ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > เจาะกระบวนการรวมชุดสลาก ขายเกินราคา “คนขายจริงไม่ได้โควตา”

เจาะกระบวนการรวมชุดสลาก ขายเกินราคา “คนขายจริงไม่ได้โควตา”

12 ตุลาคม 2020


เจาะกระบวนการรวมชุดสลากขายเกินราคา 3 ปี ยกเลิกสิทธิ คนขายลอตเตอรี่ 21,913 ราย 75% เป็นตัวแทนจำหน่ายระบบโควตา บอร์ดสลากฯเตรียมปรับสูตรกระจายสลาก ฯ 100 ล้านใบ

ปัญหาเรื่องการจัดสรรสลากกินแบ่งรัฐบาลไม่ทั่วถึง คนขายจริงไม่ได้โควตาสลาก โดยคนขาย 159,661 ราย ไปลงทะเบียนซื้อ-จองล่วงหน้าสลากฯกับธนาคารกรุงไทย แต่ละงวดซื้อ-จองสำเร็จได้คนละ 5 เล่ม มี 24,000 ราย ส่วนที่เหลือ 35,000 ราย ซื้อ-จองไม่ได้ นอกจากนี้ยังมีผู้ค้านอกระบบอีก 100,000 ราย ไม่ได้โควตา และไม่ได้ลงทะเบียนกับธนาคารกรุงไทย คนขายกลุ่มนี้ทั้งหมด ไม่มีสลากขาย ทุกงวดก็จะไปรับสลากราคาแพงจากยี่ปั๊วมาขาย

อย่างช่วงปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาสลากขายส่งที่ตลาดนัดลอตเตอรี่วังสะพุง จังหวัดเลย ขายกันใบละ 93 บาท ปรากฎว่ามีพ่อค้าแม่ค้าสลากนับ 100 ราย รวมตัวกันประท้วงที่ว่าการอำเภอนาด้วง จังหวัดเลย เรียกร้องให้สำนักงานสลากฯ จัดสรรโควตาสลากให้ผู้ค้าจริงเพิ่ม โดยอ้างว่าสลากที่พิมพ์ออกขายมีปริมาณไม่เพียงพอต่อการจำหน่าย ต้องไปรับสลากใบละ 93 บาท จากยี่ปั๊วมาขายเกินราคา ถูกตำรวจจับ ปรับรายละ 5,000 บาท จึงฝากคำถามไปถึงผู้บริหารสำนักงานสลากฯ

“ซื้อมาก็เกิน 80 บาทแล้ว ขายอย่างไร..ที่จะไม่ถูกตำรวจจับ ขอให้กองสลากฯช่วยตอบที”

สำหรับกลยุทธ์ที่สำนักงานสลากฯใช้ในการตรวจสอบและลงโทษผู้ที่ขายสลากเกินราคานั้น หลักๆจะมีอยู่ 3 วิธี คือ

    1.ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สุ่มตรวจ ตามแผงจำหน่ายสลากที่ขายสลากรวมชุดเกิน 2 ใบขึ้นไป

    2.ตรวจสอบสลากรวมชุดที่นำมาขึ้นเงินรางวัล เฉพาะรางวัลที่ 1,รางวัลที่ 2 และ รางวัลที่ 3

    3. ตรวจสอบจากข้อมูลการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จากนั้นทางสำนักงานสลาก ฯก็จะนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผล และตรวจวิเคราะห์ย้อนกลับไปหาเจ้าของโควตาสลาก หรือ ผู้ค้าสลากที่มาลงทะเบียนซื้อ-จองฯกับธนาคารกรุงไทย

  • 4 ปี รัฐบาล คสช. กับการแก้ปัญหาสลาก ยิ่งแก้ยิ่งขายเกินราคา
  • หวยขายเกลี้ยง 6 ปี จาก 37 ล้านใบ เป็น 100 ล้านใบ ขายเกินราคายังแก้ไม่ได้!!
  • กองสลากฯ ออกหวยชุด 2 ใบ สลับเลข 4 ตัวหน้า ขาย 1 มี.ค. นี้ ดัดหลัง “ยี่ปั๊ว” ตั้งโต๊ะรับซื้อ รวมชุดขายเกินราคา
  • หากตรวจสอบย้อนกลับแล้วพบว่าเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากรายย่อย กรณีนี้จะถูกลงโทษด้วยการตัดโควตา หรือ ยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลาก แต่ถ้าเป็นตัวแทนจำหน่ายประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรคนพิการ กรณีนี้สำนักงานสลากฯจะทำหนังสือแจ้ง โดยขอให้องค์กรเหล่านี้ยกเลิกการจัดสรรโควตาสลากให้กับสมาชิกขององค์กรที่นำสลากไปรวมชุดขายเกินราคา และขอให้จัดส่งรายชื่อสมาชิกรายใหม่เข้ามาเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากต่อไป แต่ถ้าตรวจพบว่าเป็นสลากของผู้ที่ซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย กรณีนี้ถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียน ไม่สามารถทำธุรกรรมการซื้อ-จองสลากฯผ่านตู้เอทีเอ็มของธนาคารกรุงไทยได้อีกต่อไป

