

  • การเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้ประชาชนจำนวน 14 ล้านคนคนละ 1,500 บาท ซึ่งอยู่ในขั้นตอนระหว่างดำเนินการอยู่
  • มาตรการคนละครึ่งโดยประชาชนจ่ายครึ่งหนึ่งภาครัฐช่วยออกอีกครึ่งหนึ่ง ซึ่งเต็มเรื่องของผู้มีรายได้น้อยของร้านค้าปลีก แต่ต้องเป็นร้านค้าที่ขึ้นทะเบียนและจะเป็นการจ่ายเงินผ่านอีวอเล็ตโดยตรง
  • มาตรการช้อปดีมีคืน โดยประชาชนนำค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้ามาลดหย่อนภาษีได้เป็นจำนวน 30,000 บาท ซึ่งนายกรัฐมนตรีระบุว่าไม่สามารถที่จะรับคำขอลดหย่อนเป็นจำนวน 50,000 บาทได้ แต่ขอให้เป็นจำนวน 30,000 บาทแทน ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นมาตรการที่ให้ประชาชนช่วยกันซื้อสินค้าคงทน

“จะเห็นว่าเราจะต้องมีมาตรการเฉพาะเฉพาะกลุ่มออกมาซึ่งจะทยอยออกมาเรื่อยๆ มาตรการดังกล่าวทั้ง 3 มาตรการนี้เรามีเป้าหมายคือเพื่อดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้คนซื้อมีเงินซื้อสินค้าและเจ้าของสินค้าเจ้าของร้านค้าสามารถขายของได้เกิดการซื้อขายเกิดการจ่ายเงินสร้างงานสร้างรายได้ไปถึงพนักงานร้านค้าขนส่งของ และอื่นๆ อีกมากมายในระบบ ทำให้ประชาชนสามารถดำรงชีพอยู่ได้”

“แต่หากการดำรงชีพนั้นไปใช้จ่ายมีสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์มันก็คือปัญหาทำให้เกิดหนี้ครัวเรือนซึ่งช่วงนี้ต้องใช้ประชาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งทุกอย่างต้องมองดูเป็นระบบทั้งหมดไม่ใช่ดูเฉพาะคนเป็นไปไม่ได้รัฐบาลต้องมองอย่างนี้ ฉะนั้นเราจะต้องทำหลายมาตรการไปพร้อมๆ กันซึ่งจะทยอยออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องคนไทยให้ได้ “

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวต่อไปว่า วันนี้รัฐบาลสถานการณ์เศรษฐกิจจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกาหรือจีนและนำมาเปรียบเทียบกับประเทศไทยซึ่งมีหลายๆ ส่วนที่เหมือนกัน เพียงแต่ประเทศเหล่านั้นเป็นประเทศใหญ่เงินมีเงินมากกว่า สำหรับประเทศไทยเองก็ต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับงบประมาณที่เรามีอยู่ ซึ่งทางกระทรวงการคลังและรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้ดูแลตรงนี้อยู่แล้ว

“วันนี้ทุกประเทศต่างก็เชิญวิกฤติเศรษฐกิจกันทั้งหมดและหลายๆ ประเทศก็แย่กว่าประเทศไทยเรายังคงมีศักยภาพอยู่เพราะฉะนั้นอย่าทำลายศักยภาพของตนเองด้วยเรื่องที่ไม่ควรจะทำ เพราะหากความเชื่อมั่นต่างๆ หายไปแล้วจะทำอย่างไรแล้วจะเอากลับมาอย่างไร มันเอากลับมาไม่ได้ถ้าหากเสียหายตอนนี้ เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงของการแข่งขัน อยู่ในช่วงของการแก้ปัญหาเรื่องโควิดฯ เป็นช่วงของการดำเนินการของโลกหลังโควิดฯ ถ้าเราทำร้ายกันตอนนี้พอถึงเวลาเราจะฟื้นกลับมาไม่ได้เลยเพราะเราไม่ทันเขาแน่นอนก็ฝากพี่น้องประชาชนทุกคนด้วย ขอให้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้มากที่สุดช่วยกันเคารพกฎหมายและเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับคนอื่นแค่นั้นเอง อันนี้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ดำเนินการแล้วผมคงไม่ต้องสั่งอะไรเพิ่มเติม”

เปิดตัวทีม ศก.เรียกความเชื่อมั่น-Q4 อัดฉีดเงิน 2 แสนล้าน

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้แนะนำทีมเศรษฐกิจประจำรัฐบาลประยุทธ์ 2/2 โดยระบุว่า “วันนี้ครบหมดเลย จะได้สบายใจมั่นใจวันนี้ ทีมเศรษฐกิจวันนี้มีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มาเติมเต็ม หลายท่านที่ยังมีความห่วงกังวลในการดำเนินมาตรการ ตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีให้ทราบเมื่อสักครู่ว่าจะมีอุปสรรคในการดำเนินการอย่างไร วันนี้ปลอดความห่วง กังวลตรงนี้ไปได้เลย การดำเนินการตรงนี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น และตามเป้าหมาย”

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็จะมาเสริมผมในเรื่องของการหามาตรการดีๆ ที่จะมาเสริมการฟื้นฟูเศรษฐกิจ เป็นส่วนหนึ่งและกำลังสำคัญของ ศบศ. ในส่วนของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็จะช่วยสนับสนุนการทำงานของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในการช่วยกันดูแลเสถียรภาพด้านการคลัง และวินัยการเงินการคลังของประเทศให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ เพื่อเมื่อวันที่สถานการณ์โควิดฯ จบสิ้น ประเทศไทยยังมีความเข็มแข็งทางการคลังและการเงินที่จะเติบโตต่อไปได้ นั่นคือวิถีการทำงานตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่กล่าวถึงการรวมไทยสร้างชาติ”

โดยนายสุพัฒนพงษ์กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจนายกฯ กับชับว่าจะต้องให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้เต็มประโยชน์ เต็มที่ในทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นมาตรการคนละครึ่ง ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ที่จะได้รับสิทธิในมาตรการคนละครึ่งก็ควรจะเพิ่มจำนวนให้กระจายไปสู่ภูมิภาคในประเทศไทย และมาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะนำค่าใช้จ่าย 30,000 บาท มาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งหากกระจายตัวได้อย่างทั่วถึงถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นเป็นภาพของการดำเนินงานที่เชื่อมโยงและต่อเนื่องกันไป ในช่วงของไตรมาส 4 ที่จะถึงนี้

ทั้งนี้ ตนคาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมประมาณ 200,000 ล้านบาท เป็นงบประมาณของรัฐประมาณ 60,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าว ตามนโยบายรวมไทยสร้างชาติ ซึ่งประชาชนไทยทุกคนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ นำประเทศไทยให้กลับมาแข็งแรงให้มากที่สุดในปีนี้

มติ ครม. มีดังนี้

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประสำนักนายกรัฐมนตรี และนางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกฯ (ซ้าย-ขวา)
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เตรียม “Thailand Plus” ติดตามนักท่องเที่ยวพิเศษ

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าในช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ชมนิทรรศการในการใช้แอปพลิเคชั่นที่เรียกว่า “Thailand Plus” ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับอีกหลายหน่วยงาน อาทิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงการต่างประเทศ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ร่วมกันพัฒนาแอปพลิเคชัน ติดตามชาวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวพิเศษ (Special Tourist Visa) หรือ ที่เรียกว่า “STV” ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นติดตามตัวนักท่องเที่ยวที่กำลังจะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และในอนาคตอาจขยายไปถึงนักธุรกิจด้วย คาดว่าจะเริ่มนำมาใช้ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมนี้เป็นต้นไป โดยจะให้ชาวต่างชาติติดตั้งแอปพลิเคชั่นนี้ให้เสร็จเรียบร้อย ก่อนที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศไทย และเมื่อเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วจะมีระบบติดตามตัวในระหว่างที่พำนักอยู่ในประเทศไทยด้วย

“จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้นำตัวแทนชุมชนในพื้นที่อื่น เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอกิจกรรมเทศกาลกินเจ ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 17-25 ตุลาคมนี้ โดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดงาน จากขบวนแห่ที่จะเดินด้วยเท้าเป็นขบวนแห่ที่ใช้รถยนต์แทน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และจะมีการคัดกรองก่อนเข้าร่วมงานด้วย” นายอนุชากล่าว

กำชับทุกหน่วยเตรียมรับมือพายุโซนร้อน 13-14 ต.ค.นี้

นายอนุชากล่าวต่อว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และเตรียมพร้อมรับมือพายุลูกใหม่ คาดว่าจะมีกำลังแรงขึ้น จากเดิมเป็นพายุระดับดีเปรสชัน ยกระดับขึ้นเป็นพายุโซนร้อน คาดว่าพายุลูกนี้จะเคลื่อนเข้าสู่หมู่เกาะไหหลำในช่วง 13-14 ตุลาคมนี้ จึงได้กำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมรับมือ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน หากพื้นที่ใดคาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงก็ให้รีบแจ้งเตือน เช่น ยกสิ่งของขึ้นที่สูง หรือเตรียมอพยพหากมีความจำเป็น และเพื่อความปลอดภัย ควรหลีกเลี่ยงเรื่องการสัญจรที่ไม่มีความจำเป็น