    นี่คือมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดกับผู้ค้าที่ขายสลากเกินราคา คนเดินขายจริงถูกจับปรับ เจ้าของสลากถูกตัดโควตา ยกเลิกสัญญาการเป็นตัวแทนจำหน่ายกับสำนักงานสลาก ฯ

    3 ปี ตัดสิทธิคนขายเกินราคา 21,913 ราย – 75% เป็นตัวแทนจำหน่ายระบบโควตา

    3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2559 – 16 มีนาคม 2563) สำนักงานสลากฯ ลงโทษตัวแทนจำหน่ายสลากที่ขายเกินราคา ทั้งกรณีตัดโควตาสลากและยกเลิกสิทธิการซื้อ-จองสลากฯผ่านธนาคารกรุงไทย รวมทั้งสิ้น 21,913 ราย

    ทั้งนี้หากจำแนกตามระบบการจัดสรรสลาก จะพบข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ตัวแทนจำหน่ายที่ถูกตัดสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายมากที่สุดอยู่ในกลุ่มระบบโควตามีจำนวนทั้งสิ้น 16,499 ราย คิดเป็นสัดส่วน 47% ของตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบโควตาทั้งหมด 35,000 ราย แต่ถ้าเปรียบเทียบกับตัวแทนจำหน่ายสลากที่ถูกตัดสิทธิทั้งหมด 21,913 ราย คิดเป็นสัดส่วน 75% ส่วนที่เหลือเป็นตัวแทนจำหน่ายในระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย ถูกเพิกถอนการขึ้นทะเบียนซื้อจอง 5,464 ราย คิดเป็นสัดส่วน 3.42% ของผู้ที่ลงทะเบียนซื้อ-จองฯ 159,661 ราย หรือ คิดเป็นสัดส่วน 25% ของตัวแทนจำหน่ายสลากที่ถูกตัดสิทธิทั้งหมด

    หากแยกตามประเภทของตัวแทนจำหน่ายสลาก พบว่าตัวแทนจำหน่ายสลากที่ถูกตัดสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายมากที่สุด

      อันดับที่ 1 คือ ผู้ค้าสลากรายย่อย ประเภทบุคคล 8,318 ราย แบ่งเป็นผู้ค้าสลากในภูมิภาค 3,814 ราย , ส่วนกลางคือกรุงเทพและปริมณฑล 2,909 ราย และคนพิการ 1,595 ราย

      อันดับที่ 2 เป็นตัวแทนจำหน่ายสลากประเภทมูลนิธิ สมาคม องค์กรคนพิการ กลุ่มนี้มีสมาชิกในสังกัดถูกยกเลิกการเป็นตัวแทนจำหน่ายสลาก 8,131 ราย

      อันดับสุดท้ายเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย ถูกยกเลิกการขึ้นทะเบียนการทำธุรกรรมซื้อ-จองกับธนาคารกรุงไทย 5,464 ราย

    อย่างไรก็ตาม การดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างเฉียบขาดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้ ในทางตรงข้ามปัญหากลับทวีความรุนแรงขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วางขายบนแผงใบละ 100 – 150 บาท

    แหล่งข่าวจากผู้ค้าสลากรายหนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าวไทยพับลิก้าว่า “ตราบใดที่ยังมีตลาดซื้อ-ขายสลากอยู่ ไม่ว่าจะเป็นตลาดสี่แยกคอกวัว ศูนย์การค้าสลากไทย หรือตลาดนัดลอตเตอรี่วังสะพุง ไม่มีทางที่จะแก้ปัญหาขายสลากเกินราคาได้ มาตรการเข้มงวดกวดขันจับกุมผู้ค้าสลากจริง ยกเลิกสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เปรียบเสมือนการเปลี่ยนตัวผู้เล่นใหม่ จำนวนตัวแทนจำหน่ายสลากไม่ได้ลดลง คนเก่าถูกตัดสิทธิไป คนใหม่เข้ามาแทน เมื่อได้รับการจัดสรรสลาก บางคนก็ขายเอง บางคนก็เอาไปขายต่อที่ตลาดซื้อ-ขายสลาก วนเวียนเป็นวัฏจักรอย่างนี้มานานแล้ว