มอบ อว. เร่งผลิตนักศึกษาตามความต้องการตลาด

นายอนุชากล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้ไปเปิดงาน “สู่มิติใหม่อาชีวศึกษาไทย” มุ่งผลิตและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) ด้วยศูนย์พัฒนาศักยภาพบุคคล เพื่อความเป็นเลิศ (Human Capital Excellence Center: HCEC) เพื่อยกระดับศักยภาพกำลังคนอาชีวศึกษา รองรับความต้องการของตลาดแรงงานผ่านโมเดล “อาชีวศึกษายกกำลังสอง” ซึ่งจะ “ปลดล็อก” จากการเรียนการสอนในรูปแบบเดิมที่ไม่ตอบโจทย์การทำงานที่ก่อให้เกิด Skill Gap หรือ ปัญหาช่องว่างทางด้านทักษะที่ไม่เพียงพอต่อการทำงานจริง โดยการ “ปรับเปลี่ยน” เชื่อมโยงความรู้และทักษะที่จำเป็น เข้าสู่ระบบการศึกษาที่ตอบสนองกับความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศ และ “เปิดกว้าง” นั้น หมายถึง ไม่ใช่เฉพาะในส่วนภาครัฐอย่างเดียว ต้องดึงภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วย

นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ผลิตนักศึกษาให้ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการด้วย จากการจัดงาน JOB EXPO THAILAND 2020 ในช่วงที่ผ่านมา พบว่ามีความแตกต่างระหว่างซัพพลายกับดีมานด์ของตลาดแรงงานมาก ทั้งนักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และอาชีวะศึกษา ยังไม่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน จึงอยากให้ อว. เร่งผลิตนักศึกษาให้รองรับกับความต้องการของตลาดให้มากขึ้น และสอดคล้องกับความเป็นจริง

“วิษณุ” แจงเลือกตั้ง อบจ.ใช้งบฯ 3,236 ล้าน

นายอนุชากล่าวว่า วันนี้ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุม ครม. รับทราบความคืบหน้าของการเลือกตั้งท้องถิ่นเพิ่มเติม จากที่ ครม. ได้มีมติให้จัดการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ 76 แห่งในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว คาดว่า กกต. จะกำหนดวันเลือกตั้งได้ภายในเดือนธันวาคมนี้ ดร.วิษณุ รายงานว่า

“ก่อนหน้านี้ นายกฯ ผู้บริหารและสมาชิกของ อบจ. ทั้งหมด 16 แห่ง ถูกตั้งกรรมการสอบสวนตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการลงโทษไปแล้ว 5 แห่ง, การยุติเรื่อง 10 แห่ง และผู้ที่ถูกสอบสวนเสียชีวิตไปแล้ว 1 แห่ง ณ วันนี้ ถือว่าทั้งหมด 16 แห่ง ไม่มีเรื่องตกค้างแต่อย่างใด ดังนั้น หลังจากที่ กกต. ประกาศวันเลือกตั้ง จะมีผลทำให้นายกฯ และสมาชิกของ อบจ. พ้นจากหน้าที่โดยทันที ไม่ใช่เป็นการพ้นจากหน้าที่หลังการที่มีการเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว” นายอนุชากล่าว

นายอนุชากล่าวต่อว่า ดร.วิษณุ ได้แจ้งเพิ่มเติมเรื่องของการใช้สิทธิเลือกตั้ง หากผู้ใดไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นโดยไม่แจ้งเหตุจำเป็นจะเสียสิทธิ 2 ประการ คือ เรื่องแรก ลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้เป็นระยะเวลา 2 ปี เรื่องที่สอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ ข้าราชการการเมืองไม่ได้ภายในระยะเวลา 2 ปีเช่นเดียวกัน สุดท้าย ดร.วิษณุ ชี้แจงงบประมาณที่ใช้การเลือกตั้งการ อบจ. ทั่วประเทศครั้งนี้ คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 3,236 ล้านบาท

เรื่องสุดท้ายก่อนนายกรัฐมนตรีจะเริ่มประชุม ครม. ได้กล่าวคำแนะนำ และกล่าวต้อนรับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่

เห็นชอบ 3 หลักสูตร ชะลอเลิกจ้างแรงงานอุตฯยานยนต์

นายอนุชา กล่าวว่า วันนี้ที่ประชุม ครม. มีมติ เห็นชอบหลักการโครงการฝึกอบรมเพื่อชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) รวมทั้งปรับปรุง “โครงการกำลังใจ” และ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ดังนี้

เรื่องแรก มีมติเห็นชอบโครงการฝึกอบรม เพื่อชะลอการว่างงานในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนและยานยนต์และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ และทักษะสำหรับการทำงานร่วมกับกระบวนการผลิตบนแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ 34 บริษัท โดยตั้งเป้าหมายจัดฝึกอบรมบุคลากรประมาณ 9,500 คน ซึ่งจะจัดอบรมหลักสูตรระยะสั้น ร่วมงานผู้ผลิตรถยนต์ และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ภายใต้กรอบวงเงิน 186 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย

    1) จัดอบรมหลักสูตร technology management for technical supervisors ให้กับ supervisors และ พนักงานในระดับผู้จัดการของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวน 2,300 คน
    2) จัดอบรมหลักสูตรอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับพนักงานระดับปฏิบัติการของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวน 3,600 คน
    3)จัดอบรมหลักสูตรอุตสาหกรรม 4.0 ให้กับพนักงานระดับแรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จำนวน 3,600 คน

ขยายเวลา “โครงการกำลังใจ-เราเที่ยวด้วยกัน” ถึง 31 ม.ค.64

เรื่องที่ 2 เห็นชอบปรับปรุงรายละเอียดของโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้ เพื่อให้ “โครงการกำลังใจ” และ “โครงการเราเที่ยวด้วยกัน” สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้อย่างทั่วถึง บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนี้

    1) อนุมัติให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร จำนวน 570 คน และเจ้าหน้าที่หัวหน้างานสาธารณสุขมูลฐานและงานสุขภาพภาคประชาชนระดับจังหวัดและระดับอำเภอ กระทรวงสาธารณสุข จำนวน 2,615 คน ให้สามารถเข้าร่วมโครงการกำลังใจได้
    2) อนุมัติให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการเราเที่ยวด้วยกันสามารถใช้บริการโรงแรมที่พักและใช้ E-Voucher สำหรับค่าสนับสนุนอาหาร ค่าเข้าชมแหล่งท่องเที่ยว ค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในจังหวัดภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านได้
    3) อนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินโครงการกำลังใจและเราเที่ยวด้วยกัน ไปถึงวันที่ 31 มกราคม 2564

เคาะ “ช้อปดีมีคืน” บิล VAT ซื้อสินค้า 3 หมื่นบาท หักภาษี

เรื่องถัดมา นายอนุชา กล่าวว่าวันนี้ที่ประชุม ครม. เห็นชอบหลักการมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศ และสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในระบบภาษี รวมถึงส่งเสริมการผลิตสินค้าท้องถิ่นและการอ่าน โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน ตั้งแต่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือ คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล สามารถหักลดหย่อนภาษีจากการซื้อสินค้า หรือ บริการในราชอาณาจักร ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

หลักเกณฑ์มีดังต่อไปนี้

    1.ผู้มีเงินได้ต้องไม่ได้รับสิทธิ์ตามโครงการคนละครึ่งหรือโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
    2. ค่าสินค้าหรือค่าบริการ ไม่รวม 1) ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ 2) ค่ายาสูบ 3) ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ 4) ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ 5) ค่าหนังสือพิมพ์ นิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต 6) ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ 7) ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
    3.ผู้มีเงินได้ต้องจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร เว้นแต่ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่ในส่วนค่าซื้อหนังสือและค่าบริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบออินเทอร์เน็ต และค่าสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชุนแล้ว

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2561 คาดว่าจะมีผู้ใช้สิทธิ์ประมาณ 3.7 ล้านคน ซึ่งรัฐจะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประมาณ 14,000 ล้านบาท

“ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับว่า จะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภายในประเทศในช่วงปลายปี 2563 ซึ่งคาดว่าจะทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมูลค่าประมาณ 111,000 ล้านบาท และคาดว่าจะช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ ร้อยละ 0.30 แม้จะสูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาส่วนหนึ่งจากการหักลดหย่อนค่าซื้อสินค้า หรือ ค่าบริการของผู้มีเงินได้ แต่จะเป็นการกระตุ้นการบริโภคในประเทศ ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวม พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเข้าเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะเป็นการขยายฐานภาษี และส่งผลดีต่อการจัดเก็บรายได้ภาษีของรัฐในระยะยาวอีกด้วย” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว

ครม.สัญจรภูเก็ต 2-3 พ.ย.นี้-สั่ง รมต.กระจายการจองที่พัก

ผศ. ดร.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้จัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 3/2563 และตรวจราชการ ระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน 2563 โดยให้จัดการประชุม ครม. ที่จังหวัดภูเก็ตในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2563 และตรวจราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดภูเก็ต โดยมีประเด็นตรวจราชการที่สำคัญ ดังนี้