    คำบอกเล่าดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานสลาก ฯ โดยตัวแทนจำหน่ายที่ถูกจับและถูกเพิกถอนสิทธิการเป็นตัวแทนจำหน่ายมากที่สุด 75% คือ ตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในระบบโควตา 33 ล้านใบ

    ถามผู้ค้าตัวจริง ทำไมต้องขายสลากเกินราคา?

    เมื่อถามว่าทำไมขายเกินราคา ผู้ค้าสลากรายนี้ ตอบว่า มันก็วนกลับไปที่เรื่องเดิม

  • ประการแรก การจัดสรรสลากไม่ถึงมือผู้ค้าสลากจริง ได้มาแค่ 5 เล่ม ก็ไม่พอขาย ไปซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย บางงวดก็ซื้อ-จองฯไม่ได้ ไม่รู้จะประกอบอาชีพอะไร ก็ต้องไปซื้อสลากจากยี่ปั๊วที่ตลาดนัดลอตเตอรี่มาขาย ต้นทุนรับมาใบละ 93 บาท ขายใบละ 80 บาทได้อย่างไร
  • ประการที่ 2 ทั้งตลาดตอนนี้ ไม่มีแผงไหนขายใบละ 80 บาท ยกเว้นสลากเลขท้าย 00 หากแผงไหนขาย 80 บาท ก็จะถูกเหมาไปหมดเกลี้ยงอย่างรวดเร็ว วันดีคืนดี ก็จะพบสลากของตนที่ถูกเหมาไปใบ 80 บาท ไปรวมชุดวางขายอยู่บนแผงใบละ 100-120 บาท ถูกตำรวจจับได้ ก็ถูกตัดโควตา หรือ ถูกตัดสิทธิซื้อ-จองฯ ทั้ง ๆที่ขายใบละ 80 บาท ตามที่สำนักงานสลาก ฯกำหนด
  • พูดง่าย ๆ ก็คือขายเกินราคา ก็ถูกตัดโควตา ยกเลิกสิทธิซื้อ-จอง ขายเองใบละ 80 บาท แต่มีพ่อค้ารายอื่นมาซื้อสลากนำไปรวมชุดขาย ก็อาจถูกตัดโควตา ผู้ค้าสลากบางรายจึงตัดสินใจขายเองดีกว่า (เกินราคา) มีค่าเท่ากัน

    ผู้ค้าสลากรายนี้ กล่าวต่อว่า หากไปดูที่กระบวนกระจายสลาก (Logistics) ของสำนักงานสลาก ฯ ทั้ง 2 ระบบมีความเหลื่อมล้ำ และ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ ถ้าเป็นตัวแทนจำหน่ายสลากระบบโควตาจะได้รับสลาก รายละ 5- 10 เล่ม ( 1 เล่มมี 100 ใบ) เป็นแบบเรียงเลข โดยเลขสลาก 4 ตัวหน้า ตั้งแต่หลักร้อยถึงหลักแสนจะเป็นเลขเหมือนกัน ส่วนเลขท้าย 2 ตัวหลัง แต่ละเล่มเรียงลำดับตั้งแต่เลข 00 ถึง 99 สถานที่รับสลาก

    ถ้าเป็นตัวแทนจำหน่ายที่อยู่ในส่วนกลางมารับสลากได้ที่สำนักงานสลาก ฯ สนามบินน้ำ แต่ถ้าอยู่ในภูมิภาค รับสลากได้ที่จังหวัด หรือ คลังจังหวัดทั่วประเทศ และกรณีคนพิการ รับสลากได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ สลากที่พิมพ์ออกจำหน่าย 1 เดือนมี 2 งวด ตัวแทนจำหน่ายสลากกลุ่มนี้จะได้รับสลาก (ถึงมือ) งวดแรกของทุกเดือน คือ วันที่ 1 -2 และงวดที่ 2 ได้รับวันที่ 16-17 ของทุกเดือน