    1.ส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกระตุ้นเศรษฐกิจในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ ได้แก่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดภูเก็ต รวมถึงลงพื้นที่เพื่อศึกษาเตรียมความพร้อมรองรับนโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa: STV) และรูปแบบการท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay)
    2.การตรวจราชการในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดกระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง และสตูล โดยมุ่งเน้นประเด็นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและคุณภาพระดับโลก การเพิ่มมูลค่าภาคการผลิตเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความต้องการของท้องถิ่น
    3.มอบรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีลงพื้นที่ บริเวณจังหวัดหรืออำเภอโดยรอบกลุ่มจังหวัดหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เพื่อติดตามการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลและสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับประชาชน รวมถึงประมวลประเด็นปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะจากประชาชนในพื้นที่ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ซึ่งกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน เป็นประธานในการประชุมเตรียมการกลั่นกรองวาระการประชุมฯ ของกลุ่มจังหวัด และรวบรวมข้อมูลจากส่วนราชการเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในที่ประชุม ครม .ครั้งนี้
    4.การติดตามสถานการณ์และมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจรองรับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 และนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจ ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ร่วมเดินทางเพื่อติดตามสถานการณ์ในครั้งนี้ด้วย

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การลงพื้นที่ของคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีกระจายการจองโรงแรมที่พักไปหลายๆ แห่ง

เห็นชอบไทยเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวต่อว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ประเทศไทย เข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 (EXPO 2022 Floriade Almere) โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง วงเงินงบประมาณสำหรับดำเนินการรวมทั้งสิ้น 187 ล้านบาท ซึ่งงานนี้เป็นโอกาสสำคัญที่จะทำให้ประเทศไทยได้ประชาสัมพันธ์สินค้าพืชสวน สินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ สินค้าเพื่อสุขภาพของไทย รวมถึงสร้างเครือข่ายด้านการค้าในเวทีนานาชาติและส่งเสริมการสร้างภาพลักษณ์ของไทยในด้านศิลปวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ตลอดจนเป็นการสร้าง ความสัมพันธ์อันดีระหว่าไทยกับเนเธอร์แลนด์

สำหรับระยะเวลาดำเนินการเข้าร่วมมหกรรมพืชสวนโลก 2022 ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเริ่มเตรียมความพร้อมก่อนเปิดงานตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 – เมษายน 2565 และมีระยะเวลาจัดนิทรรศการ เริ่มตั้งแต่ 14 เมษายน 2565 – 9 ตุลาคม 2565 รวมระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่การเตรียมการจนเสร็จสิ้นการส่งมอบพื้นที่คืน รวม 3 ปี ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 – 2566 โดยใช้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 187.64 ล้านบาท

ผ่านร่าง พ.ร.บ. ควบคุมการใช้ใบกระท่อม

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ตามที่ ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่.. พ.ศ. …. เป็นการเพิกถอนพืชกระท่อมออกจากการเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และยกเลิกบทกำหนดโทษในความผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ควรให้มีกฎหมายควบคุมพืชกระท่อมเป็นการเฉพาะด้วย ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯอยู่ระหว่างการเข้าสู่การพิจารณาวาระรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎร

ดังนั้น เพื่อให้การใช้พืชกระท่อมเป็นไปตามวัตถุประสงค์ทางการแพทย์ และไม่เปิดช่องให้มีการนำไปใช้ในเยาวชน ครม. จึงอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. …. ตามที่กระยุติธรรมเสนอ ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการควบคุมพืชกระท่อม เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนเข้าถึงพืชกระท่อมและป้องกันไม่ให้มีการนำพืชกระท่อมไปใช้ในทางที่ผิด โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

    1.กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกพืชกระท่อม เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท
    2.ห้ามขายพืชกระท่อมให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ จ้างวาน หรือยินยอมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ห้ามมิให้ขายพืชกระท่อมในสถานที่บางแห่ง เช่น โรงเรียน หอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก หรือขายผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเร่หาย ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท
    3.ห้ามโฆษณาหรือทำการสื่อสารการตลาดพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน และปรับไม่เกิน 500,000 บาท
    4.ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี เสพพืชกระท่อม และห้ามผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป เสพพืชกระท่อมแบบ 4 x 100 (ผสมกับยา ยาเสพติด วัตถุออกฤทธิ์) รวมทั้งห้ามมิให้ผู้ใดยุยงส่งเสริมให้ผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี หรือสตรีมีครรภ์เสพพืชกระท่อม ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
    5.กำหนดให้กฎหมายฉบับนี้ไม่มีผลบังคับใช้กับผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง ที่มีส่วนประกอบของพืชกระท่อม ตามกฎหมายว่าด้วยผลิตภัณฑ์สมุนไพร ยา อาหาร และเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์สำนักงาน ป.ป.ส. www.oncb.go.th จำนวน 2 ครั้ง และได้เผยแพร่ผลการรับฟังความคิดเห็นพร้อมการวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นตามกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ดังกล่าวให้ประชาชนรับทราบเรียบร้อยแล้ว

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่า ในลำดับต่อไป จะส่งร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป เมื่อกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ประเทศไทยจะเป็นหนึ่งใน 37 ประเทศทั่วโลกที่ควบคุมพืชกระท่อมโดยไม่ใช้กฎหมายยาเสพติดแต่ใช้กฎหมายอื่น เช่นเดียวกับ ญี่ปุ่น เซอร์เบีย โครเอเชีย ซีเรีย เป็นต้น

ไฟเขียว กปภ.เพิ่มกำลังผลิตประปา 6 โครงการ 1.14 หมื่นล้าน

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวว่าที่ประชุม ครม. อนุมัติโครงการเพื่อการพัฒนาปี 2563 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) เพิ่มเติม จำนวน 6 โครงการ วงเงินงบประมาณรวม 11,451.56 ล้านบาท จากเดิมที่ ครม. เคยมีมติอนุมัติไปแล้ว 9 โครงการ วงเงิน 9,629.99 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 เมษายน ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบผลิต ระบบส่งน้ำ และระบบจ่ายน้ำประปาในพื้นที่ที่ประสบปัญหาให้สามารถบริการน้ำประปาแก่ประชาชนได้เพิ่มขึ้นในอนาคตอย่างเพียงพอ รวมถึงการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสียในระบบผลิต-จ่ายให้เป็นไปตามเป้าหมาย

สำหรับรายละเอียดทั้ง 6 โครงการ แบ่งออกเป็น โครงการก่อสร้างปรับปรุงขยายการประปาส่วนภูมิภาค จำนวน 4 สาขา ได้แก่ 1)สาขาเพชรบูรณ์-หล่มสัก 2)สาขาเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี 3)สาขาสมุทรสาคร-นครปฐม และ 4)สาขาด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี และโครงการก่อสร้างปรับปรุงกิจการประปาองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวน 2 สาขา ได้แก่ 1)สาขาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าเรือ จังหวัดนครศรีธรรมราช 2)สาขาเทศบาลตำบลการะเกด จังหวัดนครศรีธรรมราช

ในส่วนแหล่งที่มาของงบประมาณทั้ง 6 โครงการ จำนวน 11,451.56 ล้านบาท มาจากเงินอุดหนุน จำนวน 8,027.41 ล้านบาท เงินรายได้ของ กปภ. จำนวน 748.35 ล้านบาท และเงินกู้ภายในประเทศ จำนวน 2,675.80 ล้านบาท ผลการวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ มีผลตอบแทนตามมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 5,025.44 ล้านบาท และมีสัดส่วนรายได้ต่อรายจ่าย 1.16 เท่า

ผศ. ดร.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อทั้ง 6 โครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะทำให้มีระบบผลิตน้ำประปาเพิ่มขึ้นอีก 216,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน สามารถลดปริมาณน้ำสูญเสียในระบบผลิต-จ่าย ไม่เกินร้อยละ 20 และสามารถให้บริการผู้ใช้น้ำเพิ่มขึ้นอีก 97,100 ราย

เห็นชอบแนวทางจัดทำงบฯปี 65

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณและปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 เพื่อให้หน่วยงานใช้เป็นแนวทางประกอบการวางแผนการดำเนินงานและกำหนดแผนการปฏิบัติงาน ซึ่งในส่วนของแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 นั้น มีสาระสำคัญดังนี้คือ

  • แนวทางที่ 1 ดำเนินการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และนโยบายที่สำคัญของรัฐบาล รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงถึงความจำเป็น และภารกิจของหน่วยงาน ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ
  • แนวทางที่ 2 ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจ การจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  • แนวทางที่ 3 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยงานพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือมาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยงานเป็นอันดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือหมดความจำเป็น และให้ความสำคัญกับการนำผลการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563และ2564 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการใช้จ่ายของหน่วยงาน
  • แนวทางที่ 4 ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ รวมทั้งกฎหมาย ระเบียบ และมติ ครม. ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

ส่วนปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 มีรายละเอียดที่สำคัญดังนี้คือ หลัง ครม. ให้ความเห็นชอบในวันที่ 12 ตุลาคม 2563 นี้แล้ว หน่วยงานจะจัดทำรายละเอียดคำของบประมาณเบื้องต้น ส่งสำนักงบประมาณระหว่างวันที่ 1 ตุคลาคม-21ธันวาคม2563 โดยหน่วยงานที่มีการก่อหนี้ผูกพันมากกว่า 1 ปีงบประมาณสำหรับรายการที่มีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป ให้นำเสนอ ครม. พิจารณาอนุมัติก่อนเสนอรายละเอียดคำของบประมาณภายในวันที่ 11 มกราคม 2564 สำหรับในส่วนของระดับภาค จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้จัดทำงบประมาณรายจ่ายมิติพื้นที่ ให้เป็นไปตามความต้องการในพื้นที่ แผนพัฒนาพื้นที่ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563