    ส่วนตัวแทนจำหน่ายสลากในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าฯ ผ่านธนาคารกรุงไทย ได้รับสลากรายละ 5 เล่มเท่านั้น เป็นแบบคละเลข ตามสูตร 2-2-1 โดยสลาก 2 เล่มแรก เป็นสลากรวมชุด 2 ใบ มีตัวเลขเหมือนกันทั้ง 6 หลัก ส่วนอีก 2 เล่ม ถัดมาเป็นสลากรวมชุด 2 ใบ แต่ตัวเลขทั้ง 6 หลักไม่เหมือนกับ 2 ชุดแรก ที่เหลือกอีก 1 เล่ม เป็นสลากเดี่ยว เลขสลาก 4 ตัวหน้าไม่เหมือนกัน ส่วนเลขท้าย 2 ตัวหลัง เรียงลำดับตั้งแต่เลข 00 – 99 กลุ่มนี้รับสลากได้ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ โดยสำนักงานสลากฯจะส่งสลากไปถึงที่ทำการไปรษณีย์ หรือ ถึงมือผู้ค้าสลากงวดแรกของทุกเดือน คือวันที่ 5-6 และงวดที่ 2 วันที่ 20-21 ของทุกเดือน

    เจาะกระบวนการรวมชุดสลาก ขายเกินราคา

    ถ้าหากไปเดินสำรวจสลากที่วางขายอยู่บนแผง ผู้ค้าสลากจะเริ่มขายกันจริง ๆ งวดแรกของทุกเดือนคือวันที่ 5 งวดที่ 2 คือวันที่ 20 ของทุกเดือน จะพบสลากรวมชุดมากกว่า 2 ใบ วางขายอยู่บนแผงแล้ว ก่อนที่ผู้ค้าสลากในระบบซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทยจะได้รับสลากเสียอีก

    ถามว่าการนำสลากมารวมชุดมีกระบวนการทำอย่างไร ผู้ค้าสลากรายนี้ กล่าวว่า จากคำบอกเล่าของตัวแทนจำหน่ายที่ได้รับจัดสรรโควตาสลาก หลังจากสลากส่งมาถึงมือตัวแทนจำหน่ายในวันที่ 1 หรือ วันที่ 16 ของทุกเดือน จะใช้เวลาในการรวมชุดสลากประมาณ 3- 4 วัน โดยการติดต่อซื้อ-ขาย-แลกเปลี่ยน สลากกันผ่านกรุ๊ปไลน์ ใครได้เลขอะไร หมวดไหน ก็มาแลกกัน ถ้าลอตใหญ่มาก ๆก็ต้องขึ้นเครื่องบินเดินทางมาแลกกัน แต่ถ้าชุดเล็ก ๆ ก็ส่งไปรษณีย์ จากนั้นก็นำมารวมชุดวางขายอยู่บนแผง

    คนในวงการค้าสลาก เรียกว่า “ตลาดเปิด” ทุกวันที่ 5 และวันที่ 20 ของทุกเดือน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่สลากในระบบซื้อ-จองล่วงหน้าฯมาส่งที่ไปรษณีย์ ก็จะมีบรรดายี่ปั๊ว-ซาปั๊วไปจอดรถรอที่หน้าไปรษณีย์ เพื่อรับซื้อสลากจากผู้ค้าสลากรายย่อยที่ซื้อ-จองผ่านธนาคารกรุงไทย แบบยกกล่อง ( 1 กล่องมี 5 เล่ม หรือ 500 ใบ) ใบละ 85-90 บาท เพื่อนำมารวมเป็นชุดใหญ่

    จากสถิติผลการจับกุมขายสลากเกินราคาตามที่กล่าวข้างต้น และสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับตลาดซื้อ-ขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ทางสำนักงานสลาก ฯ จึงเพ่งเล็งไปที่กลุ่มตัวแทนจำหน่ายในระบบโควตา 33 ล้านฉบับ โดยสำนักงานสลากฯ เตรียมเสนอบอร์ดฯ พิจารณาลงมติให้สำนักงานสลากฯ ปรับสูตรการพิมพ์ และกระจายสลากทั้ง 2 ระบบ เป็นสูตรเดียวกันภายในเดือนตุลาคมนี้ จะเลือกใช้สูตร 2-2-1 หรือ 2-1-1-1 เพื่อแก้ปัญหาความลักลั่น นำสลากไปรวมชุด 5-20 ใบ ขายเกินราคา และสร้างเป็นธรรมแก่ผู้ค้าสลาก และผู้บริโภคได้หรือไม่ อย่างไร ต้องติดตามกันต่อไป