ขณะที่สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ จะร่วมกันพิจารณาและจัดทำข้อเสนอเป้าหมายและยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 และเสนอให้ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบในวันที่ 1 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้หน่วยงานจะทำรายละเอียดคำของบประมาณส่งสำนักงบประมาณผ่านระบบ e-Budgeting ในวันที่ 15 มกราคม 2564 และสำนักงบประมาณจะพิจารณาและจัดทำรายละเอียดระหว่างวันที่ 18 มกราคม -9 มีนาคม 2564 เพื่อเสนอ ครม. ในวันที่ 16 มีนาคม 2564 จากนั้นจะผ่านไปตามกระบวนการจนนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 26-27 พฤษภาคม 2564 วาระที่ 2-3 วันที่ 11-13 สิงหาคม 2564 และเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 23-24 สิงหาคม2564 จากนั้นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2565 ขึ้นทูลเกล้าฯถวายในวันที่ 7 กันยายน 2564 เพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป

สธ.โชว์ผลงาน 1 ปี แบน 3 สารพิษ–สกัดโควิดฯระบาด

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. รับทราบผลการดำเนินงานในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาของกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้การกำกับดูแลของนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตร่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยดำเนินงานภายใต้แนวคิดลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ร่างกายแข็งแรง ทำให้เศรษฐกิจของประเทศแข็งแรง เกิดเป็นผลงานสำคัญได้แก่

  1. การพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริและโครงการในบรมวงศานุวงค์ สนับสนุนโครงการสุขศาลาพระราชทานพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ได้แก่ การพัฒนาโรงพยาบาลจตุรทิศใน 5 จังหวัดเพื่อลดความแออัดของโรงพยาบาลในเมืองหลวง ประกอบด้วย นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม
  3. พัฒนานวัตกรรมการแพทย์ เดินหน้านโยบาย TELEMEDICINE ดูแลผู้ป่วยด้วยระบบสื่อสารทางไกล ทำให้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเข้ามาพบแพทย์ทุกครั้ง สามารถปรึกษาทางโทรศัพท์ได้
  4. ยกระดับสมุนไพรไทยและการแพทย์แผนไทย ให้เป็นทางเลือกด้านสุขภาพ โดยมีผู้ใช้บริการการแพทย์แผนไทยกว่า 27 ล้านครั้ง พร้อมนโยบายกัญชาทางการแพทย์ เปิดคลินิกกัญชากว่า 300 แห่งทั่วประเทศ มีผู้ใช้บริการกว่า 2 แสนราย ผลตอบรับด้านการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
  5. การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการผ่านนโยบายเชิงรุก อาทิ เพิ่มขีดความสามารถของเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ดูแลคนไทย 13 ล้านคน ยกระดับ อสม.ให้เป็นหมอประจำบ้าน พร้อมผนึกกำลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทำงานร่วมกับแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ระบบสาธารณสุขไทย
  6. การสร้างขวัญและกำลังใจให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โดยบรรจุข้าราชการ 45,684 อัตรา ขยายค่าตอบแทนพิเศษ อสม.500 บาท เป็นเวลา 19 เดือน
  7. แบนสารพิษ ทั้งพาราควาต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกรโฟเซต

“อีกผลการดำเนินงานที่สำคัญคือ สามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19ได้อย่างรวดเร็วและกำลังจัดหาวัคซีนเพื่อควบคุมโรค โดยตั้งเป้าว่าคนไทยจะต้องได้รับวัคซีนเป็นลำดับต้นๆ ของโลก และผลการดำเนินงานดังกล่าว ทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพในการรับมือวิกฤติิดีที่สุดในโลก ผลงานตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทำให้เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมที่จะผลัดดันประเทศไทย ให้เป็นผู้นำด้านสุขภาพติด 1 ใน 3 ของเอเซีย ก่อนสู่ความสำเร็จระดับโลกในอนาคต”

เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินทดแทนผู้ประกันตน ม. 40

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ซึ่งสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ เป็นการปรับปรุงอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนเกี่ยวกับเงินค่าทำศพ และเงินสงเคราะห์กรณีถึงแก่ความตาย สำหรับบุคคลซึ่งไม่ใช่ลูกจ้าง แต่สมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ.2533

สำหรับอัตราการจ่ายประโยชน์ทดแทนใหม่ที่ปรับปรุงเป็นดังนี้ สำหรับผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 70 บาท หรือเดือนละ 100 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 20,000 บาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 บาท และเงินสงเคราะห์อัตราเดิม 3,000 บาท เพิ่มเป็น 8,000 บาท ส่วนผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนเดือนละ 300 บาท ถึงแก่ความตาย อัตราเดิมจะได้เงินค่าทำศพ 40,000 บาท อัตราใหม่ 50,000 บาท

ทั้งนี้กระทรวงแรงงานได้ประมาณการรายรับของกองทุนประกันสังคมจากการจัดเก็บเงินสมทบของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 เม.ย. 2563 รวมมีผู้ประกันตนทั้งหมด 3,353,939 คน จัดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนในปี 2562 ได้จำนวน 1,557 ล้านบาท และมีเงินสมทบจากรัฐบาล 779 ล้านบาท มีการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายเป็นเงินค่าทำศพและเงินสงเคราะห์ประจำปี 2562 จำนวน 200 ล้านบาท และเมื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนในอัตราใหม่ตามกฎหมายนี้ คาดว่าในปี 2563-2564 กองทุนประกันสังคมจะต้องจ่ายเงินค่าทำศพเพิ่มขึ้นประมาณปีละ 77 ล้านบาท และเงินสงเคราะห์เพิ่มขึ้นปีละ 93 ล้านบาท

ลงนาม MOU สร้างเสริมสุขภาพ “ไทย-อังกฤษ”

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) ระหว่างรัฐบาลไทยกับสหราชอาณาจักรเกรตบริเตนและนอร์เทิร์นไอร์แลนด์เรื่องแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ และอนุมัติให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ลงนามในร่างเอ็มโอยูดังกล่าว โดยมีกำหนดการลงนามเอ็มโอยูในวันที่ 15 ตุลาคม 2563 โดยเอ็มโอยูฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ลงนามจนถึงเดือนกันยายน 2565 เว้นแต่จะมีการยกเลิกโดยคู่ภาคี

สำหรับสาระสำคัญของร่างเอ็มโอยู จะมีกิจกรรมที่เป็นความร่วมมือของคู่ภาคีใน 3 สาขา ของแผนงานสร้างเสริมสุขภาพ ประกอบด้วย

  1. โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็งชนิดต่างๆ และโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เป็นการต่อสู้กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรังโดยใช้นโยบายที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และการรณรงค์เรื่องการป้องกันในสาขาเฉพาะ ซึ่งจะเน้นการพัฒนาให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ
  2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบสุขภาพ โดยการเสริมสร้างมาตรฐานคุณภาพของระบบการรับรองคุณภาพของสถานพยาบาลในโรงพยาบาล โดยการใช้รูปแบบและมาตรฐานการปฏิบัติที่ดีที่สุด
  3. การศึกษาและการฝึกอบรม โดยจะเพิ่มคุณภาพและมาตรฐานของบุคลากรด้านการดูแลสุขภาพ ผ่านข้อกำหนดการพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องโดยใช้รูปแบบการปฏิบัติที่ดีที่สุดทั้งดิจิทัลและไม่ใช่ดิจิทัลในการเข้าถึงการศึกษา ซึ่งอาจรวมถึงแนวปฏิบัติและแนวทางการรักษาโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

ผ่านร่างกฎกระทรวง ควบคุมขยะติดเชื้อ

นางสาวไตรศุลี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้มีมติ อนุมัติในหลักการร่างกฎกระทรวงด้วยการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการสาธารณสุขสามารถประกาศกำหนดประเภทมูลฝอยติดเชื้อหรือแหล่งกำเนิดเพิ่มเติมจากที่กำหนดไว้เดิมอยู่แล้ว พร้อมกำหนดให้ผู้ก่อกำเนิดมูลฝอยติดเชื้อที่กำจัดมูลฝอยติดเชื้อ ณ แหล่งกำเนิดจะต้องมีการจัดเก็บและบันทึกข้อมูลปริมาณขยะมูลฝอยติดเชื้อทุกครั้ง

นอกจากนี้ยังกำหนดให้ผู้ผลิตมูลฝอยติดเชื้อขนไปทิ้งกำจัดภายนอกหน่วยงานผู้รับผลผู้รับกำจัดก็จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่กฎกระทรวงนี้กำหนดทุกอย่าง

ทั้งนี้การที่กระทรวงสาธารณสุขต้องกำหนดข้อเสนอกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดฯ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศมีการพบผู้ติดเชื้อผู้ป่วย ทำให้ก่อเกิดขยะมูลฝอยติดเชื้อจำนวนมากทั้งจากการรักษาพยาบาลจากการตรวจวินิจฉัย ในสถานพยาบาลห้องติดเชื้ออันตรายและสถานพยาบาลชั่วคราว จึงจำเป็นที่จะออกกฎกระทรวงนี้มาควบคุมเพื่อที่จะไม่ให้มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสิ่งแวดล้อมได้

อ่านมติ ครม. ประจำวันที่ 12 ตุลาคม 2563เพิ่มเติม